Our score
8.9Ricoh GW-4 และ GA-1
จุดเด่น
- ใส่แล้วคุณภาพภาพที่ได้จาก Ricoh GRIII แทบไม่ตก เปิด f/2.8 ภาพยังคมอยู่
- มุมภาพ 21 mm ถ่ายอะไรๆ ก็สนุกขึ้นอีกเยอะเลย
- ใส่ง่าย ถอดออกง่าย ดันสลักที่กระบอก GA-1 ทีเดียวแล้วหมุนได้เลย
- ใส่แล้วกล้องรับรู้ว่าใส่เลนส์เสริมอยู่ เขียนระบุใน Exif ถูกต้องว่าเป็นเลนส์มุมกว้างมาก
- คุณภาพเลนส์เสริมคุ้มราคา
จุดสังเกต
- น้ำหนักเลนส์ GW-4 เท่าตัวกล้อง GRIII เลย เวลาใส่กับกล้องแล้วน้ำหนักเทไปด้านหน้ามาก
- ต้องทำใจว่าสวมเลนส์เสริมแล้วจะเสียจุดเด่นเรื่องการพกพาของ GRIII ไป
- ภาพที่ได้มีความโค้งป่องนิดหน่อย
- ที่ฝาเลนส์น่าจะเขียนบอกแบรนด์ Ricoh หรือ GR มันจะเสริมหล่อได้กว่านี้นะ
-
คุณภาพงานสร้าง
8.5
-
คุณภาพเลนส์
9.5
-
ความสะดวกในการใช้
8.5
-
ความคุ้มค่า
9.0
แบไต๋เราเคยรีวิว Ricoh GRIII สุดยอดกล้อง Compact ที่ให้คุณภาพภาพสู้กล้องใหญ่ได้สบายๆ ในขนาดตัวที่พกใส่กระเป๋าได้ ซึ่งธรรมเนียมของ Ricoh GR คือตัวกล้องจะติดตั้งเลนส์ Prime ที่ระยะเทียบเท่า 28 mm ของกล้องฟิล์มไว้ ระยะนี้ก็เป็นระยะเดียวกับกล้องในสมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ ก็ให้ภาพที่กว้างกำลังดี ถ่ายง่าย และสำหรับคนที่คิดว่าเลนส์ 28 mm. นั้นกว้างไม่พอ ก็จะมีเลนส์เสริมหรือ Wide Converter อีกชุดสำหรับสวมเข้าหน้ากล้องให้มีทางยาวโฟกัสเทียบกับ 21 mm. หรือขยายออกไปอีก 0.75x ซึ่งสำหรับ Ricoh GRIII เจ้า Wide Converter ที่ว่านี้มีรหัสว่า GW-4 ครับ ที่เราจะรีวิวให้ดูกันในวันนี้ว่าคุ้มไหมที่จะซื้อ!
การออกแบบของ Ricoh GW-4
Wide Converter ชุดนี้ออกแบบมาเฉพาะสำหรับ Ricoh GRIII นะครับ ไม่สามารถใช้กับ GR ตัวแรกหรือ GRII ได้เพราะโครงสร้างเลนส์ไม่เหมือนกัน และในทางกลับกัน ถ้าใครมีเลนส์ GW-3 ที่ใช้กับ GR รุ่นก่อน ๆ ก็ไม่สามารถเอามาใช้กับกล้อง GR รุ่นที่ 3 ได้เช่นกัน โดยตัว GW-4 มีโครงสร้างเป็นโลหะแข็งแรงเพื่อยึดเลนส์เดี่ยวขนาดใหญ่อย่างมั่นคงครับ
วิธีติดตั้งเลนส์ชุดนี้เข้ากับ GRIII เราจะต้องมีอแดปเตอร์ GA-1 ก่อนนะครับ (ซึ่งท่อแปลงโครงสร้างพลาสติกแข็งแรงนี้เราต้องซื้อแยกนะ แต่ถ้าหาร้านที่แถมมาให้พร้อม GW-4 ได้จะดีมาก) โดยหมุนเกลียวของเลนส์เสริมเข้ากับท่อแปลง ตรงนี้เป็นเกลียวถี่ ๆ ต้องหมุนหลายรอบหน่อย แล้วค่อยหมุนท่อแปลงติดเข้าไปกับกล้อง ซึ่งสลักตรงนี้หมุนนิดเดียวก็ล็อกกับกล้องได้แล้ว ทำให้เวลาใช้จริงเราเลยจะติด GW-4 อยู่กับ GA-1 เสมอ แล้วยกทั้งชิ้นนี้เข้ามาสวมกับกล้องได้ง่ายครับ
ในชุดของ GW-4 นั้นมาพร้อมฮูดยาง 1 ตัวไว้ปังแสงและฝาปิดเลนส์ขนาด 72 mm. เท่าหน้าเลนส์ ซึ่งเราเสียดายนิดหน่อยที่ฝาปิดเลนส์ตัวนี้ไม่ได้สกรีนข้อความใด ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็น Ricoh หรือ GR ที่ถ้ามีจะหล่อขึ้นอีกเยอะ แล้วก็มีถุงผ้าสำหรับพกเลนส์ติดมาให้ด้วยครับ
จุดสังเกตของชุดเลนส์เสริมนี้คือน้ำหนักครับ โดยตัว GW-4 นั้นหนัก 241 กรัมกับท่อแปลง GA-1 หนัก 11 กรัม รวมแล้วน้ำหนักเป็น 252 กรัมนะครับ ซึ่งหนักพอ ๆ กับ Ricoh GRIII ที่มีน้ำหนัก 257 กรัมเลย เวลาพกเลนส์เสริมตัวนี้ไปด้วยเลยเหมือนพก GRIII 2 ตัว แล้วเวลาติดตั้งเข้ากับกล้องก็จะทำให้น้ำหนักกล้องเทไปด้านหน้ามาก ถ้าใช้ Ricoh GRIII ถ่ายวิดีโอ ก็จะคุมกล้องให้นิ่งยากขึ้นหน่อยครับ ซึ่งก็เป็นจุดสังเกตใหญ่ที่สุดของ Ricoh GW-4 แล้วครับ
การใช้งาน Ricoh GW-4
การใช้งาน Wide Converter ตัวนี้ง่ายมากครับ ถ้าเรารวม GW-4 กับ GA-1 เป็นชิ้นเดียวกันแล้ว ก็แค่หมุนแก๊กเข้ากับกล้อง Ricoh GRIII ก็เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องปิดกล้องก็สามารถใส่เลนส์ได้ ทำให้เวลาถ่ายจริงเราสามารถสลับระหว่างช่วง 21 mm. กับ 28 mm. ได้ง่าย ๆ แค่หมุนเลนส์เข้าออก
ที่น่าสังเกตคือในตัวท่อแปลง GA-1 นั้นมีเซนเซอร์ตัวเล็ก ๆ ติดตั้งอยู่ ทำให้กล้องรู้ว่าเรากำลังถ่ายรูปผ่าน Wide Converter ครับ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าส่งผลต่อการปรับคุณภาพรูปให้ดีขึ้นไหม แต่ที่แน่ ๆ ข้อมูลใน Exif จะบันทึกว่าถ่ายด้วยความยาวโฟกัส 13.8 mm. (13.8 x 1.5 เท่า = 20.7 หรือประมาณ 21 mm.) แทนที่จะเป็น 18.3 mm. (18.3 x 1.5 เท่า = 27.5 หรือประมาณ 28 mm.) เหมือนเวลาถ่ายปกติ ก็ทำให้เราแยกรูปภายหลังได้ว่าถ่ายด้วยกล้องปกติหรือถ่ายผ่าน Wide Converter มา
คุณภาพภาพจาก Ricoh GW-4
จากภาพตัวอย่างจะเห็นได้ว่าระยะที่ลดลงมาเป็น 21 mm. ก็ทำให้ได้ภาพมุมกว้างขึ้นอีกพอสมควรนะครับ ซึ่งหลังจากใช้ไปสักพักแล้วก็รู้สึกว่าระยะ 21 mm. นั้นถ่ายสนุกกว่า เพราะสามารถถ่ายห้องแคบ ๆ ได้ดูกว้างขึ้น ได้มุมภาพที่แปลกตากว่าเดิม แล้วพอชินกับระยะ 21 mm. จนไม่ได้รู้สึกว่ามันกว้างมากมายอะไร แต่พอกลับไปใช้ 28 mm. จะรู้สึกอึดอัดทันที เมื่อนั้นเจ้า GW-4 ก็จะกลายเป็นของติดกระเป๋าคู่กับ GRIII ครับ
มาดูความคมของภาพกันบ้างจากภาพต้นฉบับที่เราใช้ Ricoh GRIII พร้อม GW-4 เพื่อถ่ายที่ระยะ 21 mm. แล้วเปิดรูรับแสงกว้างสุดที่ f/2.8 เลย ซึ่งผลก็ออกมาตามรูปด้านล่างนี้ครับ จะเห็นว่ามีความคมดี แต่ก็มีความโค้งของภาพอยู่นิดหน่อย ถ้าใครไม่ชอบก็คงต้องใช้โปรแกรมแก้เอา
ที่นี้มาเจาะรายละเอียดส่วนต่างๆ ของภาพกันบ้าง ก็จะเห็นว่าขนาดเปิด f/2.8 ภาพคมมากอยู่ดี และขอบภาพก็ไม่ได้มืดลงจนสังเกตได้ ถือว่าเป็น Wide Converter ที่มีประสิทธิภาพดี ไม่ได้ทำให้คุณภาพเลนส์ของกล้องตกลง ก็ยังใช้รูรับแสงกว้างสุดที่ f/2.8 ได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องความคม หรือคุณภาพภาพเลย
ภาพตัวอย่างจาก Ricoh GRIII + GW-4
ก็จะเห็นว่า GW-4 ไม่ได้ลดทอนสีสันหรือเสน่ห์ของภาพจาก Ricoh GRIII ลงไปเลย ภาพที่ไล่โทนต่อเนื่อง ภาพสีสันสดใส หรือภาพขาว-ดำโทนเข้มสะใจ แม้ว่าจะถ่ายที่มุมกว้าง 21 mm. ก็ยังได้ลักษณะแบบนั้นอยู่ เพิ่มเติมคือมุมภาพที่กว้างขึ้นก็ทำให้เก็บอะไร ๆ ได้เยอะขึ้นครับ
ซึ่ง Ricoh GW-4 Wide Converter นั้นมีราคา 9,000 บาท ส่วนท่อต่อ Ricoh GA-1 นั้นมีราคา 1,000 บาทนะครับ แต่บางร้านก็ขาย 2 อย่างนี้รวมกัน 9,000 บาท ก็ลองซื้อมาใช้ดูครับ ใช้แล้วจะติดใจจนรู้สึกแปลกๆ เมื่อถ่าย 28 mm. เหมือนเดิม
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส