ถ้าคุณได้สัมผัส #Asus #ExpertBook B9450 ความคิดเกี่ยวกับโน้ตบุ๊กน้ำหนักเบาจะเปลี่ยนไป เพราะโน้ตบุ๊กจอ 14 นิ้วทุกตัวที่คุณสัมผัสหลังจากนี้ไป จะรู้สึกว่ามันหนักหมด! ขนาด iPad Pro + Keyboard ยังหนักกว่ารุ่นนี้เลยและพร้อมกันนี้ หนุ่ย-พงศ์สุข ยังรีวิว Asus ProArt StudioBook Pro 15 (W500) โน้ตบุ๊กราคาหลักแสน เพื่อใช้ในงานครีเอเตอร์ ตัดต่อวิดีโอ 4K หรือทำงาน 3 มิติก็บอกมาเถอะ เครื่องนี้จัดการให้คุณได้!
Asus ExpertBook B9450
เริ่มต้นที่ตัวแรกกันก่อน นี่คือ Asus ExpertBook B9450 ชื่อก็บอกแล้วว่า Expert นี่คือโน้ตบุ๊กที่เน้นผู้ใช้กลุ่มธุรกิจที่ต้องการความบางเบาเป็นพิเศษ และนี่เป็นโน้ตบุ๊กขนาดหน้าจอ 14 นิ้วที่เบาที่สุดในโลกตอนนี้ เบาแค่ไหนไปชั่งกันครับ หนักแค่ 864 กรัมเท่านั้นเอง นี่โน้ตบุ๊กใช้ Core i5 พร้อมจอ 14 นิ้วนะครับ หนักไม่ถึง 9 ขีด โหดมาก!
ความรู้สึกแรกในการถือเครื่องนี้คือเบามาก เบาแบบตกใจว่าโน้ตบุ๊กไซส์เท่านี้ไม่น่าจะเบาได้ขนาดนี้ ซึ่งความลับที่ทำให้เครื่องเบาคือวัสดุตัวถังแทบทั้งหมดของ Asus ExpertBook B9450 เป็นโลหะผสม magnesium lithium alloy ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่ากว่าวัสดุอย่างอลูมิเนียมอัลลอยที่ใช้ทำโน้ตบุ๊กธุรกิจทั่วไปครับ
สัมผัสของโน้ตบุ๊กเครื่องนี้เวลาจับนั้นจะรู้สึกว่ายวบๆ หน่อยนะครับ คือโลหะจะมีความยืดหยุ่น ไม่ได้ให้ความรู้สึก Solid เหมือนโลหะแข็งๆ ทั่วไป
แต่ Asus ก็ส่งเครื่องนี้ทดสอบมาตรฐานความแข็งแกร่งทางการทหารของสหรัฐ MIL-STD 810G มาเรียบร้อยครับ บานพับนี่เปิด-ปิดได้มากกว่า 50,000 ครั้ง, น้ำหนักกดลงที่ฝาหลังกลางจอกว่า 30 kg จอก็ยังไม่แตก, คีย์บอร์ดกดได้มากกว่า 10 ล้านครั้ง, พอร์ตเชื่อมต่อชักเข้าออกมากกว่า 5,000 ครั้งก็ไม่พัง
ส่วนขอบหน้าจอด้านในนี้เป็นพลาสติกนะครับ ก็จะเห็นว่ามีขอบที่บางมาก ให้พื้นที่หน้าจอ 94% ของพื้นที่ด้านหน้า จนทำให้เราได้เครื่องที่มีหน้าจอ 14 นิ้วที่ขนาดตัวถังเครื่องเล็กมาก ขอบจอซ้าย-ขวาหนาแค่ 4 mm ส่วนด้านบนหนา 7 mm เพื่อวาง Webcam ไว้ด้านบนของจอ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าตำแหน่งนี้คือตำแหน่งที่ติดตั้ง Webcam ได้ดีที่สุดในโน้ตบุ๊กแล้ว พร้อมมีสไลด์เลื่อนเปิด-ปิดกล้องเพื่อความเป็นส่วนตัวด้วย แถมในความบางนี้ยังมีกล้อง Infrared มาด้วยครับ คุณสามารถใช้ใบหน้า login Windows ด้วย Windows Hello ได้เลย
และรีวิวโน้ตบุ๊กช่วงนี้เราต้องเทสต์คุณภาพของ Webcam ด้วย ก็ให้คุณภาพดีพอสำหรับการประชุมออนไลน์ครับ อาจจะไม่ได้คมชัดระดับที่ Caster หรือ Streamer ต้องการเพราะกล้องตัวเล็กมาก แต่จุดที่ทำได้ดีคือไมโครโฟน 4 ตัวที่หันเข้าหน้าผู้ใช้ เก็บเสียงได้ดีมากครับ
หน้าจอ 14 นิ้วตัวนี้เป็นจอ IPS LCD ครับ มีความละเอียด 1080p Full HD โดยให้ขอบเขตสีได้ 100% sRGB พร้อมความสว่างสูงสุด 300 nit ซึ่งจอนี้ก็ให้สีสันได้ดี เอาไปดูหนัง ดูรูปก็สบายตา เพียงแต่จะไม่ได้ดูสดใสมากเพราะเป็นจอแบบด้านก็เหมาะสมกับการทำงานมากกว่าจอแบบกระจกครับ ซึ่งจอของเครื่องรุ่นนี้ก็สามารถกางจนแบนราบไปกับพื้นได้เลย แต่น่าเสียดายนิดหนึ่งที่จอนี้ไม่มีเซนเซอร์ปรับความสว่างอัตโนมัติครับ
มัวแต่ทึ่งกับความเบาอยู่นาน กลับมาดูการออกแบบของเครื่องกันบ้างครับ Asus ExpertBook B9450 นั้นมีสีเดียวคือ Star Black คือสีดำที่มีประกายสะท้อนแสงเหมือนดวงดาวครับ ซึ่งผิวสัมผัสของเครื่องจะเป็นแบบด้าน ซึ่งเวลาโดนเล็บขูด หรือโดนอะไรข่วน อาจจะมีรอยขึ้นได้ครับ แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะเอานิ้วลูบ ๆ รอยก็หายไปแล้ว
ส่วนพอร์ตรอบเครื่องก็ถือว่าครบเลยสำหรับเครื่องเล็กบางขนาดนี้ ด้านขวาก็มีช่องหูฟังพร้อมไมโครโฟน และพอร์ต USB 3.2 Gen 2 ความเร็ว 10 Gbps ส่วนทางด้านซ้ายมีพอร์ต Thunderbolt 3 ที่มีหน้าตาเหมือน USB-C อยู่ 2 พอร์ตสำหรับเสียบชาร์จ, ส่งข้อมูลรวมถึงต่อจอก็ได้ นอกจากนี้พอร์ต HDMI ก็ยังอยู่ ไม่ได้ตัดออก และพอร์ตพิเศษนี้คือ Micro HDMI เอาไว้เสียบอแดปเตอร์แปลงเป็นพอร์ต LAN ที่แถมมาให้ในกล่อง ส่วน Wi-Fi ก็รองรับถึง Wi-Fi 6 แล้ว รับส่งข้อมูลได้เกือบ 1 Gbps แบบไร้สาย
นี่เราพยายามหาจุดสังเกตเรื่องพอร์ตกันสุด ๆ ครับ เพราะเครื่องนี้พอร์ตมาครบ แถมเป็นพอร์ตความเร็วสูงด้วย แต่ที่ขาดไป ต้องหามาต่อเพิ่มคือช่องอ่าน SD Card ครับ
ตัวคีย์บอร์ดก็ไม่มีอะไรให้ติครับ ทุกปุ่มได้มาตรฐานหมด ถ้าพิมพ์คล่องอยู่แล้วก็ใช้งานได้เลย แล้วเวลาเปิดฝาเครื่องขึ้น ตัวคีย์บอร์ดจะยกสูงขึ้นแบบ ErgoLift เอกลักษณ์ของ Asus ให้เราใช้งานได้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ พิมพ์สบาย สัมผัสของคีย์บอร์ดก็ไม่เตี้ย ไม่สูงเกินไป แถมมีไฟใต้คีย์บอร์ดที่สวยงามด้วย นอกจากนี้ Asus ExpertBook B9450 ยังมีตัวอ่านลายนิ้วมือให้ตรงนี้ สำหรับล็อกอินเข้าเครื่องได้
ส่วนตัว TrackPad นั้นเป็นแบบ NumberPad คือสามารถเปิดแป้นตัวเลขออกมาได้ จุดนี้ใช้งานสะดวกมากตอนพิมพ์ภาษาไทยอยู่ครับ คุณไม่ต้องเปลี่ยนภาษากลับเพื่อพิมพ์ตัวเลขอารบิกก็ได้ แต่มาแตะบน NumberPad นี้เลย ส่วนสัมผัสการใช้งาน TrackPad เราว่ายังเบา ๆ ไปนิด เวลากดไม่หนักแน่นเท่าไหร่ครับ
สุดท้ายคือลำโพงที่พัฒนาร่วมกับ Harman/Kardon ด้านใต้เครื่องตรงนี้ ซึ่งให้เสียงได้กลมกล่อมดี เบสพอดี ๆ แหลมไม่บาด ให้ความดังได้ระดับหนึ่งครับ เช่นเวลาประชุมออนไลน์ บางการประชุมเสียงค่อยหน่อย ก็จะเร่งขึ้นมาไม่ได้มาก จนต้องใส่หูฟังแทนครับ
Asus ExpertBook B9450 ที่เราได้มารีวิวนั้นใช้ Intel Core i7-10510U พร้อมแรม 16 GB และ SSD 1 TB แต่ไม่มีการ์ดจอแยกนะครับ ซึ่งผลการทดสอบประสิทธิภาพ CPU ด้วย Geekbench 5 ได้คะแนน Multicore 3056 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนระดับกลาง ๆ ของโน้ตบุ๊กที่ใช้ CPU เบอร์นี้ครับ
ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพกราฟิกด้วย 3Dmark Nightraid ก็ได้คะแนนไป 5568 คะแนน และทดสอบประสิทธิภาพของ SSD ด้วย Crytral Disk Mark 7 ความความเร็วในการอ่านการข้อมูลไปถึง 3.4 GB/s ซึ่งแตะสุดขอบของมาตรฐาน PCIe Gen 3 x4 แล้ว และเขียนได้ 2.4 GB/s
ส่วนการใช้งานในชีวิตจริง เราใช้ทำงานสร้างสรรค์เนื้อหาผ่าน Microsoft Edge โดยเปิดเว็บพร้อมการมากกว่า 10 แท็บ Asus ExpertBook B9450 ก็ไม่เคยแสดงอาการหน่วงออกมาให้เห็นอย่างที่เราเคยเจอในโน้ตบุ๊กธุรกิจ ส่วนความร้อนของเครื่องก็จัดการได้ดี ไม่ได้รู้สึกว่าเครื่องร้อนจนใช้งานไม่สบายตัวครับ
ส่วนอายุแบตเตอรี่ เรื่องนี้ต้องเล่ายาวนิดหนึ่งครับ คือ Asus ExpertBook B9450 ที่จำหน่ายในไทยจะมี 2 รุ่น คือรุ่นเริ่มต้น Core i5 มาพร้อมแรม 8 GB และ SSD 512 GB ตัวนี้จะมาพร้อมแบต 2 เซลล์ น้ำหนักเครื่อง 864 กรัม รุ่นนี้จะใช้งานต่อเนื่องได้ราว 10 ชั่วโมงครับ
ส่วนอีกรุ่นเป็นตัวท็อป Core i7 พร้อมแรม 16 GB และ SSD 1 TB แบบนี้ จะมาพร้อมแบต 4 เซลล์ น้ำหนักเครื่อง 995 กรัม ก็ยังไม่ถึงกิโล ตัวนี้ Asus เคลมว่าใช้งานได้ต่อเนื่องสูงสุด 24 ชั่วโมง แบตโหดมากจริง ๆ
ราคา
และราคาของ Asus ExpertBook B9450 สำหรับรุ่นที่มาพร้อม CPU Core i5-10210U นั้นมาพร้อมราคา 38,990 บาท ส่วนรุ่นที่มาพร้อม CPU Core i7-10510U ราคาอยู่ที่ 44,990 บาท
Asus ProArt StudioBook Pro 15
มาครับ มาดูรุ่นใหญ่อย่างตระกูล ProArt กันบ้าง ผมอธิบายก่อนกว่าเครื่องในตระกูล ProArt เป็นคอมพิวเตอร์ที่ Asus ออกแบบมาเพื่อกลุ่ม Creator หรือคนทำงานกราฟิก ตัดต่อวิดีโอ หรืองาน 3D โดยเฉพาะ ประสิทธิภาพเครื่องจึงต้องสูงมาก และนี่คือ Asus ProArt StudioBook Pro 15 ในรหัส W500
งานดีไซน์ของ Asus ProArt StudioBook Pro 15 นั้นไม่ได้หวือหวามีแสงไฟวิบวับเหมือนโน้ตบุ๊กเกมเมอร์ เพราะเน้นความเป็นมืออาชีพของผู้ใช้ ตัวเครื่องมีสีเดียวเรียกว่าสี Star Grey งานประกอบ โครงสร้างดูแข็งแรง ซึ่งเครื่องนี้มีน้ำหนักราวๆ 2 ก.ก. เท่านั้น ถือว่าเบาสำหรับโน้ตบุ๊กจอ 15.6 นิ้วที่เครื่องแรงแบบนี้
หน้าจอก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์ สำหรับจอ 4K ขนาด 15.6 นิ้วของ Asus ProArt StudioBook Pro 15 นั้นผ่านการรับรองจาก PANTONE ว่าให้สีสันเที่ยงตรง มีความผิดเพี้ยนของสี Delta-E < 1.5 และให้ขอบเขตสีได้เต็ม 100% ของ Adobe RGB ขอบเขตสีที่มืออาชีพใช้กัน ทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่เห็นในจอกับชิ้นงานจริง จะให้สีสันไม่แตกต่างกัน
ซึ่งก็ตามสไตล์ของโน้ตบุ๊กจาก Asus ครับ ที่ขอบหน้าจอเป็นแบบ NanoEdge มีขอบหนาแค่ 7.5 mm ก็จะมีแค่ขอบล่างที่หนาหน่อย โดยให้พื้นที่หน้าจอ 82% ของพื้นที่ด้านหน้าครับ
ส่วนพอร์ตรอบเครื่อง เป็นเครื่องระดับโปรแบบนี้ พอร์ตก็ต้องจัดมาเต็ม ทางขวาของเครื่องจะมีพอร์ต USB 3.2 Gen 1 2 พอร์ต และ USB-C 3.2 Gen 2 อีก 1 พอร์ต ส่วนด้านซ้ายจะมี USB 3.2 Gen 2 ที่เชื่อมต่อได้เร็วกว่าพอร์ตที่อยู่ทางซ้ายมา 1 พอร์ต พร้อมพอร์ต HDMI 2.0 พอร์ต LAN และช่องหูฟังและไมโครโฟนครับ
แต่น่าเสียดายไปนิดที่เครื่องสำหรับ Creator แบบนี้ดันไม่มีช่องอ่าน SD Card ซึ่งน่าจะได้ใช้เยอะนะช่องนี้ ถ้าจะใช้งานอาจจะต้องต่อผ่านตัวแปลง USB-C อีกที
Asus ProArt StudioBook Pro 15 นั้นแรงแบบจัดเต็ม ใช้หน่วยประมวลผล Intel® Core™ i7-9750H ตัวท็อปสุดของตัว i7 ในระดับ Notebook พร้อมอัดแรม DDR4 มาเต็มเหยียด 48 GB และไฮไลต์ของสเปกเครื่องนี้เลยคือการ์ดจอ NVIDIA® Quadro RTX™ 5000 Max-Q ที่เป็นการ์ดในระดับสูงกว่า GeForce ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานโดยเฉพาะ พร้อมใส่ SSD แบบ NVMe มาให้ 2 ตัว ให้พื้นที่สูงสุด 2 TB และรองรับ Wi-Fi 6 เพื่อการเชื่อมต่ออย่างรวดเร็วด้วย
ซึ่งผลทดสอบประสิทธิภาพเครื่องด้วย Geekbench 5.1 ได้คะแนน Multicore ไปราว 5600 คะแนน และทดสอบ 3Dmark ชุดทดสอบ Timespy ได้คะแนน 7005 คะแนน และทดสอบประสิทธิภาพกราฟิกสำหรับการทำงานด้วย Cinebench R15 ก็ได้เฟรมเรตเกือบ 120 fps ซึ่งแรงมาก
ผมส่ง Asus ProArt StudioBook Pro 15 เครื่องนี้ให้ วีรพล มานะกล้า มือตัดต่อสาย Windows ของแบไต๋ใช้อยู่เป็นสัปดาห์ครับ ก็ได้คำยืนยันจากผู้ใช้งานจริงมาดังนี้
การตัดต่อด้วยโปรแกรม Premire Pro ทำได้ดีมาก ปกติแล้วการตัดต่อไฟล์ 4K ก็ต้องทำ Proxy หรือการทำให้ไฟล์ขนาดเล็กลงก่อนแล้วค่อยตัด ก็ต้องใช้เวลาในทำ Proxy นานพอสมควร แต่ ASUS ProArt StudioBook Pro 15 แค่ลากไฟล์ 4K เข้าโปรแกรมก็ตัดต่อได้เลย โดยไม่ต้อง Proxy เล่นคลิปลื่นไหลไม่มีสะดุด
ส่วน Nvidia Quadro RTX 5000 with Max-Q Design ที่ให้มาก็มีประสิทธิภาพดีมากเช่นกัน ทำให้การ Render ไฟล์อนิเมชั่น กราฟิกหนักๆ และงานสามมิติต่าง ๆ เช่นงานออกแบบโครงสร้าง ก็ทำได้อย่างลื่นไหล
การระบายอากาศในตัว StudioBook ทำได้ดีเช่นกัน ไม่มีอาการลดความเร็ว CPU ลงเลย Render คลิป 4K หลายชั่วโมงติดต่อกันไม่มีอาการให้เห็นเลย
ซึ่ง ASUS ProArt StudioBook Pro 15 ได้รับการรับรอง ISV Certification ว่าสามารถทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ตระกูล Adobe, Autodesk, Solidwork หรือ Creo ได้ไม่มีปัญหา
ที่นี้มาถึงจุดสังเกตของ Asus ProArt StudioBook Pro 15 จากการใช้งานจริงกันบ้างครับ อย่างแรกคือ มันไม่มี Webcam ครับ สาย Work from home สะเทือนใจตรงนี้ และอีกอย่างคือ เครื่องก็แอบร้อนอยู่บ้างตรงที่วางมือ ซึ่งเมื่อเครื่องปรับพัดลมในระดับ Turbo ก็จะมีเสียงดังไม่น้อย
ราคา
สำหรับ ASUS ProArt StudioBook Pro 15 นั้นวางราคาจำหน่ายในไทยไว้ที่ 149,990 บาท
และนี่คือ 2 โน้ตบุ๊กรุ่นใหม่จาก Asus ที่เจาะกลุ่มตลาดต่างกันเลย ถ้าคุณต้องการโน้ตบุ๊กธุรกิจที่เบามาก แต่ประสิทธิภาพสูง พอร์ตครบ Asus ExpertBook B9450 น่าจะเหมาะสำหรับคุณ ส่วนสาย Creator ที่ทำงานกราฟิก ตัดต่อวิดีโอ งานออกแบบ งาน 3 มิติ ASUS ProArt StudioBook Pro 15 ก็เหมาะสำหรับคุณครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส