“เภสัชศาสตร์” คณะยอดฮิตอีกคณะ ที่หนุ่มสาวสายวิทย์ ปรารถนาจะเข้ากัน การแข่งขันที่สูง คะแนนที่เยอะลิบลิ่ววว และเส้นทางอาชีพที่หลากหลายและน่าสนใจ ยิ่งเป็นความท้าทายที่หลายๆ คนอยากจะเข้าไปศึกษา แน่นอนค่ะ ไม่พลาดแน่นอน! ใครที่อยากศึกษาต่อคณะนี้ หรือคุณพ่อ คุณแม่ ที่อยากให้ลูกเข้าศึกษาต่อในคณะเภสัชศาสตร์ห้ามพลาดค่ะ เพราะวันนี้บีจะพาทุกคนไปคุยกับ บิ๊นท์ – สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ สาวเภสัชหน้าใส ขวัญใจมหาชนกันค่ะ และแอบกระซิบเลยว่าวันนี้ข้อมูลแน่นมากกก

ไปค่ะ.. ลุยยยย ไปคุยกับสาวเภสัช มหิดลกัน!!

จุดเริ่มต้นของการเรียนเภสัช..

เราเองชอบเรียนวิชาชีววิทยามาก กายวิภาคเกี่ยวกับคนหรือสัตว์นี่ชอบสุดๆ เลย ณ ตอนช่วงเข้ามหาวิทยาลัยอาชีพในหัวเลยมีอยู่ไม่กี่อย่าง ไม่แพทย์ ก็เภสัช หรือทันตะ แต่พูดจริงๆ ว่าตอนนั้นอยากเป็นหมอ เพราะคนรอบข้างเลย แต่ปีนั้นก็ดันสอบไม่ติดแพทย์ แต่ติดคณะเภสัชแทน ก็กะว่างั้นลองเรียนปีหนึ่งแล้วค่อยซิ่วไปเรียนหมอก็ได้

ปรากฏว่าการซิ่วครั้งนั้นสำเร็จ!! กลายเป็นหมอบิ๊นท์

ใช่เลย ปรากฏว่าติดหมอ.. แต่ทีนี้เริ่มลังเลแล้วว่าจะไปคณะแพทย์ดีไหม เพราะการที่เราอยู่คณะนี้หนึ่งปี แถมเราเองก็ทำกิจกรรมเยอะมากกก ทำให้เรารู้จักคณะเรามากขึ้น รวมถึงรู้ลู่ทางว่าอนาคตเราจะสามารถเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งพอมานั่งพิจารณาตอนเลือกว่าจะไปไม่ไป ก็เลือกจากการอ่านข้อมูลเลยนะว่าแพทย์ เภสัชเรียนอะไรบ้างในแต่ละปี จบไปทำงานอย่างไร เอาให้ชัวร์ เอาให้แน่ว่าอาชีพไหนที่เป็นเรา ลังเลอยู่สักพัก สุดท้ายก็เลือกเรียนเภสัชนี่แหละ!!

สาวเภสัชเม้าการใช้ชีวิตในคณะเภสัชศาสตร์ มหิดลให้ฟังหน่อย

คำถามที่รอคอย (หัวเราะ) บอกก่อนเลยว่าชีวิตในคณะเภสัช มหิดลเป็นจุดใหญ่จุดหนึ่งในชีวิตที่จะเล่าให้ลูกหลานฟังเลย (หัวเราะ) เพราะมีความทรงจำดีๆ หลายอย่างที่ได้จากที่นี่เลยค่ะ ตอนปีหนึ่งเด็กมหิดลทุกคณะจะเรียนอยู่ที่เดียวกันคือ วิทยาเขตศาลายา แล้วด้วยความที่เป็นคนชอบรู้จักคน ชอบเฮฮา ก็มีความสุขมาก ได้รู้จักเพื่อนครบทุกคณะเลย เพราะที่มหาวิทยาลัยจะมีวิชา MUGE เป็นวิชาที่คละคณะ ทุกคณะจะมาเรียนรวมกัน รวมถึงปีหนึ่งของคณะเราจะมีกิจกรรมพิเศษคือ PY PRO บริการส่งความรักให้เพื่อนๆ ในมหิดล ศาลายาได้ส่งความรักผ่านเสียงเพลง ตุ๊กตา หรือข้อความหาคนที่แอบชอบ น่ารักเนอะ (ยิ้ม) ใครอ่านบทความนี้ก็อย่าลืมใช้บริการล่ะ (หัวเราะ) และอีกเรื่องที่ประทับใจมากๆ ในช่วงปีหนึ่งคือบรรยากาศที่ศาลายา จำได้ว่าหลังเลิกเรียนจะชวนกันไปปั่นจักรยาน สูดอากาศสะอาดๆ ลมพัดตึง แล้วก็เม้ามอยอย่างออกรส ตอนนั้นชีวิตโคตรจะมีความสุขเลย (หัวเราะ)

ชีวิตปีหนึ่งจบไป จากนั้นปีที่เหลือ เราก็จะย้ายเข้าสู่กรุงเทพเมืองอมร บริเวณพญาไทค่ะ คณะเราเป็นคณะเล็กๆ ติดกับโรงพยาบาลสงฆ์ การเรียนในช่วงปีสองถึงปีห้าจะเข้มข้นมาก ถ้าน้องๆ คนไหนที่ไม่กล้าจะคุยกับอาจารย์ ไม่กล้าพรีเซนต์งาน การอยู่ที่นี่จะทำให้กลายเป็นเรื่องเคยชินไปเอง ชีวิตช่วงนี้ก็จะมีทุกข์มีสุข ช่วงเครียดๆ ก็จะเยอะขึ้นค่ะ มันเป็นเพราะเราต้องโตขึ้น และวิชาชีพเรามีชีวิตผู้ป่วยอยู่ในมือ ดังนั้นทุกอย่างจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง อาจารย์อาจจะดุบ้างถ้ามันไม่ถูกต้อง แต่พอมองย้อนกลับไปแอบคิดเหมือนกันว่า เราผ่านมาได้ยังไงกันนะ (หัวเราะ) อ้อ แล้วก็จะได้ทำแล็บต่างๆ ด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการทำยารูปแบบต่างๆ เช่น ยาน้ำ ยาครีม รวมถึงวิชาเลือกสนุกๆ อย่างเรานี่เลือกวิชาคอสเมติก เป็นความฝันสูงสุดตั้งแต่เข้ามาคณะเลยแหละ แต่กว่าจะได้เรียนวิชาเลือกนี้ก็ปาไปปีห้าเลย

ฟังดูแล้ววิชาเรียนน่าสนุกมาก แต่ละปี แตกต่างกันยังไงบ้างคะ

คณะเภสัชฯ จะแบ่งเป็น 2 สายคือ บริบาลเภสัชกรรม (pharm. care) และเภสัชอุตสาหกรรม (pharm. science) ซึ่งพวกเราก็จะเรียนด้วยกันตั้งแต่ปี 1-4 แล้วพอจบปี 4 ก็จะเลือกสายว่าใครจะเรียนต่อสายไหน แล้วชีวิตปี 5-6 ก็จะเรียนเจาะลึกของแต่ละสายแยกกันไปค่ะ

ทีนี้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง คร่าวๆ คือเรียนทุกอย่างที่จำเป็นต่อการทำให้ยานั้นมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และผู้ป่วยปลอดภัย
ปี1 เป็นปีที่เราเรียนวิชาพื้นฐานคล้ายๆ มัธยมปลาย เพียงแต่อาจเจาะลึกกว่า

ปี2 จะเริ่มเข้าวิชาของคณะ แต่ก็จะเป็นวิชาพื้นฐานเพื่อให้เราเรียนเชิงลึกที่เกี่ยวกับยาในปีต่อๆ ไปได้ เช่น วิชาที่เกี่ยวกับกลไกปกติในร่างกาย, วิชาที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ปกติปอดเราทำหน้าที่ยังไง หรือระบบภูมิคุ้มกันปกติเขากำจัดเชื้อโรคอย่างไรนะ, วิชาที่เกี่ยวกับสารต่างๆ ในร่างกาย การที่เราเรียนวิชาพวกนี้เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานของร่างกายก่อนว่า เอ้อ.. ปกติร่างกายเราเป็นอย่างนี้นะ รวมถึงวิชาเกี่ยวกับการตั้งตำรับยาเบื้องต้น พูดง่ายๆ คือในปีสองก็จะเรียนอะไรที่พื้นฐานๆ เพื่อเป็นฐานให้เรียนปีต่อๆ ไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ปี3 เราก็จะเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับยามากขึ้นอีกนิด เช่น ความผิดปกติของกลไกร่างกาย, เชื้อโรคกับการก่อโรค, โครงสร้างยา, เภสัชวิทยา (กลไกยา), วิชาตั้งตำรับยา, ผลิตยา และที่สำคัญในปีนี้เราจะได้เรียนเกี่ยวกับยาด้านสมุนไพรด้วย ได้ชิมกันสนุกสนาน ซึ่งถ้าถามว่าปีไหนเป็นปีวิกฤต คือหนักๆ อื้อๆ ตื้อๆ ปีนี้เป็นปีเปิดเลย อ่านหนังสือเยอะกว่าทั้งชีวิตที่ผ่านมาอีก (หัวเราะ)

ปี4 พอผ่านปี 3 ไปรุ่นพี่มักจะบอกว่าปี 4 เบาๆ แต่บอกเลยว่าไม่เบาอย่างที่คิด เพราะการเรียนเภสัช มันไม่ใช่แค่อ่านหนังสือแบบตอนปี3 มันเริ่มมาเป็นภาคปฎิบัติ แต่วิชาเรียนเลคเชอร์ก็ยังมีอยู่ ส่วนใหญ่ก็ต่อเนื่องจากปี 3 นั่นแหละ อย่างเช่น วิชาที่เกี่ยวกับเชื้อโรค และวิชาเภสัชวิทยา เรียกว่าเรียนกันแบบฟูลเทิร์นข้ามปีกันไป และวิชาเลคเชอร์ที่เพิ่มเข้ามาคือวิชาคลินิก อาหาร กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยา

อาจงงว่าวิชาคลินิกคืออะไร ถ้าจะพูดให้ง่ายว่ามันเป็นวิชาเกี่ยวกับอะไร หลังจากเราเรียนวิชาเภสัชวิทยาแล้ว เราก็จะรู้ว่ายามีกลไกอย่างไรในการรักษาโรค ตอนนี้เรารู้แค่ยาและผลของยาถูกไหม แต่พอเข้าสู่วิชาคลินิก มันหมายถึงว่าแนวทางปกติเขาเอายาไปใช้กันอย่างไร แน่นอนการให้ยา ไม่ได้ให้โดยการตัดสินใจทันทีทันใดจากแพทย์หรือเภสัชกร แต่มันจะมีแนวเวชปฎิบัติที่เป็นสากลอยู่ว่า ถ้าคุณมีอาการนี้ คุณต้องกินยาตัวนี้ก่อนนะ ถ้าไม่หายค่อยกินตัวนั้น อะไรประมาณนี้ ซึ่งพอเราเรียนจบวิชาคลินิก เราก็จะมีวิทยายุทธ์ในการเลือกยาประมาณหนึ่งเลยล่ะ

เอาล่ะ เราจะมาเริ่มภาคปฎิบัติที่ว่าไว้ นั่นคือแล็บ มีแล็บคลินิก ซึ่งถือเป็นจุดที่สนุกปนกลัว เพราะพวกเราจะต้องรับบทบาทเป็นเภสัชกรในการสอบ ซึ่งการสอบแต่ละครั้งอาจารย์ก็จะมีการดีไซน์ออกมาเพื่อให้เหมือนการทำงานจริงที่สุด โดยบางครั้งอาจารย์ก็เป็นคนรับบทบาทเป็นผู้ป่วยเอง แล้วคิดดู อาจารย์เล่นเป็นผู้ป่วย หนูก็กลัวสิค้า (หัวเราะ)

ปี 5 เป็นปีเตรียมพร้อมก่อนฝึกงาน การเรียนเลคเชอร์น้อยลงมากๆ แต่งานกลับงอกเงยแบบอินฟินิตี้เลย เป็นปีที่จะได้พรีเซนต์งานวิจัยยาใหม่ๆ ให้อาจารย์ฟัง รวมถึงต้องสามารถวิจารณ์งานวิจัยได้ว่าสามารถนำมาใช้ได้จริง ซึ่งวิชานี้เป็นสิ่งสำคัญในยุคสมัยที่ยาใหม่ๆ มาเยอะมาก, เศรษฐศาสตร์ เนื่องด้วยวิชาชีพเรามันไปได้หลายสายจริงๆ รวมถึงสายการตลาด ดังนั้นความรู้ในวิชานี้ค่อนข้างมีความสำคัญเช่นกัน, วิชาทำยาให้ผู้ป่วยเฉพาะราย เราจะผ่านการตั้งตำรับจากปีก่อนๆ มาอย่างโชกโชน แต่ในปีนี้เราจะเพิ่มความยาก จะยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ ค่ะ เช่นเด็กจำเป็นต้องกินยา A แต่ยา A ไม่มีรูปแบบน้ำ นี่ล่ะปัญหา เราจะเอาเม็ดยาไปบดมั่วๆ ผสมน้ำแล้วให้กินไม่ได้ เพราะการผสมผิดสัดส่วนหรือผิดตัวทำละลายอาจก่อให้เกิดอันตรายได้เลย ดังนั้นก็เป็นสิ่งที่เราต้องเรียน และเป็นหน้าที่หนึ่งของชีวิตเภสัชกรเลยล่ะ ปิดท้ายด้วยวิชา special project เป็นวิชาที่ให้เวลาทำทั้งปีเลย อาจโอโห้! วิชานี้ใจดีจัง จริงๆ คือ 1 ปีก็แทบไม่ทันละจ้า วิชานี้พูดให้ง่ายคือวิชาที่ให้ทำโครงงานเกี่ยวกับยา เราก็จะจับคู่กันทำ แล้ววิเคราะห์ผลออกมา แล้วต้องพรีเซนต์ให้อาจารย์ฟัง ฟังเผินๆ ดูง่าย แต่จริงๆ ตอนพรีเซนต์ยิ่งใหญ่และเตรียมตัวนานมากเลย

ส่วนในช่วงปีสุดท้ายหรือปีหก ที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ การเรียนในปีนี้คือการฝึกงานในแหล่งฝึกงานต่างๆ เช่น โรงพยาบาล โรงงาน ร้านขายยา บริษัทยา ปีนี้ถือเป็นปีที่หนักที่สุดในชีวิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แล้ว เพราะมันเหมือนเป็นการทำงานกลายๆ เภสัชกรแหล่งฝึกหลายๆที่จะมองว่าเราต้องพร้อมกับการทำงานแล้ว ดังนั้นสิ่งที่หนักที่สุดคือความกดดันเลยล่ะ

แต่ละปีดูน่าสนใจมากๆ แล้วมีวิชาไหนที่บิ๊นท์ชอบเป็นพิเศษมั้ย

วิชาที่ชอบคือวิชาเภสัชวิทยา ที่เกี่ยวกับกลไกยาว่าไปรักษาโรคได้อย่างไร ที่ชอบเพราะตอนเด็กๆ เราเคยมีความคิดว่ายาเก่งจัง รักษาคนได้ด้วย แบบอารมณ์ตอนนั้นคือ ทำได้ไงอ่ะ ยามันต้องวิเศษมาก พอมาเรียนเลยรู้สึกตื่นเต้น กระตือรือร้นกับมันมาก เพราะเราจะได้รู้ความลับเสียทีว่าทำไมยารักษาโรคต่างๆ ได้

พูดถึงโปรเจคกันบ้าง มีอันไหนที่บิ๊นท์ชอบที่สุด

โปรเจคที่ชอบที่สุดคงต้องตอบว่าเป็นโปรเจคที่เราทำในวิชาสเปเชียล โปรเจคตอนปี 5 เพราะตอนนั้นเราจะได้มาเพียงหัวข้อ หลังจากนั้นคือทั้งการวางจุดประสงค์ การออกแบบวิธีการทดลอง วิเคราะห์ผล สรุปผล พวกเราจะเป็นคนทำเองทั้งหมด โปรเจคนั้นชื่อว่า ‘การขายยาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก: ผลจากมาตรการกำกับดูแล’ มันสืบเนื่องมาจากเห็นว่าตอนนี้เป็นยุคของอินเทอร์เน็ต อะไรๆ ก็มีขายบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงยาด้วย พอเราไปอ่านกฎหมายประเทศไทยก็พบว่ามันยังถือว่าผิดกฎหมายนะ แต่จะให้ไปไล่จับทุกคนที่ขายก็คงไม่ไหว คงจะดีกว่าถ้ากำหนดแม่บทกฎหมายเกี่ยวกับการขายยาขึ้นมา

โดยพวกเราก็ไปสำรวจกฎหมายของประเทศที่มีการขายยาออนไลน์อย่างถูกกฎหมาย ว่าเขามีแนวทางอย่างไรบ้าง แล้วผลลัพธ์ในประเทศเขาเป็นอย่างไร แล้วก็สรุปผลรวมถึงเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมให้กับประเทศไทยประมาณนั้น สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในโปรเจคนี้คือ โปรเจคนี้ได้รางวัลอันดับ 1 จากการลงคะแนนของอาจารย์ ตอนนั้นน้ำตาจะไหลเลย เพราะคู่เราก็เต็มที่กับมันมากจริงๆ และเชื่อว่าเพื่อนๆทุกคนก็เต็มที่กับโปรเจคตัวเอง และถ้าเพื่อนๆได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์แบบนี้ เขาจะต้องตอบโปรเจคที่ทำในวิชานี้กันแน่นอน

อะไรคือแรงบันดาลใจในการเรียนของบิ๊นท์

ความภูมิใจในวิชาชีพค่ะ มันเป็นสิ่งหนึ่งที่มีมาตลอด และมันมากขึ้นในใจตลอดเวลา เพราะมองว่าวิชาชีพเราเชี่ยวชาญเรื่องยาที่สุด ดังนั้นเวลาเรียนจะนึกเสมอว่าเราจะตั้งใจอ่าน ตั้งใจทำเพื่อให้เชี่ยวชาญที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีม หรือผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด

บิ๊นท์เป็นหนึ่งในเด็กกิจกรรมตัวยงเลย

เป็นคนชอบทำกิจกรรมมาก ตั้งแต่ปีหนึ่งมีโอกาสได้ประกวดดาว-เดือนของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งค่อนข้างเหลือเชื่อ เพราะตอนนั้นเราก็ไม่คิดว่าเราเหมาะสมนะ แต่พอเวลาผ่านไปก็เป็นความภูมิใจที่เพื่อนโหวตให้เป็นดาวนะ (หัวเราะ) ,กิจกรรม PY PRO บริการส่งความรัก ซึ่งมันก็เป็นกิจกรรมชั้นปี ดังนั้นพวกเราทั้งชั้นปีก็ลงแรงลงใจอยู่แล้ว, ค่าย open capsule

พอเข้ามาคณะที่พญาไท ก็เริ่มทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับคณะมากขึ้น เป็นทีมงานจัดค่ายให้น้องปีหนึ่ง จริงๆ ด้วยความที่ชั้นปีหนึ่งมันคนน้อย ส่วนใหญ่ก็จะมาช่วยกันทำกันเกือบหมด เป็นทีมสันทนาการ บลาๆ แล้วก็มีอีกกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า ความฝันสองความฝันมันสามารถอยู่ที่เดียวกันได้คือ การแสดงละครเวที เป็นการแสดงละครเวทีของคณะ ซึ่งก็เป็นปีแรกที่ทำ แล้วก็จริงจังเลยนะ มีแคสบท มีขายบัตรด้วย ทุกอย่างจริงจัง ตอนนั้นแสดงเป็นแม่มดอิซซาเบลล่า คือจำได้ว่าพออ่านบทแล้วชอบ เพราะลึกๆ อยากลองเล่นร้ายๆ ก็ไปแคสติ้ง คนคัดก็เพื่อนๆ พี่ๆ นี่ล่ะ หลังจากนั้นก็ซ้อม ซ้อม และซ้อมจนเป็นชีวิต พอวันแสดงก็ดีใจมาก เพราะมันร้ายแบบคอมเมดี้ พอได้ยินคนขำ เราก็ “เยส” ในใจ

ช่วงปิดเทอมปี 3 ก็ได้มีโอกาสได้ทุนไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศเวียดนาม ได้ไปศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์ ที่ Hanoi university ไปประมาณเดือนหนึ่ง ณ ตอนนั้นสนุกมาก และได้อะไรมากมาย ทั้งวัฒนธรรม สังคม

พอเริ่มโตขึ้นมาอีกนิด ปี 4 ก็ได้ไปออกค่ายอาสา ‘มหิดลร่วมใจ สานสายใย นำน้ำใจสู่ชุมชน’ คอนเซปต์ค่ายนี้คือเราจะนำสหวิชาชีพไปลงชุมชนที่ห่างไกลโรงพยาบาลหรือองค์กรสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งค่ายนี้ทำให้เรายิ่งภูมิใจกับวิชาชีพเราเลย ทำให้ปีต่อมาคือปี 5 คณะเภสัชได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน จึงสมัครเป็นทีมงาน สิ่งที่ได้จากปี 5 จะต่างจากปี 4 เยอะ เพราะการเป็นทีมงาน มันมีความเหนื่อย มีปัญหาหลายๆอย่างที่ต้องเจอ แม้แต่วันจริงก็ยังยุ่ง ก็ได้อะไรจากการทำงานครั้งนี้เยอะเหมือนกัน

เหตุการณ์ประทับใจในช่วงเรียน

ปกติเราจะชอบได้ยินใช่ไหม ว่าเรียนมหาวิทยาลัยแล้วเพื่อนจะเห็นแก่ตัว แต่พอมาเจอเอง ยังไม่เห็นอะไรแบบนั้นเลยนะ หรือมันอาจมีแต่เราไม่รู้ แต่เท่าที่รู้เนี่ย ช่วยกันติว แบ่งชีทที่ได้จากรุ่นพี่ ซีร็อกแจกเลย รู้สึกได้ว่าแนวคิดพวกเราไปในทางเดียวกัน คือช่วยกันให้ไปถึงฝั่ง

วางแผนอนาคตหลังเรียนจบยังไง

คิดเรื่องนี้มาซักพักเหมือนกัน ก็ยังไม่ได้ฝึกงานทุกผลัดจนจบเลยยังไม่แน่ใจว่าจะเปลี่ยนแปลงไหม แต่ตอนนี้มีแนวคิดว่าจะเป็นเภสัชด้านงานวิจัย เราจะรู้จักกันในชื่อ clinical research associate (CRA) จะทำงานเกี่ยวกับงานวิจัยนี่ล่ะ เนื่องจากตอนนี้ยาใหม่ๆ มันก็ออกมาเยอะใช่ไหม มันก็จะต้องมีทำงานวิจัยออกมาในกลุ่มประชากรก่อนว่าได้ประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยไหม

ฟังอย่างนี้อาจคิดว่า อ้าว เอาคนเป็นสัตว์ทดลอง จริงๆ แล้วก่อนที่จะมาถึงขั้นให้ยาในคนได้จะต้องมีผลการทดลองยืนยันประมาณหนึ่งว่ามันปลอดภัย แล้วเราจะเข้าไปทำส่วนไหน? ส่วนที่พวกเราจะทำคือ เราจะต้องเข้าใจโปรโตคอล (แนวทางการทดลอง) อย่างละเอียด และเราจะต้องรู้เกี่ยวกับโปรโตคอลดีที่สุด เพื่อช่วยซัพพอร์ตการทำงานวิจัยให้เป็นไปอย่างราบรื่น งานนี้จะต้องคุยกับคนหรือองค์กรหลายฝ่าย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแพทย์ บริษัทยา เพราะนอกจากเราจะทำให้การดำเนินการวิจัยตามโปรโตคอลเป็นไปอย่างราบรื่นแล้ว เรายังต้องเป็นคนประสานระหว่างบริษัทยาผู้ให้เงินทำการทดลอง กับผู้ทำการทดลองคือแพทย์นั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่งานที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นงานเอกสาร และงานละเอียด ซึ่งเราชอบตรงที่มันมีความท้าทายในการแก้ปัญหา และจบงานเป็นชิ้นๆ ไป ไม่ใช่งานที่ทำไปเรื่อยๆ ทุกวัน ก็เลยวางแผนว่าเรียนจบคงจะทำงาน CRA ค่ะ

มีแอปไหนที่ใช้ในการทำงานหรือการเรียน แล้วถูกใจบ้าง

เชื่อว่าถ้าเรียนสายนี้ต้องมีแอปนี้ติดเครื่องแน่ๆ “Micromedex” แอปนี้เป็นแอปรวมข้อมูลยาเกือบทุกด้านที่ช่วยได้มากๆ ในการเรียน

ยุคนี้เป็นยุคที่ช่วยให้การเรียนเภสัชสบายขึ้นมากๆ อาจารย์เคยเล่าว่าสมัยก่อนทุกอย่างต้องมาจาก textbook หรือหนังสือเป็นเล่มๆ เท่านั้น แต่ตอนนี้แค่มีมือถือโหลดแอพนี้มาก็สามารถช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาได้แล้ว แต่ถ้าถามว่าฟังก์ชั่นอะไรที่ชอบมากก็คงเป็นฟังก์ชั่นเกี่ยวกับตรวจสอบการตีกันของยา เพราะความรู้เรื่องยามันกว้างและเยอะมาก บางครั้งเราสับสนหรือลืม ก็จะต้องใช้ฟังก์ชั่นนี้ในการช่วยคอนเฟิร์มว่าถูกต้องจริงหรือไม่ เพราะยาตีกันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับการให้ยาผู้ป่วย

ดาวน์โหลด

เป็นไงบ้างคะ บอกได้เลยว่าวันนี้ข้อมูลจัดเต็มมากกก ใครที่อยากเรียนเภสัชได้ประโยชน์ไปเต็มๆ เลย แถมสาวเภสัชคนนี้ ยังสวยเก่ง รอบด้านอีก อดปลื้มใจแทนชาวเภสัช มหิดลไม่ได้จริงๆ

ส่วนคราวหน้าบีจะพาชาวแบไต๋ไปคุยสาวหนุ่มๆ สาวๆ คณะอะไร ก็อย่าลืมติดตามกันในคอลัมน์ Unichat นะคะ