Our score
8.2Canon EOS M3
จุดเด่น
- รองรับเลนส์ Canon EF, EF-S ผ่านอแดปเตอร์
- ให้คุณภาพภาพดี สีสันดี คุณภาพไฟล์ RAW ดี
- มีจอสัมผัสที่พลิกได้ถ่าย Selfie / ภาพมุมสูง ได้
- ควบคุมกล้องสะดวกด้วยปุ่มมากมาย ตามแบบฉบับของกล้อง DSLR มีวงแหวนควบคุม 2 วง ควบคุม EV อีก 1 วง
- ระบบส่งภาพด้วย Wifi และ NFC ทำได้ดี
จุดสังเกต
- แบตเตอรี่ไม่ทนนัก เมื่อเทียบกับกล้อง DSLR
- ตัวเลือกเลนส์กลุ่ม EF-M ยังมีไม่มาก
- ถ้าใช้จอสัมผัสเลือกจุดโฟกัสภาพบริเวณด้านข้างของภาพ จะโฟกัสช้าลง
-
คุณภาพภาพ
8.0
-
การจับถือ
7.5
-
ความคล่องตัวในการใช้งาน
8.5
-
ตัวเลือกเลนส์
9.0
-
ความคุ้มค่า
8.0
ในวงการถ่ายภาพเราได้ยินชื่อชั้นของ Canon มานานมากนะครับ โดยเฉพาะกล้อง SLR ในตระกูล EOS ที่ออกรุ่นแรกกันตั้งแต่ยุคฟิล์มปี 1987 แต่เมื่อวงการถ่ายภาพเปลี่ยนแปลงไปมาก เกิดกระแสความนิยมของกล้อง Mirrorless ที่ตัดเอากระจกสำหรับช่องมองภาพออกไป ทำให้ได้กล้องขนาดเล็กลง เบาลง แต่คุณภาพเทียบเท่า DSLR ก็ทำให้ชื่อของ Canon ดูจืดจางลงไปเพราะส่งกล้อง Mirrorless อย่าง EOS M เข้าตลาดช้ากว่าคู่แข่ง
วันนี้เว็บแบไต๋จึงขอทดสอบ Canon EOS M3 กับการใช้งานจริง เพื่อท้าทายคำครหาต่างๆ ที่นักเล่นกล้องเคยเปรียบเปรยไว้กับ Canon ว่ามันแย่อย่างที่ชาวเน็ตเขาพูดกันจริงๆ หรือ
คำครหาแรก Canon กั๊กสเปกกล้อง EOS M สู้กล้องที่ออกมาพร้อมๆ กันไม่ได้
เพื่อพิสูจน์ความจริงเรื่องนี้ เราไปดูสเปกของกล้อง EOS M3 ที่เปิดตัวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2015 เปรียบเทียบกับ Canon EOS 750D ที่เปิดตัวมาพร้อมกัน มีระดับราคาใกล้เคียงกัน จะแตกต่างในจุดไหนบ้าง
EOS M3 | EOS 750D |
|
---|---|---|
ความละเอียด | 24 ล้านพิกเซล | 24 ล้านพิกเซล |
ขนาดเซนเซอร์ | APS-C (22.3 x 14.9 mm) | APS-C (22.3 x 14.9 mm) |
หน่วยประมวลผล | DIGIC 6 | DIGIC 6 |
จำนวนจุดโฟกัส | 49 | 19 |
Lens Mount | Canon EF-M (สามารถใช้ EF mount adapter เพื่อใช้งานร่วมกับเลนส์ EF/EF-S) | Canon EF/EF-S |
ความละเอียดภาพยนตร์ | 1080p 30 fps | 1080p 30 fps |
หน้าจอ | 3 นิ้วความละเอียด 1 ล้านพิกเซล ทัชสกรีน หมุนได้ | 3 นิ้วความละเอียด 1 ล้านพิกเซล ทัชสกรีน หมุนได้ |
ถ่ายภาพต่อเนื่อง | 4.2 fps | 5 fps |
ระยะแฟลชหัวกล้อง | 5 เมตร (ที่ ISO 100) | 12 เมตร (ที่ ISO 100) |
อายุแบตเตอรี่ | 250 ภาพ | 440 ภาพ |
น้ำหนัก | 366 กรัม | 555 กรัม |
ราคาพร้อมเลนส์ 18-55 f/3.5-5.6 | 22,900 บาท | 28,900 บาท |
จากตารางเปรียบเทียบก็จะเห็นว่าสเปกของ EOS M3 กับ EOS 750D นั้นแทบจะเหมือนกันเลย เซนเซอร์ความละเอียดเท่ากัน หน่วยประมวลผลตัวเดียวกัน คุณภาพภาพและวิดีโอจึงสูสีกันมาก แต่ก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไปนิดหน่อยคือ EOS M3 นั้นจะมีขนาดเล็กกว่า เบากว่า ราคาถูกกว่า
