
Our score
9.2รีวิว MacBook Pro Apple M1 “ของโคตรดีย์ ไปซื้อเหอะ”
จุดเด่น
- เร็วแรงจริง ไม่ได้โม้
- โปรแกรม x86 ยังรันได้ปกติ แต่ยังไม่ใช่ทุกตัวที่รันได้
- แบตอึดแบบที่ 3 วันชาร์จทียังไหว
จุดสังเกต
- เว็บแคมยังมีความละเอียดที่ 720p (หักคะแนนเพราะอันนี้แหละ)
-
ประสิทธิภาพ
10.0
-
แบตเตอรี
10.0
-
ดีไซน์
9.0
-
ความเข้ากันได้ของโปรแกรม
9.5
-
ความคุ้มค่า
9.0
-
สเปกอื่น ๆ
8.0
หลังจากการมาของชิป Apple M1 บนอุปกรณ์ Mac ทั้ง 3 รุ่น ทางเรา #beartai ก็ได้ลองเล่นเจ้า MacBook Pro 13″ M1 มา 3 อาทิตย์เต็ม ก็เลยจะเป็นบทนำไปสู่การรีวิว และความรู้สึกจริง หลังได้ใช้งานกันแบบเต็มที่ พร้อมแนะนำว่าควรหรือยัง กับการมาเป็นหนูทดลองของ Apple!

MacBook Pro 13 นิ้ว รุ่น Apple M1 ที่เราเอามาทดสอบกันเป็นเครื่องเริ่มต้น Base Model มาพร้อมกับชิป Apple M1 แบบ SoC มี CPU 8 คอร์ และ GPU 8 คอร์ และแรมแบบ Unified Memory ขนาด 8GB ทั้งหมดแพ็กกันอยู่ในชิปตัวเดียวกันหมด


ไม่พูดเยอะ เข้าเรื่องรีวิวกันเลย
ประสิทธิภาพ
ทางด้านประสิทธิภาพ จริง ๆ ไม่ค่อยอยากจะหยิบมาพูดอีกรอบสักเท่าไหร่ (เอาเป็นว่าเราอยากให้เป็นอ่านผลทดสอบอันนี้) เพราะหลายคนที่มาอ่านตรงน่าจะเห็นพวกคะแนนทดสอบ หรือการหยิบเอาเครื่อง M1 ไปทดสอบกับเครื่องชิป x86 ระดับราคาเป็นแสน ๆ หรือแม้แต่ทางเราเองก็ยังได้หยิบไปทดสอบกับ Mac Pro รุ่นบัตรพี่หนุ่ยเอง ก็พบว่าประสิทธิภาพของ M1 นั้นแรงเกินราคาไปมาก
ตรงนี้ก็จะสรุปให้เป็นว่า “ชิป Apple M1 นั้นแรงเกินเบอร์ไปมาก หากคุณยังใช้ MacBook Intel อยู่ แล้วได้ลองมาสัมผัสดู ต่อให้เป็นชิป Core i7 หรือ Core i9 คุณก็จะรู้สึกถึงความแตกต่างได้”

แบตเตอรี
เรียกได้ว่าเป็นฟีเจอร์พระเอกสำหรับชิปตัวนี้เลยก็ว่าได้ ก่อนจะพูดถึงประสิทธิภาพของแบตเตอรี เรามาดูสเปกกระดาษที่ Apple อ้างเอาไว้กันก่อน

ในส่วนของ MacBook Pro M1 สามารถใช้งานแบตเตอรีได้สูงสุดที่ 20 ชั่วโมง หากใช้งานเพียงแค่ท่องอินเทอร์เน็ต และ Video Playback เท่านั้น ซึ่งฟัง ๆ ดูแล้ว หากเป็นผู้ใช้งานฝั่ง Windows หรือ MacBook รุ่นก่อนเอง ก็อาจจะฟังดูเวอร์วังมาก เพราะ MBP รุ่น Intel ใช้งานแตะ 8 ชั่วโมงได้ก็เก่งแล้ว
แต่หลังจากการทดสอบใช้งานมากว่า 3 อาทิตย์ ก็กล้าพูดเลยว่า Apple ไม่ได้โม้ แต่แบตมันอึดขึ้นอย่างผิดหูผิดตาจริง ๆ
จากการที่ทดสอบเอาไปเรียน และทำงาน ใน 12 ชั่วโมง และมี Screen Time ประมาณ 8 ชั่วโมง ปรากฏว่าแบตเตอรี่ลดลงไปเพียงแค่ 40% กว่า ๆ เท่านั้น และยังสามารถใช้งานต่อได้อีกหนึ่งวัน โดยที่กลับถึงบ้านไม่ต้องชาร์จอีกรอบให้เปลือง Cycle เลย

นั้นแปลว่า หากใช้งานด้วย working setup เดียวกัน จะสามารถใช้งาน MacBook เครื่องนี้ได้สูงสุดที่ 18 ชั่วโมงเลยทีเดียว (ที่ไม่เท่ากับที่ Apple อ้างไว้ เพราะผมไม่ใช้งานท่องเว็บอย่างเดียว มีการใช้โปรแกรมที่กินทรัพยาการหนัก ๆ อย่างเช่น Photoshop และ PyChram)
ถือว่าเป็นอีกจุดเด่นของ MacBook Pro M1 ตัวนี้ และน่าจะเป็นโน้ตบุ๊กที่มีแบตอึดที่สุดในขณะนี้แล้ว
การใช้งานโปรแกรม x86 หรือ Intel
หัวข้อนี้อยากหยิบมาพูดโต้ง ๆ เพราะน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หลายคนยังไม่กล้ามาใช้ Apple M1 แต่ขอพูดสั้น ๆ เลยว่า “แยกไม่ออก ว่าตัวไหนรันแบบ Native ตัวไหนแปลงสด ๆ ผ่าน Rosetta” ก็เพราะว่ามันแรงจนต่อให้แบ่งทรัพยากรไปให้ Rosetta 2 แปลงโคด ก็ยังรู้สึกลื่นไหลเหมือนโปรแกรมทั่ว ๆ ไป และยังลื่นกว่าชิปบางตัวที่เป็น x86 ด้วยซ้ำ

เสริมอีกหน่อย การจะเอาโปรแกรม x86 มาใช้งานบน Intel นั้นไม่ได้ยุ่งยากเลยสักนิด จะมีก็แต่ครั้งแรกที่ลงโปรแกรม จะขึ้นแจ้งเตือนว่าให้ลง Rosetta เพื่อใช้งานโปรแกรม Intel ไหม (จำเป็นต้องลง ลงแค่ตอนลงโปรแกรม x86 ตัวแรก) กดคลิกเดียวแล้วจบ หลังจากนั้นคุณก็จะไม่รู้เรื่องเลยว่าโปรแกรมที่คุณใช้นั้นรันผ่าน Rosetta อยู่ เพราะทุกอย่างรวดเร็ว และลื่นไหลไปหมด และไม่มี notice ขึ้นมาแจ้งเตือน
ถึงตรงนี้ก็กล้าพูดว่า หากคุณต้องการโน้ตบุ๊กสักเครื่องมาทำงานอย่างเดียว ก็ซื้อมาใช้เถอะครับ คุณจะไม่รู้สึกแตกต่างจากการใช้โน้ตบุ๊ก Intel เลย แต่แรงกว่า และกินไฟน้อยกว่าอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ก็อยากให้เช็กว่าโปรแกรมที่คุณใช้งานเนี่ย สามารถใช้งานได้บน MacBook M1 หรือยังผ่านเว็บไซต์นี้ > Is Apple Silicon Ready?
ซึ่งจะมี 2 แบบ หากเข้าข้อใดข้อหนึ่งนี้ และไม่มีการ notice ปัญหา (กดเข้าไปอ่านรายละเอียดได้) ก็แปลว่าสามารถใช้ได้ตามปกติ
- โปรแกรม x86 ที่รันผ่าน Rosetta 2 ได้ปกติ
- โปรแกรมที่รองรับแบบ Native แล้ว

และจากที่ผมมีอาชีพเป็นนักเขียน ช่างภาพ และกำลังเรียนอยู่ในระดับอุดมศึกษา (สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์) ก็ยังไม่พบโปรแกรมที่รันไม่ได้สำหรับผมเลย
และค่อนข้างมั่นใจว่า กว่า 80% ของตลาดโปรแกรม นั้นสามารถใช้งานบน Apple M1 ได้แล้ว
จุดเด่น และข้อสังเกต
ส่วนนี้จะพยายามเก็บประเด็นการใช้งานจริงที่ใช้แล้วรู้สึกว่ามันเจ๋งมาก กับข้อสังเกตที่ควรพึงระวังเอาไว้
จุดเด่น
แรมแบบ Unified Memory ในชิปนั้นเจ๋งเกินเบอร์ 8GB ก็รู้สึกเหมือน 32GB ได้
เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าใช้งานแรม 8GB ในช่วงปีนี้ แล้วรู้สึกเหลือพื้นที่เยอะแยะไปทำอะไรได้มากมาย

จากภาพ แม้ผมจะเปิดแท็บบน Google Chrome เป็นสิบ ๆ หน้า และเรนเดอร์วิดีโอ 4K จาก Premiere Pro ผ่าน Media Encoder ที่ต้องรันผ่าน Rosetta 2 ทั้งคู่ เครื่องก็ยังลื่นไหลปกติ ทั้งที่มีแรมเพียงแค่ 8 GB เท่านั้น
พัดลมเสียงเบามาก และเครื่องก็ไม่ค่อยร้อน
ต่อเนื่องจากภาพด้านบน ต่อให้ใช้งาน multi tasking ขนาดนั้น พัดลมเพียงแค่ตัวเดียวของเครื่องก็ไม่ทำงานเลย เพราะยังมีอุณหภูมิที่ไม่ร้อนเลยสักนิด (36 องศา)

ใครที่เคยชินกับเสียงเครื่องบินเจ็ตของ MacBook Pro คุณก็จะได้ตกใจกับสิ่งนี้ เพราะต่อให้พัดลมทำงาน มันก็แทบจะไม่รู้สึกเลย เพราะเงียบมาก นอกจากจะต้องเปิดโปรแกรม Monitor ดูเอา
อ้างอิงการทดสอบ Cinebench R23 แบบ Multi-Core

พัดลมจะเริ่มทำงานก็ต่อเมื่ออุณหภูมิเริ่มทะยานเข้าสู่ 50 องศา แต่เสียงก็ยังเงียบมากเช่นกัน (เงียบจนนึกว่าพัง จนเกือบจะส่งเคลมแล้ว)

จุดสังเกต
ในส่วนของจุดสังเกตจะไม่ได้ลงลึกรายละเอียดมาก แต่จะแจ้งเอาไว้ให้ทราบเพื่อเป็นตัวประกอบการตัดสินใจ และจะอัปเดตเรื่อย ๆ เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม หรือพบเจออะไรเพิ่มเติม
- ดีไซน์เดิม
- ยังหนักเท่าเดิม ทั้งที่เป็นชิปแบบ SoC แล้วน่าจะทำให้เบาลงได้อีกเยอะ
- ใช้ Bootcamp ไม่ได้แล้ว
- เว็บแคมยังเป็น 720p
- มีแต่รุ่น Thunderbolt 2 พอร์ต ซึ่งมันไม่พอสำหรับบางคน.
โดยรวม
มาถึงข้อสรุปสำหรับ MacBook Pro M1 ตัวนี้ บอกสั้น ๆ เลยว่า ถ้าคุณเป็นผู้ใช้งานทั่วไป ที่ต้องการโน้ตบุ๊กสักเครื่องมาทำงาน ก็ซื้อเถอะครับ ชิป Apple M1 นั้นพร้อมแล้วจริง ๆ สำหรับตลาดผู้ใช้งาน เพราะ Apple เตรียมตัวมาดีมาก ไม่คิดว่าผลที่ออกมาจะออกมาดีขนาดนี้

เร็วจริง แรงจริง แบตอึดจริง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน
ส่วนตัวค่อนข้างให้เครดิตกับ Rosetta 2 มากกว่า M1 หน่อยนึง เพราะเป็นหนึ่งในความท้าทายอย่างมาก ของนักพัฒนาของ Apple ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สมูทฝุด ๆ
ส่วนใครอยากรอให้เข้าที่กว่านี้ ก็ไม่ว่ากันครับ แต่สำหรับผม การเปิดตัว Generation แรกที่เปิดมาแล้วทำได้ดีขนาดนี้ เป็นอะไรที่เจ๋งมากจริง ๆ
รีวิวที่ดีต้องมีราคา
ไม่ถูกลง ไม่แพงขึ้น MacBook Pro 13″ M1 ตัวนี้ เปิดราคามาที่ 42,900 บาท เท่าเดิม สำหรับตัว Base Model ใครที่ถือตัว 13″ ชิป Intel ตัวเก่าอยู่ ผมแนะนำว่า อย่ารอช้า!

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส