หัวเว่ย เผยผลประกอบการประจำปี 2560 ที่ผ่านการตรวจสอบทางการเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอกย้ำธุรกิจมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยบริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 603.6 พันล้านหยวน หรือ 92.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันสิ้นปี) เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึงร้อยละ 15.7 และมีกำไรสุทธิ 47.5 พันล้านหยวน หรือ 7.3 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 ในปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้มีการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยค่าใช้จ่ายตลอดปีของบริษัทในด้านนี้พุ่งขึ้นถึง 89.7 พันล้านหยวน หรือ 13.8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นร้อยละ 17.4 จากปีก่อนหน้า ซึ่งตลอดทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทใช้งบลงทุนในด้านนี้มากกว่า 394 พันล้านหยวน หรือ 60.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
- ในปี 2560 ธุรกิจโทรคมนาคมเครือข่ายของหัวเว่ยมีรายได้รวม 297.8 พันล้านหยวน หรือ 45.7 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากปี 2559 จากการเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมในการดึงศักยภาพของโครงข่ายเน็ตเวิร์คที่มีอยู่มาใช้ให้มากที่สุด และมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในตลาดวิดีโอ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ และคลาวด์
- ส่วนธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ได้มีการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ใน ด้านคลาวด์ บิ๊กดาต้า เครือข่ายสำหรับสถานศึกษา ดาต้าเซ็นเตอร์ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ และอื่น ๆ ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น รวมถึงขับเคลื่อนการใช้งานผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นต่าง ๆ สำหรับอุตสาหกรรมแนวดิ่ง ในปี 2560 ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์มีรายได้รวม 54.9 พันล้านหยวน หรือ 8.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1 จากปี 2559
- ด้านธุรกิจคอนซูเมอร์ แบรนด์หัวเว่ยและออนเนอร์วิ่งนำโด่ง ทำให้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดต่างๆ โดยในปี 2560 หัวเว่ยได้ส่งมอบสมาร์ทโฟนทั้งสิ้น 153 ล้านเครื่อง (รวมแบรนด์ออนเนอร์) และมีรายได้ทั้งสิ้น 237.2 พันล้านหยวน หรือ 36.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 จากปี 2559
มร. เคน หู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวว่า “เรากำลังเดินสู่เส้นทางสายใหม่ โอกาสและความท้าทายต่าง ๆ เกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยเป็น และการสร้างนวัตกรรมเปิดแบบไม่หยุดยั้งจะเป็นวิถีทางเดียวที่จะทำให้เราก้าวล้ำนำเกม ในอีก 10 ปีข้างหน้า หัวเว่ยจะเพิ่มการลงทุนต่อเนื่องเพื่อรังสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีต่อไป โดยใช้เงินรายได้กว่า 10,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเพื่อลงทุนกลับเข้าไปในด้านการวิจัยและพัฒนาทุกปี เราจะยังดำเนินการด้านความร่วมมือแบบเปิดให้มากยิ่งขึ้น ดึงและบ่มเพาะคนเก่งที่มีความสามารถ รวมถึงทุ่มเทงบในด้านการวิจัยเพื่อมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้มากขึ้น เราต้องการช่วยให้อุตสาหกรรมทุกกลุ่มก้าวสู่โลกดิจิทัล ที่มีความอัจฉริยะได้ง่ายขึ้น”
ในปี 2561 เราจะได้เห็นการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในสเกลใหญ่ อาทิ
- อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์
- คลาวด์ คอมพิวติ้ง
- ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ
- 5G
ตลอดกระบวนการนี้ หัวเว่ย จะเป็นผู้เล่นแถวหน้าในด้านการเปลี่ยนแปลงธุรกิจและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชั้นนำ ยิ่งกว่านั้นคือ เราจะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับความท้าทายด้านการใช้งานที่ลูกค้าของเราพบเจอในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ช่วยพวกเขาก้าวข้ามปัญหาต่างๆ เหล่านี้ และก้าวไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดที่เราตั้งไว้ นั่นคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อนโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ”
หัวเว่ย ยังได้ก่อตั้งธุรกิจคลาวด์ขึ้นมาในปี 2560 และได้เปิดตัวบริการคลาวด์ 99 บริการ ครอบคลุม 14 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก และ โซลูชั่นอีกกว่า 50 โซลูชั่น บริษัทยังได้เปิดตัว แพลตฟอร์ม Enterprise Intelligence (EI) และ พัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรด้านบริการคลาวด์อีกกว่า 2,000 ราย
รายงานประจำปี 2560 ของหัวเว่ย ได้รับการตรวจสอบทางบัญชีโดย KPMG ซึ่งเป็นบริษัทด้านการบัญชีระดับโลก