ในบทความนี้ เราจะลองซีพียูรุ่นใหม่อย่าง AMD Ryzen 7 7700X และ Ryzen 9 7900X จากค่ายแดง มาดูกันว่าจะแรงฤทธิ์สักแค่ไหน ด้วยการ Benchmark กับโปรแกรมยอดฮิตต่าง ๆ ผลทดสอบออกมาเป็นอย่างไร เราลองมาดูกันในบทความนี้เลย
ต้องยอมรับว่าหลังจากที่ค่ายฟ้า Intel ปล่อยหมัดเด็ด Intel Generation 12th ออกมา ก็ทำให้ค่ายแดง AMD ที่เคยมาแรง ดูเหมือนจะชะงักไปพักใหญ่ ๆ แต่ก็ใช่ว่าจะเงียบกริบ เพราะช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา AMD ก็ขอสวนคืนบ้าง ด้วยการเปิดตัว AMD Ryzen 7000 Series กับสถาปัตยกรรมใหม่ “Zen 4” บนการผลิต 5nm จาก TSMC ที่เล็กกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ยังให้ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นในหลาย ๆ ด้าน เช่น L2 Cache, Clock Speed 5GHz+, Single-Thread, IPC (Instructions per cycle/clock) เป็นต้น
นอกจากสเปกความแรงที่น่าสนใจแล้ว Ryzen 7000 Seires ยังมาพร้อมกับ Socket ใหม่ “AM5” ที่รองรับเทคโนโลยี DDR5, PCIe 5.0 และยังเป็นครั้งแรกของค่ายที่มี AMD EXPO โปรไฟล์แรมที่ทำให้สามารถ Overclock ความเร็ว (BUS) ได้ในตัวบอร์ด นอกจากนี้ยังสามารถเอาชุดระบายความร้อนของเดิม (AM4) มาใส่ได้ เรียกว่าเป็นความใจกว้างที่ไม่เคยได้จากอีกค่ายจริง ๆ
ส่วนในวันนี้รุ่นที่เราได้รับมาทดสอบมีอยู่สองตัวด้วยกันคือ AMD Ryzen 7-7700X และ Ryzen 9 7900X ครับ เดี๋ยวแวะดูกันที่เรื่องดีไซน์ที่เปลี่ยนใหม่จนเห็นได้ด้วยตาเปล่ากันก่อน
ดีไซน์กระดองซีพียู หรือ IHS (integrated heat spreader) ของ AMD Ryzen 7000 Series ถือว่าทำออกมาน่าสนใจเลยทีเดียว มีการบากร่องไว้ตามขอบ มองแล้วให้ความรู้สึกว่ามันดุดันดี แต่เรื่องความร้อนไม่มั่นใจว่าจะดีขึ้นหรือไม่ เพราะเสียพื้นที่หน้าสัมผัสไปบางส่วน
ส่วนดีไซน์อีกจุดที่มีการเปลี่ยนไป (ในทางที่ดี) ก็คือ Socket Pin หรือที่เราชอบเรียกกันว่า “ขาซีพียู” ตัว Ryzen 7000 Series ก็เปลี่ยนเป็นหน้าสัมผัสทั้งหมด แล้วเอาขาไปแปะไว้บนเมนบอร์ดกันแทน จุดนี้ช่วยป้องกันปัญหาแก้ปัญหายอดฮิต เช่น ขางอ บิ่น หัก ได้ครับ หรือแม้แต่ปัญหาที่ถอดฮีตซิงค์แล้วมีซีพียูติดมาด้วย
สเปกที่ใช้ทดสอบ
- CPU: AMD Ryzen 7 7700X (5nm), 8 Core/16 Thread, 4.5GHz (boost up to 5.4GHz), L3 cache 32MB | AMD Ryzen 9 7900X (5nm), 12 Core/24 Thread, 4.7GHZ (boost up to 5.6GHz) L3 cache 64MB
- Mainboard: MSI MEG X670E ACE (AM5)
- RAM: G.Skill Trident Z5 Nee 32GB (16×16) DDR5, 6000Hz with AMD EXPO
- SSD: PCIe 4.0 NVMe M.2 256GB
- PSU: NZXT C750 Gold +
- Cooling System: Cooler Master MasterLiquid ML240L V2 RGB
หมายเหตุ: ข้อมูลที่นำมาเปรียบเทียบ มาจากอุปกรณ์ที่แบไต๋เคยรีวิวไปแล้วเท่านั้น ด้วยข้อจำกัดนี้ จึงไม่สามารถเทียบได้กับซีพียูที่อยู่ในระดับเดียวกันตรง ๆ ทำได้เพียงเทียบกับรุ่นที่ใกล้เคียงกัน
Geekbench 5
การทดสอบ (Benchmark) ด้วย Geekbench 5 ต้องบอกว่าเป็นไปตามที่ AMD โฆษณาเลย (ไม่จกตา) ผลคะแนน Single Core แรงขึ้น ถ้าเทียบกับรุ่นเดิมอย่าง Ryzen 7 5700X และ Ryzen 9 5900X
และอีกเรื่องที่น่าสนใจคือ Ryzen 7 7700X นั้นถ้าเอาไปเทียบกับ Intel Core i9-12900 และ Apple M1 Ultra ก็จะเห็นว่าแรงกว่าด้วยนะครับ ที่สามารถทำคะแนนได้สูงขนาดนี้ เพราะมีการเพิ่มค่า Boost Clock สูงสุดที่ 5.4GHz ในขณะที่ Intel Core i9-12900 มีค่า Boost Clock อยู่ที่ 5.1GHz เท่านั้นครับ
ส่วนคะแนน Multi-Core ทั้งสองรุ่นก็ยังถือว่าสูงกว่า Intel Core i9-12900 นะครับ แต่ถ้าเอาไปเทียบกับ Apple M1 Ultra ก็ต้องบอกว่ายังสู้ไม่ได้เหมือนเดิม Apple เขาเด่นเรื่องคะแนนแบบนี้จริง ๆ ครับ
ภาพรวมในการทดสอบผ่าน Geekbench 5 ก็สามารถสรุปได้ว่า AMD แรงพอตัวเลยครับ แต่ถามว่าจะแรงกว่า Intel Core i9-12900K หรือ KS หรือไม่ อันนี้เราไม่มีอุปกรณ์มาทดสอบให้จริง ๆ คงต้องขอติดไว้ก่อน ไว้ได้มาจาก Intel เมื่อไรจะมาเติมในตารางให้นะครับ
Cinebench R23
มาดูการเรนเดอร์ (Render) ภาพ 3 มิติ ผ่าน Cinebench R23 กันบ้างครับ อย่างที่เห็นเลยครับคะแนน Single Core ของทั้ง Ryzen 7 7700X และ Ryzen 9 7900X แรงสุดเท่าที่เราเคยทดสอบมาเลย ที่น่าสนใจคือความแรงของทั้งคู่อยู่ในระดับใกล้เคียงกันเลยนะ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ
ในส่วนของ Multi Core ก็เช่นกัน ทำคะแนนได้มากกว่าเหมือนกับ Single Core เลย โดยเฉพาะ Ryzen 9 7900X ที่กวาดไปถึง 27,969 คะแนนเลย ตั้งแต่ที่เคยทดสอบซีพียูคอมตั้งโต๊ะมา (ไม่รวมโน้ตบุ๊ก) ตัวนี้คือแรงสุดแล้วครับ ถือว่างานนี้ AMD ทำออกมาได้ดีเลยนะ แม้จะไม่ได้เปลี่ยนสถาปัตยกรรมเป็น Hybrid เหมือน Intel แต่ก็ยังคงได้ประสิทธิภาพที่ดี โดยอาศัยการเพิ่ม L3 Cache ให้สูงถึง 64MB และค่า Boost Clock 5.6GHz เข้าไปครับ
Blender – Classroom
ลองทดสอบ Benchmark กันไปแล้ว เดี๋ยวเราจะลองมาเรนเดอร์ (Render) กับโปรแกรมใช้งานจริงอย่าง Blender กันว่าจะใช้เวลาเท่าไร โดยไฟล์ 3 มิติที่เอามาทดสอบคือ Classroom ครับ
ผลก็ออกมาอย่างที่เห็นเลย ฝั่ง AMD สามารถเรนเดอร์ภาพได้เร็วกว่าซีพียูที่เคยทดสอบมาทั้งสองรุ่นเลย โดยฝั่ง Ryzen 7 7700X จะใช้เวลาไป 4.33 วินาที ส่วน Ryzen 9 7900X ใช้เวลาไปเพียง 2.57 วินาทีเท่านั้นครับถือว่าเร็วกว่าเท่าตัวเลยนะครับ
ความร้อน
ประเด็นความร้อน ถ้าดูตามสเปกแล้ว Ryzen 7 7700X และ Ryzen 9 7900X จะมีค่า Tjmax (Temperature Junction Maximum) หรือความร้อนสูงสุดเท่ากันที่ 95 องศาเซลเซียสครับ ความร้อนนี้ AMD เคลมว่าสามารถทำงานได้ต่อเนื่องแบบ 24/7 ครับ
จากที่ลองทำการทดสอบแล้วบันทึกไว้ปกติถ้าไม่ได้ทำอะไร ความร้อนของ Ryzen 7 7700X จะอยู่ที่ 32 องศา และ สูงสุดอยู่ที่ 94 องศา ส่วน Ryzen 9 7900X จะอยู่ที่ 50 องศา และ สูงสุดที่ 95 องศาครับ
หมายเหตุ: ชุดน้ำระบายความร้อนเป็นระบบน้ำปิด Cooler Master MasterLiquid ML240L V2 RGB
การใช้ไฟ
พูดถึงเรื่องการใช้พลังงานสำหรับซีพียูเพียว ๆ เราวัดค่าด้วย HWiNFO ผลปรากฏว่าตัว Ryzen 7 7700X ถ้าเปิดเฉย ๆ ไม่ได้ใช้งานอะไร จะกินไฟอยู่ที่ 19 วัตต์ และถ้าซีพียูทำงาน 100% (Full Load) จะกินไฟสูงสุดที่ 115 วัตต์ ส่วน Ryzen 9 7900X น้อยสุดอยู่ที่ 22 วัตต์ และสูงสุด (Full Load) ที่ 165 วัตต์ครับ
ปัญหาที่เจอระหว่างทดสอบ
ระหว่างการทดสอบ Benchmark ทีมงานแบไต๋พบว่า หากเราเปิดใช้งาน AMD EXPO ที่ทำให้แรมสามารถวิ่งได้ถึง 6000Hz อาจทำให้บางโปรแกรมเกิดอาการ จอฟ้ามรณะ “Bluescreen” พร้อมข้อความแจ้งปัญหาที่ MEMORY_MANAGEMENT (ระบบจัดการหน่วยความจำ)
ซึ่งวิธีแก้ปัญหาทางเราก็ลองปิด AMD EXPO แล้วกลับไปทดสอบอีกรอบก็ไม่มีอาการจอฟ้าอีกเลย (ผลทดสอบทั้งหมดเปิด AMD EXPO นะ) ซึ่งเราได้แจ้งข้อมูลไปทาง AMD เรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่าเกิดจากเวอร์ชัน BIOS
อัปเดต 3/10/65 หลังจากทาง AMD ได้รับทราบปัญหา เขาก็ได้ส่ง Driver และ BIOS เวอร์ชันใหม่กลับมาให้ทดสอบอีกรอบ หลังจากอัปเดต BIOS และติดตั้ง Driver เวอร์ชั่นใหม่ แบไต๋พบว่าไม่มีปัญหาจอฟ้าเกิดขึ้นอีกเลย
ราคา
สำหรับราคาค่าตัวของซีพียูเบอร์ใหม่จากค่ายแดงอย่าง AMD Ryzen 7 7700X และ AMD Ryzen 9 7900X ถ้าอ้างอิงจากราคาเปิดตัวที่อเมริกาเดาว่าจะอยู่ที่
- Ryzen 9 7950X (16 Cores/32 Threads) – 28,900 บาท
- Ryzen 9 7900X (12 Cores/24 Threads) – 22,590 บาท
- Ryzen 7 7700X – (8 Cores/16 Threads) – 16,490 บาท
- Ryzen 5 7600X – (6 Cores/12 Threads) – 12,490 บาท
หมายเหตุ: ราคานี้คำนวณ ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 US$ = 37 บาท ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนราคาไทย ต้องรอเปิดตัวอีกทีในวันที่ 27 สิงหาคม 2565 ครับ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะไม่ต่างจากนี้สักเท่าไร ถือว่าเป็นหมัดเด็ดของ AMD ที่สวนคืนได้อย่างเผ็ดมันเลยนะ แค่ตัว AMD Ryzen 7 7700X ราคาประมาณ 16,000 กลาง ๆก็สามารถทำผลคะแนนแซง Intel Core i9 12900 ที่ราคาเกือบ 20,000 ได้แล้ว ลองคิดดูสิครับว่าตลาดจะแตกแค่ไหน
สุดท้ายนี้ คงต้องรอดูว่า Intel Generation 13th ที่คาดว่าจะเปิดตัวสิ้นปีนี้ จะมีหมัดเด็ดอะไรที่จะมาเอาคืน AMD Ryzen 7000 Series ได้บ้าง