กสิกรไทย จับมือ SkillLane สตาร์ทอัพเจ้าของ Digital Training Platform อันดับหนึ่ง เปลี่ยนโฉมรูปแบบการพัฒนาศักยภาพและเสริมทักษะบุคลากรทุกระดับในองค์กรกว่า 21,000 ราย ให้สามารถเรียนคอร์สออนไลน์คุณภาพกว่า 400 คอร์สได้ตามใจ เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่จำกัดเนื้อหา ทั้งทักษะสู่ความก้าวหน้าและด้านไลฟ์สไตล์ เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลรองรับยุค 4.0
- SkillLane เป็นช่องทางให้คนไทยได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ได้อย่างสะดวก ทุกที่ ทุกเวลาซึ่งในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา SkillLane มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการให้บริการกับผู้เรียนแล้วประมาณ 200,000 คน ในปัจจุบัน SkillLane ให้บริการคอร์สเรียนออนไลน์มากกว่า 400 คอร์ส จากอาจารย์ผู้สอนและสถาบันที่มีชื่อเสียงมากมายกว่า 100 ท่าน อาธิเช่น อาจารย์อดัม แบรดชอว์, ครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ, คุณกระทิง พูลผล, คุณภาววิทย์ กลิ่นประทุม, 2Morrow Group และอื่น ๆ อีกมากมาย
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เผยว่า “ปัจจุบันเป็นยุคที่ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว ในขณะที่มีองค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ส่งผลให้วิธีคิดของการบริหารจัดการ และพัฒนาทรัพยากรบุคคลจำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วย ความท้าทายขององค์กรในวันนี้คือการสร้างองค์ความรู้ที่พนักงานเข้าถึงได้ง่าย ตรงกับพฤติกรรม ความต้องการ สภาพแวดล้อมการทำงานและมีความหลากหลาย ซึ่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะในแบบเดิมอาจไม่เพียงพอ
ธนาคารกสิกรไทย จึงได้ร่วมกับ SkillLane พัฒนาการเรียนรู้ไปสู่ Digital Learning Platform อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยเชื่อมั่นว่าการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่ดี ต้องเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ทั้งเรื่องการทำงานและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตส่วนตัวผ่านแหล่งเรียนรู้ใหม่แบบออนไลน์ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งจากคอมพิวเตอร์ , แท็บเล็ต , โทรศัพท์มือถือ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาบุคลากรของธนาคารกสิกรไทยในยุค 4.0 ที่พนักงานสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการทำงาน และการให้บริการลูกค้า ตลอดจนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปี 2561 ธนาคารฯ ตั้งเป้าหมายสู่การเป็น Data-Driven Bank ซึ่งต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าให้มากที่สุดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ทักษะความสามารถที่ธนาคารต้องการให้พนักงานมีมากที่สุดคือ
- ทักษะการวิเคราะห์
- การหาความต้องการเชิงลึก
- ทักษะในการทดลองและขยายผล
- และทักษะเกี่ยวกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management Skills)
- อาทิ การเป็นผู้นำ (Lead Change)
- การสื่อสาร (Communication)
- หรือ People Management Skills
จากความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมศักยภาพการทำงานให้บุคลากรกว่า 21,000 คน มุ่งสู่วัฒนธรรมการเรียนรู้ด้วยตัวเอง Self-Directed Learning อย่างเต็มรูปแบบ พนักงานจะได้เรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด ทุกที่ทุกเวลา อย่างเสมอภาคจากคอร์สออนไลน์ที่มีให้เรียนกว่า 400 คอร์ส ที่ตอบโจทย์การทำงานของพนักงาน และยังมีหมวดหลักสูตรอื่น ๆ ที่มีความน่าสนใจในมิติต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง หลักสูตร Lifestyle ที่เนื้อหาอาจเป็นประโยชน์ในการแนะนำ พูดคุย หรือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ตัวของพนักงานเองอีกด้วย ความร่วมมือกับ SkillLane จะช่วยให้ธนาคารประหยัดเวลา และกำลังคนในการพัฒนาหลักสูตรใหม่ และยังมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด ธนาคารมีพนักงานจำนวนมากที่อยู่ทั่วทุกภูมิภาค
โดยปัจจุบันพนักงานธนาคารกสิกรไทยมีการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบ Classroom และ e-Learning ประมาณ 9 หลักสูตรต่อคนต่อปี ดังนั้นการนำ Digital Learning Platform ของ SkillLane เข้ามาเพิ่มเป็นอีกช่องทางเรียนรู้จะทำให้พนักงานแต่ละคนสามารถเรียนผ่านออนไลน์ได้อย่างไม่จำกัด พนักงานบางคนอาจจะเรียนได้ปีละมากกว่า 100 หลักสูตรถ้ามีความพยายามและสนใจในการเรียนรู้ รวมทั้งจะมีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่พนักงานสนใจในอนาคตให้มากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการเรียนรู้ของพนักงานเป็น 20 หลักสูตรต่อคนต่อปี ภายใน 3 ปี
นายฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มคอร์สเรียนออนไลน์ SkillLane เผยว่า “Digital Learning Platform กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนทรัพยากรคนและองค์กรเดินหน้าไปสู่ยุคดิจิทัล สิ่งที่ SkillLane สร้างคือการทำความรู้ให้มันเป็น on-demand ให้พนักงานสามารถเข้าถึงความรู้ใหม่ ๆ ได้ พนักงานสามารถเรียนคอร์สออนไลน์บน SkillLane ได้จากคอมพิวเตอร์หรือมือถือจากที่บ้านในช่วงเวลาที่ว่าง ทำให้บริษัทไม่ต้องเสีย manpower ในการให้พนักงานหยุดงานหลายวันเพื่อส่งไปฝึกอบรม
ในการทำงานกับธนาคารกสิกรไทย เรามีเครื่องมือที่ให้ทาง HR เข้าไปติดตามการเรียนของพนักงานและมีคอร์สเรียนใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาในระบบทุก ๆ เดือน เพื่อที่จะอัพเดทองค์ความรู้ให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด”