Our score
8.1reMarkable Paper Pro
แท็บเล็ตในฝันของคนชอบจด
reMarkable ปรับปรุงแท็บเล็ตเดิมที่ใช้จดได้เยี่ยมอยู่แล้ว โดยเพิ่มสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการมากที่สุดอย่างหน้าจอสีพร้อมไฟลงไป ทำให้เป็นแท็บเล็ตที่นักจดทั่วโลกต้องการ
จุดเด่น
- แท็บเล็ตที่เกิดมาเพื่อจดงานโดยเฉพาะ ให้สัมผัสการเขียนเหมือนกระดาษที่สุด ปากกาตอบสนองไว รับแรงกดหรือเอียงได้
- ระบบออกแบบมาเฉพาะตัว ไม่มีสิ่งรบกวนระหว่างใช้งาน
- หน้าจอมีสี และมีไฟที่หน้าจอแล้ว
- ซิงก์เอกสารที่จดขึ้นคลาวด์ เพื่อเปิดจากอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างมือถือได้
- สามารถแคสหน้าจอสดขึ้นคอมพิวเตอร์ สำหรับงานนำเสนอได้
- อุปกรณ์เสริมออกแบบมาอย่างดี เคสคีย์บอร์ดซ่อนแป้นได้อย่างแนบเนียน
จุดสังเกต
- ถ้าจดภาษาไทย จะใช้ความสามารถบางอย่างเช่นการถอดตัวอักษรไม่ได้
- คีย์บอร์ดบนหน้าจอไม่มีภาษาไทย พิมพ์ภาษาไทยไม่ได้
- ใช้ปากกาค่ายอื่นไม่ได้แล้ว ต้องใช้ปากกาของ reMarkable เท่านั้น
- ลงแอปนอกไม่ได้ ทำให้อ่านหนังสือจากแอปอย่าง Kindle โดยตรงไม่ได้
- เมื่อเขียนเส้นเสร็จ บางครั้งจอจะกระพริบหลายครั้งเพื่อรีเฟรชสีให้พิกเซล
- เครื่องหนักขึ้นกว่ารุ่นเดิม
-
ดีไซน์ตัวเครื่อง
8.5
-
ความลื่นไหลในการทำงาน
10.0
-
ความหลากหลายของรูปแบบการใช้งาน
6.5
-
ความคุ้มค่า
7.5
ท่ามกลางตลาดแท็บเล็ตที่ค่อนข้างอิ่มตัวในปัจจุบัน มี iPad เป็นผู้นำในฐานะที่แท็บเล็ตที่ทำได้ทุกอย่าง แต่ตลาดก็ยังมีที่ว่างสำหรับผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มเสมอ ที่ว่างสำหรับคนชอบจด ชอบเขียนงานลงกระดาษ ที่อยากยุบสมุดจดทั้งหมดลงอุปกรณ์ตัวเดียวที่เก็บโน้ตทั้งหมดเอาไว้ได้ โดยให้สัมผัสและอารมณ์เหมือนการเขียนลงกระดาษมากที่สุด และอุปกรณ์นั้นคือ reMarkable ที่เรียกตัวเองว่าเป็น Paper Tablet ซึ่งหลังจากได้ลองใช้แล้วรู้สึกเลยว่า สมแล้วที่ออกแบบในนอร์เวย์ ! ยิ่งรุ่นใหม่คือ reMarkable Paper Pro ที่ปรับหน้าจอให้มีสีแล้ว
reMarkable นั้นออกรุ่นแรกมาตั้งแต่ปี 2017 โดยวางคอนเซปต์มาตั้งแต่แรกเลยว่าจะเป็นแท็บเล็ตที่หน้าจอเป็นแบบ e-ink ให้รู้สึกเหมือนอ่านและเขียนงานลงกระดาษมากที่สุด แล้วได้รับการอัปเกรดเป็น reMarkable 2 ในปี 2020 ที่ทำงานได้เร็วขึ้น แถมยังเป็นแท็บเล็ตที่บางที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน ด้วยความหนาแค่ 4.7 mm (ซึ่ง iPad Pro M4 13 นิ้วที่ว่าบางมากแล้ว ก็ยังบางแค่ 5.1 mm) และรุ่นที่เราจะรีวิวเทียบกับ reMarkable 2 คือตัวล่าสุดอย่าง reMarkable Paper Pro ที่ปรับหน้าจอแบบ e-ink ให้แสดงสีได้แล้ว
ทำไมต้องจดงานใน reMarkable ในเมื่อ iPad หรือแท็บเล็ตอื่นก็จดได้
เรื่องนี้เราต้องพูดตรง ๆ ว่าถ้าคุณมีงบซื้อแท็บเล็ตได้แค่ตัวเดียว แล้วต้องการอุปกรณ์ที่ทำได้หลาย ๆ อย่าง จดด้วยปากกาก็ได้ ลงแอปฯ ลงเกมได้ ดูหนังได้ ให้ไปซื้อ iPad หรือแท็บเล็ตอื่น ๆ จะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า เพราะ reMarkable ไม่มีความสามารถด้านความบันเทิงใด ๆ ทั้งนั้น หน้าจอแสดงหนังไม่ได้ ลำโพงก็ไม่มี ลงเกมไม่ได้ ลงแอปฯ ก็ไม่ได้ ทำได้แค่จดกับอ่าน PDF, ePub เท่านั้น
แต่ถ้าคุณรักการเขียนลงกระดาษ และมีงบซื้อ reMarkable เป็นแท็บเล็ตตัวที่ 2 สิ่งที่แท็บเล็ตตัวอื่นทำแบบ reMarkable ไม่ได้ คือความรู้สึกแบบการจดลงกระดาษจริง ๆ ทั้งสัมผัสของปากกา ความฝืดของหน้าจอที่เหมือนเขียนบนกระดาษจริง ๆ และหน้าจอแบบ e-ink ที่ให้ความรู้สึกเหมือนอ่านตัวหนังสือที่เขียนบนกระดาษ เพราะหลักการของ e-ink คือแสงต้องกระทบบนหน้าจอเพื่อสะท้อนภาพออกมา เหมือนเราต้องเปิดไฟให้แสงส่องกระดาษ เราถึงจะเห็นตัวหนังสือบนกระดาศษ ทำให้ต่างจากจอที่เปล่งภาพออกมาโดยตรงแบบจอแท็บเล็ตทั่วไป ที่แม้ติดฟิล์มกระดาษจนให้ความรู้สึกในการเขียนใกล้เคียงกระดาษ แต่ก็ไม่สามารถจำลองลักษณะภาพแบบกระดาษออกมาได้ครับ
ที่สำคัญ reMarkable ทำงานบนระบบเฉพาะตัว ไม่มีการแจ้งเตือน ไม่มีสิ่งรบกวนใด ๆ เวลาใช้งานจึงเหมือนคุณอยู่กับหนังสือ อยู่กับสมุดของคุณ ไม่มีไลน์หรือเฟซบุ๊กเด้งมากวน ใช้สมาธิต่อเนื่องได้ยาว ๆ แต่มันก็ยังมีเทคโนโลยีสำหรับซิงก์ข้อมูลทุกอย่างที่อยู่ในเครื่องขึ้นคลาวด์ เพื่อเปิดจากคอมพิวเตอร์หรือมือถือได้ คุณจดลง reMarkable ก็แชร์โน้ตจดของคุณเป็นภาพหรือ PDF ให้คนอื่นได้
ความแตกต่างระหว่าง reMarkable 2 และ reMarkable Paper Pro
แม้ว่า reMarkable Paper Pro จะเป็นแท็บเล็ตรุ่นล่าสุดในตระกูล แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะดีกว่า reMarkable 2 นะครับ ทำให้ตอนนี้เราก็ยังเลือกได้ว่าจะซื้อรุ่นไหนมาใช้งาน
ความแตกต่าง | reMarkable Paper Pro | reMarkable 2 |
---|---|---|
ขนาด | 274.1 x 196.6 x 5.1 mm | 246 x 188 x 4.7 mm |
น้ำหนัก | 525 g | 404 g |
ชนิดหน้าจอ | Canvas Color display แสดงได้ 20,000 สี | Canvas Display แสดงขาว-ดำและโทนเทาเท่านั้น |
ขนาดหน้าจอ | 11.8 นิ้ว | 10.3 นิ้ว |
ไฟที่หน้าจอ | มี | ไม่มี (ใช้ในที่มืดไม่ได้) |
เทคโนโลยีปากกา | เฉพาะตัว | Wacom EMR |
อายุแบตเตอรี่ | 2 สัปดาห์ | 2 สัปดาห์ |
หน่วยความจำ | 64 GB | 8 GB |
ราคาเริ่มต้น | 22,999 บาท | 15,499 บาท |
สรุปคือ reMarkable Paper Pro รุ่นใหม่ปรับปรุงในสิ่งที่คนใช้ reMarkable อยากได้มาตลอด คือหน้าจอที่แสดงสีได้ แถมมีไฟ backlight ในตัวด้วย ทำให้การจดสนุกขึ้นอีกเยอะ ได้ไฮไลต์เป็นสีต่าง ๆ ในโน้ตที่จดก็ฟินแล้ว แต่การปรับปรุงนี้ก็ต้องแลกมาด้วยขนาดเครื่องที่ใหญ่ขึ้น หนาขึ้น น้ำหนักที่มากขึ้นเช่นกันครับ
เจาะลึกหน้าจอสี Canvas Color display
จุดเด่นหลัก ๆ ของ reMarkable Paper Pro คือหน้าจอใหม่ที่เรียกว่า Canvas Color ครับ ซึ่งก็เป็นจอแบบ e-ink ที่ปรับปรุงให้แสดงสีสันได้ โดยจอนี้ประกอบด้วย 4 เม็ดสีคือ Cyan (น้ำเงิน-เขียว), Magenta (ม่วง-แดง), Yellow (เหลือง) หรือก็คือ CMY แต่ไม่มีสีดำนะครับ สีที่ 4 เป็นสีขาวซึ่งมืคุณสมบัติการในการสะท้อนแสง
การทำงานคือทั้ง 4 สีจะลอยอยู่ในความหนาของหน้าจอ เมื่อต้องการแสดงสีใดเครื่องก็จะส่งสัญญาณให้สีที่ต้องการในแต่ละพิกเซลวิ่งขึ้นไปชิดหน้าจอ แล้วสีไหนที่ไม่ต้องการแสดงให้ไปอยู่ใต้สีขาวซึ่งมีคุณสมบัติในการสะท้อนแสง ทำให้มองไม่เห็นสีที่อยู่ใต้สีขาว ทำให้หน้าจอ Canvas Color นี้สามารถแสดงสีหลักได้ 10 สี คือเม็ดสีหลัก 4 สี C-M-Y-W แล้วยังมีอีก 4 สีที่ใช้การผสม คือเอา CMY มารวมกันเป็นสีดำ, เอา M+Y ให้กลายเป็นสีแดง, เอา C+Y เป็นสีเขียว เอา C+M เป็นสีน้ำเงิน และแสดงสีเทาได้อีก 2 โทน
ส่วนที่ว่าหน้าจอนี้สามารถแสดงสีสันได้ราว 20,000 เฉดนั้นเกิดจากกระบวนการ Dithered คือถ้าซูมเข้าไป แต่ละพิกเซลก็แสดงได้แค่สีหลัก 10 สีนั่นแหละ แต่เอาแต่ละพิกเซลของ 10 สีมาวางใกล้กัน ผสม ๆ กัน ตาเราก็จะรวมแต่ละเม็ดสีให้กลายเป็นสีใหม่ได้ครับ
และหน้าจอใหม่นี้มีไฟในหน้าจอด้วย ซึ่งก็เป็นไฟแบบสะท้อนเหมือนเครื่องอ่าน e-Book ที่สามารถส่องแสงเข้าไปในแผ่นหน้าจอให้มองเห็นในที่มืดได้แบบเรือง ๆ ปรับระดับแสงได้ด้วยแต่ก็สว่างสุดราว 4 nit เพราะใช้ตอนกลางวันนั้นไม่ต้องใช้ไฟส่องเลย ใช้แสงภายนอกตกกระทบจออย่างเดียวก็ได้ จึงเป็นแสงคนละแบบกับจอแท็บเล็ตทั่วไปที่ส่องภาพออกมาเลย
ความรู้สึกในการจดงาน
มาถึงเรื่องสำคัญอย่างการจดงานลงใน reMarkable Paper Pro กันบ้าง จริง ๆ เราชอบสัมผัสในการจดงานมาตั้งแต่ reMarkable 2 แล้ว ซึ่งความสามารถในการจดของ 2 รุ่นนี้ก็ไม่ต่างกันนัก เพราะเป็น OS และซอฟต์แวร์ตัวเดียวกัน มีเครื่องมือในการจดงานหลากหลายเหมือนกัน เช่นปากกามีให้เลือกหลายแบบ จะเป็นเส้นเล็ก ๆ แบบปากกาลูกลื่นหรือดินสอ ไปจนถึงปากกาเน้นข้อความ หรือปากกา Calligraphy ที่ไวต่อแรงกดหรือการเอียงปากกาก็มีให้เลือกทั้งนั้น และปากกาบางแบบยังสามารถผสมสีระหว่างกันได้ด้วย หรือสามารถเลือกรูปแบบกระดาษที่จะจดก็ได้ เป็นกระดาษแบบเส้น เป็นตาราง เป็น Checklist มีให้เลือกหลายแบบ เวลาจดก็สามารถเลื่อนหน้ากระดาษไปมาได้เหมือนกระดาษแผ่นใหญ่ หรือจะพลิกเปิดหน้าใหม่ไปเลยก็ทำได้
นอกจากนี้ด้วยความที่เป็นการจดแบบดิจิทัล เราจึงสามารถ Undo สิ่งที่เพิ่งจดพลาด, ก๊อบสิ่งที่ต้องการทำซ้ำ เช่น วาดรูปตารางมาแล้วจะก๊อบสร้างตารางเพิ่มก็ทำได้เลย หรือสามารถแกะลายมือที่จดไว้เป็นตัวอักษรเพื่อเอาไปใช้งานต่อในระบบคอมพิวเตอร์ได้เลย (แต่ยังไม่รองรับภาษาไทยนะ) แน่นอนว่าเราสามารถวางมือลงบนหน้าจอแล้วใช้ปากกาเขียนได้เหมือนกระดาษ และไม่มีปัญหากับคนถนัดซ้ายด้วย เพราะสามารถตั้งค่าเครื่องให้เหมาะกับคนถนัดซ้าย เพื่อที่เมนูเลือกเครื่องมือจะย้ายไปอยู่ทางขวาของหน้าจอ เพื่อหลบไม่ให้อุ้งมือไปแตะโดน
ส่วนถ้าต้องการพิมพ์ตัวหนังสือลงไป ก็สามารถใช้ On-Screen Keyboard พิมพ์ลงไปได้เหมือนแท็บเล็ตอื่น ๆ แต่ไม่มีคีย์บอร์ดภาษาไทยนะ แล้วก็สามารถจัดรูปแบบข้อความได้ เช่น ตัวหนา, ตัวเอียง ปรับรูปแบบย่อหน้าได้ 5 แบบ คือหัวเรื่อง, หัวเรื่องรอง, ตัวเนื้อหา, Bullet point แล้วก็ Check list แต่ก็ไม่สามารถปรับฟอนต์ได้นะครับ เน้นพิมพ์บันทึกอย่างเดียว
ของใหม่ที่ปรับปรุงใน reMarkable Paper Pro จนแตกต่างจากรุ่นเดิมก็คือจอสีกับไฟในหน้าจอ ซึ่งสำหรับนักจดงานแล้ว มันทำให้การจดสนุกขึ้นมาก สามารถเน้นจุดต่าง ๆ ด้วยสีสันก็ทำให้ชัดเจนและจำง่ายขึ้น แต่ช่วงแรกอาจใช้งานแล้วรู้สึกแปลก ๆ เพราะหลังจากเขียนสีลงไปเสร็จ หน้าจอจะกะพริบหลายรอบเพื่อแสดงสีสันที่ถูกต้องออกมา และการที่มีไฟก็ทำให้ใช้งานในที่แสงน้อยหรือที่มืดได้ ก็เป็นการอัปเกรดที่ทำให้ชีวิตผู้ใช้ดีขึ้น อีกเรื่องคือรุ่นใหม่นี้มีการปรับปรุงฮาร์ดแวร์ใหม่ ทำให้เวลาเขียนแล้วเส้นปรากฏขึ้นมาทันทีแบบติดปลายปากกามากขึ้น เลยรู้สึกเหมือนจดลงสมุดจริงมากขึ้นกว่าเดิม (พูดในเชิงเทคนิคคือปรับปรุงให้ความหน่วงหรือ Latency การในเขียนลดลงจาก 21 ms เหลือแค่ 12 ms)
ส่วนขัดใจคือใช้ปากกา 3rd Party ไม่ได้แล้ว
แต่ส่วนที่ขัดใจเราอยู่คือ reMarkable Paper Pro นั้นเปลี่ยนเทคโนโลยีของปากกาจาก Wacom EMR เป็นเทคโนโลยีเฉพาะของตัวเอง เพื่อให้เหมาะสมกับจอสีตัวใหม่มากขึ้น แต่ก็ทำให้เราไม่สามารถใช้ปากกาจากผู้ผลิตภายนอกได้แล้ว จริงอยู่ว่าปากกา Marker ของ reMarkable เองก็เป็นปากกาที่ดี แล้วรุ่น Marker Plus ก็สามารถใช้ด้านก้นของปากกาเป็นยางลบลบสิ่งที่จดได้เลย แต่เราก็คิดว่าสัมผัสของ Lamy Al-Star EMR ที่เราใช้กับ reMarkable 2 มาก่อนมันจับถนัดมือและเขียนได้ลื่นไหลกว่า แถมปากกา EMR ไม่ต้องชาร์จไฟด้วย เทียบกับปากการุ่นใหม่ของ reMarkable ที่จำเป็นต้องชาร์จไฟโดยแปะแม่เหล็กข้างเครื่องเสมอเวลาไม่ใช้งาน
ความสามารถเสริมของ reMarkable
แม้ว่า Paper Tablet ของ reMarkable จะออกแบบให้เรามีสมาธิกับการทำงานโดยไม่มีสิ่งรบกวน แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีความสามารถล้ำ ๆ แบบผลิตภัณฑ์ไฮเทคนะครับ โดยความสามารถที่เราใช้บ่อยคือ
- ซิงก์ไฟล์ไปอ่านในมือถือหรือคอมพิวเตอร์ อันนี้เป็นหนึ่งในบริการของ Connect ระบบคลาวด์ของ reMarkable ทำให้เราสามารถเข้าถึงไฟล์ของเราได้ตลอด วันไหนไม่ได้พก Paper Tablet ไป ก็ยังดูเอกสารที่เราจดในมือถือได้ หรือสามารถแก้ไขเอกสารในส่วนของตัวพิมพ์ได้ผ่านมือถือ และปรับตำแหน่งสิ่งที่เราจดและตัวอักษรได้ผ่านคอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งถ้ามี reMarkable หลายเครื่อง (ไม่เกิน 3 เครื่อง) ก็สามารถซิงก์ข้อมูลทุกเครื่องให้เหมือนกันได้ด้วย
- Connect แผนสมาชิกแบบเสียเงินของ reMarkable ซึ่งจะแถมมาให้ 1 ปีพร้อมการซื้อเครื่อง ทำให้เราสามารถซิงก์ข้อมูลขึ้น Cloud ของ reMarkable ได้แบบไม่จำกัด แถมยังได้ประกันเครื่องเพิ่มสูงสุด 3 ปีตลอดอายุที่สมัคร Connect ด้วย แต่ถ้าใครใช้แล้วไม่อยากต่ออายุสมาชิก Connect เดือนละ 119 บาท หรือปีละ 1,190 บาท ก็ยกเลิกได้ครับ โดย reMarkable จะเก็บเอกสารขึ้น Cloud ให้เฉพาะไฟล์ที่ใช้ล่าสุดไม่เกิน 50 วันเท่านั้น แต่ข้อมูลก็จะยังเก็บในเครื่องไปตลอด
- Screen Share สามารถแคสต์ภาพจาก Remarkable ไปขึ้นจอคอมพิวเตอร์ได้ด้วย ทำให้เห็นการจดงานสด ๆ เลย ซึ่งจะเอาไปต่อจอใหญ่ก็ได้
- อ่าน PDF, EPUB ก็ลากใส่แอปฯ reMarkable ในคอมพิวเตอร์ได้เลย หรือทำผ่านเว็บก็ได้ แล้วมันจะซิงก์ไปที่เครื่องอัตโนมัติ ซึ่งก็สามารถจด ขีดเขียนไฟล์ PDF แล้ว Export กลับออกมาได้ผ่านแอปฯ reMarkable เหมือนกัน
- เปิดไฟล์จาก Google Drive, Dropbox และ OneDrive ได้
- ส่งหน้าเว็บไปอ่านใน reMarkable ผ่านส่วนเสริมของ Chrome ทำให้อ่านเว็บยาว ๆ ได้สบายตาบน reMarkable แต่จะมีปัญหากับเนื้อหาภาษาไทยที่จะกลายเป็นกล่องสี่เหลี่ยม
เพียงแต่ว่า reMarkable จะไม่สามารถลงแอปฯ ภายนอกได้นะครับ (มันอาจจะมีวิธีแฮกอยู่ แต่เราอิงจากการใช้งานปกติที่ไม่มีช่องทางให้ลงแอปฯ) เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถลงแอปฯ อย่าง kindle หรือแอปฯ ของร้านหนังสือใด ๆ เพื่อเอาหนังสือมาอ่านบน reMarkable ได้ เว้นแต่คุณจะไปหาตัวไฟล์หนังสือที่เป็น PDF หรือ ePub มาโยนลงเครื่องโดยตรง
อุปกรณ์เสริม
ปากกา Marker
ชุดมาตรฐานของ reMarkable Paper Pro ราคา 22,999 บาท นั้นประกอบด้วยตัวแท็บเล็ตและปากกา Marker รุ่นมาตรฐานสีเทาอ่อนที่หนัก 14 กรัมอยู่แล้ว แต่คุณสามารถเพิ่มเงิน 2,000 บาท เพื่ออัปเกรดเป็นปากกาเป็น Marker Plus สีเทาเข้มที่มียางลบในตัว โดยหันด้านก้นปากกามาถูจอเหมือนดินสอปกติ และหนัก 18.4 กรัมได้ และปากกาทั้งคู่จะมาพร้อมหัวปากกาสำหรับเปลี่ยนอีก 6 ชุดเวลาที่เขียนเยอะ ๆ จนหัวสึกก็สามารถเปลี่ยนได้ง่าย ๆ ซึ่งเราเทสต์ใช้งานบนปากกา Marker Plus ก็รู้สึกว่ามีน้ำหนักในการเขียนดี และก็ใช้ด้านยางลบบ่อยเหมือนกัน
เคสของ reMarkable
Book Folio
นอกจากนี้เรายังสามารถเลือกสั่งเคสของ reMarkable Paper Pro ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้กับ reMarkable 2 ไม่ได้นะครับ ขนาดเครื่องไม่เท่ากัน โดยมีเคสให้เลือก 2 แบบ แบบแรกคือ Book Folio เคสปิดหน้าแท็บเล็ตแบบเปิดเหมือนหนังสือ ซึ่งตัวเคสมีแม่เหล็กทำให้ยึดกับเครื่องโดยไม่ต้องสวม และเมื่อเปิดปกตัวแท็บเล็ตจะถูกปลุกขึ้นมาพร้อมใช้งานเองด้วย
- Book Folio มีราคาเริ่มต้น 3,499 บาท สำหรับ Polymer weave สีเทาอ่อน ที่ทำจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล
- ส่วนถ้าเลือกเป็นแบบ Mosaic weave ราคา 5,499 บาทที่เป็นโพลีเอสเตอร์รีโซเคิลเหมือนกัน แต่ลายจะแน่นกว่า ก็จะมีให้เลือก 3 สีคือ Basalt (หินบะซอลต์สีเทาเข้ม), Burgundy (สีไวน์แดง) และ Cobalt (สีน้ำเงินเข้ม)
- และปกตัวท็อปจะทำจากหนังแท้ราคา 6,999 บาท มีให้เลือก 2 สีคือดำและสีน้ำตาลแบบตัวที่เรารีวิวนี้
แล้วตรงด้านขวาบนจะมีลิ้นสำหรับล็อกปากกาที่แปะข้าง reMarkable ไม่ให้ตัวปากกาหลุดหายเวลาใส่กระเป๋าครับ ซึ่งตัว Type Folio ก็มีลิ้นแบบนี้เหมือนกัน
Type Folio
ส่วนเคสแบบที่ 2 คือ Type Folio ราคา 8,999 บาท เป็นเคสที่มีคีย์บอร์ดซ่อนอยู่ในตัว สำหรับคนที่ชอบพิมพ์ด้วยคีย์บอร์ดจริงจัง โดยมีให้เลือกแค่แบบ Mosaic weave สี Basalt เท่านั้น และแน่นอนว่าไม่มีแป้นภาษาไทยให้เลือก เพราะตัวระบบของ reMarkable ไม่รองรับการพิมพ์ภาษาไทย
คีย์บอร์ด Type Folio นั้นออกแบบมาดีมากครับ เมื่อกางเคสออกมาตอนแรกที่ยังไม่ได้แปะตัว reMarkable ลงไป จะมองไม่ออกเลยว่ามีคีย์บอร์ดซ่อนอยู่ จนแปะตัวเครื่องและใช้แรงดูดของแม่เหล็กเพื่อเปิดตัวแป้นคีย์บอร์ดออกมา ซึ่ง Type Folio สามารถตั้งตัว reMarkable Paper Pro ได้ 2 แบบ คือตั้งสูง เหมือนกางโน้ตบุ๊กพิมพ์งาน กับตั้งให้ลาดเอียงเยอะหน่อย สำหรับคนที่อยากพิมพ์ไป แล้วเขียนด้วยปากกาบนหน้าจอแบบง่าย ๆ
ตัวแป้นคีย์บอร์ดของ Type Folio เป็นแบบ 5 แถวที่ให้สัมผัสการพิมพ์ดีเลย แต่ละปุ่มใหญ่เท่ากับคีย์บอร์ดปกติ มี Key Travel ลึกพอที่จะให้สัมผัสการพิมพ์ที่ดีเหมือนคีย์บอร์ดแมคหรือคีย์บอร์ด Surface และมีไฟ backlit ที่ปุ่มด้วย ทำให้ใช้ในที่แสงน้อยก็เห็นว่าแป้นอยู่ตรงไหน และคีย์บอร์ดนี้ไม่ต้องใส่ถ่านนะครับ ใช้ไฟจากตัว reMarkable Paper Pro เลย
ปกติเราจะใช้ปากกาเขียนระหว่างที่พิมพ์ได้ด้วย เช่น ป้ายสีเหลืองเน้นข้อความสำคัญที่พิมพ์ลงไป หรือวาดลูกศร วาดต่าง ๆ เหมือนเราเขียนปากกาลงไปเพิ่มในกระดาษที่พิมพ์ออกมา แต่ที่ไม่เหมือนกระดาษคือส่วนของปากกาที่จดเพิ่มเหล่านี้จะวิ่งตามข้อความที่พิมพ์เพิ่มหรือลบออกไปด้วย เช่น เราทำไฮไลต์ไว้ในย่อหน้าที่ 2 แล้วเราเพิ่มย่อหน้าบทความเข้าไปทำให้ย่อหน้า 2 กลายเป็นย่อหน้า 3 ส่วนที่ไฮไลต์เดิมก็จะวิ่งตามไปที่ย่อหน้า 3 ด้วย และที่คีย์บอร์ดจะมีปุ่มพิเศษอยู่ข้าง ๆ ปุ่มลูกศรเรียกว่า Refine Key เมื่อกดแล้วเราจะใช้ปากกาในการเลือกข้อความที่พิมพ์ลงไปแทนการเขียนปากกาปกติครับ ก็ทำให้ผู้ใช้สามารถสลับการทำงาน 2 โหมดได้เร็วขึ้น
แต่จุดสังเกตของตัว Type Folio คือน้ำหนักครับ แน่นอนว่ามีคีย์บอร์ดทั้งแผ่นติดอยู่กับเคสขนาดนี้เลยมีน้ำหนัก 485 กรัม เทียบกับแบบ Book Folio ที่รุ่น Polymer weave และ Mosaic weave มีน้ำหนัก 234 g ส่วนรุ่นหนังจะหนัก 275 กรัม ก็ทำให้ชั่งรวมกับเครื่องแล้วน้ำหนักจะได้น้ำหนักประมาณกิโลฯ กว่า ๆ ก็หนักพอ ๆ กับโน้ตบุ๊กเครื่องหนึ่งเลย
สรุปแล้ว reMarkable Paper Pro เหมาะกับใคร
ด้วยราคาเริ่มต้นพร้อมปากกาของ reMarkable Paper Pro ที่ 22,999 บาท มันก็สมน้ำสมเนื้อกับคุณภาพวัสดุ, งานประกอบ รวมถึงคุณภาพของซอฟต์แวร์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคานี้ก็สามารถซื้อ iPad Air ตัวล่าสุดได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น reMarkable Paper Pro จึงเหมาะกับคนที่รู้ตัวเองชัดเจนว่าชอบจดด้วยปากกา ต้องการอุปกรณ์ที่เก่งด้านเดียวไปเลยสำหรับงานจด แล้วถือมันแทนสมุดจดไปเลย และมันจะเก่งขึ้นถ้าคุณจดงานเป็นภาษาอังกฤษ ที่ระบบแกะลายมือของ reMarkable ทำงานได้
แล้วถ้าชอบจด แต่ไม่ได้อยากลงทุนขนาดนั้น ก็ยังมีทางเลือกเป็น reMarkable 2 ราคาเริ่มต้นพร้อมปากกาแค่ 15,499 บาท ที่แม้ไม่ได้จอสีมีไฟ แต่เครื่องก็บางกว่า เล็กกว่า เบากว่ามาก พกพาสะดวกกว่า
ถ้าอยากลองก่อน ก็ลองได้เสมอครับ ความใจกว้างของ reMarkable คือถ้าคุณสั่งผ่านเว็บ remarkable.com นอกจากจะส่งฟรีถึงไทยแล้ว ยังสามารถทดลองใช้ฟรีได้ 100 วัน ถ้าใช้แล้วไม่ถูกใจภายในช่วงเวลา 3 เดือนกว่านี้ ก็กดคืนสินค้าได้เสมอ ทาง reMarkable ก็จะส่งขนส่งมารับสินค้ากลับไปแบบไม่ต้องเสียเงินค่าส่งกลับด้วย พอบริษัทตรวจสอบเรียบร้อยก็จะได้เงินคืนเต็มจำนวน บริษัทยุโรปนี่มันได้ใจจริง ๆ