ส่วนจุดเด่นหลักๆ EOS 750D คือมีช่องมองภาพแบบออพติคอล ตามแบบฉบับของกล้อง DSLR ซึ่งมีข้อได้เปรียบคือความรวดเร็วในการโฟกัสภาพ และประหยัดแบตเตอรี่ รวมถึงความสามารถในการใช้เลนส์ในตระกูล EF ดั้่งเดิมที่ออกมาตั้งแต่ปี 1987 รวมถึงเลนส์ EF-S ได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องใช้ตัวแปลงเลนส์เหมือนตระกูล EOS M ครับ
เพราะฉะนั้นจะว่า Canon กั้กสเปกกล้อง Mirrorless ก็ไม่ถูกนะครับ ก็จัดมาไม่น้อยหน้ารุ่นพี่ในตระกูล EOS เหมือนกัน
กล้องตระกูล EOS M โฟกัสช้าและไม่แม่นยำ
ประเด็นนี้ทีมงานเว็บแบไต๋ขอสาธิตเป็นวิดีโอให้ดูกันเลยนะครับ โดยแบ่งการทดสอบเป็น 4 ครั้งคือ
- โฟกัสด้วย Touch Screen แสงปกติ
- โฟกัสด้วยปุ่มซัตเตอร์ แสงปกติ
- โฟกัสด้วย Touch Screen แสงน้อย
- โฟกัสด้วยปุ่มซัตเตอร์ แสงน้อย
จากการสาธิตจะเห็นว่า Canon EOS M3 นั้นโฟกัสเร็วและแม่นยำมากถ้าใช้วิธีดั่งเดิมคือแพนกล้องไปในจุดที่ต้องการแล้วกดซัตเตอร์ครึ่งหนึ่งเพื่อหาโฟกัสอัตโนมัติ ซึ่งทำได้รวดเร็วทั้งพื้นที่แสงปกติและในฉากที่มีแสงน้อย ส่วนการโฟกัสด้วย Touch Screen นั้นจะทำงานได้ช้าลงหน่อย จะมีช่วงรอให้กล้องประมวลผลอึดใจหนึ่ง และในพื้นที่แสงน้อยก็จะทำงานช้าลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังรวดเร็วพอสำหรับใช้การงานทั่วๆ ไปครับ
เรื่องนี้เว็บแบไต๋จะไม่ฟันธงว่า EOS M3 โฟกัสช้าหรือเร็ว ให้ทุกท่านดูวิดีโอสาธิตและตัดสินด้วยตัวเองเลยครับ
EOS M นั้นมีเลนส์ให้เลือกน้อย
ประเด็นนี้ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าเนื่องจาก EOS M นั้นเป็นกล้องที่ Canon คิดใหม่ทำใหม่โดยให้ความสำคัญกับขนาดและน้ำหนักของตัวกล้องและเลนส์มาก ทำให้เลนส์ในระบบ EF และ EF-S แบบเดิมที่มีระยะห่างระหว่างท้ายเลนส์ถึงเซนเซอร์ (flange focal distance) มากถึง 44 มม. ไม่เหมาะสำหรับการออกแบบกล้องที่เน้นความบางเบา Canon จึงต้องออกแบบเลนส์ตระกูลใหม่ขึ้นมาสำหรับ EOS M โดยเฉพาะเรียกว่า EF-M ที่มีระยะ flange focal distance แค่ 18 มม. หรือสั้นกว่าเกือบ 2.5 เท่า นั้นเอง
จุดเด่นของเลนส์ในตระกูล EF-M คือมีขนาดเล็กกว่าเลนส์ในช่วงเดียวกันของระบบ EF หรือ EF-S เช่นเลนส์ 18-55 mm f/3.5-5.6 stm ในตระกูล EF-M จะมีขนาด 60.9 x 61 มม. ในขณะที่ 18-55 mm f/3.5-5.6 stm EF-S จะมีขนาด 69.0 x 75.2 ซึ่งก็เป็นขนาดที่แตกต่างกันชัดเจน
หลังจาก EOS M เปิดตัวเมื่อปี 2012 มาถึงปัจจุบันก็มีเลนส์ในระบบ EF-M 5 รุ่นคือ
- 11 – 22 mm f/4-5.6
- 15 – 45 mm f/3.5-6.3
- 18 – 55 mm f/3.5-5.6
- 22 mm f/2 pancake
- 55 – 200 mm f/4.5-6.3
ก็จะเห็นได้ว่าเลนส์ในระบบ EF-M ที่มีตอนนี้เป็นเลนส์เกรดทั่วไป จะมีเพียงเลนส์ 22 mm f/2 เท่านั้นที่มีรูรับแสงกว้างหน่อย แต่ Canon ก็แก้ปัญหานี้โดยออกอแดปเตอร์สำหรับแปลงเลนส์ในระบบ EF และ EF-S ทุกรุ่นให้ใช้กับกล้อง EOS M โดยคุณภาพจากเลนส์ที่แปลงก็ไม่ดรอปลง และสามารถใช้งานทุกฟังก์ชั่นของเลนส์ทั้งโฟกัสอัตโนมัติหรือระบบป้องกันภาพสั่นไหวได้เหมือนกับกล้อง EOS รุ่นอื่นๆ
เมื่อ EOS M นั้นสามารถแปลงเลนส์ Canon EF กลับมาใช้ได้ทั้งหมด EOS M จึงเป็นระบบกล้อง Mirrorless ที่มีเลนส์ยุคใหม่ให้เลือกใช้มากที่สุดแล้วในปัจจุบัน (เลนส์ยุคใหม่หมายถึงเลนส์ที่รองรับโฟกัสอัตโนมัติ มีมอเตอร์ขับเคลื่อนเลนส์แบบ Ultrasonic มีระบบป้องกันภาพสั่นไหว)
EOS M ให้ไฟล์ภาพไม่สวย
จากสเปกที่เราเคยเปรียบเทียบกับ Canon EOS 750D ไปข้างต้นจะเห็นว่าตัวเซนเซอร์และชิปประมวลผลนั้นเป็นตัวเดียวกันเลย แต่เรื่องความสวยงามนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เราจึงขอนำภาพถ่ายจาก Canon EOS M3 และเลนส์คิท 18-55 f/3.5-5.6 ที่ไม่ผ่านการตกแต่ง ย่อขนาดแล้วอัปโหลดขึ้นเว็บอย่างเดียวมาให้ดูครับ
จากภาพเราจะเห็นจุดเด่นของ EOS M3 ที่มีเซนเซอร์ขนาด APS-C เทียบเท่ากล้อง DSLR ว่าสามารถให้โทนสีภาพได้ละเอียด สีผิวเนียนสดใส และมีระยะชัดตื้นที่มากกว่ากล้องที่เซนเซอร์เล็กกว่า นอกจากนี้โหมดอัตโนมัติของ EOS M3 ที่เรียกเต็มๆ ว่า Scene Intelligent Auto ยังช่วยให้ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้นมาก เพราะกล้องจะวิเคราะห์ลักษณะภาพให้เองว่านี่คือการถ่ายภาพบุคคล ถ่ายภาพ macro ถ่ายภาพวิว ถ่ายภาพย้อนแสง ฯลฯ และปรับภาพให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ ภาพบุคคลที่ได้จึงมีสีผิวที่นุ่มนวล ฉากหลังละลายเพราะกล้องจะเปิดหน้าเลนส์กว้างที่สุด ภาพถ่ายอาหารก็มีสีสันสดใส หรือภาพวิวก็มีรายละเอียดภาพที่ชัดเจนครับ
ในส่วนของการถ่ายวิดีโอ เราก็มีคลิปตัวอย่างมาให้ลองชมกันว่าคุณภาพจะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ Canon EOS M3 ยังสามารถถ่ายภาพเป็น Raw file หรือไฟล์ดิบเพื่อนำไปตกแต่งต่อได้อีกมาก ซึ่งเราขอนำภาพวิวที่ปรับค่าการรับแสง 3 ระดับคือ Under 1 stop, Normal และ Over 2 stop ผ่านโปรแกรม Canon Digital Photo Professional (DPP) มาให้ดูกันว่าไฟล์ RAW ของ M3 นั้นจะสามารถเก็บรายละเอียดได้มากแค่ไหน
และแน่นอนว่า Adobe Lightroom ก็รองรับไฟล์จาก EOS M3 เช่นกันครับ โดยเริ่มต้นรองรับตั้งแต่ Lightroom 6 เป็นต้นไป
ความสามารถสนับสนุนการใช้งานของ EOS M3
Canon EOS M3 ยังมีจุดเด่นอีกหลายอย่างที่ทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นครับ ตั้งแต่หน้าจอสัมผัสที่ช่วยให้เลือกจุดโฟกัสในภาพได้โดยตรงโดยไม่ต้องเคลื่อนกล้อง และสามารถแตะที่จอเพื่อปรับการตั้งค่าของกล้องเช่น White balance โหมดโฟกัส โหมดสี ฯลฯ ได้รวดเร็วกว่าการไล่กดตามเมนู แล้วจอสัมผัสนี้สามารถพลิกขึ้นเพื่อก้มถ่ายกับพื้นหรือพลิกลงเพื่อถ่ายเหนือหัว และพลิกมาข้างหน้าเพื่อถ่าย Selfie ได้อีกด้วย
แต่ถึง EOS M3 จะมีจอสัมผัสแล้ว ก็ยังมีปุ่มปรับตั้งค่าที่ตัวกล้องอีกมากมาย มาให้สำหรับผู้ใช้งานที่คุ้นชินกับการปรับตั้งค่ากล้องด้วยการกดปุ่มตามสไตล์ DSLR เริ่มตั้งแต่วงแหวนที่อยู่บริเวณปุ่มซัตเตอร์ สำหรับปรับรูรับแสงหรือความเร็วซัตเตอร์ มีวงแหวนด้านบนสำหรับปรับชดเชยแสงหรือ EV ได้โดยตรง และด้านหลังกล้องก็ยังมีวงแหวนอีกชุดหนึ่งสำหรับควบคุมกล้องในโหมด M และเลื่อนดูภาพอย่างไว ในส่วนปุ่มที่อยู่หลังกล้องก็มีทั้งปุ่มล็อกค่าแสง, ปรับ ISO, เลือกโหมดโฟกัส หรือปุ่มเข้าเมนู Q เพื่อปรับตั้งค่าการถ่ายภาพ ให้สั่งงานกันได้รวดเร็ว
กล้องตัวนี้ยังมีโหมดถ่ายภาพที่น่าสนใจหลายโหมดที่แตกต่างจากกล้องทั่วไปนะครับ อย่าง Hybrid Auto ที่จะถ่ายวิดีโอสั้นๆ ก่อนเรากดซัตเตอร์ ทำให้ได้ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอเบื้องต้นก่อนเหตุการณ์ในขณะนั้น (ซึ่ง Live Photo ของ iPhone 6s ก็ลอกความคิดแบบนี้มา) รวมถึงโหมด Creative Assist ที่ให้ผู้ใช้ได้ออกแบบโทนสีสันที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง จะให้ภาพโทนอุ่น สีสด ฉากหลังเบลอก็สั่งกล้องได้ทั้งนั้น เมื่อปรับจนถูกใจก็เซฟเก็บไว้ นอกจากนี้ ยังสามารถโทนสีที่ออกแบบนี้ไปให้กับผู้ใช้งานกล้อง EOS M3 หรือ EOS M10 ได้อีกด้วย
แน่นอนว่า Canon EOS M3 เป็นกล้องยุคอินเทอร์เน็ต ตัวกล้องจึงรองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่าน NFC และ Wifi เพื่อโอนภาพเข้าสู่ Smartphone ครับ ซึ่งจากการทดลองใช้ถือว่าทำประสบการณ์การโอนภาพออกมาได้เยี่ยม ผู้ใช้สามารถเลือกภาพที่ต้องการจากแอปในสมาร์ทโฟนได้เลย ไม่ต้องไปเลือกในจอเล็กๆ ของกล้องก่อนที่จะโอนเข้ามือถือเหมือนกล้องหลายๆ รุ่น ซึ่งการเชื่อมต่อและโอนภาพก็รวดเร็วดี ถ้าใช้มือถือ Android ยิ่งง่ายใหญ่เพราะแตะ nfc ได้เลย
EOS M3 ตัวแทนกล้อง Mirrorless จาก Canon
ท่ามกลางตลาดกล้องไร้กระจกที่แข่งกันอย่างดุเดือดในตอนนี้ EOS M3 เป็นตัวแทน Mirrorless ระดับสูงสุดจาก Canon ที่ต้องสู้กับคู่แข่งรอบด้าน ซึ่งถ้านับในตลาดระดับราคาเดียวกับ EOS M3 ก็ถือว่าสู้ได้ไม่น้อยหน้าใคร ทั้งคุณภาพไฟล์ที่ดี น้ำหนักเบาพกพาง่าย และยังสามารถใช้เลนส์ของ Canon ตระกูล EF, EF-S ได้ทั้งหมดผ่านอแดปเตอร์ ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญที่สาวก Canon ทุกคนต้องการ