ในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องบนโลกออนไลน์ ‘การโดนโกงจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์’ ซึ่งบางกรณีพบว่ามีผู้เสียหายจำนวนมาก อีกทั้งยังคร่าชีวิตคนได้หากผู้ประสบปัญหาไม่เห็นทางออก ดังนั้นในยุคดิจิทัลที่คนไทยมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น 150% ในรอบ 10 ปี การรู้จักหนทางรอดจากปัญหาออนไลน์ รู้ทันกลโกงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และรู้จักช่องทางร้องเรียนปัญหาดีกว่าบ่นโพสต์อย่างไม่มีทางออก จึงเป็นวิธีการที่ดี ทำได้ทันที เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และอยู่ร่วมกันบนโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นคงปลอดภัยอีกด้วย
ทั้งนี้ จากการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 Online Complaint Center หรือ 1212 OCC) ภายใต้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม- เดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ร้องเรียนเฉพาะเรื่องซื้อขายออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ย 2,221 ครั้งต่อเดือน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่เฉลี่ย 1,718 ครั้งต่อเดือน และยังนับเป็นสถิติเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาจับจ่ายผ่านออนไลน์สูงขึ้น ขณะเดียวกันร้านค้าต่าง ๆ ก็หันมาเปิดขายบนออนไลน์เช่นกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในยุคตลาดดิจิทัลนี้ วันนี้ เอ็ตด้า จึงอยากชี้ให้เห็น 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์ เพื่อเตือนทุกคน ว่าชอปไหน ๆ จะไม่โดนหลอกลวงแบบนี้
กลโกง 1 – “หลอกโอนเงิน” ชวดหนี ไม่มีสินค้าส่งจริง
จากกระแสข่าวแก๊งแม่ค้าวัยทีน #phonebymint หลอกขายมือถือทางออนไลน์ โพสต์ภาพมือถือสวย ๆ ขายบนอินสตาแกรม โดยตั้งราคาถูก พร้อมสร้างข้อมูลรีวิวจากผู้ใช้งานเสมือนจริงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เด็กนักเรียนวัย 14 ปี หลงกลโอนเงินสั่งซื้อสินค้า เพราะหวังใช้มือถือเรียนออนไลน์ สุดท้ายเด็กพบว่าโดนหลอกเพราะแม่ค้าไม่ส่งสินค้าตามที่แจ้ง พร้อมกับติดต่อไม่ได้ ส่งผลให้เด็กเครียดเส้นเลือดสมองแตกเสียชีวิต ก่อนจะพบว่ามีผู้เสียหายจากแม่ค้าดังกล่าวปรากฏเพิ่มขึ้นนับร้อยๆ ราย ซึ่งจากสถิติร้องเรียนมายังศูนย์ฯ 1212 เอง ปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าก็มาเป็นอันดับ 1 ถึง 45% ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อ แนะนำให้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องการตั้งราคาที่ถูกเกินจริง เช็กข้อมูลชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคารของผู้ขายจากเว็บไซต์ blacklistseller.com ว่าอยู่ในบัญชีดำคนโกงหรือไม่ รวมถึงลองนำชื่อร้านไปค้นหาบนแพลตฟอร์ม e-Commerce เช่น ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) ฯลฯ
กลโกง 2 – อ้าวเฮ้ย! “สินค้าไม่ตรงปก” จกตาเกินโฆษณา
อ้าวเฮ้ย! ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา จริงอยู่ว่า ขาชอปปิงหลายคนอาจเคยเกิดอาการเบลอ อ่านรายละเอียดก่อนสั่งซื้อสินค้าไม่ครบถ้วน เช่น ตั้งใจซื้อหม้อหุงข้าวหม้อใหญ่มาปรุงอาหารที่บ้านหรือคอนโด ก็กลับได้หม้อหุงข้าวไซส์จิ๋ว ฉบับของเล่นมาแทน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่อ่านรายละเอียดทั้งรูปภาพและข้อความดีแล้ว กลับพบเรื่องชวนปวดหัว เพราะสินค้าที่ส่งมาไม่ตรงปก ผิดสี ผิดขนาด ไม่ได้อย่างที่ตกลงกัน รวมถึงติดต่อร้านเพื่อแจ้งเปลี่ยนก็ทำไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้ศูนย์ฯ 1212 พบการร้องเรียนถึง 29% ในระยะ 8 เดือนแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับสินค้า แนะนำให้ถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับร้องเรียนได้
กลโกง 3 – “จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม” เอาปากกามาวงได้ทุกตรง
จากเป็นผู้พิทักษ์การใช้สินค้าถูกลิขสิทธิ์ ชอบอุดหนุนสินค้าแบรนด์เนมแท้อยู่ดี ๆ ก็อาจพลาดท่าเสียทีให้กับแม่ค้าหัวใสบนโลกออนไลน์ได้ โดยมักจะโพสต์รูปสินค้าแบรนด์เนมแท้ขายบนช่องทางออนไลน์ หลอกให้ลูกค้าหลงกล มั่นใจว่า ฉันซื้อของแท้จริง ๆ แต่สุดท้ายกลับได้สินค้าผิดกฎหมาย หรือสินค้าปลอมมาส่งที่บ้าน ดังนั้นแนะนำให้พิจารณาข้อมูลร้านค้าอย่างถี่ถ้วน ตรวจสอบรหัสสินค้า ใบรับประกันสินค้า ตรวจสอบบัญชีธนาคารก่อนโอน หรือติดต่อซื้อขายที่ร้านค้าทางการ (Official) ดีกว่า
กลโกง 4 – “กลโกงนักรับหิ้วของ” พาเงินปลิว ไม่กลับมา
การรับหิ้วของ หรือการมองหาคนมารับหิ้ว โดยยอมเสียเงินจ้างเพิ่มเล็กน้อยทดแทนการเสียค่ารถออกจากบ้านและความเสี่ยงเข้าไปในย่านชุมชนในยุคโควิด-19 ต้องระวัง ซึ่งก็ทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ นี้ขึ้นมา แต่ทั้งนี้เราจะเชื่อใจผู้มาสวมบทรับหิ้วได้อย่างไร ดังนั้นควรตรวจสอบประวัติผู้รับหิ้วให้ดี เลี่ยงการจ้างวานผู้ที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวมารับหิ้วให้ หรือสั่งจากร้านโดยตรงจะดีกว่า
กลโกง 5 – เมื่อเหล่าคนโกง มาเคาะประตูถึงหน้าบ้าน หลอกให้ “เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย”
บางครั้งเหล่ามิจฉาชีพก็มากันเป็นทีม และใช้ความฮิตเรื่องการซื้อของออนไลน์ที่กลายเป็นวิถีปกติของคนยุคโควิด-19 ไปเสียแล้ว มาลวงเหยื่อถึงหน้าบ้าน ล่าสุดทางไปรษณีย์ไทย ออกจดหมายแจ้งเตือน ระวังมิจฉาชีพตีเนียนเป็นผู้คนส่งของ หลอกให้เซ็นรับพัสดุที่อาจเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย พร้อมจัดฉากเป็นตำรวจปลอมเข้าตรวจ ดังนั้นเมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ แนะให้ตั้งสติก่อน แล้วตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่ได้สั่งของ และห้ามรับสิ่งของที่ไม่ได้สั่งเด็ดขาด
กลโกง 6 – “ได้รับของชำรุด เสียหาย” ฟื้นใจไม่ให้สลายอย่างไร
การซื้อสินค้าออนไลน์อาจถือเป็นความเสี่ยง หากเราไม่ได้ป้องกันความเสี่ยง เช่น สินค้าที่ได้รับชำรุด เสียหาย สาเหตุมาจากต้นทางคือร้านค้า หรือระหว่างทางจากระบบการขนส่ง ดังนั้น แนะนำให้ตรวจสอบกับทางร้านค้าก่อนเป็นอันดับแรก อาจจะให้ร้านค้าช่วยถ่ายรูปส่งมาให้ดู เช็กประวัติการเดินทางของสินค้า เช่น กรณีถ้าเราซื้อผลไม้สด ขนมหวานหรือขนมไทยทางออนไลน์ ถ้าสั่งซื้อวันที่ 1 และได้รับของในวันที่ 2 หรือ 3 สินค้าก็ไม่ควรอยู่ในสภาพที่เน่าเละ หรือบูด นอกเสียจากว่าจะเจอร้านค้าหลอกขายสินค้าหมดอายุหรือไร้คุณภาพให้เรา ถ้าเป็นสินค้าเสี่ยงต่อการแตกหัก ทางร้านค้ามีการรับประกันความเสียหายแค่ไหน อย่างไร รวมทั้งเสิร์ชหาข้อมูลการรีวิวการขนส่งสินค้าของร้าน ตลอดจนเช็กบริษัทขนส่งว่ามีการรับประกันความเสียหายหรือไม่ เพื่อเสริมความมั่นใจก่อนซื้อ
กลโกง 7 – “หลอกซื้อลอตเตอรีออนไลน์” เสี่ยงดวงรวยแล้ว ยังเสี่ยงเจอคนโกงอีกเหรอ
ยึดคติ ‘ชีวิตยังมีความหวังเสมอ’ สำหรับเหล่าผู้ชื่นชอบการซื้อลอตเตอรีเสี่ยงดวง ซึ่งปัจจุบันก็มีแพลตฟอร์มซื้อขายลอตเตอรีออนไลน์ถูกกฎหมาย เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการไปค้นหาสลากที่มีเลขตรงใจนอกบ้าน แต่การเสี่ยงดวงให้รวย ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่จะปะทะกับคนโกงที่มาในรูปแบบตัวแทนขายโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน ซึ่งในกรณีถ้าเราถูกลอตเตอรีออนไลน์ ตัวแทนจะเป็นผู้ติดต่อบริษัทซื้อขายใหญ่ เพื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัวของเรา เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัญชีธนาคาร เพื่อให้บริษัทจัดการโอนเงินเข้าบัญชีให้ แต่ก็อาจเจอตัวแทนโกง ใส่เลขที่บัญชีตนเองแล้วเชิดเงินเราหนีได้เช่นกัน ดังนั้นควรตรวจสอบข้อมูลตัวแทนที่เชื่อถือได้จริง แหล่งซื้อขายลอตเตอรีออนไลน์ รวมถึงตรวจเช็กเลขบนลอตเตอรีให้ถี่ถ้วน
กลโกง 8 – “โพรไฟล์หลอกเช่าพระบูชา” กลโกงร่างอวตาร
การเช่าซื้อพระบูชา เสริมโชคลาภ เรียกทรัพย์ เป็นมงคลให้ชีวิต ก็ยังเป็นเรื่องราวที่อยู่คู่คนไทยมาเสมอ ซึ่งในวงการคนชอบพระ ก็พบกับปัญหาโดนหลอกลวงจากการซื้อขายออนไลน์เช่นกัน เช่น โอนเงินเร็วแล้วร้านค้าหนีหาย มิจฉาชีพใช้รูปโพรไฟล์ปลอมมาหลอกให้ซื้อ โอนเงินแล้วชิ่งหนีพร้อมเปลี่ยนรูปโพรไฟล์ใหม่หลอกคนไปเรื่อยๆ เพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ แนะนำให้ตรวจเช็กชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ และเลขที่บัญชีธนาคารให้ดี เพราะแม้มิจฉาชีพจะเปลี่ยนรูปโพรไฟล์บ่อยครั้ง แต่ก็มักใช้เลขที่บัญชีธนาคารเดิม รวมถึงระหว่างซื้อขายในยุคดิจิทัลแบบนี้ ต้องใช้เครื่องมือให้เป็นประโยชน์โดยขอวิดีโอคอลล์กับคนขายเพื่อดูพระให้ได้ เพราะบางรายก็พบว่าไม่มีพระอย่างที่โพสต์ หากเจอผู้ขายที่เกิดอาการบ่ายเบี่ยง บอกว่าตอนนี้พระไม่ได้อยู่กับตนเอง คาดการณ์ได้เลยว่า เราอาจกำลังจะโดนโกง
กลโกง 9 – “ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์” กว่าจะได้สินค้าก็สายเสียแล้ว #สภาพ
การซื้อขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าขนาดใหญ่ หรือราคาสูง เช่น ผ่อนโทรศัพท์มือถือ ผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า ผ่อนเครื่องเพชรหรือทอง ผ่านบัตรเครดิต ก็ยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกของผู้ซื้อสินค้าที่อาจต้องการรัดเข็มขัด ประหยัดเงิน หรือมีค่าใช้จ่ายเยอะในช่วงนั้น ๆ รวมถึงร้านค้าก็สามารถเพิ่มยอดขายได้เร็ว แต่ส่วนใหญ่จะต้องผ่อนให้ครบงวดแล้วร้านค้าจะดำเนินการจัดส่งสินค้ามาให้ผู้ซื้อ ซึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะไม่โดนเชิดเงิน ชวดได้รับสินค้า หรือร้านนำสินค้าที่เราผ่อนไปขายต่อ ซึ่งกรณีเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยเช่นกัน ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์ จึงควรพิจารณาเอกสารสัญญาซื้อขายที่แจ้งรายละเอียดชัดเจน หรือถ้าซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ควรเลือกร้านที่เป็นทางการ (Official) ดูรีวิวผู้ซื้อต่าง ๆ พร้อมตรวจสอบข้อมูลร้านและบัญชีผู้ขายอย่างรอบคอบ
กลโกง 10 – “คนรักต้นไม้ร้องไห้” หลอกขายไม่ตรงรูป
ล่าสุด วงการต้นไม้ที่กำลังร้อนแรง โดยเฉพาะไม้มงคลและไม้ประดับภายในบ้านในยุค Work From Home ซึ่งถือเป็นวงการที่เข้าแล้วออกยากวงการหนึ่ง ต้นไม้บางสายพันธุ์ที่หายากก็มีมูลค่าสูงถึงหลักล้านบาท บางคนแค่ซื้อมาประดับบ้านเพื่อความสวยงาม บางคนซื้อมาเสริมมงคลชีวิต บางคนก็ซื้อมาเสริมธุรกิจให้ปัง แต่การโกงผ่านการซื้อขายออนไลน์ในวงการนี้ก็มีเช่นกัน ถ้าเราซื้อต้นไม้ราคาถูก แนะนำให้ซื้อขายแบบนัดรับกับทางร้านจะดีกว่า และเลี่ยงการโอนเงินมัดจำก่อน ขณะเดียวกันไม่ว่าจะซื้อต้นไม้ราคาถูกหรือราคาแพง สิ่งที่แนะนำคือควรเลือกร้านขายที่โพสต์รูปต้นไม้พร้อมมีป้ายระบุชื่อต้นไม้ หรือร้านที่เจ้าของร้านถ่ายภาพคู่ต้นไม้ จะเป็นการช่วยยืนยันเบื้องต้นได้ว่า ร้านและเจ้าของร้านนี้มีอยู่จริง รวมถึงสามารถเสิร์ชค้นหาข้อมูลร้านหรือโพสต์ถามเพจกลุ่มซื้อขายต้นไม้เพื่อย้ำเครดิตของร้านว่าเชื่อถือได้หรือไม่ ในส่วนการพิจารณาขนาดความสูงต้นไม้นั้น อาจให้ทางร้านช่วยถ่ายรูปต้นไม้โดยวางไว้ข้าง ๆ ขวดน้ำ หรือขอวิดีโอคอลล์เพื่อตรวจสอบต้นไม้และให้ได้รับสินค้าตรงปก และก่อนโอนชำระเงินแนะให้เจ้าของร้านถ่ายรูปคู่กับต้นไม้ โดยถือบัตรประชาชนหรือกระดาษที่เขียนเลขที่บัญชีธนาคารมาให้ดูอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อกลโกง
อย่างไรก็ตาม หากเราตกเป็นเหยื่อไปแล้วสามารถร้องเรียนและปรึกษาปัญหาได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 Online Complaint Center) หรือ “1212 OCC” โดย เอ็ตด้า ที่มีบริการรับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้คำแนะนำและประสานความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ศูนย์ฯ 1212 ยังยินดีรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์อื่น ๆ เช่น ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ภัยคุกคามไซเบอร์ (โดนแฮก โดนเจาะระบบ) ข้อสงสัยด้านกฎมหมายไอซีที นับเป็นอีกภารกิจสำคัญของ ETDA ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกรรมออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ ให้เดินหน้าเติบโตอย่างน่าเชื่อถือ ได้มาตรฐาน มั่นคงปลอดภัย อย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาคนดิจิทัล สร้างกลไกกำกับดูแลธุรกิจและบริการด้านดิจิทัล ยกระดับมาตรฐานและกฎหมาย เฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์ และแก้ปัญหาให้ผู้ได้รับผลกระทบผ่านศูนย์ฯ 1212
ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 Online Complaint Center) หรือ “1212 OCC” ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน 4 ช่องทาง ดังนี้
- สายด่วน โทร.1212
- อีเมล [email protected]
- เว็บไซต์ https://www.1212occ.com
- เพจเฟซบุ๊ก “ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC https://www.facebook.com/1212OCC (คุยที่แช็ตบอต m.me/1212OCC)
สามารถติดตามข่าวสารน่าสนใจของ ETDA ได้ที่เว็บไซต์ www.etda.or.th เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand (https://www.facebook.com/ETDA.Thailand) รวมทั้งโซเชียลมีเดีย ETDA Thailand ทุกช่องทาง