รีวิวเครื่องฟอกอากาศทรงลูกบาศก์ Samsung Cube AX9500 ใช้งานได้ดีจริงไหม เราฟันธง!
Our score
8.8

Samsung Cube AX9500

จุดเด่น

  1. ดีไซน์สวยงามแปลกตากว่าเครื่องฟอกอากาศรุ่นอื่นๆ ยังสามารถวางของอื่นๆ บนเครื่องได้
  2. สามารถจัดการฝุ่นระดับ PM0.3 ได้ 99.9% พร้อมชุดถ่านกัมมันต์สำหรับจัดการกลิ่น
  3. สามารถต่อ 2 เครื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้โดยไม่เสียพื้นที่เพิ่ม
  4. แอป SmartThings สำหรับสั่งงานผ่านมือถือทำออกมาได้ดี ใช้ได้ทั้ง iOS และ Android
  5. มีการทำงานแบบ Wind-Free ที่เงียบมาก พร้อมโหมดอัตโนมัติที่ปรับการทำงานตามสภาพอากาศในห้อง

จุดสังเกต

  1. ไม่มีระบบ ion เพื่อจัดการเชื้อโรคในอากาศ
  2. เซนเซอร์ตรวจจับฝุ่นของ AX9500 แสดงค่าฝุ่นละอองมากกว่าเซนเซอร์ของอุปกรณ์อื่นๆ 2-3 เท่าตัว อาจทำให้ผู้ใช้ตกใจได้
  3. ตัวแอป SmartThings น่าจะแสดงประวัติของคุณภาพอากาศในห้องได้
  4. เหมาะสำหรับห้องไม่เกิน 47 ตร.ม.
  • ดีไซน์เครื่อง

    9.5

  • ความสามารถในการฟอกอากาศ

    8.5

  • ความสามารถด้าน IoT

    9.0

  • ความสามารถพิเศษ

    9.0

  • ความคุ้มค่า

    8.0

ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมาเครื่องฟอกอากาศกลายเป็นสินค้ากลุ่มใหม่ที่ยอดขายเติบโตทะลุเพดานนะครับ เพราะกระแสความตกใจในสภาพอากาศของประเทศไทยที่เกิดความตระหนักรู้ว่าสิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นหมอกในเมืองนั้นกลายเป็นฝุ่น PM 2.5 วายร้ายที่ทำลายสุขภาพ ทำให้เครื่องฟอกอากาศถึงกับขาดตลาดทั้งประเทศไปพักหนึ่งเลย จากกระแสความตื่นตัวนี้ทำให้ซัมซุงส่งทัพเครื่องฟอกอากาศชุดใหม่เข้าสู่ตลาดไทย ซึ่งมีให้เลือกหลายรุ่น หลายขนาดให้เหมาะกับพื้นที่ห้อง และตัวท็อปในตอนนี้คือ Samsung Cube AX9500 ที่เหมาะสำหรับห้องไม่เกิน 47 ตร.ม. ที่เราจะรีวิวในครั้งนี้ครับ

ดีไซน์ของ Samsung Cube AX9500

อุปกรณ์ภายในกล่อง Samsung Cube AX9500
อุปกรณ์ภายในกล่อง Samsung Cube AX9500

การออกแบบของ Samsung Cube AX9500 นั้นก็ตามชื่อของมันครับ ดีไซน์แตกต่างจากเครื่องฟอกอากาศรุ่นอื่นๆ ตรงที่ทำออกมาเป็นทรงลูกบาศก์ ขนาด 367 x 436 x 380 mm ซึ่งสีที่มีจำหน่ายในไทยคือสีเทา Metal Silver ก็ไม่ค่อยมีเครื่องฟอกอากาศรุ่นไหนที่ออกแบบอย่างนี้นะครับ ซึ่งข้อดีของดีไซน์นี้คือมันให้พื้นที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เพราะพอเราวางเครื่องฟอกอากาศไปกับพื้นแล้ว เราก็ยังสามารถวางของเล็ก ๆ เบา ๆ ไว้บนเครื่องฟอกอากาศได้ด้วย ซึ่งถ้าเป็นเครื่องฟอกอากาศส่วนใหญ่ ที่มีพัดลมอยู่ด้านบน เราก็จะเสียพื้นที่ในห้องที่วางเครื่องไปเลยโดยที่ใช้อะไรไม่ได้อีก

และอีกสาเหตุที่ซัมซุงดีไซน์เครื่องฟอกอากาศรุ่นนี้ให้เป็นทรงลูกบาศก์ เพราะเราสามารถเอาเครื่องรุ่นนี้ 2 ตัวมาวางซ้อนกันเป็นทรงสูงเพื่อให้ได้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยกินพื้นที่เท่าเดิม แถมสายไฟก็ต่อเข้าที่เครื่องเดียว เพราะอีกเครื่องจะดึงไฟจากเครื่องหลักไปใช้ ทำให้เรื่องสายก็ไม่รกครับ

จุดเด่นสะดุดตาอีกอย่างของ Samsung Cube AX9500 คือที่แผงระบายลมที่เป็นรูเล็กๆ ด้านหน้านั้นจะมีการแสดงไฟสีและตัวเลขเพื่อแสดงคุณภาพอากาศภายในห้องครับ ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าตอนนี้อากาศในห้องเราแย่แค่ไหน ถ้าขึ้นเป็นไฟสีแดง ๆ ก็คืออากาศแย่มาก ต้องฟอกด่วน ถ้าเป็นสีเหลืองคืออากาศแย่, สีเขียวคือดี และสีน้ำเงินคืออากาศดีมากครับ และตัวเลขที่แสดงหน้าเครื่องนั้นก็จะโชว์ความหนาแน่นของฝุ่นที่อยู่ในอากาศโดยหน่วยเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรครับ โดยจะแสดงหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ระหว่าง PM1.0, PM2.5, PM10 และระดับของก๊าซภายในห้องครับ ซึ่งตัวเลขนี้ก็จะวัดมาจากอุปกรณ์ตรวจคุณภาพอากาศที่ติดตั้งอยู่ข้างเครื่อง

การแสดงสภาพอากาศภายในห้องของ Samsung Cube AX9500 และปุ่มสัมผัสด้านบนเครื่อง
การแสดงสภาพอากาศภายในห้องของ Samsung Cube AX9500 และปุ่มสัมผัสด้านบนเครื่อง

แต่เท่าที่เราใช้เครื่องนี้มาพักหนึ่ง รู้สึกได้ว่าเซนเซอร์ตรวจคุณภาพอากาศรุ่นนี้นั้นค่อนข้างไวกว่าเซนเซอร์อื่น ๆ คือเราสังเกตว่า Samsung Cube AX9500 วัดฝุ่นในอากาศได้สูงกว่าราว 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับเครื่องฟอกอากาศอีกเครื่องและอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศอีกตัวเสมอ (ซึ่งอุปกรณ์ 2 ตัวหลังนี้จะวัดคุณภาพอากาศออกมาในระดับใกล้กัน) ก็เอาเป็นว่าถ้าใช้เครื่อง Cube นี้ฟอกอากาศในห้องแล้ว ขึ้นไฟสีแดง ๆ ตลอด ก็อย่าพึ่งตกใจครับ ลองหาอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นในอากาศอื่นๆ มาตรวจเทียบอีกที มันอาจจะไม่น่าตื่นเต้นขนาดนั้นก็ได้

ปุ่มควบคุมของ Samsung Cube AX9500 นั้นเป็นแบบสัมผัสอยู่ขอบด้านหน้าเครื่องครับ ก็ดีไซน์ให้กดง่ายสำหรับเครื่องที่ต้องวางอยู่กับพื้น ก็มีปุ่มควบคุมครบถ้วนทั้งเปิด-ปิดเครื่อง, เลือกระดับความเร็วพัดลม, เลือกโหมด Sleep, ล็อกเครื่องเพื่อป้องกันเด็กมาเล่น รวมถึงไฟแสดงการเชื่อมต่อ Wifi และไฟเตือนให้เปลี่ยนฟิลเตอร์ก็จะแสดงอยู่ตรงนี้ด้วย ซึ่งก็เข้าใจได้ไม่ยากครับ เพียงแต่ว่าถ้าในงานในเวลากลางคืนอาจจะกดยากนิดหนึ่งเพราะแต่ละปุ่มไม่มีไฟให้รู้เลยว่าคืออะไรบ้าง ก็ต้องคอยจำตำแหน่งเอานะครับ

เมื่อเทียบค่า PM2.5 ที่วัดได้จากตัว Samsung Cube กับเครื่องวัดภายนอก จะแตกต่างกันพอสมควร
เมื่อเทียบค่า PM2.5 ที่วัดได้จากตัว Samsung Cube กับเครื่องวัดภายนอก จะแตกต่างกันพอสมควร

ส่วนระบบพลังงานของ Samsung Cube AX9500 นั้นจะเป็นหม้อแปลงไฟตัวเล็ก ๆ เพื่อเสียบกับไฟบ้าน ส่วนหัวเชื่อมต่อไฟฟ้าเข้าสู่ตัวเครื่องนั้นดีไซน์เป็นแผ่นแบน ๆ ให้เสียบเข้าที่ฐานเครื่อง ซึ่งดีไซน์แบบนี้ก็ทำให้การต่อไฟนั้นแน่นหนาดี ขั้วต่อไม่หลุดง่าย ๆ ตามข้อมูลบอกว่าเครื่องฟอกอากาศรุ่นนี้กินไฟสูงสุด 35 Watt ครับ

การทำงานของ Samsung Cube AX9500

การฟอกอากาศของ Samsung Cube AX9500 นั้นจะดูดอากาศจากด้านหลังเครื่องมาปล่อยออกด้านหน้าครับ ไม่ได้ดูดอากาศจากรอบทิศทาง 360 องศามาปล่อยออกเหมือนเครื่องหลาย ๆ รุ่น โดยสเปกระบุว่าเหมาะสำหรับห้องขนาดไม่เกิน 47 ตร.ม. หรือประมาณคอนโด 1 ห้องนอนแบบห้องใหญ่ๆ หน่อยครับ โดยมี CADR หรืออัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ 732 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง ซึ่งระบบฟิลเตอร์ของเครื่องฟอกอากาศรุ่นนี้จะมี 3 ชั้นคือ

ฟิลเตอร์ถ่านกัมมันต์ของ Samsung Cube AX9500
ฟิลเตอร์ถ่านกัมมันต์ของ Samsung Cube AX9500
  1. Pre-filter ฟิลเตอร์แบบหยาบที่สามารถถอดออกมาล้างน้ำได้ สำหรับกรองฝุ่นชิ้นใหญ่ ๆ
  2. ฟิลเตอร์ถ่านกัมมันต์ เพื่อกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ และก๊าซต่าง ๆ
  3. ฟิลเตอร์ HEPA อย่างหนาที่สามารถดักฝุ่นระดับ 0.3 ไมครอน (PM0.3) ได้ 99.97% ซึ่งถือว่ากรองได้ละเอียดดีมาก
  4. ที่น่าสังเกตคือเครื่องฟอกอากาศรุ่นนี้ไม่มีระบบฆ่าเชื้อโรคแบบ ion ที่เครื่องฟอกอากาศหลายรุ่นมีกันนะครับ (จริงๆ ซัมซุงก็มีเทคโนโลยีการสร้าง ion อยู่ แต่ไม่ได้ใส่มาในเครื่องนี้)
ฟิลเตอร์ Samsung Cube AX9500 ซ้อนกัน 3 ชั้นแบบนี้ ตัวที่หนาสุดคือ HEPA Filter
ฟิลเตอร์ Samsung Cube AX9500 ซ้อนกัน 3 ชั้นแบบนี้ ตัวที่หนาสุดคือ HEPA Filter

ก็เหมือนเครื่องฟอกอากาศทั่วไปนะครับที่ HEPA Filter กับชุดถ่านกรองกลิ่นนั้นไม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยตัวเองได้ เมื่อถึงกำหนดแล้วเครื่องจะเตือนให้เปลี่ยนฟิลเตอร์ ซึ่งดูราคาในเว็บซัมซุงแล้ว เข้าใจว่าฟิลเตอร์ 2 ตัวนี้ขายมาคู่กัน ราคา 2,990 บาทครับ ก็ใช้งานได้ประมาณ 1 ปี ถ้าเปิดเครื่องฟอกอากาศตลอดเวลา ก็ถือเป็นราคาที่สมเหตุสมผลอยู่สำหรับฟิลเตอร์ที่หนาขนาดนี้

ถ้าเราตั้งความเร็วพัดลมเครื่องเป็นอัตโนมัติ การทำงานของเครื่องจะสัมพันธ์กับคุณภาพอากาศภายในห้องที่เครื่องตรวจได้ครับ คือถ้าสภาพอากาศขึ้นเป็นสีแดง เครื่องก็จะทำงานหนักที่สุด พัดลมหมุนเร็วสุด และเสียงดังสุด เพื่อฟอกอากาศในห้องให้ไวที่สุด แต่ถ้าคุณภาพอากาศมาเป็นสีน้ำเงินแล้ว เครื่องจะทำงานในโหมด Wind-Free ที่ให้สายลมอ่อน ๆ ออกจากตัวเครื่อง ซึ่งโหมดนี้แทบไม่มีเสียงรบกวนเลย ส่วนถ้าต้องการใช้เครื่องเวลานอนหลับ ก็สามารถกดเข้าโหมด Sleep ได้ เครื่องก็จะทำงานในโหมด Wind-Free เพื่อให้เสียงเงียบที่สุด พร้อมปิดแสงไฟจากเครื่องให้มากที่สุด จะได้ไม่รบกวนเวลานอนครับ

การทำงานปกติของ Samsung Cube AX9500 ที่แผงด้านหน้าจะยื่นออกมา
การทำงานปกติของ Samsung Cube AX9500 ที่แผงด้านหน้าจะยื่นออกมา
ในโหมด Wind-Free และเวลาปิดเครื่อง แผงด้านหน้าของ Samsung Cube AX9500 จะเก็บเข้าไป
ในโหมด Wind-Free และเวลาปิดเครื่อง แผงด้านหน้าของ Samsung Cube AX9500 จะเก็บเข้าไป

ที่น่าสนใจคือแผงระบายลมด้านหน้าของเครื่องนั้นสามารถยืดหดได้ด้วยนะครับ คือถ้าทำงานในโหมด Wind-Free แผงนี้จะหุบเข้าไปในเครื่อง ส่วนถ้าพัดลมทำงานเร็วขึ้น แผงนี้จะยื่นออกมาเพื่อให้มีช่องสำหรับเป่าลมออกมามากขึ้น ก็เป็นการออกแบบที่น่าสนใจ และดูล้ำมากเมื่อแผงนี้ยืดเข้ายืดออก เมื่อเครื่องฟอกอากาศทำงานในโหมดความเร็วสูงสุดก็สามารถจัดการกับฝุ่นในห้องได้รวดเร็วครับ

การใช้งาน Samsung Cube AX9500 แบบต่อกัน 2 เครื่อง
การใช้งาน Samsung Cube AX9500 แบบต่อกัน 2 เครื่อง

ส่วนการทำงานแบบเอา Samsung Cube 2 เครื่องมาต่อกันเป็นทาวเวอร์นั้นก็ใช้ง่ายมาก แค่หมุนแป้นกลมๆ บนเจ้า Cube เครื่องล่างให้กลายเป็นขั้วต่อ แล้ววาง Cube เครื่องบนให้พอดีกับขั้วต่อนี้ เราก็จะควบคุม 2 เครื่องนี้พร้อมกันเหมือนเป็นเครื่องเดียว สายไฟก็ต่อเข้าที่เครื่องล่างเครื่องเดียว แถมยังสามารถหมุนเครื่องบนไปในองศาอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งเราลองใช้งานแล้วพบว่ามันฟอกอากาศได้เร็วกว่าการใช้งานเครื่องเดียวมาก ๆ ก็ทำให้ฟอกอากาศในห้องที่ใหญ่ขึ้นได้ดีขึ้นด้วย แต่การทำงานรูปแบบนี้เราต่อได้แค่ 2 เครื่องซ้อนกันนะครับ เอาไปซ้อนเป็น 3 เครื่องนี้ทำไม่ได้นะ

Samsung Cube AX9500 สั่งงานไร้สายได้ผ่านแอป SmartThings

การทำงานของ Samsung Cube AX9500 กับแอป SmartThings
การทำงานของ Samsung Cube AX9500 กับแอป SmartThings

หนึ่งในจุดเด่นของเครื่องใช้ไฟฟ้าจากซัมซุงคือมันรองรับการสั่งงานแบบอุปกรณ์ IoT ผ่านแอป SmartThings ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้ง iOS และ Android ด้วยความที่ซัมซุงนั้นทำทั้งมือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ทำให้มีความชำนาญทั้ง 2 ด้านนี้ แอป SmartThings เลยออกมาดี ใช้ง่าย รวดเร็ว เมื่อเทียบกับแอปแบบนี้จากแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ซึ่งการเชื่อมต่อเครื่องฟอกอากาศเข้ากับแอป SmartThings นั้นก็ทำได้ไม่ยาก แค่เสียบปลั้กเครื่อง แล้วเปิดแอป SmartThings ในมือถือ ลงทะเบียนผู้ใช้ให้เรียบร้อย แล้วเพิ่มอุปกรณ์โดยไปนั่งอยู่ใกล้ๆ เครื่องฟอกอากาศ ทำตามขั้นตอนที่จอบอกไปเรื่อย ๆ ก็ใช้งานได้แล้ว

จากแอป SmartThings เราสามารถควบคุมการเปิด-ปิดเครื่อง, ตั้งเวลาเปิด-ปิดเครื่องอัตโนมัติในวันต่าง ๆ, ดูคุณภาพอากาศภายในห้อง, ปรับความเร็วพัดลม, ดูคุณภาพของฟิลเตอร์ ซึ่งเราสามารถสั่งงานพวกนี้จากที่ไหนก็ได้ในโลก ขอแค่มีอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังสามารถสร้างเป็นระบบ Automation เพื่อกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เช่นเมื่อผู้ใช้เดินเข้าบ้าน ให้เครื่องเปิดเอง หรือถ้าเราใช้อุปกรณ์ที่รองรับแอป SmartThings หลายตัวก็สามารถกำหนดเป็นเงื่อนไขได้ เช่นถ้าประตูบานนี้เปิด ให้เครื่องฟอกอากาศทำงาน พร้อมๆ กับทีวีที่เปิดอัตโนมัติ ก็สามารถกำหนดเป็นรูปแบบการสั่งงานที่ซับซ้อนมากขึ้นได้เช่นกัน และแน่นอนว่ามันสามารถสั่งงานผ่าน Bixby ของซัมซุงได้ด้วย

ด้านหลังของ Samsung Cube AX9500 เมื่อเอาฟิลเตอร์ออกทั้งหมด
ด้านหลังของ Samsung Cube AX9500 เมื่อเอาฟิลเตอร์ออกทั้งหมด

ส่วนความสามารถที่ขาดไป เราคิดว่าน่าจะดูคุณภาพอากาศในห้องย้อนหลังเป็นกราฟได้ผ่านแอปนะครับ ตอนนี้ดูได้แค่คุณภาพอากาศในปัจจุบันเท่านั้นเอง

สรุป Samsung Cube AX9500 คุ้มค่าหรือไม่

ด้านข้างของ Samsung Cube AX9500 จะมีเซนเซอร์ตรวจฝุ่นและก๊าซอยู่
ด้านข้างของ Samsung Cube AX9500 จะมีเซนเซอร์ตรวจฝุ่นและก๊าซอยู่

ค่าตัวของ Samsung Cube AX9500 นั้นเปิดตัวมาที่ 28,900 บาท แต่ปัจจุบันก็สามารถหาได้ในราคาราว 24,990 บาทหรือถูกกว่านั้น ก็ถือว่าเป็นเครื่องฟอกอากาศในกลุ่มพรีเมียมเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อนับประสิทธิภาพ การเชื่อมต่อแบบ IoT รวมถึงดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร ก็ถือว่าโอเคกับราคาอยู่นะครับ แล้วเมื่อเทียบกับเครื่องที่ราคาใกล้เคียงกัน ความสามารถก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก แล้วแต่ว่าผู้ซื้อแต่ละคนจะมองเครื่องฟอกอากาศในแง่มุมไหนบ้าง เช่นถ้าเทียบในแง่ขนาดห้องที่เหมาะสม เจ้า AX9500 อาจจะให้ตัวเลขได้น้อย เพราะเหมาะสำหรับห้องกว้างไม่เกิน 47 ตร.ม. แต่ด้วยค่า CADR ที่สูงถึง 732 ลบ.ม.ต่อชั่วโมงก็ทำให้จัดการกับอากาศในห้องได้รวดเร็วครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส