#beartai รีวิว Interactive Whiteboard กระดานอัจฉริยะที่เหมือนรวม 4 อุปกรณ์ไว้ในเครื่องเดียวจาก altron แบรนด์ไทยเพื่อคนไทย

หน้าจอ

เรามาดูกันที่เรื่องของหน้าจอกันก่อนดีกว่าเพราะนี่คือสิ่งที่ altron ภูมิใจเสนอ หน้าจอแสดงผลภาพข้างในที่เราเห็นอยู่นี้เป็นหน้าจอจากทาง LG ที่มีความละเอียดอยู่ที่ 4K ส่วนกระจกกันนิรภัยมีความหนาที่ 4 มิลลิเมตร และมีความแข็งในระดับ 7H (Hardness) ถามว่าเยอะไหม ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะเพชร มีค่า Hardness อยู่ที่ระดับ 10 หากวัดจากมาตราการเปรียบเทียบสเกลของโมส์ ส่วนเรื่องของเสียง เครื่องนี้มีลำโพงมาให้สองดอกโดยมีกำลังเล่นอยู่ที่ข้างละ 15 วัตต์ รวมเป็น 30 วัตต์ ก็ถือได้ว่าไม่มากและก็ไม่น้อยจนเกินไปสำหรับการมาไว้ใช้งานในห้องประชุม

4 อุปกรณ์ที่รวมไว้และใส่ลงในครื่องนี้ คือ

  1. ไวท์บอร์ด
  2. แท็บเล็ต
  3. โปรเจคเตอร์
  4. คอมพิวเตอร์

ไวท์บอร์ด

 เมื่อเราอยู่ในหน้าหลักและกดไปที่ไอคอนแรกสุดนี้ก็จะเข้าสู่โหมดการขีดเขียนและจดบันทึก โดยคุณสามารถเลือกที่จะใช้ปากกาในการขีดเขียนลงบนกระดาน หรือใช้เป็นนิ้วก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งบนหน้าจอนี้และในโหมดนี้ เราสามารถที่เขียนพร้อมกันได้มากสุด 10 จุด ส่วนวิธีการลบ นี่ครับ ด้วยเกียรติของลูกเสือสามัญ เมื่อคุณวาง 3 นิ้วลงไปยังหน้าจอก็จะลบสิ่งที่เขียนไว้ได้ หรือถ้าอยากได้อารมณ์ลบชอร์คบนกระดาน หลังมือของเรานี่ใช้ในการลบได้

นอกจากนี้ ในโหมดการทำงานแบบไวท์บอร์ดนี้ก็มีเครื่องมือให้ใช้งานอยู่พอสมควร ทั้ง selection tool ที่ไว้ใช้ในการเลือกสิ่งที่เราต้องการจะย้ายพื้นที่บนหน้าจอหรือว่าย่อขยาย การเปลี่ยนสีพื้นหลังที่มีสิพื้นฐานมาให้ 8 สี และมีแบรคกราวน์ที่เหมาะกับวางแผน หรือประชุมงานประเภทต่าง ๆ วางแผนฟุตบอล, บาสเก็ตบอล, โน๊ตดนตรี,ซึ่งส่วนของ background ทางอัลตรอน ให้สัญญาว่าจะใส่เพิ่มมาให้เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าคนไทย, การเปลี่ยนสีและขนาดลายเส้นของปากกา, ย้อนสิ่งที่เขียนไปด้วย Undo และ Redo, การแปะโน๊ตไว้กันลืมกรณีกลัวลืมเรื่องที่จะพูดคุยกันในหัวต่อไป, ล้างหน้าจอทั้งหมดในครั้งเดียวไม่ต้องลบเองให้เสียเวลา, เครื่องมือสปอตไลท์ที่ช่วยให้ทุกคนสนใจไปยังพื้นที่เดียวกันบนหน้าจอ

เราสามารถนำภาพมาประกอบลงในไวท์บอร์ดของเราได้ แต่ภาพที่ได้มาจะไม่ได้เป็นเลเยอร์แยก แต่จะถูกรวมไปอยู่ในไวท์บอร์ดเลย ความหมายคือ เราสามารถที่จะวาดเส้นทับลงไปได้ทันที และลบออกได้เหมือนเส้นอื่น ๆ เพราะฉะนั้นเวลานำภาพมาใช้ ก็อาจจะต้องจัดวางให้อยู่ในพื้นที่ที่เราชัวร์จะดีที่สุด

ถัดมา คือการแบ่งไวท์บอร์ดบนจอได้ 2 – 3 ตาราง ซึ่งถ้าถามว่าเพื่ออะไร? เหตุผลคือมีไว้ใช้ในกรณีที่ในการประชุมมีไอเดียที่หลากหลายและแต่ละคนต้องการนำเสนอความคิดของตัวเอง ซึ่งการเขียนอะไรลงไปจะก็ไม่เกิดการทับพื้นที่ตารางของคนอื่น นอกจากนี้เราในทุกตารางสามารถที่จะลบลายเส้นของตัวเองพร้อมกันได้

และแน่นอนว่าเมื่อพูดถึงการประชุมและรูปแบบการจดของไวท์บอร์ดแบบปกติ การใช้กระดาษเพียงหน้าเดียวในการจดเนื้อหาต่าง ๆ คงไม่เพียงพอ เราเลยสามารถที่จะเพิ่มหน้าใหม่เพื่อพูดคุยเรื่องถัดไปได้ด้วยการกดปุ่มนี้ (เครื่องหมาย +) เราสามารถเพิ่มหน้ากระดาษได้มากสุด 99 หน้า และเลือกหน้าที่ต้องการจะกลับไปได้ด้วยสองปุ่มนี้ (เครื่องหมาย <, >) หรือเลือกหน้าที่ต้องการแบบเจาะจริง ๆ ได้ที่ปุ่มนี้

สุดท้ายและท้ายสุดของโหมดไวท์บอร์ดคือการเซฟไฟล์งาน วิธีการคือกดเข้ามาที่รูปฟลอปปี้ดิสท์ตรงนี้ ตัวเครื่องจะให้เราเลือกได้ระหว่าง

1. เซฟไปที่ความจำเครื่อง หรือ เซฟลงแฟลชไดร์ฟ

2. เซฟเฉพาะหน้าปัจจุบัน หรือ ทุกหน้าที่เราเขียน

3. สามารถเลือกให้เป็นไฟล์ PDF ได้ แต่ถ้าเราไม่กดเลือกไฟล์ PDF นั้น ไฟล์ที่ได้ก็จะเป็นไฟล์รูปปกติครับ แต่ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือคุณสามารถเซฟผ่านการสแกน QR Code ได้ โดยมีเงื่อนไขคือต้องทำการเชื่อมต่อกับวง Wifi เดียวกันกับตัวเครื่องที่ปล่อยออกมาในรูปแบบของ hotspot ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีเพราะมีความปลอดภัย ข้อมูลไม่รั่วไหลเพราะรู้กันแค่ในวงที่ประชุมนั่นเองครับ

4. ส่วนอีกวิธีคือการเซฟสิ่งที่อยู่บนกระดานและนำกลับมาใช้ต่อ เช่นประชุมยังไม่เสร็จ จะมาคุยกันต่อครั้งหน้า ก็ให้เรากดไปที่ปุ่มซ้ายล่างสุดของจอ เลือก save handwriting และการนำเรื่องราวที่ประชุมที่ผ่าน ๆ มาสานต่อด้วยการ import handwriting ในการประชุมครั้งหน้าได้เลย

แท็บเล็ต

เนื่องด้วยตัวเครื่องมีระบบปฎิบัติ ซึ่งใช้เป็น Android 5.0.1 ทำให้มีแอปพลิเคชันหลายตัวที่สามารถใช้ได้ไม่ต่างจากแท็บเล็ต โดยเบื้องต้นตัวเครื่องจะมีแอปจำเป็นสำหรับการใช้งานมากให้ มีเว็บเบราว์เซอร์, เครื่องคิดเลข มีแอปจับเวลาซึ่งทำงานควบคู่กันในโหมดไวท์บอร์ดได้ เปิดไฟล์วิดีโอหรือรูปผ่านแอปมิเดียเพลเยอร์ แต่ถ้าไม่พอใจเราสามารถที่จะติดตั้งไฟล์ .APK (Android Package Kit) ลงไปเสริมทัพในเครื่องได้เพิ่ม แต่แน่นอนว่ามีเงื่อนไขคือต้องรองรับ Android เวอร์ชั่นที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5.01 และเรื่องของสเปก ในส่วนนี้ทางผู้ผลิตอัลตรอนกระซิบมาด้วยว่า เตรียมตัวเจอกับแอปใหม่ ๆ เร็ว ๆ นี้

Altron Interactive Whiteboard ใช้ชิปเซ็ตเป็น Quad-core High Performance CPU Cortex A53 Struture มีหน่วยประมวลผลการ์ดจอเป็น ARM Mali-450 แรม 2GB และหน่วยความจำภายในอยู่ที่ 8GB ครับ ส่วนด้านของพอร์ตทั้งหลายต้องบอกเลยว่าเพียบ! เพราะมีตั้งแต่ USB 3.0 2 ช่อง, USB 2.0 1 ช่อง, รูหูฟังแจ็ค 3.5 มม., SPDIF 1 ช่อง, HDMI 2 ช่อง, เสาอากาศรับสัญญาณ WiFi 4 ช่อง โดยแบ่งเป็นตัวปล่อยสัญญาณ 2 และตัวรับสัญญาณ 2, LAN ก็มี, VGA ก็มีให้ 1 ช่อง!,  RS232 1 ช่อง และ Touchscreen USB 1 ช่อง

โปรเจกเตอร์

เราสามารถ Mirror หรือยิงภาพจากอุปกรณ์ของเราขึ้นหน้าจอได้นั่นเอง และไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นแค่ฝั่งของแอนดรอยด์ แต่ฝั่งของ Apple ก็ทำได้ และความละเอียดที่ได้รับคือ 4K เลยซึ่งวิธีการเชื่อมต่อเองก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนครับ ถ้าเป็นฝั่ง Apple อุปกรณ์ทั้งหลายสามารถยิงแบบ Mirror ได้เลยทันที แค่ต้องอยู่ใน Wifi หรือ Hotspot วงที่ตัวเครื่องปล่อยออกมา อันนี้ทำผมแปลกใจเพราะปกติ Apple เขาไม่ค่อยคุยกับใคร ส่วนถ้าคุณใช้โทรศัพท์แอนดรอยด์ เราจำเป็นจะต้องดาวน์โหลดแอปหนึ่งมาซึ่ง Altron ตระเตรียมวิธีการดาวน์โหลดมาให้แล้วผ่านการสแกนจาก QR Code ในหน้านี้ อาจจะดูยุ่งยากกว่าปกติหน่อย แต่เชื่อเถอะว่ามันคุ้มกัน เพราะแอปนี้นอกจากจะยิงภาพขึ้นจอได้แล้ว เรายังสามารถที่จะส่งข้อมูลเฉพาะที่เราอยากส่งขึ้นไป เช่น เราอาจจะอยากให้เห็นแค่รูปที่อยู่บนมือถือเรา ก็เข้าไปที่โหมด image projection ซึ่งการเปิดอะไรก็ตามบนมือถือเราที่ไม่ใช่ไฟล์รูป มันจะไม่ขึ้นแสดงผลบนจอ หรือว่า Document Projection ที่ก็เช่นเดียวกันครับ อะไรก็ตามที่เราเปิดบนมือถือเราและไม่ใช่ไฟล์ประเภทเอกสาร มันก็จะไม่ขึ้นแสดงผลบนจอ และที่เหนือไปกว่านั้นตัวแอปสามารถดึงภาพหน้าจอจากกระดานอัจฉริยะลงมาไว้ในสมาร์ทโฟน และยังเขียนผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนไปโผล่บนหน้าจอได้อีกด้วย

คอมพิวเตอร์&โน๊ตบุ๊ก

ถ้าคุณใช้โน๊ตบุ๊กปกติทั่วไป คุณจะต้องซื้อ Dongle อุปกรณ์เสริมตัวนี้ในราคา 8,990 บาท มาใช้ เรามาดูวิธีการทำงานของเจ้าตัว Dongle กันเลยดีกว่าครับ เริ่มจากนำ Dongle เสียบเข้าไปที่ช่อง usb ของตัวเครื่อง IWB ก่อน เพื่อทำการ Pairing หลังจากนั้น ก็นำมาเสียบเข้ากับช่อง USB ของโน๊ตบุ๊ก ลงซอฟต์แวร์อะไรให้เรียบร้อยแล้วก็กดปุ่มนี้ครับ เห็นไม๊ครับเพียงเท่านี้ หน้าจอโน๊ตบุ๊คก็ถูกส่งภาพไปยังหน้าจอ IWB แล้ว และทีเด็ดไปกว่านั้น เรียกว่าเป็น Highlight Feature เลยก็ว่าได้ ก็คือ การ Reversed Control นั้นเอง นั้นหมายถึง เราสามารถควบคุมสั่งการโน๊ตบุ๊คของเราได้ เพียงแค่สัมผัสที่หน้าจอ IWB นั่นเอง (สัมผัสหน้าจอให้ดูและ นำโน๊ตบุ๊คหันเข้ากล้อง ให้เห็นตอน Reverse Control) ซึ่งรองรับทั้ง Windows และ Mac เลย

ส่วนเรื่องของการแทนที่คอมพิวเตอร์ได้ จริง ๆ อันนี้จะเกี่ยวข้องกับการที่ตัวเครื่องมีระบบปฎิบัติการณ์ Android ครับ โดยเราสามารถที่จะเปิดไฟล์เอกสารสามัญประจำการทำงานทั้งหลายผ่านแฟลชไดร์ฟ ทั้ง PPT ไฟล์ของพาวเวอร์พ้อยท์, XLS ของเอ็กเซล, Doc ของไมโครซอฟท์เวิร์ด ไฟล์รูปภาพ jpg, png และไฟล์วิดีโอทั้งหลาย

แต่ไม่ว่าจะการทำงานในรูปแบบไหน เราก็สามารถที่จะวกเข้าไปหาการทำงานบนไวท์บอร์ดได้เสมอ ด้วยการแคปเจอร์ภาพ หรือไม่ว่าจะดึงเครื่องมือขีดเขียนขึ้นมาในตอนนั้นเลย แล้วทำการจดสิ่งต่าง ๆ ลงไปบนหน้าจอแล้วเซฟกระจายกันเก็บไว้ หรือเอาง่าย ๆ ว่าศูนย์กลางการทำงานของเครื่องนี้คือการจดบันทึกได้ตลอดเวลาในวาระประชุมนั่นเอง

ข้อสังเกต

ฟังก์ชันการแชร์การประชุมส่งผ่านอีเมลที่ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ต้องรอทางอัลตรอนอัปเดตเวอร์ชันใหม่ของเครื่องก่อนถึงจะทำงานได้สมบูรณ์  ซึ่งถ้าใช้งานทั่วไปว่าการเซฟผ่าน QR Code ก็เพียงพอแล้ว

ฟังก์ชัน Mirror อาจจะต้องเตรียมอินเทอร์เน็ตให้แรงมากพอกับการใช้งานตัวแอนตี้ไวรัสบางตัวในคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะทำให้การทำงานมีหน่วงหรือช้าบ้างในบางครั้งได้

ราคา

Altron Interactive Whiteboard เปิดราคาที่ 89,000 บาทในรุ่น 55 นิ้ว และมีมาให้เลือกถึง 4 ขนาดด้วยกันคือ 55,65,75,86 นิ้ว ซึ่งรุ่นที่เราใช้รีวิวอยู่นี้คือไซส์ 75 นิ้วอยู่ที่ 199,900 บาท! ฟังดูแพง แต่เอาเข้าจริง ๆ หากเทียบกับราคาและไซส์หน้าจอขนาดนี้ในตลาดกระดานอัจฉริยะ ก็ถือว่า Altron ตั้งราคาไว้ถูกที่สุดแล้ว แถมมีประกันมาอีกให้ 3 ปี!

องค์กรไหน ที่กำลังจะทำห้องประชุมใหม่ altron Interactive Whiteboard นี้ก็เป็นอีกหนึ่ง gadget ที่ตอบโจทย์มาก เพราะถ้าต้องซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ อาจจะแพงกว่าการใช้เจ้าเครื่องนี้เพียงเครื่องเดียว และประหยัดเวลาในการเชื่อมต่อิอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้