บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมคุณค่าสู่ภาคเศรษฐกิจ การเงิน และสังคมไทย ล่าสุดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาและองค์กรชั้นนำของประเทศ ร่วมเปิดตัว “B.VER (Blockchain Solution for Academic Document Verification)” แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการตรวจสอบเอกสารทางการศึกษา ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ที่ให้สถาบันการศึกษา หรือองค์กรต่าง ๆ ตรวจสอบวุฒิการศึกษา หรือ Transcript ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้แบบเรียลไทม์ครั้งแรกของไทย ป้องกันปัญหาการปลอมแปลงวุฒิการศึกษา ที่สร้างความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจของไทยอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมผลักดันให้ B.VER เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงการใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
การประยุกต์เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Blockchain มาพัฒนาเป็น แพลตฟอร์ม “B.VER (Blockchain Solution for Academic Document Verification)” ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ อาทิ
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยรังสิต
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รวมถึงองค์กรภาคธุรกิจ ได้แก่
- บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
- บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
- และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
ดิจิทัล เวนเจอร์ส ยังมีเป้าหมายให้ B.VERเป็นแพลตฟอร์มกลางที่เปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานของประเทศสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในวงกว้างได้ และในอนาคตเราได้วางแผนพัฒนาต่อยอดจากแพลตฟอร์มนี้ ให้สามารถเป็นช่องทางในการแนะนำงานที่เหมาะสม และตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้สมัครงานและองค์กรไปพร้อมกันได้ โดยใช้เทคโนโลยี Big Data และ Artificial Intelligence ในการจัดการข้อมูลและประมวลผล
การนำ Blockchain มาประยุกต์ใช้ในแพลตฟอร์ม B.VER ครั้งนี้ ได้เลือกแพลตฟอร์ม Ethereum ซึ่งเป็น Public Blockchain เก็บข้อมูลสำคัญอย่างถาวรในลักษณะกระจายข้อมูล (Decentralized Ledger of Information) โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบได้เท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ มีศักยภาพด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ Ethereum เหมาะสมกับการนำมาพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการเก็บและตรวจสอบข้อมูลสำคัญนี้
แพลตฟอร์ม B.VER ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากพบว่าในแต่ละปีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะได้รับคำขอ Transcript ย้อนหลังจากศิษย์เก่าที่อาจทำเอกสารสูญหาย หรือต้องการเอกสารตัวจริงหลายฉบับเพื่อนำไปสมัครงานหลายแห่ง ในขณะเดียวกัน องค์กรธุรกิจก็จำเป็นต้องยื่นคำขอกับแต่ละมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของผู้สมัครงาน เพื่อให้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารทางการศึกษาของผู้สมัครงานเป็นจำนวนมาก ขั้นตอนการทำงานของ B.VER ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก
- ส่วนแรกคือ : การอัพโหลดไฟล์ต้นฉบับขึ้นสู่แพลตฟอร์มโดยมหาวิทยาลัย
- จากนั้นระบบจะดำเนินการเข้ารหัสและเก็บเอกสารไว้ใน Blockchain ในรูปแบบที่เรียกว่า Fingerprint ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกันในแต่ละเอกสาร เปรียบเสมือนลายนิ้วมือที่ไม่ซ้ำกันของคน
- ในขณะเดียวกัน เมื่อองค์กรต่าง ๆ ต้องการตรวจสอบ สามารถทำได้ทันทีด้วยการอัพโหลดเอกสารที่ต้องการตรวจสอบเข้าสู่แพลตฟอร์ม
- จากนั้นระบบจะเข้ารหัสเอกสารนั้นในรูปแบบ Fingerprint เช่นกัน เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับ Fingerprint ของเอกสารต้นฉบับที่ถูกเก็บไว้ใน Blockchain ว่าเหมือนกันหรือไม่
-
- ซึ่งสามารถแสดงผลการตรวจสอบได้ทันที หาก Fingerprint ตรงกันแสดงว่าเอกสารนั้นถูกต้อง แต่หากไม่ตรงกัน แสดงว่าเอกสารที่นำมาตรวจสอบนั้นเป็นเอกสารปลอม
- ทั้งนี้ การเก็บและการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Blockchain นี้ ทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและความถูกต้องแม่นยำในการตรวจสอบ
- และในอนาคตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ยังสามารถขอเอกสารทางการศึกษาจากสถาบันต้นสังกัด หรือส่งต่อเอกสารให้กับผู้ว่าจ้างผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้โดยตรงอีกด้วย
แพลตฟอร์ม B.VER สามารถเข้ามาช่วยลดภาระให้กับทุกฝ่าย
- การยืนยันเอกสารของมหาวิทยาลัย เพราะองค์กรสามารถตรวจสอบเอกสารโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มได้ทันที
- แพลตฟอร์ม B.VER ยังเปิด API ไว้ให้แต่ละองค์กรสามารถเชื่อมต่อให้สามารถใช้งาน B.VER ร่วมกับระบบ HR เดิมที่มีอยู่ได้
- แพลตฟอร์ม B.VER จะเปิดให้บริการตรวจสอบเอกสารได้ตั้งแต่ มกราคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งในระหว่างนี้ทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะทยอยอัพโหลด Transcript ของปีการศึกษา 2560 ไว้บนแพลตฟอร์มเพื่อเตรียมพร้อมในการให้บริการ