
Our score
9.0รีวิว ASUS TUF DASH F15 ร่างบาง น้ำหนักเบา สเปคโหด ราคาเข้าถึงง่าย!
จุดเด่น
- เพียวบาง น้ำหนักเบา พกพาสะดวก
- สเปกซีพียูและการ์ดจอจัดเต็ม
- หน้าจอไหลลื่น 240Hz
- มีพอร์ตครอบจักรวาล Thunderbolt 4
จุดสังเกต
- ไม่มีกล้อง Webcam ตามสไตล์โน้ตบุ๊กเกมมิง
- คีย์บอร์ดมีไฟสีเดียว ไม่ใช่ RGB
- ตัวเครื่องติดรอยนิ้วมือง่าย
- ไม่มีช่องอ่านการ์ด
-
ดีไซน์
8.0
-
การพกพา
9.0
-
หน้าจอ
9.5
-
ประสิทธิภาพ
9.5
-
ความคุ้มค่า
9.0
ใครว่าโน้ตบุ๊กสเปกแรง ๆ จะต้องหนาและหนัก!! วันนี้ #beartai จะมารีวิว ASUS TUF DASH F15 รหัสรุ่น FX516PR-AZ019T โน้ตบุ๊กดีไซน์หล่อเหลา รูปร่างบางเบา พร้อมสเปกแรง (โคตร) Intel Core i7-11370H + NVIDIA RTX 3070 ในราคาจับต้องได้ รายละเอียดเป็นอย่างไร ไปดูกัน
ดีไซน์มินิมอล รูปร่างบางเบา พกสะดวก
ด้วยความที่โน้ตบุ๊กสายเกมมิง มักมีน้ำหนักและความหนาค่อนข้างเยอะ ทำให้หลายคนไม่อภิรมย์เวลาต้องพกไปใช้นอกสถานที่ แต่กับ ASUS TUF DASH F15 นั้นถือว่าแตกต่าง เพราะชูจุดเด่นเรื่องรูปร่างที่บางแค่ 1.99 ซ.ม. และหนักเพียง 2 ก.ก. ตามสโลแกน ULTRATHIN FOR THE WIN เรียกได้ว่าสัดส่วนและน้ำหนักขนาดนี้ หากเทียบกับคลาสโน้ตบุ๊กเกมมิงของ TUF ก็ถือว่าบางกว่า 20% และเบากว่า 10% เลยทีเดียวครับ

ด้านรูปร่างหน้าตาภายนอกก็ออกแบบให้ดูเรียบ ๆ แบบมินิมอล ฝาหลังมีการสลักลวดลายโลโก้ที่มุมและอักษร TUF แนวตั้ง นี่เป็นดีไซน์ใหม่ของ TUF ประจำปี 2021 ส่งผลให้ภาพรวมตัวเครื่องดูไม่สะดุดตา เวลาเอาไปใช้นั่งพิมพ์งานในร้านคาเฟ่ หรือไปใช้พรีเซนต์ในห้องประชุมครับ เรื่องความทนทานอันนี้ก็ไว้ใจได้ การออกแบบตัวเครื่องเป็นไปตามมาตรฐานทางการทหาร MIL-STD-810H ด้านทนตก ทนสั่น ทนร้อน ทนหนาว ทนชื้น สำหรับตัวเครื่องมีให้เลือกสีเดียวคือ สีเทา Eclipse Gray

ตัวคีย์บอร์ดก็เป็นแบบ Backlit Chiclet ที่ปุ่ม WASD เป็นแบบใส ทำให้เห็นไฟสีฟ้าอมเขียวชัดเวลากลางคืน โดยเราสามารถปรับแสงคีย์บอร์ดได้ 3 รูปแบบ (Static, Breathing, Strobing) และปรับความสว่างได้ 3 ระดับ ด้วยปุ่ม Fn+F2/F3/F4 หรือจะเข้าไปปรับในโปรแกรม Armoury Crate ก็ได้เหมือนกัน แต่แอบเสียดายไฟใต้คีย์บอร์ดมีสีเดียว ไม่ได้วิบวับ ๆ RGB เหมือนกับรุ่น TUF Gaming A15 สำหรับทัชแพดก็มีขนาดใหญ่ ให้สัมผัสลื่นนิ้วเวลาใช้งาน
จอสีตรง และลื่นตาแตกแบบ 240Hz

ASUS TUF DASH F15 ใช้หน้าจอขอบบางแบบ Super Narrow Bezel ที่เป็นประเภท IPS ขนาด 15.6 นิ้ว โดยมีความละเอียดอยู่ที่ Full HD พร้อมกับ Refresh Rate 240Hz และอัตราการตอบสนอง 3ms ที่คอเกมคนไหนเห็นเป็นต้องอยากได้ จากที่ทดลองใช้มา กล้าพูดเลยว่าลื่นตาแตกตั้งแต่ครั้งแรกที่สัมผัส แค่เลื่อนฟีดเฟซบุ๊กก็รู้สึกเลยว่าแตกต่างกับหน้าจอทั่วไปมากมาย ขนาดยังไม่ได้เล่นเกมนะเนี่ย ถ้าเล่นแล้วจะฟินขนาดไหน นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Adaptive-Sync ป้องกันภาพหน้าจอฉีกขาดตอนเล่นเกม เวลาที่เครื่องทำ FPS ได้สูงกว่า Refresh Rate ของหน้าจอ อันนี้เหมาะกับคนที่เอาไปต่อจอแยกแบบ 60Hz
และด้วยความที่เป็นหน้าจอแบบ IPS ที่มีการแสดงสีเที่ยงตรงระดับ sRGB 100% ก็ทำให้โน้ตบุ๊กเครื่องนี้เหมาะกับการเอาไปใช้งานจริงจังที่ต้องการหน้าจอสีตรง อย่างการออกแบบ งานตัดต่อ หรือการแต่งรูป จะงานไหนก็เอาอยู่ครับ หรือถ้าเป็นสายนอนดู NetFlix ก็บอกเลยว่าฟินตาแน่นอน!

ภาพดีแล้วต้องมาดูเรื่องระบบเสียงกันบ้าง ASUS TUF DASH F15 ใช้ลำโพงคู่ระบบเสียง DTS:X ที่ให้คุณภาพเสียงที่ดัง ฟังชัด เบสสัมผัสได้ รวมถึงมี Two-Way AI Noise Cancelation ระบบ AI ช่วยตัดเสียงรบกวนทั้งไมโครโฟนและลำโพงในเวลาเดียวกันถือว่าแจ่ม แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีสิ่งที่หายไปอยู่นั่นก็คือกล้อง Webcam แต่อันนี้เข้าใจได้เพราะโน้ตบุ๊กเกมมิงส่วนใหญ่ก็ตัดออกไปหลายเจ้าเหมือนกัน
สเปกจัดเต็ม ฟาดโหด ๆ ตั้งแต่ต้นปี
ต้องบอกว่า ASUS TUF DASH F15 ถือเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นแรกในประเทศไทย ที่เปิดตัวมาพร้อมกับสเปกซีพียู Intel H Seriesเจเนอเรชัน 11 และการ์ดจอ RTX 30-Series ทำให้เรื่องประสิทธิภาพนั้นถือว่าแรงแบบสุด ๆ ซึ่งซีพียูในรุ่นที่เราได้มารีวิวนี้คือ Intel Core i7-11370H เราก็ทดสอบของแรงด้วย Geekbench 5 ผลออกมาคือคว้าคะแนนแบบ Multi-Core ไปได้ 5,009 คะแนน ส่วนด้านการแรนเดอร์ก็ทดสอบด้วย Cinebench 20 ผลออกอยู่ที่ 2751 คะแนน ซึ่งถือว่าสูงพอ ๆ กับ Core i9-10885H ในเจเนอเรชันที่ 10 เลยครับ เรื่องประสิทธิภาพคงไม่มีข้อกังขาสำหรับรุ่นนี้เลย

ส่วนการ์ดจอก็มีอยู่สองตัวคือ หนึ่งคือ Intel Iris Xe ที่ติดมากับซีพียู ตัวนี้ใช้ไฟน้อยเหมาะกับงานทั่วไป อีกตัวคือการ์ดจอแยกทรงพลัง NVIDIA RTX 3070 (VRAM 8GB) ที่ออกแบบมาเพื่อให้การเล่นเกมลื่นไหลโดยเฉพาะ ชื่อชั้นก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังเลยครับ ทำผลทดสอบจาก 3DMark ชุด Fire Strike Ultra ก็ทำคะแนนไป 5457 คะแนน ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ โน้ตบุ๊กเกมมิงที่เปิดตัวในปี 2021 เลยครับ
โดยแรมในรุ่นนี้ให้มาเป็น DDR4 ความจุสูงสุดขนาด 16GB (8GB ติดบอร์ด + 8GB สล็อตเสียบ) พร้อม BUS Speed 3200MHz ที่ให้มาขนาดนี้ก็เพื่อจะได้เร็วพอที่จะตอบสนองการทำงานของซีพียู 11th Gen Core ที่แรงขึ้น การอัปเกรดแรมก็ง่าย ถอดเปลี่ยนแรม 8GB ช่องเดิมออก แล้วใส่ 16GB ตัวใหม่เข้าไป ทำให้เครื่องนี้มีแรมสูงสุด 24 GB เลยทีเดียว สำหรับความจุตัวเครื่องก็เป็น SSD NVMe M.2 PCIe 3.0 ความจุสูงสุดที่ 1TB โดยความเร็วในการอ่านเขียน ก็มีความเร็วเกิน 3,000 MB/s ทั้งการอ่านและการเขียน (ทดสอบด้วย CrystalDiskMark) การอัปเกรดความจุก็ไม่ยากสามารถสามารถใส่เพิ่มได้อีกหนึ่งช่องเลย

ถ้าถามว่าสเปกแรงแบบนี้ เอาไปเล่นเกมแล้วจะลื่นแค่ไหน? เราก็ได้ทดสอบกับเกมที่คิดว่าน่าจะดึงประสิทธิภาพของทั้งซีพียูและการ์ดจอออกสูงสุด เช่น Cyberpunk 2077, Battlefield 5, Call of Duty : Warzone ซึ่งทุกเกมเราจะเลือกตั้งค่ากราฟิกให้สูงสุด และสัดส่วนความละเอียด 1080p เพื่อดูว่าความลื่นอยู่ในระดับไหน ผลออกมาได้ดังนี้
- Cyberpunk 2077 | Ray Tracing Ultra : 25-30 fps | Medium (ไม่เปิด Ray Tracing) : 40-50 fps
- Battlefield 5 | Ultra | 70-100 fps
- Call of Duty : Warzone | Ultra + Ray Tracing | 65-75 fps
- PUBG | Ultra | 80-110 fps
- Overwatch | Epic | 140-160 fps
ในภาพรวมของทุกเกมก็ถือว่าลื่นมาก (สำหรับโน้ตบุ๊กเกมมิง) ขนาดตั้งค่าสูงที่สุดแล้วยังได้ขนาดนี้ แต่ถ้าอยากเร่ง fps ให้สูงกว่านี้เพื่อให้เท่ากับ Refresh Rate 240Hz ของหน้าจอ ก็สามารถลดความละเอียดของกราฟิกลงได้อีกเยอะเลยครับ ก็ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กเกมมิงที่แรงเลยล่ะครับ
แม้เครื่องจะบาง แต่ระบายความร้อนดี

พูดถึงระบบระบายความร้อนกันบ้าง ASUS TUF DASH F15 ก็ถือว่าให้มาดี มีท่อทองแดงระบายความร้อนภายใน 5 เส้น กับพัดลม 83 ใบพัดจำนวน 2 ตัวพร้อมระบบทำความสะอาดตัวเอง (Self-Cleaning) จุดนี้ทำให้เราไม่ต้องพะวงเรื่องฝุ่นสักเท่าไร ส่วนช่องระบายความร้อนก็มีให้ถึง 4 จุด ทำให้เวลาใช้งานหนัก ๆ ความร้อนไม่สูงเท่าไรนัก ความร้อนซีพียูเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 องศา ส่วนการ์ดจออยู่ที่ 70-77 องศา

จากที่ใช้งานมา จุดที่ชอบคือความร้อนไม่สะสมตรงคีย์บอร์ดมากนัก อย่างมาก็แค่รู้สึกอุ่นเล็กน้อยที่ปลายนิ้ว ช่วยให้เราสามารถใช้งานนาน ๆ ได้เลย และแต่รู้สึกว่าเครื่องเริ่มร้อนเกินก็สามารถ จำกัดประสิทธิภาพการทำงาน และความเร็วของพัดลมได้ด้วยนะ เข้าไปปรับในโปรแกรม โปรแกรม Armoury Crate หรือกดปุ่ม Fn+F5 ก็ได้เหมือนกัน โดยจะมีให้เลือก 3 รูปแบบ ได้แก่
- Silent ประสิทธิภาพน้อย พัดลมเบา
- Performance ประสิทธิภาพกลาง ๆ เริ่มได้ยินเสียงพัดลม
- Turbo ทำงานเต็มประสิทธิภาพ พัดลมทำงานเต็มที่ ได้ยินเสียงชัด
พอร์ตให้มาเพียบ เสียบเมาส์คีย์บอร์ดแยกได้สบาย ๆ

สำหรับ ASUS TUF DASH F15 ก็ให้พอร์ตที่จำเป็นต่อการใช้งานมาเยอะเลย ด้านขวามีช่องเสียบ USB-A 3.2 สองช่อง และช่อง Kensington Lock สำหรับล็อกต่อสายล็อกเครื่องครับ

ส่วนฝั่งด้านซ้ายก็มีช่องหูฟัง 3.5 มม. ถัดมาคือช่องเสียบ Thunderbolt 4 ที่รับ-ส่งข้อมูลรวดเร็วถึง 40GB ต่อจอแยกได้ 8K: หนึ่งจอ 4K: สองจอ และยังมีเทคโนโลยี PD Charging (Power Delivery) ที่รับการชาร์จไฟจากอะแดปเตอร์ที่เป็น USB-C ซึ่งถ้าใครมีที่ชาร์จมือถือแบบ 65W ขึ้นไป ก็สามารถเอามาเสียบชาร์จแบตให้โน้ตบุ๊กได้เลย อันนี้ดีมาก เราพกอะแดปเตอร์ตัวเดียวก็ชาร์จได้ทั้งมือถือและโน้ตบุ๊กเลย และนอกจากนี้ตัวพอร์ตยังสามารถแชร์ไฟไปชาร์จให้กับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ด้วยนะ ถือว่า Thunderbolt 4 เป็นพอร์ตสารพัดประโยชน์เลยล่ะ
ส่วนช่องอื่น ๆ ที่ให้มา ก็มี ช่องเสียบ USB-A 3.2 อีกหนึ่งช่อง และช่อง HDMI 2.0 เอาไว้ต่อจอแยก ถัดมาช่องเสียบสาย LAN (RJ45) แต่จากที่ใช้งานมารุ่นนี้เขามี Wi-Fi 6 ที่เร็วไม่แพ้กันมาด้วย ทำให้แทบไม่ค่อยได้เสียบสาย LAN เวลาต้องดาวน์โหลดหรือโอนไฟล์ลงระบบกลางสักเท่าไรเลย ส่วนช่องสุดท้ายก็เป็นช่องเสียบอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 200W ที่มีเทคโนโลยีชาร์จเร็ว (Fast Charge) ใช้เวลาชาร์จแบต 0-50% ภายใน 30 นาทีได้เลย อันนี้เหมาะกับคนที่เดินทางบ่อย ๆ ชาร์จทิ้งไว้แปปเดียวก็ใช้ต่อได้แล้ว

สำหรับแบตเตอรี่ ก็ต้องบอกว่าอึดพอสมควรหากใช้งานเบา ๆ กับการดูหนัง ฟังเพลง เล่นโซเชียล พิมพ์งาน ก็อยู่ได้สูงสุดถึง 17 ชั่วโมง กลับกันแต่ถ้าใช้งานหนัก ๆ รีดประสิทธิภาพเยอะ ๆ เช่น เล่นเกม ตัดต่อ แบตจะอยู่ได้ราว 1-3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งอันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของโน้ตบุ๊กเกมมิงครับ
ราคาและความคุ้มค่า
สุดท้ายรีวิวที่ดีก็จำเป็นต้องมีราคา ASUS TUF DASH F15 จะวางจำหน่ายให้จับจองเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป ในราคาก็ไม่แรงมาก สเปก Intel Core i7-11370H พร้อม NVIDIA RTX 3070 หน้าจอ 144Hz และความจุ SSD 512GB ราคาเริ่มต้นที่ 44,990 บาท ส่วนตัวเครื่องที่เราได้รับมารีวิวนี้เป็นตัวท็อป รหัส FX516PR-AZ019T สเปกซีพียูและการ์ดจอเหมือนกับรุ่นก่อนหน้า แต่สเปกหน้าจอและความจุจะเยอะกว่า จอลื่น 240Hz คู่กับความจุแบบเต็ม ๆ 1TB ในราคา 48,990 บาท
ส่วนเรื่องการรับประกันก็เป็นแบบ Worldwide สามารถส่งเครื่องเข้าไปซ่อมที่ศูนย์ ASUS ทั่วประเทศได้เลย แต่ถ้าไม่มีศูนย์อยู่ใกล้ ๆ ก็สามารถฝากส่งผ่านร้าน 7-ELEVEN ทุกสาขาทั่วประเทศได้เหมือนกัน อันนี้สะดวกมาก และนอกจากนี้ยังมีประกันอุบัติเหตแบบ Perfect Warranty ใน 1 ปีแรกอีกด้วยนะ สำหรับใครอยากจับตัวเครื่องจริง ก็ไปดูที่หน้าร้านตัวแทนจำหน่ายของ ASUS ได้ทั่วประเทศ หรือกดลิงก์นี้ได้เลย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส