Our score
8.4Panasonic PT-LB412 Series Projector
จุดเด่น
- ให้ภาพสว่างมาก สีสันดี ใช้ในห้องที่มีแสงแดดเข้าก็ยังมองเห็นได้ชัดเจน
- มีพอร์ตเชื่อมต่อหลากหลาย ครอบคลุมการใช้งานในปัจจุบัน สามารถเสียบ USB เพื่อดูไฟล์ ดูภาพได้ทันที
- มีการเชื่อมต่อเครือข่ายทั้งแบบมีสายและไร้สาย ทำให้ใช้งานได้
- ยืดหยุ่น เชื่อม wifi กับอุปกรณ์พกพาก็ได้
- ขนาดเล็กและเบาพอที่จะใช้นอกสถานที่ได้
จุดสังเกต
- ต้องซื้อโมดูล Wireless เพิ่ม (ราคา 3,500 บาท) ถ้าต้องการเชื่อมต่อไร้สาย
- ลมร้อนออกด้านข้าง ไม่ได้ออกด้านหน้า ทำให้เวลาใช้งานบนโต๊ะอาจจะร้อนบ้างถ้าอยู่ในทางลม
- ให้ภาพสัดส่วน 4:3 เหมาะสำหรับใช้ในงานออฟฟิศมากกว่าเอาไปดูหนัง
-
คุณภาพภาพ
9.0
-
ความคล่องตัวในการใช้นอกสถานที่
8.0
-
การเชื่อมต่อ
8.5
-
ความสามารถพิเศษ
8.0
-
ความคุ้มค่า
8.5
โปรเจกเตอร์ถือเป็นอุปกรณ์ที่ใกล้ชิดชีวิตคนทำงานมากที่สุดอุปกรณ์หนึ่งเลยนะครับ ในยามปกติเราอาจไม่เห็นความสำคัญของโปรเจกเตอร์มากนัก แต่ในยามจำเป็นต้องนำเสนองาน ต้องระดมสมอง ต้องการอบรม หรือต้องการสื่อสารออกไปให้ชัดเจนที่สุด แล้วต้องมาเจอกับโปรเจกเตอร์แย่ๆ ฉายภาพออกมามืด สีสันไม่ชัดเจน คนนำเสนอก็เสียอารมณ์ ความน่าสนใจของการนำเสนอลดลงไปเยอะ สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ก็ออกมาไม่ดี เห็นปัญหายิ่งใหญ่ที่น่าปวดหัวแล้วใช่ไหมครับ วันนี้เว็บแบไต๋จึงขอรีวิวโปรเจกเตอร์ดีๆ อย่าง Panasonic PT-LB412 Series ครับ
ถ้าถามว่า Panasonic PT-LB412 Series มีความสามารถโหดๆ อย่างการแสดงภาพ 3 มิติ หรือสามารถฉายภาพระดับ 4K ได้หรือไม่ ก็คงต้องบอกว่าไม่ แต่ความสามารถของ PT-LB412 Series นั้นออกแบบมาให้เหมาะกับการใช้งานในออฟฟิศ การใช้งานในห้องเรียน ที่เป็นงานหลักของโปรเจกเตอร์มาเป็นศูนย์กลาง Panasonic PT-LB412 Series จึงฉายภาพได้สว่าง ชัดเจน สีสันดี รองรับการเชื่อมต่อได้หลากหลาย รองรับการฉายได้ในหลายลักษณะ
ประสิทธิภาพของ Panasonic PT-LB412 Series
ตามสเปกแล้ว Panasonic PT-LB412 Series ให้ความสว่างของภาพได้สูงสุด 4,100 lm และให้สัดส่วน Contrast ที่ 12,000:1 ถามว่ามันสว่างและชัดขนาดไหน ก็สว่างพอที่จะฉายภาพในห้องที่เปิดไฟทั้งห้องและเปิดให้แสงแดดเข้า แล้วยังชัดเจนอยู่แบบนี้ยังไงล่ะครับ
โดย Panasonic PT-LB412 Series ให้ภาพความละเอียด 1,024 x 768 pixel สัดส่วน 4:3 ก็เป็นขนาดมาตรฐาน สำหรับการใช้งานในออฟฟิศ ห้องเรียน ห้องอบรม ที่เน้นงานนำเสนอนะครับ แต่โปรเจกเตอร์ก็สามารถรองรับความละเอียดภาพในแบบ 16:9 ได้อย่างไม่มีปัญหา ภายในตัวโปรเจกเตอร์มีลำโพง 10W ที่ให้เสียงดังพอสมควรสำหรับการใช้งานในห้อง
PT-LB412 Series มีโหมดการนำเสนอภาพมากมาย ตั้งแต่เลือกรูปแบบการแสดงภาพ เช่น Standard สำหรับการใช้งานทั่วไป Cinema ที่ให้ภาพมืดลงมาหน่อย แต่สามารถเกลี่ยเฉดสีได้ดีกว่าสำหรับการชมภาพยนตร์ หรือ Dynamic ที่ปรับให้ความสว่างภาพสูงสุด แล้วยังมี Image Mode ที่ปรับภาพให้เหมาะสำหรับการฉายไปยังพื้นผิวสีต่างๆ เช่นสีเหลือง, น้ำเงิน, แดง, เขียว รวมถึงกระดานดำและ Whiteboard เพื่อให้สีสันที่แสดงออกมาผิดเพี้ยนน้อยลง นอกจากนี้ในทุกโหมดการแสดงภาพยังสามารถเปิดบูสท์พิเศษ Daylight View เพื่อปรับภาพให้เหมาะสำหรับการใช้งานในห้องที่มีแสงสว่างมากๆ ได้อีกด้วย
โปรเจกเตอร์รุ่นนี้รองรับการวางเครื่องได้ 4 แบบซึ่งครอบคลุมการใช้งานทุกประเภทคือ
- Front สำหรับการวางเครื่องด้านหน้าฉากแล้วฉายตามปกติ
- Rear สำหรับการวางเครื่องด้านหลังฉาก
- Ceiling/Front สำหรับการแขวนเครื่องไว้บนเพดานจากด้านหน้าฉาก
- Ceiling/Rear สำหรับการแขวนเครื่องและฉายจากหลังฉาก
ระยะการฉายภาพของ Panasonic PT-LB412 Series ถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน คือถ้าต้องการฉายภาพขนาด 100 นิ้ว จะต้องวางโปรเจกเตอร์ห่างจากฉาก 3 – 3.6 เมตร และถ้าต้องการภาพขนาด 300 นิ้ว ก็ต้องวางจากฉาก 9.1 – 10.9 เมตร โดยโปรเจกเตอร์สามารถปรับซูมได้ 1.2 เท่า และปรับระยะโฟกัสจากวงแหวนด้านหน้าเครื่องครับ และแน่นอนว่าเราสามารถปรับแก้ Keystone หรือปรับแก้ความผิดเพี้ยนของภาพที่ฉายจากสี่เหลี่ยมคางหมูให้กลับมาตรงก็ทำได้ แถมยังสามารถแก้ความโค้งหรือ Curve Correction เวลาฉายภาพบนพื้นผิวที่โค้งให้กลับมาตรงก็ทำได้เช่นกัน
ในการใช้งานจริง บางกรณีเราอาจจะไม่ต้องการความสว่างสูงสุดก็สามารถเลือกโหมด Eco เพื่อประหยัดไฟและถนอมอายุการใช้งานของหลอดภาพและไส้กรองอากาศได้ด้วย โดยการใช้งานปกติ PT-LB412 Series มีอายุการใช้งานประมาณ 5,000 ชั่วโมงก็ถึงกำหนดต้องเปลี่ยนหลอดและไส้กรองใหม่ แต่ถ้าเลือกเป็น Eco1 ที่สว่างน้อยลงนิดหน่อย ก็จะมีอายุการใช้งาน 6,000 ชั่วโมง แล้วถ้าเลือกเป็น Eco2 ที่สว่างน้อยลงอีกนิด ก็จะยืดอายุการใช้งานเป็น 10,000 ชั่วโมงเลย
การเชื่อมต่อเครือข่าย
Panasonic PT-LB412 Series รองรับการเชื่อมต่อเครือข่ายผ่านสาย LAN ในตัว เพื่อควบคุมการเปิด/ปิดเครื่อง เซ็ตการตั้งค่าเครื่อง หรือแสดงภาพผ่านซอฟต์แวร์ Presenter Light จากคอมพิวเตอร์ ส่วนการเชื่อมต่อแบบไร้สายจะต้องใช้ Wireless module ET-WML100 มาติดตั้งผ่านพอร์ต USB ด้านหลังเครื่องเพิ่มเติม
เมื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายแล้ว PT-LB412 Series จะมีความสามารถเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง คือ
เชื่อมต่ออุปกรณ์หลายๆ ตัวเข้ากับโปรเจกเตอร์พร้อมกัน เพื่อนำเสนอแบบ Multi Display
รอบตัวเครื่องและการเชื่อมต่อ
Panasonic PT-LB412 Series มีขนาดพอๆ กับโปรเจกเตอร์ที่ใช้ตามสำนักงานทั่วไป คือ 33.5 x 25.2 x 9.6 cm และมีน้ำหนัก 2.9 กิโลกรัม ก็ถือว่ายังเป็นขนาดและน้ำหนักที่สามารถนำไปใช้นอกสถานที่ได้ ที่น่าสนใจคือพอร์ตด้านหลังตัวเครื่องครับที่มีเยอะมากจริงๆ ตั้งแต่พอร์ตหลักที่ใช้กันอยู่แล้วอย่าง VGA-in จำนวน 2 พอร์ต VGA-out อีก 1 พอร์ต พร้อม HDMI, AV (ขาวแดงเหลือง) ช่องหูฟัง 3.5 mm สำหรับรับเสียงเข้าออก นอกจากนี้ก็ยังมีพอร์ตพิเศษอีก
- USB-A เอาไว้เสียบ Wireless module และแฟลชไดร์ฟเพื่ออ่านไฟล์
- USB-B ใช้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงภาพพร้อมเสียง
- Serial Port ใช้เชื่อมกับคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมโปรเจกเตอร์
- LAN Port ใช้เชื่อมต่อเครือข่ายเพื่อควบคุมโปรเจกเตอร์
ทางด้านขวาของตัวเครื่องเป็นช่องดูดอากาศเข้าที่ผู้ใช้สามารถถอดเปลี่ยนฟิลเตอร์ได้เมื่อถึงเวลา ส่วนทางด้านซ้ายของเครื่องก็เป็นช่องอากาศออกครับ ลมร้อนก็จะออกมาทางนี้แหละ สุดท้ายคือด้านบนเครื่องที่มีปุ่มควบคุมง่ายๆ อยู่ 6 ปุ่ม เอาไว้เปิด-ปิด เลือกแหล่งภาพ เปิดเมนู และสามารถหมุนวงแหวนเพื่อโฟกัสภาพและปรับการซูมของโปรเจกเตอร์ได้จากด้านบนนี้
ของดีไม่ต้องหวือหวา แค่ต้องเยี่ยมยอดในงานตัวเอง
Panasonic PT-LB412 Series อาจไม่ใช่โปรเจกเตอร์ที่มีความสามารถหวือหวา แต่สิ่งที่มันทำได้ก็ต้องบอกว่ายอดเยี่ยมครับ ความประทับใจแรกคือภาพที่ออกมานั้นสว่างจริง ชัดจริง และสวยจริง นำไปใช้ในงานนำเสนอ ก็แสดงภาพได้น่าดู หรือเปิดวิดีโอก็แสดงภาพเคลื่อนไหวได้ลื่นไหล นุ่มนวล นอกจากนี้ความสามารถสนับสนุนอื่นๆ อย่างการเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย (ทั้งมีสายและไร้สาย) ก็ทำให้การใช้งานยืดหยุ่นขึ้นได้อีกเยอะ ซึ่งเมื่อรวมกับขนาดที่เล็กพอที่จะนำไปใช้นอกสถานที่ได้ PT-LB412 Series ก็เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับใครที่ต้องการโปรเจกเตอร์อเนกประสงค์ ใช้ที่ไหนก็ได้ จะห้องมืดหรือห้องสว่าง จะในตัวอาคารหรือเคลื่อนย้ายไปใช้สถานที่อื่นๆ Panasonic PT-LB412 Series ก็ตอบโจทย์ทั้งนั้นครับ