รีวิว Kingston XS1000 และ XS1000R : ขนาดเล็ก, รับ-ส่งเร็ว, เข้าใจง่าย, ใช้ได้ทุกที่
Our score
9.5

รีวิว Kingston XS1000 และ XS1000R : ขนาดเล็ก, รับ-ส่งเร็ว, เข้าใจง่าย, ใช้ได้ทุกที่

จุดเด่น

  1. ความเร็วในการอ่าน-เขียนระดับ 1,000 MB/S ในทุกรุ่นที่ใช้ USB 3.2 Gen 2 ขึ้นไป แม้ Thunderbolt ก็เร็ว 1,000 mb/s ได้
  2. ความจุที่เยอะมากเมื่อเทียบกับราคาขาย เหมาะสำหรับซื้อไปเก็บข้อมูล
  3. ขนาดกระทัดรัด พกพาง่าย ใช้ได้ทุกที่

จุดสังเกต

  1. แถมแค่สาย USB-A ไม่แถมสาย USB-C มาให้ (เฉพาะล็อตเก่า)
  2. พอร์ตที่ใช้ USB-A 3.2 Gen 2 มีน้อย เมื่อเทียบกับพอร์ต USB-C ทำให้การใช้ USB-A อาจจะไม่ได้ความเร็วที่มากพอ (ยกเว้น Gaming Notebook แรง ๆ)
  3. ไม่มีเคสยางแถมมาให้ในรุ่นนี้ (XS2000 มี)

อัปเดต 27 สิงหาคม 2567 : เพิ่มเติมภาพของ Kingston XS1000R ซึ่งเป็นรุ่นสีแดงที่เพิ่มเข้ามาในซีรีส์

เมื่อช่วงเวลาใกล้ ๆ กันของปีที่ผ่านมา แบไต๋เราได้รีวิว Kingston XS2000 SSD พกพาที่ให้ความเร็วได้สูงสุดถึง 2,000 MB/s ที่ต้องเช็กสเปกต่าง ๆ ของตัว SSD ก่อนจะใช้ให้ได้ความเร็วที่มากถึงระดับ 2,000 mb/s ได้

แต่ในปีนี้ Kingston ได้เปิดตัว SSD พกพารุ่นใหม่ในซีรีส์ ‘SSD พกพาจิ๋ว’ ในรุ่น Kingston XS1000 น้องเล็กของตระกูลที่แม้จะเป็นรุ่นน้อง แต่ก็เร็วสูงสุดที่ 1,000 MB/s ! แถมยังขนาดเล็กเหมือนเดิมอีกด้วย แล้วรุ่นน้องนี้จะมีอะไรน่าสนใจอีกบ้างล่ะ

สเปกของ Kingston XS1000

  • พอร์ตเชื่อมต่อ: USB-C 3.2 Gen 2×1 (10Gbps)
  • ความเร็ว: อ่าน 1,050MB/s เขียน 1,000 MB/s
  • ความจุ: 1TB, 2TB
  • ขนาด: 69.54 x 32.58 x 13.5 มม.
  • น้ำหนัก: 28.7 กรัม
  • วัสดุรอบเคส : โลหะ + พลาสติก
  • การรับประกัน/บริการ: ประกันแบบจำกัดเงื่อนไข 5 ปีพร้อมบริการทางเทคนิคฟรี
  • ระบบปฏิบัติการที่รองรับ: Windows 11, 10, macOS (v.10.15.x +), Linux (v. 4.4.x +), Chrome OS, Android, iOS/iPadOS (v.13+)
  • อุปกรณ์ในกล่อง : SSD Kingston XS1000, สาย USB-A to USB-C

ดีไซน์กะทัดรัดไม่ต่างจากรุ่นพี่

สัมผัสแรกที่ได้รับจากการถือใช้ Kingston XS1000 ตัวนี้ก็คือ มันเล็กและเบามาก ๆ ครับ คือตัว SSD เองมีขนาดที่ ‘สั้นและป้อม’ เหมือนกันกับรุ่นพี่ ไม่ใช่ SSD แบบแบน ๆ ที่เราจะเห็นกันโดยทั่วไป ถ้าดูด้วยสเปกตัวเลขระหว่าง XS1000 กับ XS2000 มาเทียบกันคือเรียกได้ว่าเท่ากันเลยก็ได้ ! ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีครับเพราะว่าขนาดนี้แหละที่เหมาะสมกับการพกพาไปใช้จริง ๆ

วัสดุรอบตัวเคสของ XS1000 จะต่างจากรุ่นพี่เล็กน้อย จากที่เป็นโลหะล้วน ๆ เป็นโลหะ + พลาสติกครับ ซึ่งจากที่ลองสำรวจดูรอบ ๆ ตัวแล้ว จะเห็นว่าส่วนที่เป็นพลาสติกจะอยู่บริเวณขอบเหลี่ยมด้านข้างรอบ ๆ ตัวทั้งหมด รวมถึงบริเวณที่พอร์ต USB-C อยู่ด้วย ส่วนที่เหลือจะเป็นโลหะครับ ดังนั้นเรียกว่าวัสดุส่วนใหญ่เป็นโลหะก็ไม่ได้ผิดมากนัก ส่วนน้ำหนักของ XS1000 นี้จะอยู่ที่ 28.7 กรัมซึ่งอยู่ในระดับที่เบามาก ๆ เรียกว่าพกไว้ คือจำไม่ได้เลยว่าพกอยู่ครับ เบามากจริง ๆ

ที่น่าเสียดายก็คือรุ่นนี้ ไม่แถมเคสยางที่ไว้ใช้กันกระแทกแบบใน XS2000 ด้วย ทำให้เวลาพกพาตัว SSD รุ่นนี้ อาจจะต้องหาซองมาใส่เพิ่ม หรือต้องระวังในการพกพา XS1000 นี้อีกสักเล็กน้อยก็จะแก้ปัญหานี้ไปได้ครับ แต่ระวังเรื่องรอยที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่ได้ใส่ซอง หรือกระเป๋าใด ๆ ด้วยนะ

เพิ่มเติมสีแดง แต่แรงเท่าเดิม !

ในเดือนสิงหาคมปี 2567 นี้ Kingston ได้เปิดตัว Kingston XS1000R ซึ่งเป็นรุ่นสีแดงที่เพิ่มเข้ามา โดยยังคงมีความเร็วในการรับ-ส่งไฟล์ที่เท่าเดิม รวมไปถึงได้มีการแถมอแดปเตอร์ USB-A เป็น USB-C ให้ในกล่องแล้วด้วย ทำให้ SSD ซีรีส์ XS1000 นี้เชื่อมต่อได้ทั้งใน พีซี, Mac, แท็บเล็ต, คอนโซลเกม, สมาร์ททีวี, iPhone, และสมาร์ทโฟน Android คือสามารถเชื่อมต่อได้มากกว่าเดิมแล้วด้วย !

ทั้งนี้ External SSD ของ Kingston ที่จะได้อแดปเตอร์ USB-A เป็น USB-C มาในกล่อง จะต้องเป็นรุ่นที่ขายในเดือนสิงหาคม 2024 เป็นต้นไปนะ

พอร์ตเชื่อมต่อที่เร็วแรง แถมเข้าใจง่าย

ในขณะที่ XS2000 ใช้พอร์ต USB-C 3.2 Gen 2×2 ที่สามารถโอนถ่ายข้อมูลได้สูงสุด 20Gbps หรือ 2,000 MB/s แต่มีปัญหาที่อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อที่พอร์ตที่มีความเร็วในระดับนั้นมีอยู่น้อย ทำให้ความเร็วในการเชื่อมต่อ XS2000 นั้นไม่สามารถเร็วได้ระดับ 2,000 mb/s ตามสเปกของตัว SSD นั้น

แต่ใน XS1000 นี้ใช้พอร์ต USB 3.2 Gen 2×1 (หรือ Gen 2 ธรรมดานี่แหละ) ซึ่งให้ความเร็วสูงสุดที่ 1,000 mb/s ซึ่งแม้จะมีความเร็วที่น้อยกว่า แต่ในทางกลับกัน กลับเป็นพอร์ตที่มีอุปกรณ์รองรับเยอะกว่ามากอีกด้วย เช่น Macbook ยุคใหม่ ที่ตอนนี้ใช้พอร์ต ‘Thunderbolt 4’ ก็สามารถใช้ความเร็วได้เต็มประสิทธิภาพของ USB 3.2 Gen 2 แล้ว ส่วนโน้ตบุ๊กอื่น ๆ ก็เริ่มรองรับพอร์ต USB 3.2 Gen 1 หรือ 2 มากขึ้นแล้วด้วย แต่ในขณะเดียวกัน อุปกรณ์ที่รองรับ USB 3.2 Gen 2 ยังมีไม่มากเท่า Gen 1 ซึ่งรุ่นนั้นจะได้แค่ 5Gbps หรือประมาณ 500mb/s เท่านั้น แม้จะ ‘เข้าใจง่าย’ แต่ก็ใช่ว่าจะ ‘หาง่าย’ เช่นเดียวกัน

แต่อีกส่วนที่ต้องแลกมาด้วยก็คือ ในกล่องจะแถมสายมาให้เป็นสาย USB-A to USB-C ขนาด 30 เซนติเมตรมาให้เท่านั้น ถ้าใครที่อยากใช้ในอุปกรณ์ที่รองรับ USB-C ล้วน ๆ อย่างเช่น Macbook, iPhone 15 Series หรือต่อสมาร์ตโฟน Android รุ่นใหม่ ๆ ก็จะต้องหาสาย USB-C to USB-C ที่รองรับความเร็วระดับ USB 3.2 Gen 2 ด้วยเช่นเดียวกัน (ซึ่งจริง ๆ ก็สามารถหาได้ง่าย ๆ ใน Shopee, Lazada นี่แหละ)

Disclaimer : ซึ่งที่แบไต๋เรารีวิวนั้น จะใช้ผสมกันระหว่างสาย USB-A to USB-C และสาย USB-C to USB-C ที่ให้ความเร็วสูงสุด (เพื่อให้ปัจจัยด้านความเร็วอยู่ที่พอร์ตเท่านั้น)

ประสิทธิภาพการอ่าน-เขียนข้อมูล

หลังจากเคลียร์ความเข้าใจเรื่องพอร์ตการเชื่อมต่อเรียบร้อยแล้ว เราลองจับเอา Kingston XS1000 มา Benchmark กันดูบ้างครับ ซึ่งการทดสอบความเร็วนี้ เราทดสอบจากการใช้คอมพิวเตอร์ที่หลากหลาย ทั้งพอร์ต และประเภทของพอร์ต เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างด้านพอร์ตและความเร็วของการรับส่งข้อมูล และให้เห็นตัวอย่างคร่าว ๆ ของพอร์ตแต่ละพอร์ตกันครับ

อุปกรณ์VersionReadWrite
Macbook Air M1Thunderbolt 4  / USB 4850.4 MB/s 734.7 MB/s 
Macbook Pro M1Thunderbolt 4  / USB 4879.8 MB/s776.9 MB/s
Lenovo YogaBook 9iThunderbolt 4 1,069.31 MB/s 994.77 MB/s 
ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLEDThunderbolt 41,072.38 MB/s 1,003.95 MB/s
Lenovo IdeaPad Gaming 3USB-C 3.2 Gen 1419.24 MB/s374.18 MB/s
Lenovo IdeaPad Gaming 3USB-A 3.2 Gen 1 419.32 MB/s374.12 MB/s

ข้อดีของการที่ Kingston XS1000 ใช้พอร์ต USB-C 3.2 Gen 2×1 แล้วก็คือ หาอุปกรณ์ที่รองรับความเร็วสูงสุดได้จำนวนเพิ่มขึ้นมาก ๆ ที่โน้ตบุ๊กทั่ว ๆ ไปสามารถหาได้ในปัจจุบัน หรือง่าย ๆ ก็คือ Macbook Air รุ่นเริ่มต้นที่สุดก็สามารถให้ความเร็วที่มาก (เกือบ) ที่สุดได้ หรืออย่างโน้ตบุ๊กไหนที่รองรับพอร์ต Thunderbolt 4 ก็สามารถรับ-ส่งข้อมูลที่ความเร็วสูงสุดตามสเปกได้นั่นเอง

ที่น่าเสียดายก็คือ พอร์ต Thunderbolt ที่เราจะชอบเจอกันในโน้ตบุ๊กสมัยใหม่ มักจะมาพร้อมพอร์ต ‘USB-C’ และไม่ได้มาในรูปแบบของพอร์ต USB-A แบบที่เจ้า XS1000 แถมกันเนี่ยสิ ! ซึ่งทำให้ ตัวเลขคะแนนเกือบทั้งหมดที่ได้ระดับ 1,000 MB/S จะต้องมาอยู่กับพอร์ต Type-C จนเกือบหมดเลย ซึ่งโน้ตบุ๊กราคาประหยัดมักจะมาพร้อมพอร์ต USB 3.2 Gen 1 แทนที่จะเป็น Gen 2 ทำให้ความเร็วไม่มากเท่าแบบ Gen 2 นั่นเอง แต่อย่างน้อยเราก็ยังหาสาย USB-C to USB-C ที่รองรับความเร็วระดับ Thunderbolt สั้น ๆ ที่ราคาไม่แรงมาใช้แทนได้อยู่นะ แม้เขาจะไม่แถมก็ตาม

ส่วนประสบการณ์ที่ใช้แทน ‘ที่เก็บข้อมูลส่วนตัว’ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า XS1000 นี้เป็น SSD ที่สะดวกมาก ๆ ครับ คือโดยปกติผู้เขียนใช้ Macbook Air M1 ในการทำงานเป็นหลัก ซึ่งทำให้รับส่งข้อมูล ไฟล์ภาพ เอกสารต่าง ๆ ได้เร็วมาก ๆ คือไม่ต้องรอนานเลยในแต่ละครั้ง

ตอนต่อกับ Macbook Air M1 ก็จะประมาณนี้

มี Use-Case ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนคือ ผู้เขียนเดินทางไปร่วมงานทดสอบเกมบน PlayStation 5 มา และได้ต่อ XS1000 เพื่อไปคัดลอกไฟล์ Footage ที่ Screen Capture เกมเป็นวิดีโอออกมา และคัดลอกจาก Playstation ออกมา ตอนแรกทางทีมงานอยากแบ่งเวลาในการเล่นเพื่อให้คัดลอกไฟล์ แต่ปรากฎว่า XS1000 สามารถคัดลอกไฟล์ Footage เหล่านั้นได้เร็วมาก เนื่องจาก PlayStation5 ใช้พอร์ต USB 4 ที่เป็น SuperSpeed USB (10Gbps) คือเร็วจนทีมงานถามว่าทำไมถึงเร็วเลยทีเดียว ผู้เขียนเลยพบว่า XS1000 ใช้คัดลอกไฟล์จาก PlayStation5 ได้ดี (และน่าจะเต็มความเร็ว) เช่นเดียวกัน

สรุปและราคาวางจำหน่าย

โดยสรุปแล้ว Kingston XS1000 เป็น SSD ขนาดพกพาที่นอกจากจะพกพาง่าย ใช้งานง่าย แถมยังเชื่อมต่อได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย เหมาะกับทุก ๆ คนที่อยากจะได้ SSD สักรุ่นเพื่อเก็บข้อมูล ด้วยความจุสูงสุดที่ให้มาถึง 2 Terabyte ซึ่งเป็นปริมาณที่มากพอที่เราจะลืมเรื่อง ‘ความจุเต็ม’ ได้เลย เพราะพื้นที่ที่ได้นั้นมากจริง ๆ แต่น่าเสียดายที่สายที่ให้มาในกล่องยังเป็น USB-A to USB-C ที่จริงสำหรับสมัยนี้แล้ว ใช้ USB-C to USB-C เลยน่าจะดีกว่านะ

เรามาพูดถึงค่าตัวกันบ้างดีกว่า คือ Kingston XS1000 แม้จะทำราคาออกมาได้ประหยัดกว่ารุ่นพี่แบบ XS2000 และราคายังสู้ผู้เล่นอื่น ๆ ในตลาดยังไม่ได้ แต่สิ่งที่ XS1000 เหนือกว่าคือเรื่องของขนาดกระทัดรัด พกพาง่าย และความเร็ว ที่เข้าใจง่าย ต่อได้ความเร็วเต็มหลายเครื่อง โดยราคาวางจำหน่ายของ Kingston XS1000 อยู่ที่ 2,690 บาท สำหรับขนาดความจุ 1TB และ 4,280 บาท สำหรับขนาดความจุ 2TB และรุ่น XS1000R ที่เป็นสีแดง จะวางจำหน่ายในประเทศไทยที่ความจุ 1TB ราคา 2,990 บาท และความจุ 2TB ราคา 4,690 บาท ซึ่งใครที่สนใจ ยังสามารถรอช่วง Sale ต่าง ๆ ของแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลงอีกได้ด้วยนะ ! ซื้อได้ผ่าน Shopee และ Lazada เลย !