รีวิว Linksys Velop MX5 AX5300 ระบบ Mesh Wifi ตัวท็อป รองรับ Wi-Fi 6 เทสต์จริงในออฟฟิศ #beartai
Our score
8.1

Linksys Velop MX5 AX5300

จุดเด่น

  1. ให้ประสิทธิภาพการเชื่อมต่อที่ดี Wi-Fi 6 ทำงานได้รวดเร็ว สามารถเชื่อมต่อได้ความเร็วใกล้เคียง Gigabit LAN, ทำ Mesh Wi-Fi ไร้สายได้ หรือจะต่อผ่านสายแลนก็ได้
  2. เซ็ตอัปและควบคุมการทำงานผ่านแอปที่ใช้ง่าย คนทั่วไปก็เข้าใจง่าย
  3. มีพอร์ต Gigabit LAN ให้ 4 พอร์ต Gigabit WAN อีก 1 พอร์ต และ USB 3.0
  4. มีฟีเจอร์ที่จำเป็นครบ เช่นการบล็อกเว็บ, กำหนดเวลาใช้งาน, จัดลำดับความสำคัญอุปกรณ์
  5. ประกัน 3 ปี

จุดสังเกต

  1. ราคาสูง
  2. การเซ็ตระบบใหญ่ ตั้ง Velop หลายๆ ต้นต้องใช้เวลานาน เพราะต้องเซ็ตทีละเสา ขนาดตัวเครื่องดูใหญ่เทอะทะ
  3. ความสามารถด้านซอฟต์แวร์ยังพัฒนาให้เก่งขึ้นได้อีก
  4. พอร์ต USB อยู่บนสุด ทำให้เสียบอุปกรณ์บางตัวยาก
  • การออกแบบตัวเครื่อง

    8.0

  • ประสิทธิภาพของระบบไร้สาย

    9.0

  • ความสามารถของระบบปฏิบัติการ

    8.0

  • ความง่ายในการใช้งาน

    8.5

  • ความคุ้มค่า

    7.0

ปี 2020 นี้ถือว่าเป็นปีที่เริ่มต้นยุค Wi-Fi 6 หรือมาตรฐาน 802.11ax สำหรับคนทั่วไปอย่างเป็นทางการนะครับ เพราะเริ่มมีอุปกรณ์รองรับมากขึ้นทั้งฝั่งอุปกรณ์สำหรับผู้ใช้ ที่โน้ตบุ๊กหรือสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ๆ ก็รองรับ Wi-Fi 6 กันแล้ว พร้อมๆ กับที่เราเตอร์รุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มรองรับ Wi-Fi 6 กันมากขึ้นด้วย แน่นอนว่าสำหรับ Linksys Velop ผลิตภัณฑ์ Mesh Wifi ชื่อดังก็ออกรุ่นใหม่ที่รองรับเทคโนโลยีไร้สายล่าสุดนี้เช่นกันคือ Linksys Velop MX5 AX5300 ครับ ซึ่งสามารถอัปเกรดเครือข่าย Mesh Wi-Fi ของ Linksys Velop เดิมที่เราติดตั้งไว้ที่บ้านอยู่แล้วให้รองรับ Wi-Fi 6 ได้ทันที หรือจะซื้อ Velop MX5 ไปเดี่ยวๆ เพื่อให้ใช้ Wi-Fi 6 ก็ได้เหมือนกันครับ

หมายเหตุ: Linksys Velop MX5 กับ Linksys Velop MX10 นั้นเป็นเสาไวไฟรุ่นเดียวกัน เป็น AX5300 เหมือนกัน แต่ต่างกันที่ MX5 จะขายเสาต้นเดียว ส่วน MX10 จะแพ็กขายเสา 2 ต้นพร้อมกันครับ

ดีไซน์ของ Linksys Velop MX5 AX5300

ซ้ายคือ Linksys Velop Tri-Band ส่วนขวาคือ Velop MX5 AX5300 ซึ่งขนาดใหญ่กว่ากันมาก
ซ้ายคือ Linksys Velop Tri-Band ส่วนขวาคือ Velop MX5 AX5300 ซึ่งขนาดใหญ่กว่ากันมาก

Linksys Velop MX5 AX5300 ก็ยังคงดีไซน์เป็นกล่องสี่เหลี่ยมทรงสูงเหมือน Velop รุ่นก่อนๆ นะครับ เพียงแต่ว่าขนาดจะใหญ่ขึ้นมากเพราะมีเสาอากาศภายในเยอะกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งดีไซน์นี้ก็เรียบพอที่จะวางไว้ในบ้านแบบเนียนๆ ครับ (จะสะดุดตาหน่อยก็ตรงกล่องมันใหญ่เหลือเกิน)

เอกลักษณ์ของ Velop คือจะมีไฟดวงเล็กๆ อยู่ด้านบนครับ ซึ่งไฟดวงนี้จะรายงานสถานะทุกอย่างเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและตัว Velop เช่นถ้าเป็นไฟสีฟ้าคือทำงานปกติ, ไฟสีม่วงบานเย็นเป็นสถานะเซ็ตอัป ส่วนสีแดงคืออินเทอร์เน็ตมีปัญหาครับ เพราะฉะนั้นถ้าใช้ๆ Velop ไปแล้วรู้สึกว่าอินเทอร์เน็ตแปลกๆ ก็ต้องเดินมาดูไฟสถานะตัวนี้ก่อน แล้วเอาไปเทียบกับคู่มือว่าไฟสีนี้ ลักษณะการกระพริบแบบนี้ หมายความว่ายังไงครับ

พอร์ตแลนด้านหลังของ Linksys Velop MX5 นั้นมีมาให้เยอะมาก และมีพอร์ต USB 3.0 ด้วย พร้อมอแดปเตอร์จ่ายไฟแบบใหม่
พอร์ตแลนด้านหลังของ Linksys Velop MX5 นั้นมีมาให้เยอะมาก และมีพอร์ต USB 3.0 ด้วย พร้อมอแดปเตอร์จ่ายไฟแบบใหม่

อีกส่วนที่ Linksys Velop MX5 AX5300 อัปเกรดไปเยอะจากรุ่นเดิมคือพอร์ตการเชื่อมต่อครับ จาก Velop ชุดเดิมจะมีแค่ Gigabit LAN 2 พอร์ตสำหรับเสียบข้อมูลเข้า-ออกเท่านั้น แต่สำหรับรุ่นใหม่จะมี Gigabit WAN ให้ 1 พอร์ต และมี Gigabit LAN ให้อีก 4 พอร์ต ซึ่งออฟฟิศแบไต๋เราก็อัปเกรดจาก Velop รุ่นเดิมมาเป็น Velop MX5 ก็ทำให้เราไม่ต้องใช้ Switch สำหรับการกระจายสัญญาณผ่าน LAN ไปยังชั้นอื่นๆ แล้ว เพราะใน MX5 สามารถเสียบสายทั้งหมดของเราได้ในตัวเดียว แถมรุ่นใหม่นี้ยังมีพอร์ต USB 3.0 ให้เสียบไดรฟ์ภายนอกเข้าไปแชร์ในเครือข่ายได้ด้วย

และจุดสุดท้ายที่เปลี่ยนไปคือสายไฟและอแดปเตอร์ครับ แน่นอนว่าเครื่องใหญ่ขึ้นขนาดนี้อแดปเตอร์ไฟก็ต้องตัวใหญ่ขึ้น และเปลี่ยนดีไซน์จากที่เป็นแบบตัวกล่องอแดปเตอร์เสียบเข้าไปปลั้กไฟเลย เป็นกล่องอแดปเตอร์อยู่ตรงกลางระหว่างสายไฟแทนครับ

สเปกของ Linksys Velop MX5 AX5300

ด้านใต้ของ Linksys Velop MX5 จะเป็นสวิทซ์เปิด-ปิด ปุ่มรีเซ็ต ปุ่มต่อ WPS
ด้านใต้ของ Linksys Velop MX5 จะเป็นสวิทซ์เปิด-ปิด ปุ่มรีเซ็ต ปุ่มต่อ WPS

สเปกอย่างละเอียดของ Linksys Velop MX5 AX5300 เป็นดังนี้ครับ

  • รองรับมาตรฐาน 802.11ax (Wi-Fi 6), 802.11ac (Wi-Fi 5), 802.11n (Wi-Fi 4), 802.11a, 802.11b, 802.11g
  • รองรับเครือข่าย Mesh Wi-Fi ของ Linksys Velop สามารถซื้อ Velop รุ่นอื่นๆ มาเสริมเพื่อเพิ่มพื้นที่ครอบคลุมของสัญญาณได้
  • รองรับการส่งสัญญาณ Wi-Fi 3 คลื่นพร้อมกัน (Tri-Band Wifi AX5300)
    • 2.4 GHz: 1147 Mb/s
    • 5 GHz ชุดแรก : 2402 Mb/s
    • 5 GHz ชุดที่สอง : 1733 Mb/s
  • รองรับมาตรฐาน 4×4 MU-MIMO ทำให้สามารถส่งข้อมูลให้อุปกรณ์ที่รองรับพร้อมกันหลายตัว
  • รองรับเทคโนโลยี Next-Gen OFDMA (Orthogonal Frequency-Division Multiple Access)
  • รองรับการเข้ารหัสสัญญาณแบบ WPA2 และ WPA3
  • เสาอากาศภายใน 13 ต้น
  • หน่วยประมวลผล 2.2 GHz Quad-Core
  • RAM 1 GB
  • หน่วยความจำ 512 MB
  • พอร์ตเชื่อมต่อ
    • Gigabit LAN 4 พอร์ต
    • Gigabit WAN 1 พอร์ต
    • USB 3.0 1 พอร์ต
  • น้ำหนัก 1.58 กก.

การใช้งาน Linksys Velop MX5 AX5300

การใช้งาน Velop MX5 ต้องทำผ่านแอป Linksys ในสมาร์ตโฟนเป็นหลัก
การใช้งาน Velop MX5 ต้องทำผ่านแอป Linksys ในสมาร์ตโฟนเป็นหลัก

ตามสไตล์ของเราเตอร์ไวไฟยุคใหม่นะครับ ที่สามารถเซ็ตอัปผ่านแอปในมือถือได้เลย ซึ่งสำหรับ Linksys Velop ทุกรุ่นก็สามารถดาวน์โหลดแอป Linksys ทั้งใน App Store และ Play Store มา Setup ได้เช่นกัน ซึ่งขั้นตอนการเซ็ตอัปนั้นก็ทำไม่ยากครับ แค่สร้างบัญชีกับ Linksys ให้เรียบร้อยในแอป แล้วก็ดูไฟสถานะด้านบนของ Linksys Velop MX5 และทำตามที่แอปบอกไปเรื่อยๆ ตั้งชื่อ Wifi ตั้งรหัสผ่าน ตั้งชื่อเสา แล้วก็รอสักพักก็เรียบร้อยแล้ว

แม้ว่าการเซ็ตอัป Linksys Velop นั้นทำได้ไม่ยาก แต่การเซ็ตเป็นวง Mesh Wifi ที่วางเสาหลายๆ ต้นก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยนะครับ อย่างที่ออฟฟิศ #beartai ใช้ Linksys Velop 6 ต้นวางกระจายสัญญาณให้ทั่วถึงทุกชั้น การเซ็ตอัปจะต้องทำเป็นลูปตามนี้

  1. เสียบปลั้ก Velop ทีละตัว แล้วรอจะไฟขึ้นสถานะพร้อมเซ็ตอัป
  2. เปิดแอปมาเซ็ตอัปจนเสร็จ
  3. ใช้เวลาต่อ 1 ตัวประมาณ 30 นาที

เราไม่สามารถเสียบปลั้ก Velop ทุกตัวเพื่อเซ็ตอัปพร้อมๆ กันได้ ต้องทำทีละตัวเท่านั้น ก็ถ้ามี 6 ตัวก็ต้องใช้เวลาคูณ 6 เข้าไป อย่างของแบไต๋ก็ใช้เวลาทำอยู่ 2-3 ชั่วโมงครับ ดีที่ไม่ต้องใช้เวลาทำกันบ่อยๆ ทำแค่ครั้งแรกครั้งเดียว

Linksys Velop แต่ละต้นสามารถเชื่อมต่อผ่านสาย LAN ได้

Linksys Velop MX5 มีพอร์ต LAN 4 พอร์ต และพอร์ต WAN 1 พอร์ต ที่แบไต๋เราก็ใช้จนครบ แต่เสียดายที่พอร์ต USB 3.0 นั้นอยู่สูงไป เสียบฮาร์ดดิสก์ลำบาก
Linksys Velop MX5 มีพอร์ต LAN 4 พอร์ต และพอร์ต WAN 1 พอร์ต ที่แบไต๋เราก็ใช้จนครบ แต่เสียดายที่พอร์ต USB 3.0 นั้นอยู่สูงไป เสียบฮาร์ดดิสก์ลำบาก

แม้ว่า Linksys Velop จะเป็น Mesh Wi-Fi ที่สามารถกระจายสัญญาณเพื่อให้ Velop ต้นอื่นๆ เอาไปทวนสัญญาณซ้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้นในแบบไร้สาย และ Velop ที่เป็นรุ่น Tri-Band (อย่าง MX5 ที่รีวิววันนี้ หรือรุ่น AC2200 ตัวเดิม) ก็สามารถใช้คลื่น 5 GHz อีกชุดเพื่อรับ-ส่งสัญญาณระหว่างเสาได้ ทำให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เอาเข้าจริงการทวนสัญญาณไร้สายก็ทำให้ความเร็วตกอยู่ดีครับ ส่วนจะตกมาก ตกน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเราวาง Velop ตัวลูกอยู่ห่างจากตัวแม่แค่ไหน แล้วระหว่างทางมีวัตถุกั้นสัญญาณ Wi-Fi แค่ไหน เช่นระหว่างชั้น ระหว่างห้องมีกระจกกั้น อันนี้ก็จะทำให้ความเร็วตกลงได้ ซึ่งถ้าอยากได้ความเร็วเต็มเม็ดเต็มหน่วย เราสามารถเชื่อม Velop แต่ละต้น (หรือแต่ละ Node) ด้วยสาย Gigabit LAN ได้ครับ

วิธีการเซ็ตคือหลังจากเราติดตั้ง Velop ตัวแม่เสร็จแล้ว เราก็กดในแอป Linksys สั่งเพิ่ม Velop ตัวลูก แล้วก็เซ็ตอัปแบบไร้สายให้เรียบร้อยก่อนครับ ห้ามเสียบสายแลนที่ตัวลูกระหว่างเซ็ตอัป หลังจาก Velop ตัวลูกทำงานแบบไร้สายแล้ว ค่อยเสียบสายแลนที่ลากตรงจากตัวแม่มา เท่านี้ Velop ก็จะคุยกันผ่านสายแลนแล้ว ได้ความเร็วเต็ม Gigabit ส่วนถ้าจะเพิ่ม Node เข้าไปอีก ทำเหมือนเดิม เซ็ตอัปแบบไร้สายให้เสร็จก่อน แล้วลากสายแลนจาก Velop ตัวลูกที่ใกล้ที่สุด มาที่ Velop ตัวใหม่ ก็เรียบร้อยครับ

ถ้าไม่อยากตั้งค่าผ่านแอป ก็ทำผ่านคอมพิวเตอร์ได้

สำหรับคนที่ต้องเซ็ตเราเตอร์เยอะๆ เช่นจัดการ IP หรือการทำ Port Forward ต่างๆ แล้วไม่สะดวกนั่งทำผ่านแอปบนมือถือ Linksys Velop ก็สามารถเซ็ตผ่านคอมพิวเตอร์ได้เช่นกันครับ แค่พิมพ์ IP ของ Linksys Velop ตัวแม่ในเบราว์เซอร์ (เช่น 192.161.1.1 หรืออื่นๆ ที่ดูได้จากในแอปว่าตั้ง IP วงอะไรไว้) แล้วก็ล็อกอินด้วยบัญชีของ Linksys ก็จะเข้าหน้าเว็บเพื่อตั้งค่า Velop ได้ทั้งหมดเหมือนในแอปครับ

ประสิทธิภาพของ Linksys Velop MX5 AX5300

มาถึงเรื่องใหญ่อย่างประสิทธิภาพของ Linksys Velop MX5 AX5300 ว่าจะแรงสมเป็น Wi-Fi 6 รุ่นท็อป (ในกลุ่ม Mesh Wi-Fi) ไหม เราทดสอบผ่านเครื่อง Asus ExpertBook B9450F ที่ใช้ชิป Intel Wi-Fi 6 AX201 ครับ ซึ่ง Windows 10 ก็รายงานว่าเชื่อมต่อด้วยมาตรฐาน Wi-Fi 6 เรียบร้อยดีบนคลื่น 5 GHz ครับ โดยการทดสอบของเรานั้นจะใช้โปรแกรม CrystalDiskMark 7 เพื่อทดสอบความเร็วในการอ่าน-เขียนข้อมูลผ่านเครือข่ายลงไปที่ Synology NAS รุ่น DS1817+ ที่เชื่อมต่อกับ Linksys Velop MX5 ผ่าน Gigabit LAN ครับ เพื่อให้ได้ความเร็วเครือข่ายภายในที่ไม่เกี่ยวกับบริการอินเทอร์เน็ตภายนอก ซึ่งผลการทดสอบในสถานการณ์ต่างๆ ออกมาดังนี้

Intel Wifi 6 AX

#1 เครื่องทดสอบอยู่ห่างจาก Linksys Velop MX5 5 เมตร ไม่มีอะไรกั้น เชื่อมต่อ W-Fi 6

ผลการทดสอบก็ออกมาอ่านเขียนแบบต่อเนื่อง ได้ความเร็วมากกว่า 100 MB/s หรือมากกว่า 800 mbps ทั้งคู่ครับ ซึ่งก็วิ่งไปเกือบสุดความเร็วสายแลน Gigabit แล้ว ถือว่า Wi-Fi 6 ของ Velop MX5 นั้นแรงใช้ได้ครับ

Linksys Velop Wi-Fi 6 Test NAS 5m

#2 เครื่องทดสอบอยู่ห่างจาก Linksys Velop MX5 5 เมตร ไม่มีอะไรกั้น แต่เชื่อมต่อแบบ Wi-Fi 5

ก็ชัดเจนว่าเครื่องทดสอบตั้งอยู่ตำแหน่งเดียวกัน แต่คราวนี้จับสัญญาณเป็นแค่ Wi-Fi 5 บนคลื่น 5 GHz ก็จะได้ความเร็วที่น้อยกว่าระดับหนึ่งเลย คืออ่าน-เขียนสูงสุดได้ราวๆ 80 MB/s หรือราวๆ 640 mbps

#3 เครื่องทดสอบอยู่ห่างจาก Linksys Velop MX5 15 เมตร มีกำแพงกั้น เชื่อมต่อ Wi-Fi 6

การทดสอบเมื่อเอาเครื่องเทสต์ออกห่างจากเสา Velop MX5 แบบใช้งานข้ามห้องในออฟฟิศ โดยผนังเป็นกำแพงไม้ ไม่ใช่ผนังปูน ความเร็วที่ได้นั้นตกลงไปพอสมควรครับ เหลือราวๆ 60 MB/s หรือ 480 mbps เท่านั้นเอง

Linksys Velop Wi-Fi 6 Test NAS 15 m 1 wall

#4 เครื่องทดสอบอยู่ห่างจาก Linksys Velop MX5 15 เมตร ไม่มีอะไรกั้น เชื่อมต่อ Wi-Fi 6

พอเป็นระยะเดียวกับการทดสอบครั้งที่ 3 แต่ไม่มีอะไรมากั้น ก็กลับมาทำความเร็วได้ดีเหมือนเดิมครับ อ่านได้สูงสุด 92 MB/s หรือ 736 mbps ส่วนเขียนทำได้สูงสุด 70 MB/s หรือ 560 mbps

Linksys Velop Wi-Fi 6 Test NAS 15 m

สรุปว่า Linksys Velop MX5 AX5300 นั้นทำความเร็วได้ดีสมเป็นมาตรฐาน Wi-Fi 6 ครับ ทดสอบแล้วความเร็วสูงสุดที่ได้นั้นออกมาใกล้เคียงกับความเร็วสูงสุดของ Gigabit LAN เพียงแต่ว่าเมื่อผ่านกำแพงในออฟฟิศแล้ว ประสิทธิภาพของมันก็ตกลงไปพอสมควรเลย ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะคลื่น 5 GHz นั้นมีอำนาจในการทะลุทะลวงไม่มากนักเพราะเป็นคลื่นความถี่สูงครับ

นอกจากนี้ Wi-Fi จาก Velop MX5 ยังฉลาดพอที่จะรวมทุกอย่างให้ในชื่อเดียวครับ คือไม่ว่าจะคลื่น 2.4/5 GHz หรือ Wi-Fi 5/6 ก็เชื่อมต่อด้วยชื่อไวไฟเดียวทั้งหมด แล้วระบบก็จะไปจับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับอุปกรณ์นั้นๆ เอง ไม่ต้องแยกชื่อเป็น Beartai-24G กับ Beartai-5G เหมือนอุปกรณ์ยุคก่อนๆ แล้ว เพียงแต่ว่าในขณะที่เราเทสต์ที่ออฟฟิศ #beartai บางจังหวะก็จับคลื่นเป็น Wi-Fi 6 ยากครับ จับได้แค่ Wi-Fi 5

ความสามารถในการรองรับอุปกรณ์พร้อมกัน

เรื่องนี้เรายังไม่สามารถเทสต์เต็มรูปแบบได้ครับ เพราะติดช่วง Covid-19 ออฟฟิศแบไต๋เลยไม่ได้มีพนักงานนั่งเต็มราว 15 คนในชั้น มีอุปกรณ์ราว 50 ตัวมาเชื่อมต่อไวไฟเหมือนช่วงเวลาปกติ แต่การใช้งานทั่วไปในช่วงขณะนี้ที่นับอุปกรณ์เชื่อมต่อได้ราวๆ 20-30 ตัว ระบบของ Linksys Velop MX5 ก็ยังทำงานได้ไม่มีปัญหาครับ ซึ่งก็น่าจะเป็นจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อของบ้านทั่วไปนะครับ ส่วนสเปกที่เคลมจากหน้าเว็บ Linksys คือเชื่อมต่อได้ 50 ตัวครับ

ความสามารถอื่นๆ ของ Linksys Velop MX5 AX5300

ในแอป Linksys นั้นยังมีความสามารถอีกหลายอย่างของ Velop MX5 ให้ได้ใช้กันนะครับ

  • Parental Controls โหมดควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะการใช้งานภายในครอบครัว สามารถหยุดการเชื่อมอินเทอร์เน็ตของอุปกรณ์นั้นๆ ได้ สามารถตั้งเวลาการใช้งานได้ รวมถึงบล็อกเว็บได้
  • Guest Network สำหรับเปิดใช้เครือข่ายพิเศษให้แขกใช้ ซึ่งจะไม่ได้ติดต่อกับอุปกรณ์ในเครือข่ายหลักได้
  • สามารถต่อไดร์ฟภายนอกเพื่อให้เข้าถึงจากเครือข่ายได้
  • Device Prioritization สำหรับจัดลำดับความสำคัญของอุปกรณ์ต่างๆ เช่นสำหรับบ้านที่ดูหนังผ่านสตรีมมิ่ง ก็ให้ความสำคัญกับทีวีก่อน จ่ายอินเทอร์เน็ตให้ทีวีสูงสุดก่อนเพื่อให้ไม่กระตุกครับ หรือบ้านไหนเล่นเกมก็เลือกมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ที่เล่นเกมนั้นเป็นตัวสำคัญก็ได้ โดยสามารถระบุอุปกรณ์ที่ให้ความสำคัญสูงได้ 3 ตัว

นอกจากนี้ยังมีความสามารถระดับสูงอีก 2 ตัวที่เตรียมจะเปิดใช้งานต่อไปหลังจากอัปเดตเฟิร์มแวร์แล้ว ซึ่งความสามารถ 2 อย่างนี้ต้องเสียค่าบริการเพิ่มนะครับ โดยสามารถทดลองใช้ฟรีได้ 90 วัน

  • Linksys Aware เปลี่ยนเราเตอร์ให้กลายเป็นอุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวในบ้าน ซึ่งจะตรวจจับจากความเปลี่ยนแปลงของสัญญาณ Wi-Fi ที่วิ่งไปมาระหว่างเสา Velop หลายๆ ต้นในบ้าน ทำให้รู้ทันทีว่ามีใครแอบเข้าบ้านรึเปล่า ค่าบริการ $2.99 ต่อเดือน
  • Linksys Shield บริการระดับอัปเกรดของ Parental Controls ที่สามารถกรองเนื้อหาต่างๆ ได้อัตโนมัติโดยแบ่งตามระดับอายุ ไม่ต้องค่อยใส่เว็บที่จะบล็อกเอง ค่าบริการ $4.99 ต่อเดือน

โดยรวมถือว่า Linksys Velop MX5 AX5300 นั้นก็มีความสามารถครบเครื่องสำหรับการใช้งานทั่วไปในบ้านเลย เพียงแต่ว่าถ้าเทียบความสามารถด้านซอฟต์แวร์กับเราเตอร์ของ Synology ที่ทำ VPN ได้ในตัว แถมสร้างโปรไฟล์ผู้ใช้ในบ้านเพื่อบล็อกเว็บต่างๆ อิสระโดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ดูการใช้ข้อมูลของอุปกรณ์ทุกตัวในบ้านได้ และดาวน์โหลดไฟล์จากอินเทอร์เน็ตลงไดรฟ์ผ่านเราเตอร์เลย ก็อาจจะเหลือช่องว่างให้ Linksys พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ต่ออีกครับ

สรุป Linksys Velop MX5 AX5300 นั้นคุ้มค่าไหม

Velop MX5 AX5300 เวลาทำงานจริง ไฟด้านบนจะติดเป็นสีฟ้า
Velop MX5 AX5300 เวลาทำงานจริง ไฟด้านบนจะติดเป็นสีฟ้า

Linksys Velop MX5 AX5300 นั้นเปิดตัวมาด้วยราคาในระดับพรีเมี่ยมเลยคือ 14,990 บาทสำหรับอุปกรณ์แค่ตัวเดียว ก็ถือเป็นราคาของอุปกรณ์ยุค Wi-Fi 6 กำลังเริ่มต้นที่สูงหน่อยตามเทคโนโลยีที่เพิ่งเข้ามาใหม่ แต่ราคานี้ก็ได้จุดเด่นตรงที่ได้ความเร็วระดับ Wi-Fi 6 ที่คาดหวังได้ แอปใช้ง่าย เหมาะสำหรับการใช้งานในบ้านทั่วไปที่ให้ระบบจัดการอัตโนมัติให้ทั้งหมด และสามารถซื้อ Velop ตัวอื่นๆ มาเสริมเพื่อขยายพื้นที่สัญญาณไวไฟในบ้านให้กว้างขึ้นได้ด้วย

นอกจากนี้ Linksys Velop ยังมีบริการหลังการขายที่ดีครับ ทั้งประกัน 3 ปี และสามารถโทรศัพท์ไปขอคำปรึกษาเรื่องการใช้งานได้ตลอดเป็นภาษาไทย ซึ่งทีมงานแบไต๋โทรไปขอคำปรึกษาบ่อยครับ เพราะใช้ Velop ระบบใหญ่ มันก็มีปัญหาบ้าง แต่โทรถามแล้วก็ได้คำตอบที่ดีตลอดครับ