Our score
9.2Sennheiser MOMENTUM True Wireless 4
ราคา 11,890 บาท
จุดเด่น
- คุณภาพเสียงดี เสียงสมดุลย์ เบสกำลังพอดี รายละเอียดเสียงดี
- รองรับ Bluetooth Codec หลากหลายมากทั้ง SBC, AAC, aptX, aptX Adaptive/Lossless และ LC3
- เชื่อมต่อได้ 2 อุปกรณ์พร้อมกัน
- แอปสามารถปรับแต่งได้เยอะมาก เลือกโหมดการเชื่อมต่อ Bluetooth ให้เหมาะกับการใช้งานได้
- แบตเตอรี่เมื่อเปิด anc ใช้งานต่อ 7 ชั่วโมงต่อเนื่อง และสูงสุด 30 ชั่วโมงผ่านเคสชาร์จ
จุดสังเกต
- หน้าตาเหมือนรุ่นเดิม ขนาดหูฟังเท่าเดิม
- เสียงไมค์ยังไม่ดีที่สุด
- การควบคุมแบบสัมผัส อาจมีโอกาสลั่นบ้างเวลาจับหูฟัง
-
คุณภาพเสียง
9.5
-
คุณภาพวัสดุ
9.0
-
ความคล่องตัวในการใช้
10.0
-
ความสามารถในการคุยโทรศัพท์
9.0
-
ความคุ้มค่า
8.5
MOMENTUM True Wireless เป็นซีรีส์หูฟังไร้สายที่ขายมายาวนานของ Sennheiser นะครับ ซึ่งก็ให้เสียงเนี้ยบตามสไตล์หูฟังตัวท็อปมายาวนาน และปีนี้ก็มาถึง Sennheiser MOMENTUM True Wireless 4 (MTW 4) ที่หน้าตาแบบเดียวกับรุ่นที่ 3 แต่ก็ปรับจูนเสียงให้ดีขึ้นไปอีก พร้อม ๆ กับการปรับปรุงด้านแบตเตอรี่จากทางแบรนด์ ซึ่งน่าจะทำให้ปัญหาแบตเตอรี่ที่พบในหลายรุ่นก่อนหน้านี้ได้รับการแก้ไขไปด้วยในรุ่นที่ 4 นี้
ดีไซน์ของหูฟัง
ดีไซน์ของ Sennheiser MOMENTUM True Wireless 4 นั้นเหมือนกับรุ่น 3 ไม่มีผิดเลยนะครับ ต้องจับมาวางเทียบกันถึงจะสังเกตความแตกต่างได้ โดยเคสหูฟังยังเป็นวัสดุหุ้มผ้า ให้สัมผัสแบบออร์แกนิกไม่เหมือนหูฟังรุ่นไหน โดยเป็นเคสขนาดกำลังดี พกพาสะดวก พร้อมรองรับการชาร์จด้วยพอร์ต USB-C ที่อยู่ด้านหน้า และการชาร์จไร้สายในมาตรฐาน Qi
ส่วนตัวหูฟังก็เป็นพลาสติกเงาขนาดเท่าเดิมครับ ใส่ในหูได้สบายและยึดเกาะหูได้ดีพอสมควร ซึ่งสามารถเปลี่ยนปีกของหูฟังได้อีก 3 แบบ เพื่อเพิ่มการยึดเกาะให้มากขึ้น ส่วนตัวจุกหูฟังมีมาให้ 4 ขนาด ให้เลือกตามความเหมาะสมกับขนาดหู
ในรุ่นนี้มี 3 สีให้เลือกคือสีดำ Black Graphite, สีขาว White Silver และสีพิเศษของรุ่นนี้คือ Black Copper สีทองแดงเข้ม ๆ ที่เรารีวิวในวันนี้ครับ
การควบคุมหูฟัง
MOMENTUM True Wireless 4 ยังใช้การสั่งงานด้วยการแตะที่บริเวณ Faceplate แถว ๆ โลโก้ของ Sennheiser เหมือนเดิมครับ ซึ่งก็สามารถปรับแต่งการควบคุมเหล่านี้ได้ผ่านแอปฯ Smart Control โดยมีการสั่งงานมาตรฐานดังนี้
แตะหูข้างซ้าย | ลักษณะการแตะ | แตะหูข้างขวา |
---|---|---|
ปรับการดึงเสียงภายนอก (Transparency) | แตะ 1 ครั้ง | เล่นเพลง-หยุดเพลง |
ย้อนแทร็ก | แตะ 2 ครั้ง | ข้ามแทร็ก |
ปรับระบบตัดเสียงรบกวน (ANC) | แตะ 3 ครั้ง | เรียกผู้ช่วยเสียง |
ลดเสียง | แตะค้าง | เพิ่มเสียง |
ส่วนถ้าใช้งานในระหว่างคุยโทรศัพท์จะเหลือแค่ 2 คำสั่งที่แตะผ่านหูฟังข้างซ้ายหรือข้างขวาก็ได้ครับ
- แตะ 1 ครั้ง รับสาย หรือปิดเสียงไมค์
- แตะ 2 ครั้ง ปฏิเสธสาย หรือจบสาย
นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการเล่นเพลง หยุดเพลงเองเมื่อใส่หรือถอดหูฟังด้วย แต่ด้วยการสั่งงานแบบสัมผัส ก็อาจมีปัญหาสั่งงานลั่นบ้างครับ ต่างจากหูฟังหลายรุ่นในปัจจุบันที่ใช้งานบีบสั่งงาน ทำให้มีโอกาสลั่นน้อยกว่า
การปรับแต่งหูฟังผ่านแอปฯ Smart Control
แอปฯ Sennheiser Smart Control เป็นแอปฯ จำเป็นสำหรับคนที่ใช้หูฟังรุ่นนี้เลยครับ เพราะปรับแต่งตั้งค่าได้อีกเยอะมาก และยืดหยุ่นขั้นสุด ตัวอย่างสิ่งที่ปรับได้ผ่านแอปฯ คือ
- ดูรายการอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อและลบอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้ออก
- ปรับแต่งเสียงแบบ EQ ซึ่งมีให้ปรับแบบ 6 Band และมีแบบสำเร็จรูปมาให้ 7 แบบ
- หรือจะเลือกเป็นปรับแต่งเสียงแบบ Sound Personalization แทนก็ได้ ที่ให้เราค่อย ๆ ฟังเสียงแล้วปรับระดับเสียง ปรับความสมดุลของเสียงไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายได้เสียงที่ถูกใจเรา
- ปรับรูปแบบของระบบตัดเสียงรบกวน ซึ่งถ้าเลือกผ่านแอปฯ จะสามารถเลือกแบบ Anti Wind เพื่อตัดเสียงลมได้ ถ้าใช้การแตะ 3 ครั้งจะทำได้แค่เปิดกับปิด
- ปรับระดับโหมดดึงเสียงภายนอก (Transparency Level)
- ปรับรูปแบบการแตะควบคุมหูฟัง
- ทดสอบว่าเราใช้จุกหูฟังที่เหมาะสมหรือไม่ (Fit Test)
- ตั้งค่า Sound Zone เพื่อให้หูฟังปรับค่าการทำงานเองตามตำแหน่งสถานที่ต่าง ๆ ที่เราเซตไว้ เช่น เมื่อถึงที่บ้านให้เปิด Transparency เอง ส่วนที่ทำงานให้ตัดเสียงรบกวนเต็มเหนี่ยว แล้วปรับ EQ ลดเบสลง ซึ่งกำหนดได้สูงสุด 20 โซน
นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกในกลุ่ม Settings ที่ดูรายละเอียดและปรับแต่งได้ลึกกว่าหูฟังทั่วไป
- ปรับโหมดการรับส่งสัญญาณของหูฟัง ซึ่งเมื่อปรับแล้ว หูฟังจะรีสตาร์ตตัวเองหนึ่งครั้งถึงจะใช้ได้ โดยมีให้เลือก 4 โหมดคือ
- Standard สำหรับการใช้งานทั่วไป ฟังเพลงตามปกติ จูนสัญญาณให้เหมาะสม ทำให้เสียงกระตุกน้อยที่สุด
- Low Latency โหมดความหน่วงเสียงต่ำ สำหรับคนที่ใช้หูฟังนี้เล่นเกม
- High Resolution สำหรับรับเพลงระดับ Hi-Res มาเล่นที่หูฟัง แต่ถ้าไม่มีสมาร์ตโฟน หรือจุ๊บเสียบเพื่อส่งสัญญาณเป็น aptX Adaptive ก็ไม่ต้องเปิดใช้ก็ได้ เพราะไม่มีผลอะไร
- Lossless สำหรับรับเพลงคุณภาพระดับเท่า CD แบบไม่สูญเสียคุณภาพ แต่ก็ต้องการตัวส่งสัญญาณที่รองรับ aptX Lossless เช่นกัน ซึ่งถ้าคุณใช้กับ iPhone เป็นหลัก ก็ไม่ต้องเลือกโหมด High Resolution หรือ Lossless ก็ได้ครับ เพราะ iPhone ไม่รองรับอยู่แล้ว
- รายงาน Codec ของ Bluetooth และคุณภาพเสียง ซึ่งเมื่อเชื่อมอุปกรณ์พร้อมกัน 2 ตัวเข้ากับหูฟัง จะสามารถรายงานคุณภาพของอุปกรณ์ที่กำลังเล่นเพลงอยู่ได้ด้วย เช่นเชื่อมต่อ MOMENTUM True Wireless 4 กับ iPhone และคอมพิวเตอร์ เมื่อกำลังฟังเสียงจากคอมพิวเตอร์ ก็สามารถเปิด iPhone ดูได้ว่าหูฟังกำลังรับเสียงจากคอมพิวเตอร์ด้วย Codec อะไรและคุณภาพเท่าไหร่ มีประโยชน์มากสำหรับการวิเคราะห์คุณภาพเสียงที่อุปกรณ์ส่งได้
- Battery ECO สำหรับคนที่ต้องการใช้งานต่อเนื่องยาวนาน ให้เปิดตัวเลือกนี้ จะลดคุณภาพเสียงลง แต่ใช้ได้ยาวขึ้น
- Smart Pause ใช้หยุดเพลงอัตโนมัติเมื่อถอดหูฟังออกจากหู
- Auto-Accept call ตั้งให้รับสายอัตโนมัติ เมื่อมีคนโทรเข้า แล้วเราดึงหูฟังออกจากเคส
- Battery Protection Mode ชาร์จหูฟังให้ช้าลง และชาร์จไม่เต็ม 100% เพื่อยืดอายุของแบตเตอรี่ให้เสื่อมช้าลง ใครที่ไม่ได้ฟังเพลงต่อเนื่องยาว ๆ แบบต้องการฟังต่อเนื่องเต็มเหนี่ยว 7 ชั่วโมง ก็ควรเปิดโหมดนี้ครับ
สเปกด้านเสียง
สเปกของ Sennheiser MOMENTUM True Wireless 4 นั้นจัดเต็มแบบรุ่นท็อปครับ ไดรเวอร์เป็นแบบไดนามิกที่เรียกว่า TrueResponse ขนาด 7 mm รองรับความถี่เสียงตั้งแต่ 5 – 21,000 Hz ให้ความดังเสียงสูงสุด 107 dB
การเชื่อมต่อก็น่าสนใจเพราะรองรับ Bluetooth 5.1 Class 1 รองรับการเชื่อมต่อได้ไกล พร้อมรองรับ Multi-point คือเชื่อมต่ออุปกรณ์พร้อมกัน 2 ตัวแล้วสลับใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องเชื่อมต่อใหม่ ที่สำคัญคือรองรับ Codec เยอะมากคือ SBC, AAC, aptX™, aptX™ Adaptive/Lossless และมาตรฐานใหม่ LC3 ทำให้รองรับการเชื่อมต่อเสียงให้ได้คุณภาพดีได้ง่าย และรองรับหลากหลายอุปกรณ์ ตามนี้
- สำหรับผู้ใช้ iPhone จะเชื่อมต่อเป็น AAC ซึ่งให้คุณภาพเสียงดีพอตัว ดีกว่า SBC
- ส่วนผู้ใช้ Android ทั่วไปก็ใช้ aptX ที่ให้คุณภาพเสียงระดับเดียวกับ AAC
- แต่ถ้าใครใช้ Android รุ่นใหม่ ๆ บางตัว ก็สามารถเชื่อมต่อเป็น aptX Adaptive ที่รองรับเสียง Hi-Res หรือ aptX Lossless ที่ให้เสียงเท่า CD แบบไม่สูญเสียรายละเอียด
- ซึ่งการที่รองรับ aptX เต็มสูบ ก็ทำให้ผู้ใช้สามารถหาซื้อ Dongle หรือจุ๊บ USB มาแปลงอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น Mac, iPad, PC หรือ Android เองให้รองรับคุณภาพเสียงถึงระดับ aptX Adaptive ได้ไม่ยาก
- นอกจากนี้การรองรับ LC3 ทำให้ใช้ฟีเจอร์ที่น่าจะนิยมในอนาคต อย่างการกระจายเสียงจากจุดเดียวถึงหูฟังหลาย ๆ ตัวพร้อมกันอย่าง Auracast ได้ด้วย
ลักษณะเสียงพร้อมเปรียบเทียบคู่แข่ง
เสียงของ Sennheiser MOMENTUM True Wireless 4 โดยรวมเป็นเสียงที่ balance ให้เสียงเบสกำลังสวย เสียงแหลมไม่ได้แหลมจนเสียดหู แต่ก็ยังให้รายละเอียดเสียงได้ดีด้วย
- เสียงเบส ลูกขนาดกำลังพอดี ทำให้เพลงกลมกล่อม ไม่ใหญ่โตจนบวมไปรบกวนเสียงกลาง
- เสียงกลาง-แหลม ถ่ายทอดเสียงร้องออกมาได้เป็นธรรมชาติ ไม่รู้สึกว่าถูกปรุงแต่งจนแปลกไป
- เวทีเสียง กว้างขวาง แยกมิติเสียงรอบตัวได้ดี เห็นตำแหน่งเครื่องดนตรีได้ชัด
ส่วนความสามารถในการตัดเสียงรบกวนทำได้ในเกณฑ์ดีเลย ตัดเสียงได้ในระดับใกล้เคียงกับ Sony WF-1000XM5 ทำได้ แถมตัดเสียงในย่านกลางได้ดีกว่านิดหน่อยด้วย แต่ยังตามหลัง Devialet Gemini 2 อยู่นิดหน่อย ส่วนการดึงเสียงภายนอกทำได้ดี เป็นธรรมชาติเหมือนกับเวลาที่ไม่ได้ใส่หูฟังครับ
เทียบกับ Devialet Gemini II
เสียงของ Gemini II นั้นโดดเด่นที่ย่านเบสครับ เป็นเบสธรรมชาติที่ไม่ได้ถูกบูสต์ให้มากกว่าปกติ เพียงแต่แสดงออกมาได้ชัด ซึ่งให้ความลึก ความสะใจของเบสมากกว่า MOMENTUM True Wireless 4 นอกจากนี้ยังให้เสียงได้ดังกว่าด้วย ด้วยสเปกของ Gemini 2 ที่ให้ความดัง 120 dB SPL ส่วนฝั่ง Sennheiser ดังที่ 107 dB SPL คือเปิดระดับเสียงครึ่งหลอดในไอโฟน จะดังเทียบเท่า Gemini 2 ที่เปิดราว 1/3 ของหลอด แต่ย่านเสียงกลาง-แหลมทำออกมาได้คล้ายกัน ให้เสียงโปร่ง มีรายละเอียดของเสียงดีทั้งคู่
Gemini II รองรับ Codec แค่ 3 ตัวคือ SBC, AAC และ aptX ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้รองรับ Codec คุณภาพระดับ Hi-Res เหมือนที่ MTW 4 รองรับ
ส่วนเรื่องแบตเตอรี่ ฝั่ง MOMENTUM True Wireless 4 ทำได้ดีกว่า ด้วยการใช้งานต่อเนื่อง 7 ชั่วโมง เมื่อเปิด ANC และสูงสุด 30 ชั่วโมง เมื่อใช้ร่วมกับเคสชาร์จ ส่วน Gemini 2 เล่นเพลงได้ต่อเนื่อง 5 ชั่วโมง และสูงสุด 22 ชั่วโมงในเคสชาร์จ
โดยราคาของฝั่ง Sennheiser อยู่ที่ 11,890 บาท และ Devialet อยู่ที่ 16,590 บาทครับ
เทียบกับ Sony WF-1000XM5
เสียงของ WF-1000XM5 นั้นให้ย่านเบสที่โอ่อ่า ฟังแล้วเป็นเบสที่ใหญ่กว่า เป็นเบสแบบแผ่ออก แต่ถ้าฟังต่อเนื่องจะรู้สึกว่าเบสของ MOMENTUM True Wireless 4 นั้นลงไปได้ลึกกว่า ก็เป็นความคล้ายที่มีความแตกต่างกันอยู่นิดหน่อย ซึ่งตามสเปกนั้น Sony ให้เบสได้ลึกที่ 20 Hz ส่วน Sennheiser กับ Devialet เบสลงไปลึกสุดที่ 5 Hz ส่วนย่านกลาง-แหลมที่มีรายละเอียดดี ค่ามาตรฐานให้ความใสมากกว่าฝั่ง MTW4 เล็กน้อย แต่ก็ถ่ายทอดเสียงร้องได้หวานจนน่าจะชอบได้ไม่ยากทั้งคู่ และเรื่องระดับเสียงนั้นทำได้ใกล้เคียงกัน โดย Sony ให้เสียงได้ดังมากกว่านิดหน่อย
ส่วนในเรื่อง Codec ที่รองรับ ฝั่ง Sony นั้นไม่รองรับ aptX ครับ โดยรองรับเป็น SBC, AAC, LC3 และ LDAC ของ Sony เอง ทำให้สามารถเล่นเสียง Hi-Res ได้ในสมาร์ตโฟน Android ส่วนใหญ่ เพราะระบบรองรับ LDAC อยู่แล้ว แตกต่างจาก aptX Adaptive ที่สมาร์ตโฟนรองรับน้อยกว่า
เรื่องแบตเตอรี่ Sony สามารถฟังต่อเนื่องได้ 8 ชั่วโมง และสูงสุด 24 ชั่วโมงผ่านเคสชาร์จ ซึ่งใกล้เคียงกับ Sennheiser ที่ฟังต่อเนื่อง 7 ชั่วโมง และสูงสุด 30 ชั่วโมงผ่านเคสชาร์จ
แต่ Sony WF-1000XM5 มีลักษณะการออกแบบพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือจุกหูฟังนั้นเลือกใช้เป็นแบบโฟมแทนที่จะเป็นจุกหูฟังซิลิโคนเหมือนหูฟังทั่วไป ซึ่งจุกหูฟังแบบโฟมนั้นมีความสามารถในการบล็อกเสียงภายนอกได้ดีกว่า แต่ก็ใส่ยากกว่า และอายุการใช้งานสั้นกว่าจุกแบบซิลิโคนครับ
โดยราคาของ Sony WF-1000XM5 นั้นถูกที่สุดในหูฟัง 3 รุ่นที่เอามาเทียบครั้งนี้ โดยอยู่ที่ 10,990 บาท
ทดลองบันทึกเสียง
เกิดเป็นหูฟังยุคนี้ก็ต้องใช้ประโยชน์เพื่อคุยสายได้ดีด้วย เราจึงทดสอบอัดเสียงด้วยแอปฯ บันทึกเสียงใน iPhone พร้อมเปิดเสียงรบกวนไปด้วย ซึ่งหูฟังทั้ง 3 รุ่นได้เสียงออกมาแบบนี้ครับ
เสียงไมค์จาก Sennheiser MOMENTUM True Wireless 4
เสียงไมค์จาก Sony WF-1000XM5
เสียงไมค์จาก Devialet Gemini II
เสียงไมค์จากทั้ง 3 รุ่นออกมามีจุดเด่น จุดอ่อนแตกต่างกันนะครับ ของ Sennheiser MTW 4 จะได้ย่านเสียงต่ำหน่อย ส่วน Sony จะได้เสียงกลม ๆ ค่อนข้างสมดุล ส่วน Devialet จะค่อนข้างเป็นเสียงโปร่ง ๆ แต่ก็ขาดย่านเสียงต่ำไปเหมือนกัน ยังไงลองฟังดูแล้วเลือกเสียงที่ชอบได้ครับ
แต่จุดหนึ่งที่ชอบเวลาใช้ MTW 4 คุยโทรศัพท์คือเราสามารถตั้งค่า เพื่อเปิดเสียงภายนอกเข้ามาระหว่างคุยสายได้ ทำให้เวลาสนทนาไม่อึดอัดเหมือนพูดในโอ่งแบบที่หลายคนเจอปัญหานี้เวลาใช้หูฟังแบบ ANC คุยสายครับ
ปัญหาแบตเตอรี่ยังมีไหม?
ที่ผ่านมา Sennheiser MOMENTUM True Wireless รุ่นที่ 1-3 นั้นมีข่าวหนาหูเรื่องเรื่องแบตเตอรี่มาตลอด จนในรุ่นที่ 4 นี้ Sennheiser ถึงกับให้ข้อมูลผู้ผลิตแบตเตอรี่ละเอียดมาก โดยตัวหูฟังใช้แบตเตอรี่จาก 2 ผู้ผลิต ส่วนเคสชาร์จก็ใช้แบตเตอรี่จากอีก 2 ผู้ผลิตเช่นกัน ซึ่งหูฟังรุ่นสีดำจะใช้แบตเตอรี่จากผู้ผลิตชุดที่ 1 ส่วนสีขาวและทองแดงจะใช้แบตเตอรี่จากผู้ผลิตชุดที่ 2 ครับ ซึ่งก็สร้างความโปร่งใสและติดตามปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ได้ดีขึ้น
ส่วนในระยะยาว MTW 4 จะยังมีปัญหาแบตเตอรี่อยู่ไหม เราก็คงตอบตอนนี้ไม่ได้ แต่เท่าที่เราใช้มายาวนานเกือบ 2 เดือนนั้นยังไม่มีปัญหาอะไรครับ ส่วนในระยะยาวเราก็ไม่ประมาท โดยการเปิดฟีเจอร์ Battery Protection Mode เอาไว้ตลอดครับ
สรุปรีวิว
Sennheiser MOMENTUM True Wireless 4 ก็ยังคงความเนี้ยบเอาไว้ให้สมเป็นหูฟังไร้สายแบบ TWS เรือธงของแบรนด์เยอรมัน และปรับปรุงดีเทลต่าง ๆ ให้ลงตัวมากขึ้น เช่น จูนเสียงให้เบสกระชับกว่ารุ่นที่แล้ว ปรับปรุงการตัดเสียงรบกวนให้ดีขึ้น เพิ่ม codec ยุคใหม่ให้รองรับการใช้งานในอนาคต ใครที่ชอบแนวเสียงของ Sennheiser มาตลอด ก็ไม่น่าพลาดหูฟังรุ่นนี้
แม้ราคาของ Sennheiser MOMENTUM True Wireless 4 ที่ 11,890 บาท จะไม่ใช่ค่าตัวที่ถูก แต่เมื่อเทียบคุณภาพกับคู่แข่งในระดับราคาเดียวกันแล้ว ก็ถือว่าสมน้ำสมเนื้อครับ