Our score
8.9

CMF by Nothing Phone 1

ถ้าคิดว่า Nothing Phone (2a) มีสิ่งที่ต้องแลกเพื่อสมาร์ตโฟนที่คุ้มมากพอแล้ว รุ่นนี้จะทำให้คุณต้องอึ้งแน่ ๆ !

นี่คือ CMF Phone 1 สมาร์ตโฟนรุ่นแรกของ CMF ที่เป็นแบรนด์ลูกของ Nothing รวมถึงเป็นการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยของ CMF by Nothing ครั้งแรกในประเทศไทยด้วย เรามาดูกันว่าสมาร์ตโฟนรุ่นแรกของแบรนด์ลูกของ Nothing ที่รีบแตกแบรนด์ออกมาทำตลาดในประเทศไทยนั้น จะมีอะไรน่าสนใจอีกบ้าง นอกจากฝาหลังที่สามารถถอดออกได้ และอุปกรณ์เสริมที่ใช้น็อตขันเช่นนี้ ! และสิ่งที่ต้องแลกมา เพื่อให้สามารถทำราคาขายให้ได้เท่านี้ จะต้องมีสิ่งใดที่ต้องแลกออกไปบ้าง

จุดเด่น

  1. ดีไซน์ที่กล้าที่จะแตกต่างด้วยการเปลี่ยนฝาหลังได้ทั้งแผ่น พร้อมกับเพิ่มเติมอุปกรณ์เสริมได้ด้วยการแค่ขันน็อตเท่านั้น
  2. มาพร้อมกับชิปเซต MediaTek Dimensity 7300 ที่แรงและคุ้มเกินราคา (แม้จะราคาเต็ม) ไปมาก
  3. กล้องถ่ายภาพสามารถใช้ถ่ายภาพทั่วไปได้ค่อนข้างโอเค เน้นสีเรียล และไม่มีปัญหาด้านการถ่ายสีหลุดออกมามากนัก
  4. ยังมาพร้อมกับมอเตอร์สั่นแบบ Linear ไม่ใช่แบบเดิม ๆ แม้จะเป็นรุ่นเก่า
  5. กันน้ำกันฝุ่นที่ IP52 แม้จะถอดฝาหลังได้

จุดสังเกต

  1. น็อตที่ยึดฝาหลังเครื่องนั้นสามารถหายได้ได้ง่าย ๆ เหมือนกับน็อตขันโน้ตบุ๊ก รวมถึงเกลียวอาจะเสียได้หากขันแรงเกินหรือใช้แรงดึง
  2. กล้องถ่ายภาพยังถ่ายภาพบุคคลได้แปลก ๆ เล็กน้อย ยังสามารถแก้ได้ด้วยการอัปเดตซอฟต์แวร์ในอนาคต
  3. ลำโพงเสียงยังออกไปทางแบน ๆ แต่ใช้ Bluetooth ที่รองรับ Codec เยอะแทนกันได้
  4. ในกล้องไม่มีอแดปเตอร์ชาร์จแบตเตอรี่แถมมาให้ (รุ่นอื่นในเรตราคานี้มักจะมี ยกเว้นแค่ Samsung)
  5. เรตราคาของสมาร์ตโฟนนั้นสูงกว่าในตลาดอื่น และราคาในไทยนั้นใกล้กับ Nothing Phone (2a) มากเกินไป
  • หน้าจอ

    9.0

  • กล้อง

    8.5

  • แบตเตอรี่

    9.0

  • เสียง

    8.0

  • ประสิทธิภาพ

    9.0

  • ดีไซน์

    9.5

  • ความคุ้มค่า

    9.0

ตลอดเวลาที่ผู้เขียนได้รีวิวสมาร์ตโฟนจาก Nothing มานั้น การเข้ามาของ Nothing ล้วนแล้วแต่พยายามจะสร้างสมาร์ตโฟนที่เน้นด้าน ‘ดีไซน์’ ควบคู่ไปพร้อมกันกับประสบการณ์การใช้งานที่ดีเยี่ยมคู่กันไปด้วย อย่างที่ผ่านมาคือจัดหนักจัดเต็มทั้งด้านดีไซน์ หน้าจอ ระบบไฟด้านหลัง การใช้งาน ยาวไปจนถึงซอฟต์แวร์ที่เรียกว่าเป็น 1 ในจุดแข็งที่สุดของเขาเลยก็ว่าได้

แต่เรื่องพวกนี้มันมีต้นทุนทุกอย่างครับ ตั้งแต่การเตรียมการ ออกแบบ สั่งผลิต เขียนซอฟต์แวร์ ปรับแต่งให้่เข้ากับอุปกรณ์ กว่าจะวางจำหน่าย และนี่ยังไม่รวมเรื่องของการทำการตลาดอีกนะ ! ดังนั้น การจะบาลานซ์สิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเอาซะเลย

เพราะแบบนี้ เมื่อผู้เขียนได้รับข่าวทราบว่า ‘Nothing’ ที่แม้จะเป็นแบรนด์ใหม่แกะกล่องสุด ๆ ตัดสินใจเปิดตัวแบรนด์ย่อยของตัวเอง ในนาม CMF อันหมายถึง Color, Materials, Finish (สีสัน, วัสดุ และสัมผัสพื้นผิว) เอาจริง ๆ ก็เกิดความสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมถึงได้รีบแตกแบรนด์ออกมาได้เร็วนัก แถมยังออกสมาร์ตโฟนรุ่นแรกของแบรนด์ ‘CMF Phone 1’ เครื่องนี้ออกมาเป็น 1 ใน Product เซตที่ 2 อีกต่างหาก (ตอนแรกออกมาทั้งหัวชาร์จ, หูฟัง และสมาร์ตวอทช์ แล้ว) แถมยังเน้นออกสินค้าที่อยู่ในแบรนด์ระดับประหยัดอีก แล้วยังจะขายได้ 100,000 เครื่องใน 3 ชั่วโมงด้วย !

แม้จะบอกว่านี่คือสมาร์ตโฟนรุ่นแรกของ CMF by Nothing แต่ต้องบอกว่านี่คือรีวิวของสมาร์ตโฟนรุ่นที่ 4 ของ Nothing (เคยมีมาทั้ง Phone (1), Phone (2) และ Phone (2a) มาแล้ว) แปลว่าเขาต้องมี Know-How ที่แน่นกว่าเดิมแล้วอย่างแน่นอน แล้ว Nothing เอ้ย CMF Phone 1 เครื่องนี้ มีดีอะไรแค่ไหน แล้วต้องตัดอะไรออกไปบ้าง ถึงทำให้ขายในราคาแค่ 9,499 บาทได้กัน !

สเปกภายในเครื่องของ CMF Phone 1

  • หน้าจอ: sAMOLED ขนาด 6.67 นิ้ว รีเฟรชเรต 120Hz (LTPS) แบบแบน ความละเอียด FHD+ (2,400 x 1,080) ความสว่างสูงสุด 700 nits (HBM) 2,000 Nits (Peak)
  • ชิปเซต MediaTek Dimensity 7300 รองรับ 5G
  • หน่วยความจำขนาด 128GB, 256GB
  • RAM: 8GB LPDDR5
  • กล้องหลัง 2 ตัว ประกอบไปด้วย
    • กล้องหลักความละเอียด 50 ล้านพิกเซล (f/1.79) เซนเซอร์ Sony IMX 882
    • กล้องวัดระยะถ่ายภาพบุคคลความละเอียด 2 ล้านพิกเซล เซนเซอร์ SmartSens SC202CS
  • กล้องหน้าขนาด 16 ล้านพิกเซล (f/2.4) เซนเซอร์ GalaxyCore GC16B3C
  • แบตเตอรี่ 5,000 mAh พร้อมชาร์จไว 33W (PD)
  • ซอฟต์แวร์ Nothing OS 2.6 (Based on Android 14)
  • มีสีให้เลือก 2 สี ได้แก่ สีดำ (Black) และสีส้ม (Orange)
  • ราคาวางจำหน่ายในประเทศไทย 9,499 บาท (8+128GB) และ 10,699 บาท (8+256GB)

ดีไซน์

ในสมาร์ตโฟน Nothing ทุกรุ่นที่เคยรีวิวมา ผู้เขียนแทบจะเทคะแนนด้านดีไซน์ให้เต็ม 10 ตลอดทุกรุ่นเลย และ CMF Phone 1 รุ่นนี้ก็ยังคงพยายามรักษาความแตกต่างแห่งดีไซน์ไม่น้อย แต่แน่นอนว่านี่คือ CMF ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เน้นดีไซน์ในราคาย่อมเยาว์ไปด้วย การที่จะดีไซน์สมาร์ตโฟนให้ดูดีในทุนที่จำกัด ก็จะยิ่งยากเข้าไปเรื่อย ๆ ด้วย

ดังนั้น CMF Phone 1 เลยขอดีไซน์ฝาหลังแบบเรียบ ๆ แทน ด้วยการใช้พลาสติกขัดด้านในฝาหลัง (สีดำ) แล้วใช้การเว้นช่อง ใส่น็อตไว้ด้านข้าง 4 มุม แล้วเอา Knob ไว้ด้านล่างขวาของเครื่อง

Knob ด้านล่างของ CMF Phone 1

แต่แน่นอนว่าแค่นี้ก็ไม่ใช่จิตวิญญาณของ Nothing สิ !

ลูกเล่นที่ Nothing ใส่มา (และชูจุดขายแบบสุด ๆ) ก็คือการที่ฝาหลังสามารถ ‘ถอดออกได้’ ครับ ถอดได้แบบ แกะออกไปได้เลย ด้วยการขันน็อตที่อยู่รอบ ๆ เครื่อง และขัน Knob ด้านล่างขวานี้ไปด้วยนั่นเอง พอขันน็อตออกทุกตัว และเอาถาดใส่ซิมออก ก็สามารถงัดเอาฝาหลังออกมาได้ทั้งหมดด้วยมือเปล่า แล้วเปลี่ยนฝาหลังทั้งฝาได้เลย

ซึ่งทำให้ฝาหลังของ CMF Phone 1 นั้นสามารถเป็นสีไหนก็ได้ใน 4 สีที่ CMF ขายฝาหลังมาเลยครับ ตั้งแต่สีดำ ส้ม น้ำเงิน และสีมินต์ หรือจะ Mix and Match ด้วยการผสมสีแต่ละส่วนได้หมดเลย ตั้งแต่ ฝาหลัง, ถาดใส่ซิม และ Knob ล่างขวานี้ จะใส่สีไหนไปก็ได้ ให้เป็นสไตล์ของเราเอง จริง ๆ ไอเดียการแต่งฝาหลังแบบนี้ไม่ได้เพิ่งมีมา แต่เคยมีมาในสมัยมือถือปุ่มกดเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งความเจ๋งก็คือ Nothing เปิดเอกสารดีไซน์ ขนาด และตำแหน่งของช่องน็อตสำหรับฝาหลังของ CMF Phone 1 เป็นสาธารณะทั้งหมด เพื่อให้ใคร ๆ ก็สามารถผลิตฝาหลังมาเปลี่ยนเองได้ หรือจะผลิตมาขายก็ยังได้ (เช่นกริปกล้องที่มีคนทำเองที่บ้านผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นต้น)

แถม ดีไซน์ที่สามารถขันน็อตเข้า – ออกนี้ ยังทำให้สามารถเพิ่ม Gadget หรือ Accessories เข้ามาใส่ในฝาหลังของเครื่อง แล้วใช้น็อตเดียวกันมาขันล็อกเอาไว้ก็ยังได้ ซึ่งตอนนี้ Nothing ก็ออกมาแล้วถึง 3 อย่าง คือ Kickstand (ขาตั้งมือถือ) ที่แค่ขันน็อตบริเวณ Knob ออก แล้วเอาขาตั้งมาขันล็อกเข้าไปแทน , สายคล้องคอ (Lanyard) ที่แค่เอาตัวยึดสายคล้องมาขันตรงที่ Knob อยู่ และเคสใส่การ์ด (Card Case) ที่ใช้การขันน็อตล็อกแผ่นแปะเคสใส่การ์ดไว้ 3 มุมของเครื่อง ซึ่งอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ สามารถติดเข้าไปหลังเครื่องได้เลย และจะเอาออกเมื่อไหรก็ได้ แค่ขันน็อตเข้า – ออก เปลี่ยนได้ตามใจ

ที่จะแปลกหน่อยก็คือเคสใส่การ์ดครับ เพราะแผ่นยึดที่ใส่การ์ดนี้เขาใส่แม่เหล็กแบบกลมไว้ (คล้าย ๆ MagSafe ที่ไม่มีเส้นบอกตำแหน่ง) แปลว่าจริง ๆ เราใช้แผ่นแม่เหล็กเดียวกันนี้ ไปแปะตรงแทนวางมือถือที่ใช้แม่เหล็กแบบ MagSafe ก็ได้เช่นกัน

เพียงแค่ระบบการเพิ่มเติมในตัวฝาหลังที่เปิดขนาดนี้ ฝรั่งเขาชอบใช้คำว่า “The Sky is the Limit” หรือเรียกง่าย ๆ คือ ไอเดียนี้เติบโตได้แบบไม่มีที่สิ้นสุดแน่นอนครับ เพราะเราจะออกอุปกรณ์เสริมเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เอามาขันน็อตล็อกไว้ ก็ใช้ได้ และคิดว่าถ้าเกิดกระแสการใช้งานของ CMF Phone 1 เติบโตขึ้นมาก ๆ อุปกรณ์เสริมที่แปลก แตกต่างไปกว่านี้มาก ๆ จะต้องตามาอย่างแน่นอน

แม้ไอเดียนี้จะสวยหรูมาก ดูดีมากก็ตาม แต่จุดติดขัดของดีไซน์แบบนี้ก็มีไม่น้อยเลย ประการแรก (และเป็นประการที่ค่อนข้างใหญ่เลย) ก็คือ อุปกรณ์เสริมที่มีทั้งหมดนี้ ตั้งแต่ฝาหลังต่างสี อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งที่ตั้งมือถือ ต้องซื้อแยกทั้งหมด และซื้อแยกในราคาที่ไม่เบานักด้วย อย่างในประเทศไทยไม่มีปัยหาด้านของเพราะทาง Nothing ยืนยันว่าจะเข้าไทยทุกตัว แต่ราคานั้นก็เริ่มต้นไป 890 บาทเข้าไปแล้ว (แม้กระทั่งขาตั้งมือถือก็ 890 บาท) แถมฝาหลังแต่ละสีก็ยังราคา 990 บาทต่อแผ่นอีกต่างหาก แปลว่าการจะเข้ามาปรับแต่งฝาหลังของเราได้ ก็จำเป็นที่จะต้องเสียเงินเพิ่มอย่างเลี่ยงไม่ได้ (และราคาเครื่องก็จะยิ่งพุ่งสูงเข้าไปอีก)

นอกจากนั้น ไอเดียนี้จำเป็นจะต้องพึ่งผู้ใช้ค่อนข้างมาก กล่าวคือ ต้องมีคนสนใจมากพอที่จะนำไอเดียไปต่อยอด หรือมีผู้ใช้เยอะจนแบรนด์ทำอุปกรณ์เสริมนำไปต่อยอดด้วย คอนเซ็ปต์ของฝาหลังที่สามารถเปลี่ยนได้นี้ถึงจะรุ่ง ไอเดียอยู่ตรงนี้แล้ว เหลือเพียงแค่จะมีใครนำไปต่อยอด เรื่องนี้มีแต่เวลาที่จะบอกเราได้ครับ

ส่วนดีไซน์ด้านอื่น ๆ รอบตัวเครื่องนั้นยังคงเหมือนสมาร์ตโฟนโดยทั่วไป ซึ่งมีมาทั้งปุ่มเปิด-ปิดอยู่ฝั่งขวา, ปุ่มเพิ่ม-ลดเสียงอยู่ฝั่งซ้าย ไมโครโฟนตัดเสียงรบกวนอยู่ด้านบน และเอาช่องใส่ซิม (2 ซิม หรือ 1 ซิม + Micro SD Card) ไมโครโฟน และลำโพงไว้ด้านล่างแทน เรียกว่าที่เหลือไม่ได้หวือหวามาก แต่ความเรียบง่ายนี้เหมาะกับการเปลี่ยนฝาหลังมากกว่าจริง ๆ

ส่วนภายในฝาหลัง ก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นมากนักครับ ค่อนข้างคล้ายกับในสมาร์ตโฟนรุ่นอื่น ๆ ที่แกะฝาหลังได้เลย คือมีพลาสติกป้องกันแผงวงจรอีกชั้น และช่องใส่แบตเตอรี่ที่ ‘เปลี่ยนเองไม่ได้’ นะครับ ! ที่ได้สอบถามมา ทาง Nothing กล่าวมาว่า การจะเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้นั้น ควรจะต้องส่งให้ทา Nothing เปลี่ยนให้ดีกว่า เพราะว่าตัวแบตเตอรี่นั้นยังต้องมีการซีลเพิ่มเติม เพื่อให้ยังผ่านมาตรฐาน IP อยู่ได้ แม้ว่าตัวเครื่องจะผ่านมาตรฐานแค่ IP52 เองก็ตาม (กล่าวคือ โดนได้ไม่มากไปกว่าฝนสาดเท่านั้น) ที่น่าสนใจกว่าก็คือ ถ้ามีฝาหลังที่เป็นแบบโปร่งใสวางจำหน่ายเลย CMF ก็จะมีดีไซน์ที่คล้ายสมาร์ตโฟน Nothing อื่น ๆ แล้วแน่นอน

ซึ่งสัมผัสในด้านการใช้งานทั่วไป ถือว่าทำได้ดีแบบไม่มีข้อกังขาอะไรครับ ยิ่งฝาหลังเครื่องเป็นแบบนี้แล้ว เราแทบจะสามารถใช้เครื่องได้โดยไม่ต้องใส่เคสก็ยังได้ เพราะถ้าฝาหลังเป็นอะไรไป ก็แค่แกะเปลี่ยน ! แต่จุดที่น่าตกใจมากกว่าคือเรื่องของมอเตอร์สั่นมากกว่าครับ ที่แม้จะเป็นสมาร์ตโฟนรุ่นที่ถูกสุด ๆ แล้ว ก็ยังให้มอเตอร์สั่นเป็นแบบ Linear ที่แม้จะไม่ได้สั่นได้ลุ่มลึกเหมือนกับใน Nothing Phone (2) หรือ (2a) ก็ตาม แต่ก็ยังให้ความรู้สึกในการใช้งานที่ดีอยู่นะ

และที่แน่ ๆ คือ รุ่นนี้ไม่มีระบบไฟแบบใน Nothing แล้วนะ เพราะนี่มัน CMF ไม่ใช่ Nothing ซะหน่อย !

หน้าจอ

ทีนี้พอเราเอาเรื่องที่เป็นกิมมิคเฉพาะตัวของ CMF Phone 1 ออกไปจนหมดแล้ว เรามาดูที่ความเป็นสมาร์ตโฟนจริง ๆ ของมันดูบ้าง อย่างแรกคือเรื่องของหน้าจอเลยครับ ที่หน้าจอนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้หน้าจอ sAMOLED ขนาด 6.67 นิ้ว รีเฟรชเรต 120Hz ที่ความสว่างสูงสุด 700 nits (HBM) 2,000 Nits (Peak) และแสดงสีได้แค่ 8 Bit เท่านั้น

สิ่งแรกที่ Nothing ได้ลดต้นทุนออกไปเพื่อให้สามารถทำราคาได้ในระดับนี้ ก็คือเรื่องของหน้าจอนี่แหละ โดยนอกจากจะลดสเปกเหลือแค่จอ sAMOLED แล้ว คราวนี้ขอบจอของเครื่องก็ไม่ได้เท่ากันทุกด้านแล้วด้วยนะ ไปมีคางที่หนาขึ้นอีกเล็กน้อยด้านล่างแทน ถามว่ารู้สึกได้ไหม ถ้า Geek มาก ๆ ก็จะดูออกแน่ ๆ ครับ แต่ในมุมมองของคนทั่วไป เป็นการลดที่ไม่ได้มีปัญหาเลยแม้แต่น้อยครับ โดยทั่ว ๆ ไปแล้วแทบไม่รู้สึกเลย ที่จะรู้สึกมากกว่าคือคุณภาพของสีในจอนั้นอาจจะไม่ได้สวย สดเด้งแบบที่เราเห็นในสมาร์ตโฟนรุ่นอื่น ๆ ของ Nothing ครับ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกถึงความไม่สวยงามของภาพมากนักนะ

แต่ที่แน่ ๆ คือ ความสว่างหน้าจอที่ให้มาเท่านี้ ก็ยังคงสู้แดดประเทศไทยไม่ค่อยไหว โดยเฉพาะความสว่างสูงสุดที่ค่อนข้างน้อยกว่าในรุ่น (2a) ด้วยซ้ำ แต่ตัวหน้าจอยังสามารถแสดงผลวิดีโอ YouTube ได้สูงสุดที่ 4K 60FPS HDR แล้วก็ดูคลิป Reels Facebook แบบ HDR ได้ด้วยเหมือนเดิม แถมการแสดงสีดำที่ปกติจะเจอในธีมสีดำของ Nothing ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรด้วย

และแม้จะเป็นรุ่นที่ถูกที่สุดก็ตาม ตำแหน่งการวางเซนเซอร์แสกนลายนิ้วมือแบบแสงใต้หน้าจอ ก็ยังคงวางได้พอดีกันกับตำแหน่งของปุ่มสไลด์เข้ากล้องในหน้าจอล็อกเหมือนเดิมครับ ซึ่งนอกจากจะเป็นฟีเจอร์ที่ดีแล้ว ยังคงผ่านการออกแบบมาอย่างดีอีกด้วยนะ

สเปกภายในเครื่อง ประสิทธิภาพ และการเล่นเกม

อีกส่วนที่ถือว่าทำออกมาได้ดี และให้เกินชาวบ้านมาอีกนั่นคือเรื่องของสเปกครับ เพราะ CMF Phone 1 ให้ชิปเซตในเครื่องมาเป็น MediaTek Dimensity 7300 ครับ นั่นแปลว่าเป็นชิปสมาร์ตโฟนระดับกลาง ที่ให้มาเกินกว่า Nothing Phone (2a) ที่เปิดราคามาสูงกว่า และเป็นสเปกที่สูงกว่าสมาร์ตโฟนในเรตราคาเริ่มต้นเดียวกันไปซะอีก และอย่างที่บอกว่าชิปเซตภายในเครื่องนั้นแทบจะเป็นทุกอย่างของสมาร์ตโฟนเครื่องหนึ่งเลย ใช้งานทั้งการประมวลผล ใช้งานทั่วไป เปิดกล้องถ่ายภาพ เล่นเกม หรือแค่เราจะเปิดเครื่อง ชิปเซตก็ต้องใช้แล้วทั้งสิ้น

และด้วย Nothing มีประสบการณ์กับการจูนซอฟต์แวร์ให้เข้ากับชิปเซต MediaTek Dimensity แล้ว (จากการทำรุ่น (2a) มาก่อน) ดังนั้นชิปเซต MediaTek Dimensity 7300 จึงพร้อมใช้งานบน CMF Phone 1 ได้ค่อนข้างดี ไม่มีบัคตั้งแต่เริ่มแกะกล่องมาแล้ว แถมสเปกภายในส่วนอื่น ๆ ก็ได้ใส่มาไม่น้อยเลย ด้วยแรม LPDDR5 ขนาด 8GB และหน่วยความจำภายในขนาด 128GB และ 256GB ตามสเปกที่เราซื้อครับ แปลว่าการใช้งานโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว แม้จะราคาแค่ 9,499 บาท แต่ก็ทำให้รู้สึกได้เหมือนกับการใช้สมาร์ตโฟนเรือธงเลย

แถมการทดสอบประสิทธิภาพ CPU ด้วย Geekbench 6.3.0 ก็ได้คะแนน Multi-Core ที่ 2,932 คะแนน และคะแนน Single-Core ที่ 1,027 คะแนนเลย ถ้าเทียบกับ Dimensity 7200-Pro ใน Nothing Phone (2a) แล้ว ยังเป็นคะแนนที่สูงกว่ากันซะอีกนะ ! เรียกว่ายิ่งกว่าพออีก ถ้าเน้นการใช้งานโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว หรือจะเป็นการทดสอบการ์ดจอด้วย 3DMark ชุด Wild Life Stress Test ซึ่งได้ผลการทดสอบได้คะแนนสูงสุดอยู่ที่ 3136 คะแนน และต่ำสุดอยู่ที่ 3072 คะแนน และความนิ่งอยู่ที่ 98% ครับ กลายเป็นว่าสิ่งที่ต้องแลกมากับความแรง CPU คือความแรงของ GPU ที่น้อยลงไปแทนครับ

ซึ่งพอเราเอามาลองเล่นเกมจริงจัง แม้การ Optimize ของ Nothing จะทำมาค่อนข้างโอเคแล้ว แต่ในด้านการ Optimize ของชิปเซตกับเกมต่าง ๆ นั้น ถือว่ายังต้องมีการปรับกันอีกไม่น้อยเลยทีเดียว เช่น ถ้าเราเอาไปเล่นเกม Genshin Impact ที่ปรับสุด ตัวเครื่องแจ้งว่าสามารถทำเฟรมเรตได้สูงสุดที่ไม่เกิน 43 FPS ครับ และอาการเฟรมดรอปถือว่าค่อนข้างหนักมากอยู่เลยทีเดียว โดยเฉพาะตอนที่ต้องสู้กับมอนสเตอร์มาก ๆ เข้า และเกิดความร้อนอีกพอสมควรเลย ตรงนี้แนะนำให้ลดการตั้งค่าลง จะช่วยได้พอสมควรนะ

ต่อมา เราได้เอามาลองเกมใหม่ของค่าย Hoyoverse กับ Zenless Zone Zero กันดูบ้าง ด้วยว่าเกมนี้ไมได้เป็นเกม Open World แต่ก็ยังมีการโหลดฉากที่ค่อนข้างเยอะ และระบบการเล่นหลายส่วนที่เน้นการเล่นแบบรวดเร็วอยู่ หลาย ๆ ฉาก เช่นฉากการเล่นผ่าน TV สามารถปรับสุดเล่นได้ 60FPS เลยครับ แต่ถ้าเป็นฉากในโซนเมือง จะได้ที่ประมาณ 45-50 FPS แต่ถ้าเป็นฉากต่อสู้เลย เฟรมเรตจะเหลือประมาณ 30-40 FPS แทน ทั้งนี้ ถ้าลดการตั้งค่าลงไปบ้าง จะช่วยให้เล่นได้ลื่นและเสถียรกว่านี้แน่ครับ

สุดท้ายคือ RoV ครับ ถ้าเป็นเกมเบา ๆ เช่นนี้ ก็จะสามารถเล่นแบบปรับสุดได้ที่ 60FPS แบบสบาย ๆ แน่นอน และสามารถเล่นได้แบบค่อนข้างนิ่งด้วย

ซึ่งโดยรวม ๆ แล้ว ยังมีฟีเจอร์ใหม่เพิ่มเข้ามาจากอัปเดต Nothing OS เวอร์ชัน 2.6 ด้วย นั่นคือ Game Mode ครับ คือในที่สุด Nothing ก็มาพร้อมกับซอฟต์แวร์สำหรับการปรับแต่งเกมแล้วนะ โดยสามารถใช้เพื่อปรับเครื่องเป็น Performance Mode เพื่อให้เล่นเกมได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น (ตอนเราทดสอบเกม ได้เปิด Performance Mode ตลอดนะ) รวมถึงสามารถปรับสายเรียกเข้าให้เป็น Pop-Up View แทนได้, ตั้งค่าการแจ้งเตือนให้ขึ้นเล็ก ๆ ด้านบนจอ หรือปิดแจ้งเตือนไปเลยได้, ล็อกความสว่างจอได้ และอัดภาพหน้าจอระหว่างเล่นเกมก็ได้นะ !

