[รีวิว] Lenovo Yoga Slim 7i ความลงตัวของการพกพาและความแรง!
Our score
9.1

Lenovo Yoga Slim 7i

จุดเด่น

  1. บางเบา พกง่าย
  2. ดีไซน์พรีเมียม
  3. จอ OLED สีสวย
  4. ประสิทธิภาพแรง ใช้ AI ในเครื่องได้
  5. แบตอึดอยู่ได้จบวัน

จุดสังเกต

  1. จอลื่นแค่ 60Hz
  2. McAfee แจ้งเตือนบ่อย
  • ดีไซน์

    9.5

  • ประสิทธิภาพ

    10.0

  • หน้าจอ

    9.0

  • แบตเตอรี่

    8.0

  • พอร์ตเชื่อมต่อ

    9.0

Lenovo Yoga Slim 7i ในปี 2024 (Gen 9) คือโน้ตบุ๊กพกพาที่โดดเด่นเรื่องความบางเบา ในขณะที่ดีไซน์ก็ยังคงดูเรียบหรูดูมินิมอล นอกจากนี้ยังมากับหน้าจอ OLED ที่เรียกว่าดีที่สุดในปัจจุบัน รวมถึงใช้โปรเซสเซอร์ Intel® Core™ Ultra ที่โดดเด่นเรื่องประสิทธิภาพ และความสามารถด้าน AI ที่มาช่วยเสริมให้การใช้งาน หรือการทำงานสะดวกขึ้นกว่าที่เคย 

ดีไซน์

ความประทับใจแรกของ Lenovo Yoga Slim 7i ในปี 2024 (Gen 9) คือดีไซน์ที่ดูสดใหม่ต่างจากเจเนอเรชันก่อน ๆ ที่บอดี้ทั้งหมดจะมีความโค้งมนอย่างเดียว แต่ในปีนี้จะผสมผสานระหว่างความเรียบและโค้งมน 

ถ้าสังเกตที่ฝาเครื่องด้านบน (ฝาหลังจอ) จะเป็นแบบขอบตัดเรียบทั้ง 4 ด้าน ส่วนด้านล่าง (ฐานเครื่อง) ที่จะดูความโค้งมน ที่จับแล้วจะรู้สึกเลยว่ามันแปลกใหม่กว่าเดิม และมีน้อยรุ่นจริง ๆ ที่ใช้ดีไซน์ผสมแล้วลงตัว

ในส่วนของวัสดุก็ทำจากอะลูมิเนียมสีเทาขึ้นรูปชิ้นเดียว ที่นอกจากจะให้ความหรูหราเวลาจับถือแล้ว ยังได้ความแข็งแรง และน้ำหนักที่เบาอีกด้วย เบาแค่ 1.39 กก. ถ้าเทียบกับโน้ตบุ๊กจอ 14 นิ้วที่หนักราว ๆ 1.5 กก. ต้องบอกว่า Yoga Slim 7i เบากว่าพอสมควร ทำให้เป็นเครื่องที่มักจะพกไปใช้นอกบ้านอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ตัวเครื่องยังบางเพียง 1.49 ซม. เวลาใส่กระเป๋าก็จะไม่บวมออกมามากจนเกินไป 

แม้ภายนอกจะดูเปลี่ยนไป แต่ภายในเครื่องก็ยังคงใช้ดีไซน์คล้ายเดิม ทั้งขอบจอที่ดูบาง ตำแหน่งของปุ่มคีย์บอร์ด รวมถึงทัชแพดที่มีขนาดใหญ่ แต่สิ่งสังเกตเห็นทันทีว่าเปลี่ยนไปคือ วัสดุปุ่มคีย์บอร์ดแบบซอฟต์ทัชที่กดแล้วรู้สึกนุ่มนิ้ว และใช้เป็นสีเทาเข้ม ดูแปลกตาดี และมีระยะการกดที่สูงขึ้น เพื่อให้พิมพ์ได้อย่างสบายมือ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงให้สัมผัสการพิมพ์ที่เข้ามือ ซึ่งบทความทั้งหมดก็ถูกเขียนบนเครื่องนี้เลย 

การเชื่อมต่อ

ปกติแล้วโน้ตบุ๊กบาง ๆ มักจะให้พอร์ตเชื่อมต่อมาน้อย แต่ Lenovo Yoga Slim 7i กลับให้มามากกว่า พอร์ตเชื่อมต่อที่ให้มาก็จะมี ช่องเสียบหูฟัง (Jack Combo) 3.5 มม. x 1 ช่อง, USB-A x 1 ช่อง, Thunderbolt 4 x 2 ช่อง ที่รองรับการรับส่งข้อมูล (Data Transfer) การรับ-ส่งไฟ (Power Delivery 3.0) และการต่อหน้าจอแยก (Display Port 1.4)

แต่ที่แปลกใจเลยคือมี HDMI x 1 ช่อง ให้มาด้วย เวลาต้องพกไปพรีเซนต์งานก็สะดวก เสียบได้เลย ไม่ต้องพกดองเกิ้ล (Dongle) ส่วนการเชื่อมต่อไร้สายก็รองรับ Wi-Fi 6E ที่ปัจจุบันใช้คลื่นความถี่ 6GHz ในไทยได้แล้ว และมี Bluetooth 5.3 สำหรับการเชื่อมต่อเมาส์ คีย์บอร์ด รวมถึงหูฟังไร้สาย

หน้าจอ & ลำโพง

มาเจาะเรื่องหน้าจอกันต่อ Lenovo Yoga Slim 7i เลือกใช้จอกระจก (Glossy) คู่กับพาแนล OLED ขนาด 14 นิ้ว ที่แสดงสีสันได้สดสมจริง 100% ตามมาตรฐาน DCI-P3 แถมรองรับ HDR แบบ Dolby Vision และ DisplayHDR ที่แสดงส่วนมืดและส่วนสว่างได้ดีกว่าพาเนลประเภท IPS ที่มีอยู่ในโน้ตบุ๊กทั่วไป สำหรับความคมชัดก็เป็นแบบ WUXGA (1920×1200) หรือก็คือพอ ๆ กับ Full-HD นั่นเอง 

ว่าตามตรงสเปกจอที่เด่นเลยคือ พาเนล OLED ที่ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์แบบไหน ก็แสดงสีสันออกมาได้สมจริง ถ้าใครใช้จอ IPS อยู่แล้วได้มามองจอนี้จะเห็นความต่างได้ทันทีเลย ส่วนความคมชัดของตัวอักษรก็ถือว่าโอเคเลย และมีโหมดถนอมสายตาอีกด้วย นอกจากภาพจะดีแล้ว ลำโพงเองก็ไม่ธรรมดา มาพร้อมกับระบบเสียง Dolby Atmos ที่ฟังเพลงก็ดี หรือดูหนังก็ได้ เพราะได้รับการปรับแต่งเสียงให้มีความสมจริง พอได้คอมโบคู่กับระบบภาพ Dolby Vision ถือเป็นอะไรที่ลงตัวเลยล่ะ 

สเปก & ประสิทธิภาพ

โปรเซสเซอร์ Intel® Core™ Ultra ในปีนี้มาแรงมาก จากกระแสการใช้ AI ที่สูงขึ้น ถ้าไล่ดูโน้ตบุ๊กทำงานที่เปิดตัวในปี 2024 ก็จะเห็นว่ามี Intel® Core™ Ultra อยู่ในเกือบทุกรุ่น Lenovo Yoga Slim 7i เองก็เป็นหนึ่งในนั้น 

ถ้าเจาะลึกรายละเอียดของ Intel® Core™ Ultra จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมใหม่ เป็นแบบ SoC หรือ System On a Chip ที่มีทั้งชิปประมวลผลหลัก (ซีพียู) และชิปประมวลผลกราฟิก (จีพียู)​ Intel® Arc™ Graphics อยู่ในตัวเดียวกัน ในส่วนแกนประมวลผลมีการเพิ่ม LP-E (Low Power Efficient) ที่ประหยัดพลังงานยิ่งกว่าเดิมเข้ามา และยังมี NPU (Neural Processing Unit) ที่ให้ AI ประมวลผลงานต่าง ๆ ได้ภายในเครื่อง โดยไม่ต้องส่งข้อมูลไปทำบนคลาวด์ ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้ รวมถึงเสริมประสิทธิภาพ AI ให้กับแอปพลิเคชันอีกด้วย

ตามสเปกของ Lenovo Yoga Slim 7i รหัส 14IMH9 (83CV0034TA) จะมากับโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ Ultra 7 155H ที่มีแกนประมวลผล 6 P-Core, 8 E-Core และ 2 LP-E Core กับค่า Clock Speed สูงสุดที่ 4.8GHz รวมถึงมีจีพียู หรือ ชิปกราฟิกอย่าง Intel® Arc™ ที่มีประสิทธิภาพสูงเกือบเท่ากับการ์ดจอเกมมิงระดับเริ่มต้น 

จากการทดสอบประสิทธิภาพจะเห็นว่าสามารถทำคะแนนด้านการประมวลผลซีพียูจาก Geekbench 6 ไปได้ที่ 2,297 (Single-core) และ 11,183 (Multi-core) คะแนน และด้านกราฟิกก็ได้จาก 3DMark ไปที่ 2,759 คะแนน นอกจากนี้ยังมีคะแนนด้าน AI จาก Geekbench ML อยู่ที่ 2,340 คะแนน 

ส่วนแรมที่ให้มาก็เป็น 32GB แบบอยู่ติดกับแผงเมนบอร์ด ที่เผื่อการใช้งานในอนาคตมาให้แล้ว สำหรับพื้นที่เก็บข้อมูลก็เป็นแบบ NVMe M.2 ขนาด 1TB กับความเร็วที่ทดสอบด้วย CrystalDiskMark ได้ความเร็วในการอ่าน และเขียนที่ 5,007 MB/s และเขียน 4,274 MB/s จุดนี้ก็จะทำให้การส่งไฟล์ หรือโอนไฟล์ได้อย่างรวดเร็ว 

จากการทดสอบก็สรุปได้ว่า Lenovo Yoga Slim 7i เป็นโน้ตบุ๊กทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงหลายด้าน ทั้งด้านชิปประมวลผลหลัก (ซีพียู) และชิปประมวลผลกราฟิก (จีพียู)​ รวมถึงมีแรมมากพอกับการทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน รวมถึงอ่านเขียนข้อมูลได้รวดเร็ว เวลาจะโยกย้ายไฟล์ก็ใช้เวลาไม่นาน ในส่วนของการใช้งานต้องบอกว่าเอาอยู่เลยล่ะ หรือถ้าใครที่มีไลฟ์สไตล์เล่นเกมไปด้วย เครื่องนี้ก็พอไหวนะ แนะนำว่าเล่นเกมออนไลน์จะลื่นกว่าเกมออฟไลน์ครับ 

เว็บแคม & ไมโครโฟน

คนทำงานน่าจะสนใจสองส่วนนี้ เพราะต้องใช้ประชุมออนไลน์อยู่เป็นประจำ สำหรับ  Lenovo Yoga Slim 7i ก็มีคุณภาพกล้องที่คมชัดแบบ 1080p โดยมีระบบ AI ช่วยเบลอฉากหลังให้ และยังมีระบบ IR (Infrared) ​สแกนใบหน้าที่ใช้ปลดล็อกเครื่อง รวมถึง e-Shuter ม่านปิดกล้องเมื่อไม่ได้ใช้  ส่วนไมโครโฟนก็รับเสียงพูดได้ชัด แถมมี AI ช่วยตัดเสียงรบกวน อันนี้คิดว่าคนที่ต้องประชุมบ่อย ๆ น่าจะถูกใจฟีเจอร์นี้กัน

แบตเตอรี่ & การชาร์จ

Lenovo Yoga Slim 7i มากับแบตเตอรี่ขนาด 65Whr ที่ถือใช้งานจริง กับการทำงานเอกสาร เปิดเว็บ ประชุม รวมถึงดูคลิปบน YouTube ได้ประมาณ 8 ชั่วโมง ก็ถือว่าครอบคลุมชั่วโมงการทำงานในหนึ่งวัน ส่วนการชาร์จเขาก็ให้อะแดปเตอร์แบบ 65 วัตต์มาให้ เอาจริง ๆ ถือว่ามีขนาดเล็กพกง่ายเลย และยังชาร์จไวด้วยเทคโนโลยี Rapid Charge ที่เสียบทิ้งไว้ 15 นาที แล้วใช้ต่อได้อีก 2 ชั่วโมง 

ข้อสังเกต

พูดถึงข้อสังเกต Lenovo Yoga Slim 7i ต้องยอมรับว่าช่วงวันแรก ๆ ยังหาไม่เจอสักเท่าไร แต่พอได้จับไปสักพักจะรู้สึกว่า หน้าจอ OLED ที่ได้มามีความลื่นไหลแค่ 60Hz ซึ่งก็ไม่ได้แย่ แต่ถ้าเป็น 90Hz หรือ 120Hz จะลื่นตามากกว่านี้ ส่วนอีกจุดคือซอฟต์แวร์ป้องกันมัลแวร์ที่ติดมากับเครื่องอย่าง McAfee ที่เมื่อหมดอายุก็จะมีข้อความแจ้งเตือนโชว์ขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้รู้สึกหงุดหงิดใจ แต่ถึงอย่างนั้น ก็สามารถถอนการติดตั้งออกจากเครื่องได้ แล้วใช้แค่ Windows Defender ก็เพียงพอ

สรุป 

จากที่ได้ถือใช้มาระยะหนึ่งก็สรุปได้เลยว่า Lenovo Yoga Slim 7i เป็นโน้ตบุ๊กที่บางเบาสมกับชื่อ Slim ในขณะที่ประสิทธิภาพความแรงก็ตอบโจทย์การใช้ทำงานทั่วไป มีหน้าจอที่แสดงสีได้สมจริง และแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ครบวัน โดยที่ไม่ต้องเสียบชาร์จไฟเลย