ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ ประเทศไทยตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวนมากกว่า 2,000 ราย พบกระจายมากกว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ และยังมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 รวมถึงทุกภาคส่วนต่างให้ความร่วมมือเพื่อช่วยประเทศชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้
ขณะเดียวกันในภาคโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่างเร่งหาแนวทางบริการผู้ป่วยและยกระดับมาตรการเข้มงวดขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ได้สร้างมาตรฐานการดูแลรักษาและให้บริการในระดับสากล ซึ่งขณะนี้ บำรุงราษฎร์ได้เตรียมแผนปฏิบัติการและรับมือในทุกมิติ หากมีการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในวงกว้างมากขึ้น
ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ Executive Consultant & Senior Associate Chief Medical Officer (Medical Quality & Informatics) ในฐานะผู้ขับเคลื่อนศูนย์บัญชาการ COVID-19 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า ในขณะนี้ บำรุงราษฎร์มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หากมีการแพร่กระจายในวงกว้าง
โดยโรงพยาบาลได้พิจารณาศักยภาพของโรงพยาบาลใน 4 ส่วนหลักๆ ที่มีความสำคัญอย่างมาก คือ
- ศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย
- ความสามารถในการตรวจคัดกรองและคัดแยกผู้ป่วย
- ทรัพยากรที่จะนำมาสนับสนุนเพียงพอในระยะเวลาอีกนานเพียงใด
- สมรรถนะของบุคลากรของโรงพยาบาล ซึ่งบำรุงราษฎร์มีศักยภาพและมีมาตรการอย่างเข้มข้นครอบคลุม 4 ประเด็นหลักนี้ โดยขออธิบายเป็นส่วนๆ ดังนี้
1. ศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องด้วยบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลที่มุ่งสู่การรักษาในขั้นจตุตถภูมิ (Quaternary Care) ที่ให้การบริบาลทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนอย่างมากด้วยนวัตกรรมขั้นสูง และด้วยมาตรฐานคุณภาพระดับสากล โดยมีทีมดูแลผู้ป่วยวิกฤต (Critical Care Team) ที่เข้มแข็งและเป็นเสาหลักของโรงพยาบาล และมีทีมแพทย์ทางเดินหายใจ มีทีมแพทย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย
มีทีมแพทย์ครอบคลุมทุกสาขา พร้อมดูแลผู้ป่วยทั้งผู้ใหญ่และเด็ก นอกจากนี้ ยังมีทีมห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพที่ได้การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระดับสากล จากวิทยาลัยพยาธิแพทย์อเมริกัน College of American Pathologists (CAP) ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้การรับรอง CAP อย่างเต็มรูปแบบที่เปิดบริการสำหรับผู้ป่วย สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมมาโดยตลอด และสามารถพัฒนาต่อยอดถอดรหัสพันธุกรรมเป็นห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อโควิด-19 ได้ทันที ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่ได้การรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19
2. ความสามารถในการตรวจคัดกรองและคัดแยกผู้ป่วย โรงพยาบาลเสริมสมรรถนะสูงสุดในการตรวจหาเชื้อระยะที่ 3 หมายความว่า ในระยะที่ 3 นี้ จะไม่สามารถทราบต้นทางหรือไม่สามารถตามรอยได้ว่าผู้ป่วยรายนี้ไปติดมาจากที่ไหน หรือไปสัมผัสใครมา เป็นการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบต้นตอของการแพร่กระจาย ฉะนั้นทุกโรงพยาบาลจะต้องเพิ่มมาตรการในการคัดกรองผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันผู้ที่ยังไม่ป่วยไปสัมผัส
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกำลังคัดกรองสำคัญและถือเป็นด่านหน้าที่ต้องต่อสู้เพื่อรักษาผู้ป่วยให้ปลอดภัย นั่นหมายถึงการตรวจคัดกรองและคัดแยกผู้ป่วยมีความสำคัญมาก ทั้งนี้ บำรุงราษฎร์ได้เตรียมการในระยะ 3 มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 แล้ว โดยมีแผนดำเนินการในการทยอยออกมาตรการเป็นระยะ ๆ ผ่านศูนย์บัญชาการ (Hospital Incident Command System) เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ ขณะนี้บำรุงราษฎร์ได้เปิด “Special Clinic” แยกพื้นที่ออกมาจากอาคารบริการปกติ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2563
เพื่อตรวจหาผู้ป่วยที่ไม่ทราบว่าติดต่อมาจากที่ใด โดยคลินิกพิเศษนี้จะเป็นจุดคัดแยก ซึ่งไม่ปะปนกับคลินิกการรักษาอื่น ๆ และค้นหาโรคได้อย่างทันท่วงที รวมถึงจัดตั้งคลินิกโรคหวัด ที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหวัดหรือมีไข้หวัดโดยเฉพาะ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะแพร่กระจายในวงกว้าง รวมถึงมีมาตรการทำความสะอาด และกำจัดขยะที่เข้มแข็งและมีการฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาคุณภาพสูงตามมาตรฐานสูงสุดในระดับสากลของ Workplace Hygiene ทั้งนี้มีเป้าหมายที่สำคัญคือความปลอดภัยของทุกท่านในโรงพยาบาลทั้งผู้ป่วย ญาติมิตร แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล
3. ทรัพยากรและอุปกรณ์ โรงพยาบาลได้วางแผนการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 มาตั้งแต่ได้รับสัญญาณเตือนครั้งแรก จากประสบการณ์ที่สั่งสมกว่า 40 ปี และได้ผ่านสถานการณ์โรคระบาดในอดีต ทั้งไข้หวัดนก SARS รวมถึง MERS ทำให้เราเตรียมการและวางแผนอย่างรัดกุม และได้มีการสำรองทรัพยากรทั้งหลาย อาทิ ชุดน้ำยาตรวจ ยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ อุปกรณ์ทางการแพทย์และวัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
เพื่อเตรียมรองรับการแพร่ระบาดกระจายในวงกว้าง โดยศึกษาจากประสบการณ์ของเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน, อิตาลี, อิหร่าน และประเทศอื่น ๆ เป็นบทเรียน และนำมาพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
4. สมรรถนะของบุคลากรโรงพยาบาล โรงพยาบาลมีการจัดทำเหตุการณ์จำลองผ่าน Simulation Learning Center ให้บุคลากรทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้มาฝึกฝน ซ้อมเสมือนจริง เสริมความมั่นใจในการปฏิบัติงานได้สูงสุด รวมถึงมีการจัดตั้งทีมวิชาการ ที่เราเรียกว่า “ทีมขงเบ้ง” ซึ่งเป็นที่ปรึกษา ที่คอยช่วยหาข้อมูลข่าวสารจากทุกช่องทางทั่วโลกเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจทุกก้าวของบำรุงราษฎร์ในการดูแลผู้ป่วยอย่างรอบคอบและสมดุลในทุกมิติ ดังนั้น ทุกมาตรการที่โรงพยาบาลนำมาใช้นั้น มีงานวิจัยรองรับและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล
ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บำรุงราษฎร์ได้มีการวางแผนไว้อย่างรอบด้านและมีการจัดเตรียมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เป็น 3 แถว ซึ่งหากนักรบเสื้อกาวน์แถวหน้าของเราบอบช้ำ เราก็มีแถว 2 และแถว 3 พร้อมสลับกันออกมาปฏิบัติภารกิจแทน และเพื่อให้แพทย์ที่สูงอายุได้ลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อ โรงพยาบาลจึงมีมติให้ท่านได้พักภารกิจในการดูแลผู้ป่วยในช่วงเวลานี้เป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เนื่องจากประสบการณ์ในประเทศอิตาลีพบว่าแพทย์สูงอายุเสียชีวิตจำนวนมาก และโรงพยาบาลไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น
นอกจากนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังได้จัดเตรียมแยกพื้นที่เฉพาะ เรียกว่า “Detached Areas” ซึ่งเป็นพื้นที่แยกออกจากพื้นที่บริการทั่วไป ตามมาตรการควบคุมเชื้ออย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนหรือการสัมผัสในวงกว้าง กำหนดพื้นที่ชัดเจนสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย อาการปานกลาง และอาการหนัก เพื่อให้การดูแลที่ปลอดภัยสูงสุดอย่างเหมาะสม
รวมถึงได้ร่วมกับองค์กรแพทย์ของโรงพยาบาล ในการจัดเตรียมนักรบซึ่งเป็นแพทย์ของเราเพื่อความพร้อมการเผชิญกับโควิด-19 ที่จะเข้ามา โดยมีการระดมแพทย์ในสาขาต่าง ๆ รวมถึงแพทย์ในคลินิกโรคหวัด ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะเตรียมรับมือกับผู้ป่วยในระยะที่ 3 ที่ไม่พบต้นตอในการรับเชื้อ สัมผัสเชื้อ แต่มีอาการไข้ ไอ มีอาการเหมือนหวัด ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกแยกออกจากการให้บริการแบบปกติ เพื่อมาตรวจหาผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 ต่อไป
ขณะที่บำรุงราษฎร์ยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่การนำร่องโดยการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ Thermal Imaging Cameras มาช่วยคัดกรองผู้ที่มีอุณหภูมิสูงออกจากผู้ป่วยปกติเป็นแห่งแรกๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม ในทุกทางเข้าอาคาร (point of entry) รวมถึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการถอดรหัสทางพันธุกรรม แบบ Realtime PCR รวมถึงเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ Rapid test ในการตรวจหาภูมิของการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งใช้เวลาเพียง 10 นาทีก็จะทราบผล
โดยใช้เลือดเพียง 2-3 หยด ทันทีเมื่อผ่านการอนุมัติจากทางราชการ บำรุงราษฎร์ก็พร้อมให้บริการ ทำให้มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจวินิจฉัยหาเชื้อโควิด-19 เองได้ และจากบทเรียนของอู่ฮั่น ที่พบสถิติผู้ป่วยวิกฤตอยู่ที่ร้อยละ 6.1 นั่นหมายความว่า การเคลื่อนย้าย ผู้ป่วยมีความสำคัญมากเช่นกัน โรงพยาบาลจึงได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีแคปซูลความดันลบที่ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย และยังมีอุปกรณ์ช่วยเสริมต่าง ๆ รวมถึงชุดมนุษย์อวกาศ ที่แพทย์สวมใส่เรียกว่า Powered Air Purifying Respirator (PAPR) ตรงบริเวณหมวกจะมีเครื่องช่วยหายใจ ที่จะคอยปั๊มอากาศเข้ามาเหมือนไปเดินบนโลกพระจันทร์ รวมถึงการใช้หุ่นยนต์ Pulsed Xenon UV Robot ทำความสะอาดด้วยแสงยูวี เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณที่แสงสัมผัสอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ทิ้งสารปรอทตกค้าง นับเป็นเทคโนโลยีที่ได้นำมาใช้เพื่อเสริมมาตรฐานความปลอดภัยในโรงพยาบาล
ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “นับจากนี้ บำรุงราษฎร์ยังคงมุ่งมั่นพัฒนายกระดับมาตรฐานทางการแพทย์ต่อไป และขอให้ผู้มาใช้บริการมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดของโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็น DNA วัฒนธรรมขององค์กรในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้หยุดแค่โรคโควิด-19 เนื่องด้วยจาก World Economic Forum ได้กล่าวไว้ว่าจะเป็น Global Risk ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจะมีโรคอุบัติใหม่และโรคระบาดเข้ามาท้าทายวงการแพทย์ และบำรุงราษฎร์ได้ทำแผนเตรียมตั้งรับมาโดยตลอด
ที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ผ่านประสบการณ์มาหลายช่วงเหตุการณ์ในการ outbreak โรคอันตรายถึงชีวิต โรงพยาบาลจึงให้ความสำคัญในการรับรองมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ DNV-MIR Managing Infection Risk นับเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียและนอกทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อให้ผู้รับบริการมีความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยด้านการควบคุมโรคติดเชื้อ ในการรักษาพยาบาลตลอดทั้งกระบวนการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรอง การวินิจฉัย การดูแลรักษา ไปจนถึงการติดตามผลตามมาตรฐานระดับสากล และเพื่อเตรียมพร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่เกิดมากขึ้นในช่วงระยะ 10 – 20 ปีนี้