เพราะเทรนด์ของการออกแบบพื้นที่ทำงานขององค์กรธุรกิจ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก กล่าวได้ว่า เรื่องการออกแบบพื้นที่ทำงาน หรือ เวิร์คเพลส (Workplace) กำลังมีบทบาทและมีอำนาจมากขึ้นในด้านการทำงานเพื่อสร้างผลลัพธ์และประสิทธิผลของงานให้เกิดขึ้นในทางบวก
ยิ่งเมื่อทุกวันนี้โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ด้วยแล้ว ยิ่งส่งผลให้การออกแบบเวิร์คเพลสมีความจำเป็นไม่น้อย และเป็นอีกเครื่องมือที่สำคัญที่จะผลักดันให้องค์กรธุรกิจเกิดการปรับตัวเพื่อนำพาธุรกิจให้อยู่รอดได้ ไม่ถูกแทรกแซงหรือรับผลกระทบ (Disruption) จากโลกยุคใหม่ นี่คือการก้าวเข้าสู่ เวิร์คเพลส ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Workplace Transformation) อย่างแท้จริง เพราะสมัยนี้การออกแบบหรือการดีไซน์พื้นที่การทำงาน ไม่เพียงแต่เป็นแค่การใช้แนวคิดออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับคน หรือเพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนคนที่มีอยู่ หรือออกแบบเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่อะไรก็แล้วแต่ที่เราคาดไม่ถึงจะเป็นแห่งการดิสรัปชั่น (Disruption) เราได้ตลอดเวลา การออกแบบที่ดีก็คงต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตและเอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์เป็นสำคัญด้วย
ก่อนที่เราจะออกแบบเวิร์คเพลส หรือว่าเราจะทำ เวิร์คเพลส ทรานส์ฟอร์เมชั่น เราต้องค้นหาแกนหลักให้ได้ก่อนว่า เราจะเปลี่ยนแปลงเพื่ออะไร เพื่อต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หรือเปลี่ยนเพื่อต้องการลดต้นทุนการดำเนินงาน หรือจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เราต้องรู้ก่อนว่าเรามีวัตถุประสงค์อะไรให้ชัดเจน ดังนั้นหน้าที่ของนักออกแบบจะต้องค้นหาแกนหลักให้ได้ก่อน
ปัจจัยหลักของการทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่ย้ำเสมอก็คือ คน ที่ต้องยอมรับและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงคนในทุกระดับขององค์กร ทรัพยากรบุคคลถือเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่อาจลืมไปว่า พื้นที่การทำงานที่เหมาะสมก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้องค์กรขันเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงเช่นกัน
“เรื่องของคน ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะสังคมไทยของเราตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยังคงยึดติดกับอำนาจ และตำแหน่ง โดยเฉพาะถ้าใครเป็นหัวหน้า ผู้บังคับบัญชา หรือเจ้าขององค์กร กลุ่มคนเหล่านี้มักจะมีความคิดเสมอว่า ต้องมีห้องทำงานส่วนตัว มีพื้นที่ส่วนตัวขนาดใหญ่ มีโต๊ะส่วนตัว มีที่เก็บของตัวเอง ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงความคิดและค่านิยมได้ยาก แต่หากสามารถทำให้เกิดการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่รูปแบบใหม่ได้ ก็สามารถที่จะทำการออกแบบเวิร์คเพลสใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร
สังเกตได้ว่า องค์กรหลายแห่งยุคนี้เริ่มที่จะให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่ทำงานให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางมากขึ้น และลดขนาดของพื้นที่ส่วนตัวของพนักงานหรือแม้แต่ผู้บริหารระดับสูงให้น้อยลง มีโต๊ะทำงานเล็กลง เพื่อกระตุ้นให้พนักงานหันมาใช้พื้นที่ส่วนกลาง ถือเป็นการสร้างโอกาสในการพบปะ พุดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดกัน แทนที่จะหลบอยู่แต่ในมุมหรือโต๊ะของตัวเอง เพื่อจุดประกายความคิดใหม่ๆ แทนทีจะทำงานลำพังส่วนตัว ขณะเดียวกันพื้นที่ของสำนักงานก็มีแนวโน้มที่ลดขนาดลงเรื่อยๆ แต่ใช้การกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่มาของ Co-Working Space นั่นเอง
อย่าง กูเกิ้ล ที่มองว่า ผลงานหรือไอเดียดี ๆ นั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่โต๊ะทำงาน หรือโต๊ะส่วนตัว แต่มักเกิดขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม กูเกิ้ลจึงลงทุนที่จะสร้างพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ใช้สอยสูงสุด ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกและความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นห้องอาหาร ห้องนั่งเล่น และห้องประชุม
องค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงและน่าชื่นชมก็มีให้เห็น ดังเช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ยอมรับว่า เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่การทำงานของตัวเองมานานกว่า 30 ปี ทั้ง ๆ ที่โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก แม้แต่ผู้คนเองก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว ต้องยอมรับว่า อนาคตของทีดีอาร์ไอ จะต้องเข้าสู่ยุคของคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) แล้ว คนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่เข้ามารับช่วงทำงานต่อจากเรา
ซึ่งสิ่งที่จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ มีทั้งขนาด (Scale) และความเร็ว (Speed) หมายความว่าสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นไม่จำเป็นต้องมีปริมาณที่มากมาย หรือมีขนาดใหญ่โต แต่ต้องมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีคุณค่า มีหลายปัจจัยที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ อาทิ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ Block Chain ซึ่งน่าจับตามองว่าพวกนี้จะเข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงเราอย่างไร แต่ที่สำคัญคือจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแบรนด์ ที่จะทำให้ความสำคัญของแบรนด์ลดลงไป นี่คือสิ่งแบรนด์ต้องคำนึงถึงและตั้งรับให้ได้
ประเทศไทย จะได้ประโยชน์จาก New Economy ได้หากมีการตั้งตัวและปรับตัวได้ทัน ซึ่งองค์กรใหญ่ๆ ควรเตรียมพร้อมในการรับมือที่จะถูกดิสรับชั่นด้วยการปรับมายด์เซ็ต (Mind Set)ผู้บริหารระดับสูง สำหรับการปรับเปลี่ยนข้อห้ามต่างๆ และเรื่องของ Innovation หากซีอีโอหรือผู้บริหารระดับสูงไม่มีวิชั่นหรือกลยุทธ์ที่ชัดเจนว่าจะพาองค์กรเดินต่อไปอย่างไร ก็ถือว่าเป็นการดิสรับชั่นตัวเองแล้ว
Corporate Transformation for New Economy นั้น ทำให้เห็นถึงอนาคตของการเตรียมเผชิญกับเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งแน่นอนว่า “คน” เป็นปัจจัยสำคัญของแรงขับเคลื่อน การให้ความสำคัญกับ “คน” ในมิติต่าง ๆ ย่อมสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่ง Workplace Transformation เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย ความสำเร็จในทุก ๆ เรื่องย่อมเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจเองก็เช่นเดียวกัน