Our score
8.1Lenovo Yoga 530 AMD Ryzen
จุดเด่น
- ประสิทธิภาพเครื่องดีเลยเมื่อเทียบกับราคา เหมาะสำหรับเป็นเครื่องใช้ทำงาน
- เครื่องดีไซน์แบบ 360 องศา สามารถพับจอได้หลายแบบให้เหมาะกับการใช้งาน
- มาพร้อมปากกา Active Pen รองรับการเขียนบนหน้าจอด้วยแรงกดหลายระดับ
- หน้าจอสวยสดใส เสียงลำโพงดังดี เอาไปใช้ดูหนังก็เหมาะ
- มาพร้อมเซ็นเซอร์อ่านลายนิ้วมือ
จุดสังเกต
- ไม่เหมาะสำหรับเอาไปเล่นเกม
- ปุ่ม power ด้านข้างโดนง่ายไป ทำให้เครื่องหลับไปเลย
- จอสะท้อนเยอะ ใช้ในที่แสงมากๆ ได้ยาก
-
ดีไซน์ตัวเครื่อง
8.0
-
ประสิทธิภาพเครื่อง
7.5
-
คุณภาพวัสดุเครื่อง
7.5
-
คุณภาพหน้าจอ
8.5
-
ความคุ้มค่า
9.0
Lenovo Yoga เป็นหนึ่งในโน้ตบุ๊กที่สร้างแบรนด์มาดีมากนะครับ เราได้ยินชื่อนี้ ก็รู้ทันทีว่าเป็นโน้ตบุ๊กแบบ 2-in-1 ที่สามารถพลิกตีลังกาได้ 360 องศา สามารถใช้ได้ทั้งแบบโน้ตบุ๊กปกติมาตรฐานที่สามารถวางบนตักได้ หรือจะพับจอใช้งานในรูปแบบของแท็บเล็ตก็ย่อมได้เพราะเป็นจอสัมผัส หรือใช้พลิกใช้งานในมุมอื่นๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการตอนนั้นก็ได้ และวันนี้แบไต๋เราได้มีโอกาสรีวิว Lenovo YOGA 530 รุ่นที่ใช้ซีพียูเป็น AMD Ryzen 7 ครับ ซึ่งบอกเลยว่าน่าประทับใจอยู่ไม่น้อยเลย
ดีไซน์ตัวเครื่องของ Lenovo Yoga 530 AMD Ryzen
งานออกแบบตัวเครื่อง Lenovo Yoga 530 AMD Ryzen นั้นไม่ได้แตกต่างจาก Yoga 530 อื่นๆ ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ครับ ซึ่งเราก็ว่าดีไซน์ของตระกูลนี้มันโอเคอยู่นะครับ เริ่มตั้งแต่ฝาหลังที่เรียบมาก มีแค่โลโก้ YOGA อยู่ตรงมุม ซึ่งสีของรุ่น AMD จะมีสีเดียวคือ Onyx Black ที่เป็นเทาเข้มๆ ซึ่งเราว่าสวยและดูสุขุมดีนะครับ และในส่วนของฝาหลัง ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่ามันมีประกาย Metallic ด้วย ก็หรูหราไปอีกแบบ
แน่นอนว่า Lenovo Yoga 530 Ryzen นั้นเป็นเครื่องแบบตีลังกา 360 องศาได้ ก็ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานเครื่องได้หลายแบบครับ ส่วนใหญ่เราก็กางจอใช้เหมือนโน้ตบุ๊กปกตินี้แหละครับ แต่สำหรับบางจังหวะถ้าต้องการเห็นจอชัดขึ้น เช่นเวลาดูหนัง ดูซีรีส์เราก็ใช้แบบเต็นท์ได้คือพับจอให้หงายไปจนวางเป็นเหมือนเต็นท์ ซึ่งจะทำให้จอมาอยู่ใกล้สายตาของเรามากขึ้น หรือถ้าอยากใช้นิ้วแตะจออย่างเดียว หรือเอาปากกา Active Pen ที่แถมมากับเครื่องเพื่อใช้งานเขียนยาวๆ ก็สามารถพับจนหน้าจอหงายออกมาแบบแท็บเล็ตได้ครับ เพียงแต่ว่าเครื่องจะหนักหน่อยเมื่อเทียบกับแท็บเล็ตจริงๆ ครับ
รอบเครื่องก็มีพอร์ตที่สำคัญครบนะครับ แทบไม่ต้องต่ออุปกรณ์อะไรเสริมอีกเลย คือมี USB 3.0 รวม 2 พอร์ตอยู่ซ้ายและขวา, ช่องต่อ HDMI, พอร์ต USB-C, ช่องอ่านการ์ด SD ซึ่งจะขาดไปก็มีเพียงแค่พอร์ต LAN ที่ต้องหาหัวแปลงเอาครับ
ส่วนใต้เครื่องบริเวณด้านหน้าเป็นลำโพงที่ได้รับการจูนโดย Harman/Kardon ครับ ซึ่งก็ให้เสียงได้ดังดี และมีรายละเอียดเสียงมากกว่าลำโพงโน้ตบุ๊กทั่วไป ใช้งานทั่วๆ ไปก็ฟังได้เพลินๆ แต่ก็เป็นธรรมดาของลำโพงโน้ตบุ๊กนะครับที่เบสอาจจะน้อยหน่อย
Lenovo Yoga 530 AMD Ryzen นั้นมีน้ำหนักประมาณ 1.6 กิโลกรัมนะครับ ก็ถือว่าเป็นน้ำหนักมาตรฐานของโน้ตบุ๊กจอ 14 นิ้วในยุคนี้ ไม่หนักมาก แต่ก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นโน้ตบุ๊กน้ำหนักเบาเหมือนกันครับ
คีย์บอร์ดของ Lenovo Yoga 530 AMD Ryzen
เปิดเข้ามาด้านในก็จะเห็นแผงคีย์บอร์ดที่เป็นเอกลักษณ์ของ Lenovo คือคีย์บอร์ดแบบ Chiclet ที่มีปุ่มโค้งลงเหมือนคนกำลังยิ้ม ซึ่งเราก็ใช้งานแป้นคีย์บอร์ดตัวนี้มานานหลายเดือน ก็ไม่พบปัญหาในการใช้งานนะครับ เพราะทุกแป้นมีขนาดมาตรฐาน ไม่มีแป้นประหลาดมาแทรกระหว่างปุ่มไหนๆ ให้ผิดจากการเป็นคีย์บอร์ด Layout มาตรฐานไป คีย์บอร์ดนี้แป้น Shift ทั้งสองข้างใหญ่ ส่วนแป้นลูกศร แม้ว่าปุ่มขึ้นลงจะดีไซน์เป็นปุ่มเดียวที่ถูกแบ่งครึ่ง แต่ก็ยังกดได้ง่ายอยู่ดี และปุ่มควบคุมต่างๆ เช่นเพิ่มแสง ลดแสง ปรับระดับเสียงก็รวมเป็นแป้นเดียวกับปุ่ม F1-F12 ด้านบนที่การทำงานปกติจะทำหน้าที่เป็นปุ่มควบคุมครับ แต่ก็สามารถกดปุ่ม Fn เพื่อทำให้กลับมาเป็นปุ่มฟังก์ชั่นได้ แต่เลโนโวก็ออกแบบปุ่ม F5 ให้ยังเป็นปุ่ม Refresh อยู่ มันดีตรงนี้แหละ อ่อ คีย์บอร์ดนี้เป็นแบบ Backlit ด้วยนะครับ สามารถเปิดไฟด้านหลังได้ 2 ระดับสำหรับใช้ในที่แสงน้อย หรือถ้าไม่ชอบก็ปิดไฟได้ครับ
รอบๆ คีย์บอร์ดก็ทำออกมาได้ดีครับ บริเวณแผ่นรองข้อมือทำจากโลหะ (หรือถ้าไม่ใช่โลหะ มันก็คล้ายกับโลหะมากๆ) ทำให้มีสัมผัสในการใช้งานดีที่ เครื่องไม่ยุบไปมาเวลาใช้ทำงานพิมพ์ แถมใช้งานนานๆ ก็ไม่รู้สึกว่าร้อนด้วย ตัวเครื่องมีการจัดการความร้อนไม่ให้มาปรากฎแถวที่รองมือและบริเวณแป้นพิมพ์ได้ดีครับ
ซึ่งบริเวณแผ่นรองข้อมือทางด้านขวาจะมีเซนเซอร์อ่านลายนิ้วมือด้วย ก็ทำให้สามารถสแกนเข้าเครื่องได้อยากรวดเร็ว แต่เครื่องนี้ไม่สามารถใช้ Windows Hello Face ได้นะครับ มีแต่การล็อกอินเข้าเครื่องด้วยลายนิ้วมือเท่านั้น ส่วนตัว Touchpad ของเครื่องก็มีขนาดใหญ่ดีสำหรับโน้ตบุ๊ก Windows ก็เป็นแบบไม่มีปุ่มแยกด้านล่าง แต่สามารถกดลงไปได้เกือบทั้งแผ่น ก็ใช้งานได้ง่ายดีครับ แต่ถ้าถามว่าเนี้ยบแบบไม่ต้องใช้เมาส์เลยเหมือน Touchpad ของ Macbook ไหม ก็ต้องบอกว่ายังไม่ถึงขั้นนั้นครับ
หน้าจอของ Lenovo Yoga 530 AMD Ryzen
หน้าจอของ Lenovo Yoga 530 รุ่นนี้เป็นจอสัมผัสขนาด 14 นิ้วที่มีความละเอียด Full HD หรือ 1920 x 1080 pixel ครับ ซึ่งก็เป็นจอ IPS มุมมองภาพกว้าง จะมองเอียง มองข้างก็ชัดเจนตลอด และเป็นจอแบบกระจกที่ให้ภาพได้สว่าง สดใส จะใช้ทำงาน ดูหนังเล่นเกมก็โอเคครับ เรียกว่าเป็นจอที่ดีเลย ซึ่งด้วยความที่จอนี้ต้องสามารถพลิกไปด้านหลังเพื่อใช้งานแบบแท็บเล็ตได้ด้วย ทำให้ตัวหน้าจอมีความแข็งระดับหนึ่งเลย เวลาใช้นิ้วกด หรือใช้ปากกา Active Pen กดลงไป ก็รู้สึกมั่นคง ไม่ได้ยุบลงไปจนรู้สึกไม่ดีเวลาใช้ แต่เพราะจอนี้เป็นจอกระจก ก็อาจมีปัญหาแสงสะท้อนบ้างเวลาใช้ในที่แสงสว่างเยอะๆ หรือพื้นที่กลางแจ้ง ก็ต้องหามุมหลบแสงกันนิดหนึ่งครับ
การวางตำแหน่งจอก็น่าสนใจครับ เพราะ Yoga 530 มีการยกจอให้ลอยขึ้นจากฐานเยอะเหมือนกัน ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องก้มลงไปมองภาพเยอะเวลาดูภาพจากจอ แต่ถ้านับเรื่องขนาดเครื่องแล้ว การที่ทำให้ขอบจอสูงขนาดนี้ ก็ทำให้ตัวเครื่องมีความกว้างเยอะเหมือนกัน คือตัวเครื่องใหญ่กว่าขนาดจอพอสมควร ทำให้การพกพาลงกระเป๋าเล็กๆ อาจติดขัดบ้างครับ
ประสิทธิภาพของ Lenovo Yoga 530 AMD Ryzen
สเปกในส่วนประสิทธิภาพของ Yoga 530 มีดังนี้ครับ
- AMD Ryzen 7-2700U ความเร็ว 2.20 GHz สามารถเร่งได้เป็น 3.8 GHz
- ชิปกราฟิก AMD Radeon RX Vega 10
- แรม 8 GB แบบ DDR4
- หน่วยความจำ 256 GB แบบ SSD PCIe M.2
ซึ่ง AMD Ryzen 7 ตัวนี้ก็ถือว่าให้ประสิทธิภาพที่ดีเลย ตลอดการใช้งานเพื่อทำเนื้อหาสำหรับแบไต๋อย่างหนักหน่วงของเรามาหลายเดือน ไม่เคยมีปัญหากับประสิทธิภาพการทำงาน ในการใช้งานพิมพ์งาน เปิดเว็บจำนวนมหาศาล (แต่อาจมีการโหลดหน้าเว็บใหม่บ้างจากแรม 8 GB ไม่พอให้ Chrome ดูด) ก็ถ้าคุณต้องการซื้อคอมมาเพื่อทำงาน คุณซื้อมาถูกรุ่นแล้วครับ แต่ประสิทธิภาพในการเล่นเกมนั้นก็อยู่ในระดับกลางๆ เอาไปเทียบกลุ่ม Gaming Notebook ไม่ได้เลยนะครับ แม้ว่าจะใช้ชิปกราฟิกเป็น Radeon แล้ว แต่ก็ไม่ใช่รุ่นแรงที่มีประสิทธิภาพมากมายอะไร ก็เน้นว่าเล่นเกมเก่าๆ หรือเกมที่ไม่กินประสิทธิภาพเครื่องมากๆ ได้ แต่ก็ไม่ควรเอาไปเล่นเกม FPS ใหม่ๆ ที่กินกราฟิกหนักๆ (ก็อาจจะเล่นไหวแต่ต้องปรับทุกอย่างเป็น Low)
ผลทดสอบประสิทธิภาพออกมาดังนี้
- Geekbench 5 ได้ Multicore 2702 คะแนน
- Geekbench 4 ได้ Multicore 9100 คะแนน
- ซึ่งถ้าดูตามตารางเปรียบเทียบของ Geekbench แล้ว ก็พอๆ กับ Intel Core i5-7440HQ หรือ Intel Core i3-8100T ครับ
ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพกราฟิกด้วย 3Dmark ได้ผลออกมาคือ
- ชุดทดสอบ Time Spy ได้คะแนน 789 คะแนน
- ชุดทดสอบ Night Raid ได้คะแนน 8160 คะแนน
SSD มีความเร็วน่าประทับใจ
อย่างที่เราแบไต๋แนะนำว่าคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในปัจจุบันนั้นควรใช้ SSD กันทั้งหมดได้แล้ว ซึ่ง SSD ใน Lenovo Yoga 530 AMD Ryzen นั้นก็วัดประสิทธิภาพผ่านโปรแกรม CrystalDiskMark 6 ได้ความเร็วในการอ่านต่อเนื่องที่ 1.7 GB/s แถมอ่านต่อเนื่อง 600 MB/s ซึ่งเป็นความเร็วที่ค่อนข้างสูง ใช้งานในชีวิตประจำวันนี่เร็วเกินพอแน่นอนครับ
การใช้งาน Lenovo Yoga 530 AMD Ryzen ในชีวิตประจำวัน
- Yoga 530 รุ่นนี้มาพร้อม Windows 10 Home แล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องวินโดวส์เถื่อนอีก แถมจะล้างเครื่องก็ง่ายแค่กด Reset Windows ก็ได้เครื่องเหมือนใหม่โดยที่ลิขสิทธิ์วินโดวส์ไม่หลุด
- ลมร้อนออกข้างหลัง ซึ่งดี ใช้งานทั่วไป ท่องเว็บ ทำงานได้เงียบดี ไม่มีเสียงพัดลม ซึ่งจะได้ยินเสียงพัดลมจะทำงานเมื่อทำงานหนักกว่านั้น
- ปุ่ม Power อยู่ด้านข้างเครื่อง อันนี้เราว่าโดนง่ายไปหน่อย เวลาจะจับเครื่องย้ายไปย้ายมา ก็อาจจะโดนปุ่มนี้จนเครื่องหลับไปได้
- แบตเตอรี่ ใช้งานจริงได้ประมาณ 5 ชั่วโมงเมื่อทำงานกับ Chrome ก็ไม่ทนนัก แต่อแดปเตอร์แปลงไฟมีขนาดเล็ก ยังพกพาออกไปได้ง่ายๆ
สรุป Lenovo Yoga 530 AMD Ryzen ดีไหม
Yoga 530 รุ่นใช้ AMD Ryzen 7 นี้เปิดตัวมาที่ราคา 24,990 บาทนะครับ ซึ่งก็เป็นราคาที่โอเคเลยสำหรับประสิทธิภาพเครื่องระดับนี้ รวมถึงรูปแบบการใช้งานแบบเครื่องพับได้ 360 องศาที่มีปากกาให้เขียนงานได้ง่ายๆ ด้วย เรื่องที่เราประทับใจมากคือการใช้ SSD ประสิทธิภาพสูงที่ทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้นอีกมากครับ