แบไต๋ได้ใช้งานจริง MacBook Air M2 มากว่า 2 สัปดาห์ ก็ได้เวลารีวิวแล้วว่าเครื่องรุ่นใหม่นี้คุ้มค่าไหม สรุปสั้น ๆ ก่อนเลยว่า ถ้างบคุณไม่อั้น MacBook Air M2 เป็นทางเลือกที่ดี แต่ถ้าต้องการความคุ้มค่า สปอยด์ก่อนเลยว่าซื้อ MacBook Air M1 เถอะ ถูกกว่าแถมบางอย่างก็ยังดีกว่า M2 ด้วย

ดีไซน์

ดีไซน์ใหม่ของ MacBook Air M2 กัน ดีไซน์นี้อิงมาจาก MacBook Pro 14 และ 16 ทำให้เป็นแมคบุ๊กที่ดูดี ดูสดใหม่ ไม่เหมือน MacBook Pro 13 M2 ที่ออกพร้อมกัน แต่ใช้ดีไซน์เก่า ทำให้เครื่องดูตกยุคไปมาก

ดีไซน์ใหม่ของแมคนี้ฝาด้านบนกับฝาด้านล่างจะเป็นแผ่นเรียบไปทั้งหมด ไม่ได้โค้งเหมือน MacBook Air รุ่นก่อนหน้านี้ ก็ทำให้เวลาจับถือรู้สึกแปลกแตกต่างไป แต่ก็ยังได้สัมผัสการจับที่นุ่มนวลด้วย เพราะมุมเครื่องทั้ง 4 มุมโค้งกำลังสวย แล้วขอบเครื่องโดยเฉพาะด้านล่างยังมนมากขึ้นด้วย

โชว์ดีไซน์ที่แอปเปิ้ล Proudly Present อย่างหนึ่ง เทียบ MacBook Air M2 กับ M1 แบบนี้ มองออกไหมว่าอะไรที่ต่างไป ตรงนี้ไง โลโก้แอปเปิ้ลที่ของใหม่ ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีก! ใหญ่ขึ้นอีกสัก 30% ได้ ให้เห็นแต่ไกล ๆ ก็รู้ว่านี้เครื่องแอปเปิ้ล

ส่วนน้ำหนัก Macbook Air M2 หนัก1.24 กก. เบากว่า Macbook Air M1 ที่หนัก 1.29 กก. อยู่นิดหน่อย แต่ขนาดทั้ง 2 เครื่องนี้แทบจะเท่ากันเลย

ประเด็นสีเข้มของ Midnight ติดรอยนิ้วมือง่าย อันนี้ต้องทำใจอย่างเดียว เพราะพออะลูมิเนียมสีเข้มขึ้น มันก็เห็นรอยนิ้วมือง่ายขึ้น เครื่องรีวิวนี้ไม่เช็ดเลยนะ ให้เห็นว่าใช้งานจริง ๆ คราบจะระดับไหน ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากซื้อผ้าเช็ดราคา 690 บาทของแอปเปิ้ลมาเช็ดให้สมฐานะแบบนี้ อันนี้ล้อเล่น จริง ๆ ใช้ผ้าอะไรก็ได้นะ ผ้าแอปเปิ้ลนี้เอามาเช็ดจอดีกว่า

แล้วสีเข้มอย่าง Midnight จะลอกไหม ใช้มาแค่ 2 สัปดาห์ ก็ยังไม่เห็นอะไรมาก แต่ใครใช้สีนี้ก็ทำใจรอไว้ก็ดี เพราะสีธรรมชาติของอะลูมิเนียมคือสีเงิน การที่มาทำเป็นสีเข้มมากๆ อย่าง Midnight มันมีโอกาสที่เครื่องจะถลอกแล้วเห็นสีเงินธรรมชาติของอะลูมิเนียม โดยเฉพาะตรงพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ที่มีโอกาสเสียดสีจนลอกออก

ส่วนใครไม่อยากเจอปัญหารอยนิ้วมือหรือสีลอกสีหลุดอย่างที่ Midnight มีโอกาสจะเจอมากที่สุด ก็แนะนำให้ซื้อสี Silver หรือ Starlight ที่เป็นสีเงินอุ่น ๆ จะไม่มีปัญหานี้ ส่วนถ้าอยากได้เข้มขึ้นอีกนิดหนึ่ง แต่ไม่ค่อยมีปัญหา ก็เลือกเป็นสี Space Gray ได้

ดีไซน์ใหม่นี้ได้พอร์ตชาร์จไฟ MagSafe 3 เหมือนกับ MacBook Pro 14 และ 16 ที่สายชาร์จยาว 2 เมตรนี้ทำสีตามสีเครื่องด้วยนะ ของเราเป็นสี Midnight ก็ได้สายชาร์จสีเข้มๆ แบบนี้ ซึ่งข้อดีของพอร์ตชาร์จแบบนี้คือมีไฟที่หัวชาร์จ ทำให้รู้ตั้งแต่ยังไม่ได้กางเครื่องออกมาว่าชาร์จเต็มหรือยัง และเวลาคนมาสะดุดสาย สายก็จะกระตุกออกโดยไม่ได้พาเครื่องร่วงลงไปด้วย แต่ถ้าใครจะเน้นสะดวก ก็ยังสามารถชาร์จเครื่องผ่านพอร์ต USB-C ทั้ง 2 พอร์ตนี้ได้เหมือนเดิม

โดยหัวชาร์จมาตรฐานสำหรับ MacBook Air M2 รุ่นเริ่มต้นจะเป็นหัวชาร์จ USB-C กำลังไฟ 30 Watt ซึ่งชาร์จไฟจาก 0-100% ใช้เวลาประมาณ 140 นาที แต่ถ้าคุณซื้อรุ่นที่มี GPU 10 แกน พร้อมเลือกความจุ 512 GB ขึ้นไปคุณจะได้สิทธิ์อัปเกรดฟรีเป็นหัวชาร์จ 35 Watt พอร์ต USB-C คู่ ซึ่งชาร์จเต็มใน 120 นาที หรือเลือกหัวชาร์จตัวแรง 67 Watt ที่ชาร์จเต็มใน 100 นาทีก็ได้

แต่ถ้าคุณซื้อ MacBook Air M2 รุ่นเริ่มต้นแล้วอยากอัปเกรดหัวชาร์จก็ต้องเพิ่มเงินอีก 700 บาท ก็โอเค้ ดีกว่าแอปเปิ้ลไม่ให้หัวชาร์จอะไรมาเลยแบบไอโฟน

ด้านขวาของเครื่องมีพอร์ต 3.5 mm ให้เสียบหูฟังได้ง่ายๆ ส่วนด้านซ้ายมีพอร์ต Thunderbolt ที่หน้าตาแบบ USB-C จำนวน 2 พอร์ตข้างเครื่องที่ต่อกับ USB-C Hub เพื่อต่อจอผ่าน HDMI ได้ แต่แม้ว่าแอปเปิ้ลจะเคลมว่าพอร์ตนี้เป็นมาตรฐาน USB 4 แต่ถือว่าเป็นพอร์ต Gen 2×1 ที่มีความเร็วในถ่ายโอนข้อมูลสูงสุดแค่ 10 Gbps เท่านั้น เอา External SSD Kingston XS2000 ที่รองรับมาตรฐาน USB 3.2 Gen 2×2 ที่ทำความเร็วสูงสุดได้ 2000 MB/s มาทดสอบ ก็ได้ความเร็วในการอ่าน-เขียนไม่ถึง 900 MB/s เท่านั้นเอง

แบตเตอรี่

แบตเตอรี่ของ MacBook Air M2 นี้อึดมากนะ คุณใช้งานแบบสมาร์ตโฟนได้เลย คือชาร์จแค่ที่บ้าน ระหว่างวันไม่ต้องพกหัวชาร์จไปด้วยก็ได้ มันอยู่ได้จบวันแบบเหลือ ๆ ทีมงานเราเคยทำงาน 10 โมงเช้า ถึงเลิกงาน 1 ทุ่ม โดยไม่ได้เสียบชาร์จสักนิด แบตเตอรี่ในเครื่องยังเหลือราว 40% โดยนั่งทำงานบน Google Chrome นับสิบแท็บ เปิด LINE เปิด Spotify แล้วก็ประชุม Zoom บ้าง

พูดถึงประชุมซูม มาดูคุณภาพของกล้อง FaceTime HD ความละเอียด 1080p เทียบกับกล้อง 720p ของ MacBook Air M1 เดิมกัน แน่นอนว่ากล้องใหม่ที่ละเอียดขึ้น ก็ต้องให้รายละเอียดของภาพได้ดีกว่ากล้องเดิม การถ่ายในที่แสงน้อยก็ดีขึ้นด้วย ส่วนไมโครโฟนในเครื่องมี 3 ตัว

อีกจุดหนึ่งที่ชอบคือคีย์บอร์ด ให้สัมผัสที่นุ่มนวลกว่าคีย์บอร์ดของ MacBook Air M1 ไปอีกระดับ แล้วก็ปุ่ม Function Key ด้านบนนี้เปลี่ยนเป็นปุ่มขนาดเต็มแล้ว ก็ทำให้กดง่ายขึ้น ส่วนของเดิมที่ดีอยู่แล้วอย่างไฟ Backlit ในคีย์บอร์ด หรือ Touch ID ก็ยังมีเหมือนเดิม

หน้าจอ

แล้วขนาดหน้าจอของ MacBook Air M2 13.6 นิ้ว เทียบกับหน้าจอ 13.3 นิ้วของ MacBook Air M1 มันต่างกันจริง ๆ เยอะไหม เอามาวางเทียบแบบนี้จะเห็นว่าขอบจอของรุ่นใหม่นั้นบางกว่า แล้วมุมด้านบนมีการทำโค้งรับมุมเครื่อง ก็ทำให้ดูหรูหราขึ้น แต่ถ้าวัดความยาวจริงๆ แล้ว

MacBook Air M2 มีจอกว้าง 29 cm เทียบกับ M1 ที่กว้าง 28.6 cm ต่างกัน 4 mm เอง

ส่วนด้านความสูง Air M2 จอสูง 18.9 cm ถ้านับไปจนสุดขอบบน แต่ถ้าวัดความสูงแค่รอยบากจะเหลือราว 18 cm เทียบกับ Air M1 ที่สูง 17.8 cm ก็กลายเป็นว่าต่างกันราว 2 mm เท่านั้น เพราะเวลาที่เปิดแอปเต็มหน้าจอ มันจะไปได้ไม่สุดขอบจอด้านบน และเวลาจะให้เมนูแอปแสดง มันก็จะดีดหน้าจอลงมานิดหนึ่งเหมือนเครื่องที่ไม่มีรอยบาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ชอบแนวคิดของรอยบาก แต่ไม่ชอบรอยบากของแมค

SSD ใน MacBook Air M2 รุ่นเริ่มต้นนั้นช้ากว่า MacBook Air M1

และประเด็นที่เป็นที่วิจารณ์หนักเลยคือ SSD ใน MacBook Air M2 รุ่นเริ่มต้นนั้นช้ากว่า MacBook Air M1 รุ่นเริ่มต้นมากๆ คือใน Air M2 ความจุ 256 GB ทำความเร็วในการอ่านเขียนได้ราวๆ 1.4 GB/s ส่วน Air M1 ที่เพิ่งซื้อมาก่อนที่รุ่นใหม่จะเปิดตัว ทำความเร็วในการเขียนได้ราวๆ 2.4 GB/s ส่วนการอ่านเทสต์ไปได้ถึง 3.0 GB/s เรียกว่าต่างกันเกือบเท่าตัว

สาเหตุของเรื่องนี้คือแอปเปิ้ลลดต้นทุนใน Air M2 ทำให้ใช้ชิป SSD ขนาด 256 GB แค่ตัวเดียว จากใน Air M1 ใช้ชิป SSD ขนาด 128 GB 2 ตัวทำงานพร้อมกัน ทำให้ได้ความเร็วสูงกว่า

ซึ่งพอ SSD ช้าลง จะเห็นผลมากระหว่างเวลาที่ก็อปไฟล์ใหญ่ ๆ มาในเครื่อง จะทำให้เครื่องช้าลงไปหมด และเครื่องมีอาการค้าง และเมื่อเปิดโปรแกรมหนัก ๆ จนใช้แรมเต็มจะเกิดอาการเครื่องค้างบ้าง เพราะระบบทดข้อมูลลง SSD ได้ช้าลง

แล้วทางแก้คืออะไร คือซื้อ Macbook Air M2 ความจุตั้งแต่ 512 GB ขึ้นไป จะได้เป็น SSD 2 ชิปเหมือนเดิม ได้ความเร็วกลับมาประมาณเดิม ซึ่งคุณต้องเพิ่มเงินอีก 7000 บาทนะ

ส่วนประสิทธิภาพของชิป Apple M2 ก็ต้องยอมรับว่าแรงกว่า Apple M1 จริง ๆ

  • ผลการเทสต์ Air M2 ด้วย Geekbench 5 ได้คะแนน Multicore ไป 8958 คะแนน ส่วน Macbook Air M1 ได้ไป 7740 คะแนน
  • ส่วน Cinebench R23 ได้คะแนนทดสอบ Multicore ไป 7630 คะแนน เทียบกับ M1 ได้ 6563 คะแนน

และ 3Dmark ชุด Wild Life Stress Test การทดสอบหนักๆ ทดสอบประสิทธิภาพ GPU 20 รอบ 20 นาที ก็ได้ผลการทดสอบที่น่าสนใจ คือ Macbook Air M2 แบบ GPU 8 แกน ได้คะแนนสูงสุดที่ 20971 และพยายามรักษาคะแนนระดับ 2 หมื่นนี้ไป 9 รอบการทดสอบ จนความร้อนขึ้นสูงและลดความเร็วลงเหลือได้คะแนนราว 14000 คะแนน ไปจนจบการทดสอบ คือประสิทธิภาพลดลงไปราว 40% เมื่อเครื่องร้อน

ส่วน MacBook Air M1 GPU 7 แกน ได้คะแนนสูงสุด 16506 และรักษาคะแนนระด้บนี้ไป 6 รอบการทดสอบ ก่อนจะลดลงไปเหลือราว 13000 คะแนน คือประสิทธิภาพลดลงราว 20% คือแม้ประสิทธิภาพของชิป M1 จะน้อยกว่า แต่ก็เมื่อร้อนก็ประสิทธิภาพก็ลดลงน้อยกว่า

ก็สรุปว่า Macbook Air M2 แรงกว่า M1 อย่างที่ควรจะเป็น แต่การที่ Macbook Air ไม่มีพัดลมเลย ก็ทำให้งานที่ต้องประมวลผลหนัก ๆ นาน ๆ เช่นงานตัดต่อวิดีโอ หรืองาน 3 มิติถูกลดประสิทธิภาพไปพอสมควรเลย ใครที่จะซื้อเครื่องไปใช้งานหนัก ๆ จึงแนะนำ Macbook Pro มากกว่า

ซึ่งก็ลองใช้งานโหด ๆ โดยเปิด Adobe Premiere Pro มา Export เพลงโต๊ะริมที่ร้อง Cover โดยน้องออม ซึ่งเป็นคลิปยาว 4.14 นาทีที่ถ่ายไฟล์ 10-bit มา ก็ใช้เวลาเรนเดอร์ 11.02 นาที เร็วกว่า mac mini m1 แรม 16 GB ที่ใช้ตัดต่อประจำราว 1.30 นาที แต่การเล่นคลิประหว่างตัดต่อ นั้นไม่ลื่นไหลเลย แม้ว่าจะเซ็ตความละเอียดของคลิปพรีวิวไว้ที่ ⅛ แล้ว ซึ่ง Mac Mini M1 ที่มีแรม 16 GB ยังเล่นไทม์ไลน์ตัดต่อนี้ได้ลื่นกว่า

ส่วนความร้อนที่เกิดขึ้นภายนอกระหว่างใช้งานหนัก จะเห็นว่าทั้ง 2 รุ่นกระจายความร้อนออกมาพอๆ กันคือราว 41 องศาเซสเซียสทั้งด้านคีย์บอร์ดและด้านล่างเครื่อง แต่ MacBook Air M2 วงความร้อนจะกระจายออกไปกว้างกว่า ให้ผู้ใช้อุ่นอย่างทั่วถึงกว่า

สรุป Macbook Air M2 เหมาะกับใคร ก็เหมาะกับคนที่ทำงานเอกสาร ทำงานบนเว็บ ประชุมออนไลน์ หรือคนใช้ทำงานทั่วไปนั้นแหละ ซึ่งมันเป็นเครื่องที่ดีมาก ทั้งเบา ทั้งเร็ว จอสวย แบตอึด แต่ถ้าต้องการทำงานสายครีเอเตอร์แนะนำให้ไปดู Macbook Pro ที่มีพัดลมดีกว่า

แต่ประเด็นที่อยากแนะนำให้ซื้อ Macbook Air M1 แทน M2 คือความขาด ๆ เกิน ๆ แต่แพงขึ้นของรุ่น M2 คือ Macbook Air M2 ราคาเริ่มต้น 43,900 บาท แพงกว่า Macbook Air M1 ที่ขายเริ่มต้น 32,900 บาทถึง 11,000 บาท ราคาที่ต่างขนาดนี้คุณได้อะไรดีขึ้นบ้าง

  • ดีไซน์ใหม่
  • จอสวยขึ้น
  • กล้องดีขึ้น
  • ความเร็วชิปดีกว่าเดิมนิดหน่อย

แต่มันมีเรื่องที่แย่ลงด้วย

  • ความเร็ว SSD ลดลงเกือบครึ่ง
  • ลำโพงแย่ลง
  • หน้าจอมีบากแบบใหญ่ไป

ถ้าคุณจะเอาความเร็ว SSD ของ Air M2 ให้เท่า Air M1 ก็ต้องบวกเงินเพิ่มความจุเป็น 512 GB ไป 7000 บาท เครื่องนี้ก็ราคา 50,900 บาทแล้ว ซึ่งสำหรับหลายคนที่ทำงานบน Cloud แล้วไม่ค่อยเก็บข้อมูลในเครื่อง ก็รู้สึกว่าถูกมัดมือชกให้ต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อเอาประสิทธิภาพเดิมกลับมา (อย่างบก. เทคนิคแบไต๋ยังใช้เครื่อง 256 GB ไม่เคยเต็มเลย) แล้วถ้าจะเอาแรม 16 GB ด้วย เครื่องนี้ก็จะเป็นราคา 57,900 บาทที่แพงมาก

คือถ้าคุณมีงบประมาณเยอะจริง ๆ ถึงจะแนะนำ Macbook Air M2 เพราะในแง่ความคุ้มค่า Macbook Air M1 ก็ยังกินขาด แม้จะไม่ได้ลดราคาลงเลยตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเกือบ 2 ปีก่อนก็เถอะ!