- Facebook แชร์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับฟีเจอร์ชุดใหม่ล่าสุดเพื่อสนับสนุนชุมชนธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทยและเชื่อมต่อกับลูกค้า
- สนับสนุนผู้ประกอบการและธุรกิจ SME ไทยผ่านฟีเจอร์ #ร้านดีบอกต่อ บนแพลตฟอร์ม สติ๊กเกอร์สั่งซื้ออาหารบน Instagram การอัพเดทข่าวสารผ่านทรัพยากรและการจัดฝึกอบรมต่างๆ
ในวันนี้ Facebook ประเทศไทย ได้เปิดตัวกิจกรรม #SupportSmallBusiness ร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการให้ความช่วยเหลือชุมชนกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทย และผลักดันให้ ผู้บริโภคผนึกกำลังสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในชุมชนของตัวเองในช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้ โดย Facebook ได้จัดแถลงข่าวทางออนไลน์ผ่าน Facebook Live และแชร์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่ธุรกิจจะสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าและ ฝ่าฝันในช่วงเวลาวิกฤตนี้ผ่านการใช้งานโซลูชั่นเครื่องมือทางธุรกิจและฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ Facebook
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กในทุกที่ ผู้บริโภคจึงมีพฤติกรรมที่ ปรับเปลี่ยนสู่กิจกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยผลการศึกษาที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดย YouGov ระบุว่ามากกว่าร้อยละ 32 ของ ผู้ตอบคำถามชาวไทยได้ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 รวมถึงมากกว่าร้อยละ 39 ที่ตอบว่า พวกเขามีการสั่งซื้ออาหารทางออนไลน์เพิ่มมากกว่าปกติ และมากกว่า 44 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามได้ใช้เวลา มากขึ้นในการรับชมเนื้อหาออนไลน์
ชุมชนและแหล่งข้อมูลต่างๆ ของ Facebook มีความสำคัญต่อธุรกิจและผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่พวกเขากำลัง เว้นระยะห่างทางสังคม โดยในปัจจุบัน มีผู้ใช้ Facebook มากกว่า 2.6 พันล้านคนต่อเดือน และผู้ใช้ Instagram มากกว่า 1 พันล้านคนต่อเดือนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ยังประกอบด้วยธุรกิจบน Facebook มากกว่า 140 ล้านราย ที่ใช้งานแพลตฟอร์มในการเชื่อมต่อกับลูกค้าของพวกเขาด้วยวิธีใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์
คุณชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายพัฒนาการเติบโตธุรกิจ ประจำ Facebook ประเทศไทย กล่าวภายในงานเปิดตัวกิจกรรมว่า “การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กทุกที่ ในขณะที่ผู้คนกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยการอยู่บ้าน ธุรกิจกลับต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินการเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ Facebook มีความมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทย
ถ้าเราลองนึกถึงร้านค้าหรือร้านอาหารที่อยู่ใกล้ตัวทุกคน ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าอย่างน้อยพวกเขาอาจจะมีเพจ Facebook หรือบัญชี Instagram ในขณะที่ชุมชนต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยยังคงมองหาแนวทางในการจัดการกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ ด้วยวิธีการใหม่ๆ หน้าที่ของเราคือการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนชุมชนกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในระยะที่มีความสำคัญทั้งในช่วงการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดและช่วงฟื้นฟูธุรกิจ”
กิจกรรม #SupportSmallBusiness ของ Facebook
กิจกรรมการพบปะร้านค้าออนไลน์ #SupportSmallBusiness เน้นให้เห็นถึงวิธีการที่ Facebook ตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจในประเทศไทย ด้วยการประกาศถึงวิธีการใหม่ๆ ให้ผู้คนได้สนับสนุนและค้นพบธุรกิจขนาดเล็ก พร้อมกับการนำเสนอเครื่องมือเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้ธุรกิจได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง และสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าของพวกเขาได้
กิจกรรมดังกล่าวยังรวมถึงการเปิดตัวสติ๊กเกอร์สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก “ร้านดีบอกต่อ”บน Instagram โดยเมื่อผู้คนใช้สติ๊กเกอร์สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กบน Instagram เนื้อหานั้นจะถูกนำไปรวมอยู่ใน Instagram Stories ที่รวมกับผู้สร้างเนื้อหา ผู้อื่นที่ใช้สติ๊กเกอร์นั้น เพื่อแสดงให้ผู้ติดตามเห็น สำหรับบน Facebook ผู้บริโภคยังสามารถใช้แฮชแท็ก #ร้านดีบอกต่อบน Facebook เพื่อแนะนำธุรกิจหรือร้านค้าและบริการที่พวกเขาชื่นชอบได้ การเปิดตัวดังกล่าวได้มาเสริมฟีเจอร์สั่งซื้ออาหารบน Instagram ที่เปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยธุรกิจสามารถแชร์สติ๊กเกอร์สั่งซื้ออาหารผ่าน Instagram Stories หรือเพิ่มปุ่มสั่งซื้ออาหารบนหน้าโปรไฟล์ของพวกเขาได้แล้วในวันนี้ ซึ่งจะนำผู้ใช้ไปสู่แพลตฟอร์มการสั่งอาหารออนไลน์ที่ธุรกิจนั้นๆ เลือกใช้ (ปัจจุบันให้บริการผ่านฟู้ดแพนด้าและแกร็บ) เพื่อการสั่งซื้ออาหารในขั้นตอนต่อไป
กิจกรรม #SupportSmallBusiness อื่นๆ ประกอบด้วยแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และการอัพเดทเครื่องมือสำหรับธุรกิจเพื่อให้ผู้ดูแลเพจสามารถแชร์ข้อมูลที่สำคัญได้อย่างรวดเร็ว คำแนะนำในการปรับปรุงเพจที่ตรงกับความต้องการของแต่ละธุรกิจ และกิจกรรมออนไลน์เพื่อให้ความรู้และช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงการช่วยผู้คนในการเคลื่อนย้ายธุรกิจของพวกเขาสู่ช่องทางออนไลน์ เพื่อให้พวกเขาสามารถค้าขายต่อไปได้ และการนำเสนอเคล็ดลับเกี่ยวกับวิธีใช้ Facebook Live และ Messenger เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของพวกเขา
นอกจากนี้ Facebook ยังได้จัดทำศูนย์ข้อมูลสำหรับธุรกิจ ขึ้นมาโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้โดยจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ให้คำแนะนำและเคล็ดลับต่างๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กในไทยยังคงเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าและปรับกลยุทธ์ในการใช้งานโซเชียลมีเดียได้ทันท่วงทีเพื่อดำเนินธุรกิจของพวกเขาได้ตามเป้าหมาย และมีให้บริการเป็นภาษาไทย อีกทั้งยังมีการจัดตั้งเงินทุนมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 3.2 พันล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กจำนวน 30,000 รายทั่วโลก
เรื่องราวความสำเร็จของผู้ประกอบการไทย
การแถลงข่าวออนไลน์ที่จัดขึ้นในวันนี้ยังรวมถึงการสนทนาระหว่างธุรกิจขนาดเล็กในประเทศไทย ได้แก่ เพนกวินกินชาบู (Penguin Eat Shabu) เชนร้านอาหารชื่อดัง Organicwa Thailand ร้านค้าออนไลน์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและผลผลิตท้องถิ่น และแอดมินกลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วและมีบทบาทที่สำคัญในการเชื่อมต่อธุรกิจร้านค้าออนไลน์มากมายในช่วงวิกฤตโควิด-19
การสนทนาดังกล่าวได้เน้นถึงความสำคัญของการซื้อขายสินค้าผ่านการแชทและการสร้างการมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์บนโซเชียลมีเดียที่สร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจท้องถิ่นได้ คุณธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของร้านเพนกวินกินชาบู ได้อธิบายถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ว่าพวกเขาต้องปิดหน้าร้านทั้งหมด 9 สาขา และต้องเริ่มปรับตัวและเริ่มขายอาหารกล่องแบบสั่งกลับบ้านเพื่อความอยู่รอด
จากการใช้งานโพสต์บน Facebook และ Messenger พวกเขาเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มได้โดยตรง หลังจากที่ได้รับยอดคำสั่งซื้อถึง 350 รายการภายในเวลา 1 นาที และการจัดโปรโมชั่นที่สร้างยอดขายชาบูได้สูงถึง 2,500 หม้อ ร้านเพนกวินกินชาบูจึงเปิดตัว Bot for Messenger เพื่อช่วยตอบข้อความที่มีลูกค้าส่งเข้ามาจำนวนมาก โดยยอดขายเหล่านี้ช่วยเพิ่มรายได้ให้พวกเขากลับมาจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวนให้กับพนักงานได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ บริษัท ออร์แกนิควา (ประเทศไทย) ยังเน้นถึงความสำคัญของการใช้ Messenger เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้าประจำและแนะนำว่าธุรกิจควรใช้โฆษณา Facebook ที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขยายฐานลูกค้า อีกหนึ่งคำแนะนำที่สำคัญจากร้านค้าออนไลน์แห่งนี้คือการนำเสนอบริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียวแก่ลูกค้าผ่านการใช้งาน Facebook เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องเสียเวลาในการเข้าสู่แอพพลิเคชั่นอื่นๆ เพื่อสั่งซื้อสินค้า
คุณปาณพล จันทรสุกรี ผู้ก่อตั้งและแอดมินกลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ได้กล่าวสรุปว่า “ในมาร์เก็ตเพลสแห่งนี้ ทุกคนมีความ เท่าเทียมกัน ในช่วงเวลาที่เราต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การมีพื้นที่เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย มากขึ้นจึงมีความสำคัญ จากการสร้างธีมหรือหัวข้อให้กับแต่ละหมวดหมู่สินค้า ทำให้เราพบเห็นการมีส่วนร่วมกับผู้ขายมากขึ้น และช่องทางออนไลน์อย่าง Facebook เปิดโอกาสให้เราได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันผ่านโลกออนไลน์ และยังช่วยให้เราสามารถอยู่รอดและฟื้นฟูธุรกิจของเราในช่วงเวลานี้ได้อีกด้วย”