บริษัท เซอร์ทิส และมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ร่วมมือพัฒนาเครื่องมือเอไออัจฉริยะ Data and Impact Assessment, Monitoring, and Development System หรือ “DIAMONDS” เสมือนห้องเรียนที่ใช้กับโรงเรียนนำร่อง 29 โรงเรียน เพื่อวิเคราะห์การเรียนรู้ของนักเรียน ผ่านข้อสอบตามตัวชี้วัด และยังช่วยแบ่งเบาภาระงานคุณครูด้วย 

คุณจรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovative Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด ได้กล่าวถึงความร่วมมือในการพัฒนา DIAMONDS ว่า 

“จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากความเชี่ยวชาญทางด้านข้อมูล (data) กับปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence: AI) มาสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมนอกเหนือจากงานทางด้านธุรกิจ ได้พันธมิตรทางธุรกิจที่เข้าใจด้านการศึกษา มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และพนักงานของเราที่ช่วยผลักดัน DIAMONDS สร้างการเรียนรู้ของนักเรียนไทยให้ดีขึ้น โดยการใช้ข้อมูลมาสร้างข้อสอบที่เหมาะสม กับศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน (Personalized test) เพื่อประเมินการเรียนรู้อย่างตรงจุดที่สุด โดยในอนาคตเราอยากเห็น ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับองค์กรอื่นๆที่มีแนวคิดในการร่วมกันช่วยพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้การศึกษาของไทยดีขึ้น”

ทางด้านคุณวิชิตพล พลโภค CEO และผู้ก่อตั้งมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เสริมว่า

“ความร่วมมือกับบริษัท เซอร์ทิส ในการพัฒนาคุณภาพ การสอนผ่านเทคโนโลยีเอไอเป็นตัวอย่างของการทำงานระหว่างบริษัทเอกชน และองค์กรเพื่อสังคมที่ทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันใน การขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ จากประสบการณ์ทำงานในโรงเรียนของเราที่เจอความท้าทายในการการวัด และประเมินผล เรามองเห็นถึงความเป็นไปได้ของ DIAMONDS ในการต่อยอดไปสู่การสนับสนุนครูทั่วประเทศไทย ผ่านการทดสอบการใช้งานใน 29 โรงเรียนเครือข่าย ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่นักเรียนเกือบ 10,000 คน”

DIAMONDS เป็นระบบวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนซึ่งกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงและพัฒนา โดยระบบดังกล่าวประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ

การสร้างข้อสอบ

สร้างข้อสอบตามตัวชี้วัดของหลักสูตรที่ผู้สอนต้องการวัดผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และช่วยให้ผู้สอนสามารถเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนของตนได้

การรายงานผล 

วิเคราะห์และรายงานผลการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงจุดเด่น และจุดที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนเป็นรายบุคคล

ในอนาคตมีแผนจะพัฒนาระบบนี้ให้ครอบคลุมถึงการวัดประเมินผลกระทบเชิงบวกที่มีต่อนักเรียนด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงพัฒนาทักษะ ลักษณะนิสัยจำเป็นของนักเรียนด้วย และคาดหวังว่าจะเสร็จสิ้นช่วงปลายปีนี้ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะขยายไปสู่โรงเรียน และครูทั่วประเทศไทย ให้ผลบวกกระจายเป็นวงกว้างต่อไป