หมิว – ฐิตาภรณ์ สุทีวรรน์ กราฟิกดีไซน์เนอร์สาว มากความสามารถ
อาชีพ “กราฟิกดีไซน์เนอร์” ถือเป็นอีกอาชีพที่ต้องทุ่มพลัง แรงงาน และ Passion อย่างมหาศาลในการสร้างผลงาน เพราะทั้งการแข่งขันที่สุด เวลาชีวิตที่ต้องทุ่มเทเยอะ และความกดดันจากหลากหลายทาง แต่ถึงอย่างนั้นก็มีกราฟิกดีไซน์เนอร์เจ๋งๆ จำนวนมาก ที่สร้างผลงานออกมาอวดโฉมสู่สังคมไทย และหนึ่งในนั้น ก็คือ พี่หมิว – ฐิตาภรณ์ สุทีวรรน์ สาวสถาปัตย์ ธรรมศาสตร์ ที่ผันตัวมาเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ ไปทำความรู้จักกับพี่หมิวกันเลยดีกว่าค่ะ!
“กราฟิกดีไซน์เนอร์” เริ่มต้นจากพรีเซนเทชั่นในคลาสเรียน
จริงๆ จบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขา สถาปัตยกรรม ซึ่งสมัยเรียนนี่คือ เรียนหนักมากๆ ไม่ได้ใช้ชีวิตอะไรแบบเด็กวัยเดียวกันคนอื่นเลย เคยมีความคิดอยากหารายได้เสริมอะไรสักอย่าง ที่เราไม่ต้องเอาตัวออกไปทำงาน เพราะเวลาเราน้อยมาก เวลาทำพรีเซนท์งานให้อาจารย์ เค้าจะมีให้ทำโปสเตอร์ ออกไปนำเสนอควบคู่โมเดลผลงาน และอาจารย์จะชมตลอด ให้เป็นตัวอย่างของเพื่อนๆ ว่าเป็นพรีเซนเทชั่นที่เข้าใจ ดูเป็นสากล มีความชัดเจน แม้ไม่ต้องมีคนยืนอธิบาย เราก็เลยเริ่มคิดว่า หรือเราจะถนัดการทำงานด้านนำเสนอกราฟิกแบบนี้ เป็นงานที่อยู่หน้าคอมที่บ้าน แต่สามารถดีลงาน ส่งงานออนไลน์ให้ลูกค้า โดยไม่ต้องไปเจอตัวกันได้ ก็เริ่มรับงานเลยตั้งแต่ยังเรียนอยู่
งานแรกเป็นงานออกแบบโลโก้ โบรชัวร์ให้หมู่บ้านจัดสรร โชคดีมาก งานแรกก็โปรเจคใหญ่เลย (ยิ้ม)
จากเด็กสถาปัต สู่อาชีพกราฟิกดีไซเนอร์เต็มตัว
ช่วงฝึกงานได้ฝึกกับ Production ทำโฆษณา เพราะเป็นคนชอบถ่ายภาพ ชอบลำดับเรื่องราว จนใจเราจะไปทำสายงานนั้น ลืมด้านสถาปัตย์ไปเลย (หัวเราะ) เพราะมันเรียนหนักมาก เราคิดแค่ว่า เราเรียนหนักมาแล้วอะ เรียนจบไป เราไม่อยากจะไปทำงานหนักเหมือนตอนเรียนอีกนะ แล้วเราโชคดี เราค้นพบตัวเองได้เร็วว่าชอบอะไรแบบไหน ถนัดอะไรแบบไหน เพราะคณะนี้สร้างคนให้ทำอะไรได้หลายอย่าง
และคิดว่าสายกราฟิกตอบโจทย์เราที่สุด เราจบออกแบบมา เรามีความคิดไร้ขีดจำกัด เราไม่ชอบให้ใครมาจำกัดงาน อีกอย่างเราไม่อยากทำงานแบบ เช้าเข้างาน ทำ ทำ ทำเดิมๆ เย็นออกงาน จบกัน กลับบ้าน เช้าเริ่มต้นใหม่ วนลูปแบบงานออฟฟิศทั่วไป แต่ก็ต้องการความมั่นคงจากงาน ก็เลยเลือกตอบรับการทำงานประจำในสายงานกราฟิก มันตอบคำถามที่เราตั้งให้ชีวิตเราได้ครบ ความมั่นคง และ อิสระทางความคิดในงาน
“ตรงโจทย์” “กระตือรือร้น” และ “ทันเทรนด์” คือหัวใจของการทำงาน
งานสายออกแบบทุกสาย ต้องใช้ทักษะเฉพาะตัวของแต่ละคน สำคัญมาก เพราะมันก็เหมือนงานศิลปะ งานจะบอกความเป็นตัวตนได้ดี แต่งานชิ้นนึง มันก็จะมีโจทย์ สำคัญคือทำยังไงให้ตอบโจทย์ ไลฟ์สไตล์ก็บ่งบอกตัวงาน อย่างแรกเลยคือต้องยอมรับความคิดเห็นคนอื่นได้ ลูกค้านั่นแหละ เราสร้างสรรค์งานมาอย่างมั่นใจว่าดีสำหรับเรามากแล้วแน่ๆ แต่ลูกค้าอาจจะมีเสนอไอเดียของเค้าเพิ่ม หรือปรับแบบ แก้งาน บางทีถึงขั้นล้มแบบเลยก็มี เราก็ต้องรับฟังมาปรับ ไม่ใช่ต่อต้านเนอะ
งานก็จะตอบโจทย์นั้นๆ มันก็คือสำเร็จ สองคือ ความกระตือรือร้น งานเหล่านี้จะเสร็จสมบูรณ์ได้คือเราต้องตั้งเดดไลน์ ลูกค้าอาจจะบอกว่า ขอใน 7 วัน แต่เราอาจต้องวางแผน กระตือรือร้นกับตัวเอง ว่าควรเสร็จในกี่วัน ที่จะเผื่อเวลาการปรับแก้ด้วยนะ เพราะถ้าทำแบบ ฉันติสท์ ฉันอยากทำเรื่อยๆ คิดออกเมื่อไรก็ค่อยมาทำ มันจะบานปลายมาก แบบนี้ไม่ได้ อีกอย่างที่สำคัญคือ เป็นคนอัพเดทยุคสมัยเปลี่ยน เทรนด์อะไรกำลังมาตอนนี้ สังเกตว่าคนทำงานด้านนี้จะมี Taste นะ บางคนคุมโทนไปถึงการแต่งตัวเลย ส่วนตัวงานก็สีอะไรมาแรงปีนี้ การจัดวาง Layout แบบไหน กำลังเป็นที่จับตาในยุคนี้ สินค้าตัวนึงจะดีแค่ไหน ถ้าการนำเสนองานโฆษณา โปสเตอร์ที่เค้าไปแปะตามสถานที่ต่างๆมันไม่โดดเด่นและดึงดูด ก็จบ คนต้องซื้อมาใช้ถึงรู้ว่าดี แต่ถ้าโบรชัวร์ดึงดูดด้วยการจัดวาง รูปถ่าย โทนสี คนก็สนใจอยากซื้อมาลองได้เหมือนกัน กระบวนการทำงานก็ควบคู่ไปหลายด้าน ประกอบกันไป
อดปริ่มกับผลงานตัวเองไม่ได้
ตอนนี้ทำด้านออกแบบฉลากผลิตภัณฑ์ซะเป็นส่วนใหญ่ พอเห็นคนมาซื้อ คนใช้ มันก็ปลื้มใจยกตัวอย่าง กาแฟยี่ห้อนึง ที่เค้าเหมาเราทำทั้งฉลาก โปสเตอร์ พรีเซนเทชั่นงานที่โฆษณา พอเราไปเดินเจอวางขายตามทั่วไป เราก็แฮปปี้ แอบถ่ายรูปคู่กับงานตัวเองมา คนขายก็ตกใจว่าทำอะไร (หัวเราะ)
“ช่างภาพ” จากงานอดิเรก สู่รายได้หลัก
ชอบถ่ายรูป เพราะรู้สึกว่าปกติคนเราเก็บความทรงจำที่พบเจอด้วยสายตา พอเวลาผ่านไป สิ่งที่ยังอยู่ก็คือภาพถ่าย และสายงานเรา มันเกี่ยวข้องกับภาพพอสมควร ต้องมองภาพให้ออก แยกองค์ประกอบ 2D เป็น 3D สรรค์สร้างงานจากมโนภาพที่เราสเกต ที่เราวาดลายเส้นให้จับต้องได้ งานกราฟิกก็ออกแบบจัดวางองค์ประกอบให้ออกมาเหมาะสม งานถ่ายภาพก็เหมือนกัน การวาง Position และมุมมองที่เราจะสื่อออกไป แต่งานนี้จะมี Feeling หรือ Moment ของสิ่งที่เราถ่ายเพิ่มเข้าไปด้วย ให้ภาพมันเล่าเรื่องได้ พอมีคนอินกับงานเรา มันก็เป็นจุดขาย การดูแลเทคแคร์ลูกค้าก็ด้วย เราเป็นช่างภาพที่นอกจากเก็บบันทึกความทรงจำให้เค้าแล้ว เรายังทำให้เค้ารู้สึกสบายใจกับเราตั้งแต่ก่อนถ่าย เหมือนเราเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกับลูกค้า เค้าก็จะผ่อนคลาย ยิ้มอย่างจริงใจให้เราตอนลั่นชัตเตอร์
งานถ่ายภาพส่วนใหญ่จะเป็นโอกาสสำคัญที่จัดขึ้นครั้งเดียว ฉะนั้นเค้าก็ต้องเชื่อใจเรามากๆ เลยเหมือนกันที่ให้เรารับหน้าที่ตรงนี้ เราก็ทำหน้าที่เราอย่างสุดความสามารถ
“Practice makes Perfect”
ถือคตินี้มาตลอดในทุกๆเรื่องเลย โดยเฉพาะงาน เราคิดเสมอว่าไม่มีอะไรที่คนคนนึงทำไม่ได้ เราต้องฝึกฝน เราต้องพยายามก่อน ลองทำก่อน จะได้รู้กันไปว่าทำได้หรือเปล่า ใช่ทางเรามั้ย ถ้าไม่ใช่ก็โอเค อย่างน้อยฉันได้ลองทำแล้วนะ พอคิดแบบนี้ไว้ การลงมือทำก็สำคัญสุด ลองผิดลองถูกจะได้เจอคำตอบ อย่างน้อยการพยายามทำ หรือลงมือทำ โอกาสสำเร็จคือ 0-100 แต่ถ้าไม่กล้าทำ ไม่ลงมือทำ ไม่พยายาม โอกาสเป็น 0 อย่างเดียว
แอป Lightroom คือตัวช่วยงานถ่ายรูปได้เป็นอย่างดี
แอปที่หลายๆคนอาจจะรู้จักกันดีเลย คือ Lr หรือ Lightroom แอปแต่งภาพที่เริ่มจากการใช้ในคอมพิวเตอร์ก่อน จนค่ายเค้าพัฒนาให้ใช้ได้ในมือถือด้วย แอปคู่ใจเลย เราเป็นช่างภาพ เราสร้างความท้าทายให้ตัวเอง ท้าทายอีกแล้ว (หัวเราะ)
ทำยังไงให้ภาพไม่สูญเสียมนต์เสน่ห์หลังการถ่ายออกไปน้อยที่สุด แก้จุดเสียบางจุด ปรับ White Balance ถ้าแสงที่ถ่ายมาเพี้ยน หรือปรับสว่าง ถ้าถ่ายมาติด Under ซึ่งสไตล์ภาพของเราคือเราทำภาพสว่าง นวลๆ
แต่โดยรวมจะอยู่ที่ Mood ของภาพมากกว่าว่าควรจะเป็นแนวไหน เพราะถ้าผู้ชายก็จะโทนภาพจะออกให้เรียบ ให้เท่ได้นะ สีภาพฟิล์มเราก็ชอบ กล้องฟิล์มเราก็ใช้ หรือจะปรับภาพโทนฟิล์ม จาก Lr มันก็สวย และมีเสน่ห์ของในแบบของมัน
เครื่องมือครบดี เพราะเค้าย่อชุด Adobe Lr ที่ใช้ใน PC มาไว้ในมือถือ
เราอาจจะเคยชินการใช้งานเครื่องมือเยอะแยะมากมายจากใน PC พอมาอยู่ในมือถือ แอปนี้มีมากกว่า ความสว่าง คมชัด ไฮไลท์ และเงา แต่มันเลือกสมดุลสีเฉพาะสี หรือเราอยากปรับแค่สีนี้สีเดียวได้ เช่น สีผิวคนของคนผ่านกล้องมามันดูดรอป ดูเข้มขึ้น เราก็ลดสีส้ม เพิ่มสว่างสีส้ม ได้ผิวที่ขาวขึ้นเลย มันตอบโจทย์ บางแอปมีปรับ อุณหภูมิได้ก็จริง แต่เราว่าแอปนี้ปรับแล้วมันไม่เพี้ยน มันดึงคู่สีได้ดี ความเห็นส่วนตัวของเรานะ
แอปนี้ ทำได้ทุกอย่างเกี่ยวกับการปรับเรื่องสีของภาพ ส่วนใหญ่ปัญหาหลังถ่ายภาพแล้ว ก็คือพวกสีทีไม่ถูกใจนี่หละ เพราะองค์ประกอบ ช่างภาพต้องจัดตอนถ่ายอยู่แล้ว สิ่งที่แก้ต่อ คือ โทนสี ไม่รวมการใช้ Preset โหลดนะ สมัยใช้ใหม่ๆ มีบ้าง เราอยากรู้ว่าเค้าแต่งกันยังไงให้สวย สุดท้ายก็ไม่ใช่ตัวเรา รู้สึกมันย้อมเกินไป ปัจจุบันก็ฝึกมาเองเรื่อยๆ จนมี Preset เป็นของตัวเอง เป็นสไตล์ของเราเองแล้ว แถมไม่ต้องเป็น Filter ที่ไปเปลี่ยนรูปตามเดิม สีตามธรรมชาติที่อาจจะสวยอยู่แล้ว อย่าย้อมจนดูปลอมเกินไป ยังไงสีตามธรรมชาติก็งามที่สุดแล้ว
ดาวน์โหลด
ได้รู้จักพี่หมิววันนี้ บีบอกได้เลยว่าคุ้มมาก! เพราะพี่หมิวเป็นคนที่มีความสามารถหลากหลายจริงๆ และงานกราฟิกก็สวยเริ่ด บวกกับ Passion ที่เกินตัว เฮ้อออ.. ยอมใจเลย
ใครสนงานด้านกราฟิก ก็ไปทำความรู้จักและดูผลงานของพี่หมิวได้ที่ www.facebook.com/hmzstudio เลยค่ะ