คำว่า “เทคโนโลยีบรรดาสุข” นี่เห็นจะจริง เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิด จนบางทีเราคิดว่า เหยยย ทำไมแกฉลาดเยี่ยงนี้ เหมือนกับแอปที่เราจะนำมารีวิววิธีการใช้งานในวันนี้กัน เพราะมันชวนพิลึกและตกใจหน่อยๆ

ก่อนหน้านี้เราเคยสัมผัสกับความอัศจรรย์ในการแปลภาษาผ่านการใช้กล้องจากสมาร์ทโฟนถ่ายรูปในแอป “Translate Photo” และ “Google แปลภาษา” มาบ้าง แต่ตอนนี้เราอาจพิศวงกันเพิ่มนิดหน่อย เพราะเราสามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์จากการถ่ายรูปได้แล้ว

เจ้าแอปที่เราพูดถึงในวันนี้ก็คือแอป “Photomath” นั่นเอง อันที่จริงเจ้าแอป Photomath นี้ เคยเป็นกระแสเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นจนโด่งดังมาก วันนี้แบไต๋เลยจะยกเจ้าแอปเจ๋งๆ ตัวนี้มาพูดถึงอีกครั้งกัน

Photomath เป็นแอปที่ไม่ได้มีการใช้งานที่ซับซ้อนอะไร และไม่ได้มีฟีเจอร์แยกย่อยที่หลากหลายใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าพูดให้จบเพียง 2 บรรทัด เจ้าแอปนี้ใช้สำหรับแก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่ไม่ซับซ้อนมาก ด้วยการกรอกโจทย์ และการถ่ายรูป โดยมีคำอธิบายในการแก้โจทย์ประกอบด้วย

เอาหล่ะ มาลองดูกันดีกว่า ว่าเจ้าแอปนี้ใช้งานยังไงบ้าง

เมนูแรกคือเมนู “แก้ไข” สำหรับเจ้าตัวนี้การใช้งานก็ง่ายมากเหมือนการกรอกตัวเลขในเครื่องคิดเลขนั่นแหละ และผลลัพธ์จากการแก้โจทย์ที่เรากรอกก็จะออกมาในช่องสี่เหลี่ยมสีแดงข้างล่าง แต่ความพิเศษของเจ้าแอปนี้คือ เจ้าแอปนี้จะมีคำอธิบายว่าโจทย์นี้แก้มาได้อย่างไร โดยการคลิกที่ช่องสีแดงนั้น และจะมีคำอธิบายพอสังเขปขึ้นมาค่ะ

สำหรับเมนูถัดไป นั่นคือ “กล้อง” วิธีการใช้งานก็ง่ายมากๆ หยิบสมาร์ทโฟนของเรามากดจึ้ก!! ถ่ายเสร็จก็จะมีช่องสีขาวที่แสดงโจทย์ (เผื่อว่าลายมือเละมาก จนเจ้าแอปอ่านผิด เราก็สามารถกดแก้ไขโจทย์ได้) และช่องสีแดงปรากฎออกมาเช่นเดียวกับเมนูที่ให้กดกรอกโจทย์อันแรก ซึ่งเราก็สามารถกดเพื่อดูวิธีทำได้เช่นเดียวกับการกรอกโจทย์ค่ะ

สำหรับเมนูถัดมา ที่ถูกเรียกว่า “วิธีทำ” ก็คือเมนูที่เชื่อมมาจากการใส่โจทย์เลขและการถ่ายรูปโจทย์นั่นเอง ซึ่งก็เป็นอันเดียวกับที่เราสามารถกดดูจากช่องสีแดงได้นั่นเองค่ะ

ส่วนเมนูสุดท้ายก็คือ “สมุดโน้ต” เจ้าเมนูนี้ก็คือเมนูที่เราตั้งโจทย์เป็นรายการโปรดไว้ เวลาเลื่อนมาหาโจทย์ที่เคยคำนวณก็จะได้ง่ายนั่นเอง นอกจากนี้ในเมนูสมุดโน้ตเรายังสามารถเลื่อนดูประวัติการทำโจทย์ได้ด้วยค่ะ

ดาวน์โหลด

หูววว เป็นไงคะ สะดวกสบายขึ้นเยอะ ต่อไปเวลาเจอโจทย์คณิตศาสตร์อะไร ก็สามารถเอามาลองไล่ทำดูได้แล้ว แต่ข้อจำกัดของแอปนี้คงหนีไม่พ้น การไม่ได้แอดวานซ์ที่ขั้นทำโจทย์ยากๆ ระดับมหาวิทยาลัยได้ แต่ถ้าเป็นโจทย์พื้นฐานประถม มัธยม โอ้ยยยย สบายมาก แม่นเป๊ะ ละเอียดยิบเลย

แต่จะว่าไปแล้วเจ้าแอปนี้ก็เป็นดาบสองคมเหมือนกันเนอะ หากๆ น้องๆ ประถม มัธยมเอาไปใช้ แล้วเกิดติดใจ ใช้เพลิน ไม่คิดเองเลย แบบนี้หล่ะก็แย่แน่ๆ ดังนั้นแบไต๋แนะนำว่า ควรใช้ตอนที่เราแก้โจทย์เองแล้ว แล้วต้องการตรวจคำตอบ หรือดูวิธีทำจะดีกว่า จะได้ทวนตัวเองไปในตัว

เอาเป็นว่า ถ้าใช้เทคโนโลยีให้ถูกวิธีชีวิตก็สบาย แต่ถ้ามักง่ายใช้แบบขี้เกียจไปเรื่อยๆ อันนี้ก็อาจเป็นภาระตอนสอบได้นะจ๊ะ