Our score
8.4Sony RX10 II
จุดเด่น
- คุณภาพภาพหายห่วง
- คุณภาพวิดีโอดี ปรับแต่งได้ลึกมาก
- เชื่อมต่อกับ Smartphone ง่าย มี Wifi และ NFC
- ปรับแต่งการควบคุมได้หลากหลาย
- จบในตัว ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มมาก
จุดสังเกต
- ชาร์จไฟช้า ไม่มีแท่นชาร์จมาด้วย
- หลังจากถ่ายวิดีโอ Slow motion ต้องรออีกพักใหญ่
- น้ำหนักค่อนข้างเยอะ
- ราคาสูง ต้องกดฟันซื้อ
-
คุณภาพภาพ
8.0
-
คุณภาพวิดีโอ
9.0
-
คุณภาพงานประกอบ
9.0
-
ความสามารถพิเศษ
9.0
-
ความคุ้มค่า
7.0
ใครที่ติดตามวงการกล้องมาตลอดจะรู้ว่าระยะหลังกล้องจาก Sony นั้นมาแรงมากนะครับ ทั้งชื่อชั้นของเซนเซอร์ที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนต่างเรียกหาเซนเซอร์ของ Sony หรือประสิทธิภาพของกล้องในตระกูล Alpha ที่จัดว่าเป็นกล้อง Mirrorless ที่มีประสิทธิภาพสูงตัวหนึ่งของโลก ที่นี้เมื่อทีมงานเว็บแบไต๋ได้กล้องใหม่อย่าง RX10 m2 (หรือจะเขียนว่า RX10 II ก็ได้) มาไว้ในสังกัดเพื่อนำเสนอข่าวได้ดีขึ้น ก็อดไม่ได้ที่จะต้องรีวิวกล้องรุ่นนี้ให้ดูกันสักหน่อยครับว่ามันดียังไง
RX10 m2 แฝดคนละฝาของ RX100 m4
Sony RX10 II นั้นถือว่าเป็นแฝดคนละฝากับกล้องคอมแพคตัวแรงของ Sony อย่าง RX100 m4 ก็ได้นะครับ เพราะเปิดตัวพร้อมกัน ใช้เซนเซอร์รับภาพรุ่นเดียวกัน ขนาดเท่ากัน หน่วยประมวลผลรุ่นเดียวกัน ความละเอียดจอและช่องมองภาพเท่ากัน แตกต่างกันหลักๆ ที่หน้าตาและตัวเลนส์เท่านั้น โดยสเปกของ RX10 II เป็นดังนี้
- ความละเอียดภาพ 20 ล้านพิกเซล
- เซนเซอร์แบบ Stacked BSI-CMOS ขนาด 1 นิ้ว
- ชิปประมวลผล Bionz X
- เลนส์ซูม 8.3x ระยะ 24-200 mm f/2.8 โฟกัสใกล้สุดที่ 3 ซ.ม.
- จอหลัง 3 นิ้วความละเอียด 1.2 mp
- ช่องมองภาพความละเอียด 2.3 mp
- ถ่ายวิดีโอระดับ 4K 30 fps
- ถ่ายวิดีโอ Slow-motion ระดับ 1000 fps ที่ 1080p
- น้ำหนัก 813 กรัม
- ราคา 42,990 บาท
คุณภาพภาพไม่เป็นรอง DSLR
ถึงแม้ว่า RX10 II จะใช้เซนเซอร์ขนาด 1 นิ้วที่เล็กกว่ากล้อง DSLR ทั่วไปที่ใช้ไซส์ APS-C แต่คุณภาพภาพที่ไม่ได้ห่างจากกล้องที่ใช้เซนเซอร์ใหญ่กว่าเลย ทั้งความเนียนของเนื้อภาพ ประสิทธิภาพในช่วงความไวแสงสูง ซึ่งก็ต้องยกความดีความชอบให้กับเซนเซอร์รุ่นล่าสุดของ Sony ที่ยกเอา Stacked BSI-CMOS (รู้จักในเครื่องหมายการค้าว่า Exmor RS) มาใช้กับกล้องใหญ่ขนาดนี้ได้สำเร็จ รวมถึงหน่วยประมวลผล Bionz X ที่ทำให้จัดการกับพื้นที่แสงน้อยได้ดี
และอีกส่วนที่สำคัญคือตัวเลนส์ Carl Zeiss Vario-Sonnar T* 24-200 f/2.8 แม้จะเป็นเลนส์ชุดเดียวกับ RX10 รุ่นแรก แต่ความเทพที่หาใครเปรียบได้ยากคือมันเป็นเลนส์ Super-zoom ที่ให้รูรับแสง F/2.8 ตลอดช่วง จะซูมสุดที่ 200 mm ก็ยังได้รูรับแสง f/2.8 อยู่ ซึ่งทำให้ใช้งานยามค่ำคืน เก็บภาพระยะไกลได้ดีกว่ากล้อง DSLR ที่ใช้เลนส์ซูมเกรดธรรมดาอีกครับ
นอกจากนี้จอด้านหลังและช่องมองภาพของ RX10 II ตัวนี้ก็ทำงานได้ดีมากครับ โดยเฉพาะช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EVF) ที่ละเอียดและตอบสนองเร็วมาก ถือเป็นหนึ่งในช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีที่สุดในปัจจุบันเลยแหละ สามารถทำงานได้ดีในระดับที่ทดแทนช่องมองภาพดั่งเดิม (OVF) ได้แล้ว ก็ทำให้มองเห็นคุณภาพงาน เห็นสีสันที่ถ่ายได้ชัดเจน สีไม่โอเวอร์เกินจริงด้วย
งานวิดีโอคือจุดเด่นของ Sony
จุดเด่นของกล้องดิจิทัลจาก Sony เสมอมาคือเรื่องการบันทึกวิดีโอ ซึ่งในกล้อง RX10 II ต้องบอกว่างานวิดีโอพี่ไม่ได้มาเล่นๆ แต่มาจริงจังในระดับที่กล้องวิดีโอหลายตัวยังอาย ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างระบบป้องกันภาพสั่นไหวทำได้ดีมาก แม้จะซูมไปจนสุดช่วง 200 mm ก็ยังสามารถจัดการกับปัญหามือสั่นได้อยู่หมัด ทำให้ได้ภาพวิดีโอที่นุ่มนวล รวมถึงไปโหมดวิดีโอที่ยังเลือกการทำงานในแบบ P/A/S/M เหมือนกับการถ่ายรูปได้ ทำให้เราสามารถควบคุมการถ่ายวิดีโอได้อย่างอิสระ จะปรับความเร็วซัตเตอร์ ปรับรูรับแสง ปรับ ISO ก็แยกจากกันได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังควบคุมโฟกัสได้จากวงแหวนหน้าเลนส์ และควบคุมการซูมภาพจากแหวนเลื่อนแถวปุ่มซัตเตอร์ ซึ่งทำให้การซูมนุ่มนวลกว่าการหมุนที่กระบอกเลนส์อีกด้วย
ตัวอย่างวิดีโอจาก RX10 II
ในแง่คุณลักษณะทางเทคนิค RX10 II ก็ใส่ฟีเจอร์ระดับโปรมาเพียบ เช่นโปรไฟล์สีแบบ Cinema ที่ทำให้สีสันภาพเข้มขึ้นเหมือนถ่ายภาพยนตร์ หรือโปรไฟล์ S-Log2 ที่กระจายระยะแสงที่บันทึกออกไปให้เต็มขอบเขตสีของวิดีโอ จึงทำให้เก็บรายละเอียดของภาพได้ดีขึ้น แม้ว่าดูไฟล์จากหลังกล้องจะรู้สึกว่าสีจืดมาก แต่เมื่อนำไปปรับ Level ตอนตัดต่อแล้ว วิดีโอที่ได้จะไล่เฉดสีได้ดีกว่า ลดปัญหาสีเบิร์น ภาพเป็นปื้นๆ ไปได้ นอกจากนี้ในแง่ไฟล์ที่บันทึก RX10 II สามารถบันทึกสูงสุดใน codec XAVC S 4K ด้วยบิทเรทสูงถึง 100 Mbps ก็ถ้าใครที่ต้องการไฟล์วิดีโอนิ้งๆ เพื่อตัดต่อ ปรับสีเยอะๆ RX10 II ก็ทำให้ได้สบายๆ ครับ
และความสามารถเด็ดสุดในการถ่ายวิดีโอของ RX10 II คือสามารถถ่ายวิดีโอแบบ Slow motion ระดับช้ากว่าปกติ 40 เท่า หรือถ่ายที่ 1000 fps ที่ความละเอียด 1080p ได้ด้วย ที่ให้คุณภาพวิดีโอโอเคเลย แต่โหมดนี้จะมีข้อจำกัดมากสักหน่อยคือสามารถบันทึกได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ราว 3-4 วินาทีเท่านั้น (เพื่อนำไปยืดออกเป็นหลายวินาที) แล้วหลังจากเริ่มถ่ายแล้ว กล้องต้องใช้เวลาอีกเป็นนาทีกว่าจะบันทึกข้อมูลทั้งหมดที่จับออกมา ทำให้ก่อนถ่ายต้องวางแผนให้ดีๆ เพราะถ้าพลาดจังหวะสำคัญ กว่าจะกลับมาเริ่มถ่ายใหม่ได้ ต้องรออีกพักใหญ่เลย
การควบคุมกล้อง ปรับแต่งได้เยอะ
Sony RX10 II จัดเป็นกล้องกึ่งโปรแล้ว แม้ว่าจะเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ แต่ความสามารถก็อัดมาแน่น ซึ่งประเด็นที่ผู้ใช้ระดับสูงต้องการมากคือการควบคุมกล้อง และ RX10 II นั้นก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลย
ด้วยบอดี้ที่ใหญ่อยู่แล้วทำให้ RX10 II สามารถใส่ปุ่มควบคุมลงไปได้มาก ไล่มาตั้งแต่ตัวเลนส์ที่มีวงแหวนซูม (หรือกลายร่างเป็นวงแหวนโฟกัสถ้าเลือกโหมด MF) และวงแหวนสำหรับปรับรูรับแสงอยู่แยกกัน แล้วด้านใต้เลนส์มีสวิทซ์ปรับความลื่นของวงแหวนรูรับแสงอีกว่าจะให้หมุนลื่นๆ หรือหมุนเป็นสเต็บทีละคลิก
ถัดมาที่ตัวกล้อง ก็มีปุ่มที่สามารถกำหนดฟังก์ชั่นเองได้อีก 7 จุด ซึ่งกระจายอยู่ที่ด้านบนของกล้อง ด้านหลังกล้อง รวมถึงวงแหวนหลังกล้องก็สามารถปรับแต่งได้ว่าจะใช้ควบคุมอะไร ทำให้ผู้ใช้ออกแบบการใช้ของตัวเองได้ เช่นให้วงแหวนหมุนเพื่อเลือก White balance แบบไม่ต้องเปิดเมนู ให้ปุ่ม C1 ใช้เลือก ISO ให้ C2 เลือกปรับระดับสมดุลแสงในภาพก็ได้
นอกจากนี้ RX10 II ยังมีปุ่ม Fn ที่ใช้เปิดเมนูรวมการปรับค่าของกล้องได้ ซึ่งเมนูนี้เราก็สามารถเลือกได้เองอีกว่าจะเอาคำสั่งไหนมารวม 10 คำสั่ง เช่นปรับขนาดภาพ ปรับโหมดโฟกัส สรุปแล้วใน RX10 II เราสามารถปรับการควบคุมสร้างเมนูลัดของตัวเองได้ 17 จุด (จากฟังก์ชั่นร้อยแปดที่ซ่อนอยู่ในเมนูกล้อง) ซึ่งก็พอสำหรับการใช้งานแหละ แต่สิ่งที่โซนี่ไม่ได้ใส่มาให้ในกล้องรุ่นนี้คือหน้าจอแบบสัมผัสครับ ใครที่ต้องการเลือกจุดโฟกัสไวๆ อาจจะแอบผิดหวังนิดหนึ่ง
กล้องที่นิสัยเหมือนคอมพิวเตอร์
ใครที่ใช้กล้องยี่ห้ออื่นๆ มาก่อนเวลามาใช้กล้อง Sony อาจจะตกใจกับมันบ้างนะครับ แค่เจอโหมด Superior auto ที่ถ่ายภาพรัว 3 ภาพติดแต่ออกมาภาพเดียวก็งงกันแล้ว คือนิสัยของกล้อง Sony นั้นจะมีความเป็นคอมพิวเตอร์มากกว่ากล้องยี่ห้ออื่นๆ มีสเตปการคิดที่ซับซ้อนชนิดออกนอกหน้า เช่นตัว Superior Auto เองคือโหมดที่กล้องจะวิเคราะห์ลักษณะแสงในขณะนั้น ถ้ามันเห็นว่าแสงน้อยหรือมีลักษณะแสงตรงตามโปรแกรมของมัน มันจะถ่ายภาพรัวด้วยความเร็วสูง เพื่อนำภาพทั้งหมดมาประมวลผลร่วมกันแล้วประกอบเป็นภาพเดียวที่สว่างสวยงามครับ หรือระบบโฟกัสใบหน้าที่สามารถให้กล้องจดจำใบหน้าคนในครอบครัวได้ เวลาที่ถ่ายรูป กล้องจะได้โฟกัสคนที่เรารู้จักก่อนที่จะไปโฟกัสคนอื่น นอกจากนี้มันยังลงแอปเสริมได้ด้วย เอาไว้เพิ่มความสามารถของกล้อง ซึ่งแอปบางตัวก็ต้องเสียเงินด้วย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระบบไฟล์ การจัดเก็บวิดีโอที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่ากล้องยี่ห้ออื่นๆ เพราะออกแบบมาในลักษณะเดียวกับที่มืออาชีพใช้ การใช้งาน RX10 II ให้เต็มประสิทธิภาพจึงต้องใช้เวลาศึกษากันพักใหญ่ให้เข้าใจการตัดสินใจของกล้อง และเข้าใจคำสั่งเชิงเทคนิคต่างๆ (คู่มือหนา 200 กว่าหน้าเอง) แต่ถ้าใช้คล่องแล้ว RX10 II ก็เป็นอาวุธที่เชื่อมือได้ครับ
ว่ากันด้วยจุดอ่อน
หลังจากใช้ RX10 II มาระยะหนึ่งก็ขอสรุปสิ่งที่ไม่ชอบดังนี้ครับ
- ชาร์จไฟช้ามาก คือกล้องตัวนี้ชาร์จไฟเหมือนโทรศัพท์มือถือนะครับ เอาสาย MicroUSB เสียบชาร์จกับกล้องได้เลย ไม่ต้องแกะแบตออกมาเพราะในกล่องไม่ได้มีแท่นชาร์จมาด้วย แต่มันชาร์จช้ามาก เพราะชาร์จได้มากสุดด้วยกระแส 500 mA เอง ถ้าตามคู่มือคือใช้เวลา 6 ชั่วโมงถึงจะชาร์จแบตจากศูนย์จนเต็มร้อย ก็ยังดีที่กล้องอึดพอที่จะใช้งานได้ทั้งวันครับ (แต่เรื่องหนึ่งที่ควรรู้ไว้คือจอ EVF ตัวนี้ละเอียดมาก ถ้าเราใช้ช่องมองภาพเป็นหลัก จะใช้งานได้สั้นกว่าเล็งภาพด้วยจอหลังครับ)
- หนัก… คือหนัก 8 ขีดนี่พอๆ กับ DSLR เลยนะ คล้องคอนานๆ มีเมื่อย
- ถ้าถ่ายวิดีโอความเร็วสูง ใช้เวลาประมวลผลพักหนึ่งเลย ตามที่เล่าไป
- เลนส์ 24 – 200 mm ก็ยังสั้นกว่าคู่แข่งในระดับราคาใกล้ๆ กัน ที่ทำได้ถึง 25 – 600 mm (แต่เซนเซอร์ไม่ใหญ่เท่านะ)
- ไม่มีจอสัมผัส
- ราคา 42,990 บาทนี่ต้องคิดเลย
สรุป RX10 II กล้องที่เจ็บแต่จบ
ถึงแม้ว่า Sony RX10 II อาจจะดูว่ามีราคาสูงไปหน่อยสำหรับกล้องที่ถอดเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ แต่นี่ก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่งคือเราไม่ต้องซื้อเลนส์อะไรเพิ่มแล้ว เพราะเลนส์ 24-200 ที่มากับกล้องถือเป็นเลนส์ที่ดีมาก รูรับแสง f/2.8 ตลอดช่วง ทำให้ใช้งานทุกสภาพแสง มาโครระยะ 3 ซ.ม. แถมยังซูมเข้าไปได้อีกก็ทำให้ถ่ายสิ่งเล็กๆ ได้สบายๆ ไม่ต้องพกเลนส์หลายตัวให้พะวงให้หนักกระเป๋ากันไปอีก
คุณภาพภาพถ่ายที่ได้ถือว่าไร้กังวล โหมดอัตโนมัติก็ทำงานได้ดีเยี่ยมสำหรับสถานการณ์คับขัน และที่ประทับใจสำหรับงานโปรดักชั่นคือคุณภาพและการปรับตั้งค่าวิดีโอที่ยืดหยุ่นมากจริงๆ แม้จะต้องถ่ายวิดีโอโดยไม่มีขาตั้งกล้องก็ยังเชื่อว่าจะให้ไฟล์ที่ดี การเคลื่อนไหวออกมานุ่มนวล