รีวิว Nikon D500 จิตวิญญาณล่าสุดของนิคอน
Our score
8.9

Nikon D500

จุดเด่น

  1. คุณภาพภาพดีแบบไม่ต้องสืบ ISO สูงก็ยังให้ภาพที่ดี
  2. คุณภาพวิดีโอดีเยี่ยม สีสันแบบนิคอนกินใจได้เสมอ
  3. โฟกัสรวดเร็วและแม่นยำสมความร่ำลือ
  4. สั่งงานได้รวดเร็วด้วยปุ่มสั่งงานรอบตัวกล้องมากมาย
  5. รองรับทั้ง SD Card และ XQD Card

จุดสังเกต

  1. ไม่มีกันสั่นในตัวกล้อง ใช้กันสั่นที่เลนส์อย่างเดียว
  2. Snapbridge ยังทำงานได้ไม่ดี
  3. โฟกัสในส่วนวิดีโอยังทำงานไม่ดี
  4. ถ่าย 4K ได้มุมไม่กว้างพอ
  5. ราคาสูง เทียบเท่ากับ D750 ได้เลย
  • คุณภาพภาพ

    9.0

  • คุณภาพวิดีโอ

    9.0

  • การควบคุม-จับถือกล้อง

    10.0

  • ความสามารถในการโฟกัส

    9.0

  • ความคุ้มค่า

    7.5

แม้ว่าในช่วงหลังตลาดกล้องดิจิทัลจะเบนเข็มเข้าสู่ยุค Mirrorless กันจนเป็นกระแสหลักไปแล้ว แต่ค่ายผู้ผลิตกล้องดั่งเดิมอย่าง Nikon ก็ยังเชื่อมั่นในกล้องแบบ SLR อยู่ดี ซึ่งจะเห็นจาก Nikon D500 กล้อง DSLR ตัวท็อปในฝั่งเซนเซอร์ขนาด APS-C ของพวกเขาครับ ที่ใส่เทคโนโลยีล่าสุดของบริษัทมาเต็มชนิดไม่เกรงใจกล้องรุ่นพี่กันเลย

การควบคุมกล้อง

Nikon_D500_body5

Nikon จัด D500 ไว้ในไลน์เดียวกับ Nikon D300s ที่เลิกผลิตไปเมื่อหลายปีก่อนครับ ก็อยู่ระดับสูงกว่า Nikon D610 และต่ำกว่า Nikon D750 ถ้าเทียบกับคู่แข่ง เจ้า D500 ก็เทียบได้ประมาณ Canon EOS 7D Mk 2 นะครับ ซึ่งก็ถือว่าเป็นกล้องที่อยู่ในระดับที่มืออาชีพใช้กันแล้วแหละ ขนาดกล้องใหญ่ จับถนัดมือแม้เป็นคุณผู้ชายมือใหญ่ๆ ปุ่มควบคุมรอบตัวกล้องเลยมีเต็มไปหมด

ปุ่มที่น่าสนใจของกล้องก็มีตั้งแต่คันโยกเลือกโหมดโฟกัสด้านหน้าที่รวมเอาปุ่มเลือกลักษณะโฟกัสให้กดค้างแล้วหมุนแหวนเข้าไปด้วย เล่นเอาทีมงานแบไต๋เปลี่ยนโหมดโฟกัส AF-S, AF-C ไม่เป็นไปหลายวันจนได้อ่านคู่มือ 555 ด้านบนมีปุ่มถ่ายวิดีโอที่อยู่ลึกเข้ามาหลังปุ่มซัตเตอร์ พร้อมวงแหวนสารพัดประโยชน์ทางด้านซ้ายที่ปรับค่ากล้องได้เยอะมากๆ ทั้งโหมดการรัวซัตเตอร์, White-Balance, โหมด PSAM, โหมดวัดแสง หรือคุณภาพภาพ ส่วนด้านหลังมีจอสัมผัสขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียด 2.3 ล้านพิกเซลที่สว่างและคมชัดมากๆ พร้อมปุ่มควบคุมอีกเพียบ มีทั้งจอยสติ๊กแบบใหม่เอาไว้เลือกจุดโฟกัส และปุ่มหลายทิศทางแบบเดิมเอาไว้เลือกด้วย แน่นอนว่า Nikon D500 มีวงแหวนควบคุมกล้อง 2 ตัวทั้งด้านหน้าและด้านหลังครับ

แป้นหมุนด้านซ้ายของกล้องที่ปรับการทำงานได้เยอะมาก

แป้นหมุนด้านซ้ายของกล้องที่ปรับการทำงานได้เยอะมาก

ซึ่งถ้าเป็นคนที่คุ้นเคยกับกล้องระดับมืออาชีพของ Nikon มาก่อนจะรู้สึกคล่องตัวกับการสั่งงานแบบกดปุ่มค้างแล้วหมุนแหวนมาก ยิ่ง D500 มีปุ่มควบคุมเยอะขนาดนี้สามารถปรับการตั้งค่ากล้องต่างๆ ได้รวดเร็วและได้ดั่งใจสุดๆ แต่ถ้าไม่เคยใช้นิคอนมาก่อนมีงงกับการควบคุมแบบนี้แน่นอนครับ

Nikon_D500_body9

ตัวกล้อง D500 มีน้ำหนักไม่เบาตามแบบกล้องระดับโปรคือ 839 กรัม ก็ถ้ารวมเลนส์แล้วก็แบกกันกิโลกว่าเป็นเรื่องปกติ ด้วยน้ำหนัก ขนาด รูปร่าง การใช้งานแบบ DSLR ที่ต้องใช้ตามองผ่านช่อง Viewfinder เป็นหลักจนเหมือนหลุดออกจากโลกความจริงไป และการควบคุมระดับนี้ ความรู้สึกในการถ่ายภาพด้วย Nikon D500 จึงอารมณ์แบบจริงจังในการถ่ายภาพมากๆ มากๆ เลยแหละครับ

คุณภาพภาพนิ่ง

Nikon_D500_body1

ถึงแม้ว่า Nikon D500 จะมีความละเอียดภาพที่ 20.9 ล้านพิกเซล น้อยกว่ากล้องรุ่นเดิมๆ อย่าง Nikon D7200 หรือ Nikon D3300 ที่มีความละเอียด 24 ล้านพิกเซลเสียอีก แต่มีจุดเด่นใหม่หลายอย่างที่อยู่ในรุ่นนี้ครับ

  • เซนเซอร์รับภาพตัวใหม่ที่ให้คุณภาพภาพดีมาก
  • หน่วยประมวลผลตัวใหม่อย่าง Expeed 5
  • ระบบ Auto white balance ที่เก่งมาก ซีนยากๆ แสงผสมกันหลายแบบก็ยังปรับอุณหภูมิสีที่เหมาะสมออกมาได้อัตโนมัติ ซึ่งมีโหมด Auto White balance ให้เลือก 3 แบบให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะให้กล้องเก็บความอุ่นของแสงไว้อย่างเป็นธรรมชาติ หรือให้แก้ไขจนสีสันตรงกับสิ่งที่วัตถุเป็นครับ
  • สีสันในแบบ Nikon ที่จัดจ้านเป็นเอกลักษณ์ (คือทีมงานชอบสีโทนนี้)

ทำให้เราแทบจะใช้ภาพ jpeg ที่ออกจาก Nikon D500 ได้เลยโดยไม่ต้องเอาไปตกแต่งต่ออีก

แกลลอรี่ Nikon D500 กับเฟื่องลดา

นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการตรวจจับจังหวะกระพริบของหลอดไฟอัตโนมัติ (Anti-flicker) เพื่อให้กล้องเก็บภาพในช่วงที่แสงไฟสว่างที่สุดด้วย ฟังดูอาจจะงงๆ คือต้องเข้าใจก่อนครับว่าแสงประดิษฐ์ที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวันอย่างหลอดฟลูออเรสเซ้นต์นี้ มันไม่ได้ส่องสว่างตลอดเวลานะครับ แต่ระหว่างที่มันเปล่งแสงมันจะกระพริบตลอดเวลา เพียงแต่ว่ามันกระพริบเร็วมากจนตาเราจับไม่ได้เท่านั้นเอง ก็สังเกตง่ายๆ เวลาที่เราถ่ายวิดีโอภายใต้แสงฟลูออเรสเซ้นต์บางทีจะรู้สึกว่าแสงมันกระพริบๆ ซึ่งโหมด Anti-flicker นี้ก็จะช่วยจับจังหวะแสงและถ่ายในช่วงที่ดีที่สุดมาให้ ซึ่ง Nikon D500 ถือเป็นกล้องนิคอนตัวแรกที่มีความสามารถนี้ ขนาด Nikon D5 ที่ออกมาพร้อมกันยังไม่มีความสามารถนี้ตั้งแต่เกิด ต้องอัปเดท firmware ตามหลังมาอีกที

ISO 6400

ISO 6400

ในส่วนของ ISO รองรับค่าหลักตั้งแต่ 100 – 51,200 แล้วก็ลดลงไปได้ถึง 50 ซึ่งในช่วง ISO 50 – 51,200 นี้ให้คุณภาพดีทั้งหมดครับ แม้ว่าจะดันไปถึง 51,200 ก็ยังอยู่ในระดับที่ใช้งานได้อยู่ดี แต่ถ้าเริ่มใช้เป็น Hi1 ที่เร่ง ISO เป็น 102,400 ภาพจะเริ่มดรอปอย่างเห็นได้ชัด สีซีดลง สัญญาณรบกวนชัดเจนขึ้น ส่วนค่าสูงสุดที่ Nikon D500 ทำได้คือ Hi5 ที่เทียบเท่า ISO 1,638,400 นั้นเรียกว่าใช้งานไม่ได้เลยดีกว่าครับ เทสกับห้องมืดๆ ก็ยังรู้สึกว่าภาพมืดเท่าเดิม ไม่ได้เห็นรายละเอียดอะไรเพิ่มขึ้นมา แต่ Noise นี่อย่างอล่างฉางเลย

ISO 1.6 ล้าน

ISO 1.6 ล้าน

การใช้งานถ่ายวิดีโอ

Play video

Play video

คลิปรายการที่ใช้ Nikon D500 ถ่าย

ในส่วนงานวิดีโอ เราก็นำ Nikon D500 ไปใช้ถ่ายทำวิดีโอหลายตัวนะครับ ก็ด้วยสีที่เป็นเอกลักษณ์ของ Nikon ทำให้วิดีโอที่ออกมานั้นได้สีสันที่น่าดึงดูดใจมาก แถมยังรับแสงได้ดี แม้จะดัน ISO ขึ้นบ้างก็ยังให้ผลงานออกมาดูดีได้แม้เป็นซีนที่ไม่ได้จัดแสงไฟเข้าช่วยครับ นอกจากนี้ยังมีทั้งช่องเสียบหูฟังและไมค์ทำให้ต่อไมค์นอกเพื่อเก็บเสียงและต่อหูฟังเพื่อมอนิเตอร์เสียงได้ทันที และรองรับความละเอียดสูงสุดที่ 4K30p ก็รองรับงานในอนาคตได้สบายๆ แต่การถ่ายวิดีโอในโหมด 4K นั้นจะไม่ได้ใช้พื้นที่เต็มทั้งเซนเซอร์ในการถ่ายนะครับ วิดีโอจะครอปเข้าไปในพื้นที่ของเซนเซอร์อีก ซึ่งจะมีปัญหาถ้าต้องการถ่ายวิดีโอ 4K แบบมุมกว้าง คือพูดง่ายๆ เอาเลนส์มุมกว้างมาก็จะถ่ายวิดีโอ 4K ได้มุมภาพประมาณเลนส์ Normal ก็ต้องหาเลนส์กว้างมากๆ สัก 10 mm มาใช้ครับ

แล้วสำหรับใครที่อยากทำ Live เจ้า Nikon D500 ก็รองรับได้สบายๆ ครับ เพราะสามารถต่อสัญญาณภาพผ่านพอร์ต HDMI แบบ Clean ได้เลย คือภาพที่ออกไปจะไม่มีตัวอักษรหรือเมนูแบบเดียวกับที่ขึ้นหลังกล้องออกไปครับ ทำให้นำไปใช้ต่อเข้าคอมเพื่อถ่ายทอดสดได้

Nikon_D500_body10

แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายวิดีโอก็ยังมีปัญหากับการโฟกัสครับเพราะในโหมดวิดีโอกล้องใช้การโฟกัสแบบ Contrast เป็นหลัก ทำให้การใช้ Auto-focus ระหว่างถ่ายวิดีโอออกจะวืดวาดบ่อย แถมระหว่างการถ่ายจริงช่วงที่กล้องหาโฟกัสนั้นมีเสียงเข้ากล้องด้วย (ทั้งๆ ที่เป็นเลนส์ Silent Wave Motor) ในการใช้งานจริงจึงควรใช้โฟกัสแบบ manual แทน

การโฟกัสและถ่ายภาพต่อเนื่อง

ภาพภายใน Viewfinder เห็นขอบเขตการโฟกัสที่กว้างเกือบเต็มเฟรม

ภาพภายใน Viewfinder เห็นขอบเขตการโฟกัสที่กว้างเกือบเต็มเฟรม

การโฟกัสและการถ่ายภาพต่อเนื่องถือเป็นจุดเด่นมากๆ ของ Nikon D500 ครับ เรียกว่าเป็นจุดตัดสินจุดหนึ่งเลยแหละครับว่าเราจะซื้อ Nikon D750 หรือ Nikon D500 คือใน D500 จะใช้โมดูลโฟกัสอัตโนมัติรุ่นล่าสุดของ Nikon คือ Multi-CAM 20k ตัวเดียวกับที่ใช้ในกล้องรุ่นท็อปอย่าง Nikon D5 นั้นแหละครับ ทำให้มีจุดโฟกัส 153 จุดทั่วเฟรม แถมมี 99 จุดเป็นแบบ Cross-type และยังโฟกัสในพื้นที่ที่มีแสงน้อยได้ดีกว่ารุ่นเดิมอีก ซึ่งจากการใช้งาน กล้องสามารถโฟกัสต่อเนื่องได้อย่างแม่นยำแม้ว่าวัตถุจะเคลื่อนที่ไปมาในเฟรมภาพ เชื่อมั่นได้ว่ากล้องจะสามารถโฟกัสได้อย่างรวดเร็ว และตามวัตถุที่เคลื่อนไหวได้ดีพอที่จะได้ภาพที่ไม่เบลอ

Nikon_D500_body3

Nikon D500 มีโหมดโฟกัสหลายแบบตั้งแต่

  • โฟกัสจุดเดียวที่ให้ผู้ใช้เลือกตำแหน่งได้
  • หรือถ้าไม่อยากโฟกัสแค่จุดเล็กๆ จุดเดียว ก็มีโหมด Group Area AF ให้เลือกใช้
  • โหมดเลือกจุดโฟกัสอัตโนมัติตามวัตถุที่อยู่ใกล้ หรือใบหน้าคน ที่สามารถติดตามวัตถุต่อได้
  • โหมดพระเอกอย่าง 3D Tracking ที่ให้เราเลือกจุดเริ่มโฟกัสได้เอง แล้วกล้องจะติดตามต่อไปเรื่อยๆ

Nikon_D500_body7

นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ 10 fps แม้จะถ่าย RAW ซึ่งความสามารถเหล่านี้ถ้าเราใช้กล้องแค่ถ่ายแบบนิ่งๆ ถ่ายวิวทิวทัศน์ก็คงไม่จำเป็น ใช้กล้อง Full frame อย่าง D750 จะให้ภาพได้ดีกว่า แต่สำหรับช่างภาพกีฬา นักข่าว หรือช่างภาพที่ต้องถ่ายภาพแอคชั่นบ่อยๆ D500 จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าได้ครับ

Snapbridge รูปแบบการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนแบบใหม่

Snapbridge

Snapbridge นั้นเป็นรูปแบบการเชื่อมต่อกล้องกับสมาร์ทโฟนแบบใหม่ที่ Nikon นำเสนอในงานเปิดตัวกล้อง D500 และ D5 นะครับ ซึ่งกล้องที่ออกในปีนี้นิคอนก็จะปรับมาใช้ระบบเชื่อมโยงแบบใหม่นี้ อย่าง Nikon D3400 หรือ Coolpix W100 ที่เพิ่งออกก็รองรับ Snapbridge เรียบร้อย

แนวคิดหลักของ Snapbridge คือเชื่อมต่อกล้องและสมาร์ทโฟนผ่าน Bluetooth low energy ไว้ตลอดเวลา ทำให้กล้องแอบโอนรูปขนาดเล็กมาเก็บไว้ในมือถือพร้อมให้ผู้ใช้แชร์ได้ตลอด แม้จะปิดกล้องอยู่ก็เถอะ แถมตัวแอปยังซิงค์เวลากับตำแหน่งสถานที่กลับไปยังกล้องให้บันทึกข้อมูลเหล่านี้เก็บไว้ในภาพได้ ซึ่งเซ็ตอัปได้ง่ายๆ ใช้ NFC แตะเพื่อซิงค์ก็ได้

ก็ฟังดูก็เป็นแนวคิดที่ดีนะครับ แต่การใช้งานจริงยังมีปัญหาอยู่มาก ทั้งการโอนรูปที่ค่อนข้างช้า โดยเฉพาะการสั่งโอนรูปแบบเต็มขนาด ตอนนี้ (สิงหาคม 2559) ก็ยังไม่มีแอปสำหรับ iOS ออกมา ทำให้ผู้ใช้ iPhone ไม่สามารถโอนรูปได้ แถมเราก็ไม่แน่ใจว่าต้องการโอนรูปทั้งหมดที่ถ่ายในกล้องมาเก็บไว้ในมือถือหรือไม่นะครับ อย่างทีมงานก็ปิดโหมดออโต้นี้แล้วเหลือโหลดเฉพาะรูปที่ต้องการดีกว่า นอกจากนี้ปัญหาสำคัญคือ Snapbridge มันเรียบง่ายเกินไปสำหรับผู้ใช้มืออาชีพครับ คือมันสามารถใช้ลั่นซัตเตอร์แบบไร้สายได้ แต่ผู้ใช้แทบจะปรับการตั้งค่ากล้องจากมือถือไม่ได้เลย ต้องกลับไปปรับที่กล้องอย่างเดียว

Nikon D500 กล้องเรือธงกลุ่ม DX ที่เกิดมาเพื่อถ่ายแอคชั่น

Nikon_D500_body2

ต้องยอมรับว่ากล้องจาก Nikon สร้างความประทับใจเรื่องสีสันให้เราได้เสมอนะครับ และ Nikon D500 ก็เสริมความแข็งแกร่งด้วยระบบโฟกัสที่ทำงานรวดเร็วและเชื่อใจได้ซึ่งทำให้มันเป็นกล้องที่เหมาะมากสำหรับช่างภาพกลุ่มแอคชั่นหรือช่างภาพกีฬา แต่ด้วยความที่มันใส่เทคโนโลยีล่าสุดหลายอย่างที่ทัดเทียมกับกล้องตัวท็อปอย่าง D5 ทำให้ราคาของมันนั้นไม่เบาเลย คือบอดี้อย่างเดียวขายราวๆ 69,900 บาท ราคาใกล้เคียงกับ Nikon D750 ที่เป็น Full-frame ที่ 72,900 บาทมาก ส่วนถ้ารวมเลนส์ AF-S DX NIKKOR 16-80mm f/2.8-4E ED VR ที่เราใช้เทสตัวนี้จะขายราคา 91,900 บาท ซึ่งในแง่ของคุณภาพภาพ D750 ก็ยังคงเหนือกว่าอยู่ดี แต่ถ้าความเจ๋งของระบบโฟกัสคงต้องยกให้กับ D500 นั่นเองครับ

ตัวอย่างภาพ