เปิดตัว Mask Bank โครงการธนาคารหน้ากากระดมทุนสาธารณะและรับบริจาคเพื่อจัดหาหน้ากากอนามัย ให้ประชาชนจองซื้อได้ในราคาชิ้นละ 2.50 บาทไม่จำกัดจำนวนตามความจําเป็นที่ต้องใช้จริงส่งถึงบ้านฟรีทุกเดือน โดยให้ซื้อใช้เองพร้อมซื้อบริจาคในสัดส่วน1ต่อ1 เพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน ภายใต้แคมเปญการรณรงค์ #หน้ากาก2บาท50มีจริงส่งถึงบ้าน #ใช้1ให้1 #get1give1
นางสาวปรางพิสุทธิ์ แดงเดช (ฟ้า) นักเดินทางและผู้ก่อตั้ง Play with Robot จับมือกับเภสัชกรหญิง นางสาว สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ (บิ๊นท์) นางสาวไทยปี 2562 และมิสอินเตอร์เนชั่นแนล 2019 ร่วมกันก่อตั้งโครงการธนาคารหน้ากากแห่งแรกของโลก เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ปัญหาการกักตุนสินค้า และหยุดการถูกเอารัดเอาเปรียบของประชาชนที่ต้องซื้อหน้ากากอนามัยในราคา แพงจากผู้ค้าที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม
ขณะที่ความต้องการใช้หน้ากากอนามัยของประชาชนมีแนวโน้มสูงขึ้นจากภาวะการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และคาดว่าปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยจะทวีความรุนแรงตามไปด้วย หากการระบาดของไวรัสในประเทศไทยเข้าสู่ระดับ 3 ยิ่งจำนวนผู้ติดเชื้อขยายวงกว้างออกไปมากเท่าใด การสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเอง และการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ก็จะยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น
จากความจำเป็นในการใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองจากโรคอุบัติใหม่ไวรัสโควิด-19 ของประชาชน ทำให้เกิดการกักตุนหน้ากากอนามัย ทั้งแบบธรรมชาติ คือกลัวไม่มีหน้ากากใช้จึงกักตุนไว้ และการกักตุนแบบไม่เป็นธรรมชาติ คือการกักตุนของผู้ค้าเพื่อหวังทำกำไรจากภาวะสินค้าขาดตลาด เพราะเมื่อสินค้าขาดตลาดก็จะขายได้ราคาแพงหลายเท่า ทำให้กลไกตลาดเสียสมดุล กอร์ปกับการผลิตหน้ากากอนามัยที่เดิมผลิตเพื่อการใช้งานในส่วนงานสาธารณสุขเป็นหลัก เมื่อเกิดภาวะวิกฤตโควิดจึงทำให้กำลังการผลิตที่มีอยู่ไม่พอเพียง
ทั้งนี้ นางสาวปรางพิสุทธิ์ แดงเดช ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการธนาคารหน้ากากเปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยผลิตหน้ากากอนามัยได้เพียง 2.2 ล้านชิ้น/วัน ขณะที่ประชากรไทย 69 ล้านคน มีความต้องการใช้หน้ากากราว 10 ล้านชิ้น/วัน ธนาคารหน้ากากจะทำการระดมทุน (Crowdfunding) ผ่านการจองซื้อหน้ากากจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในราคาชิ้นละ 2.50 บาท ไม่จำกัดจำนวนตามความจําเป็นที่ต้องใช้จริงต่อปีส่งถึงบ้านฟรีทุกเดือน
โดยให้ซื้อใช้เองพร้อมซื้อบริจาคในสัดส่วน1ต่อ1 (#ใช้1ให้1: ป้องกันเราป้องกันเขา ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด) และให้มีการระดมทุนขั้นต่ำด้วยการสั่งจองหน้ากาก 1,000 บาท ซึ่งผู้จองจะได้รับหน้ากากจำนวน 400 ชิ้น (เพื่อนำไปใช้เอง 200 ชิ้น/บริจาค 200 ชิ้น) มีเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการ 100,000 คนเท่ากับยอดจองซื้อ 40,000,000 ชิ้น/ปี เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยมาตรฐาน ใช้ระยะเวลาเตรียมการผลิต 6-8 สัปดาห์ ซึ่งกำลังการผลิต1โรงงาน จะผลิตได้ 120,000 ชิ้น/วัน 3,600,000 ชิ้น/เดือน 43,200,000 ชิ้น/ปี เพียงพอสําหรับยอดจอง 40,000,000 ชิ้น/ปี และหาก มียอดจองเพิ่มขึ้นในทุกๆ 100,000 คน ก็จะทำให้ธนาคารหน้ากากสามารถเพิ่มโรง งานผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานได้
