รีวิว Dyson Lightcycle Morph โคมไฟราคาเกือบ 3 หมื่นบาท
Our score
8.6

รีวิว Dyson Lightcycle Morph โคมไฟราคาเกือบ 3 หมื่นบาท

จุดเด่น

  1. ดีไซน์สวยงาม ดูแปลกตากว่าโคมไฟทั่วไป
  2. สามารถส่องแสงกับงานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งใช้เป็นโคมไฟส่องงานบนโต๊ะ ไฟเน้นวัตถุ ไฟทางอ้อม หรือไฟบรรยากาศ
  3. แสงไฟคุณภาพสูง สามารถปรับความสว่างและอุณหภูมิสีได้อย่างละเอียด
  4. สั่งงานผ่านแอปได้ผ่าน Bluetooth ปรับแสงตามตำแหน่งที่อยู่ได้
  5. มีพอร์ต USB-C สามารถชาร์จอุปกรณ์ได้ด้วยไฟ 7.5 Watt

จุดสังเกต

  1. ราคาสูง
  2. ไม่รองรับการเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi ทำให้ไม่สามารถสั่งงานโคมไฟระยะไกลได้
  3. ไม่รองรับการสั่งงานด้วยเสียง
  • ดีไซน์

    9.0

  • คุณภาพแสง

    10.0

  • การสั่งงาน

    7.5

  • ความคุ้มค่า

    8.0

เมื่อ Dyson เจ้าแห่งเครื่องใช้ไฟฟ้าจากอังกฤษ ออกผลิตภัณฑ์เป็นโคมไฟ มันก็ต้องเต็มไปด้วยเรื่องทางวิศวกรรมที่ไม่ธรรมดา ซึ่งก่อนหน้านี้ไดสันเคยออกโคมไฟ Dyson Lightcycle ออกมาแล้ว แต่เป็นรุ่นที่ใช้เป็น Task Light หรือไฟส่องโต๊ะสำหรับทำงานอย่างเดียวเท่านั้น ไดสันจึงออกโคมไฟรุ่นใหม่คือ Dyson Lightcycle Morph ที่สามารถบิดโคมไฟอิสระหลายทิศทางได้ ซึ่งเราได้เป็นรุ่นตั้งพื้นมารีวิว ที่มีราคาถึง 27,900 บาท โคมไฟราคาสูงแบบนี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง มาดูกันครับ

รีวิว dyson Lightcycle รุ่นแรก

ดีไซน์ของ Dyson Lightcycle Morph

โคมไฟที่เราได้มานั้นเป็นรุ่นตั้งพื้นนะครับ ก็จะมีความสูง 1.25 เมตร หนัก 6.1 กก. ก็จะมี 3 ส่วนประกอบหลักๆ คือตัวฐานที่ค่อนข้างหนัก ทำให้สามารถตั้งโคมไฟได้อย่างมั่นคง ตัวแกนกลางที่มีรูจำนวนมาก สำหรับใช้งานแบบไฟบรรยากาศ และส่วนหัวที่เป็นโคมไฟสามารถหมุนได้ 3 แกน คือสามารถยืดหัวโคมไฟให้ยื่นออกไปได้ 360 องศาในระนาบแนวนอน และตัวหัวโคมเองก็สามารถหมุนได้รอบในระนาบแนวตั้งเช่นกัน ทำให้สามารถส่องแสงจุดไหนก็ได้ครับ

ที่ก้านไฟเราจะเห็นท่อทองแดงอยู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบระบายความร้อนของหลอดไฟครับ ทำให้ความร้อนของดวงไฟวิ่งไปตามท่อทองแดงนี้ ซึ่งถ้าจับที่ท่อทองแดงนี้หลังจากเปิดไฟไปสักพักจะรู้สึกอุ่นๆ ครับ ไม่ได้ร้อนมาก จึงทำให้ไดสันเคลมว่าโคมไฟรุ่นนี้สามารถใช้ได้นาน 60 ปีโดยไม่ต้องเปลี่ยนหลอดไฟเพราะมีการระบายความร้อนที่ดี ทำให้หลอดไฟเสื่อมยาก แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุจนชิ้นส่วนเสียหาย ก็สามารถติดต่อซ่อมกับไดสันได้ครับ

ที่ตัวแกนกลางนั้นจะมีพอร์ต USB-C ที่เอาไว้ชาร์จไฟให้อุปกรณ์อื่นครับ ก็น่าเสียดายว่าให้มาเป็นพอร์ต USB-C ทั้งที แต่กลับจ่ายไฟได้แค่ 5V 1.5A หรือไฟ 7.5 W ซึ่งก็ถือเป็นการชาร์จช้าในปัจจุบัน

การควบคุม Dyson Lightcycle Morph

Dyson Lightcycle Morph Control

ตัวโคมไฟสามารถให้แสงได้สว่างสุด 1000 lux และสามารถเลือกอุณหภูมิสีได้ตั้งแต่ 2700K ถึง 6500K โดยทั้งความสว่างและอุณหภูมิสี สามารถปรับได้ด้วยการแตะที่แถบปรับแสงเหนือหลอดไฟครับ จะลากเพื่อปรับหรือจะแตะเพื่อปรับก็ได้ แล้วก็มีปุ่มเปิด-ปิดหลอดไฟอยู่ที่บริเวณกลมๆ เหนือโคมไฟ

ส่วนด้านล่างของก้านหลอดไฟ จะมีปุ่มควบคุม 3 ปุ่มครับ คือปุ่ม Auto สำหรับปรับความสว่างของแสงเองให้เหมาะสมสำหรับความสว่างรอบตัวหลอดไฟ แล้วก็ปุ่ม Away ที่ทำให้หลอดไฟปิดเอง เมื่อโคมไฟคิดว่าไม่มีคนอยู่แถวนั้น และปุ่มเปิด Dyson Link ที่จะเชื่อม Bluetooth กับมือถือ ซิงก์ลักษณะแสงไฟให้ตรงกับแสงธรรมชาติในตำแหน่งและเวลาที่ใช้หลอดไฟครับ ทำให้หลอดไฟเราให้แสงเหมือนแสงธรรมชาติรอบตัวมากที่สุด

นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมผ่านแอป Dyson Link ในมือถือได้ครับ โดยสามารถสั่งการทำงานของโคมไฟได้เหมือนการสั่งที่โคมเลย สามารถกำหนดตำแหน่งที่ใช้ไฟเพื่อปรับแสงให้เหมาะกับโลก สามารถระบุอายุผู้ใช้เพื่อให้ระบบเอาไปคำนวณแสงที่เหมาะสมได้ด้วย รวมถึงสามารถอัปเดตเฟิร์มแวร์ของโคมไฟได้ด้วย

เพียงแต่ว่าการควบคุมผ่านแอปนั้นจะทำผ่าน Bluetooth เท่านั้นครับ ไม่สามารถทำงานผ่าน Wi-Fi ได้เหมือนพัดลม Dyson Pure Cool จึงมีข้อจำกัดการในสั่งงานคือไม่สามารถสั่งจากนอกบ้านได้ และไม่สามารถใช้คำสั่งเสียงเช่นสั่ง Google Assistant ให้เปิด-ปิดไฟได้ครับ นอกจากนี้ยังไม่รองรับการใช้งานหลายๆ คน ทำให้สามารถระบุอายุผู้ใช้ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น

คุณภาพแสงไฟจาก Dyson Lightcycle Morph

ประเด็นนี้สรุปสั้น ๆ ว่าเป็นคุณภาพแสงแบบเดียวกับ Dyson Lightcycle รุ่นแรกครับ คือเป็นแสงที่ดีสำหรับการทำงานเลย ใช้งานนาน ๆ ก็ไม่รู้สึกว่าตาล้าเพราะเราไม่รู้สึกว่าแสงกะพริบครับ แสงนิ่งมาก ปรับให้เบาหรือเร่งแสงให้แรงสะใจก็ได้ และความสามารถในการปรับอุณหภูมิแสงและความสว่างตามแหล่งที่อยู่ ก็ทำให้ได้ลักษณะแสงที่เหมาะสมกับการใช้งานในเวลานั้นครับ ซึ่งราคาที่สูงของโคมไฟรุ่นนี้ก็ให้แสงสว่างที่มีคุณภาพตามราคาครับ

แต่ถึงคุณภาพแสงจะโดย Dyson Lightcycle Morph จะไม่ต่างจาก Lightcycle รุ่นแรก แต่ด้วยรูปแบบขาตั้งไฟที่สามารถปรับได้หลายทิศทางจึงทำให้โคมไฟรุ่นนี้สามารถใช้งานได้ 4 รูปแบบคือ

1. Feature light ไฟเน้นวัตถุ

เพราะ Dyson Lightcycle Morph สามารถบิดตัวโคมไฟได้หลากหลายทิศทาง จึงสามารถปรับไฟให้ยิงเข้าผนังเพื่อเน้นรูปภาพ หรือเน้นวัตถุต่าง ๆ ได้

2. Task light ไฟสำหรับทำงาน

อันนี้เป็นรูปแบบมาตรฐานที่ Lightcycle รุ่นแรกทำได้อยู่แล้ว คือแสงไฟที่ส่องลงโต๊ะทำงาน ซึ่งก็สามารถปรับความสว่างและอุณหภูมิสีได้ อยากได้แสงโทนอุ่นหรือโทนเย็นก็ปรับที่ตัวหลอดไฟหรือแอปก็ได้

3. Indirect Light ไฟทางอ้อม

Dyson Lightcycle Morph

บางจังหวะเราอาจไม่ต้องการแสงไฟที่ส่องหาตัวเรา หรือส่องวัตถุโดยตรง เราก็สามารถบิดไฟส่องขึ้นเพดานหรือส่องกำแพงเพื่อให้สะท้อนกลับมาเป็นแสงที่นุ่มนวลแบบ Indirect Light ได้เช่นกัน

4. Ambient light ไฟบรรยากาศ

Dyson Lightcycle Morph

เป็นความสามารถพิเศษของ Dyson Lightcycle Morph เลยที่แกนตรงกลางของโคมไฟถูกเจาะนับหมื่นรู ซึ่งถ้าเราบิดโคมไฟเพื่อเอาแสงไปส่องผ่านแกนกลางนี้ ก็จะเหมือนหลอดไฟเรืองแสงสวย ๆ เป็นไฟบรรยากาศแต่งบ้านที่สวยมาก

สรุป Dyson Lightcycle Morph คุ้มไหมกับการลงทุน

Dyson Lightcycle Morph นั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 รุ่นนะครับ

  • Dyson Lightcycle Morph™ desk light (รุ่นตั้งโต๊ะ) ราคา 18,900 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับ Lightcycle รุ่นปกติ
  • Dyson Lightcycle Morph™ Floor light (รุ่นตั้งพื้น) ราคา 27,900 บาท
Dyson Lightcycle Morph

ถ้าถามว่ามันดีไหม มันดีจริงๆ ครับ คุณภาพแสง ความยืดหยุ่นในการใช้งานนี่กินขาดโคมไฟทั่วไปเลย เป็นโคมไฟที่ดีไซน์ในเชิงวิศวกรรมได้เด็ดขาดมาก ซึ่งถ้ามองในมุมความสามารถและนวัตกรรมก็คุ้มค่าตัวนะครับ แต่ถ้าใครไม่รีบ เราว่ารอให้รุ่นที่ต่อ Wi-Fi ได้ออกมาก่อนดีกว่า มันจะใช้งานได้ยืดหยุ่นกว่านี้ครับ

ซึ่งเราถามทีมไดสันไปว่าทำไม Dyson Lightcycle ถึงต่อ Wi-Fi ไม่ได้ ทีมงานก็ตอบมาว่าพวกเขาดีไซน์ไว้สำหรับเป็นโคมไฟที่ใช้ใกล้มือ ใกล้ตัวครับ ทำให้ใช้ Bluetooth ก็น่าจะเหมาะกว่า แต่เราก็ยังมองว่าสำหรับ Dyson Lightcycle Morph มันมีประโยชน์เป็นของแต่งบ้าน และทำตัวเป็นไฟบรรยากาศให้บ้านได้ด้วย (โดยเฉพาะรุ่นตั้งพื้น) มันก็ควรจะสั่งงานผ่าน Wi-Fi เป็นอุปกรณ์ IoT ได้นะครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส