Our score
8.8ROG Ally X
เครื่องเล่นเกมที่ขอปิดจุดบอดทุกส่วนที่ตัวเองมี สู่เครื่องเล่นเกมพกพาที่น่าจับตามองมากที่สุดรุ่นหนึ่ง
ตลาดเครื่องเล่นเกมพกพาผ่านเลยเวลามาพอสมควรแล้ว เป็นความใฝ่ฝันของชาวเกมเมอร์ที่อยากจะพกเครื่องเล่นเกมออกไปให้ได้ทุกที่อยู่แล้ว แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับโฉมเครื่องเล่นเกมพกพาในรูปแบบใหม่ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows ที่มีอยู่ในเครื่อง PC หรือ Notebook จึงออกมาเป็น “เครื่องเล่นเกม PC แบบพกพา” อย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยที่มีแบรนด์ใหญ่ ๆ พากันเข้าตลาดนี้กันหมด แถมยิ่งเวลาผ่านไป คู่แข่งก็ยิ่งเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย ซึ่ง ASUS ภายใต้แบรนด์เกมมิ่ง ROG คือ Big Player รายแรกๆ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเครื่องเล่นเกม PC แบบพกพา และเป็นแบรนด์ที่เข้าใจ พร้อมเติมเต็มความฝันของเหล่าเกมเมอร์ ก็ได้ออกรุ่น Refresh ของ ROG Ally ของตัวเองในนาม ROG Ally X ที่บอกได้เลยว่าแก้จุดบอดของตัวเองมาแน่นจนเรียกว่าน่าเล่นมาก ๆ แน่นอน
จุดเด่น
- การจับถือทำออกมาได้ดีมาก ถือได้สบายมากขึ้น
- มีการเพิ่มแรม, SSD และใช้ SSD ขนาด 2280 ที่สามารถหาเปลี่ยนได้ง่ายมากกว่าเดิม
- ยังสามารถใช้งานเล่นเกมได้ดีมาก ๆ และเล่นได้ทุกเกมเหมือนเดิม
- พัดลมระบายความร้อนมีการลดขนาดใบพัดเพื่อให้ระบายอากาศได้ง่ายและดีขึ้น
- พอร์ตการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้น ทำให้ใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์ได้ดีขึ้น
จุดสังเกต
- หน้าจอยังมีขนาดเล็กและขอบจอใหญ่ ทำให้ทัชจอได้ยาก และเวลามองจออาจจะเห็นขอบดำค่อนข้างมาก
- ตัวเครื่องยังมีน้ำหนัก และถ้าถือเล่นนาน ๆ ต่อเนื่องหลักชั่วโมงจะเกิดการล้าอยู่บ้าง
- ยังใช้ CPU AMD Ryzen Z1 Extreme อยู่
- หากเล่นเกมหนัก ๆ ในห้องพัดลม จะเกิดความร้อนบนหน้าจอ และยังเล่นได้ต่อเนื่องนานกว่า 2 ชั่วโมงไม่มาก
- พอร์ตการเชื่อมต่อทั้งหมดอยู่ด้านบนตัวเครื่อง ซึ่งอาจทำให้การต่ออุปกรณ์พร้อมกับถือเล่นจะเกิดการถ่วงน้ำหนักได้ หากมีการต่อ USB-HUB หรืออุปกรณ์ที่มีน้ำหนัก
-
ดีไซน์
9.5
-
ประสิทธิภาพ
9.0
-
หน้าจอ
8.0
-
แบตเตอรี่
9.0
-
พอร์ตเชื่อมต่อ
9.0
-
ความคุ้มค่า
8.5
ตลาดเครื่องเล่นเกมพกพาเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นกันอย่างต่อเนื่องเลยครับ แม้ว่าจะมีหลากหลายเจ้าที่ทำมาก่อนแล้ว แต่เจ้าที่เรียกได้ว่าจุดกระแสเครื่องเล่นเกมพกพาจนทำให้แบรนด์คอมพิวเตอร์ใหญ่ ๆ ต่างพากันออกเครื่องเกมของตัวเองตามมากันหมดนี่ เห็นจะเป็น ASUS หรือเจาะจงกว่านั้นคือแบรนด์ ROG ของเขา กับ ROG Ally นี่แหละครับ ด้วยคอนเซปต์ของคำว่า Play ALLYour Games หรือเรียกได้ว่าจะเอาเกมไหน ๆ มาเล่นบนเครื่องนี้ แล้วพกไปเล่นที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น !
อาจจะเวิ่นเว้อเรื่องอดีตไปไม่น้อย แต่ด้วยความที่ ROG เป็นหนึ่งในเจ้าต้นตำรับที่ออกเครื่องเล่นเกมพกพามา ROG ก็เลยได้ออกรุ่นรีเฟรชของ ROG Ally ตัวแรกออกมาในชื่อ ROG Ally X มาตั้งแต่ช่วง Computex ที่ผ่านมานี่แหละครับ
ซึ่งนั่น นำไปสู่รีวิวนี้ กับการเข้าสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ROG Ally X เครื่องเล่นเกมที่ขอใช้คำว่าปิดจุดบอดต่าง ๆ ของตัวเองออกไปเยอะมาก จนเป็นเครื่องเล่นเกมที่น่าใช้อีกเครื่องหนึ่งเลยทีเดียว โดย ASUS บอกว่า ตัว X ใน ROG Ally X นั้นมาจาก ‘Expert’ อันหมายถึง ROG Ally สำหรับมือโปรนั่นเอง ! รีวิวนี้จะบอกทุกคนเองว่า ROG Ally X จะ Expert สมชื่อมากน้อยเพียงใด ?
ใด ๆ ก็คือ รีวิวนี้ได้มีการกล่าวถึงในหลายส่วนและมีความยาวไม่น้อย ถ้าสนใจในส่วนไหน แนะนำให้กดดูที่ส่วนนั้นตาม Table of Content จะเป็นการดีที่สุดนะ
ดีไซน์การจับถือที่ดีขึ้น
ตั้งแต่ที่ผู้เขียนได้ลองจับเครื่องจริงของ ROG Ally X มาจากในงาน Computex ต้องขอใช้คำว่า นี่เป็นการอัปเกรดการจับถือ (Ergonomic) ที่ก้าวกระโดดไม่น้อยของ ROG Ally X เลย ซึ่ง ASUS บอกว่าได้มีการปรับดีไซน์การจับถือใหม่ ด้วยการเปลี่ยน Grip ที่จับ ให้กระชับมือมากขึ้น โค้งมนให้รับกับมือมากขึ้น และเพิ่มความลึกด้านหลัง ทำให้ตอนถือเล่นคือรู้สึกได้เลยว่าสามารถจับได้มั่นคงมากกว่าเดิม ต่อมา อีกอย่างที่เปลี่ยนไปแบบรู้สึกได้ คือตัวพลาสติกรอบตัวเครื่องที่มีการทำ ‘Finish’ หรือการทำสัมผัสของตัวเครื่องให้จับได้แน่นขึ้น ไม่ลื่นหลุดมือง่าย ๆ แถมยังทำให้น้ำหนักของตัวพลาสติกจริง ๆ เบาลงไปได้อีกด้วย
นั่นคือส่วนแรกที่รู้สึกว่าดีขึ้น แต่อีกส่วนที่มีการเปลี่ยนมาไม่น้อยเช่นกัน นั่นคือตัวปุ่มบังคับเครื่องครับ เพราะว่าตัวปุ่มบังคับนั้นได้มีการเปลี่ยนทุกจุด ทุกส่วนเลยเช่นว่าตัวจอยสติ๊กมีการปรับตำแหน่งให้รับกับ D-Pad และปุ่มกดด้านหน้า ให้มือเราเอื้อมข้ามไปมาระหว่างจอย และ D-Pad ได้ง่ายขึ้น แถมยังไปใช้โมดูลใหม่ ตามมาตรฐานแบบจอย XBOX เพื่อให้ทนมากกว่าเดิม ตัว Analog ก็สามารถหมุนได้ถึง 5,000,000 รอบ (ใช่ครับ 5 ล้าน) คือใช้ได้นานจนไม่ต้องกลัวมันพัง ส่วนปุ่ม D-Pad (ปุ่มขึ้นลงซ้ายขวา) นั้นก็เปลี่ยนไปใช้แบบ Precision กดได้แบบ 8 ทิศทาง ทำให้สามารถกดเป็นวงกลมได้ดีขึ้นและสัมผัสได้ค่อนข้างแม่น แม้ในตอนทดสอบผู้เขียนจะใช้จอยสติ๊กมากกว่าก็ตาม และปุ่มทริกเกอร์ด้านบน (LT และ RT) ก็ได้พัฒนาเป็น Hall Effect Triggers ให้กดทริกเกอร์ได้เร็ว เด้งกลับมารู้สึกไวขึ้น และทนกว่าเดิมด้วย
จุดสุดท้ายคือปุ่มมาโครด้านหลัง ที่ลดขนาดมาให้เล็กลง ไม่ให้เผลอไปกดโดนได้ง่าย ๆ (ซึ่งรุ่นที่แล้ว เรียกได้ว่ากดโดนบ่อยไม่น้อยเลยทีเดียว) และก็ใช้โปรแกรมตั้งค่าให้ใช้เป็นคีย์ลัดก็ได้ด้วยนะ อย่างที่ใช้บ่อยและหลายคนยังไม่รู้ คือการกด M1 หรือปุ่มหลังขวา กับ A จะเป็นการแคปฯหน้าจอได้ ซึ่งผู้เขียนใช้บ่อยมากตลอดการรีวิวนี้เลย
ซึ่งจากที่ได้ลองถือเล่นมาแบบต่อเนื่อง หลายรูปแบบ หลายสถานการณ์ คือสิ่งที่รู้สึกว่าต่างจริง ๆ คือการถือเล่นทำได้นานขึ้นจริง เป็นหนึ่งในรุ่นที่การจับถือนั้นมั่นคง ตรงกับรูปมือของเรา และสามารถถือเล่นได้ต่อเนื่องในหลาย ๆ สถานที่จริง แต่ต้องให้ข้อสังเกตไว้เล็กน้อยว่ามือของผู้เขียนนั้นค่อนข้างใหญ่ ทำให้อาจจะเข้ากับรูปมือของผู้เขียน แต่อาจมีปัญหากับขนาดของมือที่เล็กลงไปได้เช่นกัน ส่วนเรื่องของน้ำหนักตัวเครื่องที่มีการปรับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 678 กรัมนั้น (สาเหตุจะอยู่ในย่อหน้าถัด ๆ ไป) ถือว่าทำออกมาได้ดีนะ แต่จะติดปัญหาเรื่องการยกมาเล่นค้างไว้นาน ๆ ยังคงมีความรู้สึกปวดข้อมืออยู่บ้างครับ แต่ก็น้อยกว่าเจ้าอื่นเขาแล้วนะ !
ที่เล่าเรื่องการออกแบบมาตั้งยืดยาวนี้ ก็เพราะว่ารูปลักษณ์ภายนอกของ ROG Ally X นั้นแทบจะไม่เหมือนเดิมเลยครับ คือไม่สามารถใช้เคสร่วมกันกับ ROG Ally ได้นะ และ ROG Ally X ยังวางขายในสีดำเท่านั้นด้วย แต่ทุกอย่างที่มีการปรับมานั้น เพื่อทำให้การใช้งาน ROG Ally X รุ่นนี้สามารถใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น ไม่หงุดหงิดเรื่องของการควบคุมและการจับถือต่าง ๆ นั่นเอง โดยรวม ๆ แล้วก็คือ นี่เป็นการปิดจุดบอดต่าง ๆ ได้อย่างดีส่วนหนึ่งเลย
พอร์ตการเชื่อมต่อที่ใช้งานจริงกว่าเดิม
พาร์ตนี้เหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่เอาจริง ๆ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยครับ เพราะผู้เขียนได้รู้จักกับคนที่ เอา ROG Ally มาใช้เป็นคอมพิวเตอร์ทำงาน เพียงเพราะว่า “ROG Ally เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็ก และเบากว่าโน้ตบุ๊กใด ๆ ที่เคยมีมา” ดังนั้น การเข้ามาของ ROG Ally X ที่ตอนนี้ได้มีการเปลี่ยนการจัดวางพอร์ต โดยได้ให้พอร์ต USB-C 2 ช่อง แทนที่จะเป็น USB-C 3.2 Gen2 (DP 1.4, PD 3.0) และพอร์ต ROG XG Mobile Port (ไว้เพิ่มการ์ดจอภายหลัง) เปลี่ยนเอาพอร์ต ROG XG Mobile Port ออก และใส่ USB-C 4.0 (Thunderbolt 4, DP 1.4, PD 3.0) แทน ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ครับ ไม่ว่าจะกับสายเกม หรือสายทำงาน สำหรับสายเกม แปลว่า นี่คือพอร์ตที่ต่อให้เราเอาการ์ดจอแยกมาต่อผ่าน USB-C ก็สามารถหาด็อกเสียบการ์ดจอแยก (External Graphics Card Dock) มาต่อตรงผ่านพอร์ต USB-C ได้เลย
ส่วนสายทำงาน พอร์ต USB-C 4.0 นี้ จะเป็นศูนย์กลางของ Hub ที่สามารถเชื่อมต่อได้ที่ความเร็วสูงสุด 40 Gbps ตามมาตรฐาน Thunderbolt และสามารถเชื่อมอุปกรณ์ได้ทุกรูปแบบ รวมถึงต่อจอ เมาส์ คีย์บอร์ด และอื่น ๆ ผ่านแค่พอร์ตนี้พอร์ตเดียว แปลว่าสำหรับสายทำงานนั้น นี่เป็นการอัปเกรดที่ดีมาก ๆ ส่วนหนึ่งเลย ผู้เขียนเองก็ได้ลองใช้งานต่อ Hub ทั้งจอ เมาส์ คีย์บอร์ด และใช้อีกพอร์ตในการเสียบชาร์จแบตเตอรี่ ก็สามารถใช้ ROG Ally X เป็นคอมพิวเตอร์ที่ทำงานได้จริงเครื่องหนึ่งเลย
โดยข้อสังเกตคือ ทั้ง 2 พอร์ต USB-C นี้ แม้หน้าตาจะเหมือนกันเป๊ะ ๆ แต่ความเร็ว และความสามารถทำได้ไม่เหมือนกันนะ ถ้าอยากจะใช้พอร์ตที่ความเร็วสูงและทำได้ทุกอย่างนี้ ต้องต่อพอร์ต USB-C ฝั่งซ้ายที่มีการสลักตัวเลข 40Gbps เอาไว้นะ อีกพอร์ตอาจจะใช้งานได้ แต่ไม่เร็วเท่าแน่นอน ที่เร็วเท่ากันก็คือการชาร์จแบตเตอรี่ครับ เพราะสามารถชาร์จได้ที่ 100W (PD) แล้ว ซึ่งผู้เขียนได้ใช้หัวชาร์จ 90W PD มาใช้ในการชาร์จก็สามารถชาร์จเร็วได้ทั้ง 2 พอร์ตตามที่ ASUS บอกไว้เลย
ส่วนพอร์ต และปุ่มที่เหลือก็ยังคงเหมือนเดิมครับ ทั้งปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง, ปุ่ม Power ที่สแกนลายนิ้วมือได้, ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร และช่องเสียบ Micro SD Card แบบ UHS-II ครับ ซึ่งพอร์ตนี้ก็เป็นส่วนที่มีประเด็นโต้แย้ง (Controversy) ที่ไม่น้อยเลย เช่นว่าพอร์ตนี้เสียบ่อย เสียบเมมฯอะไรไปก็เสีย ต้องส่งเคลมบ้างอะไรบ้างอยู่ตลอด ซึ่งผู้เขียนที่มีโอกาสได้พูดคุยกับทีมที่ดูแลบูทในงาน Computex รอบล่าสุดมานั้น ได้ให้คำตอบเรื่องนี้ไว้ว่า เกิดจากตัวเก็บประจุภายในเมนบอร์ดที่ได้มีการจ่ายประจุไฟที่สูงกว่าปกติ ซึ่งทำให้ตัวบอร์ดเกิดปัญหาได้ ซึ่ง ASUS แก้ไปแล้วทั้งใน ROG Ally ล็อตใหม่ ๆ และ ROG Ally X นี้ก็ด้วยเช่นเดียวกัน และแม้ผู้เขียนจะไม่ได้ทดลองใส่เมมฯและโหลดเกมเข้าไป (เพราะมั่นใจว่าจะไม่เจอปัญหาได้ทันเวลาที่รีวิว) แต่คาดว่าปัญหานี้น่าจะได้รับการแก้ไปแล้วแน่นอน
ทั้งนี้จะติดอยู่เล็กน้อยก็คือ การวางพอร์ตที่มีความคล้ายเดิมมากนี้ มีจุดสังเกตเล็กน้อย คือตัวเครื่องนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้ถือบนมือ และเล่น ซึ่งการชาร์จไปเล่นไปนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ (และหลายคนน่าจะทำ เหตุผลจะอยู่ในหัวข้อถัด ๆ ไป) แต่ถ้าชาร์จไปเล่นไป พอร์ตจะถูกรั้งจากด้านบนไปไม่น้อยเลย ทำให้จริง ๆ แล้ว ถ้ามีการวางพอร์ตไว้ที่ตรงกลางล่างของเครื่อง หรือเพิ่มพอร์ตสำหรับชาร์จโดยเฉพาะไว้ด้านล่างนั้นอาจจะเป็นการดีกว่าในบางสถานการณ์แน่นอน
ข้างในก็ยกเครื่องเปลี่ยนมานะ !
แม้เราจะไม่ได้มีการแกะฝาหลังตัวเครื่องแล้วโชว์ให้ทุกคนดูกัน แต่เชื่อได้เลยว่าเมนบอร์ดของ ROG Ally X นั้นได้มีการเปลี่ยนเพื่อปิดจุดบอดครั้งใหญ่ ด้วยการรีดีไซน์เมนบอร์ดใหม่ทั้งหมด และปรับให้ทำหลาย ๆ อย่างได้ดีขึ้นไปด้วย เริ่มจาก RAM ที่การดีไซน์ใหม่ ได้เพิ่มแรมจาก 16GB (LPDDR5 – 6400 Mhz) เป็น 24GB แบบ LPDDR5X – 7500 Mhz แบบฝังบอร์ด โดยสามารถแบ่งหน่วยความจำเป็น 16GB สำหรับ CPU และ 8GB สำหรับ iGPU โดยเฉพาะ รวมไปถึงการปรับตำแหน่งของช่องเสียบ SSD ให้เป็น SSD แบบ M.2 ขนาด 2280 หรือก็คือขนาดยาวแบบที่เราหาเจอกันได้โดยทั่วไปแล้วนั้นเองครับ แปลว่าจะหาซื้อ SSD มาเพิ่มขนาดความจุภายในเครื่องก็ทำได้ง่ายกว่าเดิมแล้วด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้นเรื่องของระบบระบายความร้อนก็ได้ปรับมาใหม่ด้วยเหมือนกัน ตั้งแต่ระบบระบายความร้อน ที่ยังใช้แบบ Zero Gravity อยู่ คือใช้พัดลมดึงอากาศจากด้านหลัง และปล่อยออกด้านบน ผ่านพัดลมคู่ด้านใน ซึ่ง ROG Ally X ได้มีการลดขนาดของใบพัดลง 23% และลดความหนาของใบพัดลงอีก 50% ซึ่งการที่ใบพัดเล็กลงนี้ ทำให้มีพื้นที่ให้อากาศผ่านระหว่างใบพัดแต่ละใบมากขึ้น และส่งอากาศออกไปทำได้ดีขึ้น ขนาดที่ ASUS เคลมว่าระบายอากาศได้ดีขึ้นอีก 24% เลยทีเดียว โดย ASUS ได้เพิ่มช่องเป่าอากาศออกตรงกลางบนของเครื่อง เพื่อระบายความร้อนออกจากหน้าจอทัชสกรีนด้วยนะ แต่ถ้าเล่นเกมในห้องพัดลมแล้ว อาจจะยังช่วยได้ไม่มาก แต่ถ้าในห้องแอร์ สามารถระบายความร้อนออกจากจอได้ไม่น้อยเลย
ซึ่งโดยรวม ๆ แล้ว ในด้านการระบายความร้อนออก ถ้าเกิดว่าเล่นเกมในพื้นที่ห้องแอร์ ตัวพัดลมสามารถทำงานได้ดีเลยทีเดียวครับ คือสามารถเล่นแบบต่อเนื่องได้ แม้จะรู้สึกร้อนอยู่บ้าง แต่ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพใด ๆ เลย แต่ถ้าอยู่ในห้องพัดลม หรืออยู่นอกบ้าน ตัวเครื่องอาจจะออกมาร้อนง่ายอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มีผลต่อประสิทธิภาพมากขนาดนั้น จะติดก็ตรงที่ว่าตัวเครื่องอาจจะเกิดความร้อนมากหน่อยเท่านั้น (โดยเฉพาะบริเวณหน้าจอนะ)
หน้าจอที่ดีแล้ว แต่ยังดีกว่านี้ได้อีก
หน้าจอของ ROG Ally X นั้นยังให้มาที่ขนาด 7 นิ้ว แบบ IPS LCD ความละเอียด 1920×1080 (Full HD) อัตราส่วน 16:9 รีเฟรชเรต 120Hz ขอบเขตสี 100% sRGB พร้อม AMD FreeSync Premium แถมยังสว่างสูงสุด 500 nits และครอบทับด้วยกระจก Corning Gorilla Glass Victus ด้วย ซึ่งเอาจริง ๆ แล้ว ถือว่าเป็นสเปกภายในเครื่องที่ค่อนข้างดีมากแล้วครับ ถือว่าใช้งานได้ดี คมชัด และสู้แสงดีเลยทีเดียว
เพียงแต่ว่า ปัญหาเดิมที่เห็นจากใน ROG Ally รุ่นเดิม เรื่องของการที่ขอบของหน้าจอนั้นค่อนข้างหนา ประกอบกับที่ตัวเครื่องนั้นมีความกว้างให้หน้าจออยู่ที่ค่อนข้างมาก ถ้าเกิดว่าหน้าจอมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่มีความละเอียดเท่าเดิม น่าจะเป็นการดีกับทั้งมุมมองที่กว้างมากขึ้น, การมองภาพที่ชัดเจนขึ้น และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแบตเตอรี่มากนักด้วย
อีกส่วนที่เป็นข้อดีไม่แพ้หน้าจอคือเรื่องของลำโพงครับ ที่ได้ใส่เป็นลำโพงคู่หน้าแบบ Front-Facing เพื่อให้เล่นเสียงแบบสเตอริโอได้ผ่านลำโพงคู่ด้านหน้านี้เลย ASUS บอกว่าตัวลำโพงมีเทคโนโลยี Smart Amp ให้เพิ่มเสียงได้แบบไม่เพี้ยนมากนัก โดยที่ตัวลำโพงนี้สามารถขับเสียงได้ค่อนข้างมีมิติดีอยู่เลย จากการที่มี Dolby Atmos อยู่ภายในเครื่อง แต่อาจจะไม่ได้กระฮึ่มเท่ากับการใช้ลำโพงจริงจัง หรือต่อหูฟังใด ๆ นะ
สเปกภายในเครื่องของ ROG Ally X
เล่ามาตั้งยืดยาว นี่ผู้เขียนยังไม่ได้พูดถึงสเปกภายในของ ROG Ally X แบบเต็ม ๆ เลย เอาเป็นว่า เราดูสเปกเต็ม ๆ ของ ROG Ally X เครื่องนี้กันก่อน
- CPU : AMD Ryzen Z1 Extreme (4nm) Zen 4, 8 Core, 16 Threads, TDP 7 – 30 watts
- GPU: AMD Radeon Graphics, RDNA 3 แรม 4GB (ดึงจากแรมในเครื่อง)
- RAM : 24GB LPDDR5X 7500 Mhz (6GB x 4) แบบฝังบอร์ด และเพิ่มไม่ได้
- หน้าจอ 7 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920×1080) แบบ IPS LCD 16:9, ความสว่างสูงสุด 500 nits 100% sRGB ครอบทับด้วยกระจก Gorilla Glass Victus ที่ทัชหน้าจอได้, รีเฟรชเรต 120Hz และรองรับ AMD FreeSync Premium
- หน่วยความจำ : M.2 NVMe 2280 Gen 4×4 SSD 1TB + ช่องเสียบ Micro SD card แบบ UHS-II, Micro SD 4.0
- พอร์ตบนเครื่อง
- USB 3.2 Gen 2 Type-C / Display Port 1.4 / Power Delivery 3.0 1 ช่อง
- USB 4 Type-C / Thunderbolt 4 / Display Port 1.4 / Power Delivery 3.0 1 ช่อง
- ช่องเสียบหูฟัง 3.5mm
- Wi-Fi / Bluetooth: Wi-Fi 6E (802.11ax) + Bluetooth® 5.2
- แบตเตอรี่ 80Wh พร้อมรองระบการชาร์จแบตเตอรี่เร็วสุดที่ 100W (PD)
ซึ่งเอาจริง ๆ สเปกภายในนั้นได้มีการเปลี่ยนหลายส่วนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งแรมที่เพิ่มจาก 16GB เป็น 24GB ที่เร็วกว่าเดิม, SSD ที่เปลี่ยนไปใช้ขนาด 2280 ที่สามารถหามาใส่ได้ง่ายกว่าเดิมอย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ และมาพร้อมกับชิปเซต AMD Ryzen Z1 Extreme ที่หลาย ๆ คนก็ได้เห็นกันถึงประสิทธิภาพความเร็วแรงของมันมาแล้วจากก่อนหน้านี้ ที่มีความสามารถที่สูงมาก ทั้งในด้านการเป็นเครื่องเล่นเกม หรือคอมพิวเตอร์ไว้ทำงานก็ตามครับ
และด้วยว่า ROG Ally X นั้นเป็นเครื่องเล่นเกมที่สามารถพกพาได้ กำลังไฟทุก ๆ วัตต์เลยสำคัญมาก ทำให้ประสิทธิภาพของตัวเครื่องจริง ๆ นั้น จะขึ้นกับกำลังไฟที่ขับออกมาจากตัวเครื่อง ซึ่ง การที่ตัวเครื่องจะมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ จะต้องทำผ่านการเสียบชาร์จแบตเตอรี่ ที่มีกำลังไฟมากกว่า 30 วัตต์ขึ้นไปเท่านั้น จึงจะสามารถให้ตัวเครื่องขับประสิทธิภาพที่ 30W ได้ (ถ้าเสียบอแดปเตอร์ชาร์จแบตเตอรี่ที่กำลังแรงพอ จะมีการเปลี่ยนโหมดให้แบบอัตโนมัติ) ทำให้ การทดสอบประสิทธิภาพทั้งหมดในรีวิวนี้ จะอยู่ที่ระหว่างเสียบชาร์จเครื่องไว้ เว้นแต่จะแจ้งเพิ่มเติมครับ
โดยจากที่เราได้ทดสอบประสิทธิภาพของ CPU ด้วย Geekbench 6.3.0 ไปนั้น ก็ได้คะแนน Single-Core อยู่ที่ 2490 คะแนน และ Miulti-Core อยู่ที่ 12060 คะแนนด้วยกัน ในขณะที่การทดสอบ 3D Mark ชุด Time Spy ก็ได้คะแนนไปที่ 3519 คะแนน หรือถ้าเป็นชุดการทดสอบใหม่ ๆ เช่น Steel Nomad ก็ได้คะแนนที่ 520 คะแนน และ Port Royal ก็ได้ไป 1707 คะแนนครับ
คือโดยรวม ๆ แล้ว จากตัวเลขคือ แม้จะตัวเล็ก แต่ก็เล็กพริกขี้หนูครับ คือแรงใช้ได้เลยทีเดียว คือด้วยประสิทธิภาพนั้น ต่อให้ยังคงใช้ AMD Ryzen Z1 Extreme อยู่ แต่ประสิทธิภาพของเขานั้นยังสามารถทำได้ค่อนข้างดีมากเลยทีเดียว
เข้าเกมกันได้ !
เอาล่ะ ในที่สุดก็ได้เข้าเกมกันแล้ว ด้วยว่าเกมที่เราสามารถเล่นได้นั้น เรียกได้ว่า ‘ทุกเกม’ ตามที่ ASUS เขาบอกมาเลย เดี๋ยวเราจะกระจายประเภทของเกมให้ได้เยอะ ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการ ‘Play All Your Games’ ของ ASUS เขาจริง ๆ เลย
เริ่มจากเกมเบา ๆ เช่น Genshin Impact กันก่อน เกมนี้ ถ้าเกิดว่าเราเล่นระหว่างเสียบชาร์จ และเล่นที่โหมด Turbo (30W) จะทำให้สามารถเล่นได้ค่อนข้างนิ่งที่เกือบ 60FPS เลย แต่จะมีดรอปไปเหลือไม่ต่ำกว่า 51 FPS อยู่บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ เท่านั้น แต่ถ้าลดมาเหลือที่โหมด Performance (17W) จะทำให้เฟรมดรอปลงมาอีกเล็กน้อย แต่ก็ยังไต่อยู่ที่ประมาณ 50 FPS ได้ แม้จะอยู่ในเมือง Natlan ที่มีรายละเอียดเยอะมากกว่าเดิมอีกก็ตาม
ต่อด้วยเกมกินกราฟิกที่อยู่มายาวนานอย่าง Cyberpunk 2077 กันบ้างครับ สำหรับเกมนี้ถือว่าเป็นเกมที่ค่อนข้างกินสเปกไม่น้อยเลย เพราะต้องมีการโหลดฉาก และรายละเอียดอื่น ๆ ที่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราแนะนำให้ตั้งค่าตัวเกมอยู่ 2 แบบด้วยกัน นั่นคือ Preset ‘Steam Deck’ ที่ทำมาเพื่อใช้กับเครื่องเล่นเกมพกพาเท่านั้น ถ้าใช้การตั้งค่านี้จะทำให้สามารถเล่นได้เฟรมเรตที่นิ่งกว่ามากเลย โดยจะเล่นได้ที่ประมาณ 50 – 60 FPS เลยทีเดียว แต่ถ้าอยากได้แบบภาพสวย ๆ แต่ยังเล่นได้ดีพอสมควร แนะนำให้ปรับไปใช้ Ray Tracing : Low แทน ซึ่งจะเล่นได้ที่ประมาณ 24 FPS ครับ
Helldivers 2 ซึ่งเป็นเกมใหม่ของปีนี้ ที่ค่อนข้างกินสเปกไม่น้อย ทำให้ตอนเล่นต้องต่อไฟตลอด โดยเกมนี้ ตอนทดสอบได้ทดสอบผ่านการต่อออกจอ, ใช้เมาส์ และคีย์บอร์ดในการเล่น และเล่นในโหมด Turbo ตลอด ก็ยังสามารถเล่นได้เหมือนกัน แม้จะต้องมีการลดประสิทธิภาพลงไปเหลือที่ระดับ Low หรือ Steam Deck ก็ตาม ซึ่งจริง ๆ ก็ยังสามารถพกไปเล่นนอกบ้านได้ แต่ผู้เขียนไม่ถนัดการใช้จอยเท่านั้นเอง
หรือจะเป็นเกมขับรถกินสเปกไม่น้อย อย่าง Forza Horizon 5 ก็สามารถปรับการตั้งค่าไปที่ Low และสามารถเล่นได้แบบลื่นไหลไม่น้อยเลยครับ แถมยังภาพสวยอยู่ได้ด้วยนะ โดยถ้าปรับการตั้งค่าไปที่ Low ก็จะสามารถเล่นได้ที่ 60 FPS แบบสบาย ๆ เลยทีเดียว เรียกได้ว่าผ่านการ Optimize มาดีใช้ได้เลยทีเดียว
ปิดท้ายด้วยเกม Black Myth: Wukong ที่แม้ผู้เขียนจะไม่ได้ลองเล่นตัวเกมจริงมา แต่จากการรัน Benchmark ที่ทางเกมออกมาให้ได้ลองทดสอบว่าไหวไหมนั้น สามารถตั้งค่าได้ที่ Medium และสามารถเล่นได้ถึง 45FPS เลยทีเดียว แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าถ้าลดการตั้งค่าเหลือ Low จะสามารถเล่นได้ลื่นกว่านี้แน่นอน
ข้อดีของการที่ตัวเครื่องใช้ชิป AMD Ryzen Z1 Extreme คือการที่ตัวเครื่องนั้นรองรับการใช้งาน FSR จากภายในเครื่องเลยครับ ทำให้เกมหลาย ๆ เกมมาก ๆ สามารถเล่นได้ที่เฟรมเรตที่ดี จากการที่มีการเพิ่มความละเอียดของภาพได้โดยไม่ต้องให้ตัวเครื่องเรนเดอร์ภาพแบบเต็ม ๆ นี่แหละ !
ส่วนในด้านการใช้งานบน Windows ถือว่ายังทำออกมาได้แค่พอไหวครับ คือปัญหามันอยู่ที่ว่าหน้าจอมันแอบเล็กไปหน่อย (มือผู้เขียนอาจจะใหญ่สักหน่อย) เวลาทัชพวกหน้าโฟลเดอร์เล็ก ๆ บางทีก็ลำบากนิดหน่อยครับ แต่ถ้าเป็นในด้านการควบคุมเครื่องแล้ว ASUS เขาก็ได้ออก Armory Crate SE ซึ่งเป็นโปรแกรมจัดการเครื่องที่ออกมาเพื่อเครื่องพกพาอย่าง ROG Ally และ Ally X โดยเฉพาะเลย ข้อดีคือการตั้งค่าต่าง ๆ กดง่ายมาก คุมผ่านจอยได้แบบ 100% และตั้งได้ตั้งแต่ไฟตรงจอยสติ๊ก, เพอร์ฟอร์แมนซ์ อัปเดตไดร์เวอร์ ยันเปิด-ปิดตัวโชว์ FPS และเข้าเกม (แต่ตัวเข้าเกมของ Steam Big Picture ที่เหมือน Steam Deck ยังดีกว่านะ) ข้อดีของ Libary เกมของ Armory Crate คือรวมเกมจากหลายแหล่งไว้ที่เดียวได้ด้วย
แบตเตอรี่
แบตเตอรี่ของ ROG Ally X นั้นได้มีการอัปเกรด เพราะได้มีการปรับส่วนอื่น ๆ จากทั้งรีวิวที่ผ่านมา ทำให้ตัวเครื่องมีพื้นที่ในการใส่แบตเตอรี่ที่มากยิ่งขึ้นกว่า และได้มีการเพิ่มแบตเตอรี่เป็น 2 เท่า คือจาก 40WHr กลายเป็น 80WHr เลยทีเดียว ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มเข้ามานั้น ส่งผลต่อการเล่นเกมแบบสุด ๆ เลยครับ เพราะในกรณีที่เราพกเกมไปเล่นนอกบ้านนั้น ยังไงก็จำเป็นที่จะต้องใช้งานบนแบตเตอรี่แน่นอน แม้ว่าจะต้องเจอกับประสิทธิภาพที่ลดลงไปอยู่บ้างก็ตาม
อย่างกรณีที่ผู้เขียนได้ลองมา คือการเดินทางไปร่วมงานที่สิงคโปร์ครับ บนเครื่องบินไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำ นอกจากเล่นเกม บนไฟล์ทความยาว 2 ชั่วโมง ถ้าเล่นเกม Yakuza 0 ที่แม้จะเป็นเกมเก่าแล้ว แต่ก็ามารถเล่นแบบ 60FPS (ปรับสุด) และเล่นยาว ๆ ตั้งแต่เริ่มไฟล์ทจนเกือบจบไฟล์ท (1 ชั่วโมงกว่า ๆ) และแบตเตอรี่ลดลงไปที่ประมาณ 40-50% เท่านั้น แต่ถ้าเล่นเกมที่กินสเปก หรือต้องทำอะไรที่มากขึ้น ก็จะกินพลังงานมากขึ้นไปด้วยครับ แต่เฉลี่ยแล้วอายุการใช้งานแบบเล่นเกม จะเต็มที่ที่ประมาณ 2 ชั่วโมงต่อเนื่องครับ
แต่ถ้าในด้านการเอามาทำงาน และไม่ได้เข้าเกม ปริมาณแบตเตอรี่ที่เยอะมากขนาดนี้ ทำให้สามารถใช้ทำงานทั่ว ๆ ไป เปิดไว้ดูยูทูบ หรืออื่น ๆ ได้เป็นเวลานานพอสมควรเลย คือไม่เคยต้องห่วงเรื่องแบตเตอรี่หมดใด ๆ ก็สามารถใช้งานได้แบบไม่มีปัญหามากครับ
ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่กลับเข้าตัวเครื่องนั้น สามารถชาร์จได้ผ่านอแดปเตอร์ชาร์จแบตเตอรี่ 65W ที่แถมมาในกล่องได้เลย และสามารถชาร์จได้เต็ม 65W ครับ แต่ว่าตอนนี้ตัวเครื่องสามารถเสียบชาร์จได้ถึง 100W เลยทีเดียว คือทำให้ชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็วยิ่งกว่าเดิมแล้ว แถมตามเทคนิคแล้ว ต่อให้ชาร์จไปเล่นไป ก็ยังคงชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็วอยู่ด้วย
ROG Ally X เหมาะกับใคร ?
ถ้าถามผมว่า ROG Ally X นั้นเหมาะกับใคร ผมว่า ROG Ally X นั้นเหมาะมาก ๆ กับใครก็ตามที่ต้องออกเดินทางบ่อย ๆ แต่อยากจะพกเกมคอมพิวเตอร์ติดตัวไปด้วยทุกที่ โดยเฉพาะใครก็ตามที่ซื้อเกมไว้ทั้งใน XBOX Game Pass, Steam, Origin, Epic Games, หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ไม่ได้ล็อกเอาไว้แค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง เครื่องเล่นเกมที่สามารถใช้ WIndows ได้เต็ม ๆ หรือกระทั่งใครก็ตามที่อยากติดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กไปกับตัวด้วยทุกที่ ROG Ally และ ROG Ally X ก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่ง การเข้ามาของ ROG Ally X นั้น นอกจากจะเป็นการปิดจุดบอดของใน ROG Ally แล้ว ยังเป็นการทำให้เครื่องเกมนี้ เหมาะกับการเล่นให้ได้นานขึ้น เพราะจับถือได้สบายขึ้น เล่นได้นานขึ้น แถมยังเล่นได้ทุกเกมเหมือนเดิม
ROG Ally X นั้นวางจำหน่ายในประเทศไทยที่ราคา 29,990 บาทครับ ซึ่งตัวเครื่องได้ประกัน ‘Global Warranty’ 2 ปี หมายถึงสามารถเอาเครื่อง เข้าศูนย์ได้กว่า 83 ประเทศทั่วโลกเลยทีเดียว และยังได้ประกัน ‘Carry-In Warranty’ 2 ปี หรือสามารถส่งตัวเครื่องเข้าศูนย์บริการใกล้บ้านได้ด้วยนะ ซึ่งตัวเครื่องจะมี XBOX Game Pass ให้ใช้งานกันแบบฟรี ๆ อีก 3 เดือนด้วย
ซึ่ง ROG Ally จะยังคงวางจำหน่ายคู่กับ ROG Ally X อยู่นะ ! โดย ROG Ally ก็จะได้รับการลดราคามาเหลือ 19,990 บาทอีกด้วย ทำให้ ROG Ally รุ่นแรกนั้นจะเหมาะมาก ๆ กับใครที่อยากได้เครื่องเล่นเกมที่พกเกมเราไปเล่นได้ทุกที่ แต่ไม่อยากจ่ายแพงมากนัก ใครชอบแบบไหน ก็ตามไปจัดรุ่นนั้นกันได้เลย หาซื้อกันได้ที่ซื้อได้ที่ ASUS online store, Lazada, Shopee และตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศได้เลย