[รีวิว] Dell Precision 5690 โน้ตบุ๊กเวิร์กสเตชันที่ลงตัว สวย แรง เสถียร ปลอดภัย ในระดับมืออาชีพ
จุดเด่น
- ดีไซน์พรีเมียม
- พกพาสะดวก
- ประสิทธิภาพแรงระดับมืออาชีพ
- ความปลอดภัยระดับองค์กร
- ซอฟต์แวร์เสริมมีประโยชน์ ใช้ได้จริง
จุดสังเกต
- เห็นสายแพบริเวณบานพับ
- ไม่มีปุ่มลัดปิดกล้องเว็บแคม
Dell Precision 5690 เป็น “โน้ตบุ๊กเวิร์กสเตชัน” ที่มีความลงตัวในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่ดีไซน์ที่ดูพรีเมียม แถมพกพาสะดวก, ประสิทธิภาพและความเสถียรที่วางใจได้, ความปลอดภัยที่รัดกุมระดับองค์กร และวัสดุที่ใช้ก็คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกอย่างถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานเฉพาะทางระดับมืออาชีพ เช่น สถาปัตยกรรม, วิศวกรรม, งานออกแบบ 3 มิติ, งานตัดต่อวิดีโอ, งานสร้างแอนิเมชันและสร้างเกม, งานด้านการแพทย์ รวมถึงงานด้านวิเคราะห์ข้อมูล และการสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์ เรียกว่าเป็นโน้ตบุ๊กเวิร์กสเตชันที่น่าใช้มาก ๆ อีกหนึ่งรุ่น
สเปกของ Dell Precision 5690
dGPU | NVIDIA® RTX™ 4000 Ada | 12GB | GDDR6 |
CPU + iGPU | Intel Core Ultra 7 165H + Intel Arc Graphic |
RAM | 32GB (LPDDR5x 7467 MT/s) |
Storage | 1TB M.2 PCIe 4.0 NVMe SED |
Display | OLED 16 inches UHD+ (3840 x 2400) | 16:10 | 60Hz | 100% DCI-P3 | 400 nits (Touchscreen) |
Battery | 100 Whr Lithium battery (Support Type-C 140W Charger) |
OS | Windows 11 Pro |
Wi-Fi & Bluetooth | Intel Wi-Fi 7 BE200 2×2 + Bluetooth |
Dimensions | 35.3 x 24 x 2.21 cm. |
Weight | 2.17 kg. |
Speakers & Microphone | 4 x Speakers | 4 x Microphone |
Camera | 1080p (FHD) + IR Camera |
Port | 2 x Thunderbolt 4 | 1 x USB-C 3.2 | 1 x HDMI 2.1 | 1 x SD card reader | 1 x 3.5mm audio |
ดีไซน์
ต้องบอกว่าครั้งแรกที่เห็น Dell Precision 5690 ก็รู้สึกประทับใจในภาพรวมเลยล่ะ เพราะไม่คิดว่าโน้ตบุ๊กเวิร์กสเตชันที่ปกติจะดูเทอะทะ จะมีรูปลักษ์ที่ดูมินิมอล ไม่ต่างจาก Dell XPS โน้ตบุ๊กพรีเมียมที่ออกแบบมาให้ผู้บริหารใช้ (ใครไม่เห็นภาพลองเซิร์ชหาได้)
การออกแบบฝาหลัง Dell เขาทำให้ดูเรียบหรู มีแค่โลโก้ไว้ตรงกลางเท่านั้น ส่วนใต้เครื่องก็มีแค่ช่องดูดอากาศสำหรับระบายความร้อนและช่องลำโพง ส่วนด้านข้างก็เป็นแบบขอบตัดที่มีการไล่ระดับความเอียงที่จับแล้วรู้สึกสบายมือ ตัววัสดุเองก็น่าสนใจ แม้จะทำจากอะลูมิเนียมเหมือนกัน แต่มาจากอะลูมิเนียมรีไซเคิล 75% ผสมกับอะลูมิเนียมที่ผลิตจากกระบวนการปล่อยมลพิษต่ำอีก 25% นอกจากส่วนที่เป็นพลาสติก 18% ก็มาจากการรีไซเคิลวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้ว (PCR) อีกด้วย
ขนาดและน้ำหนักเองก็เป็นหนึ่งเรื่องที่ Dell Precision 5690 ทำออกมาได้ดี โดยความหนาอยู่ที่ 2.21 ซม. และน้ำหนักอยู่ที่ 2.17 กก. เท่านั้น ถือว่าค่อนข้างบางและเบา พกพาได้ค่อนข้างสะดวก หากเทียบกับโน้ตบุ๊กเวิร์กสเตชันทั่วไปที่จะหนาประมาณ 2.5 ซม. และหนักราว 2.7 กก. นอกจากนี้ตัวอะแดปเตอร์จ่ายไฟ 140W เองก็ยังมีขนาดที่เล็กมาก ๆ ไซซ์พอ ๆ กับ Powerbank 30,000 mAh เลยล่ะ ยิ่งทำให้การพกพาสะดวกยิ่งขึ้น
ในภาพรวมคิดว่า Dell Precision 5690 มีดีไซน์และขนาดที่ลงตัวกับการถือใช้งานในทุกสถานการณ์ ในบ้านก็ดูเข้ากับโต๊ะที่จัดแบบมินิมอล ถ้ายกไปร้านกาแฟก็ดูดี หรือถ้าหยิบไปคุยงานกับลูกค้าก็ช่วยเสริมภาพลักษณ์ นอกจากนี้ยังรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
พอร์ตเชื่อมต่อ
กับการทำงานเฉพาะทางเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น External SSD, External Monitor รวมถึงต้องต่อสายชาร์จไปพร้อม ๆ กัน ซึ่ง Dell Precision 5690 เองก็ให้พอร์ตมาค่อนข้างครบเลยล่ะ มีทั้ง Thunderbolt 4.0 (40 Gbps) จำนวน 2 พอร์ต ที่นอกจากรับส่งข้อมูลได้แล้ว ยังเสียบชาร์จไฟและต่อหน้าจอแยกได้ รวมถึงมี HDMI 2.1 สำหรับต่อหน้าจอแยก และมีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. อีกด้วย
ส่วนอีกฝั่งก็จะมีช่อง USB-C 3.2 Gen 2 ที่มีทุกอย่างเหมือนกับ Thunderbolt แต่จะเร็วไม่เท่า จุดที่ชอบคือรุ่นนี้มี SD Card Reader ในตัว ทำให้คนที่ทำงานตัดต่อหรือแต่งภาพสามารถดึงไฟล์จาก SD Card ได้สะดวกขึ้นมาก นอกจากนี้ยังมีตัวเลือก (Optional) สำหรับ Smart-card reader ไว้อ่านชิปที่อยู่บนบัตรด้วยนะ
เอาจริงๆ คิดว่า Dell Precision 5690 ขาดแค่พอร์ต USB-A อย่างเดียวเลย ถ้าเกิดต้องเสียบพวก Security Key ที่หัวเป็น USB-A ก็จะต้องหาดองเกิลมาเสียบ และส่วนตัวก็คิดว่ายังมีพื้นที่พอจะให้ใส่เข้าไปด้วย
หน้าจอ & ลำโพง
เรื่องหน้าจอก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่คนทำงานเฉพาะทางระดับมืออาชีพให้ความสำคัญ เพราะงานบางสายที่เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์หรือภาพยนตร์ ซีเรียสกับเรื่องความเที่ยงตรงของสีมาก ชนิดที่ว่าผิดเพี้ยนนิดเดียวก็ไม่ได้ หน้าจอก็เลยมีความสำคัญมาก ด้วยความที่ Dell Precision 5690 เป็นเครื่องเวิร์กสเตชันที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานที่ครอบคลุม สเปกหน้าจอเลยมีให้เลือก 2 ประเภทคือ IPS สำหรับการใช้งานทั่วไป และ OLED สำหรับกลุ่มที่จริงจังเรื่องสีสันโดยเฉพาะ
ซึ่งเครื่องที่เราได้มารีวิวเป็นหน้าจอประเภท OLED กับค่าการแสดงสีสันระดับ 100% DCI-P3 ซึ่งเป็นค่าสีมาตรฐานที่ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เรื่องการแสดงสีสันจึงถือว่าตอบโจทย์ นอกจากนี้ถ้าเราต้องทำงานร่วมกับอุปกรณ์ของคนอื่นที่มีค่าสีจำพวก sRGB ก็มีซอฟต์แวร์ Dell Monitor ไว้ปรับให้ตรงกันได้ โดยตัวเลือกก็จะมี sRGB, Adobe RGB, DCI-P3, SD และ HD Video
ส่วนความกว้างก็อยู่ที่ 16 นิ้ว 60Hz บนสัดส่วน 16:10 กับความคมชัด UHD+ (3840×2400) หรือก็คือ 4K นั่นแหละ จากที่ได้ลองใช้มาก็รู้สึกว่ายังไง 16 นิ้วก็เหมาะกับการทำงานมากกว่าจอเล็ก ๆ เพราะมีพื้นที่ใช้งานเยอะ และยังคมชัดมาก เวลาทำงานมองจอนาน ๆ ก็ไม่ได้รู้สึกปวดตาหรือต้องเพ่งเลย แต่ถึงอย่างนั้นข้อเสียของจอนี้อย่างเดียวคือความสว่างมีเพียง 400 nits ที่เหมาะกับการใช้ในร่มเท่านั้น ส่วนตัวคิดว่าถ้าต้องทำงานกลางแจ้ง หรือที่ ๆ มีแสงเยอะ ๆ ความสว่างนี้อาจจะไม่เพียงพอ
อีกเรื่องที่ต้องพูดถึงคือระบบเสียงที่มีลำโพงมาให้ถึง 4 ตัว แยกเป็นลำโพงเสียงกลาง-แหลม 2 ตัว ที่แผงข้างคีย์บอร์ด และลำโพงเสียงเบสอีก 2 ตัว ที่ใต้เครื่อง ทำให้มีรายละเอียดและมิติเสียงที่กว้าง และมีความดังมากเท่าที่โน้ตบุ๊กหนึ่งเครื่องจะมีได้ กับการประชุม หรือฟังเสียงตอนตัดต่อถือว่าให้คุณภาพเสียงดี แต่ถ้าต้องทำงานจริงจัง อย่าง Sound engineering อันนี้ก็ต้องพึ่งอุปกรณ์แยกอยู่ดีครับ
เว็บแคม & ไมโครโฟน
ก่อนหน้านี้เราพูดถึงลำโพงกับการประชุมไปว่าเสียงดีใช่ไหมครับ ส่วนนี้ก็จะมาเล่าต่อในส่วนของเว็บแคมและไมโครโฟนไปด้วยเลย ตามสเปกแล้ว Dell Precision 5690 มากับกล้องเว็บแคม 1080p คู่กับระบบอินฟราเรด IR สำหรับใช้งานฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น สแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อกเครื่องผ่าน Windows Hello รวมถึงฟีเจอร์ป้องกันคนแอบมองหน้าจอด้วย จุดนี้ก็ช่วยเรื่องความปลอดภัยในระดับหนึ่ง ส่วนคุณภาพของกล้องเว็บแคมเองก็ถือว่าคมชัดมากพอสำหรับการประชุม และยังมีฟีเจอร์ช่วยลดจุดรบกวนให้ได้ปรับใช้อีกด้วย
ด้านไมโครโฟนก็มีมาถึง 4 ตัว แบ่งเป็น 2 ตัวแรก สำหรับรับเสียงพูด และอีก 2 ตัว สำหรับใช้กับฟีเจอร์ตัดเสียงรบกวน เวลาใช้อัดเสียงหรือประชุมออนไลน์ก็จะทำให้เสียงเราชัดขึ้น และตัดเสียงที่ไม่ต้องการออกไปครับ ส่วนตัวคิดว่าฟีเจอร์กล้องและไมค์อันนี้คนทำงานที่ต้องประชุมบ่อย ๆ ได้ใช้แน่นอน
คีย์บอร์ด & ทัชแพด
สลับกลับมาดูเรื่องคีย์บอร์ดและทัชแพดกันบ้าง จากประสบการณ์ที่เคยรีวิวโน้ตบุ๊กมาหลายรุ่น เจอคีย์บอร์ดมาหลายแบบ ก็พบว่า Dell Precision 5690 ให้สัมผัสการพิมพ์ที่ดีเลยนะ ระยะการกดไม่ได้ตื้นมาก และระยะห่างระหว่างปุ่มกำลังพอดี และทุกครั้งที่กดเราจะรู้สึกได้ถึงการทำงานของกลไกใต้ปุ่ม เอาจริง ๆ แอบคล้ายความรู้สึกตอนพิมพ์ Mechanical Keyboard เลยนะ ส่วนตัวคิดว่าเป็นคีย์บอร์ดที่พิมพ์มันเลยล่ะ นอกจากนี้ที่ปุ่มเปิด-ปิดเครื่องก็ยังสแกนลายนิ้วมือได้ด้วยนะ และยังมีปุ่ม Copilot สำหรับเรียกใช้งานฟีเจอร์ AI ได้อย่างรวดเร็ว
ทัชแพดเองก็เป็นแบบสั่น (Haptic) ที่เมื่อกดน้ำหนักปลายนิ้วลงไปเพื่อคลิก ก็จะมีการสั่นเล็กน้อยตอบกลับมา ปกติแล้วทัชแพดแบบนี้มักจะอยู่บนโน้ตบุ๊กตัวท็อป น้อยครั้งนักที่จะเห็นบนโน้ตบุ๊กเวิร์กสเตชัน อีกอย่างที่รู้สึกถูกใจมากคือขนาดทัชแพดที่กว้างขวางมาก ๆ ทำให้การลากเมาส์มีความละเอียดมาก จากที่ลองใช้ สามารถลากไฟล์ข้ามหน้าจอได้โดยไม่ต้องยกนิ้วขึ้น
ประสิทธิภาพ & ความเสถียร
มาถึงเรื่องประสิทธิภาพและความเสถียรของ Dell Precision 5690 กันบ้าง อย่างที่เห็นสเปกในตารางช่วงต้นบทความ ก็จะเห็นว่า dGPU หรือการ์ดจอแยกที่ให้มาจะเป็น NVIDIA® RTX™ 4000 Ada Generation (Laptop) พร้อมแรม (RAM) ในตัว 12GB (GDDR6) ดูเผิน ๆ อาจจะคล้ายการ์ดจอเล่นเกม แต่จริง ๆ แล้วนี่คือการ์ดจอที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำงานโดยเฉพาะ โดยตัวการ์ดจะเด่นในส่วนของแรม (RAM) และ Tensor Core หรือแกนประมวลผลสำหรับฟีเจอร์และการเทรนด์ AI และ ML ที่เยอะกว่าการ์ดจอทั่วไป ทำให้มีประสิทธิภาพสูงกว่า
นอกจากประสิทธิภาพที่ดีกว่าแล้ว การ์ดจอ NVIDIA® RTX-Series ยังมากับความเสถียร ระดับที่ใช้งานหนักเป็นเวลานาน ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา เนื่องจากแรม (RAM) ภายในการ์ดจอมีระบบ ECC หรือ Error-Correcting Code ไว้ตรวจเช็กและแก้ไขข้อมูลที่มีอยู่ว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกก็จะแก้ไขก่อนส่งไปให้ซีพียูประมวลผลต่อ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการคำนวณผิดพลาด จนทำให้ซอฟต์แวร์ทำงานที่เปิดอยู่เกิดอาการค้างหรือปิดตัวลง
ส่วนของไดร์เวอร์ (Driver) เองก็มีความพิเศษมากกว่าตรงที่จะมีการปรับแต่งรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อใช้งานกับซอฟต์แวร์มืออาชีพโดยเฉพาะ ทำให้ใช้งานเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงเรียกใช้ได้ทุกฟีเจอร์ นอกจากนี้ยังมีการปล่อยอัปเดตมาอย่างรวดเร็วและถี่กว่าไดร์เวอร์ของการ์ดจอเกมมิง
ด้าน CPU ก็ใช้เป็น Intel Core Ultra 7 165H ก็เป็นชิปที่มีหน่วยประมวลผล NPU ในตัว ซึ่งช่วยส่งเสริมเรื่องการใช้งาน AI ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีแรมในเครื่องถึง 32GB เพื่อรองรับการทำงานพร้อมกันหลาย ๆ โปรแกรม อีกทั้งยังใช้หน่วยเก็บข้อมูลแบบ SSD NVMe M.2 ขนาด 1TB ถ้าถามว่าประสิทธิภาพเป็นอย่างไร เราได้ทดสอบในหลาย ๆ ด้านและแยกหัวข้อมาให้แล้ว ลองดูที่ด้านล่างได้เลย
GPU | |
Geekbench 6 (OpenCL) | 139,462 Score |
Cinebench 2024 (GPU) | 14,393 pts |
CPU | |
Geekbench 6 | Single Core : 2,418 | Multi Core : 13,064 |
Cinebench 2024 | Single Core : 103 pts | Multi Core : 977 |
Storage | |
CrystalDiskmark | Read: 7,039 MB/s Write: 5,708 MB/s |
AI | |
Benchmark ML | 3,198 Score |
จากที่ได้ลองใช้งานมากับหลาย ๆ ด้าน ทั้งการตัดต่อวิดีโอกับ Davinci resolve และ Adobe Premiere Pro รวมถึงโปรแกรมด้าน 3D อย่าง Blender และ AutoCAD Mechanical ก็พบว่าใช้งานได้ลื่นไหล ไม่มีอาการเด้ง หรือค้างแต่อย่างใด แม้ว่าเครื่องจะทำงานหนักจนสัมผัสได้ถึงความร้อนที่แผ่ออกบริเวณคีย์บอร์ด เรียกว่าใช้งานได้อย่างเสถียรและไว้ใจได้เลยว่างานจะไม่เสียหายจากความผิดพลาดของอุปกรณ์ ซึ่งความเสถียรแบบนี้จะหาได้จากโน้ตบุ๊กเวิร์กสเตชันเท่านั้น แตกต่างจากโน้ตบุ๊กเกมมิงที่จะเน้นเรื่องความแรงอย่างเดียว
นอกจากนี้โน้ตบุ๊กเวิร์กสเตชันของ Dell ก็มีใบรับรอง ISV Certification ว่าสามารถใช้งานร่วมกันกับซอฟต์แวร์ทำงานระดับมืออาชีพในสายงานวิศวกรรม สื่อและความบันเทิง และวิทยาศาสตร์ ได้อย่างเสถียรและเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถเข้าไปเช็กได้เลยว่าโน้ตบุ๊กเวิร์กสเตชันที่ต้องการรองรับการใช้งานกับซอฟต์แวร์ไหนผ่านหน้าเว็บไซต์ได้เลย
ความปลอดภัย และการจัดการ
เรื่องความปลอดภัยเองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่โน้ตบุ๊กเวิร์กสเตชันให้ความสำคัญ เพราะส่วนใหญ่งานที่ทำก็มักจะมีมูลค่าสูงซึ่งจำเป็นต้องใช้ระบบความปลอดภัยมากกว่าปกติ จากที่ได้ทดสอบดูก็เจอว่าใน Dell Precision 5690 มีระบบความปลอดภัยทั้งในส่วนของ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ตั้งแต่ระบบสแกนนิ้วและสแกนใบหน้า เพื่อใช้ในการปลดล็อกเครื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่ไม่ใช่เจ้าของมาแอบใช้งาน, ช่องล็อกเครื่อง Kensington เพื่อป้องกันการขโมยอุปกรณ์, ระบบแจ้งเตือนการงัดแงะเครื่อง, ระบบแจ้งเตือนการแอบสลับเปลี่ยนฮาร์ดแวร์, ระบบแจ้งเตือนเมื่อมีคนมาแอบมองหน้าจอ, ระบบจัดเก็บข้อมูล RAID และอีกหลายอย่างที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับการใช้งานทั้งแบบส่วนตัวและในรูปแบบองค์กร
พูดถึงการใช้งานในองค์กร อีกสิ่งที่โน้ตบุ๊กเวิร์กสเตชันจำเป็นต้องมีคือ ซอฟต์แวร์การจัดการที่ใช้ง่าย เพื่อจะได้ประหยัดเวลาเมื่อเจอปัญหาต่าง ๆ ซึ่งใน Dell Precision 5690 ก็มีหลายตัวที่ได้ลองแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์มาก ๆ อย่างเช่น Dell Optimizer ที่ตั้งค่าฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้ตั้งแต่การปรับแต่งประสิทธิภาพ รูปแบบการชาร์จ ฟีเจอร์ความเป็นส่วนตัว รวมถึงมีฟีเจอร์วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานและประสิทธิภาพเครื่องว่าเป็นอย่างไร เพียงพอกับการใช้งานหรือไม่ และสามารถสรุปออกมาเป็นรายงานให้ได้ด้วย
ส่วนซอฟต์แวร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจก็จะมี Dell PremierColor ปรับจูนสีตามมาตรฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในด้านกราฟิก และยังมี Dell SupportAssist ที่ตรวจสอบการทำงานของเครื่องว่าทำงานปกติหรือไม่ รวมถึงการอัปเดตซอฟต์แวร์ให้อัตโนมัติเลย
ข้อสังเกต
มาพูดถึงข้อสังเกตที่เจอจากการใช้งานกันบ้าง อย่างแรกที่เจอเลยคือบริเวณบานพับจะมีสายส่งภาพที่โผล่ออกมา แม้ว่าจะมีจุดซัปพอร์ตแล้ว แต่ก็ดูไม่ปลอดภัยอยู่ดี ถ้ามีอะไรไปเกี่ยวก็อาจจะทำให้สายเสียหายได้ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะออกแบบให้ซ่อนอยู่บริเวณบานพับก็จะดีกว่าครับ ส่วนอีกจุดคือไม่มีปุ่มปิดกล้องเพื่อความเป็นส่วนตัว ทั้งปุ่มบนคีย์บอร์ด และม่านชัตเตอร์ ส่วนตัวคิดว่าอย่างน้อยก็น่าจะมีปุ่มให้กดบนคีย์บอร์ดก็จะช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวได้มากขึ้น
สรุป
Dell Precision 5690 นับเป็นโน้ตบุ๊กเวิร์กสเตชันที่เด่นทั้งด้านประสิทธิภาพ ความเสถียร และความปลอดภัย เหมาะกับการใช้งานในระดับมืออาชีพ อีกทั้งดีไซน์ก็ยังทำออกมาดูทันสมัย ในขนาดที่เหมาะกับการพกพา ถือใช้งานในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เรียกว่าเป็นเวิร์กสเตชันที่มีครบทุกเรื่องในเครื่องเดียว
ติดต่อ
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Dell Latitude หรือ Dell Precision หรือ PC และ Notebook สำหรับการทำงานรุ่นอื่น ๆ จาก Dell Technologies ติดต่อ คุณวศิน โทร. 090-9490-823 หรือ Email: [email protected]