รีวิว Motorola One Vision มือถือหมื่นเดียว กล้อง 48 ล้านถ่ายกลางคืนไม่แพ้ใครแถมเป็น Android One ไม่โดนลอยแพ!
Our score
8.3

Motolora One Vision

จุดเด่น

  1. Android One โคตรจะลื่นปรื้ด
  2. ไม่โดนลอยแพใช้ได้ยันเวอร์ชั่น R
  3. ภาพถ่ายกลางคืนไม่เป็นสองรองใครเลยล่ะ
  4. ด้วยความยาวของตัวเครื่องทำให้เราพิมพ์มือเดียวได้สบายดี

จุดสังเกต

  1. น่าจะมีเลนส์ไวด์มาให้หน่อยก็ดีนะ (ราคานี้เทียบกับเจ้าอื่นเขาก็ใส่มาให้นะ)
  2. กล้องแบบเจาะรูบนกล้องหน้าเป็นอะไรที่ทำร้ายตามากเวลาดูวิดีโอแบบเต็มจอ (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของกล้องแบบเจาะรู)
  • รูปลักษณ์ภายนอก

    8.0

  • คุณภาพจอ

    9.0

  • ประสิทธิภาพเครื่อง

    9.0

  • ประสิทธิภาพกล้อง

    7.5

  • ความคุ้มค่า

    8.0

เอาเข้าจริง ๆ สมาร์ตโฟนกลุ่ม Mid Range ก็มีการแข่งขันกันในตลาดที่ดุเดือดออกรสไม่น้อยหน้าไปกว่า High End  แถมในตอนนี้ ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็ยิ่งจะต้องปวดหัววินเวียนศรีษะเลือกไม่ถูกกันไปอีกขั้น เนื่องด้วยการมาของ Motorola One Vision สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ของฮัลโหลโมโต ~ ที่ต้องขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า “มีความน่าสนใจและคุ้มค่าไม่แพ้เจ้าใดในตลาด” แต่อะไรบ้างล่ะที่เด่นและเป็นข้อสังเกตของรุ่นนี้? เชิญมาหาคำตอบได้ในบทความรีวิวนี้ได้เลยครับผม!

สเปกที่น่าสนใจของ Motorola One Vision

  • ระบบปฎิบัติการ: Android v9.0 (Pie) และเป็น “Android One”
  • ขนาดหน้าจอ: 6.3 นิ้วแบบ FHD+ (1080 X 2520) สัดส่วน 21:9 ในชื่อ “CinematicVision”
  • หน้าจอ: LTPS IPS LCD, 16 ล้านชุดสี
  • ชิปประมวลผล: Exynos 9609 (ชิปประมวลผลกราฟิก Mali-G72 MP3)
  • แรม: 4GB
  • หน่วยความจำภายใน: 128GB (เพิ่มได้สูงสุด 512GB)
  • แบตเตอรี่: 3,500 mAh พร้อมเทคโนโลยีการชาร์จแบบ Turbo
  • กล้องหน้า (Front Camera): 25 ล้านพิกเซล F2.0, Quad Pixel 0.9um
  • กล้องหลัง (Rear Camera): กล้องหลัก 48 ล้านพิกเซล + ระบบป้องกันสั่น OIS + กล้องวัดระยะ 5 ล้านพิกเซล + F1.7 เทคโนโลยี Quad Pixel 1.6um, dual CCT LED (แต่ความละเอียดภาพที่ได้จะเป็น 12 ล้านพิกเซล)
  • พอร์ต: แจค 3.5 มิลลิเมตร, Micro USB 3.0
  • ระบบเซ็นเซอร์ (Sensor): สแกนลายนิ้วมือหลังเครื่อง

หน้าจอ 21:9 สุด ๆ แห่งความเอ็นเตอร์เทน!

ในขณะที่สมาร์ตโฟนเจ้าอื่นในท้องตลาดมีความใกล้เคียงกันของอัตราส่วนหน้าจอที่ 16:9 หรือไม่ก็ 18:9 แต่ Motorola One Vision กลับเลือกที่จะทำให้หน้าจอนั้น มีขนาดที่ไม่ค่อยมีใครเขาจะทำกัน (ยกเว้น Xperia ที่ก็ไม่เข้าบ้านเราเสียแล้ว เศร้า…) คืออัตราส่วน “21:9” ซึ่งเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ก็เป็นเพราะ Motorola ต้องการขับเน้นที่ความสามารถด้านการใช้แบบเอ็นเตอร์เทนเป็นหลักทั้งจากการชมภาพยนตร์และเล่นเกม โดยพวกเขาได้ตั้งชื่อหน้าจอนี้เอาไว้ว่า CinemaVision แบบ Full HD+ ไร้ขอบ

ซึ่งจากที่ผู้เขียนได้ทดลองใช้ดูก็ต้องขอบอกเลยว่ามันเป็นไปตามที่เขาต้องการได้อยู่นะ คือด้วยความที่หน้าจอเป็นไซส์เดียวกันกับสัดส่วนที่ภาพยนตร์ใช้ ๆ กันอยู่ เวลาเราดูหนังหรือวิดีโออะไรก็ตามที่มีสัดส่วนนี้อยู่แล้วพร้อมปิดไฟไปด้วย มันก็จะได้ความรู้สึกเหมือนเราดูอยู่ในโรงหนังแบบกลาย ๆ 

แต่กระนั้นก็มีข้อสังเกตที่ไม่ได้เกี่ยวกับหน้าจอโดยตรงหรอกครับ แต่มันเป็นเรื่องของการทำกล้องแบบเจาะรูที่มันไปรบกวนวิสัยทัศน์เราได้ประมาณหนึ่ง และจะเห็นได้ชัดหากเราถ่างดูวิดีโอบน YouTube แบบเต็มจอหรือเมื่อเห็นแค่หน้าจอเปล่า ๆ หน้าหลัก แต่ก็นะ… นี่อาจจะเป็นเรื่องของความขี้รำคาญส่วนบุคคล (โดยเฉพาะผู้เขียน)

ดีไซน์เรียวสวยพร้อมสีที่เรียบหรู

ภาพรวมดีไซน์ตัวเครื่องของ Motorola One Vision ก็ยังอยู่ในความร่วมสมัยและใกล้เคียงกับสมาร์ตโฟนรุ่นอื่น ๆ นั่นแหล่ะครับ แต่ที่ดูจะแตกต่างไปกว่าเช้าบ้าน ก็คือความยาวของตัวเครื่องที่มากกว่าและความกว้างที่น้อยกว่าหลายรุ่น ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์และถน้ดมือดีในกรณีต้องถือมือเดียว (ไม่ต้องเกร็งเวลาพิมพ์หรือเลื่อนหาอะไรในหน้าจอ)

มาที่ด้านสีของเครื่องกันบ้าง รุ่นที่ผู้เขียนได้มารีวิวมีชื่อว่า Sapphire Gradient (แปลแบบสวยงามได้ว่าการไล่สีของฟ้าไพลิน) ที่จะเป็นไล่ระดับของสีน้ำเงินเข้มที่ดูสวยงามเรียบหรูใช้แบบถอดเคสได้แบบไม่ต้องเขินอาย แถมจะยิ่งสวยเข้าไปอีกหากฝาเครื่องตกกระทบและสะท้อนเข้ากับแสง

Android One ระบบปฎิบัติการณ์ “ลื่นปรื้ด” และ “ไม่โดนลอยแพ”

นี่คือข้อดีอันดับต้น ๆ ของ Motorola One Vision เลยล่ะ คือ จริงอยู่ที่ Android One อาจไม่ใช่ Pure Android โดยถ่องแท้ แต่ในเรื่องของประสิทธิภาพด้านความเร็วแล้ว ก็จัดว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของระบบปฎิบัติการณ์ครอบทั้งหลายเลยทีเดียว ความรู้สึกสัมผัสหน้าจอก็ลื่นปรื้ด เปิดแอปก็ไว อีกทั้งด้วยความที่ Android One ได้รับการการันตีและคัดสรรค์ฮาร์ดแวร์จากทาง Google โดยตรงเพื่อให้สามารถใช้ฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่เป็นของทางอากู๋ได้ อาทิ รองรับเสียงระดับ Dolby Atmos, กล้อง Google Lens ฯลฯ อีกทั้งสิ่งหนึ่งที่เจ๋งเอามาก ๆ คือการที่ตัวเครื่องนั้นจะไม่โดนลอยแพพร้อมไปต่อยัน Android R เลยล่ะ แถม UI (User Interface) ของตัวเครื่องก็มีความเรียบง่ายสะอาดตาใกล้เคียง Pure Android ไม่สร้างความแตกต่างหรือเอกลักษณ์ของตัวเองเหมือน OS ครอบทั้งหลาย

ซึ่งถ้าจะพูดถึงความลื่น ก็คงต้องมาต่อกันด้วยเรื่องของสเปกเลยล่ะกันครับ Motorola One Vision ให้ชิปประมวผลมาเป็น Exynos 9609 ที่ปกติจะอยู่ในมือถือของ Samsung รุ่นระดับกลาง ๆ แต่ถึงจะอย่างนั้นก็เถอะ ประสิทธิภาพมันก็ไม่ได้แย่อะไร สามารถเล่นมือถือแห่งยุคทั้งหลายได้ในเกณฑ์ที่ดี (PUBG ปรับภาพได้ในระดับกลาง ๆ และสูงบางข้อ, ROV ก็รันในโหมดเฟรมเรตสูงได้แต่จะได้เฟรมประมาณ 55 FPS, ฯลฯ) แต่ในส่วนของแรมที่ให้มา 4GB เนี้ยสิ ผู้เขียนว่ามันน้อยไปหน่อยเลยทำให้เกิดปัญหาการเปิดแอปหลายตัวมากไม่ได้ (ง่าย ๆ คือตัวเครื่องจัดการแรมไม่ทันเพราะมีน้อยเกินนั่นแหล่ะ) ส่วนเรื่องของพื้นที่ภายใน 128GB ก็เหมือนจะเป็นมาตรฐานความจุของมือถือสมัยนี้แล้วล่ะ และมันก็น่าจะเพียงพอต่อการดาวน์โหลดแอป ๆ ต่างมาตุนไว้ในเครื่องแล้วนะ แต่ถ้าไม่พอตัวเครื่องก็ยังสามารถซื้อการ์ดมาใส่เพิ่มได้อีก 512GB นะ

กล้องหลักเซนเซอร์ 48 ล้านที่ไว้วางใจภาพถ่ายกลางคืนได้ในระดับหนึ่ง

กล้องหน้าและหลักของ Motorola One Vision ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Quad Pixel ซึ่งเป็นผสานรวมกันของ 4 พิกเซลให้กลายเป็นพิกเซลใหญ่อันเดียวที่มีขนาด 1.6µm โดยจะมีเซนเซอร์ 48 ล้านพิกเซลที่จะทำให้ภาพออกมาเป็นขนาด 12 ล้านพิกเซล ซึ่งผลลัพธ์ของเทคโนโลยนี้จะเป็นการที่เราสามารถถ่ายภาพในพื้นที่แสงน้อย ในขณะที่ภาพช่วงกลางวันจะก็มีขอบของวัตถุในภาพที่ดีคมชัดขึ้น อีกทั้งตัวกล้องยังมาพร้อมเทคโนโลยี OIS (Optical Image Stabilisation) หรือว่าง่าย ๆ คือการกันสั่น

ที่กล่าวไปย่อหน้าข้างบนคือข้อมูลทางเทคนิค แต่เรามาดูถึงความรู้สึกในคุณภาพของรูปถ่ายที่ได้กันจริงๆ ดีกว่าครับ ผู้เขียนขอสารภาพตามนี้เลยว่า Motorola One Vision อาจจะเป็นสมาร์ตโฟนที่ไม่ได้มีเด่นชัดด้านการถ่ายภาพตอนกลางวันหรือบุคคลสักเท่าไหร่ คุณภาพของรูปที่ได้ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ พวกภาพที่ได้จะมีแสงและคอนทราสต์ที่ดูจืด ๆ แห้ง ๆ ไปสักหน่อย

แต่กระนั้นเมื่อเป็นโหมด Night Vision หรือภาพถ่ายตอนกลางคืน Motorola One Vision ก็ทำได้ดีอยู่นะ คือภาพโดยรวมจะมีความคม มีการเก็บสี, เงาและคอนทราสต์ที่ทำให้ภาพดูน่ามองขึ้นด้วยซอฟต์แวร์อีกที และเราก็ไม่ต้องกลัวว่าภาพที่ได้จะสั่นเพราะมี OIS รองรับอยู่ช่วยให้ภาพที่ได้ออกมานิ่งประมาณหนึ่ง

ส่วนภาพถ่ายจากกล้องหน้าที่มีความชัด 25 ล้านพิกเซลก็ถือว่าน่าประทับใจระดับหนึ่ง โดยในโหมดถ่ายภายบุคคล (Portrait) ก็จะมีให้เลือกระดับความเบลอของฉากหลังที่ก็ไม่หลอกตาจนเกินไปในระดับกลาง ๆ (แต่ก็นะถ้าปรับระดับสูงก็ดูออกอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ) แต่ผู้เขียนว่ามันคงจะไม่เหมาะกับสาว ๆ สักเท่าไหร่เพราะไม่มีโหมดบิวตี้อะไรมาให้เลย ซึ่งไอเจ้ากล้องหน้าตัวนี้ก็ดันเก็บความคมดีซะด้วยสิ (ฮ่าๆ)


สรุป

โดยภาพรวม Motorola One Vision ก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับสมาร์ตโฟนรุ่น Mid-Range ซึ่งเด่น ๆ เลยสำหรับเจ้าเครื่องนี้ก็คงจะเป็นระบบปฎิบัติการณ์ Android One ที่ลื่นดีแถม UI ไม่รกตา กล้องเองก็เป็นอะไรที่น่าสนใจเหมือนกันในระดับกลาง ๆ (แต่แอบเสียตรงไม่มีเลนส์ไวด์มาให้) สเปกที่ใช้งานได้ไม่ติดขัดอะไรถ้าไม่ได้เปิดแอปค้างไว้เยอะ เอาเป็นว่าในราคา 9,990 บาท ก็ถือว่าคุ้มแล้วล่ะครับ