Our score
9.2Samsung Galaxy Note10 / Note10+
จุดเด่น
- จอสวยที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดจริงๆ
- กล้องไว้ใจได้ว่าจะถ่ายภาพสวยในแทบทุกสถานการณ์ ถ่ายวิดีโอ 4K 60 fps ได้นุ่มนวล
- คุณภาพการผลิตดีเยี่ยม แม้จอใหญ่แต่เครื่องบางเบาและแข็งแรง
- เรื่องการใช้งานปากกา เก่งที่สุดแล้วในโลกสมาร์ตโฟน แปลงลายมือภาษาไทยเป็นข้อความก็ได้
- ประสิทธิภาพดีในระดับเรือธง
จุดสังเกต
- อายุแบตเตอรี่สั้น โดยเฉพาะ Note10 ที่อยู่ได้ไม่ครบวัน
- กล้องซูมด้วยเลนส์ได้แค่ 2 เท่า และไม่มี Hybrid Zoom ทำให้เรื่องซูมยังแพ้คู่แข่ง
- หลังจากใช้งานมานานหลายเดือน รู้สึกว่าเครื่องช้าลง แต่น่าจะดีขึ้นใน OneUI 2
- สแกนนิ้วบนหน้าจอ ยังเร็วและแม่นสู้คู่แข่งไม่ได้ และหน้าจอขอบโค้งทำให้มีปัญหากับการใช้ปากกาในบางแอป
- ไม่มีช่องหูฟัง และไม่แถมสายแปลง 3.5 mm มาให้ อยากได้ต้องซื้อเพิ่ม
-
รูปลักษณ์ภายนอก
9.5
-
คุณภาพหน้าจอ
10.0
-
ประสิทธิภาพเครื่อง
9.0
-
ประสิทธิภาพกล้อง
9.5
-
ความคุ้มค่า
8.0
Samsung Galaxy Note10 และ Note10+ ถือเป็นสมาร์ตโฟนที่ประสบความสำเร็จอย่างดีในตลาดไทยนะครับ ถือเป็นหนึ่งในเรือธงของฝั่งแอนดรอยด์ที่คนไทยถือเยอะมาก (วัดจากนิสัยชอบส่องมือถือคนอื่นของผู้เขียน) และในฐานะที่เราก็ถือทั้ง Samsung Note10 และ Note10+ มาตั้งแต่เปิดตัว ก่อนหมดปี 2019 เราขอสรุปเป็นรีวิวว่าการใช้จริงในชีวิตประจำวันจะเป็นอย่างไรบ้าง!
สารบัญเนื้อหา
- การออกแบบ ความแตกต่างระหว่าง Note10 และ Note10+
- หน้าจอของ Samsung Galaxy Note10 และ Note10+
- ปากกาของ Samsung Galaxy Note10 และ Note10+
- คุณภาพภาพของ Galaxy Note10 และ Note10+
- OneUI ซอฟต์แวร์ที่ปรับปรุงไปมากของ Note10
- สรุปประสบการณ์การใช้งานของ Note10 ทั้ง 2 รุ่น
- หลังจากใช้งานมา 4 เดือน Samsung Galaxy Note10 น่าใช้ไหม
การออกแบบ ความแตกต่างระหว่าง Note10 และ Note10+
ดีไซน์พื้นฐานของ Samsung Galaxy Note10 และ Note10+ นั้นเหมือนกันนะครับ คือเป็นเอกลักษณ์การออกแบบมือถือยุคใหม่ ๆ ของซัมซุงที่เป็นเครื่องสี่เหลี่ยมแบน ๆ เรียบ ๆ ปูหน้าจอไปจนแทบสุดขอบของทุกด้าน ซึ่งกระจกเครื่องทั้งด้านหน้าและด้านหลังก็มีการโค้งรับฝ่ามือทำให้จับง่าย ซึ่งสัมผัสของเครื่องนั้นทำออกมาได้ดีเลย รู้สึกเป็นเครื่องพรีเมี่ยมที่แข็งแรง
ตัวเครื่องมีปุ่มแค่ 3 ปุ่มคือเพิ่ม-ลดเสียง, ล็อกจอหรือเรียก Bixby โดยตัดปุ่มเฉพาะของ Bixby ออก ซึ่งก็ดีแล้วครับ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้เรียกใช้ Bixby เลยจริงๆ เพียงแต่ว่าการเปิด-ปิดเครื่อง หรือการรีเซ็ตเครื่อง เราจะสั่งจากเมนูในเครื่องแทน และ Galaxy Note10 กับ Note10+ นั้นไม่มีช่องหูฟัง ซึ่งสำหรับคนทั่วไปก็สามารถใช้หูฟังไร้สายมาทำงานได้ดี แต่สำหรับคนที่ต้องบันทึกวิดีโอและต่อไมค์นอก ก็ต้องซื้อหัวแปลง USB-C to 3.5 mm ของซัมซุงมาต่อเพิ่มครับ ถึงจะทำงานได้สมบูรณ์
จุดที่แตกต่างกันในแง่การออกแบบนั้นมีอยู่เรื่องเดียวคือขนาดหน้าจอคือ
- Note10 มีขนาดหน้าจอ 6.3 นิ้ว ความละเอียด Full HD+
- Note10+ มีขนาดหน้าจอ 6.8 นิ้ว ความละเอียด qHD+
ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วขนาดหน้าจอของ Note 10 รุ่นธรรมดานั้นก็เทียบเท่า Galaxy S10+ ที่มีจอขนาด 6.4 นิ้วเลยทีเดียว ทำให้คิดได้ว่าแม้ Note 10 จะดูขนาดเล็ก มีน้ำหนักแค่ 168 กรัม เมื่อเอาไปเทียบกับ Note 10+ ที่ใหญ่กว่าชัดเจน และหนักกว่าด้วยน้ำหนัก 196 กรัม แต่เราก็ถือว่า Note 10 เป็นมือถือที่จอใหญ่มากอยู่ดีเมื่อเทียบกับสมาร์ตโฟนอื่น ๆ
เราใช้งานมาหลายเดือน เราไม่มีปัญหากับการใช้งานหน้าจอโค้งของ Note 10 และ Note 10+ นะครับ ถือว่าซัมซุงทำการบ้านเรื่องการออกแบบเครื่องให้ป้องกันหน้าจอลั่นได้ดีเลย แต่ปัญหาจากหน้าจอโค้งนั้นมีอยู่อย่างหนึ่งคือการใช้กับปากกา ที่ว่ากันตรง ๆ จอขอบโค้งนั้นไม่เหมาะสำหรับการใช้งานคู่กับปากกาเท่าไหร่ เพราะเขียนยากเมื่อต้องลากเส้นไปที่ขอบหน้าจอ ซึ่งในจุดนี้ชุดเครื่องมือวาดเขียนของเครื่องเองจะแก้ไขโดยไม่ให้พื้นที่ใช้งานปากกาลามไปถึงขอบจอ แต่สำหรับการใช้งานในแอปอื่น ๆ เช่นเขียนใน LINE มันจะมีประเด็นเรื่องจุดที่ต้องการเขียนไปอยู่ขอบจออยู่บ้างครับ
ส่วนฝาหลังในตระกูลสี Aura ทั้งหลายก็สวยงามสะดุดตาดีครับ ด้วยสีสะท้อนแสงต่างๆ โดย Note10 เราได้มาเป็นสี Aura Pink ส่วน Note10+ เราได้เป็นสี Aura Glow ซึ่งเราใช้งานโดยไม่ใส่เคสมาตลอด มันก็เป็นรอยนิ้วมือได้ง่ายครับ แต่ก็ทนทานพอที่จะใช้งานมาหลายเดือนโดยที่ไม่มีริ้วรอยอะไรทีฝาหลัง
หน้าจอของ Samsung Galaxy Note10 และ Note10+
เรื่องที่เราประทับใจมาก คือหน้าจอของ Note ทั้งสองรุ่นนี้ดีมากจริง ๆ สมแล้วที่เป็นหน้าจอสมาร์ตโฟนอันดับต้น ๆ ของตลาด ซัมซุงสามารถพัฒนาจอ Dynamic AMOLED ให้แสดงสีสันได้สดใสจริงๆ ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นชัดเมื่อดูหนังผ่าน Netflix หรือ Youtube ที่รองรับระบบ HDR ครับ ภาพจะสว่างเด้งขึ้นมาเลย แถมยังให้รายละเอียดได้ครบถ้วนดีด้วย ซึ่งทำให้การดูหนังผ่าน Note10 นั้นเป็นประสบการณ์ที่ดีจริง ๆ
ซึ่งรูกล้องบนหน้าจอทำออกมาได้ดี เวลาใช้งานจริงก็ไม่รบกวนสายตามาก เวลาดูหนัง แอปก็จะแสดงภาพหลบรูหน้าจอตรงนี้ให้ด้วย ส่วนฟิล์มกันรอยที่ติดมาจากโรงงาน ก็ถือเป็นฟิล์มกันรอยที่ดีครับ แข็งแรง แม้ว่าใช้ ๆ ไปจะมีรอยขนแมวขึ้นบ้างแต่ก็ไม่รบกวนสายตาเวลาใช้ แถมยังไม่มีปัญหากับการใช้ปากกาหรือการสแกนลายนิ้วมือของเครื่องด้วย เราจึงไม่แนะนำให้คนที่พึ่งซื้อเครื่องมาลอกออกแล้วเปลี่ยนเป็นฟิล์มหรือกระจกกันรอยอื่น ๆ นะครับ ทั้งเปลืองและมีโอกาสไม่ดีเท่าด้วย ใช้จนฟิล์มแถมตัวนี้สภาพไม่ไหวแล้วก็ค่อยเปลี่ยนก็ได้
ส่วนการใช้งานตัวสแกนลายนิ้วมือแบบ Ultrasonic บนหน้าจอนี้ หลังจากใช้ไปสักพัก พูดตรง ๆ ว่ายังสู้สมาร์ตโฟนค่ายอื่น ๆ ที่ใช้ตัวสแกนนิ้วแบบ Optical บนหน้าจอไม่ได้ ที่ฝั่งของ Note10 นั้นช้ากว่าและกดติดยากกว่า แต่หลังจากอัปเดตเป็น OneUI 2.0 ตัวสแกนนิ้วนี้ก็เร็วขึ้น และน่ารำคาญน้อยลงครับ
ปากกาของ Samsung Galaxy Note10 และ Note10+
สิ่งแรกที่คุณต้องถามและตอบตัวเองให้ได้ก่อนซื้อ Galaxy Note คือคุณเป็นคนติดปากกาหรือไม่ คุณชอบจดด้วยปากกาหรือไม่ เพราะถ้าคุณไม่ใช่คนใช้ปากกา คุณก็มีทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าคือ Galaxy S10 ให้เลือกซึ่งประสิทธิภาพ คุณภาพกล้องและคุณภาพหน้าจอไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเป็นคนที่ไม่ได้จดหรือขีดเขียนอะไรเลย ทุกอย่างใช้การพิมพ์ผ่านคีย์บอร์ดหมด จึงค่อนข้างหนักใจที่จะต้องรีวิวในส่วนนี้ เพราะในช่วงที่ใช้เครื่องมา 4 เดือน เราหยิบปากกาออกมาใช้ไม่เกิน 10 ครั้งครับ (ซึ่งถ้าต้องซื้อเครื่องใช้เองคงเลือกใช้ S10 แทน Note10 เพราะทดสอบแล้วว่าปากกาไม่ใช่สิ่งจำเป็นของเรา)
S-Pen ของ Note ก็ยังเป็นระบบจัดบันทึกด้วยการเขียนที่ดีที่สุดในสมาร์ตโฟนตอนนี้อยู่ดี ด้วยความแม่นยำในการเขียน และความสามารถใหม่ ๆ ที่ซัมซุงเพิ่มขึ้นมาตลอด ซึ่งฟีเจอร์ที่เราคิดว่าดีมากใน Note10 คือการแปลงลายมือภาษาไทยให้เป็นตัวอักษรภาษาไทยที่ก็อปไปใช้ที่อื่น ๆ ได้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่จดข้อมูลด้วยปากกาได้เร็วกว่าการพิมพ์ (แต่สำหรับผู้เขียนนั้นพิมพ์ใส่มือถือเร็วกว่าเขียนด้วยลายมือมาก เลยไม่ได้ใช้ฟีเจอร์นี้) ส่วนความสามารถอื่นๆ ที่เพิ่มมาใน Note10 อย่าง AR Doodle ที่สามารถเขียนลายมือเข้าไปในภาพแล้วแสดงในอากาศได้ หรือการใช้ Air Gesture ที่ใช้ S-Pen มาปัด สั่งงานเครื่องจากระยะไกล ความสามารถพวกนี้เราแค่เปิดมาลองดูว่ามันคืออะไร ส่วนในชีวิตจริงเราไม่ได้ใช้เลยครับ มันหาโอกาสที่จะได้ใช้ความสามารถพวกนี้ได้น้อยจริงๆ ขนาดการสั่งกล้องระยะไกลด้วย S-Pen เรายังไม่ค่อยได้ใช้เลย เพราะรู้สึกว่ามันยุ่งยากในการหาตำแหน่งที่วางมือถือ
คุณภาพภาพของ Galaxy Note10 และ Note10+
กล้องหลังของ Note10 ทั้ง 2 รุ่นนั้นมี 3 ตัวนะครับ คือ
- เลนส์หลัก 12 ล้านพิกเซล f/1.2-2.4 เทียบเท่าระยะ 27 mm
- เลนส์ซูม 2 เท่า 12 ล้านพิกเซล f/2.1 เทียบเท่าระยะ 52 mm
- เลนส์มุมกว้าง 16 ล้านพิกเซล f/2.2 เทียบเท่าระยะ 12 mm
ซึ่งเราประทับใจการทำงานของเลนส์หลักและเลนส์มุมกว้างมากครับ คือตัวเลนส์หลักนั้น ถ่ายอะไรก็สวย กล้องสามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆ และปรับจูนโทนภาพออกมาได้ดูดีจริงๆ ไม่ต้องใช้โหมดโปร ถ่ายแต่ออโต้ก็สวย ถ่ายกลางคืนก็เก็บแสงสีมาได้อย่างดีเพราะมีรูรับแสงกว้างถึง f/1.5 ส่วนกล้องมุมกว้างก็ให้ภาพกว้างที่ 0.5x กว้างกว่ามือถือทั่วไปที่มักจะกว้างได้ที่ 0.6x ทำให้เก็บภาพกว้างได้สนุกมาก ส่วนกล้องที่เฉยๆ ที่สุดคือกล้องซูม 2 เท่าครับ เพราะถือว่าซูมได้น้อยเมื่อเทียบกับเรือธงอื่น ๆ ในปัจจุบัน และซัมซุงก็ไม่ได้มีเทคโนโลยี Hybrid Zoom ที่ซูมไป 3 เท่า 5 เท่าโดยไม่เสียรายละเอียด ก็ทำให้มือถือทั้ง 2 รุ่นนี้ถือซูมไม่สนุกเท่าไหร่
ส่วนการถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอก็ทำได้สวยงามในโหมด Live Focus นะครับ ที่มีรูปแบบการละลายหรือจัดการกับฉากหลัง 5 แบบให้เลือก ซึ่งก็สามารถละลายฉากหลังได้เนียนตาดีครับ เพียงแต่ว่าการถ่ายในโหมดนี้ต้องใจเย็นนิดหนึ่ง ถึงจะได้ผลงานที่ดี
การถ่ายวิดีโอ ก็ถือว่าทั้งสองโน้ตทำได้ดีครับ สามารถสลับ 3 กล้องไปมาระหว่างถ่ายวิดีโอได้ตลอด สามารถถ่ายได้ถึงระดับ 4K 60 fps ซึ่งก็ให้ผลงานวิดีโอออกมาได้ดีใช้ได้ มีโหมดป้องกันความสั่นไหวพิเศษเพื่อช่วยให้วิดีโอเคลื่อนที่ได้นิ่มขึ้นด้วย แต่โหมดนี้จะถ่ายได้ในระดับ 1080p อย่างเดียว และมีการครอปเฟรมวิดีโอเข้าไปเยอะมากด้วยเพื่อชดเชยการสั่นไหว
และกล้องหน้านั้นมีความละเอียด 10 ล้านพิกเซล f/2.2 ก็ให้สีสันภาพออกมาได้ดี เหมาะมากสำหรับการถ่าย Selfies ครับ สมแล้วที่เป็นกล้องเซลฟี่อันดับหนึ่งในใจหลายคน เพียงแต่ว่าก่อนถ่ายต้องดูโหมดหน้าสวยดี ๆ ว่าปรับระดับไหน หรือปรับเป็นออโต้รึเปล่า เพราะบางทีถ้าปรับอัตโนมัติมันจะมีการตกแต่งใบหน้าเยอะไปนิดครับ
OneUI ซอฟต์แวร์ที่ปรับปรุงไปมากของ Note10
โดยรวมแล้ว OneUI ของซัมซุงนั้นเป็นการครอบระบบปฏิบัติการที่ดูดีเลย งานออกแบบและฟีเจอร์ต่าง ๆ นั้นตอกย้ำความเป็นสมาร์ตโฟน Android ชั้นนำที่จัดวางองค์ประกอบของการใช้งานมาอย่างดี รวมถึงการควบรวมบริการต่าง ๆ ของซัมซุงอย่าง Samsung Pay สำหรับชำระเงินโดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต, SmartThings เพื่อควบคุมอุปกรณ์ในบ้านในแบรนด์ที่รองรับ, Samsung Wearable เพื่อการใช้งานอุปกรณ์สวมใส่ของซัมซุงอย่างง่ายดาย ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสทดลองอยู่ใน Ecosystem หรือระบบนิเวศน์ของอุปกรณ์ซัมซุงอยู่พักหนึ่ง โดยใช้นาฬิกาเป็น Galaxy Watch Active และใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่เชื่อมไวไฟได้จากซัมซุง ก็สามารถสั่งงานได้อย่างไร้รอยต่อผ่าน Note10 ครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำออกมาได้ดีมาก
นอกจากนี้ฟีเจอร์อย่าง Samsung Dex หรือการส่งภาพไปออกจอใหญ่เหมือนกับการใช้จอมอนิเตอร์เพื่อทำงานในแบบ PC ก็ทำได้ดี ด้วยซอฟต์แวร์ที่ปรับปรุงให้รองรับการทำงานในหน้าจอใหญ่ด้วย และมีฟีเจอร์การทำงานร่วมกับ Windows ติดตั้งมาในเครื่องเลย ด้วยฟังก์ชัน Link to Windows ก็ทำให้การใช้งานสะดวกมาก ทั้งการแสดง Notification จากเครื่องไปแสดงบน Windows หรือ mirror หน้าจอโทรศัพท์ไปออกบนวินโดวส์ก็ได้ (แต่ชาวแมคก็เสียใจที่ใช้งานแบบนี้ไม่ได้)
ส่วนการควบคุมเครื่องด้วยการปัดแทนการกดปุ่ม Recent, Home, Back ใน OneUI 1.5 นั้นมีอยู่รูปแบบเดียวคือแบ่งพื้นที่ปัดด้านล่างออกเป็น 3 ส่วน ถ้าปัดส่วนล่างซ้ายของจอขึ้นจะเจอหน้า Recent app, ปัดตรงกลางขึ้น จะเข้าหน้าโฮม และถ้าปัดทางขวาขึ้นจะเป็นการ Back ซึ่งสำหรับคนมือเล็กๆ จะเอื้อมไปปัดอีกฝั่งก็ยากเหมือนกัน ส่วนถ้าเป็น OneUI 2 จะมีรูปแบบการปัดที่คล้ายๆ กับแอนดรอยด์รุ่นอื่นๆ ในตลาดออกมา คือสามารถปัดขอบจอด้านซ้ายหรือขวาเพื่อแทนการ Back ปัดจากล่างขึ้นบนเพื่อกลับ Home และปัดจากล่างมาค้างตรงกลางเพื่อเป็น Recent App ซึ่งก็ทำให้ใช้ง่ายขึ้นเยอะ และไม่งงเวลาเปลี่ยนมาจากมือถือรุ่นอื่นๆ ครับ
ในช่วง 3 เดือนแรกของการใช้งาน เราใช้งาน Note10 และ Note10+ บน OneUI 1.5 ที่อยู่บนพื้นฐานของ Android 9 ซึ่งหลังจากใช้งานต่อเนื่องมานาน 3 เดือน ก็พบว่า OneUI 1.5 นั้นยังต้องปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพของระบบที่ผ่านการใช้งานระดับนี้มาก็รู้สึกได้เลยว่าเครื่องช้าลงกว่าวันแรกที่เริ่มใช้ โดยเฉพาะใน Galaxy Note10+ ที่พบอาการหน่วงเป็นระยะจนต้องเปลี่ยนมาใช้งาน Note10 ในชีวิตประจำวันแทน ซึ่งเมื่อเทียบกับสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์แบรนด์อื่นที่เริ่มต้นใช้งานในฐานะเครื่องหลักมาตั้งแต่ต้นปีโดยไม่มีการล้างเครื่อง ก็ยังไม่มีการอาการหน่วงมากเท่าที่เจอกับ Note10+
อย่างไรก็ตามหลังจากอัปเดตเป็น OneUI 2 ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็รู้สึกได้เลยว่าเครื่องทำงานได้เร็วขึ้น แอนิเมชันต่างๆ ของเครื่องทำได้สมูธขึ้น แต่เรายังไม่กลับไปลองกับ Note10+ ที่หน่วงตอนแรกนะครับว่าดีขึ้นหรือไม่
ระบบการแจ้งเตือนก็เป็นอีกเรื่องที่ OneUI ของซัมซุงทำได้ไม่เหมือนใคร ซึ่งถ้าใครใช้ซัมซุงมานาน ๆ ก็คงจะชิน แต่สำหรับคนที่มาจาก iPhone หรือแอนดรอยด์อื่น ๆ อย่างผู้เขียนก็รู้สึกหงุดหงิดอยู่บ้าง คือค่ามาตรฐานเวลาการแจ้งเตือนของ OneUI เมื่อมีโนติใหม่เด้งเข้ามาจอจะไม่เปิด จะมีแค่เสียงหรือการสั่นเตือน ถ้าต้องการดูโนติให้เปิดจอ แล้วแตะไอคอนที่หน้าจอล็อก 1 ครั้งเพื่อดูเนื้อหา (จริง ๆ ปรับให้โชว์เลยก็ได้ แต่มันก็ดีไซน์ได้ไม่สวยอีก) นอกจากนี้ถ้าเราปลดล็อกเครื่องไป แล้วกลับมาใหม่ โนติที่ไม่ได้ปัดทิ้งก็ยังแสดงอยู่เหมือนเดิม ในขณะที่ iOS จะเปิดจอเพื่อแสดงโนติขึ้นมาทันทีที่ได้รับ และเมื่อเปิดหน้าจอจะเห็นข้อมูลการแจ้งเตือนทั้งหมดโดยไม่ต้องกดไอคอนอีกรอบ (ถ้าเป็นรุ่นที่มี Face ID ก็จะสแกนหน้าอัตโนมัติ ก่อนที่จะแสดงเนื้อหาของการแจ้งเตือนนั้นให้ดู) และเมื่อปลดล็อกเครื่องไปแล้ว กลับมาดูโนติในหน้าจอล็อกอีก การแจ้งเตือนที่เห็นไปแล้วก็จะไม่แสดงซ้ำ ซึ่งรูปแบบโนติของซัมซุงนั้นเป็นแบบที่ต้องให้ผู้ใช้ออกแรงเยอะ อยากเห็นการแจ้งเตือนก็ต้องกดดู 1 ครั้ง แล้วผู้ใช้ก็ต้องมั่นคอยล้างโนติที่ไม่สนใจแล้วออกเอง ในขณะที่ iOS คุณจะใช้เครื่องทั้งปีโดยไม่ล้างโนติออกเลยก็ได้ เพราะมันไม่คอยอยู่กวนใจในหน้าล็อกครับ
สรุปประสบการณ์การใช้งานของ Note10 ทั้ง 2 รุ่น
- Samsung Galaxy Note10 ทั้ง 2 รุ่นสามารถนำทางระหว่างขับรถได้แม่นยำ ระบุตำแหน่งปัจจุบันไม่ค่อยพลาด ซึ่งเราใช้นำทางหลายทริปตลอด 4 เดือนนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร
- เรื่องประสิทธิภาพของชิป Exynos 9825 (ตัว Note10 มีแรม 8 GB และ Note10+ มีแรม 12 GB) ถือว่าทำงานได้รวดเร็ว เล่นเกมได้ลื่นไหวดี ได้คะแนน Geekbench 5 ไปราว 2100 คะแนน เพียงแต่ว่ามีปัญหาเครื่องหน่วงเมื่อใช้ไปนาน ๆ อย่างที่เล่าไป
- เสียงลำโพงดังดี มีรายละเอียด และเป็นลำโพงสเตอริโออย่างไม่น่าเชื่อ เพราะด้านบนเครื่องไม่มีรูลำโพงแนบหู แต่ใช้การสั่นของเครื่องเพื่อส่งเสียงออกมา ซึ่งก็ทำได้ดี
- การคุยโทรศัพท์ทำได้ชัดเจน เสียงดังฟังชัด จับสัญญาณดี ใช้ VoWiFi, VoLTE ได้ทั้งหมด
- การเล่น Netflix รองรับความละเอียดสูงสุดที่ Full HD – 1080p พร้อมรองรับ HDR10
- ไม่รองรับการกระจายสัญญาณ Wifi ผ่านคลื่น 5 GHz แต่สามารถจับ Wifi มาปล่อยต่อได้
- แบตเตอรี่คือปัญหาใหญ่ของรุ่นนี้ Galaxy Note10 เป็นมือถือแอนดรอยด์รุ่นเดียวที่เราเทสต์ในปีนี้ ที่ต้องชาร์จระหว่างวันทุกวัน โดยการใช้งานของเราจะเน้นโซเซียล อ่านเฟซบุ๊ก ใช้ไลน์ อ่านเว็บ ไม่ได้เล่นเกม ไม่ได้ดูหนัง ก็ได้ผลประมาณนี้
- Galaxy Note10 มาพร้อมแบตเตอรี่ความจุ 3500 mAh รุ่นนี้ชัดเจนว่าต้องชาร์จระหว่างวันทุกวัน คือทุกวันเราจะปลดจากสายชาร์จช่วงประมาณ 9.00 น. พอถึงประมาณ 17.00 น. แบตเตอรี่ก็ใกล้หมด ก็ต้องชาร์จใหม่แล้ว
- Galaxy Note10+ มาพร้อมแบตเตอรี่ความจุ 4300 mAh ก็ใช้งานได้แบบลุ้น ๆ ว่าจะจบวันไหม ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้จบวันได้ครับ
- แต่การชาร์จกลับทำได้รวดเร็วด้วยหัวชาร์จความเร็วสูงที่แถมให้ในกล่อง แต่เราก็ไม่ได้แกะมาใช้ 555 เพราะใช้หัวชาร์จ USB-C ที่รองรับมาตรฐาน PD ทั่วไปก็ชาร์จได้รวดเร็วแล้ว
หลังจากใช้งานมา 4 เดือน Samsung Galaxy Note10 น่าใช้ไหม
Galaxy Note10 ทั้ง 2 รุ่นถือเป็นการพัฒนาที่ดีในซีรีส์โน้ต โดยเฉพาะการออกแบบเครื่องที่บางเบากว่ารุ่นก่อนอย่างชัดเจน รวมถึงกล้องที่ดีสมความเป็นมือถือเรือธงของซัมซุง ซึ่งก็เป็นมือถือไม่กี่รุ่นในตลาดไทยที่เราจะคิดถึงเมื่อต้องการใช้งานปากกา
- Samsung Galaxy Note10 เปิดตัวที่ราคา 32,900 บาท
- Samsung Galaxy Note10+ เปิดตัวที่ราคา 37,900 บาท
ซึ่งปัจจุบันเราน่าจะหาโน้ตสิบได้ในราคาเริ่มต้นราวสองหมื่นนิด ๆ ด้วยซ้ำครับ ก็ถือเป็นสมาร์ตโฟนตัวท็อปที่ราคาคุ้มมาก แม้ว่าแบตเตอรี่จะอึดน้อยไปหน่อย แต่โดยรวมก็ใช้งานได้ดีครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส