ผมอยู่กับ ASUS ZenBook Flip S โน้ตบุ๊ก 2-in-1 หน้าจอ OLED 4K ที่เขาเคลมว่าราคาดีที่สุดในตลาด เด็ดดวงแค่ไหน เดี๋ยววันนี้เรารีวิวให้ดูแบบละเอียด!

หน้าจอ

เริ่มที่หน้าจอ จุดเด่นของ ASUS ZenBook Flip S กันก่อน รุ่นนี้ใช้จอกระจก OLED 4K HDR ขนาด 13 นิ้ว ความเด็ดดวงคือโน้ตบุ๊กจอแบบนี้มักจะอยู่บนโน้ตบุ๊กราคา 60,000 ขึ้นไป แต่รุ่นนี้มีค่าตัวแค่ ห้าหมื่นกลางๆ ใครที่อยากเสพความงดงามของหน้าจอ OLED ก็นับว่าสนใจไม่น้อย

ปกติแล้วเรามักจะได้ยินชื่อชั้น OLED บนทีวีมากกว่าบนโน้ตบุ๊ก นั่นก็เพราะว่าเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง และราคาค่อนข้างแพง ถ้าเอามาเทียบในวงการมือถือก็คือระดับเรือธงเลยล่ะครับ

ก็ต้องยอมรับว่าความสวยสดงดงามด้านสีสันและความคมชัดถือว่าเหนือกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไปที่ใช้จอ IPS และความละเอียด 1080p จอ OLED ตัวนี้ได้รับการันตีจาก Pantone Validated ว่ามีขอบเขตการแสดงสีแบบที่ใช้ในวงการภาพยนตร์อย่าง DCI-P3 สูงถึง 100% หากตีเป็นค่า sRGB ก็อยู่ที่ 133% ถือสูงมากเลยทีเดียวครับ เรื่องขอบเขตการแสดงสี หากเป็นหน้าจอปกติก็จะลดลงตามความสว่าง แต่จอ OLED ไม่เป็นแบบนั้นครับ การแสดงสียังคง 100% ทุกช่วงความสว่าง (เพิ่ม-ลดความสว่างให้ดู) ไม่มีผิดเพี้ยนเลยไม่ว่าจะใช้ความสว่างระดับไหน

นอกจากนี้ตัวหน้าจอยังมีความสว่างสูงสุดถึง 500 Nits และมีระดับการแสดงผลแบบ VESA DisplayHDR 500 กล่าวคือสามารถแสดงรายละเอียดมืดในมืด-สว่างในสว่างได้ชัดเจนอย่างตัวอย่างหนัง Netflix ที่ผมกำลังเปิดอยู่นี้

ส่วนคนที่สงสัยว่าจอเทพขนาดนี้เอาไปใช้กับงานที่ต้องการความแม่นยำด้านสีสันอย่าง กราฟิกดีไซน์จะได้ไหมคำตอบคือแกะกล่องแล้วใช้ได้เลยครับ จอไม่ต้องคาริเบทสีใหม่ เพราะเขาทำมาให้ตั้งแต่โรงงานแล้ว และยังได้รับการรับรองจาก TÜV Rheinland ว่าสามารถลดแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายต่อประสาทตาได้ทั้งหมด 70% ด้วยนะครับ

มาดูเรื่องการชื่อก็บอกแล้วว่าเป็น ZenBook Flip S ตัวหน้าจอก็เลยมีความสามารถในการ Flip พับได้ 360 องศาครับ จุดนี้หลายคนชอบเพราะยืดหยุ่นพับได้ 4 รูปแบบ คือ

  • แบบโน้ตบุ๊กธรรมดา (อันนี้ยังคงมี ErgoLift ที่ยกตัวเครื่องขึ้น 3 องศา ช่วยเรื่องการพิมพ์ ระบายความร้อน และเสียง
  • แบบตั้งเขียน ไว้จดโน้ต หรือวาดรูป
  • แบบเต็นท์ ไว้ดูหนัง หรือตั้งพรีเซนต์
  • และแบบแท็บเล็ต พับจอ 360 องศา ตรงนี้เจอจุดตินิดหนึ่งตรงบานพับที่ไม่สนิท ยังแง็บ ๆ ได้นิดหน่อย แต่ไม่ได้ส่งผลอะไรกับการใช้งานนะครับ

เรื่องความแข็งแรงทนทานของบานพับ ทาง ASUS ก็เทสมาให้แล้วว่าพับได้มากกว่า 20,000 ครั้งถือว่าเยอะอยู่ครับ ถ้าเราพับเฉลี่ยวันละ 10 ครั้งจะต้องใช้เวลา 5 ปีกว่า ๆ เลยนะครับ

3D IR Camera

จุดเด่นอีกเรื่องของรุ่นนี้คือกล้องหน้าเป็นแบบ 3D IR Camera ที่รองรับการปลดล็อกเครื่อง ด้วยการสแกนใบหน้าผ่าน Windows Hello การปลดล็อกได้รวดเร็วครับ แบบนี้ (สแกนใบหน้าให้ดู) ส่วนความละเอียดกล้องหน้าอันนี้ยังเป็นแบบ HD หรือ 720p อยู่ครับ

ASUS Pen

ปกติแล้วโน้ตบุ๊กจอพับแบบนี้มักแถมปากกา ASUS ZenBook Flip รุ่นนี้ก็มี ASUS Pen รุ่นใหม่แถมมาให้ในกล่อง โดยปากกาตัวนี้ถือว่าใช้ดีไซน์ใหม่มีแม่เหล็กในตัว สามารถแปะกับตัวเครื่องได้ครับ จุดที่แปะได้ก็มีที่ ขอบฝาหลัง ขอบจอ ด้านข้างและล่างของคีย์บอร์ด ความพิเศษอีกอย่างคือ รองรับการกดหนัก-เบาได้ถึง 4096 ระดับ จากที่ลองใช้กับโปรแกรม White Board ที่ติดมาในเครื่องก็ถือว่าใช้ได้เลยครับวาดรูปหรือจดโน้ตก็ลื่นมือ ช่วยลดการใช้กระดาษได้ครับ รักษ์โลกไปอีก

Edge-to-Edge keyboard

ด้านคีย์บอร์ดอันนี้ก็เป็นดีไซน์แบบ Edge-to-Edge keyboard ให้คีย์บอร์ดมีขนาดของปุ่มแต่ละปุ่มที่เหมาะสม ใช้พื้นที่เต็มขนาดตัวเครื่องตั้งแต่ขอบตัวเครื่องด้านซ้ายไปจนถึงขอบด้านขวา มีไฟใต้ปุ่ม ปรับได้ 3 ระดับ สัมผัสการพิมพ์ก็สบายนิ้วดีครับ แต่ปุ่มอาจจะสั้น ๆ นิดหน่อย ถ้าใครเคยใช้ปุ่มใหญ่ ๆ มาใช้รุ่นนี้อาจจะต้องปรับตัวเล็กน้อย

ถัดลงมาที่ทัชแพดอันนี้ก็กว้างมาก ใช้สองนิ้วโป้งกดได้สบาย ๆ เลยครับ และสัมผัสก็ลื่นนิ้วดี ถ้าสังเกตตรงมุมขวาบนเห็นอะไรไหมครับ NumberPad 2.0 ครับ กดค้างไว้ 1 วินาทีก็จะเห็นแผงตัวเลข

ปกติแล้วด้านข้างมักจะมีสติกเกอร์ Intel สีเทา ๆ แปะอยู่ แต่ ASUS ZenBook Flip S รุ่นนี้แปะสติกเกอร์ตัวใหม่ล่าสุดอย่าง Intel Evo มาครับ อธิบายคร่าว ๆ คือเป็นมาตรฐานใหม่ที่จะแปะได้ก็ต่อเมื่อผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ด้านประสิทธิภาพ ความอึดแบต การชาร์จไฟ มี AI ในตัว และอีกมากมายครับ เอาเป็นว่าถ้ามีสติกเกอร์นี้คือการันตีได้ว่า ดีทุกด้าน!

ส่วนสติกเกอร์ที่เหลือก็เป็น Perfect Warranty ประกันอุบัติเหตุที่ครอบคลุมค่าอะไหล่ให้ 80% ใน 1 ปีแรก ส่วนประกันทั่วไปก็ 3 ปี และมีการติดตั้ง Microsoft Office Home and Student 2019 ที่ประกอบด้วย Word, Excel, PowerPoint และ OneNote รวมถึงมี Windows 10 Home ให้มาตั้งแต่โรงงานครับ เปิดเครื่องปุ๊บใช้ได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาโหลด และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมซักแดงเดียว

ดีไซน์

มาดูเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกกันบ้าง ASUS ZenBook Flip S ต้องบอกเลยว่ามีความลักซ์ชูรี พรีเมียม จากฝาหลังลวดลาย Spun-Metal แบบโลหะหมุนเข้าหาโลโก้ ASUS ตามคอนเซปท์วิถี Zen บวกกับการตัดขอบเครื่องแบบ Diamond Cut แถมเน้นด้วย สีแดง-ทองแดง (Red Copper) ตัดกับตัวเครื่องสีดำ Jade Black ยิ่งทำให้ดูเด่นครับ แต่รุ่นนี้มีให้เลือกแค่สีนี้สีเดียวนะจ๊ะ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีจุดติตรงฝาหลังค่อนเข้างเก็บลายนิ้วมือดี ใครมือมัน ๆ อาจต้องเช็ดบ่อยหน่อยนะ!

ส่วนวัสดุตัวเครื่องทำจาก Aluminium Alloy ที่แข็งแรงแต่เบา เดี๋ยวเอาขึ้นวัดให้ดูเลยครับว่าน้ำหนักเท่าไร ชั่งแล้วอยู่ที่ 1.2 กิโลกรัม ส่วนความหนาตัวเครื่องวัดได้อยู่ที่ 1.39 ซม. จัดว่าอยู่ในกลุ่มโน้ตบุ๊กที่บางและเบาครับ สะดวกต่อการพกพาไปใช้งานนอกสถานที่ครับ เวลาใส่ซองที่เขาแถมมาให้ก็เป็นแบบนี้

พอร์ตการเชื่อมต่อ

สำหรับพอร์ตก็ถือว่าน่าสนใจเลยครับ เพราะมีพอร์ต Thunderbolt 4 สองพอร์ตที่อยู่ในรูปแบบ USB-C จุดเด่นคือรับส่งข้อมูลเร็วมาก 40GB/s และพ่วงจอแยกระดับ 4K ได้สองจอ หรือถ้าเป็น 8K ได้หนึ่งจอ นอกจากนี้ยังเป็น Power Delivery ที่รองรับการชาร์จไฟ 65W ผ่านอะแดปเตอร์ USB-C รวมถึงแชร์แบตไปชาร์จอุปกรณ์ชิ้นอื่นได้ เหมือนกับ PowerBank เลยครับ ข้อดีอีกอย่างที่ผมชอบคืออะแดปเตอร์เอาไปชาร์จมือถือได้ด้วยนะ พกอะแดปเตอร์ตัวเดียวใช้ชาร์จอุปกรณ์อื่นๆที่เป็น USB-C ได้ทั้งหมดเลย

พูดถึงการชาร์จไฟ กองบรรณาธิการแบไต๋ก็ได้ทดสอบชาร์จแบต 0-60% ก็ใช้เวลาประมาณ 49 นาที โดยความจุแบตอยูที่ 67Whs หรือประมาณ 4200 mAh ครับ จากที่ทดลองใช้งานประมาณ 1 อาทิตย์พบว่า หากใช้งานทั่วไป เช่น พิมพ์งาน ประชุมทางไกล แบตจะอยู่ได้ประมาณ 5-8 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้งานหนัก ๆ แบตจะอยู่ที่ 2-4 ชั่วโมงเท่านั้นครับ ถือว่าน้อย แต่ก็พอเข้าใจได้เพราะหน้าจอ 4K กินไฟมาก บวกกับรองรับทัชสกรีนก็ยิ่งกินเข้าไปอีก

ส่วนพอร์ตอื่น ๆ ก็มี HDMI และ USB-A เวอร์ชั่น 3.2 Gen 1 อย่างละ 1 พอร์ตครับ ส่วนพอร์ตหูฟัง 3.5 มม. และพอร์ต Lan รุ่นนี้ไม่มีให้ แต่ก็แถมอะแดปเตอร์มาให้ในกล่องครับ ส่วนปุ่มเปิด-ปิดเครื่องที่อยู่ด้านข้างใกล้ ๆ กัน การที่ปุ่มเปิด/ปิดเครื่องอยู่ตรงนี้ก็ช่วยให้การใช้งานเวลาพับสะดวกครับ

สเปก

พูดถึงเรื่องสเปกกันบ้างครับ ASUS ZenBook Flip S รหัส UX371 มีสเปกเดียวคือ Intel Core i7-1165G7 ซีพียูเจเนอเรชันใหม่ล่าสุด กับโค้ดเนมดุ ๆ Tiger Lake บนสถาปัตยกรรม 10 นาโนเมตร ฟาดผลทดสอบจาก Geekbench 5 แบบ Single-Core ไป 1378 คะแนน ส่วน Multi-Core ก็ 2676 คะแนน และการทดสอบด้วย Cinebench R20 ก็ได้ 1851 คะแนนครับ ถือว่าสูงอยู่ และสูงกว่าเจนเนอเรชั่นก่อนหน้าแบบเห็นได้ชัดเลยทีเดียว

ส่วนการ์ดจอก็เป็น Intel Iris Xe ที่อยู่ในตัวซีพียู ทำผลทดสอบจาก 3DMark แพ็ก Time Spy ผลออกมาได้ 1,361 คะแนน ความแรงเทียบกับการ์ดจอแยก MX 350 ที่มีคะแนนราว ๆ 1,300 ได้เลย นั่นแปลว่าสามารถเล่นไฟล์วิดีโอความละเอียด 4K ได้แบบลื่น ๆ เลยครับ

ด้านแรมเป็นแบบ LPDDR4X ความเร็ว 4266MHz ขนาด 16GB อันนี้ถือว่าเร็วมาก ส่วนไดรฟ์เก็บข้อมูลในเครื่องก็เป็นแบบ PCIe 3.1 x4 SSD NVMe M.2 ขนาด 1TB ทำผลทดสอบจาก CrystalDismark การอ่านอยู่ที่ 3400 MB/s การเขียนอยู่ที่ 3090 MB/s ครับ ถือว่าสูงมาก หากเป็นโน้ตบุ๊กทั่วไปความเร็วจะอยู่ต่ำกว่านี้อยู่มาก อยู่แค่ราว ๆ ไม่เกิน 2000MB/s

โดยสรุปผลทดสอบภาพทุกการใช้งาน รวมจากโปรแกรม PCMark ก็กวาดไปได้ 4613 คะแนน ถือว่าอยู่เหนือกว่าโน้ตบุ๊กหลาย ๆ รุ่นเลยครับ

นอกจากนี้กองบรรณาธิการแบไต๋ก็ทดสอบด้วยการเล่นเกม Dota 2 ด้วยความละเอียดระดับ 4K พร้อมกับปรับความสวยงามต่ำสุดก็พบว่า fps แกว่งไปมาอยู่ที่ 30-60 fps ถือว่าพอเล่นได้ครับ

มาดูเรื่องซอฟต์แวร์ภายในกันบ้างครับ เป็นปกติอยู่แล้วที่โน้ตบุ๊ก ASUS จะติดตั้งซอฟต์แวร์ My ASUS มาให้ครับ แต่ในรุ่นนี้จะมีความพิเศษตรงที่สามารถตั้งค่าฮาร์ดแวร์ได้หลากหลายกว่าเดิม เช่น การชาร์จแบต, โหมดพัดลม, การแสดงสีหน้าจอ แต่ที่น่าสนใจคือมี AI Clear Voice ช่วยในการตัดเสียงรบกวนจากไมโครโฟนและลำโพงครับ ช่วยให้การประชุมออนไลน์ไร้เสียงรบกวนครับ

ข้อสังเกต

หลังจากที่เราใช้งานมาประมาณ 1 อาทิตย์ก็สามารถสรุปข้อสังเกตของ ASUS ZenBook Flip S มาได้ 2 เรื่องก็คือ แบตเตอรีถือว่าไม่ค่อยอึดเท่าไร แต่ก็ยังแก้ไขได้ด้วยการชาร์จผ่านช่อง USB Type-C ที่สะดวกมากๆ และชาร์จเร็ว ใช้เวลา 49 นาที ได้แบตเตอรีถึง 60% และความร้อน CPU ค่อนข้างสูงครับ เวลาหนัก ๆ จะร้อนถึง 80-95 องศา ทำให้ไม่ค่อยสบายมือเท่าไรครับ

ราคา

มาถึงเรื่องราคา ASUS ZenBook Flip S รหัส UX371 เปิดตัวอยูที่ 55,990 บาท ราคานี้คุณจะได้ ความครบเครื่องในรุ่นเดียว พร้อมกับหน้าจอเทพ OLED 4K และสเปก Intel Core i7-1165G7 แรม 16GB ความจุ 1TB หากถามถึงความคุ้มค่า ก็ต้องบอกว่าน่าจัด

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส