รีวิว WD My Passport SSD รุ่นปี 2020 ไดรฟ์พกพาสุดแรงระดับ GB/s!
Our score
9.5

รีวิว WD My Passport SSD รุ่นปี 2020 ไดรฟ์พกพาสุดแรงระดับ GB/s!

จุดเด่น

  1. ความเร็วสูงระดับ 1 GB/s จริง ถือเป็นไดรฟ์ SSD ภายนอกที่เร็วมาก ในราคาที่ไม่แพง
  2. ให้สายแถมอย่างดี เป็นสาย USB-C แบบ 10 Gbps พร้อมหัวแปลงเป็น USB-A
  3. ดีไซน์เรียบ สุขุม น้ำหนักเบา ตัวเล็ก
  4. มีซอฟต์แวร์ช่วยจัดการการเข้ารหัสไดรฟ์มาด้วย
  5. รับประกัน 5 ปี พร้อมบริการกู้ข้อมูลแบบ Lite ให้ 1 ปี

จุดสังเกต

  1. เวลาใช้งานหนักๆ จะร้อนแบบรู้สึกได้
  2. การเชื่อมต่อแบบ USB-A ทำให้ความเร็วลดลงเยอะมาก ถ้าไม่จำเป็นก็ควรต่อแบบ USB-C เท่านั้น
  3. ชุดมาตรฐานไม่มีถุงหรือกระเป๋าแถม

ยุคนี้นอกจาก SSD จะวาดลวดลาย แสดงความเร็วกันในคอมพิวเตอร์แล้ว SSD ยังออกมาแรงต่อในแบบของไดรฟ์พกพาภายนอกด้วย ซึ่ง WD My Passport SSD รุ่นล่าสุด ที่เรานับว่าเป็นรุ่นปี 2020 แล้วกันนะครับ ก็ถือว่าเป็นไดรฟ์ที่ออกแบบมาเพื่อความแรงแบบพิเศษเลย เพราะโครงสร้างการเชื่อมต่อภายในนั้นเป็นแบบ NVMe ซึ่งให้ความแรงมากกว่าไดรฟ์ SSD ภายนอกรุ่นก่อนๆ ที่เชื่อมต่อภายในเป็นแบบ SATA3 ครับ

ดีไซน์ของ WD My Passport SSD

ด้านหลังของ WD My Passport SSD
ด้านหลังของ WD My Passport SSD

ดีไซน์ของ WD My Passport SSD นั้นจัดว่าสวยเลยครับ ด้านหนึ่งทำจากโลหะ อีกด้านหนึ่งเหมือนจะเป็นพลาสติก แล้วก็มีขนาดเล็กด้วยแค่ 100 x 55 x 9 mm เท่านั้นเอง ทำให้มีน้ำหนักเบาไม่ถึง 50 กรัม

จุดเด่นของดีไซน์นี้คือลายคลื่น 3 มิติที่อยู่บนตัวไดรฟ์ทั้งหน้า-หลัง แถมโลโก้ WD ยังเป็นการปั้มนูนขึ้นมาทำสีสะท้อนแสง ก็ทำให้ดูหรูหราขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ก็ออกมา 4 สีคือ เทา (ที่เราได้มารีวิว), น้ำเงินเข้ม, แดง และทองครับ

แต่ในมุมมองแบบเกมเมอร์ ดีไซน์นี้อาจจะดูสุขุมไปหน่อยเมื่อเทียบกับความเร็วของมัน ไม่ค่อยสื่อถึงความแรงของมันเลย มันต้องดูดุดันกว่านี้สิ แถมเวลาเสียบไดรฟ์ก็ไม่มีไฟอะไรขึ้นให้รู้สึกสะดุดตาหรือรู้ว่ามันกำลังเสียบใช้งานเลย ใครที่มีจิตวิญญาณเกมเมอร์เลยอาจไม่โดนใจ แต่ผู้ใช้ในสายทำงานน่าจะไม่ได้คิดแบบนั้นครับ

อุปกรณ์ภายในกล่อง WD My Passport SSD
อุปกรณ์ภายในกล่อง

ส่วนในกล่องนั้นจะก็จะมีสาย USB-C to USB-C เวอร์ชัน 3.2 Gen 2 สั้นๆ ยาวประมาณคืบหนึ่งมาให้ (ก็เข้าใจว่าสายแบบนี้แพงอ่านะ) แล้วก็อะแดปเตอร์แปลงจาก USB-C เป็น USB-A สำหรับเสียบกับอุปกรณ์รุ่นเก่าที่ยังไม่มีพอร์ตรุ่นใหม่ครับ ไม่ได้เป็นสาย USB-C to USB-A แยกมาอีกเส้นเหมือนบางแบรนด์ แต่เราก็อยากให้ WD แถมกระเป๋าพกพา SSD กับสายมาด้วยนะ 🙂

ประสิทธิภาพของ WD My Passport SSD

พอร์ต USB-C 3.2 Gen 2 WD My Passport SSD
พอร์ต USB-C 3.2 Gen 2

ว่ากันด้วยประสิทธิภาพตามสเปกก่อนครับ WD แจ้งกับเราว่า

  • อ่านได้เร็วสุด 1050MB/s
  • เขียนได้เร็วสุด 1000 MB/s
  • รองรับระบบเข้ารหัสแบบ AES-256 บิต สามารถล็อกไฟล์ภายในให้ปลอดภัยได้
  • ทนต่อแรงตกกระแทกสูงถึงระดับ 1.98 เมตร

ผลการทดสอบจริงๆ จาก Crystal Disk Mark 7 ก็ออกมาดังนี้ครับ

ความเร็วของ WD My Passport ผ่าน USB-C
ความเร็วของ WD My Passport ผ่าน USB-C

คะแนนแรกที่เราเทสต์นี้ทดสอบผ่านสาย USB-C แบบไม่ได้แปลงเป็น USB-A นะครับ ความเร็วในการอ่านเขียนแบบต่อเนื่อง (แถวแรก) ก็ออกมาได้ตามสเปกครับ คืออ่านต่อเนื่องได้ 1,070 MB/s และเขียนต่อเนื่องได้ 1024 MB/s ซึ่งใช้ประสิทธิภาพของ USB 3.2 Gen 2 ที่ความเร็ว 10 Gbps (1,250 MB/s) ออกมาได้เต็มประสิทธิภาพเลย

ความเร็วของ WD My Passport ผ่าน USB-C
ความเร็วของ WD My Passport ผ่าน USB-A

แต่ถ้าใช้หัวแปลงเปลี่ยนจากพอร์ต USB-C เป็น USB-A แล้วทดสอบอีกครั้งในเครื่องเดิม จะเห็นว่าความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลลดลงมาเกินครึ่ง เหลือไม่ถึง 500 MB/s เท่านั้น ซึ่งก็เป็นความเร็วในระดับ USB 3.0 หรือ USB 3.2 Gen 1 ที่เชื่อมต่อด้วยความเร็ว 5 Gbps (625 MB/s) เท่านั้น

ซึ่งตัวเลขแต่ละแถวของ Crystal Disk Mark 7 คือ
  1. SEQ1M – Q8T1 การอ่านเขียนข้อมูลต่อเนื่อง 1 MiB แบบ 8 Queues 1 Threads
  2. SEQ1M – Q1T1 การอ่านเขียนข้อมูลต่อเนื่อง 1 MiB แบบ 1 Queues 1 Threads
  3. RND4K – Q32T16 การอ่านเขียนข้อมูลแบบสุ่ม 4 KiB แบบ 32 Queues 16 Threads
  4. RND4K – Q1T1 การอ่านเขียนข้อมูลแบบสุ่ม 4 KiB แบบ 1 Queues 1 Threads

ส่วนความเร็วในการย้ายไฟล์จากไดรฟ์ SSD ภายนอกมาเก็บไว้ที่ SSD ในเครื่องเราเทสต์กับไฟล์ 2080 ไฟล์ ขนาดเกือบ 10 GB ก็โอนได้รวดเร็วทันใจดีครับ ทำความเร็วได้สูงสุดเกือบ 800 MB/s ส่วนช่วงที่กราฟตกคือระบบกำลังโอนไฟล์ขนาดเล็กจำนวนมาก ไม่ใช่ไฟล์เพลงใหญ่ ๆ ทำให้ความเร็วในการโอนลดลงครับ

ความเร็วในการโอนไฟล์ของ WD My Passport SSD
ความเร็วในการโอนไฟล์ของ WD My Passport SSD

นอกจากนี้เรายังสามารถเสียบ WD My Passport SSD เพื่อใช้งานกับมือถือหรือแท็บเล็ตที่ใช้พอร์ต USB-C ได้ทันทีนะครับ ซึ่งเราทดสอบโดยเสียบกับ Samsung Galaxy Z Fold 2 แล้วใช้แอป AndroBench วัดความเร็วมา ก็ได้ความเร็วประมาณ 200 MB/s ครับ ก็น่าจะเป็นข้อจำกัดของพอร์ต USB-C บนมือถือครับ

ความเร็วในการโอนไฟล์บน Galaxy Z Fold 2 WD My Passport SSD
ความเร็วในการโอนไฟล์บน Galaxy Z Fold 2

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งเวลาใช้งาน WD My Passport SSD โดยเฉพาะเวลาอ่าน-เขียนข้อมูลหนัก ๆ คือมันร้อนพอสมควรเลยนะครับ โดยเฉพาะด้านที่เป็นเคสโลหะ ซึ่งก็น่าจะทำมาเพื่อระบายความร้อนในการทำงานครับ

เทียบความเร็วกับ External SSD รุ่นอื่นๆ

รุ่นอ่านต่อเนื่องเขียนต่อเนื่องอ่านแบบสุ่ม (4KQ1T1)เขียนแบบสุ่ม (4KQ1T1)
Seagate BarraCuda Fast SSD564.94 MB/s539.05 MB/s40.41 MB/s78.49 MB/s
WD My Passport SSD1070.46 MB/s1024.28 MB/s34.64 MB/s76.56 MB/s
Sandisk Extreme Portable SSD v21045.44 MB/s1037.74 MB/s35.81 MB/s79.59 MB/s
Seagate UltraTouch SSD469.85 MB/s395.80 MB/s21.49 MB/s19.62 MB/s

ซอฟต์แวร์ที่แถมมากับ WD My Passport SSD

WD Discovery
WD Discovery

ในไดรฟ์จะมีตัวติดตั้งโปรแกรม WD Discovery เพื่อใช้จัดการไดรฟ์ โดยเฉพาะการตั้งรหัสผ่านในการใช้ข้อมูลในไดรฟ์ครับ ซึ่งเมื่อตั้งรหัสผ่านแล้ว ทุกครั้งที่เสียบไดรฟ์ก็จะขึ้นหน้าถามรหัสผ่านออกมา หรือถ้าใครรำคาญ ก็สามารถตั้งให้โปรแกรมจำเครื่องที่เคยปลดล็อกรหัสผ่านแล้ว ไม่ต้องให้ถามอีกก็ได้ครับ

นอกจากนี้ยังสามารถดึงข้อมูลจาก Dropbox, Google Drive หรือ OneDrive มาเก็บไว้ในไดรฟ์ของเราผ่าน WD Discovery ได้ด้วย และสามารถเปิดใช้งานโปรแกรมสนับสนุนอย่าง WD Backup, WD Security, WD Drive Utilities ได้อีกด้วย

หน้าปลดล็อกไดรฟ์
หน้าปลดล็อกไดรฟ์

ราคาของ WD My Passport SSD

หน้ากล่องของ WD My Passport SSD จะมี QR Code ให้สแกนบริการกู้ข้อมูลของ Ontrack และประกันเพิ่มเติมจาก Synnex
หน้ากล่องของ WD My Passport SSD จะมี QR Code ให้สแกนบริการกู้ข้อมูลของ Ontrack และประกันเพิ่มเติมจาก Synnex

WD My Passport SSD จำหน่ายในไทย 3 ความจุนะครับคือ

  • 500GB ราคา 3,490 บาท
  • 1 TB ราคา 5,990 บาท
  • 2 TB ราคา 9,990 บาท

โดยมาพร้อมการรับประกัน 5 ปี และบริการกู้ข้อมูล OnTrack Lite 1 ปี เมื่อลงทะเบียนภายใน 30 วันหลังจากซื้อครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส