ก้าวเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี 2021 หลายธุรกิจกลับมาเดินหน้าอีกครั้งหลังจากต้องหยุดนิ่งเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดในปี 2020 ที่ผ่านมา แม้หลากหลายกิจกรรม อุตสาหกรรม หรือกลุ่มธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดพักไปเกือบปี แต่มีหนึ่งสิ่งที่ไม่ได้หยุดนิ่งตามไปด้วย นั่นก็คือวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้นเหตุที่สำคัญ
ถึงแม้ว่าวงการบันเทิงจะไม่ใช่ชื่ออันดับแรก ๆ ที่ใครหลายคนคิดถึงเมื่อพูดถึงผลกระทบที่มีต่อสภาพแวดล้อม แต่ในฐานะผู้นำบริการสตรีมมิงความบันเทิงระดับโลก Netflix เองก็เข้าใจดีว่าการสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานความบันเทิงสู่หน้าจอนับล้านทั่วโลกนั้น ย่อมมีต้นทุนทางคาร์บอนเช่นกัน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2021 Netflix ได้ประกาศแผนที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายในช่วงสิ้นปี 2022
ดร. เอมม่า สจ๊วต เจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนของเน็ตฟลิกซ์ กล่าวว่า “ฉันโชคดีที่มีโอกาสได้นำสิ่งที่ตัวเองรักอย่างวิทยาศาสตร์มาผสานเข้ากับการถ่ายทอดเรื่องราวที่ Netflix ซึ่งเราทุกคนที่นี่ต่างต้องการสร้างความบันเทิงให้กับโลกใบนี้ แต่การจะสร้างความบันเทิงได้ เราต้องมีโลกที่ผู้คนอาศัยอยู่ได้ และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องรักษาสภาพอากาศไว้ไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูงเกิน1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรักษาระบบต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตให้อยู่ในสภาพดีเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต”
ในปี 2020 ที่ผ่านมา Netflix ได้ปล่อยคาร์บอนออกมาเป็นปริมาณ 1,100,000 เมตริกตัน โดยประมาณครึ่งหนึ่งมาจากการผลิตผลงานภาพยนตร์และซีรีส์ที่เป็นแบรนด์ Netflix ทั้งในส่วนที่เราบริหารจัดการโดยตรง (เช่น The Midnight Sky: สัญญาณสงัด) และที่ผ่านบริษัทผู้ผลิตภายนอก (เช่น โลกของเรา: Our Planet และ ผจญภัยสุดขั้วกับแบร์ กริลส์ : You vs. Wild) รวมทั้งเนื้อหาที่เป็นแบรนด์ Netflix ที่เราให้สิทธิ์ใช้งาน (เช่น บทเรียนจากปลาหมึก: My Octopus Teacher และ เที่ยวติดดินกับแซ็ค เอฟรอน: Down to Earth with Zac Efron)
ส่วนที่เหลือ 45% มาจากการดำเนินงานขององค์กร (เช่น อาคารสำนักงาน) และสินค้าที่จัดซื้อ (เช่น สินค้าที่จัดซื้อสำหรับการตลาด) นอกจากนี้ เรายังใช้บริการจากผู้ให้บริการระบบคลาวด์อย่าง Amazon Web Services และเครือข่ายนำส่งเนื้อหาอย่าง Open Connect เพื่อสตรีมบริการของเรา ซึ่งคิดเป็น 5% ของปริมาณมลพิษที่ปล่อยออกมา
ถึงแม้จะเป็นสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น แต่ Netflix ก็คิดว่าการเปิดพื้นที่ให้นักเล่าเรื่องได้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับโลกและการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาตินั้น นับว่ายังไม่เพียงพอ เราจึงพร้อมเดินหน้าเพื่อช่วยรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผ่านทางแผนการลดปริมาณมลพิษให้เหลือศูนย์ + การอนุรักษ์ธรรมชาติ (Net Zero + Nature) ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงาน 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1: ลดการปล่อยมลพิษ
ลำดับแรก เริ่มต้นด้วยการลดปริมาณการปล่อยมลพิษภายในองค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และลดการปล่อยมลพิษในส่วนที่ 1 และ 2 (หรือมลพิษทางตรงและทางอ้อม) ลง 45% ภายในปี 2030 ตามแนวทางริเริ่มในการกำหนดเป้าหมายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
ขั้นที่ 2: รักษาแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีอยู่
ภายในสิ้นปี 2021 ในกรณีที่มีการปล่อยมลพิษภายในองค์กรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมถึงมลพิษในส่วนที่ 3 (หรือมลพิษทางอ้อมอื่นๆ) ด้วย Netflix จะทำการชดเชยด้วยการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่จะป้องกันไม่ให้มีการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเริ่มด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ทางธรรมชาติที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เช่น ป่าเขตร้อน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเป้าหมายในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ขั้นที่ 3: กำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ
ภายในสิ้นปี 2022 เราจะดำเนินการกำจัดการปล่อยมลพิษในส่วนที่เหลือทั้งหมดให้เป็นศูนย์โดยดำเนินการลงทุนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติที่สำคัญ เพื่อมุ่งสู่สถานะการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านทางโครงการต่างๆ เช่น การฟื้นฟูพื้นที่ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน และคุณภาพดิน ที่นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ แล้วยังช่วยจับและกักเก็บคาร์บอนอีกด้วย
นอกจากแผนงานต่างๆ ทั้งหมดนี้แล้ว Netflix ยังมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านความยั่งยืน โดยในปี2020 ผู้คนจาก 160 ล้านครัวเรือนทั่วโลกเลือกรับชมภาพยนตร์หรือซีรีส์อย่างน้อย 1 เรื่องทาง Netflix ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น โลกของเรา: Our Planet ซีรีส์สารคดีที่มีผู้ชมกว่า 100 ล้านครัวเรือนนับตั้งแต่การเปิดตัวในเดือนเมษายน 2019 ก่อนจะคว้ารางวัลมาได้จากหลายเวที รวมถึงรางวัลเอมมี่ไพรม์ไทม์ 2 รางวัล ด้วยเนื้อหาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์และการพึ่งพากันและกันระหว่างระบบต่างๆ บนโลกและสิ่งมีชีวิตนานาชนิต หรืออีกหนึ่งผลงานเด่นอย่าง บทเรียนจากปลาหมึก: My Octopus Teacher ภาพยนตร์สารคดีที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ หลังจากคว้ารางวัลมาจากเวทีอื่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ (david attenborough) ผู้ให้เสียงบรรยายในสารคดี โลกของเรา: Our Planet เคยกล่าวไว้ว่า “เราต้องเรียนรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แทนการต่อต้านทำลาย” และแผน Net Zero + Nature นี้ ก็นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของ Netflix ในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงให้วงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นหน้ากล้องหรือหลังกล้อง ได้มีส่วนร่วมในการรักษาสภาพแวดล้อม ปกป้องความงดงามบนโลกของเราให้พร้อมเป็นเวทีถ่ายทอดเรื่องราวอันมหัศจรรย์ต่อไปในอนาคต
ดร. เอมม่า สจ๊วต (Emma Stewart, Ph.D.) รับหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าฝ่ายความยั่งยืนของ Netflix ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ก่อนจะมาร่วมงานกับ Netflix เธอดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) หัวหน้าฝ่ายแนวทางเพื่อความยั่งยืนที่ Autodesk ผู้นำด้านซอฟต์แวร์การออกแบบ ซึ่งเธอได้ร่วมเป็นผู้จัดทำการกำหนดเป้าหมายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อลดการปล่อยมลพิษสำหรับองค์กรแนวทางแรกของโลก และเป็นผู้ก่อตั้งฝ่าย R&D ที่ Business for Social Responsibility เธอมีส่วนร่วมในงานเขียนหลายเล่ม และสอนวิชา “Intrapreneurship for Sustainability” ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส