Our score
8.3[รีวิว] Panasonic Lumix S9 กล้องฟูลเฟรมตัวจิ๋ว สร้างสรรค์โทนจบหลังกล้องอย่างง่าย !
กล้อง Full frame ตัวจิ๋ว ในขนาดเท่าฝ่ามือ สร้างสรรค์ไอเดียได้ไม่จำกัดด้วยฟีเจอร์จบหลังกล้อง Real-Time LUT 'Panasonic Lumix S9'
จะเป็นยังไงถ้าเราสามารถใส่โทนจบหลังกล้องได้เลยแบบไม่ต้องง้อโปรแกรมแต่งภาพ ด้วยเจ้า Panasonic Lumix S9 ที่รองรับการใส่ Real-Time LUT ได้ถึง 36 ตัว ใช้ได้ทั้งภาพนิ่ง/วิดีโอ จะโหลดโทนจากแอปมาใช้ก็ได้ หรือจะสร้างโทนไว้ใช้เองก็ดี การใช้งานจริงเป็นยังไงบ้าง จะเปลี่ยนการทำงานเดิม ๆ ของเราได้แค่ไหน เรามาดูไปพร้อมกันครับ !
จุดเด่น
- Full frame 24MP ตัวเล็ก น้ำหนักเบาไม่ถึง 500 กรัม
- สเปกเหมือนถอดรุ่นพี่ Lumix S5 II มาใส่
- จบหลังกล้องได้ด้วย Real-Time LUT
- มีระบบโฟกัส PDAF
- สเปกวิดีโอแน่น ๆ รองรับยัน 6K 30p
- มี Open Gate ถ่ายเต็มเซนเซอรื 3:2 ได้
- รองรับแอป Lumix Lab ตัวใหม่
- มีหลายสีให้เลือก แดง, เขียว, ดำ
จุดสังเกต
- ไม่มีช่องมองภาพ EVF
- ไม่มีพัดลมระบายความร้อน ถ่ายวิดีโอได้ในระยะเวลาจำกัด
- บอดี้มาแบบเรียบ ๆ อาจถือไม่ถนัด ต้องหากริปเสริม
- ไม่มีช่องหูฟัง 3.5mm
- ไม่มีชัตเตอร์กลไก เป็นแบบไฟฟ้าล้วน
- ยิงแฟลชไม่ได้ ช่องเสียบเป็๋นแบบ Cold Shoe
- ช่องเสียบ SD Card มีช่องเดียว
-
สเปกภาพนิ่ง
7.9
-
สเปกวิดีโอ
8.7
-
ระบบโฟกัส
8.5
-
กันสั่น 5 แกน
8.2
-
จบหลังกล้องด้วย Real-Time Lut
10.0
-
การจับถือ
5.0
-
ขนาดและน้ำหนัก
10.0
-
แบตเตอรี่
8.5
-
ความคุ้มค่า
8.0
หากเราพูดถึงการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล สิ่งที่เป็นมาโดยตลอดแล้วหนีไม่พ้นก็คือการแต่งภาพนั้นเองครับ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถจบหลังกล้องได้จากพรีเซตที่เราโหลดไว้จากในตัวกล้องได้โดยตรงอย่างกับผ่าน Lightroom มาแล้ว กดชัตเตอร์ปุ๊บอัปลงโซเชียลได้ทันที กับ Work Flow ที่รวดเร็วขึ้นไม่ต้องเสียเวลาเอาลงคอม หรือโยนลงมือถือมาแต่งต่ออีกที
และในวันนี้กล้องที่ออกมาแหวกขนบเดิม ๆ ก็มาอยู่ในมือของเราแล้วครับ กับเจ้า ‘Panasonic Lumix S9’ กล้องฟูลเฟรมมิเรอร์เลสตระกูล L-mount ตัวจิ๋ว แต่แฝงไว้ด้วยสเปกระดับรุ่นพี่ กับฟีเจอร์ Real-Time LUT ใส่โทนจบหลังกล้องได้ทั้งภาพนิ่ง และวิดีโอ ‘Shoot, Share’ ได้ทันทีไม่ต้อง Edit เพิ่ม พร้อมฟีเจอร์วิดีโอระดับ 6K 30p 10-bit แถมมี Open Gate ด้วยนะ !
สเปก Panasonic Lumix S9
- เซนเซอร์ Full frame CMOS 24 ล้านพิกเซล (PDAF)
- กันสั่น 5 แกน 5 สต็อป
- ระบบโฟกัสตรวจจับ มนุษย์ / สัตว์ / รถยนต์ / รถจักรยานยนต์
- 4K 3:2 open-gate 30p 4:2:2 10-bit พร้อม Codec ใหม่ MP4 (Lite)
- 6K 3:2 open-gate 30p 4:2:2 10-bit
- 6K และ 4K DCI/UHD เต็มเซนเซอร์ 30p
- 4K DCI/UHD APSC-Crop 60p
- ถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุด 30fps
- มีปุ่ม LUT ใช้งานได้ทั้งภาพนิ่ง และวิดีโอ
- ฟีเจอร์ Hybrid Zoom
- รองรับแอปฯ ตัวใหม่ Lumix Lab
- Dual Native ISO
- ISO 100-51200 (ขยาย 50-204800)
- การ์ด SD UHS-II 1 ช่อง
- จอ LCD ระบบสัมผัสพับได้รอบทิศ 1.84 ล้านจุด
- micro HDMI/ไมค์ 3.5mm
- USB-C 3.2 Gen 2
- แบตเตอรี่ BLK22
- น้ำหนักบอดี้ 486 กรัม
- L-mount
Lumix S9 กล้องฟูลเฟรมตัวจิ๋ว กับไส้ในสุดแจ่มที่ยกมาจากรุ่นพี่ S5 II
สำหรับ Lumix S9 ถ้าอ่านจากสเปกด้านบนจะบอกว่าจริง ๆ แล้วมันคือ Lumix S5 II ใน Form factor ที่เล็กลงพกพาสะดวกมากขึ้นก็ว่าได้ครับ ไม่ว่าจะเซนเซอร์ Full frame CMOS 24 ล้านพิกเซล ความสามารถด้านวิดีโอ หรือระบบโฟกัส Phase Detection แต่ก่อนจะเริ่มไปเจาะในส่วนต่าง ๆ เรามาดูกันที่รูปลักษณ์ภายนอกกันก่อน
โดยที่ Lumix S9 มาในไซซ์ประมาณเพียงฝามือเดียวเท่านั้น เรียกว่าจิ๋วมาก น้ำหนักบอดี้ไม่ถึง 500 กรัม แต่ด้วยเมาท์เลนส์ที่เป็น L-mount ทำให้เมาท์ดูใหญ่โตไม่ธรรมดาทีเดียว ซึ่งภายในก็ยังมีระบบ IBIS หรือกันสั่น 5 แกน มาด้วย แต่ก็ถูกลดหลั่นลงมาจาก Lumix S5 II เหลือ 5 สต็อป แต่อันนี้ก็เข้าใจได้ครับด้วยขนาดบอดี้ที่จำกัดล่ะเนอะ (แต่ใช้งานจรืงแม้ถือถ่ายวิดีโอด้วยเลนส์ 85mm ก็ถือว่านิ่งอยู่น้า)
ในส่วนด้านหลังจะเห็นเลยว่ามีปุ่ม LUT เด่นสะดุดตา ให้เรากดปรับเปลี่ยน LUT จากในตัวกล้องได้สะดวกสุด ๆ (เราจะมาเจาะลึกกันอีกครั้งในหัวข้อถัดไป) พร้อมจอ LCD แบบฟลิบปรับหมุนได้รอบทิศทาง ซึ่งก็เหมาะมากในงานวิดีโอ กับความละเอียด 1.84 ล้านจุด ที่ถือว่าละเอียด ดีเทลดีทีเดียวครับ
แน่นอนว่าเห็นโล่ง ๆ แบบนี้ไม่มีช่องมองภาพ EVF นะครับ อยากได้กล้องเล็กเบาก็ต้องแลกบางสิ่งบางอย่างเหมือนกัน เช่น พัดลมระบายความร้อน, ช่องมองภาพ และ Mechanical Shutter ซึ่งรุ่นนี้จะใช้เพียงชัตเตอร์ไฟฟ้าล้วน ๆ เพียงอย่างเดียวเลยครับ
นั้นหมายความว่าอะไร? หมายความว่ายิงแฟลชก็ไม่ได้ด้วยนั้นเอง เพราะส่วนด้านบนช่องเสียบแฟลชเป็น Cold Shoe มาเลย ไว้เสียบพวกอุปกรณ์เสริมอย่างพวกไมค์เท่านั้น เสียบแฟลชไปก็ยิงไม่ออกเพราะไม่ใช่ Hot Shoe เพราะเหตุนี้ใครจะคิดว่าซื้อกล้องตัวนี้ถ่ายทั้งภาพนิ่ง/วิดีโอ แต่อยากยิงแฟลชด้วยเจ้า Lumix S9 อาจไม่เหมาะนักนะครับ
ด้านพอร์ตต่าง ๆ มีช่องเสียบไมค์ 3.5mm, microHDMI, USB-C ที่ชาร์จไฟผ่านตัวกล้องได้โดยตรง ชาร์จไปถ่ายไปก็ได้ กับอีกจุดที่ต่างจาก Lumix S5 II คือช่องเสียบเมมที่รองรับ SD Card UHS-II เพียงช่องเดียวเท่านั้นครับ อยู่ช่องเดียวกับแบตเตอรี่ BLK22 ที่ใต้ตัวกล้อง เวลาเอาไปติดขาตั้งกล้องอยากเปลี่ยนเมมก็อาจจะลำบากนิดหน่อย
แต่ถ้าถามว่าการจับถือเป็นอย่างไรบ้าง สำหรับเจ้า Lumix S9 ถ้าติดเลนส์เบา ๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรครับ แต่สำหรับคนที่มือใหญ่หน่อยอาจไม่ชินเพราะตัวมันเองดีไซน์มาแบบเรียบ ๆ ไร้กริปช่วยจับ ถ้าใครคิดว่าถือแล้วไม่ถนัด ในตลาดก็มีของเสริมอย่างกริปแยกมาช่วยอยู่ครับ ใส่แล้วหน้าตาก็ดูหล่อขึ้นด้วยนะ แต่ก็อาจทำให้ตัวกล้องหนักขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน
Real-Time LUT ฟีเจอร์เปลี่ยนโลก ครั้งแรกที่ใช้งานได้ทั้งภาพนิ่ง/วิดีโอ โหลดโทนจากแอปมาใส่จบหลังกล้องอย่างง่าย !
สิ่งที่รุ่นนี้ชูมาก ๆ ก็ต้องเป็นฟีเจอร์ ‘Real-Time LUT’ นี่ล่ะครับ ที่ทำให้เราถึงขั้นสงสัยในความแปลกใหม่ขนาดไปขอยืมกล้องมาจากทาง Panasonic Thailand ด้วย Workflow แบบใหม่ที่สะดวก และรวดเร็วที่เคย สามารถใส่ LUT ได้สูงสุด 36 ตัว (ซึ่งถ้าเทียบกับ S5 II แล้ว ตัวนั้นทำได้เพียง 10 ตัวเท่านั้นครับ แถมตัวนั้นยังใช้ได้แค่โพรไฟล์ V-Log เท่านั้นอีก)
Lumix S9 เลยมาตอบโจทย์คนที่อยากได้คุณภาพแบบจบหลังกล้องได้เลยโดยไม่ต้องเอาไปแต่งอะไรเพิ่ม และยังเป็นครั้งแรกที่ใช้งานในโหมดภาพนิ่งได้ด้วยนะ โดยการใช้งานจะใช้ร่วมกับแอปตัวใหม่ ‘Lumix Lab’ ที่มีให้ดาวน์โหลดทั้ง iOS และ Android เลย
โดยในตัวแอปเองจะมีให้เราโหลด LUT มากมายจากเหล่า Creator ชื่อดัง หรือจะสร้าง LUT เองในแอปตัวนี้ก็ทำได้เช่นเดียวกัน รวมไปถึงเอา LUT จากในคอมที่เป็นามสกุลไฟล์ .cube มาใช้ก็ได้นะ
หน้าตาของแอป Lumix Lab
สำหรับเจ้าแอป Lumix Lab ตัวมันเองทำหน้าที่เป็นตั้งแอปรีโมต, ถ่ายโอนรูป/วิดีโอ แล้วยังสามารถแต่งภาพทำเป็น LUT ไว้ใช้เองหรือโหลด LUT ที่เหล่า Creator ทำไว้ให้ก็ได้ครับ บางคนอาจแต่งไม่เก่งก็มีแบบสำเร็จให้โหลดกันจนเรียกว่ามากจนเหลือเฝือเลยล่ะ ทั้งสำหรับภาพนิ่ง และวิดีโอ
มาที่หน้าสำหรับจัดการ LUT ที่โหลดเข้ามาในสมาร์ตโฟนของเราเพื่อเตรียมถ่ายโอนไปยังกล้อง และหน้า Import LUT ไฟล์.cube เหมือนที่ใช้งานกันในโปรแกรมเกรดสีต่าง ๆ
ส่วนถัดมาเป็นหน้าสำหรับแต่งภาพ ถ่ายโอนรูปจากตัวกล้องมาลองแต่งด้วย LUT ที่มีในสมาร์ตโฟนก่อน หรือจะแต่งโทนตัวใหม่โยนไปบนกล้องก็ทำได้ ซึ่งสะดวกมาก ๆ เวลาอยากจบหลังกล้องที่หน้างาน เทสต์รูปสัก 1 ใบ ที่เหลือถ่ายใส่ LUT ใช้กันยาว ๆ ไปเลย (แถมก่อนโหลด LUT ตัวใหม่ ๆ ยังเอารูปที่มีในเครื่องไปลองพรีวิวก็ได้ด้วย !)
โดยที่หัวข้อการแต่งภาพจะมีให้เลือกกันแบบครอบคลุมอย่างกับย่อ Lightroom มาอยู่ในแอปตัวนี้เลยทีเดียว ได้แก่
- Light สำหรับปรับค่าแสง
- Color ปรับ WB และความสด
- HSL ปรับสีแยกแต่ละเฉดอย่างละเอียด
- ปรับ Tone Curve ที่เลือกได้ทั้ง R/G/B
- Split Tone เจือสีลงในส่วน Highlight และ Shadow
- Detail เพิ่มความคมชัดของภาพ และลด Noise
- Effect เพิ่มเกรนหรือเพิ่มลดขอบมืด
- Crop / Rotate ไว้จัดองค์ประกอบภาพเพิ่มเติม
การใช้งาน LUT บนตัวกล้อง
เมื่อเราโหลด LUT ลงกล้องเสร็จสรรพแล้ว เราก็สามารถกดปุ่ม LUT เรียกใช้ได้ทันทีครับ ซึ่งไม่เพียงการเอาโทนมาใช้ได้เลยเท่านั้น แต่ยังสามารถปรับจูนเพิ่มเติมได้อีก ทั้ง Opacity ความเข้มของโทน, สีสัน, Highlight, Shadow ในหน้างานที่แบบเราต้องการจะปรับแต่งเพิ่มอีกนิดหน่อยก็ถือว่าสะดวกมาก ๆ เลยล่ะครับ เพราะไม่ใช่ว่าโยน LUT ไปแล้วจะเหมาะกับทุกสภาพแสงนั้นเอง
ซึ่งการที่เราเห็นภาพมีโทนสวย ๆ จากหลังกล้องเลยก็เป็นอะไรที่ฟินพอสมควร ไม่ต้องไปคิดเยอะว่าจบทริปไปจะต้องไปแต่งต่อยังไงให้วุ่นวาย…
สเปกวิดีโอสุดแน่นรองรับ 6K/30p มี Open Gate (แต่ถ่ายยาว ๆ แบบรุ่นพี่ไม่ได้นะ…)
สำหรับสเปกด้านวิดีโอนี่คือถอดจาก Lumix S5 II มาเช่นเดิมเลยครับ ไม่ว่าจะ 6K/30p 4:2:0 10-bit ภายในตัวกล้อง 4K/60p 4:2:2 10-bit แต่สิ่งที่ชื่นชอบมาก ๆ คือฟีเจอร์ Open Gate นี่ล่ะครับ ที่รองรับแม้ในความละเอียดสูงสุดอย่าง 6K ทำให้เราสามารถบันทึกวิดีโอแบบเต็มเซนเซอร์อัตราส่วน 3:2 แล้วมาครอปทีหลังสำหรับในงานต่าง ๆ เช่นอยากครอปแนวตั้งก็ทำได้เลยง่าย ๆ มีความยืดหยุ่นสูง
มากับเจ้า Codec ตัวใหม่ MP4 (Lite) ให้ไฟล์ที่ขนาดเบาลง กับความละเอียด 3.8K/30p 3:2 50Mbps ที่เหมาะมากสำหรับการถ่ายมาแล้วอัปลงโซเซียลเลย เพราะเขาเคลมว่าส่งไฟล์ได้ไวขึ้นกว่าเดิม 1.7x กันเลยครับ บวกกับความที่เราถ่ายใส่ Real-Time LUT มาแล้ว ทำให้ตัวไฟล์สามารถพร้อมใช้งานได้ทันทีเลยครับ !
แต่ด้วยความที่กล้องเล็ก ไม่มีพัดลมทำให้ก็มีข้อจำกัดอยู่หลายอย่างครับ อย่างแรกเลยคือถ่ายวิดีโอยาว ๆ แบบรุ่นพี่ไม่ได้ อย่าง 6K ก็อาจได้สัก 10 นาที 4K 15 นาที และ Full HD 20 นาที แล้วตัวกล้องก็จะทำการตัดไฟล์ ต้องกดบันทึกต่อเอาเอง ใครที่คิดอยากไปถ่ายยาว ๆ อย่างวิดีโอสัมภาษณ์ก็คงไม่เหมาะเท่าไร แต่ถ้าเป็นแนว Vlog เดิน ๆ กดอัดบ้างหยุดบ้างอันนี้ก็ตอบโจทย์ครับ
ซึ่งจากการใช้งานไม่ได้ถ่ายยาว ๆ กดหยุดอัดเป็นช่วง ๆ ก็ไม่ได้เจอปัญหาอะไร เพราะตัวกล้องถูกออกแบบมาให้ใช้งานประเภทนี้อยู่แล้วครับ… ตามเวลาที่มีจำกัดในแต่ละความละเอียด
ภาพและวิดีโอจาก Panasonic Lumix S9
แบตเตอรี่
รุ่นนี้ใช้เป็นรหัส DMW-BLK22 ที่เคลมว่าใช้งานได้สูงสุด 470 ภาพ ต่อการชาร์จ 1 ครั้งครับ จากที่ใช้งานก็สามารถถ่ายภาพนิ่งใน 1 ทริป 1 วัน ได้สบาย ๆ แต่ถ้าถ่ายวิดีโอเยอะหน่อยก็อาจจะพกแบต 2 ก้อนขึ้นไปจะอุ่นใจกว่า
อ้อ อีกอย่าง Lumix S9 ชาร์จไปถ่ายไปได้ครับ เสียบ Power bank ใช้งานต่อเลยก็ทำได้เหมือนกัน ถ้าใช้แบบนี้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่มากนัก
สรุป Lumix S9 เหมาะกับใคร?
สำหรับ Lumix S9 ต้องบอกว่าเหมาะสำหรับคนที่อยากได้กล้องเล็กเบา พกพาสะดวก คุณภาพสูงที่สามารถจับหลังกล้องได้ทันทีโดยไม่ต้องไปแต่งต่อให้เสียเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาย Content ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาอยู่ตลอดเวลาหรือสาย Vlog ในขนาดตัวเท่าฝ่ามือ คุณภาพไฟล์ดี วิดีโอมีความยืดหยุ่นรองรับความละเอียดระดับ 6K หรือจะใช้เป็นกล้องภาพนิ่งตัวเล็ก ๆ พกเที่ยวก็ถือว่าเหมาะ
แต่ใครที่อยากจะเอาเจ้ากล้องตัวนี้ไปใช้งานจริงจังขึ้นมาหน่อย ถ่ายต่อเนื่องยาว ๆ หรือต้องการใช้ช่องมองภาพ แบบนี้อาจไม่ตอบโจทย์นักครับ ด้วยข้อจำกัดอย่างการไม่มีพัดลมระบายความร้อน ถ่าย 4K ก็ได้แค่ 15 นาทีต่อไฟล์ รวมถึงการยิงแฟลชที่ไม่สามารถทำได้ เพราะตัวกล้องเองเป็นระบบชัตเตอร์ไฟฟ้าล้วน และไม่มี Hot shoe มาให้ เพิ่มเงินอีกหมื่นนิด ๆ ไป Lumix S5 II จะตรงจุดมากกว่า
ซึ่งถ้าคุณรับข้อจำกัดที่กล่าวมาได้ Lumix S9 ก็เป็นกล้องที่น่าใช้มากตัวหนึ่งเลยล่ะครับ โดยมีราคาค่าตัวอยู่ที่
- Lumix S9 เฉพาะ Body: 55,990 บาท
- Lumix S9 Body+ Kit 20-60mm: 65,990 บาท
สุดท้ายต้องขอบคุณทาง Panasonic Thailand ด้วยครับที่ส่งกล้องมาให้เราได้รีวิวในครั้งนี้ 🙏