รีวิว Sony WF-1000XM4 หูฟังไร้สายที่แท้ทรูตัวท็อป พร้อมเปรียบเทียบคู่แข่ง
Our score
9.2

Sony WF-1000XM4

จุดเด่น

  1. เสียงดีอย่างที่คาดหวัง ให้สัมผัสดนตรีเต็มๆ หนักแน่นในทุกย่าน
  2. การตัดเสียงรบกวนภายนอกทำได้ดีมาก เงียบแบบไม่รู้สิ่งรอบตัวเลยถ้าเปิดการตัดเสียงสูงสุดพร้อมเปิดเพลง
  3. ระบบเลือกโหมดตัดเสียงอัตโนมัติและ Speak to Chat คือฉลาดมาก ไม่มีแบรนด์ไหนทำได้
  4. มีระบบ 360 Realty Audio ของตัวเอง เมื่อเล่นกับเพลงที่รองรับจะให้ประสบการณ์การฟังเพลงที่แปลกใหม่
  5. เคสชาร์จขนาดเล็กกว่าเดิมมาก พกพาสะดวก แถมรองรับการชาร์จไร้สาย

จุดสังเกต

  1. ตัวหูฟังมีขนาดใหญ่ และจุกโฟมให้สัมผัสในการใส่ที่หลายคนอาจไม่ชิน บางคนอาจใส่แล้วระคายเคืองหู
  2. ไมโครโฟนปรับปรุงจากรุ่นที่แล้ว ใช้งานได้ดี แต่ก็ไม่ใช่ TWS ที่ไมค์ดีที่สุดในตลาด
  3. ค่ามาตรฐานของโหมดดึงเสียงภายนอก ดึงเสียงมากเกินไปจนรู้สึกว่ามีเสียงซ่าในหู (แก้แล้วใน firmware 1.2.6)
  4. โหมด Speak to Chat อาจหยุดเพลงเองถ้าเราไอหรือกระแอม
  • คุณภาพเสียง

    9.2

  • คุณภาพวัสดุ

    8.8

  • ความคล่องตัวในการใช้

    10.0

  • ความสามารถในการคุยโทรศัพท์

    8.5

  • ความคุ้มค่า

    9.5

หลังจากโซนี่ปล่อยให้หูฟังรุ่นก่อนอย่าง WF-1000XM3 ออกรับหน้าสู้ศึกกับหูฟัง True Wireless ทั่วสารทิศในท้องตลาดมายาวนานร่วม 2 ปี (รุ่น M3 เปิดตัวปี 2019) ในที่สุดก็มาถึงคิวของ Sony WF-1000XM4 ที่รับไม้ต่อจากรุ่นพี่ด้วยการปรับปรุงทุกด้าน พร้อมปะทะหูฟังไร้สายที่แท้ทรูทั้งตลาด! ส่วนมันจะดีแค่ไหน วันนี้เรามาแบไต๋ให้ดูกัน พร้อมเปรียบเทียบกับ Devialet Gemini, Sennheiser MOMENTUM True Wireless 2 และ OPPO Enco X ด้วยในตอนท้ายครับ

ความแตกต่างของ Sony WF-1000XM4 และ WF-1000XM3

WF-1000XM4WF-1000XM3
หน่วยประมวลผลV1QN1e
ไดรเวอร์6 mm +เพิ่มแรงแม่เหล็ก6 mm
จุกหูฟังจุกโฟมโพลียูรีเธนผิวยางแบบ High Friction
ลดเสียงลมทำได้ไม่ได้
รองรับ Hi-Resรองรับผ่าน LDACไม่รองรับ
ระบบชดเชยเสียงDSEE ExtremeDSEE HX
Speak to Chatมีไม่มี
ไมโครโฟน4 ตัว พร้อมเซนเซอร์ตรวจแรงสั่น2 ตัว
ป้องกันน้ำIPX4ไม่มี
ชาร์จไร้สายมีไม่มี

ดีไซน์

Sony WF-1000XM4 Box

ดีไซน์ของ Sony WF-1000XM4 นั้นแตกต่างจากหูฟังอื่น ๆ ตั้งแต่ตัวกล่องเลยนะครับ รุ่นนี้โซนี่มาในคอนเซ็ปต์รักษ์โลกสุด ๆ ด้วยกล่องขนาดเล็กที่ใช้วัตถุที่ย่อยสลายได้แทบทั้งหมดมาเป็นส่วนประกอบ แทบไม่มีการใช้พลาสติกเลย (ที่เจอคือมีพลาสติกแค่แผ่นเดียวสำหรับกั้นขั้วชาร์จของหูฟัง) ซึ่งเราก็นับถือแนวทางออกแบบกล่องของโซนี่ว่าน่าจะเป็นตัวอย่างให้ค่ายอื่น ๆ ทำกล่องแบบนี้ออกมาอีก จะได้ช่วยกันลดขยะที่ย่อยสลายยาก แค่จุดสังเกตสำหรับแง่มุมนักสะสมชอบเก็บกล่อง หรือคนที่อาจขายต่อในอนาคต คือหลังจากแกะกล่องแล้วจะเก็บกลับไปให้สวยเหมือนกล่องใหม่ได้ยากกว่าเดิม

Sony WF-1000XM4 มี 2 สีให้เลือกคือสีดำ-ทองแดง และสีขาวนวล-ทอง ซึ่งก็เป็นสีประจำของหูฟังไร้สายจากโซนี่ในกลุ่มท็อปครับ ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะออกสีใหม่แบบที่หูฟังครอบหู WH-1000XM4 ออกสีขาวสว่างมาเพิ่มรึเปล่านะครับ

Sony WF-1000XM4 สีขาว
Sony WF-1000XM4 สีขาว

ส่วนตัวเคสของหูฟัง ถ้าเทียบกับ Sony WF-1000XM3 เดิมแล้วรุ่นใหม่เล็กลง 40% เลย โซนี่ปรับปรุงเรื่องนี้มาดีมากจนได้เคสขนาดกะทัดรัด พกพาสะดวก แข่งกับหูฟัง TWS รุ่นใหม่ ๆ ได้เลย แถมมีแม่เหล็กยึดตัวหูฟังกับเคสไม่ให้หลุดออกจากกันง่าย ๆ เวลาใส่หูฟังกลับเข้าไปในเคสก็ไม่ต้องเล็ง เพราะแม่เหล็กจะดูดให้เข้ากับตำแหน่งพอดี

แต่เคสตัวนี้ไม่ได้มีปุ่มกดเพื่อเชื่อมต่อเหมือนหูฟัง TWS หลายๆ รุ่นในท้องตลาดนะครับ โดยด้านหน้าจะมีไฟแสดงสถานะของหูฟังหรือการชาร์จ ด้านหลังเป็นพอร์ต USB-C สำหรับการชาร์จไฟ ซึ่งหูฟังรุ่นนี้สามารถชาร์จไร้สายกับแท่นชาร์จในระบบ Qi ที่ใช้กันทั่วไปได้ด้วยครับ สะดวกมาก

ดีไซน์ตัวหูฟัง

Sony WF-1000XM4 Earbuds

ตัวหูฟังออกแบบแตกต่างจากรุ่นที่แล้วมาก โดยเป็นก้อนกลม ๆ พร้อมวงกลมสีทองแดงที่เป็นดีไซน์เอกลักษณ์ให้เห็นก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นหูฟังรุ่นล่าสุดจากโซนี่ ซึ่งวงกลมนี้จะเป็นไมโครโฟนภายนอกตัวที่ 1 และจะมีไมโครโฟนอีกตัวอยู่ทางด้านบน รวมแล้วหูฟังแต่ละข้างมีไมโครโฟน 2 ตัว เพื่อรับเสียงพูดและตัดเสียงรบกวน โดยหูฟังตัวนี้สามารถป้องกันน้ำได้ในระดับ IPX4 หรือป้องกันน้ำกระเด็นได้ ทำให้กันเหงื่อได้ระดับหนึ่งครับ

ที่น่าสนใจคือจุกหูฟังที่ทำจากโพลียูรีเธน หรือเรียกอีกอย่างว่าจุกหูฟังแบบเมมโมรี่โฟมก็ได้ ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นหูฟังแบบ TWS ให้จุกโฟมกันนะครับ ส่วนใหญ่อยู่ในหูฟัง In-ear ตัวแพงๆ มากกว่า ซึ่งโซนี่บอกว่าจุกหูฟังแบบนี้ทำให้กั้นเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดีขึ้น ตัดเสียงรบกวนได้ดีขึ้น แต่จะให้สัมผัสในการใช้งานที่กระด้างมากกว่าจุกแบบซิลิโคนที่เราคุ้นเคยกัน ใส่ครั้งแรกอาจรู้สึกแปลก ๆ ก็ต้องใส่ให้ชินนิดหนึ่งครับ

จุกหูฟังอีก 2 ขนาดในกล่อง
จุกหูฟังอีก 2 ขนาดในกล่อง

โดยในกล่องจะมีจุกโฟมอีก 2 คู่ รวมแล้วมีให้เลือก 3 ขนาดให้เหมาะกับรูหู ซึ่งเราสามารถใช้แอป Sony Headphone Connect ในมือถือเพื่อช่วยตรวจสอบได้ว่าเราใส่หูฟังแน่นดีแล้วหรือยัง ส่วนถ้าใส่แล้วรู้สึกว่าไม่แน่นสักที ให้ลองบีบจุกก่อนใส่เข้าไปในหู แล้วอยู่นิ่งๆ แป๊บหนึ่งเพื่อให้จุกโฟมขยายเข้าที่เข้าทางในหู จะทำให้ใส่ง่ายขึ้น และหูฟังหลุดจากหูยากขึ้น

แต่ถ้าลองแล้ว ยังไงก็ไม่ชอบจุกโฟม โซนี่ไม่ได้ให้ทางเลือกเป็นจุกซิลิโคนมาให้นะครับ ก็ต้องซื้อจุกเสริมมาใช้แทน

โซนี่พยายามออกแบบหูฟังให้เหมาะสมกับการใส่ในหูมากที่สุดครับ ทีมงานแบไต๋ที่ใส่จนชินแล้ว ใส่เป็นชั่วโมงก็ยังรู้สึกสบาย ๆ อยู่ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มีใบหูเล็ก ก็มีโอกาสระคายเคืองบ้างเพราะส่วนก้อนกลม ๆ ของหูฟังไปสัมผัสกับใบหูเยอะ ยังไงถ้าเป็นไปได้ ให้ไปที่หน้าร้านเพื่อทดลองใส่ก่อนครับ เพราะหูแต่ละคนไม่เหมือนกัน

การใช้งานและการควบคุม

Sony WF-1000XM4

การเชื่อมต่อกับ Sony WF-1000XM4 นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเราเอาหูฟังออกจากเคสนะครับ ต่างจากหูฟัง TWS รุ่นใหม่ ๆ ที่แค่เปิดฝาเคสก็เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนให้แล้ว แม้ว่าการเชื่อมต่อจะช้ากว่าหน่อย แต่ก็ไม่ได้น่ารำคาญครับ เอาหูฟังออกจากกล่อง แค่อึดใจเดียวก็เชื่อมต่อให้แล้ว แถมสามารถเชื่อมหูข้างซ้ายหรือข้างขวาเข้ากับสมาร์ตโฟนแบบใช้งานแค่ตัวเดียวก็ได้ ทำงานแยกอิสระทั้ง 2 ข้าง ไม่มีหูฟังตัวหลักหรือตัวรอง

ส่วนการควบคุมก็เป็นระบบสัมผัสเหมือนเดิม แต่สามารถสั่งงานได้แม่นยำขึ้นเพราะพื้นที่สัมผัสบริเวณก้อนกลม ๆ ของหูฟังนั้นใหญ่ใช้ได้เลย แตะยังไงก็โดนครับ โดยการสั่งงานมาตรฐานมีดังนี้

การสั่งงานหูซ้ายหูขวา
แตะ 1 ครั้งเปลี่ยนโหมดตัดเสียง/ดึงเสียงภายนอกเล่น/หยุดเพลง
แตะ 2 ครั้งรับสายหรือวางสายเรียกเข้า– เปลี่ยนเพลงถัดไป
– รับสายหรือวางสายเรียกเข้า
แตะ 3 ครั้งย้อนกลับไปต้นเพลงหรือย้อนเพลงก่อนหน้า
แตะค้างเข้าโหมด Quick Attention เพื่อดึงเสียงภายนอกเรียก Siri หรือ Google Assistant
แตะค้างทั้ง 2 ข้างเชื่อมต่ออุปกรณ์ใหม่ (Pairing Mode)เชื่อมต่ออุปกรณ์ใหม่ (Pairing Mode)

จะเห็นว่าการสั่งงานมาตรฐานไม่มีการเพิ่ม-ลดเสียงที่ตัวหูฟังนะครับ ต้องไปลดที่ตัวเครื่องเล่นเอา แต่ก็สามารถปรับการสั่งงานได้จากแอป Sony Headphone Connect ได้ แต่ก็ไม่สามารถตั้งปุ่มได้อย่างอิสระ คือถ้าจะปรับให้ปรับระดับเสียงได้ ก็ต้องเลือกว่าจะให้ฟังก์ชันไหนหายไประหว่างการควบคุมการเล่นเพลง หรือการปรับ Noise Canceling

ระบบทำงานอัจฉริยะ

Sony WF-1000XM4 ถอดความเป็นอัจฉริยะจากรุ่นพี่ หูฟังครอบหู Sony WH-1000XM4 มาเลยครับ (ดูว่ามันอัจฉริยะยังไงจากคลิปของหนุ่ย พงศ์สุขได้เลย) มันเลยเป็นหูฟังแบบ True Wireless ที่ฉลาดที่สุดในตลาดแล้ว

ระบบอัจฉริยะของ Sony WF-1000XM4 มีดังนี้

  • Adaptive Sound Control ระบบปรับตัดเสียงและดึงเสียงภายนอกอัตโนมัติตามการเคลื่อนไหวและตำแหน่งของเรา เช่นถ้าเรานั่งอยู่นิ่ง ๆ จะตัดเสียงรบกวนภายนอก, ถ้าเราวิ่ง จะดึงเสียงภายนอกเต็มพิกัด
    • นอกจากนี้เรายังสามารถระบุตำแหน่งในแผนที่ได้ด้วย ว่าถ้าเราอยู่บ้าน อยู่ที่ทำงาน หรืออยู่ตำแหน่งไหน จะให้ปรับลักษณะเสียงเป็นอย่างไร
  • Speak-to-Chat เมื่อเราพูด หูฟังจะหยุดเพลงและดึงเสียงภายนอกมาให้อัตโนมัติ ทำให้เราสามารถคุยกับคนอื่นได้โดยไม่ต้องถอดหูฟังออก แต่ข้อเสียคือถ้าเราร้องเพลงตาม หรือไอ กระแอม เพลงก็หยุดไป 15 วินาทีเหมือนกัน ถ้าใครชอบร้องเพลงตามก็ต้องปิดฟีเจอร์นี้
  • เมื่อถอดหูฟังออก เพลงก็หยุดให้อัตโนมัติ และเล่นต่อเมื่อใส่กลับเข้าไป

คุณภาพเสียง

เราคาดหวังอะไรจากหูฟัง TWS รุ่นท็อปของโซนี่บ้างครับ คาดหวังเสียงต้องแน่น รายละเอียดดี การตัดเสียงรบกวนทำได้ดีงาม ถ้านี่คือสิ่งที่คุณหวัง Sony WF-1000XM4 ก็ตอบสนองได้ทั้งหมดครับ

Sony WF-1000XM4

มาดูรายละเอียดด้านเทคนิคเกี่ยวกับเสียงของหูฟังรุ่นนี้กันก่อน

  • ไดรเวอร์ขับเสียงขนาด 6 mm พร้อมชุดแม่เหล็กใหม่ที่มีกำลังมากกว่ารุ่น M3 20%
  • ชิปประมวลผล V1 ตัวใหม่
  • รองรับ Codec: SBC, AAC, LDAC
  • รองรับความถี่เสียง 20 – 40,000 Hz ผ่าน LDAC 96 kHz ที่ 990 kbps
  • รองรับความถี่เสียง 20 – 20,000 Hz ผ่าน AAC และ SBC
  • Bluetooth 5.2
  • ระบบอัปสเกลเสียง: DSEE Extreme

Sony WH-1000XM4 เป็นหูฟังแบบไร้สายที่แท้ทรูรุ่นแรกของโซนี่ที่รองรับ LDAC Codec นะครับ ทำให้รองรับการเล่นเพลงระดับ Hi-Res ผ่านการเชื่อมต่อ Bluetooth กับ Android หรือ Sony Walkman ส่วนอุปกรณ์แอปเปิลที่รองรับแค่ AAC Codec จะไม่รองรับเสียงระดับ Hi-Res ครับ แต่โซนี่ก็ยังมีระบบ DSEE Extreme (Digital Sound Enhancement Engine) ที่ใช้ AI วิเคราะห์ลักษณะเสียงและฟื้นฟูรายละเอียดเสียงที่สูญเสียไปจากการบีบอัดให้กลับมาได้ด้วย ซึ่งทั้ง LDAC และ DSEE Extreme เข้าไปเปิดใช้งานได้จากแอป Sony Headphone Connect นะครับ เพราะ 2 ฟังก์ชันนี้จะกินแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น เลยต้องเข้าไปเปิดเอง

ลักษณะเสียง

Sony WF-1000XM4

เสียงของ Sony WF-1000XM4 เป็นเสียงที่ฟูอิ่มแน่นในทุกย่านนะครับโดยเราอาจสรุปได้ดังนี้

  • เสียงต่ำ: หนักแน่น แรงกระแทกเยอะ อัดได้จุก ๆ ไม่บวมจนอึดอัด แต่มีลักษณะ Muddy อยู่ เพราะเสียงกลาง-แหลมไม่ได้ฉีกออกจากเบสที่เยอะได้ชัด
  • เสียงกลาง-สูง: โปร่ง สดใส ฉีกออกมาจากเบสแน่น ๆ ได้ชัดเจน แต่เป็นแหลมที่เก็บทรง ปลายเสียงเป็นประกายน้อย คนที่ไม่ชอบเสียงแหลมปลายเปิด ๆ น่าจะชอบ
  • Soundstage: กว้างระดับหนึ่ง ระบุตำแหน่งเครื่องดนตรีได้ชัด

ในเพลงที่เบสหนามาก ๆ อย่าง Beat Of My Heart (Deluxe Edit) จาก Lost Frequencies หูฟังรุ่นนี้ก็โชว์ผลงานออกมาได้ดี ให้เบสที่หนักแน่นสะใจ แต่ยังเปิดเผยให้เห็นรายละเอียดของไลน์เบสได้ หรือเพลง Dark Mode จาก dady ก็ให้เสียงร้องที่ชัดใสเคลียร์ตัดกับเสียงเบสที่กระแทกลงลึก และเพลง ต้องชอบแค่ไหน จาก PRETZELLE ก็ให้รายละเอียดเสียงร้องที่แตกต่างกันของนักร้องทั้ง 4 คนได้ดี มีความแหลมใสสวย ๆ ฟังได้เพลิน ๆ

360 Reality Audio

และความสามารถพิเศษของหูฟังจากโซนี่คือ 360 Reality Audio (360RA) ระบบเสียงรอบทิศทางที่โซนี่พยายามผลักดันและเป็นคู่แข่งกับ Dolby Atmos ในหูฟังตอนนี้ (อ่านเรื่อง 360 Reality Audio อย่างละเอียดได้จากรีวิว Sony SRS-RA3000 ครับ) ซึ่งเราฟังแล้วถือว่าหูฟังรุ่นนี้ให้เสียงในระบบ 360RA ออกมาได้ดีเลย สามารถให้ความหนักแน่นของเพลง และมิติของเสียงได้ละเอียด เหมือนเราไปนั่งฟังอยู่กลางวงตรีที่เล่นสดครับ เสียงมารอบทิศทาง 360 องศา เสียงไม่ได้กองอยู่เป็นกลุ่มเดียวเหมือนเสียงสเตอริโอในเพลงปกติ เพลงอย่าง Sun Goes Down ของ Lil Nas X นี่ให้เสียงค่อย ๆ หมุนรอบศีรษะเราแบบ 360 องศาเลย เป็นประสบการณ์ฟังเพลงที่ดีมาก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเพลงที่เปิดด้วยครับ บางเพลงที่มิกซ์แบบ 360RA มาไม่ดี เช่นเพลงของ Dua Lipa ในระบบ 360RA หลายเพลง เสียงจะฟุ้ง ล่องลอย ไม่หนักแน่น ซึ่งทำให้เราชอบมิกซ์ต้นฉบับมากกว่า

และการฟัง 360RA ต้องใช้เพลงที่มิกซ์มาพิเศษในระบบนี้ ซึ่งในไทยจะหาฟังจากได้หมวด 360 Reality Audio ของ Tidal ซึ่งถ้าใครยังไม่ได้เป็นสมาชิก ในกล่องหูฟังจะมีโค้ดเพื่อสมัครฟรีได้ 3 เดือน นอกจากนี้เราต้องเข้าไปตั้งค่า 360RA ให้เรียบร้อยในแอป Sony Headphone โดยจะต้องมีการถ่ายรูปหูเพื่อส่งให้ทางโซนี่วิเคราะห์ด้วยครับ ถึงจะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ

คูปองสมัครสมาชิก Tidal ฟรีในกล่อง
คูปองสมัครสมาชิก Tidal ฟรีในกล่อง

การตัดเสียงรบกวน และการดึงเสียงภายนอก

หูฟังจากโซนี่นั้นขึ้นชื่อเรื่องการตัดเสียงรบกวนมายาวนานครับ ซึ่ง Sony WF-1000XM4 ก็ทำได้ไม่เสียชื่อ คือด้วยตัวจุกหูฟังแบบโฟมนั้นก็สามารถบล็อกเสียงภายนอกได้มากอยู่แล้ว ขนาดไม่ได้เปิดระบบ ANC ก็ยังตัดเสียงรบกวนภายนอกได้เยอะ แล้วยิ่งเปิด Noise Canceling จะเหมือนหูดับไปเลย ได้ยินเสียงภายนอกเข้ามาน้อยมาก และถ้าเปิดเพลงไปด้วยก็จะไม่ได้ยินเสียงภายนอกเลย เงียบในระดับที่เหมือนเราอยู่กับเพลง ขนาดคนเข้ามาใกล้ ๆ ยังไม่รู้ตัวเลยครับ

ส่วนการดึงเสียงภายนอกนั้นก็ทำได้ดี สามารถแยกทิศทางเสียงภายนอกได้ชัด เพียงแต่ว่าค่ามาตรฐานที่เปิดการดึงเสียงภายนอกระดับสูงสุดคือ 20 นั้นเสียงจะเกินธรรมชาติไปหน่อยครับ คือไมโครโฟนด้านนอกของหูฟังจะไปเร่งเสียงภายนอกให้ได้ยินมากขึ้น แต่ก็ทำให้เราได้ยินเสียงรบกวนหรือ Noise Floor ได้ชัดขึ้นจนผิดธรรมชาติ เหมือนมีเสียงซ่า ๆ อยู่ในหู เราจึงแนะนำว่าถ้าใครรู้สึกรำคาญเสียงซ่า ๆ แบบนี้ให้ปรับแต่ง Ambient Sound ในแอป Sony Headphone แล้วปรับให้เหลือสัก 16 ก็พอครับ

(อัปเดต) ในเฟิร์มแวร์เวอร์ชัน 1.2.6 เป็นต้นมา ปัญหาเรื่องการดึงเสียงภายนอกเยอะจนผิดธรรมชาติได้รับการแก้ไขเรียบร้อยนะครับ และปรับปรุงเรื่อง Noise Canceling ให้เป็นธรรมชาติขึ้นอีกด้วย

ความดีเลย์ของเสียง

Sony WF-1000XM4 นั้นเสียงดีเลย์น้อยครับ คือถ้าใช้งานกับแอปวิดีโอพวก Youtube, Netflix ที่สามารถ Buffer ได้ แบบนี้เสียงจะออกตรงปากทั้งหมดครับ ส่วนถ้าเทสต์กับเกมอย่าง Doodle Jump 2 เราก็รู้สึกว่าเสียงเหยียบแท่นกระโดดนั้นดีเลย์ไปนิด ๆ แต่ถ้าไม่เพ่งมากก็จะไม่รู้สึกครับ

การทดสอบเสียงดีเลย์ของ Sony WF-1000XM4
การทดสอบเสียงดีเลย์ของ Sony WF-1000XM4

ส่วนการทดสอบกับแอปวัดเสียงดีเลย์ โดยถ่ายวิดีโอการทดสอบเพื่อหยุดภาพดูเฟรมที่เสียงเคาะของแอปออกมาจากหูฟัง ก็ได้ผลเทสต์ว่าเสียงดีเลย์ประมาณ 200 ms ถือว่าทำได้ดีกว่าหูฟังแบบ TWS ส่วนใหญ่ในตลาดครับ ก็เป็นตัวเลขที่ไม่ถ้าสังเกตจริง ๆ ก็จะไม่รู้สึกว่าดีเลย์

คุณภาพไมโครโฟน

ใน Sony WF-1000XM3 รุ่นที่แล้ว แม้ว่าจะได้คำชมเรื่องเสียงที่ดีมาก แต่ก็มีจุดอ่อนเรื่องไมโครโฟนที่ไม่สามารถเก็บเสียงได้ดีนัก ใน Sony WF-1000XM4 เลยมีการปรับปรุงไมโครโฟนใหม่ โดยอาศัยไมโครโฟนแบบ Beamforming ที่โฟกัสเสียงจากปาก ทำงานร่วมกับ Bone-conduction Sensor เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของกระดูก แล้วนำมาวิเคราะห์ให้ได้เสียงพูดที่คมชัดขึ้น ซึ่งเราอัดเสียงมาให้ฟังกัน ก็ได้มาดังนี้ครับ

เสียงที่บันทึกจาก Sony WF-1000XM4 ในห้องเงียบ
เสียงที่บันทึกจาก Sony WF-1000XM4 ในพื้นที่ที่มีเสียงรบกวน

สรุปคือไมโครโฟนดีกว่ารุ่นเดิมจริง แต่สำหรับในที่ที่มีเสียงรบกวน เสียงพูดก็ยังไม่เคลียร์มากนักครับ ก็ทำให้การใช้งานบางสถานที่อาจจะฟังยากหน่อย แต่เท่าที่เราใช้งานมาก็ยังไม่เจอปัญหาปลายสายขอให้พูดใหม่นะครับ

แล้วข้อดีอีกอย่างของหูฟังรุ่นนี้คือสามารถใช้งานข้างเดียวได้ ใช้ข้างไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นก็สามารถคุยโทรศัพท์ด้วยหูฟังข้างเดียวได้ครับ ซึ่งจะอึดอัดน้อยกว่าเวลาใส่หูฟัง 2 หูแล้วคุยโทรศัพท์ แต่น่าเสียดายที่หูฟังรุ่นนี้ไม่มีความสามารถ Multipoint ที่จะเชื่อมต่อหูฟังกับอุปกรณ์ 2 ตัวได้ครับ

อายุแบตเตอรี่

Sony WF-1000XM4 นั้นมีช่วงอายุแบตเตอรี่ที่กว้างมากนะครับ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเปิดฟังก์ชันอะไรบ้าง สรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้

  • ถ้าเปิด LDAC พร้อม DSEE และ ระบบตัดเสียงจะต่อเนื่องใช้ได้ราว ๆ 3.5 ชั่วโมง
  • ถ้าเปิด AAC และ DSEE และระบบตัดเสียงได้ 6 ชั่วโมง
  • ถ้าเปิด AAC และปิดทั้งหมด อยู่ได้ 12 ชั่วโมง

สรุปคือหูฟังรุ่นนี้เป็นได้ทั้งหูฟังที่แบตเตอรี่อึดมาก ๆ ไปถึงหูฟังที่มีแบตเตอรี่สั้นพอสมควรเลย แล้วแต่ว่าใช้ฟีเจอร์อะไรบ้าง แต่สำหรับคนทั่วไปใช้น่าจะได้แบตเตอรี่ราว ๆ 6-8 ชั่วโมงนะครับ ซึ่งก็อึดเกินพอแหละ นอกจากนี้ยังสามารถเอากลับไปชาร์จในเคสได้อีก 16-18 ชั่วโมง สรุปว่าใช้ได้ราว ๆ 1 วัน

ส่วนการชาร์จ โซนี่เคลมว่าชาร์จ 5 นาที ก็ใช้งานได้ 1 ชั่วโมงแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถชาร์จผ่านแท่นชาร์จไร้สายได้ด้วยครับ

เปรียบเทียบกับหูฟังรุ่นอื่นๆ

เทียบ WF-1000XM4 กับ Devialet Gemini (ราคา 10,990 บาท)

เคสของ Devialet Gemini จะมีขนาดใหญ่กว่า Sony WF-1000XM4 ชัดเจนทำให้พกพาได้ยากกว่า แต่ตัวหูฟัง Gemini มีขนาดเล็กกว่า ใส่สบายกว่า ระคายหูน้อยกว่า ส่วนจุกหูฟังเป็นซิลิโคนครับ

โทนเสียงของ Gemini จะโปร่งสดใสกว่า เสียงแหลมเป็นประกายมากกว่า เห็นชิ้นเครื่องดนตรีชัดกว่า แต่เบสก็ยังคมชัดเป็นลูกที่มีกำลังเยอะ ส่วนฝั่งของ Sony จะได้เสียงที่หนาหนักกว่า ให้ความรู้สึกแบบ Full Body และเบสที่ลูกโตกว่าครับ

เรื่องการตัดเสียงรบกวน Gemini ทำได้เงียบกว่าแบบฟังออก และการดึงเสียงภายนอกเข้ามาในหูฟังทำได้เป็นธรรมชาติกว่าด้วย ไม่ค่อยมีเสียงซ่า ๆ แบบที่โซนี่เป็น จึงให้อารมณ์เหมือนนั่งฟังลำโพงที่ยังได้ยินเสียงรอบข้างอยู่

ส่วนเรื่องไมโครโฟน Devialet Gemini ทำได้ดีกว่าโซนี่นิดหน่อยครับ ให้เสียงที่ชัดเคลียร์กว่าแม้จะมีเสียงรบกวนภายนอกเยอะ

เสียงของ Devialet Gemini ในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนเยอะ

แต่เรื่องความฉลาดของหูฟัง ไม่มีใครสู้โซนี่ได้ครับ และเรื่องการเชื่อมต่อ Gemini จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทันทีที่เปิดกล่องหูฟัง แต่มีหูขวาเป็นหูหลัก ใช้หูซ้ายข้างเดียวไม่ได้ ส่วนโซนี่จะเชื่อมต่อเมื่อดึงหูฟังออกจากกล่อง ทำให้เชื่อมต่อช้ากว่า แต่สามารถใช้หูฟังข้างไหนก็ได้เป็นหูหลัก

อ่านรีวิว Devialet Gemini

เทียบ WF-1000XM4 กับ Sennheiser MOMENTUM True Wireless 2 (ราคา 9,990 บาท)

เคสของ MOMENTUM True Wireless 2 นั้นมีขนาดใหญ่กว่าโซนี่นิดหน่อย ก็ยังถือว่าพกพาง่ายเหมือนกัน ส่วนตัวหูฟังมีขนาดเล็กกว่านิดหน่อย ให้สัมผัสในการสวมใส่ใกล้เคียงกัน แต่ฝั่ง Sennheiser จะเป็นจุกซิลิโคน

โทนเสียงของ MOMENTUM True Wireless 2 ค่อนข้างเรียบ แหลมไม่ได้เป็นประกาย เบสลูกย่อม ๆ ไม่ได้เน้นมาก เป็นเสียงที่ Flat กว่าเสียงหนา ๆ แน่นๆ ของโซนี่ ทำให้เสียงจากโซนี่นั้นตื่นตาตื่นใจกว่า

การตัดเสียงรบกวน MOMENTUM True Wireless 2 ทำได้ด้อยกว่า Sony นิดหน่อย ส่วนการดึงเสียงภายนอกทำได้พอ ๆ กันครับ

ไมโครโฟนของ MOMENTUM True Wireless 2 นั้นจะให้เสียงที่เปิดกว่าโซนี่ที่จะให้เสียงอู้กว่า ส่วนเรื่องการแยกเสียงรบกวนจากฉากหลังทำได้ไม่แตกต่างกัน

เสียงของ MOMENTUM True Wireless 2 ในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนเยอะ

แอปของ MOMENTUM ความสามารถพื้นฐาน ไม่ได้มีระบบอัจฉริยะอะไร ส่วนการเชื่อมต่อต้องรอให้เอาหูฟังออกจากกล่องถึงจะเชื่อมต่อเหมือนโซนี่ครับ แต่ใช้หูซ้ายข้างเดียวไม่ได้

อ่านรีวิว Sennheiser MOMENTUM True Wireless 2

เทียบ WF-1000XM4 กับ OPPO Enco X (ราคา 4,999 บาท)

เคสของ OPPO Enco X บางกว่า แต่สูงกว่านิดหน่อยครับ โดยรวมแล้ว Enco X พกพาง่ายกว่า ส่วนตัวหูฟัง Enco X เล็กกว่าโซนี่ชัดเจน ทำให้ใส่แล้วเบาสบายหูกว่า

โทนเสียงของ OPPO Enco X ได้รับการจูนโดย Dynaudio ให้เสียงที่เหมาะกับเพลงพอป ได้เบสลูกใหญ่ที่ชัดเจน กำลังเยอะ เสียงแหลมปลายเปิดมากกว่า แต่รายละเอียดเสียงอาจไม่แพรวพราวเท่าโซนี่ และความกระชับของเบสยังด้อยกว่าโซนี่

ส่วนการตัดเสียงรบกวนและการดึงเสียงภายนอก OPPO Enco X ด้อยกว่า WF-1000XM4 ชัดเจนครับ ระดับเสียงภายนอกที่ลดได้ และความเป็นธรรมชาติของการดึงเสียงภายนอกแตกต่างกันอย่างที่สัมผัสได้ทันที

ไมโครโฟนของ Enco X จะให้เสียงทึบกว่ารุ่นอื่น แต่ก็ยังฟังได้รู้เรื่องชัดเจนดีครับ

เสียงของ OPPO Enco X ในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนเยอะ

ส่วนแอปของออปโป้นั้นก็มีความสามารถในระดับพื้นฐาน การเชื่อมต่อจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อเปิดฝาเคส และสามารถใช้หูฟังข้างไหนคุยโทรศัพท์แค่ข้างเดียวก็ได้ครับ

สรุป Sony WF-1000XM4

กล่องของ Sony WF-1000XM4

Sony WF-1000XM4 นั้นเปิดตัวด้วยราคา 8,990 บาทนะครับ ก็ถือเป็นราคาของหูฟังแบบ True Wireless ระดับพรีเมียม ซึ่งความสามารถโดยรวมทุกอย่างก็สมเป็นเจ้าตลาด เสียงดี พกพาง่าย ตัดเสียงภายนอกได้ดี แอปอัจฉริยะ แต่ก็ยังมีข้อสังเกตตรงขนาดและจุกหูฟังที่ไม่ได้เหมาะกับทุกคนครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส