Our score
9.0Sandisk Desk Drive
External SSD ความจุสูงถึง 8 TB ราคา 29,900 บาท
จุดเด่น
- ความจุสูงอันดับต้นของตลาด External SSD
- ความเร็วในการอ่านต่อเนื่อง 1,000 MB/s จริง ๆ
จุดสังเกต
- ต้องเสียบสายไฟตลอดเวลาที่ทำงาน
- ราคาสูง
ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ใช้ External SSD เป็นไดรฟ์ในการเสียบทำงาน หรือพกพากันเป็นเรื่องปกติแล้วนะครับ เพราะราคาลดลงมามากแล้วในช่วงที่ผ่านมา แถมไดรฟ์แบบ SSD ยังสามารถอ่าน-เขียนข้อมูลได้รวดเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์มาก แต่ข้อจำกัดหนึ่งของ External SSD คือไม่ค่อยมีตัวเลือกไดรฟ์ที่ความจุสูงให้ใช้งานเท่าไหร่ ซึ่ง SanDisk Desk Drive เข้ามาตอบโจทย์ในจุดนี้ครับ
ดีไซน์ของ SanDisk Desk Drive
SSD ตัวนี้จะต่างจาก External SSD ทั่วไปอยู่สักหน่อยครับ คือมีขนาด 99.2 x 99.2 x 40.2 mm และหนัก 268g เป็นก้อนสี่เหลี่ยมมน ๆ หนา ๆ หน่อย แต่ก็เล็กว่า External Hard disk แบบตั้งโต๊ะเมื่อก่อน ซึ่งก็เป็นดีไซน์ที่เรียบดี มีเพียงเส้นคาดสีแดงและโลโก้ SanDisk เท่านั้น ส่วนตัวเราว่ามันเรียบเกินไปด้วยซ้ำ เพราะที่ตัวมันไม่มีไฟหรือสัญญาณใด ๆ สื่อสารกับผู้ใช้เลยว่ามันเสียบแล้วไฟเข้า พร้อมทำงาน
ที่ด้านหลังมีช่องล็อกแบบ Kensington สำหรับใครที่ต้องการต่อสายล็อกเอาไว้กับโต๊ะ ไม่ให้โดนขโมย นอกจากนี้ยังมีช่องเชื่อมต่ออีก 2 ช่อง คือช่องสำหรับเสียบไฟแบบหัวกลมรับไฟจากหม้อแปลง 18w และช่องสำหรับต่อสาย USB-C เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลครับ
อธิบายให้เคลียร์คือเจ้า Desk Drive นี้ทำงานไม่ได้เลยถ้าไม่ได้เสียบสายไฟ แตกต่างจาก External SSD ทั่วไปที่แค่เสียบสาย USB ก็ทำงานได้แล้ว มันจึงเหมาะสำหรับวางอยู่บนโต๊ะทำงานมากกว่าเอาติดตัวพกพาไปไหนมาไหน เพราะนอกจากคุณต้องพกตัว SSD ที่ใหญ่กว่ารุ่นอื่น ๆ แล้ว คุณต้องเอาอะแดปเตอร์ไฟไปด้วย และคุณไม่สามารถเอาอะแดปเตอร์อื่น ๆ เช่น หัวปลั้ก USB-C มาใช้ต่อไฟได้ ต้องใช้อะแดปเตอร์หัวกลมที่แถมมาเท่านั้น (เว้นแต่คุณจะมีสายที่แปลงจาก USB-C เป็นขั้วหัวกลมที่ถูกต้อง และจ่ายไฟ 12v 1.5a ได้)
นอกจากตัวไดรฟ์และอะแดปเตอร์ไฟแล้ว ในกล่องยังมีสาย USB-C ยาวประมาณ 1 เมตรพร้อมหัวแปลงเป็น USB-A พร้อมใช้งานครับ
ประสิทธิภาพของ SanDisk Desk Drive
Sandisk เคลมประสิทธิภาพของ Desk Drive เอาไว้ที่หน้ากล่องว่าทำความเร็วในการอ่านสูงสุด 1,000 MB/s ผ่านการเชื่อมต่อแบบ USB 3.2 Gen 2×1 ครับ ซึ่งเราทดสอบกับ PC Windows ผ่านโปรแกรม CrystalDiskMark 8 ก็ได้ความเร็วในการอ่าน-เขียนต่อเนื่องตามนั้นครับ ราว ๆ 1061 MB/s ส่วนการอ่านเขียนแบบสุ่ม ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือหลัก 100 MB/s หรือต่ำกว่าครับ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่การอ่าน-เขียนแบบสุ่มจะให้ประสิทธิภาพต่ำกว่าการอ่าน-เขียนแบบต่อเนื่องมาก
ส่วนการทดสอบการใช้งานกับ macOS ผ่านโปรแกรม Blackmagic Design Disk Speed Test ก็ทำความเร็วในการอ่าน-เขียนได้ราว ๆ 800 MB/s ครับ ก็เร็วพอสำหรับการทำงานกับไฟล์วิดีโอความละเอียดไม่เกิน 4K ครับ ซึ่งตัว Disk Deck นั้นฟอร์แมตในรูปแบบ exFAT มาตั้งแต่แรก ทำให้สามารถใช้งานกับ Windows และ macOS ได้ทันทีโดยไม่ต้องฟอร์แมตใหม่
นอกจากนี้เรายังได้ทดสอบประสิทธิภาพการทำงานกับ iPad Pro M4 13 นิ้ว โดยเชื่อมต่อผ่านพอร์ต USB-C ของเครื่อง ก็ได้ความเร็วในการอ่าน-เขียน ไม่ต่างจากการใช้บนแมคครับ คือราว ๆ 800 MB/s และได้ค่าการอ่าน-เขียนแบบสุ่มอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 MB/s
ส่วนการใช้งานจริง เราได้ให้ทีมตัดต่อของ BT ใช้งานโดยโหลด Footage Video ระดับ 4K 60 fps ใน Desk Drive และตัดต่อตรงจากไดรฟ์ผ่านโปรแกรม Final Cut Pro ก็ได้ประสบการณ์ในการทำงานที่ดี การทำงานลื่นไหล ไม่มีจังหวะหน่วงสะดุดระหว่างตัดต่อวิดีโอ ซึ่งเมื่อใช้งานไปสักพักอุณหภูมิตัวไดรฟ์จะอุ่นขึ้น แต่ก็ไม่ได้ร้อนจนน่าเป็นห่วงครับ ยังไม่เจออาการใช้หนัก ๆ จนมันหนัก แล้วไดรฟ์ตัดไปเอง
ส่วนถ้าใครต้องการใช้ไดรฟ์ตัวนี้เพื่อทำหน้าที่ Backup ข้อมูลในเครื่องด้วย SanDisk ก็มีโปรแกรม Acronis® True Image™ for Western Digital ให้โหลดฟรี ก็สามารถใช้งานในระดับเริ่มต้นได้
ราคาและความคุ้มค่า
ในขณะที่เรารีวิวนี้ SanDisk Desk Drive นำเข้ามาจำหน่ายในไทยเพียงรุ่นเดียวคือตัวท็อป 8 TB ในราคา 29,900 บาท มันเป็นของมูลค่าสูงเลย แต่ถ้าไปหาในตลาด แทบไม่มี External SSD ความเร็ว 1000 MB/s ความจุ 8 TB ขายในไทยเลยนะครับ ความจุที่หาได้ทั่วไปจะสุดแค่ 4 TB เท่านั้น
ซึ่งถ้าถามว่าราคานี้ถูกไหม มันก็ไม่ใช่ของราคาถูก แต่ก็เป็นราคาที่สมเหตุสมผลสำหรับความจุขนาดนี้ แถมรับประกัน 3 ปีด้วย ถ้าคุณต้องการความจุสูงจริง ๆ ก็ต้องจัดไปครับ แต่ถ้าต้องการความจุแค่ 4 TB ก็ยังมีตัวเลือกอื่น ๆ ทั้งจาก SanDisk เองหรือแบรนด์อื่น ๆ ที่ได้ External SSD ที่ราคาเหลือแค่หลักหมื่นต้น ๆ แถมไม่ต้องต่อสายไฟตลอดเวลาให้เลือกครับ