ในขณะเดียวกัน Game Dashboard ที่เป็นฟีเจอร์พื้นฐานมาจากสมาร์ตโฟน Pixel ก็ยังให้มาครบเหมือนเดิม แปลว่ายังใช้ดูเฟรมเรตได้เหมือนเดิมด้วยนั่นเอง ทั้งนี้ ฟีเจอร์เกี่ยวกับเกมทั้งหลายนี้ คาดว่าจะมีประโยชน์มากขึ้นกับเหล่าเกมเมอร์ โดยเฉพาะกับในสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ ๆ ของ Nothing ในอนาคต ที่จะใช้ชิปเซตที่เหมาะกับการเล่นเกมยิ่งกว่านี้นะ

และแน่นอนครับว่า CMF Phone 1 มาพร้อมกับซอฟต์แวร์ที่เป็น 1 ในจุดเด่นของเขาเลยก็ว่าได้ เพราะได้ใช้ Nothing OS ซึ่งความดีงามของ Nothing OS นี้ผมก็ได้กล่าวเอาไว้ในรีวิวรุ่นก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งประสบการณ์การใช้งาน Nothing OS บน CMF Phone 1 นั้นยังสามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีทุกอย่างเลย โดยจะมีฟีเจอร์ใหม่มาเพิ่มอีกเล็กน้อย เช่นปฏิทินที่สามารถแกะวันที่ได้ เหมือนปฏิทินจีนที่เรามานั่งฉีกวันที่ออกทุกวันได้เลย ! เท่มาก เพียงแต่ว่า ถ้าวันไหนที่เราไม่ว่างไปฉีกมัน วันที่มันก็จะค้างอยู่แบบนั้นนั่นแหละ สมจริงสุด ๆ

แม้วันที่ผู้เขียนถ่ายจะเป็นวันที่ 17 แล้ว แต่ปฏิทินก็ยังคงไว้ที่วันที่ 15 ต่อไป

ซึ่งโดยรวม ๆ แล้ว MediaTek Dimensity 7300 ใน CMF Phone 1 รุ่นนี้สามารถทำหน้าที่ได้ดีมากอยู่จริง ๆ ครับ คือถือใช้แล้ว แทบไม่รู้สึกถึงความหน่วงอะไรเลยแม้แต่น้อย การทำงานร่วมกันระหว่างชิปเซตและซอฟต์แวร์ทำได้ค่อนข้างดีมากเลยทีเดียว

กล้องถ่ายภาพ

ถ้าคุณคิดว่ากล้องถ่ายภาพของ Nothing Phone (2a) โดนลดทอนไปเยอะมากแล้ว CMF Phone 1 เครื่องนี้ โดนลดกล้องถึงจุดแล้วแน่นอนครับ เพราะว่ากล้องถ่ายภาพของ CMF Phone 1 นั้นมี 1 ตัวเท่านั้นครับ เป็นกล้องถ่ายภาพหลักเซนเซอร์ Sony IMX882 และเซนเซอร์ที่ Nothing บอกว่าเป็นเซนเซอร์สำหรับการช่วยถ่ายภาพบุคคล ซึ่งจากการตรวจสอบเพิ่มเติมแล้ว นี่คือ กล้องถ่ายภาพ Portrait แบบที่เรามักจะเห็นในสมาร์ตโฟนราคาประหยัด ความละเอียด 2 ล้านพิกเซลนั่นเอง

ซึ่งคุณภาพของภาพถ่ายนั้นสามารถทำได้ดีไหม โดยรวม ๆ แล้ว ผู้เขียนมองว่ากล้องถ่ายภาพยังสามารถถ่ายภาพออกมาได้ในระดับพอไหว คล้าย ๆ กันกับ Nothing Phone (2a) เลยครับ คือด้วยว่า นี่ยังคงเป็นเซนเซอร์ Sony IMX882 อยู่ ! ดังนั้น ภาพถ่ายโดยทั่วไปเลยยังสามารถถ่ายในสภาพแสงดี ๆ ได้ค่อนข้างดีมากอยู่ครับ ได้ภาพคมชัด สีไม่เพี้ยน และมีการปรับแต่งภาพมาพอสมควร ออกแนวเรียล ๆ หน่อย แต่สามารถเอาภาพไปใช้ได้เลยหลังถ่ายแน่นอนครับ

ที่จะยังคงแปลก ๆ เล็กน้อย เห็นจะเป็นการถ่ายภาพบุคคลครับ อาจจะด้วยว่าตอนที่เราทดสอบนี้ ยังคงเป็นซอฟต์แวร์เวอร์ชันแรก ๆ เท่านั้น ทำให้ภาพถ่ายบุคคลเลยถ่ายออกมาแล้วจะได้สกินโทนที่ค่อนข้างอมเหลืองเล็กน้อย และการตัดขอบของภาพยังออกมาดูแปลก ๆ อยู่บ้างในบางภาพ เช่นถ้ามีภาพบุคคลด้านหน้า และด้านหลัง ในบางภาพจะตัดขอบคนด้านหลังมาให้ชัดไปพร้อมกันด้วย ทำให้บางภาพยังพอสามารถใช้งานได้ แต่บางภาพก็จะออกมาดูแปลก ๆ เพราะภาพออกมามีภาพบุคคลอื่นชัดตามมาด้วยนั่นเอง ซึ่งค่อนข้างขัดกับการที่ตัวกล้องถ่ายภาพมีเซนเซอร์วัดระยะการถ่ายภาพบุคคล ที่เป็นกล้องวัดระยะการถ่ายภาพบุคคล แต่เป็นไปได้ว่าการทำงานของซอฟต์แวร์นั้นยังไม่ได้ Optimize กับกล้องวัดระยะนี้มากพอก็ได้ (คาดว่าน่าจะแก้ปัญหานี้ได้ในอนาคตนะ)

การถ่ายภาพซูม ด้วยความที่กล้องถ่ายภาพนั้นสามารถถ่ายได้ด้วยกล้องถ่ายภาพหลักตัวเดียวเท่านั้น ทำให้การถ่ายภาพซูมนั้นใช้แค่การครอปภาพจากกล้องถ่ายภาพหลักเท่านั้น รวมไปถึงไม่สามารถถอยภาพออกมาด้วยกล้องถ่ายภาพมุมกว้างมากอีกด้วย ซึ่งทำให้ระยะหวังผลของการถ่ายภาพซูมนั้นนั้นอยู่ที่ 2 เท่าเท่านั้น แต่ด้วยว่า CMF Phone 1 ไม่มีการกันสั่น OIS ทำให้ภาพถ่ายออกมาสั่นง่ายพอสมควรเหมือนกัน โดยเฉพาะเวลาซูม ซึ่งภาพด้านล่างนี้จะเป็นภาพที่ระยะ 1 เท่า, 2 เท่า, 5 เท่า และ 10 เท่า ตามลำดับ

และการถ่ายภาพในโหมดถ่ายภาพกลางคืนก็ถ่ายออกมาได้ค่อนข้างดีกว่าที่คิดนะ โดยเฉพาะสำหรับสมาร์ตโฟนในเรตราคานี้ สามารถถ่ายออกมาได้ค่อนข้างสว่างดี แต่ก็ไม่ได้สว่างมากจนเกินไป และการถ่ายภาพกลางคืนนั้นไม่ต้องเข้าโหมดถ่ายกลางคืนแยก แค่ยกกล้องมาถ่ายตอนกลางคืนก็จะถ่ายภาพกลางคืนด้วยการเปิดหน้ากล้องให้นานขึ้นโดยอัตโนมัติเลย

ในด้านการถ่ายวิดีโอนั้น สามารถถ่ายได้สูงสุดที่ 4K 30FPS หรือ 1080P 60FPS เท่านั้นเลย ซึ่งคลิปที่เราเอาให้ดูกันนี้ ถ่ายด้วยความละเอียด 1080P นะ ซึ่งตัววิดีโอในตอนทดสอบ อาจจะออกมาดูสีแปลก ๆ บ้างเล็กน้อย เรียกได้ว่าทำสีออกมาเหมาะกับการนำไปแต่งต่อมากกว่าเอามาใช้เลยหลังถ่ายนะ

ส่วนกล้องหน้าความละเอียด 16 ล้านพิกเซลจะอยู่ด้านบนตรงกลางนะ แต่ตัวกล้องนั้นจะมีขอบขาวอยู่ด้านบนด้วย ซึ่งอาจจะขัดตาของบางคนได้เหมือนกัน

ซึ่งถ้าเรื่องการถ่ายภาพบุคคลนั้นยังมีปัญหาแล้ว กล้องหน้าของ CMF Phone 1 นั้นยังมีปัญหาที่มากกว่า ด้วยสกินโทนของกล้องหน้านั้นออกมาค่อนข้างเหลืองมากกว่ากล้องหลังอีก แต่ตัวซอฟต์แวร์นั้นยังสามารถตัดขอบของภาพถ่ายบุคคลได้ค่อนข้างดีอยู่ เพียงแต่ว่า ตอนนี้ภาพหน้าคนยังคงออกมาดูแปลก ๆ อยู่บ้างในตอนนี้

คือรวม ๆ แล้วกล้องถ่ายภาพของ CMF Phone 1 ในเวลาที่รีวิวอยู่นี้ สามารถใช้เพื่อถ่ายภาพทั่ว ๆ ไปได้แบบสบาย ๆ แต่ถ้าเป็นการถ่ายภาพบุคคลนั้นจะออกมาดูแปลก ๆ ไปสักเล็กน้อย แต่คิดว่าด้วยการอัปเดตซอฟต์แวร์ในแบบของ Nothing คาดว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขต่อไปในอนาคตแน่นอนครับ (เพราะแม้จะเป็น Nothing Phone (2a) ก็แก้แล้วเรียบร้อย)

แบตเตอรี่

แบตเตอรี่ของ CMF Phone 1 นั้นให้มาที่ 5,000 มิลลิแอมป์ครับ ซึ่งเป็นจำนวนที่เรียกว่าเป็นมาตรฐานของสมาร์ตโฟนในปัจจุบันนี้แล้ว โดยการใช้งานแบตเตอรี่ของ CMF Phone 1 เครื่องนี้ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีมากครับ เป็นประโยชน์จากทั้งของชิปเซต Dimensity 7300 พร้อมกับ Nothing OS เวอร์ชันใหม่ที่ Optimize กับชิปเซต MediaTek Dimensity ได้ค่อนข้างดีแล้วด้วย โดยเราได้ลองเอาไปถือใช้จริง ๆ ในชีวิตจริงอยู่ โดยได้ชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 100% และเอามาใช้งานตั้งแต่ 10 โมงเช้า ยาวจนถึงเที่ยงคืน พร้อมกับ Scren On Time ประมาณ 4 ชั่วโมง 40 นาที แบตเตอรี่ยังเหลือที่ 33% เลยทีเดียว คาดว่าแบตเตอรี่นั้นน่าจะสามารถใช้งานแบบ Scren On Time ได้มากสุดถึงประมาณ 6 ชั่วโมง ได้แน่นอน ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว

ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่กลับนั้น สามารถชาร์จได้ด้วยมาตรฐานการชาร์จไวที่ 33W และสามารถใช้หัวชาร์จแบบ PD ชาร์จได้เลยครับ ซึ่ง ในกล่องไม่มีหัวชาร์จแบตเตอรี่ใด ๆ มาให้ ทำให้ไม่สามารถทดสอบการชาร์จแบเตอรี่กลับได้ครับ แต่จากการใช้หัวชาร์จ PD 90W ส่วนตัวในการชาร์จ ก็สามารถชาร์จได้เร็วไม่น้อยนะ

สรุปส่งท้าย

โดยสรุปแล้ว CMF Phone 1 เป็นสมาร์ตโฟนที่แปลกครับ นอกจากจะมาพร้อมกับคอนเซ็ปต์ของสมาร์ตโฟนที่ค่อนข้างแปลกใหม่ในปีนี้ ด้วยความสามารถในการเปลี่ยนฝาหลังทั้งฝา หรือเปลี่ยนอุปกรณ์เสริมเพิ่มเข้าไปในตัวเครื่อง แถมยังสามารถต่อยอดได้ค่อนข้างเยอะมาก ๆ จนเรียกได้ว่า ถ้ากระแสของ CMF Phone นั้นเป็นไปด้วยดี จะยิ่งทำให้ตลาดสมาร์ตโฟนเรตราคาต่ำหมื่น หรือเกือบหมื่นนั้นสั่นสะเทือนเลยก็ยังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรตราคานี้ที่แทบจะชนได้ทุกเจ้าในตลาดของประเทศไทย ด้วยเรตราคาและความสามารถที่ทำได้ และสเปกภายในที่ให้มาค่อนข้างคุ้มมาก ๆ เลย

เพียงแต่ว่า คู่แข่งที่สำคัญที่สุดของ CMF Phone 1 กลับเป็นสมาร์ตโฟนในบ้านตัวเอง อย่าง Nothing Phone (2a) ครับ ตลอดเวลาที่เราได้รีวิวกันมานั้น ได้มีการเทียบสเปกในเครื่องกับ Nothing Phone (2a) อยู่ตลอดเลย เพราะคู่แข่งบ้านตัวเองนี่แหละคือคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด ทั้งหน้าจอที่ดีกว่า, กล้องที่ดีกว่า, ซอฟต์แวร์ที่ปรับแต่งมาพร้อมกว่าแล้วในตอนนี้, ฟีเจอร์ไฟ Glyph Interface ที่แม้จะมีน้อย แต่ก็ยังคงมีให้เล่นอยู่ หรือกระทั่งมอเตอร์สั่นที่ดีกว่าด้วย มีเพียงแค่ชิปเซตที่ด้อยกว่า แต่มีความแตกต่างไม่ได้มากนักด้วย กลับกลายเป็นว่า เรตราคาของ CMF Phone 1 ที่วางจำหน่ายในประเทศไทยนั้น อยู่ในระดับที่ใกล้กับรุ่นพี่มากจนเกินไป จนทำให้รุ่น 2a อาจจะคุ้มกว่าที่จะซื้อมาใช้ในระยะยาว โดยยังไม่ได้นับเรื่องที่ว่า CMF Phone 1 ในต่างประเทศ วางจำหน่ายที่ราคาหลัก 7,000 – 8,000 บาทเท่านั้น

จะดีหน่อยก็คือในอนาคตที่เราซื้อ CMF Phone 1 ผ่านช่องทางออนไลน์ จะทำให้สามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกลงเมื่อใช้โค้ดลดต่าง ๆ ให้ราคาคุ้มยิ่งกว่าเดิม และยิ่งกว่ารุ่น 2a แน่ ๆ

เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ความคุ้มค่าอย่างมากของ CMF Phone 1 และสิ่งที่เงินประมาณ 7,000 – 8,000 บาทจะให้คุณได้นั้นจะได้เฉิดฉายอย่างแท้จริงเสียที

ส่งท้ายด้วยเรื่องราคากันเล็กน้อยครับ ราคาวางจำหน่ายในประเทศไทยของ CMF Phone 1 (ที่เป็นราคาเต็ม หรือ MSRP) นั้นจะมีให้เลือกซื้ออยู่ 2 ความจุด้วยกัน คือ

  • รุ่นแรม 8GB และรอม 128GB ราคา 9,499 บาท
  • รุ่นแรม 8GB และรอม 256GB ราคา 10,699 บาท

โดย CMF Phone 1 มีอุปกรณ์เสริมที่มาคู่กับมือถือที่วางจำหน่ายทั้งหมด ประกอบไปด้วย

  • เคส (ดำ, ส้ม, เขียวอ่อน, น้ำเงิน) ราคา 990 บาท
  • ขาตั้งมือถือ (Kickstand) ราคา 890 บาท
  • สายคล้องมือถือ (Lanyard) ราคา 890 บาท
  • เคสใส่บัตร (Card Case) ราคา 890 บาท

โดยทุก ๆ อย่างนั้นจะวางจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป โดยเริ่มหาซื้อได้ที่ Jaymart เป็นที่แรก ก่อนจะวางจำหน่ายที่หน้าร้าน dotlife ต่อไป รวมไปถึงช่องทางออนไลน์ Jaymart Website (เป็นที่แรก), Nothing Shopee Official Store และ Dotlife Website อีกด้วย

ถามว่า CMF Phone 1 เป็นสมาร์ตโฟนที่ดีไหม ดีครับ เอาจริง ๆ เป็นสมาร์ตโฟนที่ค่อนข้างคุ้มค่าคุ้มราคามาก ๆ และยังเป็นสมาร์ตโฟนที่มีจิตใจความเป็น Nothing เต็มเปี่ยม จนใคร ๆ ก็สามารถเลือกซื้อเป็นสมาร์ตโฟน Nothing เครื่องแรกก็ได้ หรือจะเป็นสมาร์ตโฟนเครื่องที่ 2 ก็ได้ หรือเพียงแค่ว่า อยากให้เป็นสมาร์ตโฟนเครื่องแรกของคนรุ่นใหม่ ๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน อยู่ที่คุณแล้วว่า สมาร์ตโฟนรุ่นไหนที่คุ้มค่าเงินที่จ่ายไปมากกว่ากัน