ทางด้านเภสัชกรหญิง นางสาว สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ (บิ๊นท์) ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการธนาคารหน้ากากกล่าวว่า หัวใจสำคัญของแนวคิดธนาคารหน้ากากที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากให้เป็นผลสำเร็จ คือการรณรงค์ให้ประชาชนประเมินและวางแผนจำนวนหน้ากากที่ต้องการใช้งานจริงล่วงหน้า เพราะ ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังเป็นปัญหาที่เราต้องรับมือไปอีกระยะหนึ่ง “เมื่อปัญหาการขาดแคลนเกิดจากการกักตุนและการเก็งกำไร แนวคิดการแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด ก็คือการทำให้ไม่ต้องกักตุน และทำให้การเก็งกำไรไม่เป็นผล ซึ่งแนวคิดของธนาคารหน้ากาก คือการทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะมีหน้ากากใช้ และความมั่นใจนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ก็ต่อเมื่อประชาชนมีการวางแผนการใช้งาน และผู้ผลิตมีการกระจายสินค้าไปถึงผู้บริโภคได้ตามการใช้งานจริง”
เภสัชกรบิ๊นท์ได้อธิบายแนวคิดดังกล่าวว่า “ยกตัวอย่างตัวบิ๊นท์เองมีความจำเป็นต้องใช้หน้ากากเดือนละประมาณ 20 ชิ้น เท่ากับปีหนึ่งบิ๊นท์ต้องใช้หน้ากาก 240 ชิ้น ถ้าจองซื้อหน้ากากผ่านธนาคารหน้ากากจำนวน 1,200 บาท บิ๊นท์ก็จะได้หน้ากากของตัวเอง 240 ชิ้น ซึ่งธนาคารหน้ากากจะทะยอยจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ทุกเดือน และยังได้ร่วมบริจาคหน้ากากอีก 240 ชิ้นให้หน่วยงานหรือคนด้อยโอกาสที่ขอรับบริจาคมาทางธนาคารหน้ากากด้วย สาเหตุที่ธนาคารหน้ากากให้ความสำคัญกับการบริจาค #ใช้1ให้1 เพราะว่าการที่จะหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เราไม่สามารถหยุดได้แค่การป้องกันตัวของเราเอง แต่การช่วยป้องกันคนอื่นๆที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วยนั้น จะช่วยให้การควบคุมการระบาดเป็นผลมากขึ้น” ดังนั้น การวางแผนและบริหารจัดการให้หน้ากากมีใช้งานได้ตามความต้องการใช้งานจริง จะทำให้ประชาชนไม่ต้องกักตุน ไม่ต้องไปต่อแถวซื้อหน้ากาก ขณะที่ผู้ผลิตก็จะรู้ปริมาณที่ต้องผลิต ทำให้สามารถบริหารจัดการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการใช้งานได้
นอกจากนี้ ทางโครงการธนาคารหน้ากากมีแผนที่จะร่วมมือกับสมาคมร้านขายยาในการจัดจำหน่ายหน้ากากและช่วยในการคัดกรองโรค เนื่องจากเภสัชกรมีโอกาสซักถามอาการ ให้คำแนะนำและคัดกรองเบื้องต้นในกรณีพบอาการหรือโอกาสจะเป็นผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคโดยไม่รู้ตัวและส่งต่อแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
“และด้วยความอนุเคราะห์จากหลายหน่วยงาน อาทิ ผู้นำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบในการผลิตหน้ากาก อนามัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศูนย์สนับสนุนนักรบสีขาวเพื่อแพทย์และพยาบาล บริษัทไปรษณีย์ไทย และเหล่าศิลปินดาราเน็ตไอดอลที่ให้การสนับสนุนโครงการ ทำให้วันนี้แนวคิดธนาคารหน้ากากเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และเรามีเป้าหมายที่จะให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงหน้ากากอนามัยในราคาควบคุม คือชิ้นละ 2.50 บาทพร้อมจัดส่งให้ถึงบ้าน เราหวังและขอเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ให้หยุดลงโดยเร็วที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่ประเทศไทย” และในตอนท้าย ผู้ก่อตั้งโครงการธนาคารหน้ากากได้กล่าวเชิญชวนคนไทยทุกคนชูมือขึ้นเหมือนสัญลักษณ์โครงการ ร่วมรณรงค์ด้วยการถ่ายภาพมือแขวนหน้ากาก และเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เฟสบุ๊ค พร้อมติดแฮชแทค #หน้ากาก2บาท50มีจริงส่งถึงบ้าน #ใช้1ให้1 #get1give1 เพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการ
ข้อมูลเพิ่มเติม
maskbank.org
facebook.com/maskbankorg
instagram.com/maskbankorg
twitter.com/maskbankorg