Our score
8.9Nothing Phone (2a)
นี่แหละ คือสมาร์ตโฟนที่คุ้มค่าตัว 11,499 มากที่สุดในรอบไตรมาสแรกแห่งปี 2024
นี่คือ Nothing Phone (2a) สมาร์ตโฟนรุ่นแรกของ Nothing ที่ตัดสินใจกระโดดลงมาทำในระดับ 'Midrange' ที่เปิดราคามาถูกที่สุด โดยเริ่มที่ราคา 11,499 บาทเท่านั้น ซึ่งจุดเด่นของเขาก็คือการบาลานซ์ระหว่างการลดต้นทุนในการผลิต และสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ ในสมาร์ตโฟน เพื่อให้เครื่องสามารถใช้งานได้อย่างดี โดยไม่รู้สึกสูญเสียสเปกภายในมากจนเกินไปด้วย อยู่ที่คนซื้อแล้วจริง ๆ ว่าสิ่งที่แลกไปนั้นคุ้มกับการมาเล่นรุ่นนี้หรือไม่ ?
จุดเด่น
- ดีไซน์เครื่องโดดเด่นมาก ๆ ตัวตนชัดเจนแบบไม่ตะโกน ในขณะที่ฟีเจอร์แบบ Nothing ยังอยู่ครบด้วย รวมไปถึงให้มอเตอร์สั่นแบบ Linear มา
- หน้าจอสีสวย คุณภาพสูง แถมยังวางกรอบข้างจอทั้ง 4 ด้านที่เท่ากันหมด ทำให้ดูพรีเมี่ยมอยู่
- สเปกภายในที่ถือว่าทำได้ดีมากสำหรับการให้ความรู้สึกเหมือนใช้สมาร์ตโฟนเรือธงอยู่ ไม่รู้สึกถึงความหน่วงเวลาใช้งานใด ๆ
- ซอฟต์แวร์ Nothing OS 2.5.5 ที่นอกจากจะปรับแต่งมาเพื่อ Nothing แต่ยังเก็บความ Pure Android ไว้ได้แล้ว ยังได้ฟีเจอร์ครบด้วย
- ราคาค่าตัวที่เข้าถึงง่ายมาก ๆ ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 11,499 บาท
จุดสังเกต
- กล้องถ่ายภาพยังมีคู่แข่งที่สามารถทำได้ดีกว่านี้อยู่
- สเปกภายในเครื่องที่อาจจะเล่นเกมได้ดี แต่ยังมีแลคบ้างในบางจังหวะ
- วัสดุรอบตัวเครื่อง (ยกเว้นหน้าจอ) ใช้วัสดุเป็นพลาสติกทั้งหมด
- ลำโพงเสียงยังออกไปทางแบน ๆ แต่ใช้ Bluetooth แทนกันได้
- ฟีเจอร์ไฟ Glyph Interface ที่น้อยกว่ารุ่นปกติ และมีโซนของไฟที่น้อยกว่าด้วย
-
หน้าจอ
9.5
-
กล้อง
8.0
-
แบตเตอรี่
9.0
-
เสียง
8.0
-
ประสิทธิภาพ
8.0
-
ดีไซน์
9.5
-
ความคุ้มค่า
10.0
เวลาผู้เขียนเจอคำถามที่ว่า “ถ้าจะซื้อสมาร์ตโฟนสักเครื่องในงบประมาณเท่านี้ ๆ ซื้อรุ่นไหนดี ?”คำถามแรกที่จะต้องถามกลับไปหาคนนั้นก่อนเลยก็คือ “จะเอาไปทำอะไรบ้าง” เพราะว่าในงบประมาณที่อยู่ในระดับกลาง หรือราคาประหยัด จะต้องมีสิ่งที่ต้องแลกมาเพื่อให้ทำสิ่งที่อยากทำได้ดีที่สุดนั่นเอง
บางคนอาจจะอยากได้สมาร์ตโฟนที่ถ่ายรูปได้ดี แต่ไม่เล่นเกมเลย ก็จะมีสมาร์ตโฟนรุ่นหนึ่งแนะนำให้ บางคนอยากได้สมาร์ตโฟนที่เล่นเกมดี กล้องไม่เน้น ก็มีอีกรุ่นที่แนะนำให้ได้ เหมือนกับว่าจะมีเช็กลิสต์ มาให้เลือกว่า ถ้าจะซื้อสมาร์ตโฟนรอบนี้ จะเน้นฟีเจอร์อะไรบ้าง ยิ่งราคาแพง ก็ยิ่งเลือกได้เยอะ
ที่เกริ่นมาตั้งยาวขนาดนี้ ก็เพราะว่า นี่คือหนึ่งในสมาร์ตโฟนที่เช็กหลายลิสต์มาก จนเริ่มจะสงสัยแล้วว่า นี่มันสมาร์ตโฟนราคาเท่านี้เองจริง ๆ หรอ ? และนี่คือรีวิวฉบับเต็มของ Nothing Phone (2a) สมาร์ตโฟน ‘เรือกลาง’ รุ่นใหม่ที่มีตัวตนเป็นของตัวเอง แต่คราวนี้เขากลับมาพร้อมความ ‘Value’ ที่มากกว่าเดิมครับ เพราะรุ่นนี้เขาขายแค่ 11,499 บาทเท่านั้น !
Disclaimer : รีวิวฉบับนี้เกิดขึ้นจากการที่ตัวเครื่องได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง ทั้งแก้บัค ปรับแต่งคุณภาพของกล้องถ่ายภาพ และอื่น ๆ อีกมาก ทำให้รีวิวฉบับนี้ เกิดจากการอัปเดตซอฟต์แวร์ของตัวเครื่องให้ใหม่ที่สุด ณ วันที่รีวิว ดังนั้น Nothing Phone (2a) ที่รีวิวอยู่นี้ มาจากซอฟต์แวร์ Nothing OS 2.5.5 (Pacman-U2.5-240410-1238) ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่ใหม่ที่สุดในวันที่รีวิวครับ
สเปกภายในเครื่อง
- หน้าจอ : AMOLED ขนาด 6.7 นิ้ว รีเฟรชเรต 120Hz แบบแบน 10 bit ความละเอียด FHD+ (2412 x 1084)
- ชิปเซต MediaTek Dimensity 7200-Pro รองรับ 5G
- หน่วยความจำขนาด 128GB, 256GB
- RAM : 8GB, 12GB LPDDR4X
- กล้องหลัง 2 ตัว ประกอบไปด้วย
- กล้องหลักความละเอียด 50 ล้านพิกเซล (f/1.9) เซนเซอร์ Samsung ISOCELL GN9
- กล้องเลนส์ Ultra-Wide ความละเอียด 50 ล้านพิกเซล (f/2.2) 114 องศา เซนเซอร์ Samsung ISOCEL JN1
- กล้องหน้าขนาด 32 ล้านพิกเซล f/2.2 เซนเซอร์ Sony IMX615
- แบตเตอรี่ 5000 mAh พร้อมชาร์จไว 45W (PD)
- ซอฟต์แวร์ Nothing OS 2.5.5 (Based on Android 14)
- มีสีให้เลือก 2 สี ได้แก่สีขาว และสีดำ
ดีไซน์รอบตัวเครื่อง
ถ้าให้ผู้เขียนเอาตัวเครื่อง Nothing Phone (2a) เครื่องนี้ไปให้ใครดู แล้วให้เขาทายว่าสมาร์ตโฟนเครื่องนี้ราคาเท่าไหร่ ใคร ๆ ต่างก็จะบอกกันว่ามีราคาหลักหมื่นปลาย ไปจนถึงสองหมื่นกันทั้งนั้น เกริ่นสั้น ๆ ก่อนเลยว่า Nothing Phone (2a) เป็นสมาร์ตโฟนที่ออกแบบมาดีมาก ๆ ครับ แม้ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟนที่ออกแบบมาเพื่อเป็นมือถือระดับกลาง (Midrange) แต่ก็สามารถทำดีไซน์ออกมาได้ไม่ทิ้งห่างออกจาก Nothing Phone รุ่นอื่น ๆ มากนัก ซึ่งนั่นเป็นข้อดีครับ เพราะว่าที่ผ่านมา Nothing เขามีความชัดเจนในด้านการดีไซน์สมาร์ตโฟนของเขาทุกรุ่นอยู่แล้ว ซึ่งอย่างใน Nothing Phone (2a) เครื่องนี้ เขาใช้การออกแบบฝาหลังให้โปร่งใสเหมือนเดิม แต่ใช้การลดต้นทุนด้วยการเปลี่ยนวัสดุมาเป็นพลาสติกแทน
ส่วนด้านในฝาหลัง ก็ยังแบ่งเลเยอร์ออกเป็นอีกชั้น แล้วใส่ลวดลายแบบแผงวงจรด้านใน และใส่แผ่นวงกลมไว้กลางด้านบน จากนั้นก็ใส่กล้องคู่เข้าตรงกลางวงกลมนั้น ออกมาเป็นตาคู่ (ที่คนล้อกันไปต่าง ๆ นานา มาก แต่ผู้เขียนว่าแอบเหมือนกับ Wall-E อยู่หน่อย ๆ เหมือนกัน) ในขณะที่ดีไซน์ส่วนอื่น ๆ ของลายใต้ฝาหลังก็เป็นเอกลักษณ์ของ Nothing เองเหมือนกัน โดย Nothing เขาขายอยู่ 2 สีครับ คือสีขาว และสีดำเลยครับ
ส่วนรอบ ๆ ตัวเครื่องก็เป็นพลาสติกเหมือนกันนะ แต่เป็นพลาสติกที่ผ่านการทำสัมผัสแบบด้านมาแล้ว เลยทำให้ตัวเครื่องสามารถจับถือได้โดยไม่รู้สึกถึงความเป็นพลาสติกมากนัก แต่ได้สัมผัสออกไปทางคล้ายกับขอบอะลูมิเนียมเลย แต่ทั้ง 2 สีจะวางปุ่มเป็นสีดำเท่านั้น ซึ่งก็ได้วางปุ่มเปิด-ปิดไว้ด้านขวา ปุ่มปรับเสียงไว้ด้านซ้าย ด้านบนมีแค่ไมค์ตัดเสียงรบกวน และวางพอร์ต, ช่องใส่ซิม (2 ซิม เพิ่ม Micro SD Card ไม่ได้) และลำโพงไว้ด้านล่างทั้งหมดเลยครับ
ซึ่งสัมผัส จากตอนแรกที่ได้ดูจากงานเปิดตัว และรีวิวจากสื่อต่างประเทศมา ด้วยวัสดุที่เป็นพลาสติกแล้ว จะทำให้สัมผัสการใช้งานไม่ดีเท่าแบบกระจกและอะลูมิเนียมใน Nothing Phone (1) หรือ Phone (2) แต่กลายเป็นว่าสัมผัสการใช้งานนั้นดีกว่าที่คาดไว้ ถ้าเคยจับรุ่นอื่น ๆ มาก่อนจะพบว่า Nothing Phone (2a) ให้สัมผัสการจับถือที่ดีใกล้เคียงกับรุ่นพี่เลย
และจากการที่ได้ถือใช้ในชีวิตประจำวันมา ก็พบว่าตัวเครื่องอาจจะถือยากหน่อยหากเป็นคนมือเล็ก เพราะตัวเครื่องเขาทำมาค่อนข้างกว้างมากอยู่เลย แต่ถ้าเกิดว่าเราชินกับการใช้สมาร์ตโฟนจอใหญ่แล้ว การปรับตัวมาใช้ Nothing Phone (2a) นี้ก็คงไม่ได้สร้างความรู้สึกที่แปลกอะไรมากนักครับ กลับกัน ถ้าเราเป็นคนชอบสมาร์ตโฟนจอใหญ่ เครื่องนี้จะตอบโจทย์เรามากกว่าเสียด้วยซ้ำ
ไฟ Glyph Interface ก็ยังมีนะ
ตั้งแต่ที่มีข่าวหลุดเรื่องการทำสมาร์ตโฟน ‘รุ่นประหยัด’ จาก Nothing มา ก็มีภาพหลุดต่าง ๆ ออกมามากมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีข่าวว่า Nothing Phone (2a) จะไม่มีแม้แต่ไฟ Glyph Interface แต่ที่จริงแล้ว Glyph Interface ก็ยังมีให้ได้เล่นกันอยู่นะ ! แถมยังสามารถตั้งค่าเสียง และระบบการกะพริบไฟได้เหมือนกับใน Nothing Phone (2) ได้เลย !
แม้จะบอกไว้ว่าไฟ Glyph Interface ก็ยังมีอยู่ก็ตาม แต่ด้วยความที่ Nothing Phone (2a) เป็นสมาร์ตโฟนระดับกลาง ระบบไฟ Glyph Interface ก็ได้มีการ Downgrade ลงมาบ้างเช่นกัน โดยเปลี่ยนจากการวางโซนไฟอยู่ทั่วฝาหลังของเครื่อง ลดลงมาเหลือแค่ 3 โซนด้านบนของเครื่องเท่านั้นครับ
แต่ถ้าถามว่าฟีเจอร์ของไฟนี้มีมากน้อยเท่าไหร่ ว่ากันตรง ๆ ก็คือในด้านพื้นฐานของฟีเจอร์ Glyph Interface ก็คือครบถ้วนครับ อย่างเช่นฟีเจอร์ไฟกะพริบเวลาโทรเข้า หรือมีการแจ้งเตือนเข้ามา พร้อมกับระบบเสียงเฉพาะของ Nothing และวิธีการกะพริบแบบที่เหมือนกันกับ Nothing Phone (2) เป๊ะ ๆ เลยครับ เพียงแต่ว่ามีการปรับจังหวะให้เข้ากับโซนของไฟที่ลดลงไปแทน
ซึ่งโดยปกติแล้ว การเข้ามาของฟีเจอร์ Glyph Interface และการแจ้งเตือนนั้น จะมาพร้อมกับการสั่นที่ตรงจังหวะ ด้วยมอเตอร์สั่นแบบ Linear ที่ทำให้สั่นได้ดี และเล่นเอฟเฟ็กต์ได้ด้วย ซึ่ง Nothing Phone (2a) ก็ได้ให้มอเตอร์สั่นแบบ Linear และสั่นได้ดี และตรงจังหวะกับไฟได้สวยงามมาก ๆ ด้วย แถมยังทำได้ดีกว่าหลาย ๆ รุ่นในเรตราคาเดียวกัน เป็น 1 ในหลาย ๆ ฟีเจอร์ที่แทบจะไม่ Cut-Croners เลย
แล้วฟีเจอร์อื่น ๆ ของ Glyph Interface ก็ยังมาเพิ่มด้วยนะ เช่น Glyph Timer ที่จะสามารถตั้งเวลานับถอยหลัง และดู Progress ของการนับถอยหลังผ่านไฟได้ โดยไม่ต้องดูจอเลย, ใช้ Glyph Composer ในการวางจังหวะของเสียง และไฟเองได้เลย, Volume Indicator ที่สามารถขึ้นไฟแจ้งว่าเราตั้งความดังของเสียงอยู่ที่เท่าไหร่ และ ‘Music Visualisation’ อันนี้เท่มาก เพราะไฟจะกะพริบตามจังหวะของเพลงที่เราเล่นอยู่ได้ด้วย ซึ่งอาจจะดี และไม่ดีไปพร้อมกันได้ แล้วแต่คนชอบเลยครับ
จะมีแค่ฟีเจอร์ไฟเดียวที่หายไปใน Nothing Phone (2a) เครื่องนี้ ก็คือฟีเจอร์ไฟแสดงสถานะการชาร์จ ที่เราสามารถดูว่าแบตเตอรี่ของเรานั้นชาร์จไปถึงไหนแล้วด้วยการเขย่าเครื่อง เนื่องจากไฟบริเวณที่จะขึ้นสถานะการชาร์จได้นั้นหายไปจากในรุ่นนี้นั่นเองครับ
หน้าจอ
อีกอย่างหนึ่งที่ Nothing ไม่ตัดออก ไม่ลดต้นทุน และอัดแน่นมามาก ๆ นั่นคือหน้าจอครับ อ่านสเปกก็อึ้งแล้ว เพราะนี่คือหน้าจอ AMOLED ขนาด 6.7 นิ้ว ที่มาพร้อมกับ Refresh Rate 120Hz และรองรับ HDR 10+ อีกต่างหาก แล้วก็ให้ความสว่างสูงสุดที่ 1,300 Nits อีกด้วย (700 nits (typ), 1100 nits (HBM), 1300 nits (peak) แล้วก็ครอบทับด้วยกระจก Gorilla Glass 5 อีก
และจุดสำคัญที่เรามักจะเจอใน Nothing Phone ก็คือ ขอบจอที่ให้มาเท่ากันทั้ง 4 มุมเลย ทำให้เวลาเรามองจอ ซึ่งเป็นจุดที่เรามองบ่อยมากที่สุด เราจะได้เห็นหน้าจอที่สวยงาม สีดี ความสว่างดี (แต่สู้แดดประเทศไทยไม่ค่อยไหว ยิ่งช่วงแดดแรง ๆ แบบนี้แล้ว) แต่ว่าที่สำคัญคือจอลื่นและเล่นสบายมาก ๆ ครับ
หรือจะใช้เสพคอนเทนต์ต่าง ๆ ก็ทำได้ดีมาก ๆ เล่นวิดีโอ YouTube ได้สูงสุดที่ 4K 60FPS HDR แล้วก็ดูคลิป Reels Facebook แบบ HDR ได้ด้วย ยิ่งในเรตราคาหมื่นต้น ๆ แบบนี้ จะยิ่งทำให้เราใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างดีเลย นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการแสดงสีดำที่ทำได้ดีมาก (ยิ่งเป็น Nothing ที่แนะนำให้ใช้ธีม Dark Mode มากกว่าด้วยแล้ว)
รวมถึงยังมีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบแสงใต้หน้าจอให้สแกนนิ้วเข้าในตัวเครื่องได้ง่าย ๆ ด้วย โดยตำแหน่งการวางเซนเซอร์ได้พอดีกันกับตำแหน่งของปุ่มสไลด์เข้ากล้องในหน้าจอล็อกด้วย แม้ตำแหน่งจะต่ำไปเล็กน้อย แต่ด้วยการวางตำแหน่งในซอฟต์แวร์ นอกจากจะดูสมมาตรดีแล้ว ยังทำให้คนรู้สึกถึงความใส่ใจของ Nothing ในการออกแบบแต่ละส่วนของตัวเครื่องด้วย
สเปกภายในเครื่อง ประสิทธิภาพ และการเล่นเกม
ถ้าพูดถึงสเปกภายในสมาร์ตโฟนแต่ละรุ่น ส่วนนี้จริง ๆ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดภายในสมาร์ตโฟนหลาย ๆ รุ่นเลย แม้จะไม่ใช่จุดที่เราใช้มองตลอดแบบหน้าจอ หรือเป็นส่วนที่เราใช้เป็นเครื่องมือในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญเช่นกล้องถ่ายรูป แต่อย่างที่เคยบอกมาตลอดว่า สเปกภายในเครื่อง คือส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในการประมวลผลทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่จอจะจูนสีมาดีไหม ใช้งานลื่นหรือเปล่า กล้องจะถ่ายภาพออกมา และปรับแต่งซอฟต์แวร์ได้ดีไหม ไปจนถึงแบตเตอรี่จะใช้ได้นานหรือเปล่า ทั้งหมดนี้ขึ้นกับชิปเซตภายในเครื่องทั้งนั้นเลย
โดยสเปกภายในของ Nothing Phone (2a) นั้นได้มาพร้อมกับชิปเซต MediaTek Dimensity 7200-Pro ซึ่งเป็นชิปเซตที่รองรับ 5G ระกับกลางค่อนสูง ที่ได้มีการจูนมาเพิ่มเติมจากในรุ่น 7200 ธรรมดาด้วย ! ซึ่งเอาจริง ๆ โดยรวมแล้วเหมือนจะดี แต่ที่ผ่านมา Nothing ไม่เคยได้จูนซอฟต์แวร์มาเพื่อชิปเซต Dimensity มาก่อนเลย ทำให้ตอนแรกที่เริ่มทดสอบสมาร์ตโฟนรุ่นนี้ เกิดปัญหาด้านซอฟต์แวร์ค่อนข้างมาก แต่ปัญหานี้ก็หมดไปแล้วหลังได้อัปเดต Nothing OS มาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวมาจนถึงเวอร์ชัน 2.5.5 นี้
ส่วนสเปกภายในอื่น ๆ ก็ไม่ได้แย่เลยนะ ด้วยแรมแบบ LPDDR4X ขนาด 8GB หรือ 12GB (เครื่องที่เราใช้ทดสอบมีแรมขนาด 12GB) และหน่วยความจำภายในขนาด 128GB หรือ 256GB ครับ ทำให้เวลาเราใช้งานเจ้า Nothing Phone (2a) เครื่องนี้ แทบจะทำให้เรารู้สึกไปเองได้เลยว่า อย่างกับสมาร์ตโฟนเรือธงแน่ะ
อย่างตอนที่เราทดสอบ CPU ด้วย Geekbench 6.2.2 ก็ได้คะแนน Multi-Core ที่ 2575 คะแนน และ Single-Core ที่ 1112 คะแนน เอาจริง ๆ ก็เป็นตัวเลขที่ไม่ได้มากสุด ๆ แต่มากเพียงพอแล้วสำหรับการใช้งานทั่วไป หรือจะเป็นการทดสอบการ์ดจอด้วย 3DMark ชุด Wild Life Stress Test ซึ่งได้ผลการทดสอบได้คะแนนสูงสุดอยู่ที่ 4176 คะแนน และต่ำสุดอยู่ที่ 4125 คะแนน และความนิ่งอยู่ที่ 98.8% ครับ ซึ่งเหมือนจะเป็นคะแนนที่ดูดีเพราะตัวเลขค่อนข้างนิ่งมาก
แต่เหมือนเราโดนดึงกลับมาสู่ความเป็นสมาร์ตโฟนระดับกลาง ราคาหมื่นต้น ก็ตอนที่เราได้ทดสอบเล่นเกมนี่แหละครับ เพราะด้วยชิปเซต Dimensity 7200-Pro นี้ ที่ว่ากันตรง ๆ ว่าก็ยังเห็นการ Optimize ให้เข้ากับเกมต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้เยอะมากนัก หรือจะเป็นเรื่องของการจัดการความร้อนที่แม้ Nothing จะทำได้ค่อนข้างดีแล้ว แต่การทำงานจริงด้วยหลากหลายปัจจัย เลยจะทำให้ยังไม่สามารถเข็นความสามารถมาสู้กับชิป Snapdragon ได้นักครับ อย่างการทดสอบใน Genshin Impact ที่ปรับสุด ตัวเครื่องแจ้งว่าสามารถทำเฟรมเรตได้สูงสุดที่ไม่เกิน 43 FPS ครับ แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเห็นว่าเฟรมเรตอยู่ที่ประมาณ 30-35 FPS ได้ครับ ถ้าเราปรับต่ำลงมาอีกหน่อย อาจจะทำให้เฟรมเรตนิ่งขึ้น แต่ยังไม่สามารถทำให้ภาพแตะ 60FPS ได้นะครับ แต่ตัวเลขระดับนี้ คือความสามารถที่ทำได้ค่อนข้างสูงกว่าสมาร์ตโฟนในเรตราคาเดียวกันอยู่ไม่น้อยเลยล่ะครับ
แต่ว่าในภาพรวมแล้ว ชิปเซต Dimensity 7200-Pro นี้ก็เป็นชิปที่ค่อนข้างแรงเกินค่าตัวของมันไปอยู่พอสมควรเลยล่ะครับ ส่วนนี้เองก็เป็นอีกส่วนสำคัญ ที่ทำให้สมาร์ตโฟนเครื่องนี้น่าใช้ยิ่งกว่าเดิมได้อีก
และตัวชูโรงประสิทธิภาพของตัวเครื่องที่ทำได้ดีมาก ๆ ก็คือซอฟต์แวร์ครับ ที่ทาง Nothing ได้ทำการจูนเองในชื่อ Nothing OS ครับ อ่านรีวิวส่วนนี้กันได้ในรีวิว Nothing Phone (2) ที่ผ่านมาครับ และความดีงามของ Nothing OS ที่ผมเคยได้ชมไว้ก่อนหน้านี้ ก็ตามมาอยู่ใน Nothing Phone (2a) เครื่องนี้แบบครบถ้วนมาก ๆ และที่สำคัญก็คือ ไม่มีฟีเจอร์ไหนที่ขาดหายไปเลยแม้แต่ฟีเจอร์เดียวเลย
กล้องถ่ายภาพ
ถ้าจะถามว่า ส่วนไหนอีกบ้างที่ Nothing ได้ทำการ Cut-Corner ลดต้นทุนออกไปจากการผลิตสมาร์ตโฟนเครื่องนี้ ก็เห็นจะเป็นกล้องถ่ายภาพนี่แหละครับ โดยกล้องถ่ายภาพของ Nothing Phone (2a) เครื่องนี้ให้กล้องถ่ายภาพมา 2 ตัว (ที่ครบ) คือกล้องถ่ายภาพหลักความละเอียด 50 ล้านพิกเซล f/1.9 เซนเซอร์ Samsung ISOCELL GN9 และกล้องถ่ายภาพมุมกว้างมากความละเอียด 50 ล้านพิกเซลเท่ากัน (f/2.2, 114˚) เซนเซอร์ Samsung ISOCEL JN1 ครับ ซึ่งคุณภาพขอภาพนั้นถามว่าสามารถทำได้ดีไหม ผมอยากใช้คำว่า ‘Passable’ หรือแปลง่าย ๆ คือ พอไหวครับ
อย่างการถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป ถ้าเราถ่ายในสภาพแสงที่ทำมาดี แสงที่พร้อม ตัวเครื่องสามารถดึงประสิทธิภาพทั้งในตัวเซนเซอร์ และซอฟต์แวร์ภายในเครื่องที่ทำได้ดีมากเลยทีเดียว คือสามารถถ่ายออกมาสีสวย ปรับแต่งความสว่าง ความคมชัด และหลาย ๆ อย่างด้วยซอฟต์แวร์ภายในเครื่องออกมาได้ค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเอามาถ่ายวัตถุหรืออะไรก็ตาม ก็สามารถทำออกมาได้สวยงามเช่นกัน แต่พอเราเริ่มเจอสถานการณ์ที่มืดลงไป จะทำให้ตัวภาพที่ได้ออกมาดูมี Noise ภายในภาพอีกพอสมควรครับ แต่ว่า หลังจากการอัปเดตซอฟต์แวร์เข้ามาจนถึงเวอร์ชัน 2.5.5 นี้ ที่ทำให้กล้องถ่ายภาพถ่ายออกมาได้ค่อนข้างดีขึันกว่าเดิมอยู่ เพราะทาง Nothing เองก็พยายามออกซอฟต์แวร์มาแก้ไขจุดต่าง ๆ อยู่ตลอดด้วย ภาพถ่ายชุดที่กำลังเห็นกันอยู่นี้ ถ่ายหลังจากอัปเดต Nothing OS 2.5.5 แล้วทุกรูปครับ
ที่ยังรู้สึกแปร่ง ๆ อยู่บ้างจะเป็นการถ่ายภาพบุคคลมากกว่า ที่ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์เวอร์ชันเก่าหรือใหม่ ภาพถ่ายบุคคลจะมีสกินโทนออกไปทางอมแดงเล็กน้อย และมีความรู้สึกถึงความแปลกของสีที่ปน ๆ อยู่บ้างเล็กน้อยครับ โดยภาพสามารถถ่ายได้ที่ระยะ 1 และ 2 เท่าด้วยครับ แต่ใช้การวัดระยะจากกล้องถ่ายภาพหลักเท่านั้น
อย่างภาพชุดก่อนหน้านี้จะเป็นภาพจากซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ ที่เอาจริงแล้ว ยังไม่ได้มีความแตกต่างจากในเวอร์ชันเก่า (ภาพด้านล่าง) มากนัก
ส่วนการถ่ายภาพมุมกว้างมาก ด้วยการที่ใช้เซนเซอร์กล้องถ่ายภาพของ Samsung ทั้งคู่ เลยทำให้คุณภาพของกล้องถ่ายภาพมุมกว้างมาก ทำออกมาได้ใกล้เคียงกับกล้องถ่ายภาพหลักเลยล่ะครับ ลองดูภาพเปรียบเทียบกันดู
การถ่ายภาพซูมเอง ก็สามารถถ่ายได้สูงสุดที่ 10 เท่าจากการครอปเลนส์หลัก 50 ล้านพิกเซลเท่านั้นครับ โดยระยะที่หวังผลการซูมให้ความละเอียดดีมาก ๆ อยู่ได้ จะอยู่ที่ประมาณ 2 เท่าครับ (ทั้งนี้ ภาพด้านล่างจะประกอบไปด้วยภาพถ่ายที่ระยะ 0.6x, 1x, 2x, 5x และ 10x ตามลำดับ)
และการถ่ายภาพในโหมดถ่ายภาพกลางคืนเอง ก็ยังสามารถถ่ายได้ทั้งผ่านกล้องถ่ายภาพธรรมดาและโหมดกลางคืนนะ แต่อย่างที่บอกว่าตัวภาพจะมี Noise ขึ้นในภาพอยู่บ้างเล็กน้อยเหมือนกัน
อย่างน้อย การถ่ายภาพกลางคืนยังสามารถใช้ฟิลเตอร์กลางคืนในการถ่ายภาพสวย ๆ แบบนี้ได้อยู่นะ (แม้ภาพนี้จะถ่ายตั้งแต่ยังใช้ซอฟต์แวร์เก่าก็ตาม)
และอย่างสุดท้ายคือกล้องหน้าครับ ที่ Nothing Phone (2a) ให้มาที่ 32 ล้านพิกเซล f/2.2 (เซนเซอร์ Sony IMX615) ที่แม้ว่าจะไม่โดดเด่นอะไรมาก แต่ก็พอจะสามารถใช้ถ่ายภาพได้พอไหวไม่แพ้กล้องหลังมากนักครับ แถมยังวางตำแหน่งไว้ตรงกลางหน้าจอ แบบเดียวกับที่ทำใน Nothing Phone (2) แล้วด้วย
แบตเตอรี่
อีกส่วนสุดท้ายที่สำคัญก็คือเรื่องของแบตเตอรี่ครับ ซึ่งแม้ว่าสมาร์ตโฟนของเราจะสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมาก ๆ แต่สุดท้าย ถ้าแบตเตอรี่ของมันไม่อึพอก็เท่านั้นเลย ดังนั้น Nothing ก็เลยให้แบตเตอรี่ภายในเครื่องมาอยู่ที่ 5000 มิลลิแอมป์ครับ โดยเป็นตัวเลขที่สูงแบบมาตรฐานของสมาร์ตโฟนในปีนี้เลยก็ว่าได้ (ถ้าต่ำกว่านั้นจะเริ่มมีคนเอ๊ะแล้ว) แถมยังเป็นตัวเลขที่สูงกว่าใน Nothing Phone (2) ซะอีกครับ ซึ่งจากการทดลองใช้งานมายิงยาวตั้งแต่ 10 โมงเย็นจนถึง 4 ทุ่ม แบบเปิด 5G ล้วน ๆ ไม่เล่นเกม เข้าแอปฯกล้องถ่ายภาพบ้างอะไรบ้างตลอดทั้งวันที่ออกนอกบ้านมา แบตเตอรี่ก็ยังเหลืออยู่กว่า 57% เลยครับ (จาก Screen On Time 2 ชั่วโมง 52 นาที) ซึ่งถ้าเราลองเอาเลขเดียวกันมาคำนวณ Screen On Time อาจจะดันไปจนถึง 6 ชั่วโมงได้เลยทีเดียว จากการใช้งานทั่ว ๆ ไป แต่ถ้ายิ่งต่อ WiFi หรือใช้งานให้น้อยลง แบตเตอรี่ก็จะยิ่งอึดกว่าเดิมซะอีกครับ
ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่กลับ สามารถชาร์จได้สูงสุดที่ 45 วัตต์ครับ ด้วยมาตรฐานการชาร์จแบบ PD พร้อมกับสายที่แถมมาในกล่องแล้วเรียบร้อย แต่จะติดตรงที่ หัวชาร์จแบตเตอรี่ของ Nothing นั้นต้องซื้อแยกนะครับ เรียกได้ว่าไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนก็ตามของ Nothing ก็ต้องซื้อหัวชาร์จแบตเตอรี่แยกอยู่ดีนะครับ ดังนั้น ด้วยมาตรฐานการชาร์จที่แตกต่างกันตามแต่ละหัวชาร์จ และการที่กองบรรณาธิการไม่มีหัวชาร์จแบตเตอรี่ของ Nothing เอง เลยทำให้ไม่สามารถจับเวลาการชาร์จแบตเตอรี่เองได้นะ แต่ความเร็วในการชาร์จด้วยความรู้สึกถือว่าไม่ได้ช้าอะไรมากนักครับ ชาร์จได้เร็วกำลังดีครับ
สรุปส่งท้าย
ถ้ามีใครถามผมว่า ‘สมาร์ตโฟนรุ่นนี้เกิดมาเพื่อใคร’ คำตอบง่าย ๆ จากผู้เขียนที่ได้เจอมาจากการได้ลองเล่นสมาร์ตโฟนรุ่นนี้มาพักใหญ่ก็คือ นี่คือสมาร์ตโฟนที่เหมาะกับคนที่อยากขยับจาก Nothing Phone (1) แต่ไม่พร้อมจะจ่ายแพง, เหมาะกับใครก็ตามที่อยากลองความเป็น Nothing แต่ยังไม่พร้อมจะลงทุนหนักมากนัก แต่ที่สำคัญก็คือ
Nothing Phone (2a) คือสมาร์ตโฟนที่เหมาะกับใครก็ตามที่อยากได้สมาร์ตโฟนที่ใช้งานทั่วไป และฟีเจอร์เยอะ แถมโดดเด่นทั้งดีไซน์ และสเปกข้างใน ในราคาคุ้ม ๆ
ซึ่งถ้าให้ว่ากันตรง ๆ นี่คือสมาร์ตโฟนที่คุ้มค่า คุ้มราคาค่าตัวเริ่มต้นที่ 11,499 บาทของ Nothing ที่เปิดตัวมาให้ทุกคนได้เล่น ได้ลองกัน อาจจะยังมีอะไรที่โดนตัดไปบ้าง แต่ทุก ๆ อย่างที่ยังเหลืออยู่ นั่นคือ ‘Core Element’ หรือส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ Nothing เป็น Nothing ได้ครับ
มาสรุปราคาของ Nothing Phone (2a) กันบ้างดีกว่า ราคาวางจำหน่ายของ Nothing Phone (2a) วางจำหน่ายในประเทศไทยอยู่ที่ 2 รุ่นย่อยครับ โดย
- รุ่นแรม 8GB หน่วยความจำ 128GB ราคาเปิดตัวอยู่ที่ 11,499 บาท
- รุ่นแรม 12GB หน่วยความจำ 256GB ราคาเปิดตัวอยู่ที่ 12,999 บาท
โดยจะวางจำหน่ายใน Shopee, Lazada Official ของทาง Nothing พร้อมกับเว็บไซต์ของทาง Dotlife และหน้าร้านค้า Jaymart, Dotlife และ Power Mall ได้เลยครับ (ถือว่าการทำตลาดในประเทศไทยของ Nothing มาไกลกว่าเดิมแล้วจริง ๆ)
อย่างที่บอกครับว่า Nothing Phone (2a) คือสมาร์ตโฟนที่เหมาะกับใครก็ตามที่อยากได้สมาร์ตโฟนที่ใช้งานทั่วไป สเปกดี ๆ ดีไซน์เท่ โดดเด่น และมีตัวตน
ซึ่งว่ากันตรง ๆ ในระดับราคานี้ แค่นี้ก็พอแล้วจริง ๆ