Our score
9.4Sony WH-1000XM4
ดีจนแบรนด์อื่นเหนื่อย
คุณภาพเสียง ความสามารถอัจฉริยะ ความใส่สบาย ถือว่าอยู่อันดับต้นๆ ของหูฟังระดับราคานี้แล้ว แบรนด์อื่นถ้าขายแพงกว่า แล้วไม่สามารถสร้างจุดเด่นที่ดีกว่า Sony WH-1000XM4 ได้ มีเหนื่อยแน่
จุดเด่น
- คุณภาพเสียงดีงามแบบต้องลองไปฟังให้หูคุณได้อัปเกรดสักครั้ง ใส่สบายด้วย
- เบอร์ 1 เรื่องการตัดเสียงรบกวนภายนอก เปิดระบบตัดเสียง แล้วเปิดเพลง จะเหมือนหลุดออกจากโลก
- ปรับปรุงไมโครโฟนแล้ว ชุดไมโครโฟน 5 ตัวทำให้การสนทนาทำได้ดีกว่ารุ่นก่อนมาก คุยโทรศัพท์ คุย Zoom ดีงามทั้งนั้น
- เต็มไปด้วยระบบอัจฉริยะ เมื่อเราพูดแล้วหยุดเพลงเอง เมื่อเปลี่ยนสถานที่โหมดการฟังก็เปลี่ยน รองรับเสียงแบบ 360 องศา
- รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ 2 ตัวพร้อมกัน (Multi Point)
จุดสังเกต
- ไม่รองรับ Codec เสียงแบบ aptX (รองรับ SBC, AAC, LDAC)
- ไม่ระบุระดับการกันน้ำ เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรใส่ออกกำลังกาย หรือโดนฝน
- ความสามารถ Speak to Chat อาจทำงานผิดพลาด ถ้าเราไอ จาม หรือร้องเพลงตาม หูฟังก็จะหยุดเพลงแล้วฟังเสียงเราแทน
- หน้าตาแทบไม่ต่างจากรุ่นเดิมเลย
-
คุณภาพเสียง
10.0
-
คุณภาพวัสดุ
9.5
-
ความคล่องตัวในการใช้
8.5
-
ความสามารถในการคุยโทรศัพท์
9.5
-
ความคุ้มค่า
9.5
เมื่อตอนที่ Sony WH-1000XM3 เปิดตัวเมื่อ 2-3 ปีก่อน เราก็คิดตั้งแต่แรกว่าหูฟังรุ่นนี้จะต้องขายดีเป็นเทน้ำเทท่าแน่ๆ ด้วยความที่เป็นหูฟังแบบ Headphone ปิดล้อมทั้งใบหูที่มีภาพลักษณ์ดูดี พร้อมความสามารถรอบด้าน ทั้งเสียงดี ตัดเสียงรบกวนเยี่ยม พร้อมระบบอัจฉริยะต่างๆ ที่เหมือนเป็นเซ็ตมาตรฐานอุตสาหกรรมหูฟังไร้สายว่าถ้าแบรนด์อื่น ๆ จะทำหูฟังออกมาแข่ง ต้องแข่งกับหูฟังจากโซนี่รุ่นนี้ให้ได้ และวันนี้ Sony WH-1000XM4 ทายาทสายตรงจากหูฟังมหานิยมก็เปิดตัวเรียบร้อย และ #beartai จะเล่าให้ฟังว่าจุดเด่น และจุดสังเกตของหูฟังรุ่นนี้เป็นยังไง
รายละเอียดหูฟังรุ่นนี้เยอะมาก อ่านกระโดดไปอ่านเรื่องไหน คลิกโลด
Sony WH-1000XM4 คือหูฟังอัจฉริยะที่สุด
#beartai เราก็เทสต์หูฟังมาหลายรุ่นนะครับ แต่เรากล้าพูดในตอนนี้ว่า Sony WH-1000XM4 คือหูฟังที่มีระบบอัจฉริยะมากที่สุดตั้งแต่เราทดสอบมาในปัจจุบัน สามารถทำงานอัตโนมัติได้สารพัดที่ควบคุมได้ไม่ยากด้วย
Speak to Chat ความสามารถใหม่ที่เรารัก
ในหูฟังแบบ ANC หรือ Active Noise Canceling เมื่อเราต้องการจะคุยกับคนอื่น เราจะต้องถอดหูฟังออก หรือใน Sony WH-1000XM3 รุ่นที่แล้วก็มีความสามารถ Quick Attention ที่เอาฝ่ามือไปแตะหูด้านขวาเพื่อเปิดให้เสียงภายนอกเข้ามาได้ ทำให้เราคุยกับคนอื่นได้โดยไม่ต้องถอดหูฟัง ซึ่งใน Sony WH-1000XM4 รุ่นนี้ก็ยังมีความสามารถ Quick Attention อยู่ แต่พัฒนาให้ล้ำกว่าเดิมจนกลายเป็น Speak to Chat ครับ
ฟังก์ชัน Speak to Chat จะใช้ไมค์ที่ตัวหูฟังเพื่อตรวจสอบว่าเรามีการพูดหรือไม่ เมื่อหูฟังตรวจจับได้ว่าเรากำลังพูดอยู่ หูฟังก็จะเปิดเสียงภายนอกให้เข้ามาและหยุดเพลงให้โดยอัตโนมัติ ทำให้เราสามารถพูดคุยกับผู้อื่นได้ทันทีโดยไม่ต้องถอดหูฟัง และไม่ต้องเอามือไปแตะที่ตัวหูฟังเลย ซึ่งเมื่อเราหยุดพูดไประยะหนึ่ง (มาตรฐานคือ 30 วินาที) หูฟังก็จะกลับเข้าสู่โหมดปกติและเล่นเสียงตามเดิม ซึ่งสามารถปรับความไวของการรับเสียงพูด ระยะเวลาที่รอพูด หรือเปิด-ปิดฟังก์ชันนี้ได้จากแอป Sony Headphone Connect ครับ
ถือว่าโซนี่ทำฟังก์ชันนี้ออกมาได้ละเอียดมาก ๆ หูฟังตรวจจับแต่เสียงของเราอย่างเดียวจริงๆ คือหูฟังจะหยุดเพลงและเปิดเสียงภายนอกให้เมื่อเราพูดเท่านั้น ไม่มีตรวจจับผิด ไปจับเสียงพูดรอบนอกแล้วมาดับเพลงเรา เพียงแต่ว่าบางจังหวะหูฟังอาจจะดับเพลงเราผิดจังหวะได้บ้างถ้าเราไอหรือกระแอม หรือใครที่ชอบร้องเพลงตามไปด้วยนี่ต้องเลือกระหว่างเลิกร้องเพลงกับปิดระบบนี้ไป เพราะระบบก็ถือว่าเป็นเสียงที่ออกมาจากเรานั้นแหละ แต่วิศวกรโซนี่ก็น่าจะหาทางปรับ AI ได้นะครับ
Wearing Detection รู้ว่าใส่หรือถอดหูฟัง
ความสามารถนี้เรียกว่ามาชดเชยจุดอ่อนของรุ่นที่แล้วครับ เพราะถ้าพูดกันตรงๆ หูฟังไร้สายคู่แข่งส่วนใหญ่ในคลาสเดียวกันล้วนมีความสามารถตรวจจับการสวมใส่ได้ ก็ถึงโซนี่จะใส่ความสามารถนี้มาช้า แต่ก็ดีที่ใส่มาให้ด้วยครับ
โดยด้านในหูฟังข้างซ้ายจะมีเซนเซอร์ตรวจจับการใส่หูฟังร่วมกับเซนเซอร์อีกตัวที่อยู่สักจุดหนึ่งในหูฟัง ทำให้ Sony WH-1000XM4 สามารถหยุดเพลงเมื่อถอดหูฟังออก และกลับมาเล่นเพลงได้อีกครั้งเมื่อใส่หูฟังกลับเข้าหูอีกครั้งครับ แต่ความสามารถนี้ก็ยังไม่สามารถรับสายโทรศัพท์เองได้เมื่อใส่หูฟังนะครับ
Adaptive Sound Control ที่ปรับปรุงใหม่
หนึ่งในความสามารถพิเศษของหูฟัง Sony เมื่อเชื่อมกับแอป Sony Headphone Connect คือหูฟังจะสามารถปรับลักษณะการตัดเสียงตามการเคลื่อนไหวของเราได้ เช่นเวลาเดินทางให้เปิดระบบตัดเสียงรบกวนภายนอกสูงสุดเพื่อลดเสียงเครื่องยนต์ เสียงลมต่าง ๆ ทำให้ฟังเพลงเวลาเดินทางได้เงียบขึ้น ส่วนเวลาเดินให้เปิดเสียงภายนอกเข้ามาในหู เพื่อรับรู้สถานการณ์รอบตัว ทำให้เดินได้ปลอดภัยขึ้น
ซึ่งใน Sony WH-1000XM4 ระบบ Adaptive Sound Control ได้พัฒนาให้เรียนรู้การปรับลักษณะเสียงจากตำแหน่งในแผนที่ได้ด้วย เราระบุลงไปได้เลยว่าตำแหน่งที่เราอยู่ประจำนั้นจะเป็นบ้าน, สถานที่ทำงาน, ยิม, สถานีรถ ฯลฯ เพื่อให้หูฟังปรับรูปแบบที่เหมาะสมได้เลย
ออกแบบใหม่ให้เหมาะสำหรับการทำงาน
Sony WH-1000XM3 เดิมนั้น แม้ว่าจะมีการปรับปรุงไมโครโฟนจากรุ่นที่ 2 ให้รับเสียงพูดได้ดีขึ้น แต่เอาจริง ๆ ก็ยังมีปัญหาเสียงไม่ชัดเวลาใช้บ้างครับ แต่ใน Sony WH-1000XM4 นี่ปรับปรุงโดยใส่ไมโครโฟนที่หูฟังเข้าไป 5 ตัวเลย ทำให้ตัดเสียงรบกวนออกไปได้ดีมาก เราใช้หูฟังตัวนี้ประชุม Zoom หรือคุยโทรศัพท์ได้ไม่มีปัญหาเลย
นอกจากนี้โซนี่ยังเพิ่มความสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์พร้อมกัน 2 ตัวด้วย เช่นเราสามารถเชื่อมหูฟังเข้ากับคอมพิวเตอร์พร้อม ๆ กับสมาร์ตโฟนได้ เวลาประชุมบนคอมเสร็จ ก็สามารถเปิดเพลงจากมือถือได้ต่อเลย โดยไม่ที่ไม่ต้องตัด Bluetooth แล้วต่อใหม่ ใช้งานได้สะดวกกว่าเดิมมาก เพียงแต่ว่าการต่ออุปกรณ์พร้อมกัน 2 ตัวนี้ จะไม่สามารถเชื่อมต่อ Codec เสียงแบบ LDAC ได้ การเชื่อมต่อจะถูกลดเป็น AAC หรือ SBC ที่ให้คุณภาพเสียงเป็นรอง LDAC
เสียงของ WH-1000XM4 คือเสียงของ WH-1000XM3 ที่อัปเกรด
มาถึงเรื่องสำคัญอย่างเสียงกันบ้างครับ สเปกด้านเสียงของ Sony WH-1000XM4 มีดังนี้ครับ
- ตอบสนองความถี่ 4Hz-40,000Hz เมื่อฟังผ่านสาย
- ส่งผ่าน Bluetooth ทั่วไปจะรองรับแค่ 20Hz – 20,000Hz
- ส่งผ่าน LDAC 990kbps จะรองรับเป็น 20Hz – 40,000Hz
- ไดรเวอร์ขนาด 40 มม. ที่ใช้แม่เหล็กนีโอดิเมียม
- หน่วยประมวลผล QN1 สำหรับการประมวลผลตัดเสียงรบกวน
- Bluetooth 5.0
- Codec เสียงที่รองรับ SBC, AAC, LDAC
ซึ่งสเปกเสียงเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างจาก WH-1000XM3 รุ่นที่แล้วเท่าไหร่ครับ ความแตกต่างจริง ๆ นั้นอยู่ที่การจูนเรื่องเสียงเข้ามาใหม่มากกว่าครับ ทำให้เสียงของ Sony WH-1000XM4 นั้นจะสดใสและโปร่งกว่ารุ่นที่แล้วอยู่เล็กน้อยครับ ซึ่งสรุปเสียงของหูฟังรุ่นนี้จะเป็นแบบนี้
- เบสมาลูกใหญ่ ชัดเจน กระชับมาก ไม่บวม รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้เลย แต่ไม่รบกวนเสียงกลาง
- เสียงกลาง-สูง ใส เคลียร์ รายละเอียดดี มีความอบอุ่นในเนื้อเสียง
- เวทีเสียงกว้าง สว่าง แยกชิ้นเครื่องดนตรีต่างๆ ได้ชัดเจน
- ตัดเสียงรบกวนภายนอกได้ดีที่สุดในวงการตอนนี้แล้ว ถ้าเปิดระดับการตัดเสียงสูงสุด แล้วเปิดเพลง คือตัดขาดจากโลกภายนอกไปเลย
- แต่ไม่ใช่ว่าตัดเสียงทุกอย่างได้เงียบสนิทนะ เสียงฮึ่มต่ำ ๆ เสียงเครื่องยนต์ เสียง Background Noise พวกนี้คือตัดไปได้เยอะ แต่เสียงพูด เสียงแหลม พวกนี้อาจจะตัดได้ไม่เยอะ
- หูฟังมาพร้อมระบบ Noise Canceling Optimizer ที่สามารถสั่งผ่านแอป หรือกดปุ่ม Custom ค้างที่ตัวหูฟังเพื่อวิเคราะห์ลักษณะหูและการสวมใส่เพื่อให้ระบบตัดเสียงรบกวนทำงานดีที่สุด
- และยังวัดความกดอากาศด้วย เพื่อปรับเสียงให้เหมาะสม เหมาะมากสำหรับคนที่ใส่หูฟังขึ้นเครื่องบินที่มีความกดอากาศต่ำกว่าปกติ
นอกจากนี้ระบบ DSEE Extreme ที่ปรับปรุงมาใหม่โดยอาศัย AI มาวิเคราะห์เสียงแต่ละจุดยังช่วยเสริมรายละเอียดเสียงที่หายไปจากการบีบอัดเสียงได้ครับ การเปิดใช้ DSEE (Digital Sound Enhancement Engine) แล้วทำให้เพลงเนียนขึ้น การไล่ระดับเสียงนุ่มนวลขึ้น แต่ฟังก์ชันนี้จะไม่ทำงานเมื่อใช้ Codec เสียงเป็น LDAC นะครับ เพราะโซนี่ถือว่า LDAC สามารถส่งข้อมูลเสียงได้มากพออยู่แล้ว รายละเอียดไม่ขาดหาย ไม่ต้องเอา DSEE ไปประมวลผลซ้ำก็ได้
ส่วนใครที่ชอบปรับ EQ ก็สามารถปรับผ่านแอป Sony Headphone Connect ได้อีก 12 แบบ โดยเป็นแบบที่กำหนดเองแล้วเซฟไว้ได้ 2 แบบครับ
รองรับการฟังเพลง 360 องศากับ 360 Reality Audio
หนึ่งในเทคโนโลยีที่โซนี่กำลังผลักดันมาก ๆ คือ 360 Reality Audio ครับ ซึ่งสามารถสร้างเสียงให้เสมือนอยู่รอบตัวเราได้ แม้จะใช้หูฟังแค่ 2 ข้าง ซึ่งก็เป็นของเล่นที่ผู้ใช้ Sony WH-1000XM4 ต้องลองเลย โดยในกล่องหูฟังจะมีโค้ดแถมให้เราไปทดลองบริการอย่าง Tidal HiFi, Deezer HiFi หรือ nugs.net HiFi ได้ฟรี 3 เดือน เพื่อไปลองฟังเพลงแบบ 360 องศากันครับ ถ้าติดใจก็สามารถสมัครแบบเสียเงินเพื่อใช้บริการต่อได้
ก่อนที่จะเริ่มใช้ 360 Reality Audio เราจะต้องเข้าไปเปิดใช้งานจากแอป Sony Headphone Connect ก่อนครับ ซึ่งจะต้องถ่ายรูปหูของเราส่งไปให้โซนี่วิเคราะห์ด้วย เสร็จแล้วแอปก็จะส่งข้อมูลการปรับแต่งไปที่แอปเล่นเพลงอย่าง Tidal เพื่อส่งเสียง 360 องศาที่เหมาะสำหรับเรา
ประสบการณ์จากการฟัง 360 Reality Audio นั้นน่าทึ่งพอสมควร เสียงเพลงสามารถมาวนอยู่รอบตัวเรา โดยเฉพาะเพลงในรูปแบบการแสดงสดต่าง ๆ ที่เหมือนเราเข้าไปอยู่ร่วมในคอนเสิร์ตนั้นได้เลย แต่สำหรับเพลงทั่วไปที่เป็นแบบ Studio Album เราก็ยังชอบเสียงปกติมากกว่านะ เพราะเพลงแบบ 360 องศา ความแน่นของเสียงจะลดลงไปพอสมควรเลย พูดง่ายๆ คือเบสไม่ได้ตึ้บเหมือนเดิม
การออกแบบหูฟังและการสั่งงาน
ปิดท้ายกันด้วยเรื่องการออกแบบหูฟังที่เราเก็บไว้เล่าตอนท้ายเพราะมันแตกต่างจากรุ่นที่แล้วน้อยมากครับ ถ้าไม่เอามาเทียบกันก็ดูไม่ออกว่าต่างกันตรงไหนบ้าง ซึ่งเราสรุปงานดีไซน์ที่ Sony WH-1000XM4 ต่างจาก Sony WH-1000XM3 ได้สั้น ๆ ดังนี้
- โลโก้ NFC ของรุ่นใหม่จะเป็นการปั้มลึกลงไปในเนื้อพลาสติก แต่ของรุ่นเดิมเป็นเพนต์สี (ซึ่งบริเวณนี้เราเอามือถือที่รองรับ NFC มาแตะเพื่อเชื่อมต่อได้เลย)
- ด้านในหูฟังด้านซ้ายจะมีเซนเซอร์ตรวจจับการสวมใส่ ส่วนรุ่นเดิมจะไม่มีเซนเซอร์ตัวนี้
- แน่นอนว่าชื่อรุ่นบนก้านหูฟังก็จะเขียนไว้ตัวเล็ก ๆ ว่า WH-X1000XM4
ดีไซน์ก็จะเป็นหูฟังทรงทันสมัยและดูหรูหราด้วยสีเน้นบนตัวหูฟัง อย่างหูตัวที่เรารีวิวเป็นสีดำ ก็จะเน้นด้วยสีทองแดงบริเวณโลโก้และตัวไมค์ที่เปิดให้เสียงเข้ามา ส่วนรุ่นที่เป็นสีขาวก็จะเน้นด้วยสีทองครับ ซึ่งน้ำหนักทั้ง 2 รุ่นก็แทบจะเท่ากันเลยคือประมาณ 250 กรัมครับ
จุดที่หลายคนน่าจะสนใจกันคือความสบายในการใส่ ตัวฟองน้ำแป้นหูฟัง ก็ทำออกมาได้ดีมาก นุ่ม ใส่สบาย สามารถใส่ยาว ๆ เพื่อฟังเพลงนานหลายชั่วโมงได้โดยที่หูไม่ร้อนนัก ตัวก้านหูฟังก็สามารถยืดออกมาให้เหมาะสำหรับศีรษะเรา ซึ่งแรงกดของหูฟังตัวนี้ก็ไม่ได้เยอะมากจนใส่แล้วรู้สึกปวดหัวครับ
และอีกจุดที่ทำได้ดีคือตัวกระเป๋าใส่หูฟัง ที่เป็นกระเป๋าแข็ง ออกมามาแข็งแรง ใส่แล้วหูฟังเราจะปลอดภัยเวลาพกพาแน่ มาพร้อมอุปกรณ์เสริมครบถ้วนคือ
- สาย 3.5 mm สำหรับเสียบกับอุปกรณ์ที่ใช้แจ็ค 3.5 mm เดิม ซึ่งเมื่อเสียบสายแล้วก็สามารถใช้งานได้ทั้งแบบเปิดหรือปิดหูฟังอยู่ก็ได้ เผื่อเวลาหูฟังแบตหมด เราก็ยังเสียบสายฟังได้อยู่ครับ
- หัวชาร์จแบบ USB-C ไป USB-A เพียงแต่ว่าจะชาร์จได้อย่างเดียวนะครับ ตัวหูฟังไม่สามารถเสียบสาย USB-C แทนสายสัญญาณแบบดิจิทัลได้
- หัวแปลงแจ็กเสียงบนเครื่องบินแบบ 2 ขา ที่มีคำเตือนชัดเจนว่าห้ามเอาไปเสียบกับปลั้กไฟนะ กันคนเข้าใจผิด
การควบคุมหูฟังถือว่าทำได้ง่ายและจำไม่ยากครับ โดยประกอบด้วยการควบคุมแบบสัมผัสบริเวณหูฟังด้านขวา และการควบคุมด้วยปุ่มจริง ๆ บริเวณหูฟังด้านซ้ายครับ
- การควบคุมด้วยแป้นสัมผัสทางขวา
- แตะๆ 2 ครั้งเพื่อ เล่นเพลง-หยุดเพลง รับสาย-วางสาย
- เอานิ้วแตะแล้วปัดไปด้านหน้าเพื่อเปลี่ยนเพลง
- เอานิ้วแตะแล้วปัดไปด้านหลังเพื่อเล่นเพลงเดิมซ้ำ หรือย้อนกลับเพลงก่อนหน้านี้
- ปัดขึ้นด้านบนเพื่อเร่งเสียง
- ปัดลงด้านล่างเพื่อลดเสียง
- แตะค้างกลางแป้นสัมผัสทางขวาเพื่อเรียกใช้ Google Assistant หรือ Amazon Alexa
- เอามือปิดแป้นสัมผัสทางขวาเพื่อใช้ Quick Attention Mode สำหรับดึงเสียงภายนอกเข้ามา
- การควบคุมด้วยปุ่มจริงที่หูฟังด้านซ้าย
- กด Custom สั้น ๆ 1 ครั้งจะสลับโหมด ตัดเสียงรบกวนภายนอก/เปิดเสียงภายนอก/ปิดระบบตัดเสียงหรือดึงเสียงภายนอก
- กด Custom ค้างเพื่อเริ่ม Noise Canceling Optimizer
- ปุ่ม Custom นี้สามารถปรับเพื่อใช้เป็นปุ่มรับคำสั่งของ Google Assistant หรือ Amazon Alexa ก็ได้
- ปุ่ม Power เพื่อเปิด-ปิดหูฟัง และกดค้างเพื่อเข้าสู่โหมดเชื่อมต่อ Bluetooth
อายุแบตเตอรี่ของ WH-1000XM4
อายุแบตเตอรี่ของหูฟังรุ่นนี้ใช้งานได้นานสุด 38 ชั่วโมงถ้าไม่เปิดระบบตัดเสียงรบกวน และอยู่ได้ 30 ชั่วโมงเมื่อเปิดระบบตัดเสียงครับ ซึ่งเป็นสเปกเดียวกับรุ่นที่แล้วเลย ก็ถือว่าเป็นหูฟังที่ใช้งานได้ยาวนานมาก และเวลารีบ ๆ ก็ใช้หัวชาร์จของมือถือชาร์จสัก 10 นาที ก็ใช้งานได้ 5 ชั่วโมงแล้วครับ แล้วถ้าต้องการชาร์จจาก 0 จนเต็มจะใช้เวลา 3 ชั่วโมง
Sony WH-1000XM4 คุ้มไหม
Sony WH-1000XM4 ตั้งราคาไว้ที่ 13,990 บาทนะครับ ก็เป็นราคาเดียวกับตอนรุ่น M3 วางขายครั้งแรก ซึ่งเราว่าราคานี้มันคุ้มมากนะ นี่คือหูฟังไร้สายรุ่นท็อปของโซนี่ที่อัดเทคโนโลยีมาเต็มที่สุด ก็ยังมีราคาถูกกว่าหูฟังตัวท็อปของหลาย ๆ แบรนด์ที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีเท่านี้ด้วยซ้ำ ถ้าคุณไปลองฟังเสียงแล้วชอบ ก็จัดได้เลยครับ ไม่ต้องลังเลแล้ว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส