สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย จัดการประชุมสามัญประจำปี 2563 ภายใต้ E-Meeting เต็มรูปแบบครั้งแรก หลังรัฐบาลปลดล็อก พรก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พร้อมออกคู่มือวิธีการจัดประชุมออนไลน์อย่างถูกกฎหมาย ระบุหลักปฏิบัติเรื่องการแสดงตนและการลงมติ ช่วยเหลือผู้ประกอบการบริษัทเอกชนให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจได้ในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 อีกทั้งยังตอกย้ำพันธกิจชูเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจไทยก้าวไกลสู่ระดับสากล

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธาน สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯได้จัดประชุมสามัญประจำปี 2562 ขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการก่อตั้งสภาฯ โดยจัดประชุมในรูปแบบ E-Meeting ตามพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 ซึ่งสภาดิจิทัลฯได้ผลักดันจนสำเร็จเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการบริษัทเอกชนที่ประสบปัญหาไม่สามารถจัดการประชุมฯบริษัทได้ในช่วงที่ประเทศประสบวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

ในการประชุมสามัญประจำปี 2562 นี้มีวาระสำคัญคือการประกาศนโยบายและแผนงานของสภาฯที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไกลสู่สากล และให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดพฤติกรรม New normal ที่จะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy พร้อมกันนี้สภาดิจิทัลฯได้ออกคู่มือวิธีการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่สอดคล้องกับพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริษัทเอกชนต่าง ๆ ได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ

โดยเฉพาะในเรื่องการแสดงตน และการลงมติ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือวิธีการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้ที่ www.dct.or.th โดยหวังเป็นอย่างยิ่งจะช่วยให้แต่ละบริษัทสามารถจัดประชุมฯโดยเฉพาะในช่วงนี้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมจะเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียน ต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปี

สภาดิจิทัลฯมีวิสัยทัศน์ที่จะยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล เพิ่มขีดความสามารถประเทศ รวมไปถึงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาคโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ โดยสภาดิจิทัลฯมีภารกิจสำคัญ 5 ประการคือ 1.กำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดใหม่แก่ประเทศไทย 2.สร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3.พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 5.เสริมสร้างให้ประเทศเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก

ทั้งนี้สภาดิจิทัลฯ มีสมาชิกที่เป็นสมาคมด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล 22 สมาคม ประกอบด้วยบุคคลและนิติบุคคลกว่า 4,000 ราย ครอบคลุมธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งด้านฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ด้านซอฟต์แวร์ ด้านบริการดิจิทัล ด้านดิจิทัลคอนเทนต์ และด้านบริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสื่อสารในระบบดิจิทัล