โควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงธุรกิจต่างๆ มากมายในไทยที่ต้องเผชิญกับความท้าทายแบบไม่คาดหมายในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการต้องมองหาวิธีรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ในขณะที่ยังคงต้องเชื่อมต่อและให้ข้อมูลกับกลุ่มผู้บริโภคและเพื่อนๆ อย่างสม่ำเสมอ
เพื่อสอดคล้องกับแนวทางประกาศขององค์การอนามัยโลกที่ย้ำถึงความสำคัญด้านการเปิดช่องทางการสื่อสารในสถานการณ์เช่นนี้ ธุรกิจและกลุ่มชุมชนในไทยเองต่างค้นหาวิธีสุดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการเชื่อมต่อ สร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพวกระหว่างช่วงเวลาที่ทุกคนต้องร่วมมือรักษาระยะห่างในสังคม
นับตั้งแต่ช่วงแรกของการแพร่ระบาด ได้มีกลุ่มและเพจต่างๆ บน Facebook เกิดขึ้นมากมายเพื่อสนับสนุนและโปรโมทธุรกิจในกลุ่มเพื่อนๆ ด้วยกันเอง Facebook มีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างความรู้ให้กับชุมชนในไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งใช้ฟีเจอร์ต่างๆ มาช่วยขยับขยายธุรกิจสู่กลุ่มคนในวงกว้างยิ่งขึ้น
ศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไทยต่างร่วมแสดงพลังแห่งน้ำหนึ่งใจเดียวกันและร่วมสนับสนุนกันผ่านการใช้กลุ่มบน Facebook เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ซื้อ-ขายสินค้าและการบริการระหว่างกัน ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มเหล่านี้ยังช่วยกันบรรเทาความรู้สึกโดดเดี่ยวในช่วงเวลาที่ยากลำบากขณะนี้ กลุ่มจากสถาบันการศึกษาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส มาแตร์เดอีมาร์เก็ตเพลส ตลอดถึงกลุ่มจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ช่วยมอบพื้นที่ให้สมาชิกนักเรียนนักศึกษาได้เชื่อมต่อและรู้จักกันผ่านสายสัมพันธ์ และยังจุดประกายบทสนทนาที่เป็นกันเอง ในขณะที่ต่างช่วยกันสนับสนุนซื้อสินค้าเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
ตัวอย่างจริงจากภาคธุรกิจที่เห็นได้ชัดผ่าน Facebook Group คือ กลุ่มช่วยร้านอาหารไทยต้านภัยโควิด-19 พื้นที่สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารไทยรายย่อยที่มาแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและบริการของตน กลุ่มดังกล่าวเลือกใช้แบบฟอร์มคัดเลือกผู้สมัครเข้าร่วม เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าของธุรกิจทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการร่วมเป็นสมาชิกและมีโอกาสโปรโมทธุรกิจ พร้อมทั้งผลักดันให้ภาคธุรกิจร้านอาหารฝ่าฝันวิกฤตนี้ไปได้ใเนื่องจากกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กยังคงเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ในช่วงเวลาที่ผู้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น
ขณะที่คนไทยต่างให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เราก็สัมผัสได้ถึงพลังจากทั่วประเทศที่สะท้อนถึงการร่วมแรงกันต้านภัยโควิด-19 ด้วยเช่นกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ Facebook ร่วมขานรับมาตรการรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน พร้อมช่วยสนับสนุนธุรกิจด้วยการเปิดตัวศูนย์รวมแหล่งข้อมูลสำหรับธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือด้านเงินสนับสนุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็กกว่า 30,000 รายทั่วโลก โดยศูนย์รวมแหล่งข้อมูลดังกล่าวยังจัดทำเคล็ดลับและคำแนะนำต่างๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจรายย่อยได้เชื่อมต่อกับลูกค้า พร้อมใช้โซเชียลมีเดียในการดำเนินธุรกิจอย่างราบรื่น Facebook ประเทศไทยยังจัดกิจกรรมออนไลน์เพื่อให้ความรู้และช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงการจัดสัมมนาทางเว็บไซต์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กกว่า 800 รายเข้าร่วม และยังได้วางแผนจัดการฝึกอบรมและการสัมมนาออนไลน์เพิ่มเติมอีกในเดือนเมษายนนี้
ต่อไปนี้คือเคล็ดลับสำคัญจากศูนย์รวมแหล่งข้อมูลสำหรับธุรกิจที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที
1. ดูแลชุมชนให้ปลอดภัยและเท่าทันข้อมูล
สิ่งสำคัญที่เจ้าของธุรกิจควรทำคือ มั่นใจว่าตัวคุณเองและลูกค้าของคุณได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุด ตลอดถึงการประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ซึ่งทำได้โดยติดตามจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น องค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุข เพียงเท่านี้ คุณก็จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที
2. สร้างปฏิสัมพันธ์และติดต่อกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ
แบ่งปันข้อมูลกับลูกค้าของคุณผ่านอีเมล เว็บไซต์ เพจ Facebook บัญชี Instagram สำหรับธุรกิจ หรือช่องทางอื่นๆ นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) บน Facebook ยังช่วยให้ผู้คนสามารถร้องขอหรือเสนอให้ความช่วยเหลือผ่านศูนย์ความช่วยเหลือชุมชนเพื่อแสดงน้ำใจท่ามกลางสภาวะวิกฤต คุณสามารถติดตามความเคลื่อนไหวจากชุมชนธุรกิจเพื่อดูว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือด้านใดบ้าง
เคล็ดลับ: บันทึกโพสต์สำคัญไว้ด้านบนของเพจ เพื่อให้ผู้ติดตามเข้าถึงได้ง่าย โพสต์เหล่านี้อาจรวมถึงข้อมูลด้านมาตรการที่ธุรกิจของคุณได้ประกาศใช้ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของคุณมีความปลอดภัย หรือข้อมูลเกี่ยวกับคำถามที่พบบ่อยจากลูกค้า เป็นต้น
3. เชื่อมต่อกันผ่านกลุ่ม Facebook
กลุ่มบน Facebook เป็นพื้นที่ที่ผลักดันให้ชุมชนต่างๆ เติบโตและเชื่อมต่อถึงกัน แนะนำให้ใช้กลุ่ม Facebook ที่มีอยู่แล้วหรือสร้างกลุ่มขึ้นมาใหม่เพื่อเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูล ประสานงานร่วมกัน และหาแนวทางช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถแจ้งรายละเอียดสำคัญต่างๆ ให้กับพนักงานหรืออาสาสมัคร หรือแบ่งปันข้อมูลด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่สำคัญเกี่ยวกับโควิด-19 ได้
สามารถดูขั้นตอนการสร้างกลุ่ม Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/community/getting-started-with-groups/
4. ลองจัดกิจกรรมผ่าน Facebook Live
ธุรกิจต่างๆ ล้วนมองหาวิธีจัดงานในรูปแบบใหม่ๆ ลองใช้ช่องทางออนไลน์ในการจัดกิจกรรมและอำนวยความ สะดวกในการเชื่อมต่อกับกลุ่มลูกค้า ทดลองปรับเปลี่ยนรูปแบบเวิร์คชอปนอกสถานที่ สู่งานสัมมนาออนไลน์หรือจัดกิจกรรมผ่าน Facebook Live
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/help/1636872026560015/
5. การตอบคำถามลูกค้า
ฝึกฝนให้ทีมงานเรียนรู้จากคู่มือและแนวทางคำตอบเพื่อรับมือกับคำถามต่างๆ ที่ส่งมายังกล่องข้อความ Facebook Messenger หรือ Instagram Direct หรือช่องทางการสื่อสารอื่นๆ เพื่อโต้ตอบกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและแสดงถึงความโปร่งใสในช่วงนี้ ความสามารถในการรับมือคำถามจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วด้วยคำตอบที่ถูกต้องแม่นยำถือเป็นหัวใจสำคัญ
6. เตรียมลิสต์คำถามที่พบบ่อย
จัดเตรียมคำตอบสำหรับสิ่งที่ลูกค้ามักสอบถามเข้ามาบ่อยๆ โดยอธิบายรายละเอียดที่จำเป็นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์รวมแหล่งข้อมูลสำหรับธุรกิจได้ที่ https://www.facebook.com/business/boost/resource (ตั้งค่า Facebook เป็นภาษาไทยเพื่อดูข้อมูลเป็นภาษาไทย)