Our score
8.2Huawei FreeBuds 3
จุดเด่น
- เคสทรงกลมพกพาง่าย
- คุณภาพเสียงอยู่ในระดับที่ดีหากวัดจากประเภทที่หูฟังเป็น (Earbuds)
- ใช้คุยไมค์ได้โคตะระดี!
- มีแอปบนสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์ (Google Store, App Gallery)ให้ปรับแต่งประสิทธิภาพเพิ่ม และจะทำงานได้แบบดีเยี่ยมเลยหากเป็นมือถือของ Huawei โดยตรง
- หูฟังบ้าบออะไรมีฟาร์สชาร์จ!
จุดสังเกต
- ถ้าไม่นับว่าเป็นหูฟัง Earbuds คุณภาพเสียงที่ได้จะอยู่ในระดับปานกลาง
- ไม่มีแอปบน App Store
-
คุณภาพเสียง
8.0
-
คุณภาพวัสดุ
7.0
-
ความคล่องตัวในการใช้
9.0
-
ความสามารถในการคุยโทรศัพท์
9.0
-
ความคุ้มค่า
8.0
ตามที่ Huawei (หัวเว่ย) ได้เคยเปิดเผยเจตจำนง ว่าต้องการจะเดินตามรอยความสำเร็จของ Apple ซึ่งนอกเหนือจากสมาร์ตโฟนแล้ว หูฟังในชื่อผลิตภัณฑ์ว่า Freebuds ก็เป็นอีกหนึ่งไลน์อัปที่หัวเว่ยได้พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพมาเรื่อย ๆ ที่ปัจจุบันก็ได้มีรุ่นใหม่ล่าสุดออกมาอย่าง Freebuds 3 หูฟัง Earbuds ใส่ช่องหูธรรมดาไร้สาย ที่จุดเด่นด้วย Kirin A1 ชิปประมวลผลที่จะถูกนำมาใช้งานบนอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะทั้งหลาย, คุณภาพของเสียงที่ดี, ไมค์ที่มีคุณภาพงัดข้อกับค่ายผลไม้ได้อย่างสูสี, ประสิทธิภาพด้านการเชื่อมต่อไร้สายไร้ความหน่วง และแบตเตอรี่ที่ฟังทั้งวันก็ไม่หมด ฯลฯ ทั้งหมดที่กล่าวไปคือจุดขายของ Freebuds 3 ที่หัวเว่ยใช้ประชาสัมพันธ์ แต่หากเอามาใช้งานจริง จะเป็นเช่นไร? บทความรีวิวนี้ของแบไต๋มีคำตอบให้ครับ
ของหลัก ๆ ในกล่องมีอะไรบ้าง?
- หูฟัง Huawei Freebuds 3
- เคสชาร์จ
- สายชาร์จ USB-C
- หนังสือคู่มือเบื้องต้น
- บัตรประกันเครื่อง
- หนังสือข้อมูลด้านความปลอดภัยของการใช้งาน
วิธีการเชื่อมต่อหูฟังเข้ากับสมาร์ตโฟน กดที่ปุ่มบริเวณข้างขวาของเครื่องและรอให้ไฟสีฟ้าบริเวณตรงกลางระหว่างช่องเก็บหูฟังกะพริบเพื่อเป็นการจับคู่กับสมาร์ตโฟนที่เปิดบลูทูธอยู่ โดยหากต้องใช้งานอย่างสมบูรณ์ สมาร์ตโฟนระบบปฎิบัติการณ์แอนดรอยด์ สามารถดาวโหลดแอปชื่อ Huawei AI Life บน Store ต่าง ๆ ของสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์มาเชื่อมต่อได้อีกทอดหนึ่ง
ดีไซน์หูฟังละม้ายคล้ายค่ายผลไม้ แต่เคสชาร์จนี่สิพกพาง่ายสะดวกดี
เริ่มกันที่ดีไซน์ของตัวหูฟังกันก่อนเลยละกันครับ Freebuds 3 มีความละม้ายคล้ายคลึงกับหูฟังของค่ายผลไม้ในรุ่นก่อนหน้านี้อยู่ (รุ่น 2 นั่นแหล่ะ) ที่ก็ดูเรียบ ๆ ไม่ได้น่าเกลียดอะไร (และก็ไม่มีอะไรโดดเด่นเช่นเดียวกัน) และถึงจะเป็น Earbuds แต่ความยึดเหนี่ยวเข้ากับหูก็ถือว่าทำออกมาได้ดี ถ้าใช้งานแรก ๆ อาจจะมีหวาดระแวงว่ามันจะหลุดไหม แต่สรุปเลยคือไม่ต้องห่วงนะครับ ไม่หลุดง่าย ๆ แน่
แต่ที่ผู้เขียนชอบจริง ๆ เลยคือ ตัวเคสชาร์จหูฟังในรูปทรงวงกลมและความหนาของเคสเองก็บางกว่าหลาย ๆ แบรนด์ ซึ่งจะมีข้อดีคือพกเก็บไว้ในกระเป๋าต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะกับกระเป๋ากางและเสื้อเพราะทรงกลมมันจะกินพื้นที่น้อยทำให้เราเก็บรวมเข้ากับของต่าง ๆ โดยไม่ดูตุง และถ้าพูดต่อถึงความซ่อนรูป ด้านของปุ่มสั่งการ (ปิดเครื่อง, เชื่อมต่อบลูทูธ) ที่มีอยู่ปุ่มเดียวถ้วนบนเคสชาร์จ ก็เลือกที่จะทำออกมาในรูปแบบเรียบ ๆ กลืนเข้ากับสีของตัวเคส มีแปะโลโก Huawei ไว้ที่ตัวเคส ซึ่งโดยรวมคือเน้นความเรียบง่ายนั่นเอง
คุณภาพเสียงอยู่ในระดับดี “หากวัดจากความเป็น Earbuds” พร้อมมี ANC มาช่วยเพิ่มอรรถรส
เมื่อพูดถึงหูฟัง ปัจจัยสำคัญก็คงหนีไม่พ้นคุณภาพเสียงละนะครับ ซึ่ง Freebuds 3 ก็ถือว่าทำออกมาได้ดี หากวัดจากประเภทที่หูฟังเป็น โดยในภาพรวมจากที่ผู้เขียนได้นำไปทดลองใช้ในการฟังเพลงและรับสายคุยโทรศัพท์ หูฟังตัวนี้ทำได้ดีเกินมาตรฐานพอสมควร โดยมิติของเสียง หากอยู่ในพื้นที่ไร้หรือเสียงรบกวนน้อย “จะได้ยินเกือบครบทั้งหมด” จะมีตกหล่นจริง ๆ ก็คือรายละเอียดเล็ก ๆ เช่น เสียงปลายของกีต้าร์ที่ดีด หรือท้ายเสียงของฉาบกลอง เป็นต้น แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีเสียงภายนอกเยอะ ก็จะมีเสียงหลายชนิดตกหล่นไปครับ
ส่วนเสียงกลาง เสียงของนักร้องหรือเสียงของเครื่องดนตรีที่เพลงนั้น ๆ ต้องการนำเสนอเป็นหลัก ซึ่งหูฟังตัวนี้ “ทำได้ดีเลยล่ะ” ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่เสียงแบบไหน ก็จะยังได้ยินครบทุกคำ ทุกดอก ไม่อู้ และออกไปทางคม ๆ ในขณะที่ปลายสุดของเสียงและเครื่องดนตรีทั้งหมด หูฟังตัวนี้ทำได้ใน “ระดับปานกลาง” ซึ่งเหตุผลก็จะเป็นการต่อยอดมาจาก Dynamic ครับ คือ ต้องอยู่ในพื้นที่ไร้เสียงรบกวนหรือน้อย ถึงจะได้อรรถรสเต็มที่ โดยผู้เขียนฟังวนซ้ำทดสอบไปมาผ่านเพลง Stayin’ Alive ของ Bee Gees บอกเลยว่าได้ยินปลายเสียงของป๋าแบรี่จนบาดหูเลยละ (555)
ปิดท้ายกันด้วยเสียงต่ำหรือว่าเสียงเทือก ๆ เบส ภาพรวมก็อยู่ใน “ระดับปานกลาง” โดยเบสหลักหรือมวลเบสได้ยินครบหายห่วงครับ จะใส่หูฟังแน่นหรือหลวมยังไงก็ได้ยิน แต่ถ้าเป็นเบสลึกหรือเสียงปลายของเบส ถ้าไม่ได้ฟังเพลงที่เบสเด่นหรือเปิดเสียงเบา ๆ ก็จะหายไปเยอะพอสมควรเลย (ผู้เขียนทดสอบผ่านเพลง Hysteria ของวงที่บ้าไลน์เบสมากวงหนึ่งอย่าง Muse) ส่วนความตึ้บ ๆ ของเบสนี่ก็มีนะ แต่ว่ากันตรง ๆ คือสู้หูฟัง In-Ears ไม่ได้
คือถ้ามองในมุมของหูฟัง คุณภาพเสียงของ Freebuds 3 คงต้องจัดให้อยู่ในระดับกลาง ๆ ครับ แต่วัดจากประเภทของหูฟังที่ตัวนี้เป็นอย่าง Earbuds ผู้เขียนก็มองว่ามันทำได้ดีแล้วนะ คือต้องอย่าลืมว่าแค่การใส่ตัวหูฟังกับหูเราก็มีระยะห่างกันประมาณอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับ In-Ears ที่อัดแน่นรูหูของเราเลย ซึ่งมันก็จะลำเลียงเสียงเข้าไปได้ดีกว่าอยู่แล้ว
และเพิ่มเติม ถ้าอยากจะฟังเพลงได้อรรถรสที่สุดจริง ๆ จะมีสองเงื่อนไขหลัก ๆ ครับ คือ “ต้องยัดหูฟังให้แน่นหู และต้องอยู่ในพื้นที่ไร้เสียงรบกวนหรือน้อย” โดยเฉพาะเงื่อนไขแรกที่สำคัญมาก เพราะถ้าหลวมหูเมื่อไหร่ ไลน์เสียงทั้งหลายจะหายไปแบบฮวบเลย ซึ่งวิธีแก้ผู้เขียนก็แนะนำให้หาซิลิโคนมาใส่เพื่อให้มันพอดีกับรูหูเราครับ
และอีกหนึ่งตัวที่ช่วยให้อรรถรสการฟังเพลงดีขึ้นก็คือ ANC (Active Noise Canceling) หรือระบบตัดเสียงรบกวนนั่นเอง อาจกล่าวได้ว่านี่คือหูฟัง Earbuds ตัวแรก ๆ ของโลกเลยที่มีระบบนี้ ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีเลย หากเปิดในบริเวณเสียงภายนอกน้อยหรือไม่มีเลย เราก็จะฟังเพลงได้เพลิน ๆ จนลืมชาร์จแบตเลยล่ะ และความเจ๋งอีกอย่างที่ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะมาพร้อมชิปประมวลผล Kirin A1 คือ ถ้าหูฟังตรวจจับได้ว่าเสียงใกล้ ๆ เป็นเสียงพูด เราก็จะได้ยินประมาณหนึ่งเลย อีกทั้งเรายังสามารถจูนหาการตัดเสียงรบกวนที่พอดีกับการรับเสียงของเราและตัดเสียงรอบข้างหลีกหนีสภาวะเสียงรอบข้างตามสถานที่ต่าง ๆ (แต่ก็นะ มันอาจจะไม่ได้ยินชัดถ้อยชัดคำขนาดนั้น ก็ต้องมีโมเมนต์ถามว่าห๊ะ หรือถอดหูมาฟังบ้างในกรณีที่มีคนเรียกหรือพูดกับเราเบา ๆ)
คุยไมค์ได้ดีมาก! (ก ไก่ล้านตัว) ดูวิดีโอเล่นเกมก็เสียงตามภาพใช้ได้เหมือนกัน
ถ้าคุณคิดว่า Airpods คือหูฟังที่คุยไมค์ได้ดีเยี่ยมแล้ว ผู้เขียนอยากจะถามว่าได้ลอง Freebuds 3 กันหรือยังครับ? “เพราะความสูสีด้านประสิทธิภาพด้านนี้บอกเลยว่าไม่แพ้กัน” และผู้เขียนจะนำประสบการณ์โดยตรงมาบอกเล่า! คือผู้เขียนมีแฟน และการคุยโทรศัพท์กับแฟนของผู้เขียนนั้น จะเกิดบรรยากาศมาคุได้ง่ายมากหากเขาได้ยินเสียงในคุณภาพที่แย่ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ Freebuds 3 ได้รักษาอารมณ์กดดันนั้นให้กับผู้เขียนได้หลายครั้งหลายครามาก! และมันไม่ใช่การคุยกันในพื้นที่สภาพเสียงภายนอกแย่ แต่ผู้เขียนใช้ไมค์ในขณะที่อยู่บนฟุตพาตข้างสี่แยกของทางออก MRT ลุมพินี!
ในขณะที่ด้านการคุยดูวิดีโอหรือเล่นเกมเอง เสียงที่ได้รับก็ถือว่าตรงใช้ได้ คือมีหน่วงนิดหน่อยแต่มันเป็นในระดับเสี้ยววินาที ซึ่งทาง Huawei เคลมไว้คืออยู่ที่ 190 ms ที่พอมาใช้งานจริงก็ไม่ได้รู้สึกว่าไม่ทันกันนะหากไม่จ้องจับผิดจริง ๆ ส่วนเรื่องของสัญญาณหูฟังหลุด ผู้เขียนได้ลองนำไปทดสอบกับห้างสรรพสินค้าปราบหูฟังไร้สายอย่างพารากอนมาแล้ว ผลสรุปคือมีบ้างในเขตที่สัญญาณไร้สายอยู่เยอะ ๆ แต่ก็ไม่ได้หลุดยาวหรือกระตุกอะไรขนาดนั้น และอีกอย่างที่ผู้เขียนชอบคือเมื่อเราหยิบหูฟังออกจากเคสมาใส่หูปุ๊บก็พร้อมใช้งานได้เลย! ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็คงจะต้องยกความดีความชอบให้ฮาร์ดแวร์ภายในที่เป็น Bluetooth 5.1 ละครับ
ส่วนเรื่องของแบตเตอรี่ Freebuds 3 สามารถฟังได้ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งอยู่ที่ 4 ชั่วโมง และทำการชาร์จเพิ่มได้ผ่านเคสอีก 16 ชั่วโมง (รวมเป็น 20 ชั่วโมง) ซึ่งคำถามคือเพียงพอไหม? อันนี้คงต้องแล้วแต่บุคคลละนะครับ เพราะส่วนตัวผู้เขียนเอง ชาร์จแค่หนึ่งรอบก็เพียงพอต่อการใช้ในหนึ่งวันนะ (ผู้เขียนใช้แค่ตอนปั่นงานที่ต้องใช้สมาธิ, เดินทาง และก็รับสายคุยโทรศัพท์) แต่ถ้าใครรู้สึกว่าไม่เพียงพอพี่ Huawei เขาก็คิดมาแล้ว! ตัวเคสมีระบบฟาสต์ชาร์จทั้งต่อสายและไวร์เลสชาร์จเลย ประมาณ 15 – 20 นาทีก็เอามาฟังต่อได้แล้ว
ปรับแต่งประสิทธภาพเพิ่มได้ผ่านแอป Huawei AI Life ที่มีเฉพาะบนฝั่งของแอนดรอยด์…
จริง ๆ ตัวหูฟังเอง ถ้าแกะกล่องแล้วเสียบฟังเลยก็มีคุณภาพเสียงที่โอเคอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องการมากกว่านั้น เราสามารถดาวน์โหลดแอปที่ชื่อว่า Huawei AI Life มาเพื่อปรับแต่งการใช้งานให้ดีขึ้นได้ โดยที่เด่น ๆ เลยคือการจูนหาการปิดกั้นเสียงรบกวนภายนอกในสภาพพื้นที่แตกต่างกันได้ อีกทั้งยังเป็นการหาการปิดเสียงรบกวนภายนอกที่เหมาะกับหูเราอีกด้วย ส่วนคำสั่งถัดมาคือการปรับแต่งการสั่งการเมื่อแตะหูฟังของทั้งสองข้าง (เช่น ปรับให้แตะสองครั้งฝั่งซ้ายหรือขวาเป็นการเล่น/หยุดเพลง หรือเปิด/ปิด ANC เป็นต้น) ตรวจเช็คปริมาณแบตเตอรีของหูฟังกับเคส และปิดท้ายด้วยการอัปเดตเฟิร์มแวร์ของหูฟัง
แต่ก็นะ ผู้เขียนขอทิ้งข้อสังเกตไว้หน่อย คือถ้าคุณใช้ไอโฟน ก็บอกลาการปรับแต่งทั้งหลายได้เลยครับ (คือถ้าจะทำต้องให้เพื่อนที่ใช้มือถือแอนดรอยด์ปรับให้…) ก็หวังว่าในอนาคตจะมีให้ดาวน์โหลด App Store นะ
สรุป Huawei Freebuds 3 นี่คือหูฟังที่อยู่ในตัวเลือกหลัก ๆ แน่นอน
โดยรวม Huawei Freebuds 3 คือหูฟังที่ผู้เขียนว่าน่าจะอยู่ในใจและเป็นหนึ่งในตัวเลือกของใครหลายคนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ด้วยคุณภาพเสียงที่ดีหากวัดจากการเป็นหูฟัง Earbuds, การใช้ไมค์คุยกับคู่สนทนาที่โคตะระเทพ, แบตต่อการใช้น้อยก็จริงแต่มีฟาสต์ชาร์จ และมีระบบตัดเสียงรบกวนที่ทั้งช่วยเพิ่มอารมณ์สุนทรีในการฟังเพลง ทั้งหมดนี้อยู่ในหูฟังที่มีราคาเพียง 4,990 บาทครับผม
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส