ผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของวีซ่า (Visa Global Travel Intentions Study) ในอีกสองปีข้างหน้า เผยให้เห็นว่า นักเดินทางชาวไทยเตรียมขึ้นแท่นเดินทางไปต่างประเทศบ่อยที่สุดหากเทียบกับค่าเฉลี่ย โดยผลสำรวจฉบับนี้ศึกษาเกี่ยวกับเทรนด์และพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักเดินทางจำนวน 17,500 ราย จาก 27 ประเทศทั่วโลก และผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าคนเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น แต่จำนวนวันในแต่ละทริปนั้นลดลง
ทั้งนี้ผลวิจัยยังระบุว่าสถิติคนไทยท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศเติบโตนำประเทศอื่น ๆ
- ด้วยจำนวนแผนการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.9 ทริปภายในปี 2562
- ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (2.8 ทริป)
- และนักท่องเที่ยวเฉลี่ยทั่วโลก (2.7 ทริป)
แต่ผลวิจัยกลับชี้ให้เห็นว่าจำนวนวันในแต่ละทริปลดน้อยลง ปัจจุบันจำนวนวันเฉลี่ยต่อทริปทั่วโลกอยู่ที่ 8 คืนต่อทริป ซึ่งลดลงจาก 10 คืนในปี 2556 และ 9.5 คืนในปี 2558 โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยวางแผนจะเที่ยวเพียง 5 คืนต่อทริปซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ด้วยขนาดและความสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ทำให้เรายิ่งต้องศึกษาและวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและรูปแบบการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มศักยภาพและประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย”
“เราเชื่อว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะช่วยเปิดประตูสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ ส่งเสริมการสร้างงาน และการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มและพฤติกรรมการท่องเที่ยวนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของวีซ่าที่จะช่วยเหลือทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น พันธมิตร ลูกค้า รวมไปถึงรัฐบาลไทยในการสร้างเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน และด้วยจำนวนจุดรับบัตรที่เพิ่มมากขึ้นและช่องทางการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเสถียรภาพและปลอดภัยจากวีซ่า ทำให้นักท่องเที่ยวทุกคนที่ซื้อสินค้าและบริการผ่านบัตร เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่สำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย”
ตัวเลขจากสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก หรือ World Travel & Tourism Council (WTTC) ระบุว่า…อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเจริญเติบโตให้แก่เศรษฐกิจโลกเป็นมูลค่าถึง 272 ล้านล้านบาท ในปี 2560 หรือ มากกว่า 10.4 %จากดัชนีจีดีพีโลก ซึ่งสอดคล้องเป็นอย่างมากกับประเทศไทยที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีมูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท หรือ 21.2%ของดัชนีจีดีพีทั้งหมดในปี 2560 และคาดว่าจะโตมากถึง 7.4%ภายในสิ้นปี 2561 นี้
- ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมทั้งจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก (13%)
- และนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (18%)
ขณะเดียวกันห้าจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยในสองปีที่ผ่านมาคือ
- ญี่ปุ่น (64%)
- ฮ่องกง (37%)
- สิงคโปร์ (29%)
- เกาหลีใต้ (21%)
- และจีน (16%)
โดยสี่ประเทศแรกยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักในอีกสองปีข้างหน้า ยกเว้นประเทศจีนที่คาดว่าจะยกอันดับให้แก่ออสเตรเลียแทน
และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากถึง 83% ในปี 2560 ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการวางแผนและนำทางในขณะท่องเที่ยว ซึ่งมากขึ้นจาก 78% ในปี 2558 หากพูดถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายระหว่างทริป
- เงินสดยังคงเป็นทางเลือกหลัก (52%)
- ในขณะที่คนไทยเลือกที่จะใช้ทั้งเงินสด (52%)
- บัตรเครดิตและเดบิต (33%)
- ดิจิตอลวอลเล็ต (11 %)
- และอื่น ๆ (4%) คละกันไป
ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือได้ว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่สุดที่เลือกใช้ ดิจิตอลวอลเล็ต (20%) ในขณะเดินทาง ตามมาด้วย แอฟริกาตะวันตก (11%) และอเมริกา (11 %)