Our score
8.8Dyson Purifier Cool Formaldehyde (TP09)
จุดเด่น
- ดีไซน์สวยงาม ใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ในบ้านได้
- ทำงานเงียบกว่าเดิม 20% ซึ่งดีมาก!
- ฟอกอากาศและกำจัดสารพิษในอากาศได้ รวมทั้งฟอร์มาลดีไฮด์
- มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดอากาศอย่างดี รายงานคุณภาพอากาศในบ้านได้ละเอียด
- ควบคุมผ่านแอปหรือสั่งงานด้วยเสียงได้
จุดสังเกต
- ราคาแพงมาก แพงกว่าแอร์หลายๆ รุ่นอีก ตัวฟิลเตอร์ก็ราคาสูง
- ถึงจะเสียงเบาลงแล้ว แต่ก็ยังดังกว่าพัดลมทั่วไป
- และให้กำลังลมแรงน้อยกว่าพัดลมปกติ
-
การออกแบบ
9.5
-
ความสามารถในการฟอกอากาศ
9.0
-
การควบคุมสั่งงาน
10.0
-
ความคุ้มค่า
6.5
Dyson นั้นพัฒนาพัดลมมายาวนานหลายปี ออกผลิตภัณฑ์มาหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นแรกๆ ที่เป็นแค่พัดลมอย่างเดียวจนเพิ่มระบบฟอกอากาศเข้าไป มาถึงปีที่แล้วในรุ่น TP06 ก็เพิ่มฟิลเตอร์พิเศษเพื่อทำลาย Formaldehyde หนึ่งในสารพิษที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไปด้วย และล่าสุดกับ Dyson TP09 ก็ถือเป็นพัดลมฟอกอากาศที่สมบูรณ์ที่สุดตั้งแต่ไดสันทำมา ด้วยการซีลอากาศป้องกันฝุ่นให้สมบูรณ์ขึ้น และทำให้เสียงดังน้อยลงด้วย ซึ่งวันนี้เราจะมารีวิวกันว่า Dyson Purifier Cool Formaldehyde (TP09) ตัวนี้ทำอะไรได้บ้างครับ
ดีไซน์ของพัดลม
งานออกแบบของ Dyson Purifier Cool Formaldehyde TP09 นั้นอิงดีไซน์เดิมมาตั้งแต่ Dyson Pure Cool TP04 เมื่อ 2 ปีก่อนครับ คือเป็นพัดลมทรงสูงตั้งพื้นแบบไร้ใบพัดให้เห็นภายนอก ด้านบนของพัดลมนั้นมีแม่เหล็กเอาไว้แปะรีโมตตัวเล็ก ๆ ซึ่งงานออกแบบนี้เป็นเอกลักษณ์ของพัดลมไดสันที่เห็นแต่ไกลก็รู้เลยว่านี่คือพัดลมของไดสัน ซึ่งพื้นผิวของเครื่องนั้นเป็นพลาสติกมันเงาครับ ทำความสะอาดง่าย ดูดฝุ่นออกง่าย
ที่ไดสันสามารถออกแบบพัดลมให้ไม่มีใบพัดภายนอก เอามือแหย่เข้าไปที่ช่องด้านบนก็ไม่เป็นอะไร ก็เพราะการออกแบบที่ซ่อนใบพัดและมอเตอร์ไว้ด้านในของพัดลมครับ เมื่อเปิดเครื่อง ใบพัดในเครื่องจะดึงอากาศรอบตัวเครื่องแบบ 360 องศาเข้ามาผ่านช่องด้านล่าง (ในส่วนสีทอง ๆ ของเครื่อง) ซึ่งช่องดูดเหล่านี้มีฟิลเตอร์กรองฝุ่นและทำลายสารอันตรายปิดไว้ อากาศที่ไปถึงตัวใบพัดจึงเป็นอากาศบริสุทธิ์ จากนั้นกระแสอากาศเหล่านี้ก็จะถูกดันออกจากเครื่องผ่านช่องแนวตั้งบาง ๆ 2 ช่องที่ขนานกันด้านบนของเครื่อง (ในส่วนสีขาวๆ) ซึ่งกระแสอากาศที่ถูกรีดเป็นแผ่นบาง ๆ ออกจากเครื่องพร้อมกัน 2 แผ่นนี้จะสร้างแรงเสียดทานเพื่อฉุดเอาอากาศข้างเคียงมาเพิ่มมวลของลมที่ส่งออกจากเครื่องไปด้วย ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่ามีลมออกมาโดนตัวมากกว่าลมที่ออกจากใบพัดปกติ ซึ่งเทคโนโลยีพัดลมแบบนี้ไดสันเรียกว่า Air Multiplier หรือการเพิ่มจำนวนลมโดยดึงอากาศข้างเคียงเข้ามาช่วยนั้นเองครับ
ส่วนเรื่องปลั๊กไฟ ใน Dyson TP09 เปลี่ยนมาใช้การเสียบปลั๊กไฟโดยตรง ไม่มีหม้อแปลงอยู่ภายนอกเหมือน Dyson TP04 แล้วครับ ก็ทำให้การต่อสายไฟสะดวกขึ้น แต่ไม่สามารถถอดสายไฟออกจากเครื่องได้เหมือนรุ่นเดิม
โดย Dyson TP09 นั้นมีให้เลือก 2 สีคือขาว-ทอง และนิกเกิล-ทอง ส่วนรุ่นรองคือ Dyson TP07 จะเป็นสีขาว-เงิน และนิกเกิล-เงินครับ
รู้จึกฟิลเตอร์ฟอกอากาศในเครื่อง
ความแตกต่างระหว่าง Dyson Purifier Cool (TP07) กับ Dyson Purifier Cool Formaldehyde (TP09) นั้นมีอยู่เรื่องเดียวคือ TP07 รุ่นรองจะไม่มีฟิลเตอร์กำจัดฟอร์มาลดีไฮด์มาในเครื่อง ส่วน TP09 ที่ราคาแพงกว่า 2,000 บาทจะมีฟิลเตอร์ตัวนี้ และมีเซนเซอร์ตรวจวัดจำนวนฟอร์มาลดีไฮด์ในอากาศมาด้วย
ฟอร์มาลดีไฮด์ (HCHO) จะมีสถานะเป็นก๊าซที่อุณหภูมิปกติ มีกลิ่นฉุน ไม่มีสี และติดไฟง่ายที่อุณหภูมิห้อง แต่ถ้าสารนี้อยู่ในรูปของเหลวจะเรียกว่า ฟอร์มาลีน (Formalin) โดยเราอาจพบฟอร์มาลดีไฮด์ในสีทาบ้าน เฟอร์นิเจอร์ พรม ยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ เพราะเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการผลิต ซึ่งก๊าซนี้สามารถสร้างความระคายเคืองให้กับผิวหนัง จมูก ตา รวมถึงระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งถ้าสูดดมปริมาณมาก ๆ ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ซึ่งฟิลเตอร์ Cryptomic ของ Dyson TP09 จะสามารถแยกส่วนฟอร์มาลดีไฮด์ในอากาศออกมาเป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ได้
ข้อดีของฟิลเตอร์ Cryptomic คือไม่ต้องเปลี่ยนตลอดอายุการใช้งานของเครื่อง
ส่วนฟิลเตอร์ที่ต้องเปลี่ยนกันเรื่อยๆ ซึ่งใน TP07 และ TP09 ใช้ฟิลเตอร์ตัวเดียวกัน คือ Combi 360° Glass HEPA ที่ประกอบด้วยฟิลเตอร์ HEPA (High Efficiency Particulate Air) ระดับ H13 แบบใยแก้วเพื่อดักจับฝุ่น PM10, PM2.5 และเชื้อโรคขนาดเล็กระดับ 0.1 ไมครอนได้ 99.95% มาพร้อมกับฟิลเตอร์ถ่านคาร์บอนเพื่อดักจับกลิ่น (Volatile Organic Compounds (VOCs)) และ Nitrogen Dioxide (NO2) ซึ่งฟิลเตอร์ตัวนี้มีอายุประมาณ 1 ปี ถ้าเปิดพัดลมวันละ 12 ชั่วโมง และถ้าต้องเปลี่ยนใหม่ก็จะมีราคา 3,790 บาทครับ แต่ก็ถือว่าถูกกว่า TP04 ที่เป็นฟิลเตอร์แยกชิ้นระหว่าง HEPA กับถ่านคาร์บอน ราคา 2,590 + 1,990 บาทครับ
เป็นเครื่องวัดคุณภาพอากาศได้ด้วย
ข้อดีอีกอย่างของเครื่องฟอกอากาศไดสันคือมาพร้อมเซนเซอร์สารพัดเพื่อวัดคุณภาพอากาศภายในห้อง ซึ่งใน Dyson Purifier Cool Formaldehyde เราสามารถดูได้โดยตรงจากหน้าจอ LCD กลม ๆ หน้าเครื่อง เช่นค่า AQI หรือ Air Quality Index ที่แสดงให้เห็นเป็นกราฟชัด ๆ เลยว่าคุณภาพอากาศในห้องมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ซึ่งค่า AQI นี้ก็จะประมวลผลมาจากค่า PM10 (ฝุ่นที่ใหญ่ไม่เกิน 10 ไมครอน), PM2.5 (ฝุ่นที่ใหญ่ไม่เกิน 2.5 ไมครอน), NO2, VOCs และ HCHO ซึ่งถ้าหากอยากดูค่าเหล่านี้แยกกัน ก็สามารถกดปุ่ม i ที่รีโมตเพื่อเปลี่ยนหน้าจอไปได้เรื่อย ๆ
และค่าสถิติที่วัดได้นี้ไม่ได้ดูได้แค่ปัจจุบันอย่างเดียวนะครับ ถ้าเราเชื่อมต่อพัดลมกับแอป Dyson Link ในมือถือเรียบร้อย มันก็จะคอยอัปโหลดค่าสถิติที่เก็บได้นี้ผ่าน Wifi ขึ้นอินเทอร์เน็ต ให้เราสามารถดูย้อนหลังได้ 7 วัน ว่าแต่ละเวลามีคุณภาพอากาศอย่างไรบ้าง แถมวัดอุณหภูมิกับความชื้นได้ด้วย ซึ่งการวัดค่าเหล่านี้จะทำตลอดเวลาที่เราเสียบปลั้กพัดลมเอาไว้ครับ แม้ว่าจะพัดลมจะไม่ทำงาน แต่ข้อมูลก็ยังเก็บต่อไปเรื่อย ๆ
นอกจากแอป Dyson Link จะแสดงค่าที่พัดลมวัดได้ในห้องแล้ว ยังมีการดึงข้อมูลสภาพอากาศภายนอกมาให้ดูเทียบกันด้วย เช่นเทียบอากาศในกรุงเทพให้เห็นชัด ๆ ว่าในห้องเราที่มี Dyson ฟอกอากาศอยู่ดีกว่าข้างนอกยังไงบ้าง
การใช้งานพัดลม
เราสามารถสั่งงาน Dyson Purifier Cool Formaldehyde ได้ 4 รูปแบบคือ
- กดสวิตซ์เปิด-ปิดหน้าเครื่อง วิธีนี้จะใช้เปิด-ปิดได้อย่างเดียว
- กดรีโมทเครื่อง วิธีนี้สั่งงานพัดลมได้ทุกอย่างยกเว้นเลือกทิศทางการส่ายของพัดลม เลือกองศาการส่ายได้อย่างเดียว
- ควบคุมด้วยคำสั่งเสียง เชื่อมกับ Google Assistant แล้วสั่งงานเปิด-ปิดพัดลมได้ ปรับความเร็วพัดลมได้
- ควบคุมผ่านแอป Dyson Link ในมือถือ วิธีนี้จะควบคุมทุกอย่างของพัดลมได้
พัดลมฟอกอากาศของไดสันนั้นจะมีโหมดการทำงาน 2 รูปแบบครับ คือโหมดพัดลม ที่จะดันลมออกมาด้านหน้าเพื่อสร้างความเย็นให้ห้อง และฟอกอากาศไปด้วย และโหมดกระจายลมที่จะปล่อยลมออกมาทางด้านหลังเครื่องแทน โหมดนี้เอาไว้ใช้ในกรณีที่เราต้องการฟอกอากาศโดยไม่ต้องการความเย็นครับ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว เราก็ใช้โหมดพัดลมเป็นหลักครับ ไม่เคยเปิดโหมดกระจายลมเพื่อใช้งานเลย
เพราะว่าพัดลมฟอกอากาศของไดสันนั้นดันอากาศที่ฟอกแล้วออกไปไกลมากๆ ด้วยการทำงานแบบพัดลม ทำให้รัศมีการฟอกอากาศของเครื่องนั้นครอบคลุมไปทั่วห้อง ทำให้อากาศในห้องสะอาดเร็วกว่าเครื่องฟอกทั่วไปที่เหมาะสำหรับห้องที่มีพื้นที่จำกัด และต้องรอให้อากาศค่อยๆ หมุนเวียนไปรอบห้องจึงจะสะอาด
เราคิดว่าการปรับปรุงที่ดีที่สุดของ Dyson Purifier Cool Formaldehyde (TP09) คือการทำให้เครื่องทำงานเงียบลง ถ้าใครที่เคยใช้พัดลมฟอกอากาศของไดสันมาก่อนจะรู้ว่าถ้าไม่ได้วางพัดลมแบบจ่อกับตัวจริงๆ แต่ตั้งในบ้านในระยะปกติที่ห่างจากจุดคนนั่งสัก 1-2 เมตร ก็ต้องเปิดพัดลมเบอร์ 7 ขึ้นไป (พัดลมมี 10 เบอร์) ซึ่งความแรงระดับนี้เสียงก็ดังมากแล้ว ถ้าเทียบเรื่องความแรงของลมกับความเงียบ พัดลมฟอกอากาศของไดสันนั้นแพ้พัดลมจริงๆ ราคาหลักพันแบบขาดลอยครับ เรื่องนี้จึงเป็นจุดอ่อนของพัดลมไดสันมาตลอด
แต่ใน Dyson TP09 มีการปรับปรุงเส้นทางของกระแสลมในเครื่องใหม่ ลดแรงเสียดทานของลมในเครื่อง และทำให้ช่องปล่อยลมมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้เครื่องเงียบลง 20% ส่วนจะเงียบลงแค่ไหน ลองดูคลิปนี้แล้วเปิดเสียงเทียบกันดูครับ เครื่องสีดำคือ Dyson TP04 และเครื่องสีขาวคือ Dyson TP09 ครับ
ซึ่งพอพัดลมทำงานเงียบลง ก็ทำให้เราเปิดเบอร์แรงได้แบบไม่รบกวนเสียงในทีวีหรือการใช้ชีวิตมากขึ้น แต่ถามว่ามันยังดังกว่าพัดลมปกติอยู่ไหม ก็ยังดังกว่าอยู่ดีครับ แต่อยู่ในระดับที่รับได้มากขึ้น
สรุปแล้ว Dyson Purifier Cool Formaldehyde คุ้มไหม
อย่างที่เราพูดถึงมาตั้งแต่แรกว่าพัดลมฟอกอากาศของไดสันนั้นเปิดตัว 2 รุ่นพร้อมกันคือ
- Dyson Purifier Cool (TP07) ราคา 27,900 บาท
- Dyson Purifier Cool Formaldehyde (TP09) ราคา 29,900 บาท
ถ้าคิดว่าเพิ่ม 2,000 บาทให้สามารถตรวจวัดและกำจัดฟอร์มาลดีไฮด์ได้ไปตลอดโดยไม่ต้องเปลี่ยนฟิลเตอร์ ก็คุ้มครับ แต่พื้นฐานแล้วพัดลมไดสันก็ยังจัดว่าแพงมากอยู่ดี กับราคาเฉียด 3 หมื่นบาท แพงกว่าแอร์รุ่นทั่ว ๆ ไปอีก แถมฟิลเตอร์กรองอากาศที่ต้องเปลี่ยนเรื่อย ๆ ก็มีราคาเกือบ 4,000 บาท เหมือนซื้อรถแพงเลยต้องมีค่าบำรุงแพงยังไงอย่างนั้นเลย
สรุป Dyson Purifier Cool Formaldehyde นั้นเหมาะสำหรับคนที่อยากได้พัดลมที่ดูดี เป็นเฟอร์นิเจอร์สวย ๆ ในบ้าน และเป็นพัดลมสารพัดประโยชน์ที่นอกจากจะเป่าลมสร้างความเย็นได้ ยังฟอกอากาศ กรองสารพิษ และวัดคุณภาพอากาศได้อย่างละเอียดในตัวด้วย แต่ถ้าต้องการพัดลมที่สร้างความเย็นได้ และทำงานเงียบกว่านี้ ซื้อพัดลมปกติจะถูกทางกว่าครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส