การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปยังทุกภาคส่วน ภาครัฐและเอกชนต่างมุ่งจัดการปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ล้วนเป็นเรื่องเร่งด่วนในทุก ๆ ด้าน อย่างไรก็ตามเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและสิ่งแวดล้อม” เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน จากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยและมีความรุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลจากสภาวะโลกร้อนในหลายประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก
แท้จริงแล้วภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อประเด็นนี้ เนื่องจากกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานมากถึงหนึ่งในสามของการใช้พลังงานทั้งหมดในโลก ซึ่งเทคโนโลยีการจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ก้าวหน้าไปมากในปัจจุบันช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยอาศัยการจัดการพลังงานอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว
การจัดการพลังงานไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้อย่างไร
เรามาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งทุกภาคส่วนเห็นร่วมกันชัดเจนถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ อาทิ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การเกษตร และการบริโภคในครัวเรือน ได้เริ่มลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ภาคอุตสาหกรรมนั้นแทบจะไม่มีการปรับเปลี่ยนเลย แม้แต่ในประเทศเยอรมนีที่เป็นผู้นำในโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่เองก็ตาม
เพื่อจัดการปัญหานี้ ซีเมนส์เห็นแนวทางขับเคลื่อนสำคัญ 3 ประการที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
- 1. การสร้างความยืดหยุ่นในการนำพลังงานมาใช้ เช่น การใช้โซลูชั่นการกักเก็บพลังงานและการใช้ระบบโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plants : VPP)
- 2. การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำได้โดยการติดตั้งอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เซ็นเซอร์ และซอฟต์แวร์ควบคุม
- 3. การนำการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Electrification) มาใช้ ในการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกกระบวนการทำงาน
จากสามแนวทางข้างต้น “การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ” เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากปัจจัยการขับเคลื่อนที่เหลือ
ในการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะนั้น มี 2 ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ หนึ่ง – ความเป็นไปได้ที่จะนำพลังงานสะอาด ซึ่งไม่มีการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมมาป้อนเข้าสู่สถานประกอบการอุตสาหกรรม อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และ สอง – การจัดการพลังงานของสถานประกอบการอุตสาหกรรม เช่น การจัดการความต้องการใช้พลังงานด้วยซอฟต์แวร์ เป็นต้น
เหตุผลที่การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะมีผลอย่างมากต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็คือ เมื่อจัดการการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้สามารถเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้โดยไม่ก่อมลภาวะ แทนที่การผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีแบบเดิม เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานดีเซลที่มีการก่อมลภาวะสูง
การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพคือ “หัวใจสำคัญ” ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม
กรณีศึกษาจากบริษัท Gestamp ผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะยานยนต์ในสเปนซึ่งมีหลายกระบวนการผลิตที่ต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมากแต่ขาดข้อมูลการใช้พลังงานที่ชัดเจนทำให้โรงงานต้องเผชิญกับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
แต่ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์มาตรวัดพลังงานและการใช้โซลูชันการสื่อสารรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่จากโรงงาน 15 แห่งใน 6 ประเทศแล้วนำมาวิเคราะห์ Gestamp สามารถระบุจุดที่เป็นปัญหาและปรับปรุงการดำเนินงาน ทำให้สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงถึง 15 เปอร์เซ็นต์และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 14,000 ตันต่อปี
การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะช่วยให้การผลิตมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยในบริหารรอบการทำงานให้ได้ประโยชน์สูงสุดและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกเหนือจากนั้นยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรม พร้อมเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ในการนำพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันการจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการปรับกระบวนการจัดการให้เป็นระบบดิจิทัล (Digitalization) และนำการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Electrification) มาใช้ ผลที่ตามมาไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แต่ยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด
ยิ่งไปกว่านั้น การปรับกระบวนการทำงานเป็นระบบดิจิทัล (Digitalization) ทำให้เราสามารถพัฒนาระบบดิจิทัลทวิน (Digital Twin) สำหรับระบบไฟฟ้าของโรงงานได้ และเมื่อควบรวมกับระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม ผู้วางระบบงานสามารถทดสอบการจำลองสถานการณ์การทำงานต่าง ๆ เพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุดในการวางระบบงาน เพื่อลดความผิดพลาดและลดต้นทุนในการวางแผนงาน การก่อสร้าง และการบำรุงรักษา
วิกฤติการณ์การแพร่ระบาดทำให้เราต้องพิจารณาอีกครั้งเกี่ยวกับวิธีการดำเนินงานทางธุรกิจของเรา สำหรับอุตสาหกรรม ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างรากฐานธุรกิจในอนาคตด้วยการผสมผสานการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะเข้ากับแผนงานของกิจการ ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ใช่แค่ตัวเลขทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน ครอบคลุม ตั้งแต่ลูกค้า ชุมชน ประเทศ ไปจนถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมในโลกของเราด้วย
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
บทความโดย นางสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและซีอีโอ ซีเมนส์ ประเทศไทย